เมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว
พระมหากัสสปได้ให้ประชุมสงฆ์ปรารถเพื่อทำสังคายนาพระธรรมวินัย
นัดหมายให้ทรงจำกันไว้ว่า ธรรมอันใด วินัยอันใดพระผู้มีพระภาคทรงสั่งและทรงสอนไว้ว่าอย่างไร
ทั้งนี้โดยคำนึงถึงคำกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และพระศาสดาของภิกษุชรานามว่า
สุภัททะท่านกล่าวท่ามกลางมหาสมาคมว่า
"ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย!
สมัยเมื่อข้าพเจ้าเดินทางจากกรุงปาวามาสู่กุสินารานครนี้
มีภิกษุเป็นอันมากเป็นบริวาร ขณะมาถึงกึ่งทาง ข้าพเจ้าได้สดับข่าวปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค
ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นปุถุชนยังมีอาสวะอยู่ ไม่อาจจะอดกลั้นความโศกไว้ได้
ต่างก็ปรินิพพานเทวนาการคร่ำครวญถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
ส่วนภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้วก็ปลงธรรมสังเวชแบบอริยชน
แต่มีภิกษุนอกคอกรูปหนึ่ง บวชแล้วเมื่อชรา นามว่าสุภัททะได้กล่าวขึ้นว่า
ท่านทั้งหลายอย่าเสียใจ อย่าเศร้าโศกเลย พระสมณโคดมนิพพานเสียก็ดีแล้ว
พวกเราจะได้เป็นอริยะ พระสมณโคดมยังอยู่คอยจู้จี้ว่าสิ่งนี้ควรทำ
สิ่งนี้ไม่ควรทำ ข่มขู่ ขนาบพวกเราทั้งหลายด้วยระเบียบวินัยมากหลายเหมือนจะเหยียดมือเหยียดเท้าไม่ออก
บัดนี้พระสมณโคดมนิพพานแล้ว เป็นลาภของพวกเราทั้งหลาย
ต่อไปนี้พวกเราต้องการทำอะไรก็จะได้ทำ ไม่ต้องการทำอะไรก็ไม่ต้องทำ
"ดูก่อนผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร!"
พระมหากัสสปกล่าวต่อไป "ความจริงสุภัททะผู้ชราไม่พอใจพระศาสดาเป็นส่วนตัว
เพราะเธอไม่เข้าใจในพระผู้มีพระภาคเจ้า เรื่องมีว่า
"ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
สมัยเมื่อพระพุทธองค์เที่ยวจาริกโปรดเวเนยนิกรชน เสด็จจากเมืองกุสินารานี้ไปยังเมืองอาตุมา
สมัยนั้นสุภัททะภิกษุบวชแล้ว และลูกชายของเธอทั้งสองคนก็บวชเป็นสามเณร
เมื่อพระศาสดาเสด็จมาถึงเมืองอาตุมา สุภัททะภิกษุก็จัดการต้อนรับพระพุทธองค์เป็นการใหญ่
เที่ยวป่าวประกาศชาวเมืองให้เตรียมขัชชโภชนาหารถวายพระองค์
และให้สามเณรลูกชายทั้งสองออกเที่ยวเรี่ยไรชาวนคร นำเอาข้าวสารปลาแห้ง
และเครื่องบริโภคอื่นๆ อีกมาก ชาวบ้านผู้ศรัทธาในพระศาสดา
แม้จะไม่ศรัทธาในสุภัททะภิกษุก็ถวายมาเป็นจำนวนมาก สุภัททะรวบรวมของได้เป็นกองใหญ่แล้ว
จัดการทำเอง ปรุงอาหารเอง เตรียมการโกลาหล
รุ่งขึ้น
พระศาสดาเสด็จออกบิณฑบาตตามปรกติ มีภิกษุตามเสด็จพอประมาณ
สุภัททะได้ทราบข่าวนี้จึงออกจากโรงอาหาร ถือทัพพีด้วยมือข้างหนึ่ง
มีกายขะมุกขะมอมด้วยเขม่าไฟ รีบวิ่งออกไปตามพระศาสดาในละแวกบ้าน
เมื่ออยู่เฉพาะพระพักตร์ เขาคุกเข่าข้างหนึ่งลง และชันเข่าอีกข้างหนึ่งในท่ายองพรหม
ประนมมือทั้งๆ ที่มีทัพพีอยู่กราบทูลว่า
"พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ!
ขอพระองค์เสด็จกลับเถิด อย่าออกบิณฑบาตเลย ขัชชโภชนาหารข้าพระองค์ได้จัดเตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว
ข้าพระองค์อาศัยความเลื่อมใสในพระองค์เป็นที่ตั้ง จึงขวนขวายเพื่อพระองค์
แม้อาหารทุกอย่างข้าพระองค์ก็ปรุงเอง ทำด้วยมือของตนเอง
ขอพระองค์เสด็จไปสู่อารามเถิด อาหารพร้อมอยู่แล้ว"
พระจอมมุนีประทับอยู่ระหว่างทาง
ทรงมองดูสุภัททะด้วยสายพระเนตรที่แสดงอาการตำหนิ และทรงห้ามถึง
๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ จึงตรัสว่า
"อย่าเลย
สุภัททะ เธออย่ายินดีพอใจให้ตถาคตทำอย่างนั้นเลย การบิณฑบาตเป็นพุทธวงศ์
อาหารที่ได้มาจากการบิณฑบาตเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ยิ่ง
"ดูก่อนสุภัททะ!
อาหารที่ทวยนาครหุงเตรียมไว้เพื่อมุนีก็มีอยู่ เรือนละนิดเรือนละหน่อย
เมื่อกำลังแข้งของเรายังมีอยู่ เราจะเที่ยวไปแสวงหาอาหารด้วยปลีน่องนี้
"ดูก่อนสุภัททะ
อาหารที่เธอทำนั้นไม่สมควรที่สมณะจะพึงบริโภค เป็นอกับปิยโภชนะ
อนึ่งทางที่เธอได้อาหารมาก็ไม่สุจริต เธอไปขอของจากคฤหัสถ์ซึ่งมิใช่ญาติ
และมิใช่ปวารนา คือเขาไม่ได้บอกอนุญาตไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
สมณะไม่ควรทำอาหารบริโภคเอง ดูก่อนสุภัททะ แม้ไส้ของเราจะขาดสะบั้นลงเพราะความหิว
เราก็ไม่ยินดีบริโภคโภชนะของเธอ กรรมที่ไม่ถูกไม่ควรน่าตำหนิ
เธอได้ทำแล้ว อนึ่งเล่า ดูซิอาการของเธอนี้เหมาะสมกับความเป็นสมณะนักหรือ
วิ่งออกมาทั้งๆ ที่มือถือทัพพีอยู่ จีวรก็มิได้ห่มให้เป็นปริมณฑล
ช่างรุ่มร่ามเสียเหลือเกิน
"ดูก่อนสุภัททะ!
อย่านึกว่าเราไม่เข้าใจในเจตนาดีของเธอ เรารู้และเห็นเจตนาดีของเธอ
แต่เธอทำไม่ถูก เจตนาดีนั้นก็พลอยก่อให้เกิดผลร้ายไปด้วย
การเตรียมขัชชโภชนาหารไว้ต้อนรับนั้น เป็นเรื่องของคฤหัสถ์ที่เขาจะทำกัน
ถ้าเธอต้องการบูชาเราก็จงตั้งหน้าปฏิบัติตามธรรมวินัย
ทำตนเป็นคนว่าง่าย และเลี้ยงง่าย เรียกว่าปฏิบัติบูชาเถิด
"ดูก่อนสุภัททะ!
คนที่ปราศจากหิริโอตตัปปะ มีความกล้าประดุจกา มักจะมีชีวิตอยู่อย่างสะดวกสบายแต่ไร้ความสุขใจและภาคภูมิใจ
ส่วนผู้ที่มีหิริโอตตัปปะสงบเสงี่ยมแบบมุนี เข้าสู้สกุลมิให้กระทบกระทั่งศรัทธาและโภชนะของคฤหัสถ์
เหมือนแมลงผึ้งเข้าไปในป่าดูดเอาน้ำหวานในเกสรดอกไม้
แต่มิให้บุปผชาติชอกช้ำนั้นย่อมเป็นอยู่ยาก แต่มีความสุขใจและภาคภูมิใจ
"พระตถาคตเจ้า
ตรัสอย่างนั้นแล้วเสด็จเลยไป โดยมิได้สนพระทัยกับสุภัททะภิกษุอีกเลย
พระสุภัททะทั้งเจ็บและทั้งอาย แต่พูดอะไรไม่ออก จึงผูกเจ็บใจพระผู้มีพระภาคเจ้าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
"ดูก่อนผู้มีอายุ!
พระผู้มีพระภาคมีพระทัยเป็นธรรมาธิปไตย คือทรงถือความถูกความควรเป็นใหญ่อย่างแท้จริง
แม้ใครจะทำอะไรๆ เพื่อพระองค์ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
พระองค์ก็ไม่ทรงยินดีด้วย แต่การกระทำของภิกษุบางรูป
ซึ่งในสายตาของผู้อื่น ดูเหมือนจะเป็นการขาดความเคารพรักในพระศาสดา
ดูเหมือนจะไม่ห่วงใยพระองค์ แต่การกระทำอันนั้นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
พระองค์ก็ทรงอนุโมทนาสาธุการ อย่างเรื่องพระธัมมารามเป็นอุทาหรณ์
"ดูก่อนผู้มีอายุทั้งหลาย!
พระมหากัสสปกล่าวต่อไป "พระศาสดานิพพานเพียง ๗
วันเท่านั้น ยังมีโมฆะบุรุษกล้ากล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยและพระศาสดาถึงเพียงนี้
ต่อไปภายหน้า ภิกษุผู้ลามก มีจิตทราม คิดว่าศาสนาปราศจากศาสดาแล้ว
จึงพึงเหยียบย่ำพระธรรมวินัยสักปานใด เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจงประชุมกันเพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยตามที่พระศาสดาเคยทรงสอนและบัญญัติไว้"
ต่อจากนั้นก็มีการประชุมปรึกษากันว่าควรจะทำสังคายนาที่ใด
ในที่สุดตกลงกันว่า ควรจะทำที่กรุงราชคฤห์ เหลือเวลาอยู่อีกเดือนครึ่งจะเข้าพรรษา
ที่ประชุมตกลงกันว่า จะทำสังคายนาภายในพรรษาตลอดเวลา
๓ เดือน พระมหากัสสปพาภิกษุหมู่หนึ่ง มุ่งไปสู่กรุงราชคฤห์
พระอนุรุทธะ พาภิกษุอีกหมู่หนึ่งไปสู่กรุงราชคฤห์เช่นเดียวกัน
ส่วนพระอานนท์
พุทธอนุชา มีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเป็นบริวารเดินทางไปสู่นครสาวัตถี
ทุกหนทุกแห่งที่ท่านผ่านไปมีเสียงคร่ำครวญประดุจวันที่พระศาสดานิพพาน
ทุกคนมีใบหน้าชุ่มด้วยน้ำตากล่าวว่า "พระคุณเจ้าอานนท์ผู้เจริญ!
ท่านนำเอาพระศาสดาไปทิ้งเสีย ณ ที่ใดเล่า" คำพูดเพียงสั้นๆ
แต่กินความลึกซึ้งนี้ ทำให้จิตใจของพระพุทธอนุชาหวั่นไหวและตื้นตัน
ความเศร้าของท่านซึ่งสงบระงับลงบ้างแล้ว กลับฟื้นตัวขึ้นอีกเหมือนโรคอันสงบลงด้วยฤทธิ์ยา
และกลับกำเริบขึ้นเพราะของแสลง ถึงกระนั้นท่านก็พยายามให้ความโศกสลดสงบระงับลง
ด้วยการน้อมเอาโอวาทของพระศาสดาประคับประคองใจ และแล้วก็ปลอบโยนพุทธศาสนิกให้คลายโศกด้วยเทศนาอันกล่าวถึงไตรลักษณ์
คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา แล้วเดินทางมาโดยลำดับจนกระทั่งลุถึงสาวัตถีราชธานี
เข้าไปสู่เชตวนาราม มีพุทธบริษัทมาแวดล้อมแสดงอาการเศร้าโศกถึงพระศาสดาอีก
พระอานนท์
พุทธอนุชาเข้าไปสู่พระคันธกุฎีที่พระผู้มีพระภาคเคยประทับ
หมอบลงกราบที่พุทธอาสน์ เก็บกวาดเสนาสนะให้เรียบร้อย
ตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้เหมือนอย่างที่เคยทำเมื่อพระศาสดาประทับอยู่
ประชาชนชาวสาวัตถีได้เห็นอาการดังนี้แล้วหวนคิดถึงความหลัง
ครั้งเมื่อพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ สุดที่จะหักห้ามความตื้นตันและเศร้าหมองได้
จึงหลั่งน้ำตาอีกครั้งหนึ่ง ประหนึ่งว่าน้ำตาข้างหนึ่งหลั่งไหลเพราะสงสารพระพุทธอนุชา
และอีกข้างหนึ่งเพราะคำนึงถึงด้วยความรักอาลัยรักในพระผู้มีพระภาค
ความอาลัยรัก และความสงสารเมื่อรวมกัน ลองคิดดูเถิดว่าสภาพจิตใจของผู้นั้นจะเป็นประการใด
เนื่องจากเหน็ดเหนื่อย
ทรมานกายมานานตั้งแต่พระผู้มีพระภาคทรงพระประชวร จนถึงพระองค์ปรินิพพาน
และงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ล้วนแต่เป็นงานหนักทั้งสิ้น
พระพุทธอนุชามีสิ่งหมักหมมในร่างกายมาก จึงต้องฉันยาระบาย
เมื่อมาถึงเชตวนารามนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อขับถ่ายสิ่งหมักหมมในร่างกายออก
เพื่อให้สรีระกระปรี้กระเปร่าขึ้น
วันรุ่งขึ้นจากวันที่ฉันยาระบายแล้ว
สุภมานพบุตรแห่งโตเทยยพราหมณ์ ส่งคนมาอาราธนาพระอานนท์เพื่อไปฉันที่บ้านของตน
พระอานนท์ขอเลื่อนเวลาไปอีกวันหนึ่ง โดยแจ้งให้ทราบว่าเพิ่งฉันยาระบายใหม่ๆ
ไม่อาจเข้าสู่ละแวกบ้านได้ อีกวันหนึ่งจึงเข้าไปสู่นิเวศน์ของสุภมานพโตเทยยบุตรพร้อมด้วยพระเจตกะ
สุภมานพถามว่าพระผู้มีพระภาคเมื่อยังทรงพระชนม์อยู่นั้น
ทรงสอนเรื่องอะไรอยู่เป็นเนืองนิตย์ พระพุทธอนุชาวิสัชชนาว่า
พระองค์ทรงย้ำหนักเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา จุดมุ่งหมายแห่งพรหมจรรย์นี้อยู่ที่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งมวล
ส่วนศีล สมาธิ และปัญญานั้น เป็นเพียงมรรคหรือทางสำหรับเดิน
สุภมานพมีความเลื่อมใสในธรรมเทศนาของพระอานนท์
จวนจะเข้าพรรษา
พระอานนท์จึงจาริกสู่เบญจคิรีนครเพื่อประชุมทำสังคายนา
พระภิกษุที่ล่วงหน้าไปก่อนได้ขออุปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรูให้ซ่อมแซมที่พักสงฆ์ถึง
๑๘ แห่ง และตกลงใจจะทำประชุมสังคายนาที่หน้าถ้ำสัตตบรรณ
เชิงเวภารบรรพต พระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับเป็นศาสนูปถัมภกโดยตลอด
ทั้งเรื่องอาหารและที่พักที่ประชุม
พระเจ้าอชาตศัตรู
เวเทหิบุตร ทรงให้สร้างมณฑปงดงามอำไพพรรณ ประหนึ่งเนรมิตโดยหัตถ์แหงวิศวกรรมเทพบุตร
มีฝาเสาและบันไดจัดแจงเป็นอย่างดี อร่ามด้วยมาลากรรมและลดากรรมประเภทต่างๆ
งามชดช้อย พระราชมณเฑียรสถานหรือวิมานแห่งเทพผู้มีศักดิ์มิปานได้
เจิดจ้าสง่ารุ่งเรือง ประหนึ่งจะรวมเอาความงามในโลกนี้ทั้งมวลมาไว้ในที่แห่งเดียว
ทรงให้ตกแต่งมณฑปเพริศพรายดังวิมานพรหมมีเพดานทอง
ประดุจคาบพวงดอกไม้อันมีกลิ่นหอมประทินใจลงมา บุปผชาตินานาพันธุ์หลากสีต่างมาชุมนุมกัน
ณ ที่นั้น ภูมิสถานละลานแวววาวประดุจปูลาดด้วยแก้วมณีอันสุกใส
เสร็จแล้วทรงให้ปูเครื่องลาดอาสนะอันควรแก่สมณะมีค่าประมาณมิได้
๕๐๐ ที่ เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป ในมณฑปนั้น ทรงให้จัดอาสนะแห่งพระเถระชิดทางด้านทิศทักษิณผินพักตร์ไปทางทิศอุดร
ทรงให้จัดที่ประทับสำหรับพระผู้มีพระภาคศาสดา หันพระพักตร์ไปทางด้านบูรพา
ณ ท่ามกลางมณฑปนั้น เสร็จแล้วทรงประกาศแก่สงฆ์ว่า "พระคุณเจ้าทั้งหลาย!
กิจของข้าพเจ้าสำเร็จเรียบร้อยแล้ว เรื่องต่อไปแล้วแต่พระคุณเจ้าเถิด"
"เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวจะถึงวันประชุมสังคายนา
แต่พระพุทธอนุชายังมิได้สำเร็จอรหัตตผล คงเป็นเพียงโสดาบัน
ภิกษุบางรูปได้เตือนพระอานนท์ว่า ขอให้ท่านเร่งทำความเพียรพยายามเข้าเถิด
พรุ่งนี้แล้วจะเป็นวันมหาสันนิบาต มีระเบียบว่าผู้เข้าประชุมทั้งหมดจะต้องเป็นพระขีณาสพ
ตั้งแต่เดินทางมาถึงเบญจคีรีนคร
พระอานนท์ได้ทำความเพียรอย่างติดต่อเพื่อให้ได้บรรลุพระอรหัตต์
แต่หาสำเร็จตามประสงค์ไม่
ในคืนสุดท้ายนั่นเอง
ท่านได้เริ่มทำความเพียรตั้งแต่อาทิตย์อัสดง ตั้งใจอย่างมั่นคงว่าจะให้ถึงพระอรหัตต์ในคืนนั้น
ปฐมยามล่วงไปแล้วก็ยังไม่อาจทำอาสวะให้สิ้น ล่วงเข้าสู่มัชฌิมยาม
พระพุทธอนุชาทำความเพียรต่อไปท่านระลึกถึงพระดำรัสของพระศาสดาที่ประทานไว้ก่อนปรินิพพานว่า
"อานนท์! เธอเป็นผู้มีบุญที่ได้บำเพ็ญสั่งสมมาแล้วมาก
เธอจะได้บรรลุอรหัตตผลในไม่ช้าหลังจากเราปรินิพพานแล้ว"
พระพุทธดำรัสนี้ก่อให้เกิดความมั่นใจแก่พระอานนท์เป็นอันมาก
และความมั่นใจอันนี้อีกเหมือนกัน กระตุ้นจิตเร้าใจให้ท่านทำความเพียรอย่างไม่หยุดยั้งจวนจะถึงกึ่งมัชฌิมยามนั่นเอง
ท่านคิดว่าจะพักผ่อนเสียหน่อยหนึ่งแล้วจะทำความเพียรต่อไปตลอดราตรี
ท่านจึงลงจากที่จงกรมล้างเท้าให้สะอาดแล้วทอดกายลง ขณะล้มตัวลงศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน
และยกเท้าขึ้นจากพื้นนั่นเอง จิตของท่านก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล
สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้น พร้อมปฏิสัมภิทาและอภิญญาสมาบัติ
พระพุทธอนุชาประสบปีติปราโมชอย่างใหญ่หลวง
ความรู้สึกปรากฏแก่ใจว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำในทำนองเดียวกันนี้ไม่มีอีกแล้ว
บัดนี้ภพใหม่ไม่มีอีกต่อไป ภพทั้งสามคือ กามภพ รูปภพ
และอรูปภพ ปรากฏแก่ท่านผู้บรรลุแล้วซึ่งอริยภูมิ ประหนึ่งมีเพลิงโหมอยู่ทั่ว
ได้ย้ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว ได้นำความกระหายทั้งมวลออกไปแล้ว
ได้ถอนอาลัยในกามคุณอันเป็นที่อาลัยยินดีอย่างยิ่งของมวลสัตว์ได้แล้ว
ตัดวัฏฏะอันทำให้หมุนเวียนมาเป็นเวลานานได้แล้ว ตัณหาความดิ้นรนร่านใจให้หมดสิ้นไปแล้ว
คลายความกำหนัดได้แล้ว ดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ถึงแล้วซึ่งความเยือกเย็นอย่างยิ่ง ดวงจิตที่เคยเร่าร้อนดิ้นรน
บัดนี้ได้อาบแล้วซึ่งธัมโมทกอย่างเต็มที่ ประหนึ่งหิมะละลายลงสู่ศิลาแท่งทึบ
ซึ่งเคยถูกแดดเผามาเป็นเวลานาน อา! ภาวะแห่งผู้ปลดเปลื้องตนจากกิเลสเสียได้เป็นอย่างนี้เอง
ช่างประสบกับภาวะสงบเย็นอย่างเต็มที่เสียนี่กระไร! สงบเหมือนน้ำในแอ่งน้อยซึ่งอยู่ในป่าลึก
สดใสเหมือนหยาดน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ อบอุ่นประดุจแสงแดดเมื่อยามเช้า
อะไรเล่าจะน่าปรารถนาของชีวิตยิ่งไปกว่านี้ นี่เองที่พระศาสดาตรัสอยู่ตลอดว่า
"พระนิพพานซึ่งสงบเย็นอย่างยิ่ง" การสำรอกตัณหา
โดยไม่เหลือเชื้อ การสละและการบอกคืนตัณหา การพ้นไปอย่างปราศจากตัณหาในตัณหา
เป็นความสุขชื่นบานเกิดเปรียบ
บุคคลผู้ใดบรรลุแล้วซึ่งธรรมอันสุดประเสริฐ
คือพระนิพพานนี้ย่อม
--
เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่งต่อความเย็น ร้อน หิวกระหาย
และสัมผัสร้ายอันเกิดจากเหลือบยุง ลมแดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย
--
เป็นผู้มีความอดทนอย่างยิ่ง อดกลั้นได้อย่างสงบต่อถ้อยคำล่วงเกิน
ถ้อยคำเสียดสี คำด่าว่าของผู้อื่น
--
เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากอาพาธประเภทต่างๆ
อันเกิดขึ้นอย่างกล้าแข็ง ทำให้หมดความรำคาญ ยากที่บุคคลทั่วไปจะทนได้
--
เป็นผู้อดทนอย่างยิ่งต่ออารมณ์อันมายั่วยวน
--
เป็นผู้กำจัดราคะ โทสะ และโมหะได้แล้วอย่างเด็ดขาด มีกิเลสอันย้อมใจดุจน้ำฝาดอันตนสำรอกออกได้แล้ว
เป็นผู้ควรรับของขวัญ ควรได้รับการต้อนรับ ควรแก่ของที่ทายกผู้มีศรัทธาจะทำบุญ
ควรเคารพกราบไหว้เป็นเนื้อนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
จุดมุ่งหมายอันใดเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดสำหรับผู้บวช
บัดนี้พระพุทธอนุชาได้บรรลุแล้วซึ่งจุดหมายอันนั้น คืนนั้นท่านเสวยวิมุตติสุขอยู่ตลอดราตรี
ในที่สุด
วันมหาสังคายนาก็มาถึง เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาภิกษุล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
ประกอบด้วยอภิญญาและสมาบัติ ๕๐๐ รูปประชุมเป็นมหาสันนิบาต
ณ หน้าถ้ำสัตตบรรณ เชิงภูเขาเวภาระ ธงแผ่นผ้าสีกาสากะ
คือเหลืองหม่น สะบัดพริ้วตามแรงลมดูงามรุ่งเรือง
เสียงเภรีสลับเสียงระฆังดังขึ้นเป็นสัญญาณว่าสงฆ์ทั้งมวลพร้อมแล้ว
ก่อนจะเริ่มมหาสังคายนา พระมหากัสสปประธานสงฆ์ได้ตั้งปัญหาถามพระอานนท์พุทธอนุชาในนามของสงฆ์ว่า
"อานนท์!
เมื่อสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เธอเคยเย็บหรือปะหรือชุนผ้าสำหรับพระพุทธองค์ทรงใช้สรงมิใช่หรือ?"
"ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ
ข้าพเจ้าเคยทำอย่างนั้น" พระอานนท์รับ
"ในขณะที่เย็บหรือปะหรือชุนผ้าสำหรับพระพุทธองค์ทรงใช้สรงมิใช่หรือ?"
"สงฆ์ผู้เจริญ
ข้าพเจ้าทำอย่างนั้น"
"ดูกรอาวุโส
อานนท์" พระมหากัสสปกล่าว "ในนามของสงฆ์ สงฆ์เห็นว่าเธอจะทำไม่สมควร
เธอไม่ควรใช้เท้าหนีบผ้าของพระตถาคต ข้อนี้เป็นอาบัติทุกกฎ
แต่เธอทำ เธอจงแสดงอาบัติเสีย"
พระอานนท์
พุทธอนุชา ลุกขึ้นนั่งคุกเข่าประณมมือแล้วกล่าวว่า "ข้าแต่สงฆ์ผู้เจริญ!
ข้าพเจ้าทำอย่างนั้นด้วยความจำเป็น การใช้เท้าหนีบผ้าแห่งพระตถาคตแล้วเย็บนั้น
จะเป็นเพราะไม่เคารพก็หามิได้ แต่เมื่อไม่ทำอย่างนั้นจะเย็บได้อย่างไร
ในเมื่อข้าพเจ้าทำเพียงผู้เดียวเท่านั้น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้
แต่เอาเถิด ท่านทั้งหลาย! ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงในสงฆ์
เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิด ข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติทุกกฎในเพราะเรื่องนี้"
"อานนท์!
ยังมีอีกหลายข้อ" พระมหากัสสปกล่าว "ข้อหนึ่งคือ
เมื่อพระตถาคตเจ้าทรงแสดงนิมิตโอภาส คือให้นัยแก่เธอถึง
๑๖ ครั้ง เพื่อให้ทูลให้พระองค์พระชนม์อยู่ต่อไป แต่เธอมิได้ทูลไว้
สงฆ์เห็นว่าเธอกระทำไม่สมควร เป็นความผิดของเธอ เธอต้องแสดงอาบัติในเรื่องนี้"
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย!"
พระอานนท์กล่าว "เหตุที่ข้าพเจ้ามิได้ทูลอาราธนาพระศาสดาให้ทรงพระชนม์ต่อไปนั้น
เป็นเพราะเวลานั้นข้าพเจ้ากำลังระทมทุกข์ และกังวลถึงเรื่องอาพาธของพระศาสดา
มิได้เฉลียวใจในเรื่องนั้น ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้
แต่เพราะความยำเกรงและเคารพในมติของสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิด
ข้าพเจ้าก็ยอม และขอแสดงอาบัติทุกกฎในเรื่องนี้"
"อานนท์!"
พระมหากัสสปกล่าว "ยังมีอีก คือเธอเป็นผู้ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระศาสนา
เธอพยายามอ้อนวอน ข่มขี่พระศาสดา ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงห้ามตั้งหลายครั้งว่าอย่าพอใจขวนขวายให้ภิกษุณีเข้ามาบวชในธรรมวินัยนี้เลย
เธอก็ไม่ยอมฟัง พยายามขวนขวายให้ภิกษุณีเข้ามาบวชจนได้
ก่อความยุ่งยากในภายหลังมิใช่น้อย ข้อนี้เป็นความผิดของเธอ"
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย!
ข้อนี้เป็นเพราะข้าพเจ้าใจอ่อนทนดูสภาพของพระมหาปชาบดีโคตมีพระน้านางแห่งพระทศพลเจ้ามิได้
พระนางได้ปลงพระเกศามาแล้ว มีร่างกายขะมุกขะมอมบอบช้ำ
ทรงพิลาปรำพันอย่างเหลือล้น ปรารถนาจะบวชด้วยศรัทธาอันแรงกล้าและเห็นว่าพระนางทรงมีอุปการะต่อพระศาสดามาล้น
ข้าพเจ้าจึงขวนขวายให้พระนางได้บวช และเมื่อพระนางเป็นภิกษุณีแล้ว
ก็สามารถขจัดกิเลสบรรลุพระอรหันต์ได้ ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้
แต่เพราะความยำเกรงเคารพในมติสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด
ข้าพเจ้าก็ยอมและขอแสดงอาบัติทุกกฎในเรื่องนี้"
"อานนท์!
ยังมีอีก" ประธานสงฆ์กล่าว "คือเมื่อพระศาสดาบรรทม
ณ เตียงเป็นที่ปรินิพพาน พระองค์ทรงเปิดโอกาส ทรงอนุญาตไว้ว่า
เมื่อพระองค์นิพพานแล้ว สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เมื่อสงฆ์พร้อมใจกันจะถอนเสียบ้างก็ได้
เธอได้ทูลถามหรือไม่ว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นพระองค์ทรงหมายถึงสิกขาบทอะไร?"
"ข้าพเจ้ามิได้ทูลถามเลย
ท่านผู้เจริญ" พระอานนท์ตอบ
"นี่ก็เป็นความผิดของเธอ"
ประธานสงฆ์กล่าว
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย!
ที่ข้าพเจ้ามิได้ทูลถามถึงสิกขาบทเล็กน้อยนั้น เป็นเพราะข้าพเจ้ากลุ้มใจ
กังวลใจในเรื่องพระศาสดาจะนิพพานจนไม่มีเวลาคิดถึงเรื่องอื่น
ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้ แต่เพราะความยำเกรงเคารพในมติของสงฆ์
เมื่อสงฆ์เห็นว่าข้าพเจ้าผิดข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติ"
"อานนท์!
ยังมีอีก" ประธานสงฆ์กล่าว "คือในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
เธอจัดให้สตรีเข้าไปถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน สตรีเหล่านั้นร้องไห้น้ำตาเปื้อนพระพุทธสรีระ
ข้อนี้ก็เป็นความผิดของเธอ"
"ท่านผู้เจริญทั้งหลาย!
การที่ข้าพเจ้าจัดให้สตรีเข้าถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อนนั้น
เป็นเพราะคิดว่าธรรมดาสตรีไม่ควรอยู่นอกบ้านจนมืดค่ำ
ข้าพเจ้าจัดให้ถวายบังคมพระพุทธสรีระก่อน เพื่อเธอจะได้กลับบ้านก่อนตะวันตกดิน
และได้ไปหุงหาอาหารเพื่อสามี หรือมารดาบิดา ข้าพเจ้ามองไม่เห็นความผิดของตนในข้อนี้
แต่เพราะความยำเกรงในสงฆ์ เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิดข้าพเจ้าก็ขอแสดงอาบัติ"
ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาของคนโปรดปรานของผู้ยิ่งใหญ่
เมื่อผู้ยิ่งใหญ่สิ้นชีพหรือล้มลง เพื่อนก็จะเริ่มรังแก
ทั้งนี้เพราะตลอดเวลาที่ผู้ใหญ่ยังคงยิ่งใหญ่อยู่ จะไม่มีใครกล้าแตะต้องคนโปรดของท่าน
พระอานนท์เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระศาสดา เมื่อพระองค์นิพพานไปแล้ว
ดูๆ เหมือนว่าท่านจะถูกสงฆ์รังแกให้รับผิดในท่ามกลางมหาสันนิบาต
แม้ในสิ่งที่ท่านไม่ผิด ถ้ากฎที่กล่าวข้างต้นเป็นความจริง
และกฎทุกอย่างมีข้อยกเว้น เรื่องพระอานนท์ควรเป็นข้อยกเว้นในกฎนี้
ที่ว่าดูๆ เหมือนท่านจะถูกรังแกนั้น ความจริงมิได้เป็นอย่างนั้นเลย
เรื่องที่สงฆ์ลงโทษพระอานนท์ และพระมหากัสสปให้พระอานนท์ยอมรับผิดนั้น
อย่างน้อยมีผลดีถึง ๒ ประการคือ
๑
เป็นกุสโลบายของพระมหากัสสป พระเถระผู้เฒ่าที่ต้องการจะวางระเบียบวิธีปกครองคณะสงฆ์
ให้ที่ประชุมเห็นว่าอำนาจของสงฆ์นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด
คำพิพากษาวินิจฉัยของคณะสงฆ์เป็นคำเด็ดขาด แม้จะเป็นว่าตนไม่ผิด
แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด ผู้นั้นก็ต้องยอม เป็นตัวอย่างที่ภิกษุสงฆ์รุ่นหลังจะดำเนินตาม
๒
เรื่องนี้ได้ส่งเสริมเกียรติคุณของพระพุทธอนุชาให้ก้องยิ่งขึ้น
เป็นตัวอย่างในทางเป็นผู้ว่าง่าย เคารพยำเกรงผู้ใหญ่
เป็นปฏิปทาที่ใครๆ พากันอ้างถึงด้วยความนิยมชมชอบในพระอานนท์
รวมความว่า
เรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระอานนท์ในคราวปฐมสังคายนานั้น
ทำให้เกียรติประวัติของท่านจับใจยิ่งขึ้น น่ารักเคารพยิ่งขึ้น
เสร็จแล้วการสังคายนาก็เริ่มขึ้น
โดยพระมหากัสสปเป็นผู้ซักถาม พระอุบาลีซึ่งได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นผู้เลิศทางพระวินัยได้วิสัชนาพระวินัย
พระอานนท์พุทธอนุชาวิสัชนาพระธรรม โดยตลอดสังคายนาครั้งนี้ทำอยู่
๓ เดือนจึงเสร็จเรียบร้อยด้วยประการฉะนี้.