เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   ท่าน ก.เขาสวนหลวง ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ  
 

ปรารภธรรม โดย ท่าน ก. เขาสวนหลวง

"ให้รู้จักเหตุเกิดทุกข์"
๓ กรกฎาคม ๒๕๑๕

            วันนี้จะปรารภเรื่องข้อปฏิบัติ การปฏิบัติถ้าพูดโดยเจาะจงแล้วไม่ต้องเอาหลักเกณฑ์อะไรมามากมายนัก เพราะว่าจำไม่ไหว การจะพิจารณาให้รู้เรื่องจริงจึงเป็นของสำคัญในเรื่องที่จะพิจารณาให้เห็นความทุกข์ที่มีประจำอยู่ แต่จะต้องรู้เรื่องจริงๆ โดยเฉพาะว่า ร่างกายหรือจิตใจทั้งหมดนี้มันไม่มีเรื่องอื่น มีแต่ทุกข์แล้วทุกข์อีกอยู่ทุกขณะก็ว่าได้ แต่เนื่องจากไม่ได้พิจารณา ก็นึกว่าอยู่เป็นสุขไปทั้งนั้น

            ทีนี้การที่จะพิจารณานี้ เป็นสิ่งสำคัญของการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะรู้หลักเกณฑ์อะไรก็ตาม ถ้าไม่เอามาพิจารณาแล้วก็จะไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เป็นแต่เพียงเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ผ่านเลยไปเสีย เฉพาะหัวข้อธรรมะก็มีหลักสำคัญๆ ที่จะต้องนำมาศึกษาพิจารณาสอบเข้ามาหาตัวจริง คือกายกับใจนี้ และเรื่องอริยสัจ หรือไตรลักษณ์ กับสติปัฏฐานทั้งสี่ข้อนี้ล้วนแต่เป็นข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเนื้อความอย่างเดียวกันทั้งหมด

            ส่วนเรื่องอริยสัจย่อลงมาเป็นสอง เรียกว่าเป็นปฏิจจสมุปบาทที่เป็นสมุทัย ฝ่ายดับก็เป็นนิโรธ รวมทั้งสองอย่างนี้ที่จะต้องทำการศึกษาอยู่ ฉะนั้นการปฏิบัติก็รวบรัดอยู่ในเรื่องการรู้เหตุเกิดทุกข์ กับความดับทุกข์ทั้งสองอย่างนี้ ซึ่งจะต้องพิจารณาเรื่องไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็ได้ และสติปัฏฐานสี่ก็รวมอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นต้องยืนหลักเอาไว้ จะได้ไม่ไขว่คว้าเอาหลักโน้นหลักนี้มาสอบให้มากเกินไป

            แต่หลักสำคัญที่ต้องอบรมกันอยู่ก็คือ ให้มีสติประจำอยู่เนืองนิตย์ เพราะว่าตัวสตินี่เป็นตัวสำคัญที่สุด เรียกว่าเป็นการเฝ้ายามก็ได้ เฝ้าดูทุกๆ ประตูที่ผ่านมาทางตา ทางหู มันเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ เพราะถ้าไม่รู้แล้วทุกข์โทษมากมายหลายประการที่มันจะเกิดขึ้น ฉะนั้นเรื่องปฏิจจสมุปบาทก็ไม่ใช่เรื่องมากมายอะไรนัก นอกจากให้คุมอายตนะผัสสะเวทนาเท่านั้นเพื่อให้รู้หลักย่อๆ ไว้เท่านี้แหละ ไม่ต้องไปเอาหลักเกณฑ์มายืดยาวก็ได้ เพราะจำไม่ไหว มันรู้ไม่ได้ การที่ควบคุมอยู่นี้ ถ้าเอาสติมาควบคุมจิตว่าอะไรมันเกิด หรือกิเลสประเภทไหนมันเกิดขึ้นมา การเกิดนี่แหละเรียกว่าเป็น "สมุทัย" คือ ทุกข์มันเกิด

            ทีนี้ลักษณะที่มันเกิดเกิดอย่างไร เกิดความโลภ ความโกรธ หรือเกิดความหลง หรือว่าเกิดความพอใจไม่พอใจ หรือเกิดความอยากได้ในรูปในเสียง กลิ่น รส สัมผัส เรียกว่ามันเกิดทุกข์ เมื่อเกิดทุกข์แล้วก็พิจารณาดับ ก็เป็นนิโรธทุกขณะที่มันเกิดทุกข์เกิดกิเลส แล้วก็พิจารณาดับทุกข์ดับกิเลส นี่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท อยู่ทุกขณะไปหมด ไม่ต้องไปจาระไนอะไรทั้งสิ้น แล้วจะพิจารณาเวทนาก็ได้ เพราะเวทนาก็เป็นสิ่งที่มีอยู่กับเนื้อกับตัว มันต้องพิจารณา จะได้ไม่หลงเสน่ห์เวทนา

            เรื่องเวทนานี่ก็สำคัญมาก ตัณหาที่จะเกิดก็เพราะเวทนา จึงเป็นเหตุให้ตัณหามีความต้องการเวทนา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นการรวบยอดว่า ถ้าได้ควบคุมหรือพิจารณาเวทนาอยู่แล้ว ก็เป็นการสกัดกั้น คือว่าไม่ให้ตัณหาขึ้นมาปรุง และมาดิ้นรนที่จะต้องการความสุข หรือผลักไสความทุกข์อะไรเหล่านี้ แต่ก็ต้องให้รู้เรื่องของการเกิดว่า มันเกิดขึ้นมาทุกๆ ขณะทีเดียว ฉะนั้นเรื่องการเกิดนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เพราะถ้าไม่รู้แล้วไปยึดมั่นถือมั่นเข้า แล้วมันทุกข์แต่ก็ดับทุกข์ได้ รวมสองอย่างเท่านี้ ไม่ต้องรู้มาก ไม่ต้องรู้ปฏิจจสมุปบาทมากมายก็ได้ รู้ว่าเกิดทุกข์แล้วก็ดับทุกข์ได้ ปล่อยวางได้ เอาอย่างนี้ทุกๆ ทวารหมด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมาก็ต้องควบคุม ต้องพิจารณารู้แล้ว ดับได้วางได้

            เพราะฉะนั้นเรื่องศีล สมาธิ ปัญญาก็อย่างเดียวกันอีก เราจะพิจารณาธรรมะข้อไหน มันก็รวมเสร็จอยู่ในกายในใจนี้ ที่จะต้องรู้ และรู้อย่างเดียวนี้ก็แตกฉานไปได้ ไม่ต้องไปจาระไนหัวข้อมากมายนัก ใครจะไปจำได้ ตัวการของการปฏิบัติไม่ใช่มีเรื่องมาก ที่อ่านมาเป็นแต่เพียงความเข้าใจ เพื่อจะได้น้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าจะต้องจำเอาหัวข้อมาท่องไว้หลายๆ อย่างเลย มิฉะนั้นแล้วใจมันไม่สงบเพราะมันไปจำหัวข้อมาท่องมากเกินไป ทีนี้มันเรื่องเดียว เรื่องไม่เอา อย่างเดียว เอามาขอคิดพิจารณาให้มันแตกฉานไป

            ส่วนเรื่อง การพิจารณาขันธ์ห้าว่าไม่เที่ยง นี่ก็เป็นตัวการของปฏิจจสมุปบาท ที่จะต้องรู้เรื่องจริงอยู่ภายในตัวเองทั้งหมด ที่มันมีการก่อเกิดขึ้นมาอย่างไร มีผัสสะกระทบขึ้นมาอย่างไร แล้วเกิดทุกข์เกิดโทษขึ้นมาในลักษณะอย่างไหน ต้องรู้อย่างนี้ทุกอิริยาบถไปทีเดียว เพราะว่าข้อปฏิบัตินี้ไม่ใช่เรื่องมากเพียงให้ควบคุมจิตให้มีสติรอบรู้อยู่เป็นประจำ แล้วจะได้พิจารณาปล่อยวางได้ และเรื่องราวทั้งหมดก็ไม่ได้มีอะไรเป็นจริงเป็นจังทั้งนั้น มันมีแต่การเกิดดับแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปเอาใจใส่กับมันก็ได้ และอายตนะผัสสะนี่ก็เหมือนกัน เช่นตานี่มันก็เห็นรูปไปตามธรรมดา ถ้าว่าไม่ไปเพ่งเล็งยึดถือแล้วมันก็ผ่านไป ตาก็เห็นรูปไปเฉยๆ หูก็ฟังเสียงไปเฉยๆ ก็ไม่เกิดทุกข์เกิดโทษอะไร ที่เกิดเพราะว่าไปยึดถือขึ้นมา มันจึงต้องคอยดับคือว่าทุกข์มันเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับทุกข์ มันเรื่องอย่างนี้

            เพราะลักษณะของจิตในบางครั้งมันวางเฉย และการวางเฉยนี่ก็อย่าไปเฉยๆ กับมันอย่างเดียว จะต้องควบคุมอีก ถ้าไม่ควบคุมแล้วมันเฉยอยู่ไม่ได้ เมื่อมีอะไรผ่านมาทางผัสสะก็ออกไปรับอีกแล้ว เฉพาะความวางเฉยนี้ต้องควบคุมไว้ การกระทบผัสสะจะต้องไม่มีการยึดมั่นถือมั่น และก็สอบเอาได้ในเรื่องนี้เองว่า การรักษาหลักปรกติวางเฉย มีสติควบคุมประจำใจอยู่แล้วทุกทวาร แม้จะผิดพลาดพลั้งเผลอไปบ้างก็เป็นของรู้ง่าย ถ้ายังไม่มีเรื่องยึดมั่นถือมั่นมันก็ผ่านไปได้ สำหรับข้อปฏิบัติที่จะเป็นเครื่องอ่านอยู่เป็นประจำทุกอิริยาบถนี้ ก็เป็นเครื่องอ่านอยู่ในกายในใจนี้ทั้งหมด ที่สุดก็จะทำให้รู้สึกได้ว่าการมีสติควบคุมอยู่ทุกขณะทำให้ทุกข์โทษลดน้อยลงไป เป็นอันรู้ได้ว่ามีศีลบริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา และใจ และจิตใจก็ไม่วุ่นวาย มีความสงบได้ และมีสติปัญญาที่จะพิจารณาให้รู้จักข้อเท็จจริงในความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ให้รู้ชัดเจนแจ่มแจ้งขึ้นมาได้ และจะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น หรือว่าเรื่องอะไรที่ผ่านมา เช่นตาเห็นรูป หูฟังเสียง ก็ทิ้งไปเสีย โดยไม่ต้องสนใจ เหมือนกับตาเห็นรูปหูฟังเสียงนี้ก็สักแต่เห็นและฟังตามธรรมดา ส่วนใจก็ยังไม่เกิดการยึดถือ ก็เป็นอันว่า วางจากกิเลส และทุกข์โทษก็น้อยลงไป อย่างนี้ก็เป็นอันรู้ได้ว่า ข้อปฏิบัติประจำวันที่ทำกันซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ก็จะเป็นเครื่องรู้ได้ว่าทุกข์โทษเบาบางไป และส่วนละเอียดที่ยังจะต้องรู้เข้าไปอีกคือความสงบ จะต้องมีการเพ่งพิจารณาให้รู้แจ้งแทงตลอดเข้าข้างในนี่มันเป็นของสำคัญ ถ้าพื้นข้างนอกวางเฉยได้ แต่ว่าภายในจะต้องเพ่งเข้าไปอีก ให้รู้จริงเห็นแจ้งขึ้นมาให้ได้

            ทีนี้เฉพาะว่าการมองด้านใน ที่จะให้รู้ประจักษ์ชัดในความ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของอารมณ์ทุกๆ ชนิด แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นมันหยุดได้ สงบได้ แล้วก็รู้ไปเฉยๆ ไว้ ถ้าหากว่าเผลอสติไปปรุงไปคิดอะไรขึ้นมาเป็นเรื่องเป็นราวก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นเสีย แล้วกลับมารู้สึกตัวทั่วพร้อม หรือจะพิจารณาปล่อยวางอะไรไปเรื่อยๆ ก็ได้ หรือจะมีการรู้ลักษณะของจิตที่มีความสงบอยู่อย่างไร ตั้งมั่นอยู่ได้อย่างไร นี่ล้วนแต่ว่าต้องมีการฝึกการสอบตัวเองอยู่ทุกๆ อิริยาบถทั้งสิ้น จึงจะรู้รายละเอียดเข้าไปข้างในได้ ความเผลอเพลินที่จะออกไปข้างนอกจะต้องหยุดต้องสงบ ฉะนั้นการมีสติเป็นเครื่องกั้นทางผัสสะมันมีประโยชน์มากอยู่ขั้นหนึ่งแล้ว สติที่ดำเนินเข้าไปสู่ขั้นในจะต้องตั้งมั่นเป็นการรู้อยู่มีสติรู้อยู่ เห็นอยู่ภายใน ทีนี้ที่ยังตั้งหลักไม่มั่นคงอยู่ภายในนั่นเองจึงทำให้รู้นี่ ออกไปจากรู้ เพราะมีการเผลอไปเพลินไป ส่วนรู้ภายนอกนี่ยังรู้อยู่ แต่ว่ารู้ภายในนี่ยังยืนรู้ไม่ได้ เพราะว่ามันรู้ออกจากรู้เมื่อไรแล้ว การเผลอสติแม้จะยังไม่ออกมาข้างนอกแต่ว่าข้างในมันเผลอ และก็มีการการปรุงการคิดอะไรเป็นความจำหมายขึ้นมา นี่ต้องอ่านดูให้ได้รายละเอียดว่า ทางผัสสะก็สงบอยู่วางเฉยได้ แต่ว่าข้างในมันยังมีอีก ยังเป็นความจำหมายแล้วก็เป็นการคิดไปเพลินไป ฉะนั้นต้องอ่านให้ละเอียดให้จิตนี้มีการสงบรู้ตัวเองให้ทรงตัวได้ติดต่อเอาไว้ให้ได้ อย่าให้มันเลื่อนลอยไปตามอารมณ์ แม้จะยังไม่เกิดทุกข์เกิดโทษภายนอกแต่มันเป็นตัวนันทิราคะ คือว่าเพลิดเพลินอยู่ข้างในนั่นมันละเอียด และทีเพลินออกมาทางผัสสะนี่มันหยาบก็ยังรู้ง่าย แต่ถ้าเพลินอยู่ข้างในรู้ยาก เพราะฉะนั้นความที่เผลอสติภายในนี่เอง มันทำให้หลักฐานของการทรงตัวปรกติวางเฉยภายนอกไม่ถาวร เพราะว่ามันล้มละลายมาจากข้างในโน่นแล้ว ฉะนั้นหลักปรกติข้างนอกมันเป็นแต่เพียงผิวเผินพอมีผัสสะอะไรมากระทบก็แล่นรับรวดเร็ว โดยเฉพาะว่าผัสสะที่ยังไม่มีการเข้ามาหาตัวมันเอง เช่นขณะเรามองเห็นอะไร ถ้าไม่เอาใจใส่ไม่ยึดถือก็ดูเฉยๆ แต่ถ้าเป็นผัสสะที่เข้ามาถึงตัวมันเข้าหรือมีความหมายเข้ามาหาตัวมันแล้ว แม้แต่เป็นของเล็กน้อยจิตนี้ก็จะต้องหวั่นไหวโยกโคลงขึ้นมาทันที เพราะว่าข้างในนั่นเสียหลักรู้ไปแล้ว ทีนี้มันก็ออกแล่นรับผัสสะ ที่ตรงเข้ามาหาตัวมัน มันออกยึดถือขึ้นมาทีเดียว ตัวตนมันก็เกิดขึ้นมาทีเดียว เป็นการรับเอาผัสสะนั้นทันทีมันว่าเรา หรือว่ากระทบกระเทือนเราแล้วมันเอาใหญ่ทีเดียว อย่างนี้ก็ดูซิว่าปฏิจจสมุปบาท ที่มันเกิดทุกข์ เกิดกิเลส เกิดตัวตน เกิดยึดถือ มันแล่นจี๋อยู่อย่างไร แล้วจะดับมันได้อย่างไร ถ้าว่าเป็นการดับช้า ปฏิจจสมุปบาทที่เป็นฝ่ายเกิดก็ปรุงแต่งไปหลายรอบกว่าจะหยุดได้ ฉะนั้นต้องสังเกตดูว่าที่ปรุงแล้วปรุงอีก ที่จำเรื่องราวเป็นคุ้งเป็นแควไปนั่นแหละ เป็นปฏิกิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดมันกำลังเกิดเป็นสันตติสืบต่อเรื่อยไป แล้วก็เป็นทุกข์เท่าไร ถ้าพิจารณาดูแล้วแม้จะรู้ว่าสังขารปรุงทั้งดีทั้งชั่วที่ปรุงจิตอยู่ มาจากอวิชชาคือความไม่รู้ มันปรุงซ้ำปรุงซากอยู่นี่ ถึงจะไม่เกิดทุกข์เกิดโทษอะไรมาก แต่ก็ทำให้จิตนี้ไม่สงบ แล้วก็ลองพิจารณาดูซิว่า สังขารนี้มีความสำคัญอย่างไร ที่มาจากอวิชชาคือความไม่รู้ นี่จะต้องพิจารณาตัวจริงกันจึงจะได้ ทีนี้ที่มันระงับสังขารได้ก็คือว่ามีความรู้โดยมีสติยืนหลักเอาไว้อย่างเดียว

            เหมือนกับเรากำหนดลมก็ได้ กำหนดให้ติดต่ออยู่อย่างเดียว แล้วเราจะรู้ได้ว่าสังขารนี่มันปรุงขึ้นมาอย่างไร ถ้าว่าเราไม่กำหนดสติให้ติดต่อเอาไว้แล้ว สังขารนี่มันปรุง จำเรื่องจำราวมาปรุงดีปรุงชั่วมันก็ปรุงเรื่อย และข้อสำคัญก็คือ สตินี่ต้องตั้งมั่นอยู่อย่าไปย้ายที่ เพราะว่าย้ายที่แล้วจะทำให้โยกโคลงไปแล้วสังขารก็ปรุงต่อ ดับไม่ได้ เพราะยักย้ายไปเสียแล้ว ถ้ากำหนดลมก็กำหนดให้จริง เอาลมเป็นหลักยืน คือว่าจะให้สังขารนี้ระงับไป ระงับความฟุ้งซ่านรำคาญใจอะไรก็ต้องยืนหลักเอาไว้ให้ได้ แล้วมันก็เป็นเครื่องสอบของตัวเอง ถ้าหลักสตินี่มันโยกโคลงความฟุ้งซ่านมันก็ต้องสืบต่อเป็นสันตติเรื่อยไป แล้วเป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดก็เกิดไปทีเดียว เกิดดับเรื่อยไป แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอีก เพราะตัวโง่คืออวิชชาที่มีเป็นต้นขั้วอยู่ มันมีอวิชชาจึงได้มีสังขารปรุงเรื่อย คิดเรื่อยไม่หยุดไม่หย่อน

ทีนี้มันต้อง หยุด คำว่า "หยุด" นี้ก็หมายถึงมีสติความรู้ มันจึงจะหยุดได้ ถ้าไม่มีสติแล้วหยุดไม่ได้ ลองสังเกตดูว่า ขณะไหนที่เรามีสติยืนรู้ได้ แล้วความปรุง ความคิด ความจำ ทั้งหลายจะไม่เกิดขึ้นมาได้เลย พอเกิดขึ้นมาเราก็รู้ เมื่อรู้แล้วก็ดับได้ เพราะว่าจิตนี้ย่อมรับอารมณ์ทีละอารมณ์ คือว่าต้องยืนหลักไว้ ถ้าไม่ยืนหลักกำหนดเอาไว้แล้วมันก็ปรุงเรื่อย ที่ว่างๆ นี้ก็เหมือนกัน โดยมากจะเข้าใจเสียว่า ความว่างนี่มันดีเสียแล้วเพราะง่ายดี แต่ทำไปทำมามันก็ว่างๆ เพ้อๆ เพลินๆ ไปอย่างนั้นเอง พอบอกว่าไม่ต้องทำอะไร เพียงใจจิตว่างเท่านั้น มันก็ไปตะครุบเอามาแล้ว มันจะเอาความสบาย แต่ว่าก็เอาตัวไม่รอดอีก เพราะว่างหรือเพลินนี่มันควบคู่กันอยู่ ต้องคอยสังเกตดูซิมันเพลินหรือเปล่า ว่างนั้นมันเพลินอยู่หรือเปล่า เหมือนกับที่ว่างตามธรรมชาติใครๆ ก็มีได้ แต่ว่างอย่างนี้มันยังเพลินอยู่ ยังไม่เห็นแจ้งประจักษ์ชัด เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้อะไรเป็นอะไรไป เพียงแต่ว่าเปลี่ยนอารมณ์ใหม่แล้วมันก็ว่าง แต่แล้วมันก็วุ่นไปอีก เพราะว่าว่างกับวุ่นนั้นมันสลับฉากกันอยู่ เพราะเหตุไรเราจะต้องรู้ เพราะไม่ได้กำหนดสติให้ติดต่อนั่นเอง มันก็เลยย้ายไป คือว่ามันย้ายไปรู้อย่างนั้นย้ายไปรู้อย่างนี้ แม้ว่ามันจะปล่อยวางได้ก็เป็นของชั่วคราวอีก เพราะสตินี่มันยังไม่ได้ยืนรู้ ยังไม่ได้จับศัตรูภายในว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีอะไร แต่ว่ามันโง่ไปยึดถือขึ้นมาทุกขณะ มันถึงได้สืบเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวเป็นน้ำไหลไปหมด เพราะความปรุงความคิดของสังขารทั้งนั้น จะหลีกสังขารก็ไม่พ้นเพราะมันยืนหลักไม่อยู่ หลักนั่นมันโยกโคลงไป ฉะนั้นคอยสังเกตดูว่าหลักของสติมันมั่นคงหรือยัง เท่านี้ก็เป็นเครื่องสอบได้อยู่ในตัว แล้วก็ต้องแก้ปัญหาข้อนี้ของตัวเองด้วยกันทุกคนว่าหลักสติทำไมมันถึงได้ง่อนแง่คลอนแคลนไปนัก แล้วจะฝึกจะทำอย่างไร จะสำรวมตา หู อย่างไรดี หลักของสติที่รู้อยู่ข้างใน มันจะได้หยุดดู หยุดรู้ จิต ประจักษ์ชัดเจนขึ้นมาได้

            เรื่องข้อปฏิบัติที่พูดตามภาษาใจนี่อย่างหนึ่ง ถ้าไปพูดตามหลักเกณฑ์ก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ถึงอย่างไรมันก็สอบได้ เพราะเป็นเรื่องที่จะต้องอ่านตัวจริงกันจึงจะได้ประโยชน์ จึงจะรู้ลักษณะว่าเมื่อทุกข์เกิดแล้วจะดับทุกข์ได้อย่างไร กิเลสเกิดแล้วจะดับกิเลสได้อย่างไร หรือว่ากิเลสมันมาเผาเอา เราจะเผากิเลสได้อย่างไร นี่ข้อปฏิบัติต้องเอาเรื่องนี้เป็นสำคัญที่จะตรวจจิตใจอยู่ทุกอิริยาบถได้ก็มีเท่านี้ แล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา รวมเสร็จอยู่ที่นี่หมด ศีลเมื่อสำรวมระวังไว้ได้ ก็ทำให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน มีความสงบแล้วก็เป็นผลคือว่า จิตที่ไม่มีทุกข์โทษอะไรเกิดขึ้น ก็ไม่ทำให้เร่าร้อนเศร้าหมองได้ เรียกว่าจิตสงบเป็นสมาธิ ทีนี้ปัญญาที่จะต้องพิจารณารู้ รู้แล้วก็มีการปล่อยวางได้ แล้วความรู้มันก็ครบถ้วนอยู่ในการมีสติปัญญาเป็นเครื่องควบคุมจิต ซึ่งล้วนแต่เป็นหลักเดียวกันไม่ว่าบทไหนทั้งหมด

            ตามที่พูดเรื่องของสัญญาเจ็ดที่เอามาพิจารณากันนี้ ความจริงสัญญาเจ็ดประการนั้นไม่ต้องไปเจริญทั้งเจ็ดก็ได้ เพราะว่านั่นมันเพียงแต่เป็นหลักสำหรับให้รู้เท่านั้นเอง ความจริงถ้าเจริญเฉพาะสัญญาเดียวก็พอ แล้วก็แตกฉานไปได้ทั้งเจ็ดสัญญา เช่นอสุภสัญญาเป็นต้น พิจารณาให้เห็นความเป็น อสุภะ ของกายทั้งหมดว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นของงดงามถาวร ก็เห็นโดยความเป็น ปฏิกูล เมื่อเห็น อสุภะ แล้วมันก็ต้องเห็นโดย ความเป็นธาตุ เมื่อเห็นโดย ความเป็นธาตุ แล้วก็ต้องรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ตัวตน พอถึงความไม่มีตัวตนก็เป็น อนัตตสัญญา ได้เลย รวบยอดหมดในเรื่อง อนัตตสัญญา

            ทีนี้การพิจารณาในอสุภสัญญา เป็นการรู้ชั่วคราว ก็จะต้องมีการเจริญสัญญาเช่น อาทีนวสัญญา ให้เห็นโทษในความเป็นทุกข์ของร่างกายทั้งหมดที่มีโรคภัยเบียดเบียน หรือทางกาย ทางใจก็ตาม ให้เปลี่ยนมาพิจารณา อาทีนวสัญญา ให้เห็นความเป็นโทษทั้งหมดในอาทีนวสัญญา นี้ ถ้าพิจารณาให้เห็นโทษของร่างกายในรูปธรรมหมดแล้ว ก็เห็นโทษในนามธรรมด้วย โทษในฝ่ายนามธรรมก็เป็นทุกข์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์นั่นเอง ถ้าเห็นแล้วก็รวมอยู่ใน อนิจจสัญญา ได้ ซึ่งก็อยู่ในแนวเดียวกันทั้งหมดรวมเป็น อนัตตสัญญา ได้เลยทีเดียว

            อนัตตสัญญา นั้นเป็น สัญญาขั้นสูง แล้วก็สัญญาเหล่านี้เช่น ปหานสัญญา ที่จะต้องมีการพากเพียรเผากิเลส อย่างนี้มันก็ต้องรู้แล้วว่า กิเลสนี่มันมีทุกข์โทษเท่าไร มันเกิดขึ้นมาแล้วทำให้จิตใจนี้เศร้าหมองเร่าร้อนเท่าไร เมื่อประหารมันลงไปได้ ดับมันลงไปได้ ก็พิจารณาให้เห็นความเป็นของไม่เที่ยง ของสัญญาทั้งเจ็ดประการ ซึ่งรวมอยู่ด้วยกันทั้งหมด นอกจากว่ามันจะเห็นอะไรชัดมากกว่ากันเท่านั้น เช่นการเห็นอสุภสัญญาชัดบ้างไม่ชัดบ้าง แล้วก็ไปเห็นอาทีนวสัญญา ชัดบ้างไม่ชัดบ้างอย่างนี้ก็เป็นเหตุให้ไม่รู้แจ้งแทงตลอดไปได้ ถ้าหากเห็นสัญญาหนึ่งสัญญาใดแจ้งชัดลงไปแล้วทั้งเจ็ดสัญญาก็รวมกันได้ทั้งหมด ไปถึงจุดอนัตตสัญญาตลอดไปเลย โดยไม่ต้องจำแนกอย่างอื่นอีกก็ได้ ทีนี้ถ้าเห็นแทงตลอดไปอย่างโน้นว่า นี่เป็นความดับทุกข์ ถ้าไม่เห็นชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว มันก็ยังปล่อยวางไม่ได้ หรือยังดับทุกข์ไม่ได้นั่นเอง

            ฉะนั้น การดับทุกข์ที่เรียกว่าเป็นนิโรธ หรือเป็นการ ดับตัณหาก็ตาม มันก็อย่างเดียวกันกับ ปหานสัญญา ที่จะดับทุกข์โทษสารพัดอย่าง เพราะฉะนั้นเรื่องข้อปฏิบัติถ้าว่าทำการค้นคว้าด้วยสติปัญญาแล้ว ไม่ว่าจะเอาข้อไหนมาประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติจนกระทั่งว่ารู้แจ้งแทงตลอดได้แล้ว ก็เป็นแนวเดียวกันทั้งหมดนั่นเองไม่ต้องโยกย้ายเอาอย่างโน้นอย่างนี้ให้มีหัวข้อมากมาย ฉะนั้นจึงต้องศึกษาพิจารณาให้รู้จริงเสีย จะได้ไม่เที่ยวไขว่คว้าเหมือนกับตาบอดคลำช้าง ต้องให้รู้ว่าเรื่องธรรมะนี้ขั้นสุดท้ายต้องรวมกันได้ทั้งหมด แล้วก็จำแนกออกไปให้เป็นข้อปฏิบัติ เหมือนกับธรรมะของพระศาสดาที่ได้ตรัสไว้เป็นหัวข้อปฏิบัติมากมาย ในพระสุตตันตปิฎกก็มีอยู่แล้วไม่ใช่ว่าจะไปเอาข้อความทั้งหมดนั้นมาประพฤติปฏิบัติเมื่อไร ให้เอามาข้อหนึ่งข้อใดแล้วมันก็มารวมอยู่ที่กายที่ใจ ที่เป็นตัวประธานอยู่นี่ แล้วก็ต้องยืนหลักสตินี้ให้มั่นคง มีการพิจารณาให้รู้ความจริง ก็จะปล่อยวางได้ ถ้ายังไม่รู้ก็ยังปล่อยวางไม่ได้ ก็สอบเอาให้ได้ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติข้อไหนทั้งจะกำหนดรู้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่ารู้ทุกข์รู้เหตุเกิดทุกข์ในเรื่องอริยสัจสี่มันก็เรื่องเดียวกันอีก

            ฉะนั้นข้อปฏิบัติจะต้องทำความเข้าใจให้รวมกันเสีย ถ้ายังโลเลอยู่อย่างนี้ให้ปฏิบัติไปจนตาย มันก็ไม่รู้เรื่องจริงขึ้นมาได้ เพราะประเดี๋ยวก็ไปเอาอย่างโน้นประเดี๋ยวก็ไปยึดอย่างนี้ขึ้นมาทำให้ยุ่งยากหมด ในที่สุดก็ไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำให้จิตเที่ยวลอยละล่องท่องเที่ยวไป ประเดี๋ยวพอใจอะไรก็ไปยึดถือว่าดีว่าถูกขึ้นมาที่ว่าดีว่าถูกนี้นานๆ ไปอีกสักหน่อยมันก็เลือนลางไปอีก ต่อไปเมื่อไปพบสิ่งโน้นก็ว่านั่นดีนี่ถูกไปอีกแล้ว ประเดี๋ยวที่ว่าดีกว่าถูกก็ย้ายใหม่อีก แล้วก็เลือนลางไปอีกมันจึงเรื่อยเปื่อยไป ฉะนั้นความรู้ความเห็นมันยังต้องเปลี่ยนเรื่อยไป ตามเหตุที่มากระทบเข้ากับจิต เช่นกับเวลาไหนที่จิตใจกำลังว่างๆ พอกระทบอะไรเข้า ก็เกิดความรู้สึกเห็นเกิดดับฉับไวขึ้นมา ปล่อยวางไป ว่างไป แล้วมันก็ว่าอย่างนี้ดีถูก เพราะว่าเมื่อกระทบแล้วก็ดับไม่ยึดถือแล้วก็หมดเรื่อง ทีนี้ก็เอาใหม่อีกพอกระทบปุบก็ยึดถือขึ้นมาทีเดียว เกิดเดือดเนื้อร้อนใจขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นความรู้นี่มันสลับฉากมาหลอกลวงพาให้ไขว่คว้าไปว่านี่ถูก นั่นผิดไปอีก แต่ผิดนี้ก็อาจกลับถูกขึ้นมาอีกก็ได้ แล้วมันก็เล่นสลับฉากให้ดูเสมอๆ จึงแสดงให้เห็นความไม่เที่ยง ทั้งผิด ทั้งถูก ทั้งเท็จ ทั้งจริง ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งสุขทั้งทุกข์ให้ดูควบคู่กันไป ฉะนั้นต้องดูกันให้ทั่วถึงว่า ไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่นอะไรมันล้วนแต่สับปลับกลับกลอกไปทั้งนั้น ถ้าว่ารู้อย่างนี้แล้ว รู้นี่มันเหนือรู้ขึ้นมาได้ มันเหนือรู้ ที่ว่ารู้ถูก รู้ผิด นั่นแหละ "รู้" แล้วทีนี้ถูกผิด นี่มันก็สับปลับกลับกลอกหลอกลวง ต่อเมื่อรู้นี่มันก็รู้ขึ้นมาอีก ผ่านขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง มันก็ รู้ถูก รู้ผิด ขึ้นมาอีก นี่ก็สับปลับกลับกลอกใช้ไม่ได้ ทีนี้ก็ "ยืนรู้" ยืนไปยืนมา รู้ที่ยืนนี่ก็ไม่เที่ยงอีกนั่นเอง

            เพราะความรู้ที่มันเปลี่ยนตัว คือความไม่เที่ยง มันสับปลับอยู่ในตัวนั่น จึงให้ดูวิญญาณที่เป็นความรู้สึกทางอายตนะ นี่ให้รู้ว่าลักษณะของรู้ รู้นี่นะจะไปยึดถือมันไม่ได้อีกเหมือนกัน เช่นกับ ตาเห็นรูป มันก็ต้อง รู้สึก แล้วมันก็ ดับไปอีก และโสตวิญญาณที่มา รู้สึกเสียง นี่ก็ ดับไป อีก แล้วนี่เปลี่ยนหมดทวารทั้งหกที่เรียกว่า จักขุธาตุ ที่เป็นธาตุรู้ มันรู้เฉพาะที่มันรู้ แต่ว่าตัวโง่นี่ไปยึดถือขึ้นมาอย่างนี้มันจึงได้วุ่นและเดือดร้อน ถ้าว่าการรับสัมผัสตามธรรมชาติของมันแล้ว เมื่อรู้สึกแล้วก็ดับไป รู้สึกแล้วก็ดับไป ยังไม่มีทุกข์มีโทษอะไรเลย ทีนี้ถ้าเกิดไปยึดถืออะไรขึ้นมา เช่นกับตาเห็นรูป มันก็ยึดถือว่า รูปดีก็ชอบ ไม่ดีก็ไม่ชอบขึ้นมาแล้ว มันหาเรื่องไปอย่างนี้ต่างหาก ฉะนั้น ตัวสภาวะของความรู้สึกล้วนๆ นี้ มันไม่มีทุกข์ไม่มีโทษ แต่นี่ตัวไม่รู้มันเข้าไปยึดถือว่ามันรู้ มันเข้าไปรู้เสียอีก ไม่เห็นว่านามธาตุก็รู้ไปตามธรรมชาติของมัน และตัวรู้นี่ก็เข้าไปซ้อนว่ามันรู้เสียอีกแล้ว เหมือนกับตาเห็นรูป หูฟังเสียง ที่รู้สึกตามธรรมชาตินั้นมันขั้นหนึ่ง ทีนี้ไปรู้ว่าเรารู้ เราเห็นเหมือนกับตาเห็นรูปว่าเราเห็น และฟังเสียงนี่ก็เป็นเราได้ยินอีก ตัวสอพลอที่เข้าไปยึดถือเสียหมดอย่างนี้แล้ว มันก็ไม่รู้ความจริงว่า ลักษณะของรูปธาตุนามธาตุที่มันสัมผัสกันล้วนๆ นั้นมันอย่างไร มันยังไม่มีทุกข์มีโทษมีกิเลส แต่ว่าตัวตนนี่มันเข้าไปยึดถือ มันว่ามันเห็น มันว่ามันได้ยิน มันได้กลิ่น มันเอาตัวเข้าไปรู้เข้าไปยึดถือเสียแล้ว เพราะฉะนั้นทางสัมผัสมันถึงได้เกิดแต่ทุกข์เรื่อย ให้สังเกตดูซิว่า ดับทุกข์ทางผัสสะ นี่จะดับอย่างไร ถ้าว่าไม่ได้มองเห็นว่าผัสสะนี่เป็นความรู้สึกของสภาวะ คือว่า รูปธาตุ นามธาตุมันรู้สึกกันขึ้นมา เพราะตัวโง่มันเข้าไปยึดถือเข้าเอง ฉะนั้นจึงต้องดับตัวเอง ถ้าจะไปห้ามรูปนามไม่ให้รู้สึกกันไป ห้ามไม่ได้ แต่จะต้องห้ามตัวยึดถือนี่ต่างหาก เพราะตัวปฏิจจสมุปบาทมันตัวยึดถือที่เนื่องมาจากอวิชชาโดยจะต้องแยกเอาเอง ที่แยกเอาตามหลักเกณฑ์ นั้นมันเรื่องหนึ่งเอาไว้ให้นักปราชญ์ท่านแยกกันดีกว่า เพราะเราไม่ใช่นักปราชญ์ แต่ว่ามาแยกเอาเองอย่างนี้ โดยแยกจิตให้รู้อยู่ว่า เหตุใดจึงได้ไปยึดถือขึ้นมา เช่น ตาสัมผัสรูป หูสัมผัสเสียง มันก็เป็นเรื่องของนามรูปกระทบกันเท่านั้นเอง แล้วทำไมไปยึดถือขึ้นมาเป็นดีเป็นชั่วเป็นตัวเป็นตน มันเป็นเรื่องของสภาวะ เพราะสมุทัยคือตัณหา มันจึงต้องดับให้ได้ ให้ว่างจากตัวตนให้ได้ ไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่เป็นของของเรา ไม่ใช่เป็นเรารู้เราเห็น เพราะเหตุว่าเรื่องการสัมผัสไม่ค่อยจะพิจารณาแยกแยะกันดูนี่เอง มันจึงได้เป็นอย่างนั้น จะสังวรก็สังวรไม่จริง ประเดี๋ยวมันก็ไปอื่นอีกแล้ว ถ้าหากไม่ได้พิจารณามันจะไปควบคุมอยู่เฉยๆ ได้หรือ มันวางเฉยไม่ได้เพราะมันยังอมเชื้อโรคอยู่ ประเดี๋ยวก็อดไปหาเรื่องยึดถือขึ้นมาไม่ได้

            เพราะฉะนั้นต้องพิจารณาเพ่งมองให้รู้ว่า อ้อ! นี่เองที่เป็นตัวการสำคัญที่มันไปยึดถือขึ้นมา มันจะต้องค้นคว้าอยู่ด้านใน ไม่ใช่ไปค้นเอาในหนังสือ ส่วนหนังสือนั่นเป็นหลักข้างนอก เป็นเพียงแผนที่ชี้แนวทางเท่านั้น และว่างๆ เฉยๆ นี่ก็เหมือนกันนั่นมันง่ายดี บอกว่าไม่ต้องทำความเพียรอะไรให้มันว่างก็แล้วกัน บางคนก็เลยชอบอกชอบใจนึกว่าง่ายดี เพราะว่าอยากจะได้ง่ายๆ จึงเอาแต่ง่ายๆ พอบอกว่าง่ายๆ ก็เลยชอบใจ จึงหลงใหญ่ หลงง่ายนั่นเอง ถ้าจะควบคุมและพิจารณา ก็จะได้ความรู้ลึกซึ้งในขณะที่มันว่างๆ ที่ยังไม่มีเรื่องอะไรมาพัวพันมาก จิตก็มีอำนาจรู้รายละเอียดได้ดี เพราะว่าจิตไม่ฟุ้งซ่านแล้ว ทีนี้เมื่อไปเพลินอยู่กับความว่างมันว่าดีแล้ว เท่านี้ก็พ้นทุกข์ได้แล้ว ไม่ต้องไปสนใจอะไรอีก แล้วก็มาติดอยู่กับความว่างนั่นเอง ถ้าเป็นการว่างชั่วคราวก็ไม่หมดอาสวะ
เพราะฉะนั้นสมาธิหรือสมาบัติ เรียกว่าเจโตวิมุติ ยังไม่สิ้นอาสวะเพราะเหตุนี้ที่มันพาเพลินอยู่ อย่างนี้จึงต้องพิจารณาให้รู้อยู่เสมอ และคอยมีสติประคับประคองอย่าให้เผลอเพลินไป เป็นการดำรงสติให้มั่นคงไว้ ย่อมทำลายนิวรณ์ให้อ่อนกำลังไปจิตจะเป็นอิสระได้ไม่เผลอเพลินไปกับอารมณ์ และต้องพิจารณารอบรู้อยู่เสมอ ทุกขณะทีเดียว.

 

 


ปรารภธรรม ชุดที่ ๒
๑.
คำปรารภพระธรรม
๘.
จงเอาชนะความอยาก
๒.
วันครบรอบ ๗๑ ปี (เป็นวันเกิด)
๙.
ไม้สดที่ชุ่มอยู่ด้วยยางคืออะไร ?
๓.
วันวิสาขบูชา
๑๐.
หยุดดูให้รู้จริง
๔.
วันออกพรรษา
๑๑.
พิจารณาเวทนาให้รู้จริง
๕.
การกำหนดรู้เวทนา
๑๒.
ที่เที่ยวของสติ
๖.
ให้รู้จักเหตุเกิดทุกข์
๑๓.
อย่าหลงของเปล่า
๗.
การปล่อยวางตัวตน
๑๔.
ปิดประตูดูข้างใน
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน