กระต่ายตื่นตูม
เป็นนิทานที่รู้จักกันดีอยู่แล้วว่าหมายถึง ความหุนหันพลันแล่น
ขาดความยั้งคิด ขาดการพิจารณา ไม่มีการใครครวญเสียก่อน
แล้วรีบทำอะไรลงไปตามที่ได้ยินได้ฟังข่าวมา
มีพ่อแม่เป็นอันมากที่มักจะลงโทษลูกโดยลูกไม่มีความผิด
แล้วก็ไปเสียใจในภายหลัง เหตุเพราะไปฟังความข้างเดียว
แล้วก็รีบลงโทษลูกในทันที แม้ว่าลูกจะชี้แจงก็ไม่ยอมฟังหาว่าเป็นการแก้ตัวเพื่อให้พ้นผิด
แล้วที่ถูกควรจะทำอย่างไร ?
เมื่อมีคนมากล่าวโทษลูกของเรา
ที่เราไม่เห็นเอง ก็ควรจะเชื่อไว้เพียง 50-50 ก่อน อย่าเชื่อให้ถึง
100% แม้ว่าจะมีเหตุผลน่าเชื่อก็ตามที เพราะเหตุผลนั้นมันอาจจะสร้างขึ้นได้ทั้งเท็จและจริง
การที่พ่อแม่ลงโทษลูกโดยลูกไม่มีความผิดนั้น นอกจากจะทำให้ลูกขาดความเชื่อถือไม่เคารพพ่อแม่
และลูกต้องเจ็บตัวเปล่าแล้ว ยังก่อเวรกรรมแก่พ่อแม่อีกด้วย
การที่พ่อแม่จะลงโทษลูก
เมื่อลูกทำผิดนั้นเป็นการสมควร แต่ก็ควรจะระวังอย่าไปทำให้มันเกินกว่าเหตุ
และควรมีขั้นตอน ดังนี้
1.
พ่อแม่ควรสงบสติอารมณ์ให้ปกติหรือเป็นกลางก่อน แล้วซักถามข้อความผิดถูกจากทั้งสองฝ่ายให้ชัดเจน
แม้ลูกจะยอมรับผิด ก็ยังไม่ควรจะทำโทษควรหาหลักฐานพยานยืนยันให้มั่นเหมาะเสียก่อน
2.
แม้ว่าลูกรับผิดแล้ว ก็ไม่ควรจะลงโทษในทันที ถ้าเป็นความผิดครั้งแรก
ก็ควรให้อภัยกันก่อนเพราะการทำผิดไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร
ถ้าไม่ทำผิดซ้ำๆ อีกก็ไม่ควรจะลงโทษ เดี๋ยวลูกมันจะด้านไม้เรียวเสีย
ถ้าไปตีกันพร่ำเพรื่อ
3.
การตีลูกควรตีแต่พอประมาณ อย่าให้ถึงกับแตก เอาแค่เป็นแนวก็พอ
และไม่ควรจะตีมากจนเกินเหตุไป ตีแค่ 1 ถึง 3 ทีก็น่าจะพอแล้ว
และถ้าทำผิดซ้ำอีกก็ควรจะต้องเพิ่มโทษขึ้นอีกได้ การตีลูกน่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย
ในขั้นแรกควรมีการทำโทษด้วยการให้ ทำงานต่างๆ เช่น ทำความสะอาดบ้าน
ล้างรถ ตัดหญ้า ขัดส้วม ห้ามดูทีวี ห้ามเที่ยว งดของรางวัล
เป็นต้น การทำโทษด้วยเหตุผลตามเป็นจริงที่ลูกได้ทำไว้
แม้เราจะทำรุนแรงไปบ้าง ลูกก็จะไม่โกรธเพราะถือว่าเขาทำผิดเอง
และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็จะนึกขอบคุณที่พ่อแม่ช่วยลงโทษเขาไว้
มิฉะนั้นเขาอาจจะเสียคนหรือจะทำผิดมากไปกว่านั้นก็ได้
เมื่อตอนเริ่มแตกเนื้อหนุ่ม
ผู้เขียนเคยริสูบยาโดยเอาใบจากเปล่าๆ มามวนสูบ ไม่ใส่ยาเส้นเพราะมันเหม็น
พอสูบครั้งแรกก็ถูกลูกผู้พี่ด่าเอาเลยเลิกสูบมาจนบัดนี้
ถ้าไม่ถูกลูกผู้พี่ด่า ป่านนี้ผู้เขียนคงเป็นโรคมะเร็งปอดตายไปเสียนานแล้วยังนึกขอบคุณเขามาจนบัดนี้
การสอนการลงโทษลูกเป็นสิ่งที่ควรทำแม้ว่าลูกจะไม่พอใจ
แต่ข้อสำคัญอย่าทำให้เกินเหตุผล และควรให้ลูกยอมรับผิดก่อน
ผู้เขียนเคยพบพ่อแม่ที่อ่อนการศึกษาหลายคนพอมีคนมาฟ้องว่าลูกทำผิด
พ่อหรือแม่ ก็จะจับข้อมือลูกฉวยได้ไม้อะไร ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก
ก็ฟาดเอาๆ ไม่เลือกที่ ไม่ ว่าจะเป็นตามตัวหรือหัว ยิ่งลูกแหกปากร้อง
เพราะความเจ็บปวด พ่อแม่ก็จะยิ่งหวดให้หนักขึ้น เขาตีเพื่อประชดคนฟ้อง
หรือสนองอารมณ์ตนเอง เห็นแล้วก็ต้องปลงอนิจจัง
บางคนปากก็ร้องไปด้วยว่า
กูบอกแล้วว่าอย่าไปเล่นกับลูกเขา มึงจำได้ไหมๆ ? แท้ที่จริงอาจจะไม่เคยบอกมาก่อนเลยก็ได้
หรือลูกลืมไปก็ได้ พ่อหรือแม่อาจจะกลายเป็นคนขี้ปดไป
เพราะใช้แต่อารมณ์ของตัว การตีลูกอย่างนี้ลูกก็เจ็บสองต่อ
คือ เจ็บกายที่พ่อแม่ทำเกินกว่าเหตุ และตีในที่ไม่ควรจะตี
กับเจ็บใจที่พ่อแม่ไม่ให้ความยุติธรรม บางทีลูกก็ไม่มีความผิดเลยด้วยซ้ำไป
การทำอะไรผิดๆ
นั้น สู้ไม่ทำเสียเลยยังจะดีกว่า เพราะเมื่อทำไปแล้วมันไปแก้ภายหลังไม่ได้
อย่างการตีลูกที่ไม่มีความผิดนี้ มันตีคืนได้เสียเมื่อไหร่เล่า
! ฉะนั้น ก่อนที่พ่อแม่จะทำโทษหรือตีลูก ควรพิจารณาโทษให้ยุติธรรมก่อน
แล้วจึงลงโทษไปตามสมควร อย่าลงให้มากหรือน้อยเกินไป
ลูกก็จะไม่เจ็บสองต่อ และเมื่อเขาโตขึ้น เขาก็ย่อมจะสำนึกในพระคุณที่พ่อแม่ได้ลงโทษเขาอีกด้วย
การที่พ่อแม่ขัดใจหรือลงโทษเมื่อลูกทำผิดในวันนี้
ลูกย่อมจะชื่นชมยินดีและขอบคุณพ่อแม่ในวันหน้า