เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   ท่าน ก.เขาสวนหลวง ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ  
 

ปรารภธรรม โดย ท่าน ก. เขาสวนหลวง

"ที่เที่ยวของสติ"
๑๐ มิถุนายน ๒๕๑๕

            วันนี้เป็นวันประชุมตามเคย ก็อยากจะพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยว เพราะว่าตามธรรมดาของสัตว์ทั่วๆ ไป มีการท่องเที่ยวไปตามอารมณ์คือ ทางผัสสะ เช่นตาก็เที่ยวไปดู หูก็เที่ยวไปฟัง จมูกนี่ก็เที่ยวหาเรื่องดม ลิ้นก็อยากจะหารส กายก็อยากจะได้สัมผัสที่อ่อนนิ่ม แล้วใจนี่ก็เลยเที่ยวเตลิดไปตามอารมณ์ เอารูปเป็นอารมณ์บ้าง เอาเสียงเป็นอารมณ์บ้าง ตลอดทวารทั้งห้านี้ เป็นอารมณ์อยู่ภายในจิตอย่างเดียว แล้วก็มีการปรุงการคิดสับสนวุ่นวาย และเรื่องอย่างนี้มันก็ไม่มีอะไรนอกจากเกิดๆ ดับๆ แม้ว่าจะไปรู้ไปเห็นอะไรมามันก็สนุกสนานชั่วขณะ ที่หลงไปยึดมั่นถือมั่นในรูปในเสียงทำให้เกิดความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง เป็นอันว่าที่เที่ยวของสัตว์ที่โง่ๆ นี้ มันรวมอยู่ในเรื่องอารมณ์ทั้งหกประการ ซึ่งเป็นที่เที่ยวของสัตว์ที่ติดอยู่ในกามคุณเป็นจุดเด่นและก็มีกามราคะเข้ามาย้อมฉาบทาจิตให้ติดแน่น หรือมีความเอร็ดอร่อยอยู่ในกามคุณทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงต้องระทมทุกข์อยู่ทุกขณะก็ว่าได้ เพราะมันยังมีความกระหายที่จะได้เห็นรูปฟังเสียงเหล่านี้ เป็นการชุลมุนวุ่นวายไปตามประสาของสัตว์ ที่ยังมีอวิชชาโมหะครอบงำอยู่ในสันดาน พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เรื่องนี้ดีถูกต้องทั้งหมดจึงได้ตรัสเปิดเผยว่า ให้หยุดท่องเที่ยวไปในรูป เสียง กลิ่น รส เสีย มาเที่ยวดูในกาย เที่ยวดูในเวทนา เที่ยวดูในจิต เที่ยวดูในธรรม นี่พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้กลับมาเที่ยวดูข้างใน แต่ว่าสัตว์ที่โง่ๆ นี่ยังชอบเที่ยวดูข้างนอกกันนัก

            พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนว่า ที่เที่ยวของสตินั้นมีอยู่สี่ประการ ในหลักสี่ประการนี้ ก็มีการเรียนรู้เพ้อกันไปทั้งนั้น แต่ว่าไม่มีใครที่จะหยุดมารู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม ว่ามันเป็นของหยุดได้ สงบได้หรือไม่ จะต้องรู้เรื่องของกายว่ามันมีอะไรบ้าง มีเป็นตัวเป็นตน เป็นคนที่สัตว์อยู่ที่ตรงไหน ถ้ามีการดูหายหรือว่าพิจารณาอยู่ในกาย เห็นความเป็นธาตุปราศจากตัวตนด้วยประการทั้งปวงนั่นแหละถึงจะเป็นการทำตามพระพุทธเจ้าถูกต้อง แล้วก็เที่ยวดูของจริงจนกระทั่งรู้แจ้งชัดใจจริงๆ และก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่า กายนี้เป็นของสวยงาม เป็นหญิงเป็นชาย หรือเป็นตัวเป็นตนอะไรทั้งหมดนี้มันก็ยกเลิกไป

            ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของเวทนาก็เป็นเรื่องสำคัญอีกที่จะต้องตามดูเวทนา เพราะว่าจะไปเที่ยวดูอื่นๆ นั้นมันเป็นความหลง ถ้าเที่ยวดูเวทนาภายในเวทนา หรือว่าเวทนาที่เกิดจากผัสสะที่กระทบทางตา ทางหู ฯลฯ ก็ตาม ก็ให้ดูเฉพาะว่าเวทนานี้ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข และไม่สุขไม่ทุกข์ มีการเปลี่ยนแปลง คือว่าเกิดดับ ไม่มีอะไรคงที่สักสิ่งหนึ่ง ถ้าหยุดดู หรือพิจารณาดูเวทนา อยู่ตลอดทุกลมหายใจเข้าออกแล้ว จิตนี้จะไม่ไปอย่างอื่น ไม่เที่ยวไปอย่างอื่น มันจะไม่เอาอะไรเลย เพราะว่ามันได้ดูของจริง ได้รู้ของจริงที่มีอยู่ในตัวเองนี้

            แล้วข้อที่สามก็คือให้ดูจิตไม่ให้เที่ยวดูสิ่งอื่นอีก ให้เที่ยวดูจิตของตัวเองทุกขณะ ไม่ว่าจะยืนเดินนั่งนอน ให้ตามดูตามรู้ว่าจิตนี้ มันประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะอย่างไร? หรือว่ามันว่างไปจากราคะโทสะโมหะอย่างไร? ต้องตามดูจิตอยู่เนืองนิตย์และทุกลมหายใจเข้าออก

            ข้อที่สี่ให้ดูธรรมะ เพราะว่าดูธรรมะนี้เป็นการดูของจริง ดูให้เห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ หรือไม่ใช่ตัวตนอะไรก็ดูได้ ดูภายในตัวเองนี้ทั้งนั้น นี่พระพุทธเจ้าทรงบอกไว้อย่างนี้ ทีนี้การเรียนรู้กันมากมาย แต่ไม่ได้เอามาประพฤติปฏิบัติตามคำสอนแล้วมันก็ไม่รู้จริงเห็นแจ้งอะไรขึ้นมา มีแต่อยากจะฟังอยากจะอ่านสารพัดที่จะอยากไป เพราะว่าของจริงที่มันมีอยู่ในเนื้อในตัวนี้ พระพุทธเจ้าก็ทรงชี้ไว้หมด สำหรับท่านผู้รู้ทั้งหลาย ท่านก็ได้นำเอาหลักคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ แล้วก็เอามาจาระไนอย่างเดียวกันอีก แต่คนโง่นี่ มันไม่ยอมหยุดดู หยุดรู้เลย เพราะว่ายิ่งรู้มากมันก็ยิ่งวุ่นมาก มันเป็นอย่างนี้เสียหมด ฉะนั้นจึงเหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง ซึ่งช้างนี่มันก็ตัวเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้คนหนึ่งไปคลำถูกขาก็บอกว่าช้างนี่เหมือนเสา ถ้าคนที่สองไปคลำถูกหางก็ว่าช้างเหมือนไม้กวาด ถ้าคนที่สามคลำไปถูกตัวก็ว่าช้างนี่มันใหญ่เท่าพ้อม คนที่สี่ไปคลำถูกหู ก็ว่าช้างเหมือนพัด คนที่ห้าไปคลำถูกงา ก็ว่าช้างเหมือนหอก คนที่หกไปคลำถูกงวงก็ว่าช้างเหมือนกระออมน้ำ ตกลงว่าตาบอดคลำช้างทั้งหกคนนี้ต่างมีความเห็นกันไปคนละอย่าง แล้วก็มีเรื่องถกเถียงทะเลาะวิวาทกัน จนไม่มีทางที่จะรู้เรื่องของช้างตัวเดียวได้ เพราะว่าต่างคนต่างยืนยันกัน คนนั้นก็ยืนยันว่าข้าเห็นของข้าอย่างนี้ คนนี้ก็ยืนยันว่าเห็นอย่างโน้น เป็นอันว่าสับสนอลหม่านไปหมด โดยไม่รู้ว่าเป็นช้างตัวเดียวกัน เพราะว่ามันตาบอดจึงเห็นไม่ทั่ว เหมือนกับคนเที่ยวยึดถือไปว่า ส่วนนั้นดีส่วนนี้ชั่ว ถูกผิดอะไรก็สุดแท้ สารพัดที่จะเอามาวิพากษ์วิจารณ์กันไปตามประสาคนตาบอด แต่สำหรับคนตาดีแล้ว ไม่ต้องไปเถียงกับใครเลย สบายอกสบายใจไปทีเดียว พอไปเห็นคนตาบอดเถียงกันคัดค้านกัน คนตาดีก็นั่งเฉยไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องไปดูอะไร เพราะว่ามันได้ท่องเที่ยว ดูในกาย ดูในเวทนา ดูในจิต ดูในธรรม พอแล้ว ทำตามพระพุทธเจ้า ให้มีสติท่องเที่ยวอยู่ในสี่อย่างนี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องไปเอาคำสอนของใคร มันแน่นอนเหลือเกิน แม้ว่าม่านผู้รู้ทั้งหลายจะอธิบายขยายความออกไปมากมายเท่าไรก็ตาม แต่มันรวมจุดเป็นช้างตัวเดียวกันหมด จึงไม่มีการตื่นเต้นไปตามเรื่องของคนตาบอดนั่น มีการหยุดดู หยุดรู้ อยู่ในตัวทุกสิ่งที่จะจำแนกออกไปเป็นการรู้ความจริงขึ้นมาในตัวเอง แล้วมันก็เลยหยุดได้ สงบได้ ว่างได้ แต่ถ้าคนตาบอดคนไหนยังมองไม่ทั่วถึงแล้ว ก็เที่ยวชุลมุนวุ่นวายไป หาเรื่องวุ่นไปเอง ทั้งนี้เพราะตามันบอดจึงมองไม่เห็น มันก็เที่ยวดูเที่ยวฟังไปว่านั่นดี นี่ชั่ว นั่นถูก นี่ผิด คนนี้พูดดี คนนั้นพูดไม่ดี นั่นมันล้วนแต่พวกตาบอดทั้งนั้นเลย แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา เพราะว่าตัวของมันเองนี้มันยังมองไม่เห็น เพราะมันตาบอดอย่างนี้ จึงได้เที่ยวออกไปดู ไปฟังข้างนอกเก่ง ถ้าเกิดรู้สึกด้วยใจจริง ที่ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้า มาเป็นเวลานาพอสมควรแล้ว ก็ควรจะรู้ได้แล้ว แต่นี่มันยังไม่รู้ มันจึงได้เที่ยวกระวนกระวายกระหืดกระหอบไป แล้วอย่างนี้จะไปโทษใคร เพราะพวกตาบอดนี้ไม่ใช่เรือนร้อยเรือนพันหรือเรือนหมื่นเรือนแสน มันนับไม่ถ้วน เป็นเรื่องอย่างนี้ มันจึงชุลมุนวุ่นวายกันไปทั้งหมด มันหยุดไม่ได้ มันสงบไม่ได้จึงเที่ยวหาเรื่องคิด หาเรื่องจำ หาเรื่องพูดเพ้อกันไปสารพัดอย่าง ที่จะทำตามคำสอนของพระศาสดาแท้จริงนั้นหายาก มีแต่คนชอบพูดชอบอวด ชอบยกหูหางอยู่เรื่อย มันจึงเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่อย่างนั้น แล้วมันจะไปพึ่งอะไรที่ไหน เพราะฉะนั้นคำสอนของพระศาสดา ที่ส่องแสงสว่างรุ่งเรืองเปรียบดวงประทีปนั้น พวกหูหนวกตาบอดนี่มองไม่เห็น พากันเที่ยวคลำไป เมื่อคลำไปคลำมาก็ไปตกเหวตกน้ำบ้าง ตกไฟบ้าง มันเป็นอย่างนี้

            สำหรับเรื่องการปฏิบัติธรรมนี้ ถ้าคนไหนได้ปิดประตูดูข้างในแล้ว ให้รู้เองเห็นเองเสียให้ได้ โดยไม่ต้องไปเชื่อคำของผู้อื่น ตาในกาลามสูตรทั้ง ๑๐ ข้อนั้น เอาเฉพาะสองข้อที่สำคัญคือว่า

            ๑. ไม่เชื่อผู้พูดว่าสมควรจะเชื่อ

            ๒. ไม่ยึดถือว่าสมณะผู้นี้เป็นครูของเรา นี่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงยืนยันอย่างนี้ แม้แต่พระองค์เองก็ไม่ให้เชื่อว่าพระองค์เป็นสมณะที่ควรเชื่อถือ นี่มันน่าเคารพนับถือสักขนาดไหน ว่าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโดยธรรมแท้ ไม่มีอคติใดเจืออยู่เลย พระองค์มีพระกรุณาบริสุทธิ์ผุดผ่องเพื่อไม่ให้สัตว์ข้องติด อยู่ในอะไรทั้งหมด ให้ปลดเปลื้องตัวเองออกไปสู่โลกุตตรสุญญาตา คือว่างจากตัวตนนั่นเอง เพราะฉะนั้นคำสอนทุกข้อ ไม่ว่าจะเป็นคำย่อหรือพิศดารอย่างไร มันน่าสนใจยิ่งกว่าคำสอนของคนอื่น แต่สำหรับคนที่มีสติปัญญาลึกซึ้งแล้ว เขามุ่งเอาคำสอนของพระศาสดาเสียเลยโดยที่ไม่ต้องไปเอาคำของใครมา เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นความเด็ดขาดกว่า การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือว่าการเป็นทาสของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันอยู่ตรงที่อ่านข้อเท็จจริงภายในตัวของตัวเอง ให้มันทะลุเข้าไปทีเดียว จนมีความซาบซึ้งเข้าถึงพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ภายในโดยเด็ดขาด ไม่มีการเชื่อตามผู้อื่นต่อไป แม้ว่าในสมัยพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมกับบรรดาสาวกทั้งหลาย ที่บรรลุพระอรหันต์แล้วก็ตามและท่านที่เป็นอริยสาวกหรือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม ก็ได้ทรงแสดงธรรมโดยความตรงไปตรงมาไม่มีการที่จะให้ติดอยู่ในอะไรสิ่งอะไร จนกระทั่งพระสาวกทั้งหลายมีการเคารพนบนอบบูชาว่า "พระศาสดานั้นเหมือนกับหงายของที่คว่ำอยู่ให้เปิดขึ้นมาได้" นี่ท่านมีความซาบซึ้งในคำของพระศาสดาทุกขณะไปหมด

            ส่วนบรรดาสาวกทั้งหลายเมื่อได้รับคำสอนจากพระศาสดา หรือว่าพระองค์ได้ทรงสอนขณะใดขณะหนึ่ง หรือในธรรมะข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม ที่ท่านรู้แจ้งเห็นจริงตามด้วยจิตใจแล้ว ท่านก็มีการปฏิญาณตนออกมาเอง เป็นความอัศจรรย์ของธรรมะ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศขึ้นเพราะว่าไม่มีการแสดงเหมือนกับคนอื่น หรือศาสดาอื่นเลย มีการแสดงความจริงโดยส่วนเดียว แล้วก็สรุปความเอาไว้หมดไม่ว่าตอนไหน เมื่อรู้แล้วจะต้องไม่ยึดมั่นถือมั่นรู้แล้วสลัดคืนเป็นการปล่อยวางได้ นี่เป็นคำสอนของพระศาสดาที่ยิ่งกว่าคำสอนของใครๆ ทั้งหมด เราจึงซาบซึ้งในคำสอนของพระศาสดา จนกระทั่งมองเห็นว่าคำสอนของพระศาสดาเป็นการเข้าถึงภายใน ไม่มีการเอนเอียงไปตามเสียงของใคร ไม่ว่าจะเป็นเสียงสรรเสริญเยินยอ หรือติฉินนินทาอะไรทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้พิจารณาคำสอนของพระศาสดาซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมีการซาบซึ้งติดอยู่ในใจแทบทุกขณะลมหายใจเข้าออกก็ว่าได้ แม้ว่ากิเลสตัณหานี่มันยังไม่หมดสิ้นไป แต่ว่าเราก็ซาบซึ้งเป็นการอาบอยู่ภายใน ดูมันก้องอยู่ในหู ก้องอยู่ในใจ ไม่ว่าบทไหนไม่ต้องมาก เฉพาะบทว่าที่เที่ยวของสติสี่อย่างนี้ก็พอแล้ว เราพยายามที่จะไม่ท่องเที่ยวออกไปทางอายตนะภายนอก เราพยายามที่จะท่องเที่ยวดูภายใน คือ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมของเรา ตามคำสอนของพระศาสดาแท้จริง แล้วก็ไม่ต้องไปเอาอะไรที่ไหน เพราะว่ามันหมดที่พึ่งข้างนอกแล้ว ต้องเข้าสรณะที่เป็นภายใน ที่เป็นแก่นแท้

            เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีการเผยแผ่ธรรมะ ที่พระศาสดาได้ทรงประทานเอาไว้ให้ เรามีความเชื่อแนบแน่น เพราะว่าไม่ได้เป็นความเชื่อตามความเข้าใจ มันเป็นความเชื่อที่ได้ซาบซึ้งในการปฏิบัติธรรม ที่ได้พิจารณาเป็นความจริง แล้วได้มีการปล่อยวางออกไปมากเท่าไร ความซาบซึ้งก็มีมากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ยังอยู่ ถ้าปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระศาสดาแล้ว พระธรรมก็คุ้มครองอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน อย่าเข้าใจว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว อย่าไปนึกอย่างนั้นเลย เพราะพระองค์ทรงตรัสว่า "พระธรรมวินัยนี่แหละจะเป็นองค์แทนพระศาสดา" ทรงตรัสไว้อย่างนี้ แต่ถ้าเราไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์แล้ว เราก็หลับตาว่าตามกันไป ว่าพระศาสดานิพพานไปแล้ว ธรรมวินัยนี้จะเสื่อมไปหมด นี่มันไม่เสื่อมหรอก มันเสื่อมอยู่ที่คน คนมันทนต่อความยั่วยวนทางอายตนะไม่ไหว เพราะฉะนั้นมันจึงต้องกระดอนไปกระเด็นมาตามผัสสะที่มากระทบแล้วมันก็มีการยึดมั่นถือมั่น ดีชั่วตัวตนสารพัดอย่าง ฉะนั้นมันจึงได้มีการวุ่นวายนักแล้วก็ไม่รู้คุณค่าของพระธรรมวินัยของพระศาสดา ว่าเป็นแสงสว่างจริงหรือไม่ ถึงแม้จะมีการสวดทำวัตรเช้าเย็นได้ ก็ดูเหมือนจะว่ากันแต่ปากมากกว่า เพราะยังไม่มีความซาบซึ้งด้วยใจจริงนั่นเอง ในการที่ปฏิญาณตนว่าเป็นทาสของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นคำโกหกมากกว่า เพราะว่าไม่ได้เอาพระพุทธเจ้า พระธรรม หรือพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง มัวไปพึ่งผี พึ่งยักษ์ พึ่งมาร แล้วก็ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรสารพัดอย่าง เที่ยวแส่ส่ายไปตามผัสสะ เพราะต้องการเห็นนั่นเห็นนี่ เป็นสุขอย่างนั้นเป็นสุขอย่างนี้ สุดแท้มันจะยักน้ำกระสายไป ส่วนคำสอนของพระศาสดาทั้งๆ ที่สวดอยู่ ว่ากันอยู่ มันก็ว่าแต่ปากไปเท่านั้นเอง แต่ส่วนใจนี้มันไม่รู้ไม่ชี้ด้วย ถ้ามันรู้จริงแล้วจะไม่วุ่นวายเลย

            ฉะนั้นจึงต้องศึกษาพิจารณาเอาภายในตัวเอง ตามคำสอนของพระศาสดาละเอียดลออลึกซึ้งที่สุด ไม่มีใครที่จะแสดงธรรมะที่เป็นขั้นสุญญตาได้ ถึงจะเอามาแสดงตามหลักตามเกณฑ์นั่นมันก็ขั้นหนึ่ง สำหรับเรื่องสุญญตาแล้ว ลึกซึ้งอยู่ภายใน ไม่ใช่เรื่องพูดเรื่องอ่านหรือเรื่องจำเรื่องคิด แต่มันเรื่องรู้แจ้งแทงตลอดเข้าไปภายในเท่านั้น เพราะฉะนั้นมันจึงหมดคำพูด เพราะว่าถ้าขืนพูดมากแล้ว มันก็ผิด จะพูดถูกก็เป็นผิด เพราะว่ามันแค่คำพูดใครๆ ก็ต้องพูดได้อธิบายได้ตามหลักตามเกณฑ์แตกฉานไปได้ โดยเฉพาะเรื่องอ่านตัวจริงนี้ คนที่ไม่รู้หนังสือก็อ่านได้ แต่ว่าต้องอ่านให้มันถูก อ่านให้มันรู้แจ้งเข้าไปข้างในจิต ที่จะเป็นเครื่องดับกิเลสคือ ราคะ โทสะ โมหะ หรือว่ากิเลสตัณหาอุปาทานที่เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่า เป็นตัวเราของเรา หรือว่าเที่ยงสุขตัวตนอะไรก็เหมือนกัน ไม่ใช่คนละอย่าง เพราะฉะนั้นจะต้องให้มันรวมรู้เสีย จิตมันจะได้ไม่แส่ส่ายไป และมันจะได้ไม่โง่มากเกินไป ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันจะชุลมุนวุ่นวายกันใหญ่ทีเดียว

            เรื่องการอ่านหนังสือนี้ เฉพาะที่นี่ก็มีหนังสือตั้งหลายตู้ พระไตรปิฎกก็หลายสิบเล่มแล้วหนังสืออื่นๆ อีกก็มีมากมายไปหมด อ่านกันไม่ไหว แล้วในที่สุดก็จะเหมือนกับเต่าหินตาบอดที่แบกพระคัมภีร์อยู่บนหลังหนักอึ้ง มันมากมายเหลือประมาณ จนไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกันอย่างไรข้อไหน แต่มันเพียงแบกเอาไว้อวดกันเท่านั้น เรียนมาก รู้มาก พูดได้มาก แล้วก็เที่ยวกระสับกระส่ายไป จนมีหนทางที่จะรู้สึกตัวได้อย่างไร ในเรื่อมันยังเที่ยววิ่งเที่ยวตื่น ตื่นอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส แล้วมันก็ตกอยู่ในภาวะที่เหมือนกับสมัยที่เขาบอกว่า จรวดนี่มันไปได้รวดเร็ว โดยพุ่งไปไหนๆ นี่รวดเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เร็วเท่าใจของคนเลย ใครที่มีกิเลสตัดๆ มีความอยากจัดๆ แล้วมันก็วิ่งไปๆ ในที่สุดก็ไปสะดุดอะไรล้มลง แล้วมันก็นั่งคลำเจ็บปวดจนน้ำตาไหล เพราะว่ามันไม่เชื่อพระพุทธเจ้านั่นเอง ถ้ามันเชื่อพระพุทธเจ้าแล้วมันจะต้องหยุดได้ มันจะต้องสงบได้ จะต้องมีการพิสูจน์ตัวเองได้ทุกลมหายใจเข้าออก โดยที่ไม่ต้องไปยากลำบากกับสิ่งอื่นๆ เลย แต่นี่มันยังเป็นคนตื่นของใหม่ เพราะฉะนั้นกิเลสมันจึงท่วมทับจิตใจของคนที่หลงไหลในกามคุณ หลงไหลในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสกาย มันกระวนกระวายกันนัก แล้วก็ไม่มีความละอายแก่ใจ เพราะมันต้องทวนกระแส ทวนความอยากอะไรเพื่อตัวเพื่อตน ทวนมันทุกอย่าง ฉะนั้นต้องให้มันงดหมด ต้องให้มันหยุดหมด แล้วนั่นแหละมันถึงจะรู้เรื่องจริงว่า "หยุด" นี่มันดีอย่างไร ถ้ามันไม่ยอมหยุดแล้วมันก็วิ่งหัวซุกหัวซุนไป แล้วมันก็ทุกข์อยู่ในตัวเอง ทีนี้มันยอมหยุด มันหยุดนิ่งๆ แล้วนั่นแหละ มันถึงจะรู้คุณประโยชน์ของธรรมะ หรือข้อปฏิบัติในด้านจิตใจจริง แล้วต่อไปมันจะสงบได้เรื่อยไป ความสงบที่จะรู้จักพิจารณาปล่อยวางภายในตัวของตัวเองมันจะมีขึ้นเรื่อยไปทีเดียว การที่จะไปยื่นเอาอะไรมันน้อยลงมันหดกลับ มันยอมเสียสละหมด มีความรู้สึกของสติปัญญาที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา แล้วก็เห็นประโยชน์ของการประพฤติพรหมจรรย์ด้วยใจจริง เพราะว่าทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็นทุกข์โทษเบาบางจางคลายไปหมด แล้วใจก็บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้นมาได้ หรือจะมาพิจารณาดูการกระทำทางกายทางวาจา ก็เห็นเป็นความบริสุทธิ์ ถ้าไม่บริสุทธิ์ก็ต้องรังเกียจตัวเอง ถ้าหากว่าเป็นความรู้สึกด้วยใจจริงแล้ว ก็มีความรังเกียจต่อทุกข์โทษของกิเลส หรือว่าตัวเองนี่ ยังประพฤติปฏิบัติตามอำนาจของกิเลสอยู่ นี่มันควรจะอายให้มาก ควรจะกลัวให้มาก นั่นแหละข้อปฏิบัติมันจึงจะเอาตัวรอดได้ ถ้ายังกล้าทำอะไรโดยที่ไม่ได้เกรงกลัวแล้ว มันจะยิ่งตกหล่มจมไฟจมเหวตายอยู่นี่เอง เพราะฉะนั้นมันต้องกล้าเสียสละให้ได้ ให้เป็นความรู้สึกด้วยใจจริงในเมื่อจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เป็นความพ้นทุกข์ของตัวเอง จะต้องทำด้วยความเพียรพยายามให้เต็มความสามารถมันจึงจะได้ ถ้ามีแต่การอ่อนแอพ่ายแพ้อยู่อย่างนี้แล้วมันจะเอาตัวไม่รอด มัวแต่จะเอาความสะดวกสบายอยู่เรื่อยแล้วนี่มันจะตกหล่มจมปลักอยู่เท่าไร มันจะต้องทวนกระแส จะต้องรู้สึกด้วยใจจริงว่า เป็นตายอย่างไรเป็นต้องปฏิบัติ จะเอาชนะมันให้ได้ เรื่องกิเลสตัณหา ที่มันเคยข่มขี่มาในสันดานต่อไปนี้จะต้องข่มขี่มัน จะต้องทรมานให้มันหมดพยศไปเรื่อยๆ ไม่ให้ทำเป็นคนเก่าและสกปรกอยู่อย่างนั้น มันต้องขัดออก โดยต้องทำให้สะอาด และทำให้ใหม่ได้ ให้บริสุทธิ์ได้ด้วยกันทั้งหมด แต่ว่ามันจะต้องทำจริง ต้องเพียรจริง ไม่ใช่ทำเป็นรู้ๆ ว่าถูกแล้วไม่ได้ ต้องปฏิบัติ ไม่ใช่รู้แต่ปาก

            ทีนี้การปฏิบัตินี่มันเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องต่อสู้กิเลสตัณหาอุปาทานอยู่ในตัวเองเท่าไร แล้วมันจะต้องรู้สึกได้ด้วยใจจริงว่า เมื่อมีสติปัญญาเป็นเครื่องข่มขี่ทรมานกิเลส ดับกิเลสได้แล้ว ปลงตกขณะไหน ปล่อยวางออกไปได้ขณะใด มันก็พ้นทุกข์อยู่ในปัจจุบันทันตาเห็นในขณะนั้น แล้วมันจะไม่น่าปฏิบัติอย่างไร แต่ถ้าว่ามันไม่มีสติปัญญาอะไรเป็นเครื่องข่มที่ทรมานดับทุกข์ดับกิเลสของตัวเองแล้ว มันก็ตกไปเป็นทาสของกิเลส กิเลสมันก็เผาร้อนแล้วร้อนอีก แต่ก็ไม่ได้คิดที่จะแก้ไขตัวเองอย่างไร วันแล้ววันเล่าที่หมดไปสิ้นไป ควรจะต้องรู้สึกตัวว่าชีวิตล่วงไปทุกวันทุกเวลานี่ ไม่ใช่ไปเอาดีข้างหน้า มันจะต้องเอาดีเฉพาะหน้าคือวันหนึ่งคืนหนึ่งนี้ มันอยู่เพื่อเอาอะไรอยู่ทำอะไรกัน มันต้องเป็นความรู้สึกด้วยใจจริง แล้วจะทำให้วันคืนมีความสว่างขึ้นมาได้ มิฉะนั้นแล้วมันเป็นวันคืนที่มืดตื๋อไปทุกวัน ถ้าไม่รู้สึกตัวมันก็ยิ่งมืดมัวหม่นหมองไป ก็นึกว่าเป็นสุขสบายดี มันก็สบายไปตามประสาคนหลงๆ เท่านั้น แต่ทุกข์โทษสารพัดอย่างก็ไม่รู้ มันว่าสบายเสียแล้ว แล้วนี่มันจะหลงไปถึงไหนจะเพลิดเพลินไปถึงไหน ถามตัวเองดู ที่ยังมีวันเวลายังมีลมหายใจอยู่นี่จะอยู่ทำไม จะเอาอะไร มันต้องพิจารณาให้ถี่ยิบเข้ามาทีเดียว ต้องเป็นความรู้สึกด้วยใจจริงว่า ที่อยู่ทุกวันทุกเวลานี้ ไม่ได้อยู่เอาอะไรเลย อยู่เพื่อจะพิจารณาปล่อยวางอะไรออกไปเรื่อยๆ ที่ตกอยู่ในกองทุกข์กองโทษทั้งหมด จะไม่ไปหลงกอดรัดยึดถือมัน จะต้องปล่อยวางมันออกไป ไม่ใช่เรื่องเอา มันเรื่องทิ้ง มันเรื่องปล่อย มันเรื่องวาง มันเรื่องว่าง มันเรื่องอย่างนี้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีความรู้สึกอย่างนี้ ก็มีแต่เรื่องยึดมั่นถือมั่นวุ่นวายกันไป ตามประสาพวกหลงเข้าดงหลง เมื่อเข้าดงหลงด้วยกันมันก็มืดไปด้วยกัน ก็เลยหลงว่าสุขแบบนั้นแบบนี้ ที่สุดมันก็จมน้ำตายอยู่นี่เอง

            ฉะนั้นจะต้องพิจารณาให้รู้ว่ามันไม่เที่ยงจริง มันเป็นทุกข์จริงอย่างไร ให้มันรู้เรื่องจริง ไม่ใช่มาเอาความสุขขั้นนั้นขั้นนี้อะไรเลย มันอยู่กับกองทุกข์ทั้งนั้น แต่ว่าปล่อยวางมัน อย่าไปยึดถือว่าเป็นทุกข์ของเรา เป็นทุกข์ของขันธ์ ของกาย ขอใจ ต้องแยกมันออก ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ตีเกลียวเหนียวแน่นอยู่นี่เอง เพราะฉะนั้นจะต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งประจักษ์ชัด ในความว่างจากตัวตนของทุกสิ่งทั้งหายทั้งใจทั้งหมด ต้องให้เห็นชัดในความเป็นธาตุ ขอรูปธาตุ นามธาตุ ที่ปราศจากตัวตนสัตว์บุคคลทั้งหมดนี้ แล้วจิตนี่มันจะได้ว่า ถ้าหมั่นพิจารณาให้เป็นการรู้แจ้งประจักษ์ชัดตามความเป็นจริง เห็นจริง มีการปล่อยวางได้ตามสมควรแล้ว หนทางของข้อปฏิบัติมันเปิดโล่งในการที่จะก้าวไปเอง ทุกวันทุกเวลาทีเดียว รู้แล้วก็ปล่อยวางไป ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ทำวันเวลาของชีวิตให้มีความสว่าง ตามรอยของพระอรหันต์ให้ได้ทุกๆ ประการเทอญ ฯ.

 

 


ปรารภธรรม ชุดที่ ๒
๑.
คำปรารภพระธรรม
๘.
จงเอาชนะความอยาก
๒.
วันครบรอบ ๗๑ ปี (เป็นวันเกิด)
๙.
ไม้สดที่ชุ่มอยู่ด้วยยางคืออะไร ?
๓.
วันวิสาขบูชา
๑๐.
หยุดดูให้รู้จริง
๔.
วันออกพรรษา
๑๑.
พิจารณาเวทนาให้รู้จริง
๕.
การกำหนดรู้เวทนา
๑๒.
ที่เที่ยวของสติ
๖.
ให้รู้จักเหตุเกิดทุกข์
๑๓.
อย่าหลงของเปล่า
๗.
การปล่อยวางตัวตน
๑๔.
ปิดประตูดูข้างใน
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน