|
แนะแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา |
เพราะฉะนั้น เรื่องผลจึงไม่ต้องไปหวังจะได้เห็นอะไรหรือยัง เกิดดับไตรลักษณ์นั่นมันเป็นผลของงานหน้าที่ของเรา คือ ทำงานให้ถูกต้องเท่านั้นแหละ เงินดาวเงินเดือนไม่ต้องไปนึกถึง ถ้าท่านทำผิดแล้วอยากได้เงินเดือนเท่าไร เขาก็ไม่ให้ หน้าที่เราต้องทำให้ดี ทำให้ถูก นี่ก็เหมือนกัน เวลามาเข้าวิปัสสนานี่ ปัญญาวิปัสสนาก็ดี เห็นหรือไม่เห็นนามรูป ไตรลักษณ์เกิดดับก็ดี ไม่ต้องนึกถึง ทำงานให้ถูกว่า เวลานั้นเขาให้กำหนดอย่างไร เวลานั้นเขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร เช่น อย่างเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ นี่เขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร เช่น อย่างเวลาจะเปลี่ยนอิริยาบถ นี่เขาให้ทำความรู้สึกอย่างไร อ้อ.........เขาต้องให้รู้เสียก่อนว่า ทุกข์มันเกิดขึ้น ถ้าเราไม่ว่า ทุกข์เราก็ไม่รู้ว่า จะเปลี่ยนเพราะอะไร ก็จะกลายเป็นเราอยากเปลี่ยนทุกที เราต้องรู้เหตุว่า ทุกข์มันเกิดขึ้นเสียก่อน ถ้าทุกข์เกิดขึ้นแล้วจะเปลี่ยนทำไม ต้องโยนิโสมนสิการไว้ นี่กันกิเลสที่จะขึ้นข้างหน้าว่า จะเปลี่ยนทำไม ถ้าเปลี่ยนเพื่อสบายก็กันไม่ได้ แล้วจะเปลี่ยนทำไม เพื่อแก้ทุกข์
การแก้ทุกข์นี่ มันก็ไม่ใช่เป็นความสุขเหมือนกันถ้าเราพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพราะว่า อิริยาบถใหญ่ ก็เหมือนกับ คนเจ็บ อิริยาบถย่อย ก็เหมือนกับ คนพยาบาล อยากจะลุกขึ้น แต่อิริยาบถย่อยมือจะท้าวหรือจะเกาะไม่ได้ก็ลุกขึ้นไม่ได้ อยากจะพลิกตัวก็ไม่ได้ อิริยาบถย่อยก็เหมือนกับคนพยาบาล ต้องคอยพยาบาลคนเจ็บกันเรื่อยไปก็เป็นทุกข์เหมือนกัน แต่ว่ามันไม่ได้เป็นทุกข์เจ็บป่ว่ยเหมือนคนเจ็บ อิริยาบถเก่า น่ะ เป็นตัวเจ็บ ตัวปวด ตัวเมื่อย แต่ อิริยาบถใหม่ ก็ช่วยแก้ แก้เหมือนกับคนพยาบาล
เพราะฉะนั้น เราจะเห็นทุกข์จากอิริยาบถเก่าก่อน อิริยาบถใหม่ยังไม่เห็นทุกข์ เพราะว่า มันสูงกว่าไม่ใช่ ทุกขเวทนา แต่เป็น สังขารทุกข์ นั่นเองต้องแก้ไข ต้องช่วยเหลือ ต้องเปลี่ยนแปลง ต้องอะไรต่ออะไร เพราะฉะนั้นต้องเห็นทุกขเวทนาก่อนพอมีปัญญาดีขึ้นก็จะเห็นสังขารทุกข์อันนี้ ทีนี้ก็จะมีแต่ทุกข์เท่านั้นเข้าถึง สัจจะ แล้ว ไม่มีสุขสัจจะ สุขอริยสัจมีไหม ? มีแต่ทุกขอริยสัจใช่ไหม พอเข้าถึงอริยสัจแล้วละก็ ไม่มีหรอกสุข ทีนี้ปัญญาเข้าถึงสัจจะความจริงแล้ว อย่ากลัวเลยทีนี้เขาก็พาไป จะไปไหนยากจะได้อะไร นิพพานก็ได้ เขาก็พาไปให้ได้เห็น
ขณะนี้หน้าที่ก็มีการฟังแล้ว ก็เข้าใจแล้ว เวลาทำก็คอยสังเกตว่า ตรงกันไหม ถ้าไม่ตรงก็ทำความรู้สึกเสียใหม่ มีหน้าที่อยู่แค่นี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงต้องสอบการปฏิบัติกัน สอบเพื่ออะไร ไม่ใช่จะสอบให้เกิดปัญญาวิปัสสนาอะไร สอบดูว่า เข้าใจหรือไม่ที่บอกไปทำถูกแล้วหรือยัง เวลานั้น ทำความรู้สึกอย่างไร เพราะว่า บางทีลืมไปก็จะได้บอกให้ใหม่ ถ้าไม่บอกก็ลืมไปเลย กลับมาไม่ถูก ทำไม่ถูกก็เสียเวลาไป ยิ่งคนอายุมากๆ แล้วจะจำอะไรได้ บางทีสาวๆ หนุ่มๆ ก็จำไม่ค่อยจะได้ การที่สอบก็เพื่อจะให้รู้ว่า ทำถูกหรือยัง หน้าที่ของอาจารย์ก็สอนให้ทำให้ถูกเท่านั้น
ส่วนการที่ท่านจะรู้หรือไม่รู้ จะรู้ช้าหรือเร็วนี่เป็นเรื่องของ บารมีหรือปัจจัย มีมาอย่างไร ไม่มีใครช่วยกันได้ พระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้ ท่านก็เป็นผู้สอนเหมือนกัน เพียงว่าให้ได้รูปได้นามเถอะ เห็นรูปเห็นนาม เท่านี้ก็พอแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว ทีนี้เกือบไม่ต้องสอบแล้ว พ้นหน้าที่ของครูบุคคลแล้ว ต่อไป นามรูปก็ จะเป็นครู ธรรมะทั้งหมดอยู่ที่ นามรูป ทั้งนั้น จะเป็นไตรลักษณ์ จะไม่เที่ยง จะเป็นทุกข์ จะไม่ใช่ตัวตน จะเป็นอริยสัจ หรืออะไรก็อยู่ที่นามรูปทั้งนั้นเลย เมื่อท่านได้นามรูปเป็นครูแล้ว ท่านก็ตามดูนามรูปไปเถอะ ทีนี้เขาก็สอนให้ ดูมากก็รู้มาก ทุกอย่างเลย แม้กระทั่งนิพพาน นามรูปก็สอนให้ บุคคลสอนไม่ได้ สอนได้แต่เพียงว่าให้ ทำให้ถูก เท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น ที่เราเสียเวลาทำแล้ว ก็ยังไม่ได้อะไร บางทีเราทำไม่ถูกเลย ผิดก็ไม่รู้ ถูกก็ไม่รู้ และอีกประการหนึ่ง ท่านมาปฏิบัติที่นี่แล้ว ท่านจะต้องรู้ว่า ที่เขาให้ปฏิบัติอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างไรหรือเปล่า ออกไปแล้วบางทีก็ไม่รู้ว่า ทำไมเขาให้ทำอย่างนี้มีคนเขาถามว่า คุณไปทำวิปัสสนาเขาให้ทำอย่างไร เขาก็สอนให้รู้นั่ง นอน ยืน เดิน ให้ดูรูป นั่งอะไรก็ว่าไปตามที่จำได้ ถ้าซักว่า ทำไมเขาต้องให้ทำอย่างนั้นด้วยเล่า ทำไมเราจะดูใจอย่างเดียวให้สงบ ให้เป็นสมาธิอย่างเดียวแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ดีกว่าหรือ เขาให้กำหนดรูปนามเพื่ออะไร ทำไมจะให้รู้รูป รู้นาม เพื่ออะไร ?
น. - ให้รู้รูปนามก็เพื่อทำลายตัวตน
อ. - นั่นน่ะซี ถ้าไม่รู้รูปนามละก็ทำลายไม่ได้ แล้วรู้ที่ไหน ตัวตนน่ะ มันเกิดที่ไหน ?
น. - ตัวตนมันก็อยู่ในรูปนามนั่นแหละ !
อ. - เกิดที่ไหนล่ะ
น. - เกิดที่ไหนก็ไม่ทราบ
อ. - ถ้าไม่รู้ ก็รู้เสียซิ เวลาเขาให้ปฏิบัตินี่น่ะ เขาให้ทำลายที่ไหนล่ะ เขาให้ดูรูปนั่ง เขาให้ดูที่ไหน ?
น. - ให้ดูกิริยาอาการของรูปที่ปรากฏ
อ. - ให้ดูนั่ง ต้องเอาให้แน่ลงไปเลย
น. - เอาที่นั่ง
อ. - ทำไมถึงเอาที่นั่ง ? ก็เพราะว่าเราน่ะมันอยู่ที่นั่ง เรานั่งใช่ไหม ถ้าไม่มีนั่ง เรานั่งมันก็ไม่มี ถ้ายังไม่นอน เรานอนมันก็ไม่มี พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่นอนเกิดขึ้น เรานอน มันก็มีทันที พอกิริยาที่ เดิน เกิดขึ้นเราเดินถึงจะมี เพราะฉะนั้น เขาจึงให้รู้รูปนั่ง รูปนอน รูปยืน รูปเดิน เพื่อกันที่ จะรู้สึกว่า เรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน แต่ที่จะกันได้ก็ต้องรู้สึกแน่นอนว่า เป็นรูปจริงๆ ปัญญาต้องตัดสินชัดเจนแล้วว่า มันเป็นรูปจริงๆ มันไม่มีเราจริงๆ ไม่มีผู้หญิง ผู้ชายมานั่ง มีแต่รูป คือ ร่างกายนี่แหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายนี่แหละ เมื่อปัญญาตัดสินอย่างนี้แล้วถึงจะได้
จะขอยกตัวอย่างสักนิดหนึ่ง เช่น ที่เขาเจริญภาวนากันว่า พุทโธ พุทโธอรหัง อรหัง อย่างนี้ทำไมเล่า เราอยู่ที่อรหังหรือ ? เราอรหังนี่ไม่เคยมีใครนึกเลย ไม่มีเราเลยตรงนั้น แล้วจะไปทำลายเราได้อย่างไร เมื่อไม่มีเรา และเรานี่ต้องวิปัสสนาต้องปัญญาเกิดแล้ว เมื่อไม่มีเราในที่นั้นแล้ว ปัญญาจะเอาอะไรไปทำงาน, จะประหารกิเลสได้อย่างไร ? ในเมื่อไม่มีกิเลสให้ประหารตรงนั้น
แต่มันก็เป็นสมาธิได้ แต่ว่าเป็นปัญญาไม่ได้ เพราะไม่ใช่เหตุปัจจัยที่จะเป็นอารมณ์ของปัญญา ปัญญาก็ไม่ทำงาน เมื่อปัญญาไม่ทำงานแล้วเป็นอย่างไร ก็เป็นสมาธิ ใจก็สงบเงียบเท่านั้น แต่ที่จะ ไปรู้รูป รู้นาม ไม่มี เมื่อไม่รู้รูป รู้นามแล้วเราก็ทำลายไม่ได้ นั่งนิ่งไป เป็นเราหรือไม่ เป็นเราก็ไม่รู้ เวลานั้นมันไม่มีเรา เวลานั่งสมาธิสงบแล้ว เวลานั้นไม่มีเราจะไปนึกอะไรว่า เป็นเราก็ไม่มี แต่เรามันไม่ได้ถูกทำลาย เพราะความรู้สึกมันไม่เคยเปลี่ยน พอออกมามันก็เป็นเราอีก
เมื่อปัญญาไม่ทำงานแล้ว ก็เปรียบเหมือนคนที่ไม่มีโรคแล้วกินยา ยาจะวิเศษอย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ ก็มันไม่มีโรคแล้วยาจะแสดงสรรพคุณอะไร มันก็เฉยๆ ไป เพราะฉะนั้น การที่เขาให้กำหนดนี่ก็ต้องมีเหตุว่า อ้อ.........ตัวตนมันเกิดขึ้นเวลานั้นๆ นั่งนั้นใครจะไม่รู้ว่า "นั่ง" เราอยู่บ้าน เราก็รู้ว่านั่ง เพราะฉะนั้น กิริยาที่นั่งไม่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนิดหนึ่งว่า รูปนั่งเท่านั้น จะนั่งท่าไหน จะนอนท่าไหน จะเดินก็ได้ เปลี่ยนแปลงความรู้สึกนิดเดียวว่า เป็นรูปนั่ง สำหรับอิริยาบถจะอย่างไรก็ได้ เปลี่ยนเฉพาะความรู้สึกนิดเดียว จากเรานั่งเป็นรูปนั่งเท่านั้นเอง
|
|
 |
 |
|
|
|