|
แนะแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา |
อ. - อ้าว ก็รู้แล้วว่า เป็นทุกข์ ก็ที่รู้นี่เรายังไม่เกิดปัญญานี่ยังไม่เกิด ต่อเมื่อเกิดปัญญาแล้วนั่นแหละท่านก็จะรู้เองว่า ปัญญาเขาเกิดขึ้นทำงาน เขาตัดสินแล้วน่ะ คนละอย่างกัน ไม่เหมือนกัน
น. - ทีนี้เมื่อรูปนั่งเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนไปเป็นนอนแล้วปัญญาก็ไม่เกิด
อ. - ก็ดูรูปนั่งใช่ไหม ดูรูปนั่งอยู่ เมื่อเปลี่ยนเป็นนอนเปลี่ยนทำไม ?
น. - นั่งจนเมื่อยปวดทนไม่ไหวแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นนอนบ้าง
อ. - เปลี่ยนเป็นนอน จะเปลี่ยนทำไม ?
น. - เปลี่ยนให้มันพ้นทุกข์ไป
อ. - อ้าว ก็อย่างงั้นซิ ต้องรู้สึกว่า แก้ทุกข์ไม่ใช่เปลี่ยนให้สบาย
น. - ตรงนี้ปัญญาเกิดหรือยังตอนนี้ ?
อ. - เดี๋ยว ยัง เป็นแต่เสนอปัญญาว่า นี่ฉันจะเปลี่ยนเพราะเป็นทุกข์ ฉันจะเปลี่ยนเพื่อแก้ทุกข์ บอกปัญญาให้รับรู้ไว้ว่ายังงี้ ทีนี้ปัญญาก็รับไว้พิจารณาเหตุผล ถึงจะนำเข้าถึงสัจจะความจริง ทุกข์นี้ เป็น ตัวสัจจะ เป็นตัวอริยสัจ แต่เราไม่เห็นเพราะเราไม่ได้พิจารณาให้มันแน่นอน การที่เราจะถึงสัจจะนั้นต้องแน่นอนทีเดียว แต่การแน่นอนก็ต้องอาศัยที่พิจารณาบ่อยๆ พิสูจน์แล้วแน่นอน ต้องเป็นอย่างนี้ นี่ยังอยู่ในระหว่างให้ปัญญาพิสูจน์ เสนอว่านี่ความจริง คือ ฉันต้องเปลี่ยนอย่างนี้เสนอให้ปัญญาพิจารณาคล้ายๆ กับศาลรวบรวมคดีมาเสนอให้ผู้พิพากษา
น. - ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา
อ. - ถูกแล้ว ยังอยู่ในระหว่างพิจารณา ผู้พิพากษาก็ต้องพิจารณาเหตุผล จนกระทั่งรอบคอบแล้วถึงจะตัดสินลงไปได้ นี่เรายังอยู่ในระหว่างพิจารณา แต่ว่า ต้องมีคดีเสนอนะ ถ้าเอาคดีเหลวๆ ไหลๆ ไม่ตรงกับความจริงมาเสนอ ผู้พิพากษาก็ตัดสินผิดเหมือนกัน จะถูกได้อย่างไร เพราะไม่เอาของจริงๆ มาบอกนี่ ปัญญาเราก็เหมือนกัน เราจะทำความรู้สึกอะไรให้ตรงกับความจริง อิริยาบถเก่าน่ะ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นทุกข์
ทีนี้อิริยาบถใหม่นี่น่ะซี ท่านถึงได้บอกว่า เพราะไม่ได้พิจารณาอิริยาบถ อิริยาบถนี่จึงปิดบังทุกข์เสียไม่ให้เห็นคือ อิริยาบถใหม่ เพราะไม่ได้พิจารณา พออิริยาบถเก่าเป็นทุกข์ อิริยาบถใหม่ก็เป็นสุข เรารู้สึกอย่างนี้อยู่เรื่อย อ้าว นอนเป็นทุกข์แล้ว อ้าวนั่ง เรารู้สึกว่า นั่งเป็นสุข เราถึงได้นั่งอย่างนี้ แต่ทีนี้เวลาปฏิบัติรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ ต้องนั่ง ไม่ใช่ อยากนั่ง แล้วต้องนั่งนี่ก็ตรงกับความจริงด้วย ส่วนอยากนั่งนั้น เข้าใจผิด เพราะถ้าไม่อยากนั่งก็อย่านั่งซิ ไม่ได้ ต้องนั่ง จึงต้องพิจารณาให้ถูกว่า ต้องนั่งเพื่อแก้ทุกข์ ถ้านั่งเพื่อสบาย ผิดแล้ว ทีนี้ทำเพื่อแก้ทุกข์ นี่กิเลสไม่เข้าแล้ว การแก้มันก็เป็นตัวทุกข์ด้วยเหมือนกัน เหมือนกับการกินยา กินยาเพื่ออะไร เพื่อแก้โรค แล้วมีไหมที่ตัณหาอยากกินยา
น. - ไม่มี
อ. - ไม่มี กิเลสก็เข้าไม่ได้ ความรู้สึกอย่างนี้ กิเลสตัณหาเข้าไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกก็รู้สึกว่า กินยาเพื่อสบาย แต่เรารู้ว่ากินยานี่ ไม่มีใครเลยที่จะอยากกิน ทีนี้ถ้าเรานั่งเพื่อสบาย ความรู้สึกว่า รูปใหม่นี่สบาย เมื่อสบาย กิเลสก็เข้าอาศัยทันที เพราะฉะนั้น เราจึงกันความรู้สึกใหม่ โดย โยนิโสว่าต้องเปลี่ยน ไม่ใช่อยากเปลี่ยน ไม่ใช่สบาย แต่เพื่อแก้ทุกข์ โยนิโสมนสิการนี่สำคัญมาก เป็นอาหารของปัญญา
น. - ถ้าแก้ทุกข์ก็เป็นปัญญาใช่ไหม
อ. - ปัญญาจะเกิดหรือไม่เกิดก็แล้วแต่ แต่ว่า ตรงกับความจริง
น. - เกิดไหมเล่า ?
อ. - ก็แล้วแต่ เสนอเขาบ่อยๆ เข้า เขาก็ต้องเกิดละ เขาก็ต้องตัดสินแน่ละ ปัญญาก็ตัดสินแน่ลงไปเลย แล้วเราจะรู้เอาเวลาที่เขาตัดสินแล้วน่ะ พอเราได้อารมณ์ของปัญญาที่แน่นอน ได้ความรู้สึกจากปัญญาแน่นอนแล้ว ท่านจะรู้เอง อันนี้ไม่ลำบาก
น. - อาจารย์บอกไม่ได้ ใช่ไหม ?
อ. - บอกได้ แต่ไม่จำเป็น เดี๋ยวท่านก็ไปอยากได้ปัญญาเสียพอบอกเข้าแล้ว ท่านก็ไปอยากได้ทีเดียว อยากจะรู้อย่างนั้นบ้าง อย่างที่ดิฉันบอกใช่ไหม
น. - ก็ต้องมีเป็นแนวไว้บ้าง
อ. - ไม่ต้อง ไม่ต้องบอกเลย ท่านอยากได้รสเปรี้ยวใช่ไหม ดิฉันบอกให้ไปกินมะนาวก็แล้วกัน ไม่ต้องไปบอกว่ารสมันเป็นอย่างไร พอท่านไปกินมันก็ปรากฏขึ้นมาเอง ไม่ต้องไปบอกก่อนว่าเปรี้ยว
เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญที่สุด กิเลสน่ะ มันเข้าตรงความรู้สึก ปัญญาก็เกิดขึ้นตรงที่ความรู้สึกเหมือนกัน ถ้าเราไม่มีโยนิโสมนสิการให้ถูกต้อง แล้วก็จะต้องเป็นปัจจัยของกิเลส ถ้ามีโยนิโสมนสิการก็ต้องเป็นปัจจัยแก่ปัญญาสองอย่างเท่านั้นแหละ ทีนี้เมื่อมีความรู้สึกเป็นปัจจัยแก่กิเลส กิเลสมันก็เอาไป ปัญญาก็ไม่ได้กิน ทีนี้เรามาเข้ากรรมฐาน เราก็ต้องหาความรู้สึกที่จะเป็นปัจจัยแก่ปัญญา อย่าให้กิเลสมันเข้า กิเลสมันเข้ามันก็ปิดบังเสีย ทีนี้ถ้ากิเลสไม่เข้า เราก็มีโอกาสที่จะดูได้นานๆ สมมุติว่าเรานั่งรถผ่านแพล็บเดียว เราอ่านหนังสือไม่ทัน เพราะเราไม่ไว แต่คนที่เขาชำนาญรถผ่านไปนี่เขาอ่านได้ แต่เราต้องดูนานๆ จึงจะทัน
คนรุ่นเรานี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้ว แต่ก่อนท่านฟังเทศน์ก็รู้เรื่อง เรานี่เอาเถอะ ทำให้รู้ก็ยังดีแต่เพียงว่า เข้าใจทำงานเท่านั้นก็ยังลำบาก บางทีก็ไม่แน่เข้าใจไม่แน่นอนก็อาจจะลืมเสียบ้าง อะไรอย่างนี้ พอถึงเวลา เขาให้ทำอย่างนั้นก็ลืมไปแล้ว บางคนก็ลืม ลุกขึ้นยืน ไปแล้วยังไม่ทันรู้เลยว่าแก้ทุกข์ ก็กลับลงนั่งใหม่ นั่งใหม่แล้วตัวก็ทำความรู้สึกว่า แก้ทุกข์ จะลุกขึ้นยืนอย่างนี้ไม่ตรงกับความจริง อย่างนี้ใช้ไม่ได้แล้วก็แล้วไปเลย อาการอื่นยังมีอีกเยอะ ไม่ใช่จะมีแต่หนเดียว เราก็ยังต้องนั่ง ต้องยืนอีกเยอะ แต่ก็ต้องรู้ว่าเมื่อกี้ลืมไป คือ ให้รู้ตัวว่า เผลอไป ทีหลังจะได้จำได้ไม่ลืม อันนี้แหละสำคัญมากทีเดียว
|
|
 |
 |
|
|
|