เพราะฉะนั้น ถ้าสมาธิแล้วไม่สามารถจะเห็นว่า มันไม่เที่ยงได้ ทำไมจึงไม่เห็นเพราะว่า ตามธรรมดา ถ้าจิตจ่ายไปในอารมณ์ที่หยาบๆ มันเปลี่ยนไปช้าๆ ก็อาจจะเห็นได้ ท่านกล่าวว่า ถ้าสันตตินี้สืบเนื่องอยู่อย่างไม่ขาด สัตว์ทั้งหลายก็ยังไม่สามารถเห็นอนิจจังได้ ทีนี้ก็เวลาที่จิตอยู่ในสมาธิ อยู่ในอารมณ์เดียว เกิดดับเร็วที่สุดอยู่ในอารมณ์นั้น จนไม่สามารถจะเห็นว่า อารมณ์นั้นมันไม่เที่ยงเหมือนพัดลมนี้ ถ้าหมุนเร็วๆ ก็จะไม่เห็น ไม่รู้ว่าใบพัดลมมีกี่อัน และรูปร่างเป็นอย่างไรก็ไม่เห็นเลย ถ้าหมุนช้าก็เห็นได้ว่า มี ๓ อัน เพราะว่า จังหวะที่ขาดว่างของมัน จะมาตัดให้เห็นได้ว่า เป็นคนละอัน หรือลูกข่างที่หมุนนอนวัน เวลาหมุนนอนวันแล้ว มันหมุนเร็วเหลือเกิน เราก็ไม่เห็นมันได้ เพราะมันนิ่งอยู่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นสมาธิจึงรู้ยากมาก คือ จะไปเห็นจิตที่เป็นสมาธิว่ามันเกิดแล้วมันดับ ไปนี่ ไม่มีหวังเลย ต้องเป็นคนที่มีปัญญาเฉียบแหลมสามารถได้ "ฌาน" และสามารถจะทำ "วสี" ในฌาน ให้คล่องแคล่วก็อาจจะยกองค์ฌานขึ้นเพ่ง เขาก็ไม่ได้เอาจิตขึ้นเพ่ง เขาเององค์ฌานขึ้นมาเพ่ง อย่างนี้ก็อาจสามารถที่จะเห็นได้
อย่างของเรานี่ เพียงแต่ทำสมาธิให้จิตเข้าถึงฌานก็ยังทำไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เวลามีสมาธิเข้าก็ไม่รู้ว่าอะไรก็ดูจิตไปเฉย จิตจะเที่ยงหรือไม่เที่ยงก็ไม่มีรู้หรอก
เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า ถ้าสมาธิเข้ามากแล้ว ก็จะปิดความจริงอันเป็นอารมณ์ของปัญญา จะต้องให้ สมาธิเป็นไปร่วมกับอารมณ์ของปัญญา ที่ได้ปัจจุบัน ในที่นั้น มีศีล มีสมาธิ และปัญญาก็มีในที่เดียวกันจึงจะเกิดได้
ถ้าไปทำสมาธิเสียก่อน ก็จะนิ่งไปใช้ไม่ได้ ทีนี้พอจะยกขึ้นสู่ปัญญา นั่งประเดี๋ยวเดียวความนิ่งก็เข้า พอลุกขึ้นเดิน เดินไปหน่อยสมาธิก็เข้า เดินเรื่อยไม่เหน็ด ไม่เหนื่อย เวลาเดินใจก็นิ่ง ไม่ออกมาดูให้รู้ว่ารูปอะไร เวลานั้นก็ไม่รู้สึก ไม่มีรูป ไม่มีนาม นิ่งก็ไม่เป็นปัจจัยแก่ปัญญา เพราะฉะนั้น จะต้องใช้ความสังเกตมากที่สุดเลย ใช้ความสังเกตมากแล้ว ก็ระวังความรู้สึกอย่าให้มันตกไปในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแก่กิเลส ถ้าเราตกไปในอารมณ์ที่เป็นปัจจัยแก่กิเลสแล้ว ปัญญาก็เกิดไม่ได้ เป็นโอกาสของกิเลส เกิดขึ้น คือ เป็นโอกาสของกิเลสเกิดขึ้น คือ เป็นโอกาสของอกุศลเกิด แต่กุศลไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น
เพราะอย่างนี้ จึงได้บอกว่า ต้องระวัง ขอให้ได้อารมณ์ปัจจุบัน แล้ว ความรู้สึกว่า เป็นรูป กับเป็นนาม ต้องมีอยู่เสมอ ถ้าจะรู้ไปนิ่งๆ อย่างนั้น แต่ว่าตัวดูอะไรเวลานั้นรู้ไหมว่า ดูรูปอะไร หรือดูนามอะไรไม่รู้ รู้แต่นิ่ง มันนิ่งไปเฉยๆ อย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ เพราะอารมณ์นี้เป็นสมาธิ ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของปัญญา แล้วก็ไม่มี นาม ไม่มี รูป นิ่งเฉยๆ ไม่รู้ว่าเป็นนามเป็นรูป ขอให้สังเกตต้องคอยดูว่า อ้อ...อันนี้ไม่ใช่ ความรู้สึกอย่างนี้ไม่ใช่ ถ้าไม่สังเกตก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน ถ้าใช่แล้วจะต้องมีความรู้สึกอย่างนั้นทีเดียว จะต้องรู้สึกว่า เวลานี้ตัวกำลังทำอะไรอยู่ ตัวดูอะไรอยู่ ต้องรู้สึกอย่างนั้น ถ้าไม่รู้สึก ดูเฉยๆ สติสัมปชัญญะไม่มีกำลัง
พออารมณ์อะไรผ่านมานิดเดียว แพล็บเดียวจะตกใจ คล้ายๆ กับใจหายวาบไปเลย พอใจหายไปแล้วก็กลัว กลัวสิ่งที่หายไปนั่นแหละ กลัวเสียแล้ว พอว่าได้ยินเสียงอะไรแก๊กก็ยังไม่ทันรู้ว่า อะไรยังไม่รู้หรอก แต่พอเสียงมาปุ๊ป จิตมันก็ทิ้งอารมณ์นี้ไปแล้ว รู้สึกตกใจหายวาบไป แต่ก็ไม่รู้อะไร ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร แล้วที่นี้ใจกลับเข้ามา พอความรู้สึกกลับเข้ามาใจก็เต้น ใจเต้นเพราะความกลัว แต่ยังไม่รู้ว่ากลัวอะไร อันนี้ใช้ไม่ได้ คือว่า ถ้าไม่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรละก็ใช้ไม่ได้ เหมือนกับผู้ที่เป็นนักสืบ
ปัญญาน่ะเหมือนนักสืบ เพื่อทำจารกรรม เข้าไปในที่ไหนก็เพื่อจะไปสืบเหตุผลว่า นี่เขาทำอะไรกัน ไปเป็นสมาคมอะไร ส่งเข้าไปเป็นจารบุรุษ ต้องไม่ให้เขารู้เลยว่า เราเป็นจารบุรุษ มิฉะนั้นสืบไม่ได้เรื่อง ต้องรู้จัก ต้องแยบคาย ต้องมีอุบายต่างๆ แต่ว่า อุบายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านได้เทศนาไว้ สั่งสอนไว้แล้ว ก็จดจารึกไว้ในพระไตรปิฏก เพราะฉะนั้น บางทีมันยาก จนกระทั่งถึงว่าไม่เข้าใจ สอนไว้แล้ว จดแล้ว บันทึกไว้แล้วอยู่ในสมุด เราเอาสมุดนั้นมาอ่านก็ยังไม่รู้ว่าท่านสอนอะไร อย่างนี้ก็มี เราไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร อ่านแล้วก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วไปทำตามก็ไม่ถูก ยากมากไม่ใช่ของง่ายๆ ขอให้ทุกท่านเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นของสาธารณะไม่ใช่เป็นสาธารณะที่ทุกคนจะทำได้ มันเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้า ตรัสรู้ขึ้นมา ถ้าไม่ใช่พระพุทธเจ้าแล้ว ปัญญาบารมีไม่ถึงขนาดที่จะเป็นสัมมาสัมพุทโธ แล้วจะรู้เองไม่ได้เลย ยากถึงขนาดนั้น เราจะต้องมีความสังเกต ถ้าหากว่ามันเบา รู้สึกว่า ตัวเบา และความรู้สึกก็ไม่ค่อยจะชัด คือ เลือนๆไปอะไรอย่างนั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ดีนะ ตามหลัก ถ้าสมาธิเข้ามาแล้วความรู้สึกตัวจะไม่ชัดเลือนๆ เพราะฉะนั้น อันนี้ต้องอาศัยความสังเกต ถ้าขาดความสังเกตแล้ว ผิดก็ไม่รู้ ต้องสังเกตนับตั้งแต่ทีแรกที่ลงมือกำหนด ท่านเคยสังเกตไหมเมื่อแรกที่ลงมือกำหนด นั่งก็ดี เดินก็ดี นอน หรือยืนก็ตาม เวลาที่กำหนดครั้งแรกลงไปจะชัดเจน เพราะว่า ยังไม่มีสมาธิหรืออะไรๆ เข้ามา ท่านจะต้อง สังเกตความรู้สึกที่ชัดเจน อันนี้เอาไว้เป็นหลัก เอาไว้เป็นครู จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม ความรู้สึกที่กำหนดลงไปครั้งแรกจะชัด ถ้าพูดถึงว่า กำหนดถูก ท่านก็จะต้องจำไว้ จำท่าทาง จำลักษณะไว้ พอกำหนดไปสักประเดี๋ยวความรู้สึกจะเปลี่ยน คือว่า ความรู้สึกจะอ่อนลงไปหรือว่า เมื่อสมาธิเข้ามา ความรู้สึกจะอ่อนไป นี่พูดถึงว่า ไม่ฟุ้ง ถ้าฟุ้งก็ไปอีกเรื่องหนึ่ง ความรู้สึกจะอ่อนลงไป เวลานั่งน่ะ ท่านกำหนดอะไร ?
น. - เวลานั่ง อาตมากำหนดนั่งพับเพียบ
อ. - นั่งอะไรก็ได้ร้อยแปด ท่านนั่งก็อยู่ในหลายท่าเหมือนกัน เวลานั่ง ท่านกำหนดอะไร ?
น. - กำหนดรูปนั่ง กำหนดรูปที่เรานั่งนั้นทำอย่างไร ? ลักษณะอย่างไร
อ. - คือว่า สำคัญที่ความรู้สึก เวลานั่งนั้นท่านมีความรู้สึกอย่างไร ท่านทำความรู้สึกอย่างไร ?
น. - รู้สึกว่า ศีรษะนี่ที่ตั้งอยู่บนบ่า นี่แขน นี่ขา เป็นท่านั่งพับเพียบ
อ. - ท่านไม่ต้องไปรู้สึกอย่างนั้น ถ้าไปรู้สึกอย่างนั้นแล้วตกลงว่า รูปนั่งอยู่ตรงไหน ท่านก็ยังไม่เจอะรูปนั่ง ขอให้นึกถึงว่า เมื่อท่านยังไม่ได้เข้ากรรมฐาน เวลานั่ง ท่านก็ทราบ เดินก็ทราบ โดยปกติธรรมดานี่เอง เวลานั่ง ท่านก็ไม่ต้องไปรู้ตรงบ่า ตรงแขน ตรงขาอะไรก็ไม่มี เช่น อย่างเวลานี้ท่านก็ทราบนั่งหรือนอน นั่งท่านก็ทราบตามปกตินี่เอง ทำไมท่านถึงทราบว่า นั่ง เพราะว่า ตั้งกายอยู่ในท่านี้ เรียกว่า นั่ง ทั้งตัวเลย เรารู้ที่ตรงท่าทางเท่านั้นแหละ
อย่าได้นึกว่า เวลาเข้ากรรมฐานแล้วก็ต้องรู้อีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเป็นปกติธรรมดานี่แหละ ไม่ใช่ว่า จะต้องไปรู้ที่ตรงนั้น ตรงนี้ ตรงโน้น แล้วจึงจะเป็นท่านั่ง นั่งธรรมดานี่แหละ แล้วก็รู้อยู่ในท่าที่นั่งในสติปัฏฐานท่านบอกว่า ตั้งกายอยู่ด้วยอาการอย่างใดๆ ก็ให้รู้อยู่ในอาการนั้นๆ ไม่ต้องไปรู้ตั้งแต่ศีรษะลงมาถึงหัวไหล่ถึงขา ถ้าเช่นนั้นแล้วก็เลยตกลงไม่รู้ว่า รูปนั่งนั่นอยู่ที่ไหนเวลาที่ท่านดูที่ตรงนี้มันก็ไม่ใช่นั่ง มันรวมๆ กันทั้งหมด นั่งอยู่ในท่าไหนก็รู้อยู่ในท่านั้น ไม่ต้องไปรู้ตรงนั้น ตรงนี้ถ้าไปรู้ตรงนั้น ตรงนี้ก็จะไม่ถูกรูปนั่ง ทีนี้เวลากำหนดรูปนั่ง ท่านจะกำหนดที่ไหน ?
น. - ดูที่กิริยาท่าทาง
อ. - ท่านั่งน่ะ ไม่ต้องไปกำหนด ตรงแขน ตรงขา เวลายืนก็มีขานี่ นอนก็มีขา เดินก็มีขา กำหนดรูปนั่ง ท่านกำหนดที่ไหน ? ขอถามอีกที
น. - รู้สึกว่า นั่งตั้งกายไว้บนเก้าอี้
|