กรรมหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา เมื่อจงใจแล้วก็ย่อมทำกรรมทางกาย
ทางวาจา หรือทางใจ เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
ตามลำดับ กรรมจึงเป็นคำกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า
กรรมหมายถึงบาปหรือเคราะห์ เป็นการเข้าใจไปในทางร้ายแต่อย่างเดียว
เช่น คนที่เกิดมาจนหรือพิการ ก็พูดว่าคนมีกรรม
พุทธศาสนาสอนว่า
ความเป็นอยู่หรือชะตาชีวิตของคนเรานั้น ไม่ขึ้นกับเวลาตกฟาก
ไม่ขึ้นกับอำนาจดวงดาว ไม่ขึ้นกับอำนาจพรหมลิขิต แต่ขึ้นอยู่กับกรรม
กรรมต่างหากเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตหรืออนาคตของคนเรา
ทุกคนต่างลิขิตโชคดีโชคร้าย ลิขิตความเจริญความเสื่อมให้แก่ชีวิตด้วยกรรมของตนเอง
กล่าวคือ ถ้าอยากได้ดีมีความสุขความเจริญ ก็ต้องทำแต่กรรมดี
ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำกรรมชั่ว ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน
เป็นไปตามพระบาลี (เล่ม ๑๕ ข้อ ๓๓๓ ย่อว่า ๑๕/๓๓๓) ที่ว่า
กลฺยาณการี
กลฺยาณํ ทำดีได้ดี
ปาปการี
จ ปาปกํ ทำชั่วได้ชั่ว
คนที่เชื่อมั่นในหลัก กรรมลิขิต
ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ย่อมทำแต่ความดีหลีกหนีความชั่ว รู้จักพึ่งตนเอง
ขยันทำกิจการไม่เกียจคร้าน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่สร้างวิมานในอากาศ
ประสงค์สิ่งใดก็ลงมือทำ เพื่อให้เป็นจริงตามปรารถนา
เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาทางแก้ไขและต่อสู้จนประสบความสำเร็จ
คนประเภทนี้แม้จะเกิดมายากจนเพราะอำนาจของกรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีต
ก็มักจะก่อร่างสร้างตัวจนฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยอำนาจกรรมดีที่ทำในปัจจุบัน
ไม่มัวแต่เพ้อฝันอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ลงมือทำ ถ้าความอยากได้ดีลอยๆ
โดยไม่ต้องทำอะไร จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาแล้ว
ใครเล่าในโลกนี้จะยากจน หรือพลาดจากสิ่งที่หวัง.