"จงเอาชนะความอยาก"
๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๕
วันนี้เป็นวันประชุมตามเคย
เรื่องการอบรมข้อปฏิบัติที่ได้มีการดำเนินม าก็เป็นเครื่องรู้ได้เองว่าทุกข์โทษของกิเลสมันเบาบางไปอย่างไร
หรือว่าทิฏฐิมานะที่เป็นการถือตัวถือตนมันเบาบางไปบ้างหรือไม่?
ต้องคอยสอบของตัวเองดูให้ดีๆ เพราะว่าการอบรมข้อปฏิบัติ
จะต้องตัดรอนทอนกำลังพวกกิเลสตัณหาอุปาทานให้ลดน้อยลงไป
จึงเป็นการปฏิบัติให้ก้าวหน้าของตัวเอง ชนิดที่ไม่ต้องไปพูดกับใครเลยสักคำเดียว
เพราะว่าเป็นทุกข์โทษของความยึดมั่นถือมั่น ย่อมเป็นการรู้สึกได้ว่ามันมีทุกข์ท่วมทับเท่าไร?
และจะจัดการทำลายถ่ายถอนมันด้วยวิธีใด? ล้วนแต่เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น
ไม่ว่าใคร จะรู้มากรู้น้อย หรือจะเรียนมาเท่าไรก็ตาม มันอยู่ในเรื่องนี้ทั้งหมด
ถ้ามีการรู้สึกได้ด้วยใจจริงแล้ว ทุกข์โทษทั้งหลายมันจะได้ลดน้อยลงไปเป็นลำดับ
ถ้าไปยึดมั่นถือมั่นอะไรขึ้นมา มันก็ทุกข์อยู่ในตัวเอง
แล้วจะไปเอาเรื่องราวเอาดีเอาชั่ว เอาผิดเอาถูกกับใครที่ไหน
มันต้องสอบสวนอยู่ทุกเวลานาทีของชีวิตที่จะต้องรู้ได้ด้วยจิตใจของตนเองว่าเดี๋ยวนี้มันมีสัมมาทิฏฐิ
หรือยังมีมิจฉาทิฏฐิอยู่ ถ้ามันยังมีความเห็นเป็นตัวเป็นตน
และถือตัวถือตนอยู่ก็เรียกว่าเป็น "มิจฉาทิฏฐิ"
ถ้ามี "สัมมาทิฏฐิ" ก็จะต้องเห็นว่าไม่มีเป็นตัวเป็นตนหรือเป็นเขาเป็นเราอะไรเหล่านี้
มันก็จะล้มละลายไปหมด
เพราะว่ามันได้เห็นความเป็นธาตุของรูป
หรือนามธาตุคือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ล้วนแต่ว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์
ไม่ใช่ตัวตนอยู่ทุกขณะ ถ้าพิจารณาแล้วมันจะรู้สึกได้ แล้วจะทำให้คืนคายถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นมาแต่เดิม
ให้เบาบางจางคลายไปในที่สุด ถ้ายังไม่รู้ความจริงอย่างนี้แล้ว
มันก็ต้องมีความยึดมั่นถือมั่นอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะมีการกระทบกระทั่งอะไร
ก็มีการรวบรัดยึดถือเอาเป็นจริงเป็นจังไปทั้งหมด แล้วนั่นแหละจิตใจมันจะร้อนเร่าเศร้าหมอง
เพราะความยึดมั่นถือมั่นทั้งนั้นไม่ใช่เรื่องอื่นเลย ถ้าพิจารณาดูให้รอบคอบแล้ว
ล้วนมาจากอวิชชาคือความไม่รู้ทั้งสิ้นจึงมีการยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา
ทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษจนท่วมทับจิตใจมาก นี่ยังนับว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง
ที่ได้มาประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า จนรู้สึกได้ว่าเป็นการดับทุกข์ดับโทษให้ลดน้อยลงไปเป็นลำดับ
จึงเป็นผลประจักษ์เฉพาะหน้าปัจจุบันเพราะว่าส่วนมากมีแต่การเรียนรู้กันแล้วก็ทอดทิ้ง
ไม่ได้เอามาประพฤติปฏิบัติ มิฉะนั้นก็เรียนเอาไว้สอนคนอื่น
เพื่อได้ลาภสักการะเสียงสรรเสริญเยินยอ นี่มันพวกโง่ชนิดที่ไม่ได้ดื่มรสธรรมะด้วยใจจริง
จึงได้เอาธรรมะไปแลกลาภสักการะเสียงสรรเสริญเยินยอเสียหมดจึงเป็นคนโง่เป็นคนงมงายที่สุด
ส่วนคนที่ไม่ได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่กลับมีความรู้สึกที่จะน้อมนำเอาธรรมวินัยของพระศาสดา
มาประพฤติปฏิบัติตามฐานะของตนเป็นการดับทุกข์ได้ในชีวิตประจำวัน
อย่างนี้มันก็เป็นของเฉพาะตัวด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่ใครจะน้อมเข้ามาใส่ตัว
ถ้าหากไม่ได้น้อมเข้ามาใส่ตัวเองแล้ว มันก็เที่ยวเรื่อยเปื่อยไป
แม้จะเรียนรู้มาเท่าไรๆ มันก็เอาแค่นั้นเอง แค่ไปแลกอะไรกิน
แค่เนื้อแค่หนังเท่านั้น
เพราะฉะนั้นธรรมะของพระพุทธเจ้าในปัจจุบันนี้
ก็มีท่านผู้รู้ทั้งหลายได้เผยแพร่ในขั้นการปฏิบัติธรรม
ให้กระจายออกไปมากมายอยู่เหมือนกัน นับว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่มีคารวะต่อธรรมะ
นั่นแหละจึงจะน้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติให้สมควรแก่ฐานะของตัวได้
ไม่มีการจองหอง ที่เรียกว่า "นิวาโตจะ" คือความไม่จองหอง
เพราะว่าเป็นความรู้ที่จะต้องน้อมรับเอาธรรมวินัยมาประพฤติปฏิบัติด้วยใจจริง
เป็นการทำลายถ่ายถอนทิฏฐิมานะให้เบาบางออกไป แล้วจะรู้สึกได้ว่าใจนี้มันไม่วุ่น
เพราะไม่ได้ยึดถืออะไรเข้ามาเป็นตัวเป็นตนจริงจัง มีแต่จะกวาดทิ้งโดยไม่ยึดมั่นมั่นเองไม่ว่าจะดีชั่ว
ถูกผิด ตามที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียงเหล่านี้ ล้วนแต่ว่าไม่น่ายึดมั่นถือมั่นเมื่อได้พิจารณาเห็นความจริงเช่นนี้แล้ว
มันก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ไม่ได้เรื่องอะไรมาก มีแต่ความสงบเย็นอยู่
โดยไม่ต้องเดือดร้อนอะไร จิตใจก็มีสติคุ้มครองอยู่ได้ทุกอิริยาบถมันทำให้พวกอกุศล
คือกิเลสตัณหา เข้ามาปรุงไม่ได้ เพราะว่าได้กำหนดรู้อยู่ทุกอิริยาบถ
นี่ก็เป็นเครื่องปิดกั้นทวารทั้งหกได้ดี เพราะกิเลสที่มันจะเกิด
ก็เกิดมาจากตาเห็นรูป หูฟังเสียงนี่เอง ถ้าไปยึดถือดีชั่วตัวตนขึ้นมา
มันก็เดือดเนื้อร้อนใจ และเพลิดเพลินไปสารพัดอย่าง เมื่อมีสติรู้อยู่
เห็นอยู่ ในลักษณะของความ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของอารมณ์
ทางตา ทางหู ทางทวารทั้งหกนี้ มันล้วนแต่มีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ
ความจริงแล้วมันไม่มีดีไม่มีชั่วแต่ว่าไปยึดถือไปหมายมันขึ้นมาเอง
ก็เลยเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจเพราะไปพัวพันยึดถือเข้ามาสุมเผาอยู่ที่จิตใจ
ฉะนั้นเรื่องข้อปฏิบัติที่จะต้องมองด้านในกันนี้
มันจะได้เป็นเครื่องรู้เครื่องเห็นว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมันล้วนแต่ไม่มีสาระอะไรอย่าไปยึดถือเข้ามาเลย"
ถ้ามันเชื่อก็ไม่ยึดถือ แต่ถ้ายังไม่เชื่อมันก็ไปยึดถือขึ้นมา
แล้วก็ตกทุกข์ได้ยากอยู่ในตัวนี่แหละ แม้ว่าจะมีความรู้เท่าไรๆ
ความรู้อย่างนั้นก็ยังไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้ เป็นแต่เพียงการจำได้หรือเป็นความคิดชั่วคราวเท่านั้น
เพราะตัวจริงของการปฏิบัติ จะต้องเพ่งพิจารณามองเข้าไปให้รู้ให้เห็น
จนจิตมีความตั่งมั่นรู้อยู่ เห็นอยู่ ในลักษณะที่ปรากฏการณ์ของอารมณ์ทั้งหลายที่มัน
เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ทุกระยะ
แล้วไม่มีอะไรที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นเลย
ถ้าเอาปัจจุบันธรรมอย่างนี้
ได้อย่างเดียว แล้วไม่ต้องเอาอะไรทั้งหมด เห็นความปรากฏการณ์ของรูป
นามเกิดดับล้วนๆ นี่เรียกว่าดูปัจจุบันธรรม ถ้าผิดไปจากนี้ก็ไปหมายไปยึดถือเป็นดีเป็นชั่วเป็นตัวเป็นตนทั้งหมด
แล้วมันก็เกิดทุกข์ขึ้นมาต่อหน้าต่อตานี่ เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาให้รู้แยบคายเอาไว้
และทุกอิริยาบถจะต้องมีสติควบคุมในการเคลื่อนไหว ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วกิเลสมันจะเกิดง่ายแล้วมันจะมีการจูงไป
ตามันก็ไปเพลินกับรูป หูก็ไปเพลินกับเสียง ทุกทวารนี้มันจะลอยละล่องท่องเที่ยวไปตามอารมณ์ที่มีความชินเคยมา
จึงต้องมีสติเป็นเครื่องกั้นเอาไว้ เป็นเครื่องบังคับให้มันหยุดดูหยุดรู้ภายในตัวของมันเอง
แม้แต่ความจำ ความคิดอะไรที่เกิดขึ้น จะต้องพิจารณาอยู่เป็นประจำ
ถ้าไม่มีสติกำหนดรู้เข้ามาหาตัวเอง มันก็จะเพลิดเพลินไปตามผัสสะ
เพราะฉะนั้น
จะต้องมีการสำรวจให้ทรงตัวอยู่เสมอ สตินั้นต้องให้เป็นเหมือนยามเฝ้าประตูเอาไว้
อย่าให้มันเที่ยวเตลิดไปตามอารมณ์ ถ้ามีสติอยู่ได้เป็นส่วนมาก
และมีการเผลอเพลินน้อยลง อย่างนี้ก็ยังนับว่าดี แต่ถ้าเผลอเพลินไปมาก
ก็เป็นการรู้เถิดว่า ความรู้หรือสตินี่ยังอ่อน จะต้องปรารภความเพียร
เพราะว่าเรื่องเกียจคร้านนี่มันเกิดขึ้นมาได้ไม่ว่าขณะไหน
ถ้าไม่มีการปรารภความเพียรแล้วก็จะทำลายตัวขี้เกียจไม่ได้
จะต้องปรารภความเพียรเดี๋ยวนี้ทีเดียว ต้องรู้เดี๋ยวนี้ทีเดียว
เพื่อจำกัดความเกียจคร้านความหดหู่ ตลอดจนความง่วงเหงาหาวนอน
ต้องมีการเพ่งดูเพ่งรู้ เพื่อทำลายโมหะประเภทนี้ เพราะว่ามันมาครอบคลุมจิตให้มัวซัวไปไม่ว่าในขณะไหนทั้งหมด
ถ้าว่าพวกโมหะนี่มาคลุมจิตแล้วมันไม่รู้อะไรเป็นอะไรทั้งนั้น
แม้ว่าเราจะกำลังพูด กำลังฟังอยู่นี่ ถ้าว่าผู้ฟังมีโมหะเข้ามาครอบงำแล้วก็จะไม่รู้เรื่องอะไร
เพราะว่าใจไม่ได้มารับรู้ มันหลับใน ต้องระวังให้ดี มันมาแล้ว
ตัวมายาของกิเลสประเภทโมหะ มันเข้ามาทำความฉิบหายให้ต่อหน้าต่อตาทีเดียว
ถ้าไม่มีการปรารภความเพียร หรือไม่มีการเพ่งพิจารณาเป็นเครื่องทำลายมันแล้ว
ก็เหมือนกับคนตาย ที่ต่างกันก็แต่เพียงไม่ได้ตายเน่าเข้าโลงไปเท่านั้น
แต่ว่ามันตายชนิดที่ไม่รู้ประสีประสา ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
มันเป็นความมืดอยู่ในจิตในใจ แม้ว่าเราจะกำลังพูดหรือกำลังฟังก็เหมือนกัน
ถ้าจิตนี้มันยังไม่รู้อะไร และยังไม่เข้าใจความหมายของคำที่พูดนี้
มันก็ฟังไปง่วงๆ เฉยๆ นั่นแหละก็เหมือนกับคนตายอีกเหมือนกัน
เพราะว่าคนตายนี่มันไม่รู้ประสาว่าพูดเรื่องอะไร ต้องสอบได้ในตัวของตัวเอง
และคนพูดหรือคนฟังก็เหมือนกัน ถ้ามันรู้ขึ้นมาภายในจิตใจของตนเอง
คอยปลุกให้ตื่นเป็นการรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ แล้วอย่างนี้แปลว่า
จิตนี้มันมีสติปัญญาเกิดขึ้นมา รู้ขึ้นมาแล้วทำลายโมหะในขณะนี้ให้พ่ายแพ้ไป
หรือว่าขี้เกียจขี้คร้านก็หายไป หรือคลายไป ทำให้เกิดสติปัญญาขึ้นมาแทน
แล้วก็มีความรู้เรื่องภายในจิตของตนเองได้ ในขณะที่กำลังพูดหรือกำลังฟังอยู่นี่
จิตใจก็มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ได้ และมีพยานที่จะสอบเข้ามาหาตัวเองนั้นอีกว่า
มันมีความดำรงอยู่ในความเป็นปรกติ ในความว่างจากโมหะไม่ว่าประเภทไหนทั้งหมด
เดี๋ยวนี้มันว่างจากกิเลส
โดยเฉพาะที่สำคัญก็คือ
โมหะนั่นเอง ถ้ามีสติปัญญาอยู่โมหะก็หนีไป หายไป ดับไป
แต่ถ้าไม่มีสติปัญญาคุ้มครองจิตใจอยู่ในขณะนี้ ก็โมหะนั่นแหละเข้ามาปกคลุมหุ้มห่อ
แม้จะได้ยินมันก็ได้ยินแว่วๆ เท่านั้นไม่รู้ว่าเรื่องอะไรนี่ลักษณะของโมหะ
อ่านดูเดี๋ยวนี้ขณะนี้ก็ได้ ถ้าเป็นการรู้ด้วยสติปัญญาชัดเจนแจ่มแจ้งแล้ว
โมหะนี่จะหายตัวไปดับไปสลายตัวไป เป็นการสอบได้ในขณะนี้ทันทีเพราะว่าจะไปสอบกันที่อื่นมันไม่รู้หรอก
มันต้องสอบเอาในขณะนี้ทันทีเพราะว่าจะไปสอบกันที่อื่นมันไม่รู้หรอก
มันต้องสอบเอาในขณะนี้ว่ามันมีโมหะหรือไม่มีโมหะหรือไม่มีโมหะ
ต้องสอบได้ ถ้าไม่หมั่นสอบอย่างนี้แล้ว โมหะนี่ร้ายกาจที่สุด
เข้ามาครอบงำจิตง่ายดายที่สุดแล้วก็มืดมนอนธการ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร
จึงให้พูดจาเรื่อยเปื่อยไป เฉพาะที่ง่วงก็อย่างหนึ่ง ที่พูดจ้อคอเป็นเอ็นก็อย่างหนึ่ง
อยู่ในลักษณะที่พูดด้วยความหลง ไม่ได้พูดด้วยมีสติปัญญามันก็ลักษณะเดียวกัน
แต่ข้อสำคัญว่าเราจะรู้จักลักษณะของโมหะ
ที่มาปกคลุมหุ้มห่อจิตใจของเราซ้ำซากมาเท่าไรแล้ว และจิตใจนี้มันถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาได้
ซึ่งก็เป็นเครื่องทำให้ทรงตัวได้ รู้ได้อ่านออกได้ในตัวของตัวเอง
ไม่ว่าผิดถูกดีชั่วเท็จจริงอะไรทั้งหมด แล้วหมั่นพิจารณาให้เห็นชัดลงไปว่า
"มันว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน" นี่เป็นการทำลายโมหะ
เพราะจะไปเอาเรื่องราวอะไรมากมายก่ายกอง มันทำลายโมหะไม่ตรงตัวตรงจุดหรอก
มันต้องเพ่งดู ต้องพิจารณาให้เห็นจริง แล้วก็จะเป็นเครื่องพิจารณารู้ได้ว่า
รูป ก็ว่างจากตัวตน เวทนา ทั้งสุขทั้งทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
และอุเบกขาเวทนาก็ว่างจากตัวตน สัญญา ก็ว่างจากตัวตน สังขาร
ก็ว่างจากตัวตน วิญญาณ ก็ว่างจากตัวตน ทีนี้มันก็ซ้ำอยู่อย่างนี้
พิจารณาซ้ำซากให้เห็นโดยความเป็นของว่างจากตัวตน แล้วมันจะได้สกัดกั้นตัณหาไว้ได้
เพราะว่าตัณหาที่จะเกิดขึ้น มันเกิดเพราะความยึดถือขึ้นมาก่อน
ว่าเป็นตัวเราเป็นของของเรา ทั้งร่างกายทั้งหมดนี้ก็ยึดถือว่าเป็นตัวเรา
หรือว่าเวทนาสุขก็ว่าเป็นเราสุข ทุกข์ก็ว่าเป็นเราทุกข์
และเฉยๆ ก็ว่าลักษณะเฉยเป็นตัวของเราอีก
เพราะฉะนั้นถ้ากำหนดพิจารณารู้อยู่ว่า
รูปว่างจากตัวตน เวทนาว่างจากตัวตนเอาไว้ ทำให้ตัดกำลังของตัณหาทุกขณะไปหมด
ไม่เข้ามาปรุงจิตให้ดิ้นรนในขณะที่มีทุกข์ และในขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาทุกข์
ว่า ทุกข์นี้ ก็ว่างจากตัวตนไม่ใช่ทุกข์ของเรา ขณะที่มีสุข
ก็พิจารณาว่าสุขนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของของเรา
หรือขณะที่เฉยๆ นี่ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา
ถ้าว่ามีการย้ำอยู่ในการพิจารณา รูปธรรม นามธรรม โดยความเป็นของว่างจากตัวตนอยู่เป็นประจำทุกอิริยาบถแล้ว
จิตนี้จะเหนือเวทนาได้ ไม่ต้องเอามาก พิจารณาให้เห็นเวทนาทั้งสุข
ทั้งทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์นี้ว่า "ว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตน"
ทำในใจพร้อมกับการเพ่งพิจารณาให้ประจักษ์ชัดจนจิตนี้มีการวางเฉย
ชนิดที่ไม่มีตัณหาเข้ามาปรุง ไม่ว่าจะมีสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
ปรากฏในเรื่องเวทนา แล้วก็วางเฉยต่อเวทนาทั้งสามได้ ถ้าว่าวางเฉยได้เป็นปรกติเอาไว้แล้ว
จิตนี้จะไม่ถูกตัณหาเข้ามาปรุงแต่งเพราะว่าจิตนี่คอยกั้นเอาไว้แล้วว่ามันไม่ใช่เป็นตัวเราสุขตัวเราทุกข์
ทำให้ตัณหาหมดอำนาจหรือหมดฤทธิ์ไป มันจะเข้าปรุงก็ในขณะที่มีการเผลอสติไปยึดถือเวทนาเข้าเท่านั้นเอง
ฉะนั้นต้องมีการควบคุมพิจารณาให้ดีในเรื่องของเวทนานี่
แม้ว่าในขั้นที่จิตเป็นสมาธิที่อยู่ในลักษณะของเวทนานี่
แม้ว่าในขั้นที่จิตเป็นสมาธิที่อยู่ในลักษณะของอุเบกขาเวทนาก็ยังอมเชื้ออยู่
คือเชื้อของตัณหามันอยู่ในอุเบกขาเวทนาชนิดที่เพลินๆ ถ้าเราพิจารณาดูให้ดีในขณะที่เรามีอุเบกขาคือไม่สุข
ไม่ทุกข์ อย่าไปเพลิน ให้เพ่งดูว่า นี่เป็นลักษณะของอุเบกขาเวทนา
ไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นของของเรา ถ้าว่ามีการเพ่งวางเฉยต่ออุเบกขาเวทนานั้นขึ้นมาอีกที
อุเบกขานั้นก็วางเฉยไม่สุขไม่ทุกข์ ทีนี้ความรู้นี้มันอ่านอุเบกขาเวทนาอีกทีหนึ่ง
มันวางเฉยต่ออุเบกขาเวทนาอีกทีหนึ่ง นี่ต้องฟังให้เข้าใจ
แล้วก็ตรวจดูว่าลักษณะของจิตที่จะพ้นเวทนานั้นต้องมีลักษณะอย่างนี้
เพราะว่าสุขเวทนานี้ก็รู้ได้ ทุกขเวทนาก็รู้ได้แม้จะละเอียดเท่าไร
ถ้าจิตไปมีความกำหนัดมีความยินดีเพลิดเพลินแล้ว นั่นแหละมันก็ยังตกอยู่ในข่ายของตัณหา
มันยังเป็นเครื่องร้อยรัดอยู่ เหมือนกับจิตว่างๆ ก็เข้าไปพออกพอใจว่านี่ดีเป็นสุขสงบ
แล้วก็นั่นแหละเชื้อของอาสวะอวิชชาตัณหามันนอนเนื่องอยู่
ต้องเพ่งลงไป ในขณะที่มีสุข ก็ไม่เข้าไปยึดถือ ไม่เข้าไปพอใจ
แม้ว่าในขณะที่มีทุกข์ก็เหมือนกัน ต้องเห็นโดยความเป็นของว่างจากตัวตน
และในขณะที่มีอุเบกขาวางเฉยนี่ก็ต้องเพ่งอีก ถ้าไม่เพ่งแล้วมันเพลิน
ถ้ามันเพลิดเพลินแล้วก็มีเชื้ออยู่ในอุเบกขาอีก เพราะว่ามันเป็นของหลอกลวงอยู่ในตัวนั่นเอง
ถ้าพิจารณาให้เห็นแจ้งแทงตลอดเวทนาแล้ว จึงจะเป็นไปเพื่อโลกุตตรสุญญตาได้
ถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วมันติดอยู่ในโลกียะ เพราะว่าจะต้องเวียนว่ายรับเชื้อ
คือ อาสวะกิเลสอยู่โดยเฉพาะตัณหา อวิชชามันเป็นอาสวะที่ละเอียด
เพราะฉะนั้นผู้ที่มุ่งหวังจะหลุดพ้นไปจากทุกข์โดยแท้แล้ว
ก็ต้องมีการพากเพียรเพ่งพิจารณาโดยความเป็นของว่างจากตัวตน
ทั้งรูปธาตุ นามธาตุทั้งหมดนี้ เพียรเพ่งอยู่เนืองนิตย์ให้มีสติติดต่อรู้อยู่เห็นอยู่ว่า
เวทนานี้ทั้งหลายทั้งภายในทั้งภายนอก "ว่างจากตัวตน
ว่างจากตัวตน" โดยสิ้นเชิง ถ้าว่ามีความมุงหวังที่จะทำลายถ่ายถอนเวทนาโดยเฉพาะแล้วนั่นแหละ
จึงจะไปสู่โลกุตตรสุญญตาได้ด้วยเหตุนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะต้องการแต่ความสุขสงบกันเอาสบายกันแล้ว
มันไปไม่ได้หรอก มันอยู่ในนี้ มันติดอยู่ในวงล้อม อยู่ในกิเลสตัณหาอุปาทาน
เรียกว่าอยู่ในโลกีย์ ถ้าจะปฏิบัติอยู่เพียงแค่นี้ ก็เป็นการปฏิบัติอยู่ใน
"โลกิยปฏิปทา" ที่มุ่งความสุขสงบซึ่งเป็นของหลอกๆ
ลวงๆ ชั่วครั้งชั่วคราว แล้วก็เที่ยววิ่งไปหา วิ่งหาความสุขสงบกันไป
แล้วนี่มันอยู่ในวงล้อมของตัณหาทั้งนั้น ตัณหานี่ถ้าครอบงำเข้าแล้วมันยุให้กล้าก็ได้
มันยุให้ขี้ขลาดก็ได้ ดูตัวอย่างที่เขาไปดงไปป่ากันเจ้าตัณหานี่มันก็บอกไป!
ไม่กลัว! เสือสางช้างม้าที่ไหนไม่กลัวไปทั้งนั้น มันให้กล้าก็กล้าไปทีเดียว
ถ้าถึงบทมันจะยุแหย่ให้ขี้ขลาดแล้ว มันยื่นหัวไม่ออกอีกเหมือนกันเพราะมันกลัว
ไม่มีเสือมันก็กลัวเสือ คือตัณหานั่นเองมันเป็นมีดสองคม
มันจะยุให้กล้าก็ได้ จะยุให้กลัวก็ได้ ถ้าหากว่าใครไม่รู้เรื่องรู้ราวกับมัน
ก็จะพากันหลงไปกับตัณหานี่เอง ไปเรื่อย ไปจนจบ เหมือนกับที่เดินดงพงไพรกันนั่น
ไปตามฤทธิ์ของตัณหาที่มันยุให้ไป มันบอกว่าไปก็ไป พอมาอยู่ที่นี่สงบดีแล้วไม่กี่วันตัณหามันก็บอกว่า
"ไปโน่นดีกว่า" แล้วก็พากันถ่อไปเดินไปใหม่
พอไปถึงโน่นไม่กี่วันตัณหามันบอกว่า "ไม่ดีอีกแล้วไปโน่นอีกเถอะ"
ก็ไปตามคำยุเจ้าตัณหานั่นอีก เพราะว่าตัณหานี่มันยุเรื่อยมันไม่ให้อยู่ที่ไหนจำเจซ้ำซาก
มันต้องการจะเอารสความสงบใหม่แล้วมันก็เที่ยววิ่งหาความสงบต่อไปอีกในที่สุด
ถ้ามันไปเจอกับทุกข์เข้าก็ชักท้อใจ แต่ถ้าไปได้ความสุขสงบอะไรแปลกๆ
ขึ้นมาก็ทะเยอทะยาน มันไปสองแบบ มันให้กล้า มันให้กลัว
เพราะฉะนั้นแต่ละคนที่จะรู้เรื่องของตัณหาให้ถูกต้องที่จะเป็นการหยุดได้
สงบได้ ถ้าไม่ได้มองด้านในแล้วไม่ไหวเลยมันยุแหย่เรื่อย
มันสอพลอชวนเรื่อยไปจนไม่มีที่จะไป แล้วจึงกลับมานั่งเจ่า
นอนเจ่าเฝ้าหลัก แล้วนั่นแหละมันจะหายเหนื่อย ถ้าว่ายังมีเรี่ยวมีแรงอยู่มันต้องไปอีก
มันอยากเรื่อยเพราะมันเก่ง นี่ลักษณะของตัณหามันร้ายกาจมากมายเหลือเกิน
แต่ว่าไม่มีใครจะรู้ฤทธิ์เดชของมันเลย เพราะว่าคอยทำตามตัณหา
มันชูรสมันอร่อยเพราะเป็นทาสของตัณหาทั้งๆ ที่เป็นทาสมันมาตาเปียกตาแฮะเหนื่อยแล้วเหนื่อยอีก
ทุกข์แล้วทุกข์เล่าก็ยังไม่รู้สึกตัวกันได้ง่ายๆ เลย กว่าจะรู้สึกได้แต่ละอย่างมันก็ให้แส่ส่ายไปอย่างอื่น
เอาใหม่อยากใหม่ต่อไปอีกเพราะอยากอย่างนี้นานๆ เข้ามันเบื่อ
เพราะตัณหามันอยากเปลี่ยนรสใหม่เรื่อย คนเราจึงอยู่นิ่งไม่ได้เที่ยวแส่ไปเที่ยวส่ายไป
ตาก็อยากเห็นรูป หูก็อยากฟังเสียง มันยักน้ำกระสายเรื่อยไป
มันไม่ให้อยู่สงบได้ ถ้าว่าไม่รู้แล้วก็วิ่งตามตัณหากระหือดกระหอบไปจนกระทั่งว่ามันจนปัญญาไม่รู้จะไปทางไหน
แล้วก็มานั่นเจ่านอนเจ่าแล้วมันจะอยู่เมื่อไร พอเหนื่อยเข้ามันก็มาพักเสียที
เมื่อพักมีแรงก็ไปอีก อยากต่อไปอีก วิ่งอีก ถ้าไม่ได้สังเกตด้วยปัญญาจริงๆ
แล้วไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย อยากเอาอะไรก็วิ่งไปเพลินไปทางรูป
ทางเสียง อะไรพวกนี้ นี่มันก็กระหืดกระหอบเต็มทีอยู่แล้ว
จะวิ่งไปทางไหน? จะไปเอาอะไรที่ไหน? มันต้องหยุด ถ้าไม่หยุดแล้วมันจะเหนื่อย
มันอยู่ในเกลียวหมุนทั้งนั้น เพราะอยู่นิ่งๆ ก็ไม่ได้
มันเที่ยวอยากไป
เพราะฉะนั้นเรื่อง
"หยุด" นี้ ต้องเข้าใจให้ดีให้ถูกต้องไม่ว่าขณะไหนที่ความอยากเกิดขึ้นมา
แล้วก็ให้ "หยุดอยาก" "หยุดอยาก"
เอาตรงนี้ให้ถูกจุดของมัน ถ้าหากว่ามันอยากแล้วก็เอาให้ได้สมอยาก
มันก็จะวิ่งไปเอามาให้สมอยากเร็วๆ แต่ถ้ารู้จักทอนกำลังมันได้
ก็หยุดเสีย อย่าวิ่งไป อย่าเอา อะไรให้มันเลยให้เอาชนะ
ความอยาก ด้วย วิธีที่หยุด ที่สงบ ที่นิ่ง ยอมทิ้ง ยอมปล่อย
ยอมวาง ทุกขณะหมด ไม่ว่ามันจะเร่งเอาอะไร ถ้ารู้จักทอนกำลังของตัณหาได้อย่างตรงไปตรงมาอย่างนี้แล้วนั่นแหละตัณหามันจะหมดกำลังไปทุกทีๆ
เพราะว่าตัณหาเกิดมาทีไร เราก็ไม่ทำตามมัน รู้จัก ดับมัน
ปล่อยมัน วางมันได้ อย่างนี้ก็เป็นข้อปฏิบัติในด้านจิตใจโดยตรง
ไม่เกี่ยวกับเรื่องตำรับตำรามากมายเลย หรือว่าไม่ต้องไปพูดอธิบายตามหลักตามเกณฑ์อะไรมากมายก็ได้
แต่เป็นข้อปฏิบัติอยู่ในจิตในใจที่จะต้องควบคุมพิจารณาให้รู้ให้เห็นเอง
แล้วนั่นแหละจึงจะรู้ฤทธิ์เดชของกิเลสตัณหา ที่มันครอบงำจิตใจอยู่ในลักษณะอย่างไร
เราเคยพ่ายแม้มันมานับไม่ถ้วนแล้วหรือไม่ ทีนี้จะมาหยุดดูหยุดรู้ดับมันให้ได้โดยวิธีไร
จะต้องมีการเพียรเพ่งเวทนาในลักษณะอย่างไร เพราะว่าที่วิ่งไป
ก็ต้องการเวทนาต้องการความสุขนั่นเอง เที่ยวยุเที่ยวแหย่ไป
แล้วทีนี้บอกว่าเวทนานี้มันไม่ใช่ตัวตน มันไม่มีตัวตน
ไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา ต้องเอานี่มายันเอาไว้ ถ้าอยากขึ้นมาก็เอานี่ยันทีเดียว
แล้วก็ไม่ต้องไปทำอะไรกันมากมายหรอกว่า เวทนานี่ว่างจากตัวตน
ทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งไม่สุขไม่ทุกข์ ถ้าว่ามีความเพียรเพ่งเวทนาโดยความว่างจากตัวตนแล้ว
ตัณหานี่ไม่มายุแหย่ได้เลย มันดับหมด
ฉะนั้นจะต้องประพฤติปฏิบัติดู
คอยสังเกตพิจารณาดูถึงจะรู้ นี่เป็นแต่เพียงพูดแนะแนวให้เท่านั้นเอง
ถ้าว่าไม่ได้กำหนดพิจารณาดูให้รู้เรื่องของการละเวทนาแล้วก็ไม่มีเครื่องมืออะไรที่จะไปละตัณหาได้
เพราะว่ามันมีอยู่อย่างนี้ มันต้องการความสุขทั้งนั้น
ฉะนั้นจึงต้องพิจารณาซ้ำซากว่าความสุขนี้ไม่มี ไม่มีเป็นตัวเรา
ไม่มีเป็นของของเรา ต้องบอกกับมันซ้ำซากที่สุด ไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง
แล้วเรื่องจะไปเอาความสงบขั้นนั้นขั้นนี้อย่าไปเอา ถ้าขืนเอาแล้วตัณหานั่นแหละมันจะเข้ามาปรุง
จะเข้ามาอยากมายุ่ง เข้ามาแหย่มายั่วสารพัดอย่าง
ทีนี้ต้องเพ่งทุกข์
ดูทุกข์ ทุกข์นี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา ความทุกข์ก็ไม่ใช่ความสุขก็ไม่ใช่
หรือไม่สุขไม่ทุกข์ก็ไม่ใช่ นี่ต้องแยกเวทนา ไม่ใช่มันมาจับกลุ่มเป็นตัวเรา
เป็นของของเรา แล้วก็เป็นการละตัณหาได้ในตัวเสร็จ แต่ต้องเป็นความรู้จริง
ถ้ารู้ไม่จริงแล้วไม่ได้ เพราะตัณหานี้ละเอียดมาก และเป็นอาสวะขั้นละเอียด
ถ้าไม่กำหนดเอาจริงเอาจังให้มันรู้ขึ้นมาแล้วไม่ได้ มันยุแหย่
มันอยากเรื่อย ไม่รู้จะไปเอาอะไรที่ไหน จะไปเอาอะไรที่ไหนก็ไม่ได้
เพราะว่ามันไม่มีที่มันว่าสุขๆ นั่นมันไม่มีแต่ว่ามันอยากจะเอาไปอย่างนั้นเอง
มันหลงสุขหลอกลวงเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะ ถ้าไม่ได้มีการทดลองกำหนดพิจารณาละเวทนาแล้ว
ไม่มีทางพ้นจากตัณหาไปได้เลย เพราะว่ามันชูรสอยู่ที่เวทนานี้
ทีนี้เวลาที่เรามีสติทุกอิริยาบถ จึงเป็นการละเวทนาปล่อยวางเวทนา
และเพ่งเวทนาโดยความเป็นของว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตนอยู่แล้ว
จิตนี้มันมีการวางเฉยเหนือเวทนา นี่มันพ้นเวทนาได้ แต่ว่าจะพ้นได้เด็ดขาดหรือไม่เด็ดขาดเท่านั้นเอง
แต่ถึงจะไม่เด็ดขาดก็ลอง ลองดูว่าที่มันเหนือเวทนาได้นั่นแหละ
มันจะได้มีกำลังของความเพียร ที่จะเพียรละเวทนา และ เพียรดับตัณหาให้ได้
โดยที่ไม่ต้องไปย้ายเอาอะไรอีก คาดคั้นมันอยู่ กำหนด รู้อยู่
เห็นอยู่ เอาให้มันหมดฤทธิ์ไปให้ได้ ว่า ฤทธิ์เดชของความอยากได้ความสุขนั้นมันแค่ไหน
และขณะที่มีความทุกข์ขึ้นมามันกระวนกระวายไปอย่างไร ต้องซ้อมรบกับมันเอาไว้
เพราะว่ามันไม่มีสุขหรอก ถ้าขืนหลงแล้วมันจะยิ่งแย่ จะยิ่งทุกข์ใหญ่
ในเวลาที่ยัง ยืน เดิน นั่ง นอนได้ ที่เปลี่ยนอิริยาบถ
เอาความสุข อย่างนี้มันไม่เห็นทุกข์ จึงต้องพิจารณาให้เห็นแจ้งในความไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนอยู่ทุกขณะทีเดียว. |