"พิจารณาเวทนาให้รู้จริง"
๒๕ มิถุนายน ๒๕๑๕
วันนี้เป็นวันประชุม
เพื่อจะปรึกษาในเรื่องข้อปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติเมื่อมีสติเป็นเครื่องควบคุมจิตอยู่เป็นประจำแล้ว
ทุกข์โทษก็จะเบาบางไปในขณะที่มีผัสสะกระทบ เมื่อมีสติรู้เท่าทัน
แล้วก็ไม่มีพิษสงอะไร ในขณะที่มีความเป็นปรกติเป็นการวางเฉย
เราจะสังเกตได้ในระยะของจิตที่เป็นกลางวางเฉยนั้น ยังไม่มีการคิดดีหรือคิดชั่ว
มันเป็นปรกติอยู่ วางเฉยได้ ทั้งนี้จะสอบได้ว่าในขณะที่มันมีการคิด
แต่การคิดนี้โดยมากคิดไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา ถ้าเรื่องคิดดีก็หมายถึงมีสติปัญญาเป็นเครื่องรู้
ถ้าคิดผิดหรือจำผิดอะไรขึ้นมา ก็เป็นเครื่องอ่านตัวเองออก
แล้วก็เป็นการหยุดไม่ให้คิดนึกไปในทางผิดๆ อย่างนั้น แล้วก็น้อมนึกเข้ามาเพื่อให้เกิดสติปัญญาซึ่งเป็นเครื่องเจริญสตินี่เอง
ทีนี้
การเจริญสติที่ยังไม่มีทุกข์โทษอะไรเกิดขึ้นนี้ ควรจะต้องพินิจพิจารณาควบคุมเอาไว้
เพราะว่าขณะที่มีการกระทบเกิดขึ้น ความรู้สึกไหวตัวของจิตมันก็จะเพ่งออก
คือเป็นความชอบไม่ชอบอะไร อย่างนี้ก็จะสังเกตได้ง่าย เพราะว่าได้อาศัยผัสสะเป็นเครื่องรู้ได้ว่า
ขณะที่มีสติ แม้กระทบผัสสะก็ไม่มีความรุนแรงแต่ขณะไหนเมื่อเผลอสติออกไปแล้ว
การกระทบผัสสะนั้น จะมีทุกข์มีโทษเกิดขึ้น ฉะนั้นก็จะต้องระมัดระวัง
การสำรวมตา สำรวมหู จมูก ลิ้น กายใจ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเครื่องที่จะต้องควบคุมอายตนะทั้งภายในภายนอก
ที่มีความรู้สึกกระทบกัน เช่นตากระทบรูป หูกระทบเสียงเป็นต้น
ถ้าการกระทบเป็นความรู้สึกทางอายตนะ โดยมีการสัมผัสกันขึ้นมาล้วนๆ
และสตินี้ยังคุ้มครองอยู่ แล้วทุกข์โทษทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น
และการกระทบนั้นก็จะเป็นกลางไป อารมณ์ที่มากระทบก็เป็นกลาง
ความรู้สึกที่วางเฉยก็เป็นกลาง ในระยะนี้ก็ไม่มีทุกข์โทษอะไรจึงเป็นอันรู้ได้ว่า
เมื่อจิตใจเป็นปรกติเป็นกลางแล้ว มันก็ไม่มีความทุกข์
แต่ถ้าเผลอสติไปยึดถืออะไรขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นแหละมันมีความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว
แม้จะเกิดขึ้นในขั้นเล็กน้อยก็อย่าได้มีความประมาท ควรจะต้องรีบดับเสียแต่ต้นมือ
อย่าให้มีการปรุงการคิดยืดยาวออกไป เพราะมันจะทำให้ฟุ้งซ่านใหญ่
ฉะนั้นต้องคอยพิจารณาดูจิตในขณะที่เป็นปรกติต้องควบคุมเอาไว้ให้อยู่
แต่ก็ต้องระวังทางผัสสะ ถ้าไม่ควรมองก็อย่าไปมอง ไม่ควรฟังก็อย่าไปฟัง
เพราะฉะนั้น
ต้องปิดกั้นอายตนะทั้ง ๖ ไว้ เรียกว่ามีอินทรีย์สังวรให้ครบถ้วนขึ้นมาให้ได้
ถ้าหากมีการเปิดประตูรับอยู่อย่างนี้แล้ว จิตใจนี้มันจะสงบไม่ได้
เพราะจะหวั่นไหวไปตามผัสสะ ไม่ว่าผัสสะชนิดไหน ถ้าไม่เกี่ยวกับตัวมันก็พอจะเฉยได้
แต่ถ้ามาเกี่ยวข้องอะไรกับตัวมันแล้วก็เฉยไม่ได้ ทีนี้ความไม่รู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่น
ก็ก่อทุกข์ก่อโทษขึ้นมาให้แก่ตัวเองเท่าไร แม้ว่าจะมีความจำความคิดอะไรเกิดขึ้น
แต่ในขณะที่เป็นกลางอยู่ก็ต้องระวังอีก เรื่องจำนี้ก็เรื่องสำคัญเหมือนกัน
เพราะมันเที่ยวจำผิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าเรื่องราวอะไรที่เป็นอดีต
ที่ดับไปแล้วพ้นไปแล้ว มันก็เก็บเอามาจำเอามาคิดอีก เมื่อมีการจำผิด
แล้วคิดก็คิดผิดด้วย และความเห็นมันก็ผิดตามกันไปหมด เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสติเป็นนายประตูสำหรับตรวจตราดู
แล้วจะรู้สึกว่าทางจิตใจหรือทางกาย วาจานี่ มันจะได้เป็นปรกติเรียบร้อยขึ้น
ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วมันก็เที่ยวไปหาเรื่องวุ่น ก็เป็นการสอบได้ในตัวเองด้วยกันทั้งหมด
ไม่ว่าในขณะไหนเมื่อเกิดความรู้ที่เป็นสติปัญญาขึ้นมาแล้ว
ย่อมมีการพิจารณารู้จริงเห็นแจ้งขึ้นมาอย่างนี้ ก็จะทำให้ทุกข์โทษของพวกกิเลสตัณหาดับสลายไปได้
แต่ถ้าขณะไหนที่กิเลสนี้เกิดขึ้นมาแล้ว นั่นแหละเป็นไฟประลัยกัลป์ไปทีเดียว
แม้จะค่อยๆ ลุกขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยก็ตาม ถ้าไม่คอยดับเสียแต่ระยะต้นๆ
แล้วก็เป็นไฟลามทุ่ง คือยิ่งคิดไปแล้วก็ยิ่งฟุ้งซ่าน ทำให้ร้อนอกร้อนใจเรื่อยไปทีเดียว
ฉะนั้น ทุกข์โทษสารพัดอย่าง ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีอาสวะอยู่
จึงต้องให้สำรวจระวังโดยมีสติเป็นเครื่องปิดกั้น หรือมีการพิจารณาประกอบเอาไว้
เพราะว่าจิตใจนี่อยู่นิ่งๆ ไม่ได้ ย่อมมีการแส่ส่ายไปตามความชินเคยของมัน
และจะคอยสังเกตตรวจจับดูความเคลื่อนไหวของจิต โดยมีสติเป็นนายประตูคอยดู
คอยรู้อยู่ ว่ามันจะมีการปรุง การคิด การจำขึ้นมาอย่างไร
แล้วจะได้เป็นเครื่องดับเครื่องทำลาย เครื่องปล่อยเครื่องวางอะไรกับมันได้
อย่าให้มันเที่ยวซุกซนไปสำหรับการควบคุมนี้ก็เป็นของสำคัญมากทีเดียว
ถ้าหากว่ามีการควบคุมทางอายตนะแล้ว ผัสสะนี่ก็ไม่มีทุกข์มีโทษอะไรมากมายนักแต่ต้องมีการเพ่งพิจารณาอยู่เป็นประจำจึงจะได้
ทีนี้
เรื่องของการเผลอเพลินไปตามผัสสะหรือตามเวทนานี้ มักจะมีอยู่เป็นประจำ
ซึ่งเป็นลักษณะของโมหะที่เป็นตัวความหลงไหลโดยหลงไปกับเวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์
ทั้งไม่สุขไม่ทุกข์เหล่านี้ ถ้ามันไปหลงต่อเวทนาเป็นการยึดถือเวทนา
ซึ่งมีสำคัญว่าเวทนานี้เป็นเวทนาของเรา และตัณหานี้มันจะเกิดขึ้นมาก็จะมีการดิ้นรนหรือแก้ไขไปต่างๆ
นานา เพราะว่าลักษณะของทุกขเวทนาทางกายหรือจะเป็นทุกขเวทนาของจิตก็ตาม
มันทำให้เกิดตัณหาง่ายๆ มันอยากจะผลักไสหรือมีการดิ้นรนอะไรเกิดขึ้นมา
แต่ว่าในขณะไหนที่เป็นอุเบกขาเวทนามันก็เฉยๆ ได้หรือว่าสุขเวทนาเหล่านี้มันก็เฉยได้เหมือนกัน
แต่สำหรับทุกข์นี่มันเฉยไม่ได้ จะต้องดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมาทีเดียว
ฉะนั้นเราต้องสังเกตดูให้ใกล้ชิดว่า สุขเวทนาที่ไม่ดิ้นรน
เป็นความเฉยๆ ในตัวของความรู้สึกของจิต มันมีความพอใจในความสุข
หรือว่าพอใจในความเป็นอุเบกขาเวทนาอยู่ ที่มันก็ทำให้รู้สึกต่อความทุกข์นี่อย่างรุนแรงไม่กระจ่างนี่เอง
จึงจำเป็นต้องพยายามทำข้อปฏิบัติ เพื่อพิจารณาเวทนานี้ให้เกิดความรู้ให้ได้
เพราะมันมีรสมีชาติมาก ทั้งสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาอะไร
ในขณะที่เป็นปรกติเป็นกลาง หรือว่ามีการกระทบผัสสะก็ยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาทีเดียว
และทุกข์นี้ก็ทำให้ร้อนอกร้อนใจขึ้นมาอีก เพราะว่าทุกข์กายหรือทุกข์ใจก็ตาม
ที่ถูกกิเลสปรุงขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ก็ล้วนแต่เป็นโรคร้ายกาจอยู่ภายในตัวเองทั้งนั้น
แต่ว่าขณะไหนที่ไม่ได้กำหนดไม่ได้พิจารณาแล้ว ก็วุ่นวายไปตามทุกข์ที่มันเกิดนั่นแหละ
ถ้าทุกข์มากก็ยิ่งกระวนกระวายมาก ถ้าทุกข์น้อยก็ลดความกระวนกระวายลงหน่อย
เพราะฉะนั้นทุกข์นี่แหละจะเป็นบทเรียน ทั้งทุกข์กายทุกข์ใจนี้
ต้องเรียนรู้กับมันให้ดีๆ และเรื่องความสุขนั้นก็อย่าไปเพลินเลย
ส่วนเรื่องทุกข์นี้ก็เป็นของจริง ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รู้เสีย
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว มันก็ไปเพลินๆ กับสุขบ้าง อุเบกขา
เวทนาบ้าง เรื่องทุกข์นี้ก็มีประจำตลอดทุกอิริยาบถ มันก็เรื่องเปลี่ยนที่จะให้ได้ความสุขแต่ทั้งนี้เป็นความชินเคยมากเกินไป
จนกระทั่งไม่รู้สึกว่า การเปลี่ยนนี้ต้องการเปลี่ยนเอาความสุข
ถ้าเราจะดูมันให้ดีๆ ว่าทุกข์อย่างเดียวที่มันเกิดขึ้น
ทุกข์อย่างเดียวที่มันดับ แล้วก็สุขเพราะเปลี่ยนใหม่ แต่ว่าสุขนิดๆ
หน่อยๆ อย่าไปเอามันดีกว่า กำหนดรู้ทุกข์ให้ติดต่อเอาไว้จนกระทั่งจิตมีความเห็นชัดว่า
นอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรเกิด และนอกจากทุกข์แล้วไม่มีอะไรดับ
ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป
ต้องตามเห็นความทุกข์ให้เป็นทุกข์ของขันธ์ล้วนๆ อย่าไปยึดถือว่าเป็นทุกข์ของเราเลย
เฉพาะเรื่องทุกข์หรือเวทนานี้มันเป็นของละเอียด ในขั้นที่มีทุกขเวทนาทางกาย
เป็นขั้นหยาบๆ นั่นมันก็ขั้นหนึ่ง ที่นี้ขั้นที่มันละเอียดๆ
อีกขั้นหนึ่ง แล้วจิตใจที่มันกระวนกระวาย เพราะต้องการสุขเวทนาก็มากมายนัก
เพราะเหตุนี้เวลาที่มีผัสสะอะไรมากระทบมันจึงเป็นผัสสะที่ว่องไว
ไม่โสมนัสก็โทมนัส ชอบใจกับไม่ชอบใจขึ้นหน้าอยู่เรื่อย
ทีนี้จิตที่ปรกติ เป็นกลาง วางเฉย มันจะได้รู้จักตรวจว่า
ความไหวตัวที่ไปยึดถือว่าเป็นเวทนา แล้วมันก็เกิดตัณหา
ทำให้ดิ้นรนกระวนกระวายอะไรขึ้นมา ถ้าจะกำหนดดูทุกข์ ก็กำหนดไม่ค่อยจะได้
เพราะตัณหามันเร่ง มันจะให้แก้ไข เช่นเรานั่งนานๆ แล้วก็ลองสังเกตดูซิ
ถ้าว่ามีทุกขเวทนาอะไรเกิดขึ้น มันเร่งแล้ว มันจะได้แก้ไข
จะให้เปลี่ยนโดยจะเอาความสุข ทีนี้ก็เปลี่ยนกันเรื่อยไปอย่างนี้ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน
ถ้าเกิดทุกข์แสบเผ็ดขึ้นมามากๆ เหมือนกับคนป่วยที่นอนแซ่วอยู่แล้วพลิกเองก็ไม่ได้
ลุกนั่งอะไรก็ไม่ได้ทั้งหมด ถ้าตัณหามันเร่งขึ้นมาจะทำอย่างไร
มันน่าจะทำอย่างไร มันน่าจะพิจารณาเสียในขณะที่ยังมีเวลายังไม่ล้มหมอนนอนเสื่อเสียก่อน
ถ้าจะกำหนดดูทุกขเวทนา ขณะที่ตัณหามันเร่งแล้ว จะปล่อยทุกขเวทนาได้ง่ายๆ
เมื่อไร ถ้าไม่หัดไว้ก่อน เพราะเวลาดีๆ มันผ่อนตามหมดเสียแล้ว
ในเรื่องอิริยาบถ
ถ้าจะเปลี่ยนให้ได้คล่องไปทั้งหมดแล้ว ก็ไม่รู้สึกว่าเมื่อทุกขเวทนานี้เกิดขึ้นมาแล้ว
ตัณหามันเร่งอย่างไร มันดิ้นรนขึ้นมาอย่างไร ถ้าไม่หัดก็ไม่รู้เรื่อง
เพราะเวทนานี้สำคัญมาก เนื่องจากมันมีปรากฏให้รู้ ให้เห็นอยู่ทุกขณะเดี๋ยวนี้ที่เป็นปรกติอยู่เดี๋ยวนี้
และทีนี้ถ้ามันเกิดราคะหรือปฏิฆะอะไร ที่มันเป็นความรุนแรงขึ้นมา
จิตนี้มันถูกไฟไหม้ร้อนรนกระวนกระวายขึ้นมาจำทำอย่างไร?
จะดับมันได้อย่างไร? มันต้องเป็นปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเองที่จะพิจารณาเวทนาให้รู้เรื่องจริงให้ได้
ถ้าไม่รู้แล้วมันยากในขณะเวทนาที่มันเป็นความไม่ชอบหรือไม่พอใจเกิดขึ้น
จิตมันจะดิ้นรนกระวนกระวายใหญ่ มันจะเดือดร้อนใหญ่ แล้วจะดับมันอย่างไร
ฉะนั้นจะต้องคิดค้นหรือพิจารณาให้ละเอียดแต่ก็ไม่ใช่ของง่ายถึงกระนั้นก็ต้องพยายามอยู่ดี
เพราะว่าเรื่องเวทนานี้สำคัญที่สุดที่มันจะทำให้จิตใจวุ่นวายส่ายแส่ไปต่างๆ
นานา
บางทีแม้ไม่มีผัสสะมากระทบ
แต่มันเกิดขึ้นมาภายในที่เป็นความรู้สึกของทุกข์ขึ้นมาเรียกว่าทุกข์ของขันธ์
แต่ว่าทุกข์ในลักษณะที่มันเกิดขึ้นมาของมันเองเราก็ไม่รู้
มันก็เข้าไปยึดถือว่านี่เราทุกข์ขึ้นมาแล้ว มันไปยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาอย่าไร
แล้วให้คอยสังเกตดูว่า จิตใจที่มันยังไม่รู้เรื่องของเวทนา
มันก็ยังไม่รู้เรื่องของตัณหา ที่มันเกิดซับซ้อนขึ้นมาอย่างไร
ปรุงคิดขึ้นมาอย่างไร ดิ้นรนกระวนกระวายขึ้นมาอย่างไร
ถ้าไม่สังเกตหรือไม่พิจารณาอดทนต่อสู้ต่อตัณหาอย่างนี้แล้ว
มันจะวนเวียนอยู่ในกองทุกข์ทั้งนั้น แล้วก็ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะไปดับเวทนาได้
เพราะว่าเวทนากับตัณหาควบคู่กันอยู่ ถ้ามีเวทนาก็ต้องมีตัณหา
ถ้าลองแยกเวทนาดูแล้วดับตัณหาได้ เพราะเวทนานี่เป็นเวทนาล้วนๆ
ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา แล้วตัณหามันก็สงบไปได้ แต่ว่าความสงบของตัณหาชั่วคราวนี้
ก็ควบคู่กันต่อไปอีกเหมือนกัน มันสงบไปในลักษณะอย่างนี้
ประเดี๋ยวมันไปเกิดในลักษณะอย่างโน้นอีกมันจะดิ้นรนแก้ไข
หรือจะมีความเพลิดเพลินไปในความสุข อย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมาใหม่อีก
เพราะฉะนั้นจะต้องคอยตามดูตามรู้ หรือต้องพิจารณาให้รอบคอบ
เพื่อจะให้ทดลองเข้ากับทุกขเวทนาให้ได้เรื่อได้ราวขึ้นมาเสียก่อน
เพราะว่าในโอกาสที่ยังดีๆ อยู่ก็พอจะทดลองได้ฝึกได้ เรียกว่าเป็นการซ้อมรบก็แล้วกัน
ถ้าว่าไม่ทำในขณะที่ยังมีโอกาสที่จะรู้จะละในเรื่องของเวทนาแล้ว
เมื่อมีเวทนาจัดเวลาป่วยไข้ขึ้นมา หรือว่ากิเลสที่มันปรุงขึ้นมาจัดๆ
ก็ทุกข์ใหญ่ทีเดียว ทุกข์จนน้ำตานองหน้าแล้วจะรู้วิธีดับอย่างไร?
ถ้าเป็นเวทนาที่ประกอบไปด้วยกิเลส มันก็จะเผาให้จิตใจร้อนรุ่มกันใหญ่และความรู้สึกนึกคิดก็ล้วนแต่เป็นความรู้สึกที่ยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้น
มันก็ถูกรุมสุมเผาให้เร่าร้อนจนน้ำตานองหน้า แล้วจะเอาอะไรไปดับมัน
ฉะนั้นต้องเตรียมพร้อมอยู่เรื่อยไม่ว่าทุกข์เล็กทุกข์น้อยอะไร
ต้องพิจารณาปล่อยวางเอาไว้ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วจะแย่ก็จะไปเพลินกับสุขนั่นแหละ
อะไรนิดก็จะเอาสุข ที่ว่างๆ ไปชั่วประเดี๋ยวประด๋าวถ้ามัวไปหลงเพลินอยู่กับสุขอย่างนี้แล้ว
มันจะโง่ตายหลงตายอยู่นี่เอง ถ้ามีอะไรที่ไม่ชอบขัดเคืองขึ้นมา
กิเลสมันก็เกิดง่ายอีก เพราะว่ามันอยากจะได้ความสงบความว่าง
ถ้าไม่สมอยากแล้ว มันก็จะลุกกระพือขึ้นมาอีกเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น
สองอารมณ์นี้เป็นของสำคัญ มันเป็นของหลอกลวงอยู่ทุกขณะก็ว่าได้
ทั้งสุขทั้งทุกข์ แล้วความพอใจในความสุขที่มันชุ่มแช่อยู่
เขาเรียกว่าไฟเย็น แล้วนี่มันก็ติดอยู่ด้วยกันทั้งนั้น
ติดอยู่กับความสุขสงบ ที่มันสงบเย็นเป็นความว่างอะไรขึ้นมา
ทีนี้จะรู้ไหมว่านี่เป็นลักษณะของไฟเย็น ถ้าว่าไปหลงติดมันแล้วก็หลงเวียนอยู่นี่
อยู่ในสังสารวัฏ ถ้าไม่ได้พิจารณาให้เห็นความว่างหรือความสงบที่มันไปหมายในลักษณะของสุข
หรือในลักษณะของอุเบกขา เวทนา ก็จะต้องไม่ไปหลงรสอร่อยของมัน
ถ้าว่าไม่คืนคายได้แล้ว ต้องหลงรสอร่อยของเวทนาทั้งนั้น
แล้วก็จะไปหลงติดอยู่ในขั้น สมาธิ สมาบัติ ยังไม่มีการเห็นแจ้งแทงตลอดออกไปได้
ในที่สุดก็ต้องการอยู่แค่นี้ แล้วมันก็ไม่หลุดพ้นออกไป
ที่จะหลุดพ้นได้นี้ ต้องเพ่งเวทนาทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งไม่สุขไม่ทุกข์ทั้งหมด
ไม่ติดรสอร่อยของเวทนา จึงต้องพิจารณาปล่อยวางเวทนาให้ได้
เป็นการดับตัณหาไปในตัว จิตจึงจะเป็นอิสระเหนือเวทนาได้ตามสมควร. |