เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ พระอานนท์พุทธอานุชา ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ
 
๒๒. ปัจฉิมทัสนา ณ เวสาลี

           พระอานนท์พุทธอนุชา ได้ติดตามพระศาสดาอยู่เป็นเวลานาน กระทำกิจทุกอย่างเพื่อพระพุทธองค์ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากลำบากใดๆ ท่านมีจิตใจอ่อนโยนบริสุทธิ์สะอาดในพระศาสดาประดุจมารดาผู้ประเสริฐพึ่งมีต่อบุตรสุดสวาท มีความเคารพยำเกรงในพระผู้มีพระภาค ประดุจบุตรผู้เลื่อมใสต่อบิดาและอยู่ในโอวาทของชนกผู้ให้กำเนิดตน ท่านปฏิบัติหน้าที่ของท่านอย่างซื่อสัตย์เที่ยงตรงเฉกดวงตะวันและจันทรา จะหาปฏิบัติใดเล่าเสมอเหมือนพระอนุชาผู้นี้

           จวบจนพระพรรษายุกาลแห่งพระบรมศาสดาเข้าปีที่ ๗๙ ตอนปลาย เหลืออีกน้อยที่พระผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกจะปรินิพพาน เปรียบปานดวงสุริยาซึ่งทอแสง ณ ขอบฟ้าทิศตะวันตกก่อนจะอำลาทิวากาล

           พระผู้พิชิตมารประทับ ณ คิชฌกูฏบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์ คราวนั้นพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหิบุตรกำลังเตรียมตัวจะรุกรานแคว้นวัชชี จึงส่งวัสสการพราหมณ์มหาอำมาตย์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อจะหยั่งดูว่าพระพุทธองค์จะตรัสอย่างไร พระเจ้าอชาตศัตรูทรงเชื่อมั่นอยู่ว่าพระวาจาแห่งพระตถาคตนั้นไม่เป็นสอง

           วัสสกการพราหมณ์รับพระบัญชาเหนือเกล้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลว่า "เวลานี้พระเจ้าอชาตศัตรูกำลังเตรียมทัพจะบุกวัชชี ซึ่งมีนครเวสาลีเป็นเมืองหลวง ได้ส่งข้าพระพุทธเจ้ามากราบทูลถามถึงผาสุวิหาร คือความทรงพระสำราญแห่งพระองค์ และขอถวายบังคมพระมงคลบาทด้วยเศียรเกล้า"

           สมัยนั้นพระอานนท์พุทธอนุชา ยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องหลัง พระพุทธองค์ไม่ตรัสกับวัสสการพราหมณ์ แต่กลับตรัสถามพระอานนท์ ถึงความเป็นไปแห่งนครเวสาลีว่า

           "อานนท์ ชาววัชชียังคงประพฤติวัชชีธรรม อปริหานิยธรรม คือธรรมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อม แต่เป็นไปเพื่อความเจริญโดยส่วนเดียวอยู่หรือ?"

           "ยังคงประพฤติอยู่พระเจ้าข้า" พระอานนท์ทูลตอบ

           "ดูก่อนอานนท์! ชาววัชชีประพฤติมั่นในธรรม ๗ ประการ คือ

           ๑. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์

           ๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็เลิกโดยพร้อมเพรียงกัน และพร้อมเพรียงกันทำกิจของชาววัชชีให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

           ๓. ชาววัชชีย่อมเคารพเชื่อฟังในบัญญัติเก่าของชาววัชชีที่ดีอยู่แล้ว ไม่เพิกถอนเสีย และไม่บัญญัติสิ่งซึ่งไม่ดีไม่งามขึ้นมาแทน

           ๔. ชาววัชชีเคารพสักการะนับถือยำเกรงผู้เฒ่าผู้แก่ผู้ผ่านโลกมานาน ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นหรือเหยียดหยาม

           ๕. ชาววัชชีประพฤติธรรมในสุภาพสตรี คือไม่ข่มเหงน้ำใจสุภาพสตรี

           ๖. ชาววัชชีรู้จักเคารพ สักการะบูชาปูชนียสถาน

           ๗. ชาววัชชีให้ความอารักขาคุ้มครองพระอรหันต์สมณพราหมณาจารย์ผู้ประพฤติธรรม ปรารถนาให้สมณพราหมณาจารย์ผู้มีศีลที่ยังไม่มาสู่แคว้น ขอให้มา และที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข

           ดูก่อนอานนท์! ตราบเท่าที่ชาววัชชียังประพฤติปฏิบัติวัชชีธรรมทั้ง ๗ ประการนี้อยู่ พวกเขาจะไม่ประสบความเสื่อมเลย มีแต่ความเจริญมั่นคงโดยส่วนเดียว"

           แล้วพระพุทธองค์ทรงผินพระพักตร์มาตรัสกับวัสสการพราหมณ์ว่า "พราหมณ์! ครั้งหนึ่งเราพักอยู่ที่สารันทเจดีย์ใกล้กรุงเวสาลี ได้แสดงธรรมทั้ง ๗ ประการแก่ชาววัชชี ตราบใดที่ชาววัชชียังประพฤติตามธรรมนี้อยู่ พวกเขาจะหาความเสื่อมมิได้

           "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค!" วัสสการพราหมณ์ทูล "ไม่ต้องพูดถึงว่า ชาววัชชีจะบริบูรณ์ด้วยธรรมทั้ง ๗ ประการเลย แม้มีเพียงประการเดียวเท่านั้น เขาก็จะหาความเสื่อมมิได้ จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว"

           เมื่อวัสสการพราหมณ์ทูลลาแล้ว พระศาสดารับสั่งให้พระอานนท์ประกาศให้ภิกษุทั้งหมด ซึ่งอาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์มาประชุมพร้อมกัน แล้วพระมหาสมณะทรงแสดงอปริหานิยธรรมโดยอเนกปริยาย เป็นต้นว่า

           "ภิกษุทั้งหลาย! ตราบใดที่พวกเธอยังหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ พร้อมเพรียงกันประชุม เคารพในสิกขาบทบัญญัติ ยำเกรงภิกษุผู้เป็นสังฆเถระสังฆบิดร ไม่ยอมตนให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งตัณหา พอใจในการอยู่อาศัยเสนาสนะป่า ปรารถนาให้เพื่อนพรหมจารีมาสู่สำนักและอยู่เป็นสุข ตราบนั้นพวกเธอจะไม่เสื่อมเลย มีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว

           "ภิกษุทั้งหลาย! ตราบใดที่เธอไม่หมกมุ่นกับงานมากเกินไป ไม่พอใจด้วยการคุยฟุ้งซ่าน ไม่ชอบใจไม่พอใจในการนอนมากเกินควร ไม่ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นผู้ปรารถนาลามก ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความปรารถนาชั่ว ไม่คบมิตรเลว ไม่หยุดความเพียร พยายามเพื่อบรรลุคุณธรรมสูงๆ ขึ้นไปแล้ว ตราบนั้นพวกเธอจะไม่มีความเสื่อมเลย จะมีแต่ความเจริญโดยส่วนเดียว"

           พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กรุงราชคฤห์พอสมควรแล้ว โดยมีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะก็เสด็จบ่ายพระพักตร์สู่นครเวสาลี ผ่านเมืองอัมพลัฏฐิกา เมืองนาลันทาและปาฏลีคาม ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเมืองสำหรับใช้เป็นที่มั่นโจมตีแคว้นวัชชี

           ณ เมืองนาลันทานี่เอง พระสารีบุตรเคยกล่าวอาสภิวาจา คือถ้อยคำที่แสดงถึงความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระศาสดาว่า ท่านมีความเลื่อมใสอย่างยิ่งในพระพุทธองค์ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ไม่มีสมณะ หรือพราหมณ์ใดๆ เลยที่จะเป็นผู้รู้ยิ่งไปกว่าพระพุทธองค์ในเรื่องสัมโพธิญาณ

           เมื่อเสด็จถึงปาฏลีคาม อุบาสกอุบาสิกาเป็นจำนวนมากเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษแห่งศีลวิบัติ ๕ ประการคือ

           ๑. ผู้ไร้ศีลย่อมประสบความเสื่อมทางโภคะ

           ๒. ชื่อเสียงทางไม่ดีฟุ้งขจรไป

           ๓. ไม่แกล้วกล้าอาจหาญเมื่อเข้าประชุม

           ๔. เมื่อจวนจะตายย่อมขาดสติสัมปัชัญญะคุ้มครองสติไม่ดี เรียกว่าตายหลง

           ๕. เมื่อตายแล้วย่อมไปสู่ทุคคติ

           ส่วนคุณแห่งศีลสมบัติ มีนัยตรงกับข้ามกับศีลวิบัติ ดังกล่าวแล้ว

           พระพุทธองค์เสด็จผ่านโกฏิคาม และนาทิกาคามตามลำดับ ในระหว่างนั้นได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ผู้มาเฝ้าบ้าง แก่ภิกษุสงฆ์ แก่พระอานนท์บ้าง เช่นอริยสัจ และเรื่องให้เอาธรรมะเป็นกระจกเงาดูตนเอง จนกระทั่งเสด็จเข้าสู่เขตเวสาลี ประทับ ณ อัมพปาลีวันของหญิงนครโสเภณี นามอัมพปาลี ไม่เสด็จเข้าสู่นครเวสาลี แม้กษัตริย์ลิจฉวีจะทูลอาราธนาก็ทรงปฏิเสธ

           ข่าวเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูเตรียมทัพ เพื่อตีวัชชีนั้นทำให้พระพุทธองค์ผู้มีพระมหากรุณาดุจห้วงมหรรณพทรงห่วงใยวัชชียิ่งนัก เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีที่เสด็จวนเวียนอยู่ในแคว้นวัชชี ในที่สุดเสด็จประทับ ณ เวฬุวคาม ซึ่งมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยต้นมะตูมเรียงราย เมื่อจวนจะเข้าพรรษาจึงมีพระพุทธานุญาต ให้ภิกษุทั้งหลายเลือกที่จำพรรษาได้ตามชอบใจ ส่วนพระองค์จะประทับประจำพรรษาในเวฬุวคาม

           การที่ไม่เสด็จเข้าภายในเมืองเวสาลีนั้น น่าจะเป็นเพราะไม่ทรงปรารถนาด้วยเรื่องการบ้านการเมือง ถ้าเสด็จเข้าไปอาจจะเป็นที่ระแวงของพระเจ้าอชาตศัตรูว่าพระองค์เอาพระทัยเข้าข้างเวสาลี แต่การที่พระองค์ทรงวนเวียนอยู่เขตวัชชีเป็นเวลานานเกือบปีนั้น ก็ได้ผลสมพระประสงค์ คือพระเจ้าอชาตศัตรูมิได้ยาตราทัพเข้าสู่แคว้นวัชชีเลย พระบรมศาสดาของเรานั้นมิได้ทรงเกื้อกูลหมู่ชนเพียงแต่ในทางธรรมเท่านั้น แต่พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่เทวดาและมนุษย์แม้ในทางโลกอีกด้วย สมแล้วที่พระองค์ได้พระนามว่า "พระโลกนาถผู้เป็นที่พึ่งของโลก" แม้ภายหลังจากที่พระองค์ได้ปรินิพพานแล้ว แต่บัดนั้นจนกระทั่งบัดนี้ มีมนุษย์จำนวนนับไม่ได้ที่ได้ระลึกถึงคำสอนของพระองค์แล้วได้วางมือจากการประกอบกรรมชั่ว แล้วตั้งหน้าทำความดี พระองค์ยังทรงเป็นที่พึ่งของโลกอยู่

           ในพรรษานั้นเอง ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ พระตถาคตเจ้าทรงพระประชวรหนักด้วยโรคปักขันทิกาพาธ คือมีพระบังคมเป็นโลหิต แต่ทรงพิจารณาเห็นว่า ยังไม่ถึงกาลอันสมควรที่พระองค์จะปรินิพพาน จึงทรงใช้สมาธิอิทธิบาทภาวนาขับไล่อาพาธนั้นด้วยอธิวาสนขันติ (อธิวาสนขันติ อดทนต่อทุกขเวทนาที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ธีติขันติ อดทนต่อหนาวร้อน การตรากตรำในการทำงาน ตีติกขาขันติ อดทนต่ออารมณ์ที่กระทบกระทั่งจิตใจอดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี) เรื่องที่พระองค์ทรงใช้ความอดทนจนหายอาพาธนี้เป็นที่ประจักษ์แก่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่า

           เมื่อหายแล้ว วันหนึ่งประทับนั่ง ณ ร่มเงาแห่งวิหารในเวลาเย็น พระอานนท์เข้าเฝ้า กราบทูลว่า

           "ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! ข้าพระองค์ได้เห็นความอดทนของพระองค์แล้ว ความอดทนอดกลั้นอันใดที่พระองค์ทรงพร่ำสอนผู้อื่นอยู่เสมอ พระองค์ได้ทรงกระทำความอดทนนั้นให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว สมแล้วที่พระองค์ได้รับการยอย่องว่าตรัสอย่างใดทรงกระทำอย่างนั้น ทรงกระทำอย่างใดตรัสอย่างนั้น ยถาวาที ตถาการี ยถาการี ตถาวาที) ก็แต่ว่า - พระองค์ผู้เจริญ! ในสมัยที่พระองค์ทรงพระประชวรหนักนั้น ข้าพระองค์มีความวิตกกังวลอย่างยิ่ง กายและใจข้าพระองค์งอมระงมไปหมดประหนึ่งความรู้สึกของหมู่ปักษี ซึ่งอาศัยอยู่บนพฤกษาและต้นไม้นั้นไกวแกว่งเพราะแรงลม ทิศทั้งหมดปรากฏเหมือนมืดมนสำหรับข้าพระองค์ มองดูพระองค์แล้วเหมือนข้าพระองค์จะเจ็บด้วย และเจ็บลึกยิ่งกว่าพระองค์เสียอีก แต่ข้าพระองค์ยังเบาใจอยู่อย่างหนึ่งว่า พระองค์ยังไม่ให้ประชุมสงฆ์ปรารภข้อที่ควรปรารภในท่ามกลางมหาสมาคมตราบใด ตราบนั้นพระองค์คงจักยังไม่ปรินิพพานเป็นแน่แท้"

           "อานนท์เอย!" พระศาสดาตรัสอย่างช้าๆ "เธอและภิกษุสงฆ์จะหวังอะไรในเราอีกเล่า ธรรมใดที่ควรแสดงเราได้แสดงหมดแล้ว ไม่มีกำมือของอาจารย์อยู่ในเราเลย คือเรามิได้ปิดบังซ่อนเร้น หวงแหนธรรมใดๆ ไว้ เราได้ชี้แจงแสดงเปิดเผยหมดสิ้นแล้ว ธรรมวินัยซึ่งเป็นมรดกอันประเสริฐของบิดา ตถาคตได้มอบให้เธอ และภิกษุทั้งหลายโดยสิ้นเชิงแล้ว อานนท์เอย! จงดูเอาเถิด ดูสรีระแห่งตถาคต บัดนี้มีชราลักษณะปรากฏอย่างชัดเจน ฟันหัก ผมหงอก หนังหดเหี่ยวหย่อนยาน มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัด เหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีก ได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมไว้ผูกกระหนาบคาบค้ำไว้ จะยืนนานไปได้สักเท่าใด การแตกแยกสลายย่อมจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง อานนท์เอย! พวกเธอจงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึงเถิด อย่าคิดยึดสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แม้เราตถาคตก็เป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น"

           พระผู้มีพระภาคประทับ ณ เวฬุวคามเป็นเวลานานถึง ๘ เดือน แม้ออกพรรษาแล้วก็มีได้เสด็จไปที่อื่น คงประทับยับยั้งอยู่ ณ ที่นั้นจนสิ้นฤดูเหมันต์ นับเป็นเวลานานมากที่ประทับอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เช่นเวฬุวคามนี้

           พระองค์ทรงแน่พระทัยว่าคงจะดำรงพระชนม์ชีพไปไม่ได้นานนัก แต่มิได้ตรัสบอกพระอานนท์ในเวลานั้นเหลือเวลาอีก ๓ เดือนที่จะปรินิพพาน ระหว่างนั้นพระพุทธองค์ทรงถูกอาพาธคอยบีบคั้นเบียดเบียนอยู่เสมอ แต่ก็ทรงดำเนินไปอีกหลายแห่ง เสด็จโดยพระบาทเปล่าไม่มีใครแบกใครหามเลย เมื่อทรงเหน็ดเหนื่อยมากเข้าก็ทรงหยุดพัก ทุกหนทุกแห่งที่เสด็จไป จะมีพระอานนท์ตามเสด็จเหมือนพระฉายา แม้จะลำบากพระวรกายปานใดแต่น้ำพระทัยกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์เอ่อท้นในพระมนัส จึงทรงจาริกเพื่อประโยชน์สุขแห่งมวลชน

           จากเวฬุวคาม เสด็จไปยังกุฏาคารศาลาในป่ามหาวัน ซึ่งกษัตริย์ลิจฉวีแห่งเวสาลีสร้างถวายเป็นที่ประทับ เมื่อเสด็จมาเป็นครั้งคราว รับสั่งให้พระอานนท์ประกาศประชุมสงฆ์ที่อยู่ในเมืองเวสาลีทั้งหมด ทรงโอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยอภิญญาเทสิตธรรม คือธรรมที่พระองค์แสดงไว้เพื่อการตรัสรู้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ให้ภิกษุทั้งหลายหมั่นอบรมประพฤติธรรมดังกล่าวนี้

           รุ่งขึ้นเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลี ชาวนครเวสาลีมีความรู้สึกระทึกใจเป็นที่ยิ่ง เมื่อทราบว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่พวกเขาจะได้เห็น ได้เฝ้ารับโอวาทานุสาสน์จากพระพุทธองค์ บางพวกร่ำไห้ บางพวกตีอกชกตัว ประหนึ่งบิดาบังเกิดเกล้าแห่งตนจะเดินทางไปสู่สมรภูมิและรู้แน่นอนว่าจะไม่กลับมา

           พระจอมมุนีประทานเทศนาให้เขาเหล่านั้นคลายโศก โดยทรงย้ำให้ระลึกถึงพระโอวาทที่เคยประทานไว้ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา การเศร้าโศกคร่ำครวญ ย่อมไม่อาจหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องแตกดับมิให้แตกดับได้"

           แลแล้วพระพุทธองค์ก็เสด็จออกจากนครเวสาลีทรงยืนอยู่ ณ ประตูเมืองครู่หนึ่ง ผินพระพักตร์มองดูเวสาลีเป็นนาคาวโลกนาการ ปานประหนึ่งพญาคชสารตัวประเสริฐเหลียวดูแมกไม้เป็นปัจฉิมทัศนาเมื่อถูกนำพาไปสู่นครเพื่อเป็นราชพาหนะ

           พระตถาคตเจ้าทอดทัศนาการเวสาลีพลางทรงรำพึงว่า "ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นนครที่มีนามกระเดื่องลือว่า มีคนแต่งกายงามที่สุด ปานหมู่เทพชั้นดาวดึงส์ มีสระโบกขรณีมากหลายเป็นที่รื่นรมย์ ปราสาทแห่งเจ้าฉิจฉวีเสียดยอดระดะดูงามตาพิลาสพิไล โดยเฉพาะลิจฉวีสภาซึ่งจงใจทำอย่างประณีตบรรจงงามวิจิตร เป็นที่ประชุมแห่งกษัตริย์ลิจฉวีผู้พร้อมใจกับปกครองบ้างเมืองโดยสามัคคีธรรม ดูก่อนเวสาลี! นครซึ่งมีปราการสามชั้น มีเบื้องหลังเป็นป่าใหญ่ทอดยาวเหยียดสูงขึ้นไปจนถึงหิมาลัยบรรพต อันได้นามว่ามหาวันซึ่งพระตถาคตแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ การได้เห็นเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนาการสำหรับตถาคตแล้ว ตถาคตจะไม่ได้เห็นเวสาลีอีก" ทรงรำพึงดังนี้แล้วจึงผันพระพักตร์มาตรัสกับพระอานนท์ว่า

           "อานนท์ การมองดูเวสาลีครั้งนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของตถาคตแล้ว อานนท์เอย! ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อได้มีการเริ่มต้นแล้ว ย่อมจะมีการสิ้นสุด ใครเล่าจะสามารถหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่งจะต้องเป็นมิให้เป็นได้ มาเถิดอานนท์! เราจักเดินทางไปสู่ปาวาลเจดีย์" พระตถาคตเจ้าตรัสเท่านี้แล้วเสด็จดำเนินด้วยพุทธลีลาอันประเสริฐ

           พระพุทธอนุชาตามเสด็จพระศาสดาด้วยอาการสงบและเคร่งขรึม ใครเล่าจะทราบว่าภายในดวงจิตของท่านจะปั่นป่วนรวนเรซึมเซาเศร้าโศกอ่อนไหวหวิวหวั่นสักเพียงใด.

 

 

สารบัญ
๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร ๑๘. ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา
๒. ๑๙.
๓. พุทธุปฐากผู้เป็นบัณฑิต ๒๐. ปุพพูปการของพระพุทธอนุชา
๔. ๒๑.
๕. ๒๒.
๖. ความรัก - ความร้าย ๒๓. คราวเมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขาร
๗. ๒๔.
๘. โกกิลาผู้ประหารกิเลส ๒๕. ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร
๙. ๒๖.
๑๐. ณ ป่าประดู่ลาย ๒๗. อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน
๑๑. ๒๘.
๑๒. สุทัตตะสร้างอารามเชตวัน ๒๙. วันหนึ่งก่อนวันประชุมสังคายนา
๑๓. ๓๐.
๑๔. มหาอุบาสิกานามวิสาขา ๓๑. จุตรงคพลและวิมลมาน
๑๕. ๓๒.
๑๖. นางบุญและนางบาป ๓๓. ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ
๑๗.  
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน