เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   ท่าน ก.เขาสวนหลวง ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ  
 

ปรารภธรรม โดย ท่าน ก. เขาสวนหลวง

ปรารภธรรม ๑
บันทึก วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๙๘

            วันนี้เป็นวันประชุมตามเคย เป็นวันที่พุทธบริษัทมีการสนทนากัน เพื่อทำความเข้าใจกันให้ตรงกับความเป็นจริง การปฏิบัติมีความจำเป็นจะต้องค้นคว้าภายในจิตใจ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะต้องรอบรู้ เพื่อไม่ให้งมงาย นิสัยความเคยชินที่มีมาแต่กาลก่อน ปล่อยตามใจตนเองให้ไหลเรื่อยเปื่อยไป ทำไปทั้งๆ ที่รู้กันอยู่ ไม่มีการสังวรระวัง ไม่ควบคุมจิตใจของตนเอง แม้จะมีหลัก ก็ไม่สามารถจะทัดทานกิเลสได้ เช่นนี้ไม่เรียกว่ามีการปฏิบัติ แม้จะมีการปฏฺบัติอยู่บ้างก็ไม่ได้รับผล

            ผู้ปฏิบัติต้องมีความสงบทั้งในที่ลับและที่แจ้ง มีมารยาทสังวรระวัง มีสติเสมอ ไม่เป็นภัยแก่ตนเองและผู้อื่น ไม่ทำตามกิเลสอันไม่มีที่สิ้นสุด และไม่มีการหยุดพัก การเอาชนะกิเลสทำให้หยุดพักได้ ว่างได้ แล้วจิตใจก็จะได้รับความสงบ ควรมีกฎประจำใจไว้เสมอ อย่าให้พลั้งเผลอไปเอาอะไรต่ออะไรตามกิเลสตัณหาบังคับ เป็นการเห็นกงจักรเป็นดอกบัว นักปฏิบัติที่แท้ ต้องมีการสำรวมระวัง จนจิตรู้เท่าทันต่ออารมณ์เสมอ คือเปลี่ยนจากเด็กมาเป็นผู้ใหญ่ รู้จักช่วยตนเองทำประโยชน์ให้แก่ตน ถ้าไม่สามารถจะช่วยตนได้แล้ว จะช่วยผู้อื่นได้อย่างไร

            กิเลสเหมือนกับงูหรือไฟ เป็นของร้อนซึ่งรู้ได้ง่าย ได้แก่ความชอบใจ พอใจ และความโกรธ ส่วนที่รู้ยากเช่นน้ำกรด เป็นของไหม้เย็น ได้แก่ ความโลภ และความกำหนัดยินดี บางคนก็มีเอามากๆ มันทำให้จิตใจไม่สะอาดหม่นหมอง แล้วก็ไม่รู้ตัวว่าหม่นหมอง ต้องคอยสอดส่องให้ถึงด้านใน ไม่ใช่เพียงวางเฉยก็ดีแล้ว ต้องชำระล้างสิ่งสกปรกออกเสียด้วย ถ้าไม่มีปัญญาสอดส่องมันก็อยู่แค่นั้นเอง แม้จะละได้ ก็ชั่วคราว แล้วก็มีมาอีก ฉะนั้นอย่าปล่อยให้ตนเองไหลไปตามอำนาจความอยาก ความเพ่งเล็ง ความโลภ ต้องการชื่อเสียงลาภยศเหล่านี้ ผู้ฉลาดย่อมไม่ยินดีเพราะมันเป็นการขุดหลุมฝังตัวเอง

             พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า ภิกษุผู้ยินดีในโลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข ย่อมจะบรรลุธรรมขั้นสูงสุด คือ พระนิพพานไม่ได้ การยินดีต่อโลกธรรม มีแต่จะไหลเรื่อยเปื่อยไป หนักเข้าก็ยกตัวว่าดี ว่าเด่นกว่าเขา เกิดความผยองพองตัวเหมือนดินพอกหางหมู ทะนงตัวว่าดีเหล่านี้พระอรหันต์ท่านไม่มี แทนที่จะขัดสีออก เพราะเห็นว่ามันเป็นสิ่งสกปรก กลับยินดี พอใจ เหมือนควายที่ชอบจมอยู่ในปลักฉะนั้น

             ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยอมจมอยู่ในปลัก ต้องคิดหนีไปให้พ้น เหมือนกับหนีไฟที่ไหม้เข้ามาใกล้ตัว คนเราส่วนมากมักเป็นกันเช่นนี้ คือไม่แลเห็นว่ามันเป็นไฟ มีแต่จะอยากได้โน่น เอานี่ ไม่พยายามพิจารณาดูว่า ที่แท้แล้วมันก็คือสภาวะธรรมที่เสื่อมสิ้นไปทุกขณะ

             รูปนามนี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา มันทรงตัวอยู่ได้ด้วยเหตุด้วยปัจจัย เราควรพิจารณาความจริงเหล่านี้ เตือนตัวเอ จนกว่าจะทำลายตัวตนออกจากจิตใจ ให้จิตใจมีความรู้สึกล้วนๆ ซึ่งมันไม่ต้องการอะไร เพราะมันไม่มีตัวตนจะให้วิ่งไปเอา จงพยายามให้มีความรู้ มีความสังวรระวังไว้เสมอๆ จะได้ความสว่างไสวโปร่งโล่งเป็นอิสระ อยู่ในตัวของมันเองตลอดเวลา แล้วมันจะมีความจริงปรากฏขึ้นให้เห็นในใจเอง

             อย่าให้เป็นเหมือนลูกฟุตบอล ที่ถูกเตะไปเตะมา อยู่กลางสนามจนแตกไป เทียบได้กับรูปนามนี้ มันจะต้องแตกดับไป เหมือนลูกฟุตบอลเช่นเดียวกัน อย่าเป็นลูกฟุตบอลเที่ยวกระดอนไป กระดอนมา จะเป็นสังสารวัฏเวียนว่าย วิ่งไปมาอยู่ตลอดสาย การแก้เงื่อนไม่ใคร่จะมีใครคิด ที่คิดกัน ก็มักคิดออกไปยืดยาว ปล่อยให้ไหลเรื่อยเปื่อยไปตามกระแส เราจะต้องคิดค้นให้ได้ มันเป็นปัญหาเฉพาะตน ที่จะต้องแก้เงื่อนให้หลุดพ้นจาก ชาติ ชรา มรณะ และพยาธิ

           การปฏิบัติถ้าไม่ถูกเงื่อนมันก็ไม่หลุดพ้น ถ้าไม่แก้เงื่อนต้นให้ถูกมันก็อยู่แค่นั้นเอง เป็นของลึกซึ้งยากที่จะแก้ บางคนพูดว่า ฉันรู้ จิตใจมันว่าง วางเฉยได้ แต่การกระทำก็ยังเข้ากับตัวเอง บางทีก็วางเฉยสำรองไว้ก่อน กว่าจะรู้สึกตัวมันก็ไหลเรื่อยเปื่อยไป การทำเช่นนี้เท่ากับเราไปเล่นกับผีหรืออสุรกายโดยเห็นเป็นพระ ทุกคนก็บอกว่ารู้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น คนที่รู้แนวทางก็ยังประพฤติเช่นนี้ นับประสาอะไรกับคนที่ไม่รู้อะไรเลย มันเป็นการคลำทางที่หลงงมอยู่ในป่าทึบ

           บางคราวพบความสว่าง ความสงบชั่วคราว แล้วก็ไปยึดเอาความสว่าง - แสงสี เหล่านั้นขึ้นมา ไม่ใช่ว่างจริงๆ ไม่ใช่เป็นการอ่านข้อเท็จจริง ซึ่งบางทีมีความวางเฉยก็เป็นการวางเฉยด้วยโมหะ เช่นนี้ไม่ใช่เป็นการก้าวหน้าออกไปเลย เป็นความเข้าใจผิด ตรงกันข้ามกลับยิ่งจมมิดลงไป เรียกว่าขุดหลุมฝังตัวเอง ร้ายยิ่งกว่าตกนรกเสียอีก เป็นการถอยหลังเข้าคลอง อยู่กับความโง่ ความหลงมากขึ้น ขอให้ผู้ปฏิบัติจงสังวรระวัง ให้มีความรู้ทรงตัวอยู่เสมอ ให้มีความสว่างไสว รู้สึกว่าสถาพเหล่านี้มันมีความสว่างไสวอยู่ในตัวของมันเอง

           ถ้าตราบใดที่อวิชชาและโมหะยังมีอยู่ ความสว่างจะมีอยู่เรื่อยไปไม่ได้ การโพลงแจ้งขึ้นครั้งหนึ่ง ก็เป็นการทำลายโมหะได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ควรตื่นเต้นว่าเป็นที่สุดแล้ว พ้นแล้ว อย่าไปตะครุบเอาเสียก่อน จะต้องสอดส่องเข้าไปให้ละเอียดลึกซึ้งด้วยสติปัญญา ให้ความจริงปรากฏ จะได้ไม่มีการเพ้อเจ้อความไม่สงบ

           ต้องปฏิบัติให้ความรู้แจ้งทรงตัวของมันอยู่ กายวาจาก็จะปกติเอง อย่าทำเป็นเหมือนเด็กเล่น หัวเราะสนุกสนาน ร้องไห้หน้าหงิกหน้างอ ต้องซื่อตรงต่อตัวเองทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ดังที่เปรียบเหมือนลูกฟุตบอล ที่ถูกเขาเตะอยู่ในสนามกระหืดกระหอบไม่สิ้นสุด จงพิจารณารูปนามันเป็นเรือนไฟไหม้ ไม่มีตัวเราตัวเขาอะไรเลย ให้เกิดความสังเวชสลดใจ ก็จะคลายความกอดรัดยึดถือ

           พระธรรมเป็นของปัจจัตตัง คือรู้ได้เฉพาะตน จิตเดิมแท้นั้น ลักษณะของมันไม่มีเครื่องหมาย กล่าวไม่ได้ว่าเป็นอะไร มันมีแต่สภาพธรรมล้วนๆคนที่เลียนแบบและคำพูดมักเอาสัญญานั้นมาเป็นเครื่องวัด จะทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้าและเป็นอันตราย บางคนก็ตื่นเต้นต่อการได้พบชั่วคราวมันเพียงแต่พบเห็นที่ปากทาง ถ้าผู้ปฏิบัติไม่มีใจหนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็จะไม่ได้พบจิตเดิมแท้

            การให้อ่านรู้ข้อเท็จจริงนั้น เพื่อจะต้องการให้รู้ หน้าโมหะ อวิชชา เหล่านี้มันเป็นมายาปกปิดอยู่หลายชั้นหลายชนิด มันจะคอยออกรับสมอ้างแค่ประตู ทำให้หลงไหลยึดถือเงาที่หลอกลวง ต้องมีความรอบรู้ การซักฟอกต้องอย่าเอาของสกปรกไปซักฟอกสิ่งสกปรก ต้องทำกันจริงๆ มันจึงจะได้ผลจริง อย่าทำเล่นๆ จงขัดเกลาให้บริสุทธิ์ ให้ออกมาจากทุกข์ จากสังสารวัฏให้จงได้ มันเป็นของไม่ง่าย แต่ก็ไม่สุดวิสัย ทุกขเวทนาอันแสบเผ็ดนั่นแหละ มันจะเป็นบทเรียนอย่างดี และอาจรู้ได้ เพียงเฉยๆ ไม่มีอะไรเป็นบทเรียน เช่นนี้หารู้ได้ไม่ อย่าหลงความสุขที่ได้รับอยู่นี้เป็นของดี เมื่อจิตใจยังไม่หลุดออกไป ต้องกำหนดจิตให้ปล่อยสภาวะทุกข์และสภาวะสุข จิตใจที่เหนือได้นั่นแหละ จึงจะปล่อยได้อย่างแท้จริง

            ขอให้ผู้ปฏิบัติจงทำตนให้หลุดพ้น อย่าไปหลงกับสิ่งอื่นๆ เลย มันจะเสียงานการ ทำให้ไม่ได้รับความรู้ขึ้น อย่าสำคัญตัวเองว่าเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา ให้แก้ไขตัวเองให้จงได้ด้วยการสอดส่องเข้าด้านในการสอดส่องนี้เท่ากับการเปิดตู้พระไตรปิฎกออกมา กายกับจิตนี้เป็นเครื่องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ขอให้ผู้ปฏิบัติทุกๆ คน จงมีความชัดเจนของความจริงอันนี้จงปรากฎอยู่ทุกขณะเถิด

- จบ -

 

 

ปรารภธรรม ชุดที่ ๑
ปรารภธรรม ๑ l l l

- ปรารภธรรม ชุดที่ ๒ -

 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน