นามรูปเฉพาะผู้ปฏิบัติใหม่
ก่อนที่จะดูนามรูป ก็จะต้องรู้จักนามรูปเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วดูนามก็ไม่รู้ว่าดูอะไร เพราะจะต้องให้ท่านที่มาปฏิบัติวิปัสสนานี้ดู ไปพิจารณานามรูป ทีนี้ก็จะต้องรู้เสียก่อนว่า ดูนามน่ะ ดูอะไร ดูรูปน่ะ ดูอะไร จะต้องเรียนนามรูปเสียก่อน
รูปนามมีมากมายเหลือเกิน แต่เราก็จะเอาให้ง่ายที่สุดสำหรับปัญญาของเรา เพราะว่ารุ่นเรานี่ปัญญาน้อยแล้ว เพราะอะไรเราถึงได้ล่าช้ามาอยู่จนป่านนี้ ต้องมาทรมานทนทุกข์ ประเดี๋ยวเจ็บ ประเดี๋ยวไข้ ประเดี๋ยวร้องไห้เสียใจ พบกับสิ่งที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง สิ่งที่พอใจพลัดพรากไปบ้าง นี่เราจะต้องพบอยู่เรื่อย ความทุกข์นี่มีอยู่รอบตัวเราเลย เราจะต้องพบ นี่อันนี้ถึงได้บอกว่า เวลาที่เรามาอบรม มาพิจารณานามรูปเวลานี้น่ะ เรายังไม่รู้ว่า นามรูปมันดีหรือไม่ดี ยังไม่รู้ต้องดูเสียก่อน ไปพิจารณาแล้วจึงจะรู้ความจริงของนามรูป
ทีนี้นามรูปที่เราจะต้องเรียน สำหรับคนปัญญาน้อยนี่เราก็เรียนแต่พอที่จะเอามาใช้งาน ที่ยังไม่ใช้งานเวลานี้ ยังไม่ต้องเรียน ยังไม่ต้องรู้ นำเอานามรูปไปพิจารณา จนกระทั่งได้ความจริงด้วยการพิจารณา คือด้วยความรู้สึกไม่ใช่ด้วยการคิดนึก ด้วยการตรอง ด้วยการวิจารณ์ ไม่ได้ทั้งนั้น
นามรูปมีอะไรบ้าง ที่จริงถ้าเราจะสอนที่ถูกแล้วก็ควรจะสอนอารมณ์ทั้ง ๖ แต่เกรงว่าเวลาของเราจะมีกันคนละไม่เท่าไร เพราะฉะนั้น เวลาที่จะอบรมให้เข้าใจอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖ ที่เราใช้งานอยู่ ก็กลัวเวลาจะไม่พอ แต่ที่ถูกแล้วควรจะบอก บอกแล้วเวลาทำงานก็ทำเฉพาะอิริยาบถ ๔ ก่อน คือแรกๆ ลงมือกำหนดก็ไม่ต้องคอยดูมาก ให้ดูแต่น้อยๆ หน่อย จนกระทั่งคล้ายๆ กับจิตที่อบรมเชื่องแล้วดูได้สะดวกแล้ว แล้วก็อารมณ์ทั้ง ๖ นั้นมันก็จะรู้ขึ้นมาเองเหมือนกัน แต่ว่ายังไงก็จะต้องมีนามรูปเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเวลาเห็น เวลาได้ยิน เช่น
เวลาเห็น ที่เห็น เป็นนาม
สิ่งที่ถูกเห็น เป็นรูป
เวลาได้ยิน ที่ได้ยิน เป็นนาม
เสียงที่พูด เป็นรูป
เวลาได้กลิ่น ที่รู้กลิ่น เป็นนาม
กลิ่นหอม, เหม็น เป็นรูป
เวลาลิ้มรส ที่รู้รส เป็นนาม
รสที่ถูกรู้ว่าเปรี้ยว หวาน เป็นรูป
เวลาถูกต้อง ที่รู้สึกถูกต้อง เป็นนาม
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นรูป
เวลานั่ง นอน ยืน เดิน ที่รู้ว่า นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นนาม
อิริยาบท นั่ง นอน ยืน เดิน เป็นรูป
นามรูปทั้งหลาย จึงมีอยู่ที่ตัวเราในขณะรับอารมณ์ตามทวารทั้ง ๖
ดูนามรูปให้รู้จากตัวเรา
ถ้าไม่ได้เรียนอารมณ์ของวิปัสสนาแล้ว เราจะไม่รู้ตัวเรา เห็นอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินอะไรก็ไม่รู้ แล้วโดยมากการศึกษาเล่าเรียนในชีวิตของเรา ที่เราเป็นอยู่นี่เราไม่ได้รู้เรื่องของเราเลย รู้แต่เรื่องคนอื่นทั้งนั้น เรื่องคนโน้น เรื่องคนนี้ เรื่องพระอาทิตย์ พระจันทร์ แทนที่จะรู้อยู่ที่ตัว เรากลับรู้ไปจนถึงโลกพระจันทร์ เดี๋ยวนี้เขาจะไปรู้โลกพระอังคารอีกแล้ว มันรู้ยาวออกไปอย่างนี้ กิเลสมันก็ยืดยาวออกไปด้วย นามรูปที่ตัวเองนี่ไม่รู้หรอก
แต่ว่าวิธีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ ไม่ต้องไปรู้คนอื่น รู้ตัวของตัวเสียก่อน แล้วก็คนอื่นกับตัวเราน่ะมันเหมือนกัน มันไม่ผิดกันหรอก มันอย่างเดียวกันนั่นแหละ แต่รู้คนอื่นน่ะไม่แน่ เช่นอย่างเวลานี้จิตใจเขาเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไม่รู้ แต่เวลานี้จิตใจเราเป็นอย่างไร จะรู้เขาได้อย่างไรไม่รู้ แต่เวลานี้จิตใจเราเห็นอย่างไร ประกอบด้วยอะไรเรารู้ได้ ประกอบด้วยความไม่พอใจ หรือประกอบด้วยความพอใจ เวทนาเราเป็นสุขหรือเป็นทุกข์เวลานี้ นี่เรารู้เรารู้ของเราก่อน เพราะว่าร่างกายเรานี้ก็เป็นโลกโลกหนึ่ง โลกนี้ไม่ใช่ว่าหมายถึง ฟ้า ดิน อะไร ไม่ใช่อย่างนั้น นี่พอเรารู้ของเราอย่างนี้แล้วคนอื่นก็เหมือนกัน เช่น อย่างพอความโกรธเกิดขึ้นแก่จิตใจของเรา มีลักษณะอย่างไร ความโกรธของคนอื่นก็เหมือนกัน ไม่ต้องไปรู้ของใคร เพราะฉะนั้น การแสดงออกมาภายนอก ทางกายก็ดี วาจาก็ดี กิริยาอาการที่แสดงออกมาให้เราเห็น เราก็รู้แล้วว่า ออกมาจากจิตใจ กิริยาอย่างนี้ออกมาจากจิตอะไร พอใจหรือไม่พอใจ มันจะบอกทีเดียว เพราะฉะนั้น มันก็เป็นโลกชนิดหนึ่ง
กำหนดดูรูป
การพิจารณารูปนามเฉพาะอิริยาบถ ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน ที่รู้ว่านั่ง รู้ว่านอน รู้ว่ายืน รู้ว่าเดิน เป็นนาม แต่ไม่ต้องไปกำหนดนามสำหรับในระยะใหม่ๆ นี้ กำหนดรูปก่อน ดูรูปเสียก่อน เพราะตัวนามนั้นน่ะ มันเป็นตัวดูรูปอยู่แล้ว มันเป็นตัวรู้รูปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกำหนดนามที่รู้ เช่น อย่างเวลาที่นั่งมันมี รูปนั่ง อันหนึ่ง และมี รู้ว่านั่ง อีกอันหนึ่งเรา รู้ว่ารูปนั่ง เท่านั้นก็พอแล้ว
ทำงานด้วยใจ
ในการที่เรามาเรียนเพื่อจะทำงานนั้น ไม่ใช่ทำด้วยกาย แต่ทำด้วยใจ ไม่ใช่เอากายไปเที่ยวแบกหาม ไม่ใช่อย่างนั้น ใจทำงานตอนไหน ? ตอนที่ทำความรู้สึกลงไปในอารมณ์นั่นแหละ เป็นการงานของใจ ไม่ต้องไปแบกหามอะไรทั้งหมด
เวลาดูต้องรู้ว่า ดูอะไรที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ไม่ใช่สร้างขึ้นมา
ข้อสำคัญ เวลาที่เราดูจะต้องรู้ว่า ดูอะไร เวลานี้เราทำอะไรอยู่ เวลานี้เราดูอะไรอยู่ แล้วเราจึงจะได้ความจริงจากที่พิจารณา คือว่า ไม่ใช่เราไปสอน หรือเราไปสร้างอะไรขึ้นมา ความจริงของเขาเป็นอยู่อย่างไรก็รู้ตามนั้น เช่น อย่างเพื่อนฝูงคบกันใหม่ๆ รู้จักกันใหม่ๆ ไม่รู้ว่านิสัยใจคอเขาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้ ต้องคบกันไปนานๆ หน่อย ทีแรกเราก็คิดว่าเป็นคนดี พอคบกันไปนานๆ จึงรู้ว่านิสัยคบไม่ได้ เป็นคนรู้มาก เป็นคนเห็นแก่ตัวอะไรอย่างนี้ เราจะต้องตามดูเราจึงจะรู้ความจริงอันนั้น ไม่ใช่ว่าเราไปสร้างขึ้นมา เขามีอยู่แล้ว ไม่มีหน้าที่จะไปแก้ไขอะไร มีหน้าที่ดูเท่านั้น แต่ว่า ถ้าดูไม่ถูก ก็ไม่เห็นเหมือนกัน
ดูรูปนั่ง นอน ยืน เดิน
เราเรียนรูป ๔ อย่าง นั่ง นอน ยืน เดิน เราก็ไปดูรูปนั่ง รูปนอน รูปเดิน ดู หรือ พิจารณา หรือ เรียกว่า กำหนด ก็ได้ ดูด้วยใจไม่ได้ดูด้วยตา นั่งนี่ไม่ได้เห็นด้วยตา ต้องเห็นด้วยใจ เวลาที่เราดูนั้นเราต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้เราดูอะไร คือ ต้องทำความรู้สึกตัวว่า เราดูอะไร เวลาเรามองออกไปนั้น มันต้องมีวัตถุอันหนึ่งว่า เราจะดูอะไร นั่นดูเหมือนคนเดินมา อยากจะรู้ว่า คนเดินมา นั่นเป็นใคร คือว่าเรามีวัตถุที่เราจะดู แต่ถ้าดูโดยไม่ตั้งใจว่า จะรู้เห็นเหมือนกันนั่นแหละ นัยน์ตาเราเหม่อไปเราก็เห็นแต่เห็นอะไรไม่รู้ เพราะเราไม่ตั้งใจจะดู เมื่อไม่รู้ว่าดูอะไรเราไม่ได้พิจารณา ก็เลยไม่ได้ความจริง ที่เราเห็นนั้นมันอะไรก็ไม่รู้ ความจริงก็เห็นหลายอย่าง แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ว่าจะรู้อะไร อันนี้แหละเวลานั่ง ท่านก็พิจารณารูปนั่ง คือว่า ดูรูปนั่ง แต่ต้องทำความรู้สึกว่า เวลานี้ ดูรูปนั่ง
|