เลี้ยงลูกถูกธรรม
ถือเอาใจความง่ายๆ ก็คือ เลี้ยงลูกอย่างถูกต้องนั่นเอง
เมื่อเราเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งตัวเราและลูกก็จะไม่มีปัญหา
หรือเมื่อเกิดมีปัญหาขึ้นมาไม่ว่ากรณีใดๆ เราก็สามารถจะเอาธรรมะเข้าไปแก้ไขได้
จะแก้ได้ทุกเรื่อง
หรือ ทุกคนไปหรือ ?
แน่นอน, แก้ได้ทุกเรื่องและทุกคน แต่ผลลัพธ์จะลงเอยด้วยอาการอย่างไร
? นั่นก็ย่อมจะต้องขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยหลายตัว
กล่าวคือ มันจะออกหัว หรือออกก้อย ก็ต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
กล่าวอย่างรวบรัด ก็คือ การเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องในที่นี้
หมายถึง พ่อแม่ให้การเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธี ถูกหลักการ
ถูกประเพณี ถูกธรรมเนียม รวมๆ ว่า ถูกต้อง หรือเลี้ยงลูกถูกต้องนั่นเอง
ว่าโดยหลักใหญ่ๆ
แล้ว การเลี้ยงลูกมีอยู่ 2 วิธีเท่านั้น คือ
-
เลี้ยงลูกถูกใจ
-
เลี้ยงลูกถูกต้อง (ถูกธรรม)
เลี้ยงลูกถูกใจ
คือ การเอาใจพ่อแม่เป็นเกณฑ์ พ่อแม่มีความรู้
ความคิด ความเห็นอย่างไร ก็จะปั้นลูกของตนให้เป็นไปอย่างนั้น
การเลี้ยงลูกถูกใจ มันออกจะเสี่ยงมากเกินไป กล่าวคือ
ถ้าพ่อและแม่เป็นสัมมาทิฐิบุคคลด้วยกันทั้งคู่มันก็จะไม่มีปัญหา
การเลี้ยงลูกต้องไปได้สวยแน่ แต่ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเกิดมีมิจฉาทิฐิ
หรือเกิดมิจฉาทิฐิเสียทั้งสองคน ลูกก็คงจะบรรลัยแน่จอดไม่ต้องแจว
แต่โดยทั่วไปแล้ว การเลี้ยงลูกถูกใจนี้จะมีส่วนเสียมากกว่าส่วนดี
และที่ลูกส่วนมากจะเสียก็จะมาเสียที่จุดนี้ และการแก้ไขก็ย่อมจะเป็นไปได้ยากหรือแก้ไม่ได้เลย
จุดเสียของการเลี้ยงลูกถูกใจ จะมีรายละเอียดอย่างไร
? ถ้าท่านอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว มันก็จะถึงบางอ้อเองแหละ
เลี้ยงลูกถูกต้อง (ถูกธรรม) คือ การเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์
การเลี้ยงลูกถูกต้อง หรือถูกธรรมนั้น หมายถึงว่า พ่อแม่ไม่เอาใจของตนเองเป็นบทตั้ง
แต่จะอาศัยความถูกต้องของเหตุและปัจจัยนั้นๆ เป็นหลักในการเลี้ยงลูก
การเลี้ยงลูกถูกธรรม
จึงเป็นการเลี้ยงลูกที่ยอดเยี่ยมที่สุด สามารถจะใช้ได้แก่ลูกทุกคน
และทุกกาลสมัย พร้อมทั้งผลลัพธ์ที่ออกมาก็ย่อมจะเป็นที่ยุติได้
กล่าวคือ จะมีความพอใจด้วยกันทุกฝ่าย นั่นก็คือ
พ่อแม่ก็จะไม่โยนปัญหาไปให้ลูกแต่ฝ่ายเดียว
และลูกก็จะไม่โยนปัญหาไปให้พ่อแม่แก้แต่ฝ่ายเดียวเช่นกัน
เพราะต่างก็เข้าใจหน้าที่อย่างถูกต้องของกันและกัน ไม่ว่าปัญหานั้นๆ
จะลงเอยด้วยบวกหรือลบ ทั้งพ่อแม่และลูกก็จะไม่ดีใจจนตกขอบ
และก็จะเสียใจจนเป็นโรคประสาท หรือต้องถึงกับฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน
ฉะนั้น
พ่อแม่ที่รักลูก และอยากจะเห็นลูกความเจริญทั้งอายุร่างกาย
อายุสมอง และอายุวิญญาณ (คุณธรรม) ก็ควรที่จะให้ความสนใจในการเลี้ยงลูกโดยถูกธรรมเถิด
ผู้มีปัญญาย่อมมีความกตัญญู
ตถาหิ ธีรา สุกตญฺญุรูปา
ชุณหชาดก 27/294