|
แนะแนวทางปฏิบัติวิปัสสนา |
ทีนี้รู้อารมณ์ถูกไหม ไม่ถูกไม่ได้ เหมือนกับเราตัดไม้สักท่อนหนึ่ง จะเอาไปใส่ที่ตรงไหน เราก็จะต้องกะไว้แล้วว่า จะต้องตัดยาวเท่านั้น จะตัดตรงหรือตัดเฉียง เมื่อเราจะตัดไม้ เราก็ต้องตัดตามที่เราเข้าใจกว้างแค่ไหน ยาวแค่ไหน ก็ใส่ได้พอดี แต่ถ้าวัดมาแล้ว เวลาตัดเราไม่ได้ดูอีกทีหนึ่ง บางทีก็ใช้ไม่ได้เลย การทำวิปัสสนาก็เหมือนกัน วิปัสสนานี่ ท่านเรียกว่า ปัญญาสิกขา สิกขา แปลว่า ศึกษา ศึกษาการงานของปัญญา ศึกษานี้อยู่ที่ไหน ศึกษาอยู่ที่การสังเกต นี่แหละเราเรียกว่า ศึกษา คือ การสังเกต คอยดูว่า ผิดหรือถูกอะไรต่ออะไร
ถ้าขาดความสังเกตไม่มีการศึกษา จะสังเกตได้ต้องเข้าใจก่อน เข้าใจว่า ที่ถูกนั้นเป็นอย่างนั้นๆ ทีนี้เวลาทำงานก็สังเกตว่า ตรงกันไหมกับที่เราเข้าใจ บางทีก็เดิน เดิน เดินไปมีแต่เดิน รูปไม่มี อย่างนี้ไม่ได้ พอรู้ว่า รูป ไม่มีก็กลับทำความรู้สึกเสียใหม่ บางที เดินไม่กี่ก้าว รูป ก็หลุดไปแล้วเหลือแต่ เดิน บางที เดิน ก็ไม่มีเหลือแต่อาการที่ก้าวไปๆ รู้ในอาการนั้นเท่านั้น เท้าก้าวไปๆ ก็รู้ แต่ไม่มี รูป ไม่มีอะไรทั้งนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้ท่าน ก็ต้องตั้งต้นใหม่ อย่าทำต่อไป เลิก หยุด แล้วก็ตั้งต้นกำหนดใหม่
เพราะฉะนั้น จึงได้เรียนว่าให้สังเกตเวลาที่กำหนดเดิน หรือกำหนดนั่ง แรกๆ เมื่อเข้าใจดีก็กำหนดไม่ผิด ให้สังเกตว่า มีความรู้สึกอย่างไร ทีนี้ทำไปๆ มันเคลื่อนไป พอเคลื่อนไปก็กลับมาตั้งต้นใหม่ พอชำนาญแล้วก็ทำถูกมาก ไม่ค่อยผิด ก่อนที่จะชำนาญก็ต้องทำบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็จริง แต่ถ้าไม่เข้าใจมาก่อนก็ทำไม่ถูกอยู่ดี จะต้องเข้าใจก่อนแล้ว ก็ไปหัดทำจนชำนาญ ระหว่างทำงานก็ต้องคอยสังเกตว่า อะไรมันขัดข้องอะไรเป็นยังไง สังเกตว่า เวลานั่งทำไมรู้สึกอย่างนั้น ทำไมมีอาการอย่างนี้ เวลาเดินทำไมมีอาการอย่างนี้ ต้องสังเกตนะ แล้วก็มาบอกจะได้รู้ว่า อะไรมันขาด อะไรมันเกิน ดูถูกหรือไม่ถูกผิดตรงไหน ผู้ทำงานอาจจะยังไม่รู้ก็ได้
ถ้าไม่เข้าใจอย่างนี้เสียก่อนก็อาจจะยาก เสียเวลาเหมือนกับเราเดินผิดทาง ถ้าเรารู้เสียก่อนมันก็กลับมาได้เลี้ยวทางนี้ ตรงนี้แยกไปนิดหนึ่ง หรือสังเกตว่า เอ ! อันนี้ไม่ใช่ เราก็กลับมาได้ ทีนี้ถ้าไม่รู้ก็เดินเรื่อยไกลออกไปทุกที กลับมาก็ไม่ถูก เพราะไม่ได้จำว่า ที่ถูกเป็นอย่างไร บางทีเดินไปไกลแล้วก็ไม่อยากกลับมาเลย เรียกกลับก็ไม่กลับ มันจะไปท่าเดียว มันจะไปแต่อารมณ์นั้น มันจะให้รู้สึกอย่างนั้นอย่างเดียว อันนี้ต้องสังเกต เพราะมันเป็นเรื่องของปัญญา เป็นเรื่องของเหตุผลทั้งนั้นเลย สังเกตตามเหตุผลของธรรม
เพราะฉะนั้น เรื่องการเห็นรูปนามนี่ บางคนพอนั่งปุ๊บลงไปก็จะให้เห็นรูปนามทันที บางทีรูปก็ไม่ได้กำหนด คือ ไม่ได้กำหนดรูปนั่ง เมื่อนั่งลงไปก็มุ่งไปเพื่อจะเห็นรูป ใจมันมุ่งไปจะดูรูป แต่ไม่ได้กำหนดรูปนั่ง ขอให้ระวังให้จงหนักทีเดียวอันนี้ เดินก็เหมือนกัน พอลุกขึ้นเดินใจมันก็มุ่งไปจะเห็นรูปนาม แต่ไม่ได้ดูเลย รูปเดิน มันหลุดไปแล้ว เพราะใจมันมุ่งไปเสียปัจจุบันไปแล้ว ยังไม่ได้เห็นรูปเดิน แต่ใจมันเอื้อมไปแล้ว ก็ทำให้ทิ้ง "ปัจจุบัน" และก็ไม่มีวันที่จะเห็นด้วย อันนี้ก็จะต้องระวังเอื้อมไปไม่ได้เลย
แม้ว่าจะเคยเห็นแล้วยังไม่เห็นอีก พอนั่งก็อยากจะเห็นสิ่งที่เคยเห็นแล้วอีก ก็ไม่มีวันได้เห็นอีก เพราะเวลาเห็นสิ่งที่เคยเห็นแล้วอีก ก็ไม่มีวันได้เห็นอีก เพราะเวลาเห็นนั้นเราไม่ได้นึกว่าจะเห็นอย่างนั้น เห็นอย่างนี้ เวลานั้นจิตได้ปัจจุบันดีก็เห็นขึ้นมาเอง ทีนี้เมื่อเห็นแล้วก็นึกอยู่ว่าอยากจะเห็นอีก เมื่อตั้งใจจะเห็นอีกจิตก็มุ่งถึงอารมณ์ที่แล้วมาที่เคยเห็น ตรงนี้ก็เลยเสีย ก็ไม่มีวันที่จะเห็นอีก ยิ่งหาก็ยิ่งส่ายไปใหญ่ เพราะว่ามันจะต้องเห็นที่ปัจจุบัน ถ้ายิ่งหามันก็ยิ่งห่างกับปัจจุบัน ทุกที่ๆ ธรรมแสดงอยู่ที่ปัจจุบัน อันนี้ก็ต้องระวัง โดยมากจะได้ปัจจุบันกันน้อยที่สุด
คำว่า "ปัจจุบัน" ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจกัน สมมุติว่าเวลานั่งดูรูปนั่ง รู้สึกด้วยปัจจุบันนั้นจะรู้ที่ไหน ? รู้สึกที่ไหนท่านทราบหรือยัง ? ถ้ารู้สึกเป็นปัจจุบันแล้ว รู้สึกที่ไหน ? ถ้า "รู้สึก" แล้วจะต้องออกมารู้ ที่ท่านั่ง ถ้านึกจะไม่รู้ที่นี่ นึก อยู่ในใจ ใจไปนึกถึงรูปนั่งมันก็ไม่ได้มารู้อยู่ที่ท่านั่ง อันนี้ท่านก็ต้องสังเกตว่า จิตจะต้องออกมารู้ที่ท่านั่งถึงจะเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ว่านึกถึง นึกถึงรูปนั่งแล้วก็รูปนั่งอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ อันนี้ก็ไม่มีโอกาสที่จะเห็นรูปนั่ง มันละเอียด มันเป็นงานของใจ แล้วมันนิดๆ หน่อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มีเหตุมีผล ถ้าเราจะนึกว่า ไม่จำเป็นไม่ได้ บางทีนิดๆ นั่นแหละสำคัญ ถ้านิดๆ นั่นไม่ได้ มันก็จะเลยไปเลย-ก็ผิดไป
ท่านไม่ต้องไปสนใจว่า วิปัสสนาจะได้หรือยัง จะเห็นหรือยัง ? จะเอื้อมไปในอนาคตอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า เวลานั่งอย่าเอื้อมไป จิตอย่าเอื้อมไปว่า จะเห็นรูปเห็นนาม เห็นเกิดดับ อันนี้ไม่ใช่ "ปัจจุบัน" แต่เป็น อนาคต จะเห็นอย่างไรได้ ถ้าเห็นก็จะต้องเห็นรูปที่กำลังดูอยู่นั่นแหละ ทีนี้เมื่อจิตเอื้อมไปก็แสดงว่าไม่ได้ดู เพราะเอื้อมไปข้างหน้าเสียแล้ว เหมือนนัยน์ตาเรานี่เหลือบไปนิดหนึ่งตรงหน้านี้ก็ไม่เห็นเสียแล้ว อันนี้ต้องระวัง ต้องให้ได้ปัจจุบัน เพราะเช่นนี้ จึงเรียนให้ทราบทุกท่านว่า ที่เข้ากรรมฐาน นั่งกรรมฐานหรือเปล่า นี่ท่านนั่งกรรมฐานกันหรือเปล่า ?
น. - ไม่ได้นั่งกรรมฐาน
อ. - แล้วนั่งหรือเปล่าล่ะคะ ?
น. - นั่ง
อ. - นั่งทำไม ?
น. - นั่งเพื่อให้รู้อิริยาบถนั่ง
อ. - นี่ไม่ผิด ยังไม่ผิด แล้วเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ เขาบอกหรือเปล่าว่า เวลาเปลี่ยนอิริยาบถให้ทำความรู้สึกอย่างไร ?
น. - นั่งเมื่อยก็ต้องเปลี่ยน
อ. - นั่นแหละค่ะ ก็เหมือนเขาบอกว่า นั่งต้องแก้ทุกข์ เดินก็เหมือนกัน อย่ารู้สึกว่า เดินกรรมฐาน ถ้ารู้สึกว่าเดินกรรมฐานก็ไม่ได้ปัจจุบันแล้ว เดินกรรมฐานจะต้องเดินเอาอะไรสักอย่างหนึ่ง เดินเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง พอเดินเพื่อประโยชน์อะไรสักอย่างหนึ่ง เดินจะเอาก็เดินเพื่อกิเลส ความรู้สึกอย่างนี้ก็เป็นที่อาศัยของกิเลสแล้ว กิเลสจะต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องการจากรูปเดิน ทีนี้ตัวเองก็รู้สึกว่า เดินนี้เป็นสาระ จะนำประโยชน์มาให้ จะให้เราเห็นอะไรต่ออะไร
ถ้าเห็นธรรม ก็เห็นรูปเดินนั่นแหละ ไม่มีสาระ รูปเดินนั่นแหละไม่ใช่ตัว รูปเดินนั่นแหละไม่เที่ยง รูปเดินนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่ว่าเดินเพื่อจะเห็นไม่เที่ยงอย่างนี้ไม่ได้ ก็ดูที่รูปเดินนั่นแหละ ถ้าจะเห็นมันก็เห็นขึ้นมา ถ้าเราดูถูก มีโอกาสได้พิจารณาถูกต้องได้มากก็จะเห็นขึ้นมา ขออย่าเดินกรรมฐาน อันนี้ห้ามยากจริงๆ ด้วยเหตุนี้ จึงได้บอกว่า ถ้าไม่จำเป็นอย่าให้ใช้อิริยาบถ ไม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถ ถ้าใช้อิริยาบถโดยไม่จำเป็นแล้ว ต้องเป็นที่อาศัยของกิเลส เมื่อกิเลสเข้าไปอาศัยในความรู้สึกอันนั้นแล้ว ปัญญาจะเข้าไปทำงานหรือถือสิทธิ์เข้าไปในที่นั้นไม่ได้ เพราะกิเลสเข้าไปปกครองก่อนแล้ว
|
|
 |
 |
|
|
|