เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ พระอานนท์พุทธอานุชา ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ
 
๑๐. ณ ป่าประดู่ลาย

           เมื่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้อนาวรณญาณทรงสละละทิ้งสังขารอันประกอบขึ้นเหมือนสัมภาระที่ใช้สอย เช่น เกวียน เป็นต้น เข้าสู่มหาปรินิพพานอันบรมสุขเกษมศานติ์จากความทรมานทั้งปวงแล้ว พระอานนท์พุทธอนุชาซึ่งบัดนี้เป็นเสมือนองค์แทนแห่งพระตถาคตเจ้า ก็จาริกไปในที่ต่างๆ โดยเดียวดาย จากแคว้นสู่แคว้น จากราชธานีสู่ราชธานี และบทจรสู่คามนิคมชนบทต่างๆ เพื่อแสวงหาความวิเวกบ้าง เพื่อโปรดให้ประชานิกรดำรงในคุณธรรมสัมมาปฏิบัติบ้าง เป็นเวลาถึง ๔๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน

           สมัยหนึ่ง พระพุทธอนุชาออกจากสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล มุ่งหน้าลงสู่ทิศใต้ถึงลำน้ำยมุนา เดินเลียบลำน้ำนี้ลงตอนใต้ อันเป็นที่ตั้งแห่งโกสัมพีราชธานีแห่งแคว้นวังสะ

           อันว่านครโกสัมพีนี้ รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยาการมากหลาย นอกจากนี้ยังเป็นย่านกลางแห่งการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างโกศล มคธ และเมืองผ่านต่างๆ ทางใต้และทางตะวันออกอีกด้วย

           ลำน้ำยมุนาอันสวยงามตระการยิ่งนักนั้น ก็ไหลมาจากแดนอันขจรนามแต่กาลไกลสมัยมหาภารตยุทธ นั่นคือหัสดินปุระนครซึ่งปรักหักพังแล้ว และท่วมท้นกุรุซึ่งปาณฑพและเการพได้ทำสงคราม เพื่อชิงชัยความเป็นใหญ่กัน ความงามของนครโกสัมพีย่อมติดตาเตือนใจของอาคันตุกะผู้มาเยือนไปตลอดชีวิต มองไปจากฝั่งยมุนาจะเห็นกำแพงปราการบ้านเรือนสลับสล้าง ดูเป็นลดหลั่นยอดปราสาทแห่งอุเทนราชนั้น เมื่อต้องแสงสุริยายามจะอัสดงก็ส่องแสงเหมือนมีอาทิตย์อยู่หลายดวง การสัญจรทางเรือคับคั่ง มีเรือน้อยใหญ่ประดับด้วยธงทิวสีต่างๆ ดูงามตา

           เมื่อพระอานนท์มาใกล้นครโกสัมพีนั้นเป็นเวลาเย็นมากแล้ว ทุ่งสาลีเกษตรยามต้องแสงอาทิตย์ในสายัณหกาลมองดูประหนึ่งปูลาดด้วยแผ่นทอง พระพายรำเพยเพียงแผ่วเบาต้องกายพระมหาเถระก่อให้เกิดความชุ่มเย็น เฉกมารดาลูบคลำบุตรสุดที่รักด้วยใจถนอม ณ เบื้องบนก้อนเมฆสลับซับซ้อนเป็นทิวแถวลอยละลิ่วตามแรงลม มองดูเป็นสีม่วงสลับฟ้าตระกาลตายิ่งนัก

           พระผู้เป็นพหูสูต หาได้มุ่งเข้าสู่เขตนครโกสัมพีไม่ ท่านต้องการแสวงหาที่สงัด และ ณ ที่นั้น แห่งใดเล่าจะสงัดเท่าป่าไม้ประดู่ลาย เพราะฉะนั้นพระมหาเถระจึงเยื้องย่างด้วยลักษณาการอันน่าทัศนาเข้าสู่ป่านั้นด้วยหทัยที่แช่มชื่นเบิกบาน

           เมื่อพระอาทิตย์อัสดงแล้วไม่นาน ดวงจันทร์แจ่มจรัสก็โผล่ขึ้นเหนือทิวไม้ด้านตะวันออก ป่าประดู่ลายเงียบสงัดวังเวง เหมาะสำหรับผู้แสวงหาวิเวกอย่างแท้จริง เนื่องจากภิกษุแวะเวียนมาพักอยู่เสมอ ป่านี้จึงมีเสนาสนะน้อยๆ อยู่หลายหลังสำหรับพักอาศัย หลังหนึ่งเพียงผู้เดียว พระเถระเลือกได้กระท่อมหลังหนึ่ง เมื่อปูลาดนิสีทนะลงแล้วก็นั่งขัดสมาธิ หลับตาอยู่ตลอดปฐมยามแห่งราตรี และพักผ่อนเมื่อกึ่งมัชฌิมยามล่วงไปแล้ว

           ปัจจุสกาล แสงสีขาวทางทิศตะวันออกเริ่มทาบขอบฟ้าจากทิศเหนือตลอดไปทางทิศใต้ ลมรุ่งอรุณพัดเฉื่อยฉิว เสียงกาซึ่งเพิ่งออกจากรวงรังเพื่อแสวงภักษาหาร บินผ่านป่าประดู่ลายพร้อมด้วยเสียงร้องกาๆ บริเวณป่าประดู่ลายยังคงเงียบสงัด ได้ยินแต่เพียงเสียงใบไม้ไหวกระทบกันเป็นครั้งคราว พระพุทธอนุชาผู้ประเสริฐเดินวนเวียนมาอยู่หน้ากระท่อมน้อย โดยอาการที่เรียกกันว่าเดินจงกรม เพื่อพิจารณาหัวข้อธรรม

           ท้องฟ้าสางแล้ว แสงสว่างสาดไปทั่วบริเวณไพรโน้มน้อมมนัสแห่งพระอานนท์ให้แจ่มใสชื่นบาน ท่านเตรียมนุ่งอันตรวาสก และครองอุตตราสงค์เป็นปริมณฑลเรียบร้อย ถือบาตรเข้าสู่นครโกสัมพีเพื่อบิณฑบาต

           มีผู้คอยดักถวายอาหารแก่มุนีอยู่เป็นแห่งๆ สมณศากยบุตรเป็นที่คุ้นตาของประชาชนชาวโกสัมพีแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พระตถาคตเจ้าเสด็จเข้าสู่นครโกสัมพีเป็นครั้งแรก เมื่อพระอานนท์ได้อาหารพอสมควรแล้ว ท่านก็เดินดุ่มมุ่งเข้าสู่ป่าประดู่ลายตามเดิม ฉันอาหารตามที่ประชาชนศรัทธาถวายด้วยอาการแห่งสามีบริโภค อันเป็นแบบอย่างแห่งพระอรหันต์ทั้งหลาย เสร็จแล้วท่านก็ยังยั้งอยู่ ณ ที่นั้นด้วยวิหารธรรมอันประเสริฐ จนกระทั่ง…

           วัฒนฉายากาล พระอาทิตย์โคจรผ่านกึ่งกลางฟ้าไปแล้ว เงาไม้ประดู่ลายที่อยู่โดดเดี่ยวทอดยาวไปทางทิศตะวันออก บรรยากาศรื่นรมย์สงบ เหมาะแก่อนาคาริกมุนี

           ภิกษุรูปหนึ่งร่างกายสูงใหญ่มีสง่าเดินเข้ามาสู่ป่าอันเงียบสงบนี้ เมื่อท่านผ่านมาทางพระอานนท์นั่งอยู่เห็นเป็นสมณะแบบเดียวกัน จึงเข้าไปหาด้วยอาการแห่งมิตร แต่ท่านหาได้รู้จักพระอานนท์ไม่

           "ท่านผู้ทรงพรต" ภิกษุรูปนั้นกล่าวขึ้น "ข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะพบท่านผู้ใดในป่าวิเวกแห่งนี้ ท่านคงมุ่งแสวงสันติวรบทเช่นเดียวกับข้าพเจ้า จึงมานั่งอยู่ ณ ที่นี้แต่ผู้เดียว"

           "ท่านผู้บำเพ็ญตบะ!" พระอานนท์ตอบ "ข้าพเจ้าทราบจากเครื่องนุ่งห่มและบริขารอื่นๆ ที่ติดตัวท่านมาว่าท่านเป็นสมณะแบบเดียวกับข้าพเจ้า สมณะแบบเรานี้มีพระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาด้วยกัน ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นตรัสไว้มิใช่หรือว่า ความวิเวกเป็นสหายอันประเสริฐ"

           "ท่านผู้ทรงพรต" ภิกษุรูปนั้นกล่าว "พระดำรัสนี้ช่างเป็นพระพุทธภาษิตที่กระตุ้นเตือนเร่งเร้าให้พุทธสาวกพอใจในวิเวกเสียนี่กระไร! ขอประทานโทษเถิด จากลักษณะอาการและคำกล่าวของท่าน ข้าพเจ้าพออนุมานได้ว่า ท่านคงจะมาสู่ธรรมวินัยนี้นานแล้ว ส่วนข้าพเจ้าเองแม้จะมีอายุเหยียบย่างเข้าสู่วัยชรามาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ข้าพเจ้าเพิ่งจะอุปสมบทอุทิศพระผู้มีพระภาคเมื่อไม่นานนี่เอง คือเมื่อพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นปรินิพพานแล้ว ข้าพเจ้าเพิ่งจะบวชได้ ๕ พรรษาเท่านั้น"

           "อาวุโส!" พระอานนท์เปลี่ยนคำแทนชื่อของภิกษุรูปนั้น "ข้าพเจ้าอุปสมบทในสมัยที่พระตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ และได้เห็นได้เฝ้าพระองค์เสมอๆ ข้าพเจ้าถือเป็นลาภอันประเสริฐที่ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค มิใช่แต่ข้าพเจ้าเท่านั้น ใครๆ ก็ปรารถนาที่จะได้เข้าเฝ้าและสนทนาด้วย พระองค์เป็นผู้สูงสุดอย่างแท้จริง"

           ภิกษุรูปนั้นแสดงอาการสนใจอย่างเห็นได้ชัด และมีนัยน์ตาวาวด้วยปีติพร้อมด้วยกล่าวว่า "ท่านผู้ทรงพรต! ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่ง ปรารถนาเหลือเกินที่จะทราบพระพุทธจริยาโดยละเอียดจากผู้ซึ่งเคยเข้าเฝ้าเคยฟังธรรมของพระศาสดา ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะได้บรรลุผลสำเร็จแห่งความปรารถนานั้น แต่ก่อนอื่นข้าพเจ้าปรารถนาใคร่ทราบนามของท่านผู้มีโชคดี พอเป็นเครื่องประดับความรู้ไว้ก่อน ส่วนข้าพเจ้าเองมีนามว่า กัมโพชะ ชื่อเดียวกับแคว้นที่ข้าพเจ้าเกิดซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้นไป ท่านเองก็คงทราบว่าแคว้นกัมโพชะมีชื่อเสียงที่สุดเรื่องพันธุ์ม้าดี"

           พระอานนท์นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง หาได้ตอบคำของพระกัมโพชะทันทีไม่ ท่านกำลังตรึกตรองว่า ควรจะบอกนามของท่านแก่ภิกษุรูปนี้หรือไม่หนอ ภิกษุรูปนี้มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง กระหายใคร่ฟังพระพุทธจริยา และเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องกับพระองค์ ภิกษุรูปนี้คงจะต้องเคยได้ยินเกียรติคุณของท่านในฐานะเป็นผู้ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับพระศาสดา ถ้าเธอทราบนามของท่านแล้วและได้ฟังพุทธจริยาบางตอนจากท่านเอง คงจะเพิ่มพูนปีติปราโมชแก่เธอหาน้อยไม่ อาจจะเป็นทางให้เธอได้ธรรมจักษุในไม่ช้า เมื่อคิดถึงประโยชน์ดังกล่าวนี้เป็นที่ตั้งแล้ว พระพุทธอนุชาสุกโกทนบุตรจึงกล่าวว่า

           "ภราดร! ข้าพเจ้ายินดีจะเล่าพุทธจริยา และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพระองค์บางประการบางตอนให้ท่านฟังเท่าที่ข้าพเจ้ารู้เห็นมาด้วยตนเองบ้าง ที่พระศาสดาโปรดประทานเล่าให้ข้าพเจ้าฟังบ้าง อนึ่งข้อที่ท่านอยากทราบนามของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้าบอกท่านได้แต่เพียงว่า เมื่อข้าพเจ้ายังครองฆราวาสอยู่ พระญาติวงศ์เรียกข้าพเจ้าว่า 'เจ้าชายอานันทะ' และเมื่อข้าพเจ้าอุปสมบทแล้วเพื่อนพรหมจารีเรียกข้าพเจ้าว่า 'พระอานันทะ' พระศาสดาเรียก 'อานนท์ อานนท์' อยู่เสมอๆ" พอพระมหาเถระกล่าวจบลง พระกัมโพชะมีอาการตะลึงอยู่ครู่หนึ่ง แล้วอาการแห่งปีติซาบซ่านก็เข้ามาแทนที่ ท่านลุกขึ้นนั่งกระโหย่งประนมมือกราบลงแทบบาทมูลของพระอานนท์ ซบศีรษะอยู่นิ่งและนาน เมื่อท่านเงยหน้าขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระพุทธอนุชาสังเกตเห็นน้ำตาเอ่อเบ้าตาของภิกษุผู้อยู่ในวัยชรารูปนั้น นั่นเป็นสัญญลักษณ์แห่งปีติปราโมชอันหลั่งไหลจากความรู้สึกที่ลึกซึ้ง และปรากฏออกมาทางกรัชกาย และแล้วพระกัมโพชะก็กล่าวว่า

           "ข้าแต่ท่านผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร! เป็นลาภยิ่งใหญ่ของข้าพเจ้าที่ได้มาพบท่านผู้ทรงคุณอันประเสริฐเหมือนองค์แทนแห่งพระตถาคตเจ้า ข้าพเจ้าเดินทางมาหลายเมืองด้วยจุดประสงค์ที่จะได้พบและสนทนากับท่าน ข้าพเจ้าทราบว่าท่านเดินทางมาโกสัมพี ข้าพเจ้าก็ติดตามมา แต่ก็หาได้รู้จักท่านไม่ แม้จะสนทนาอยู่กับท่านที่กระหายใคร่พบอยู่ตลอดเวลาก็ตาม โอ! ช่างเป็นลาภของข้าพเจ้าเสียนี่กระไร! อุปมาเหมือนลูกโคซึ่งเที่ยวติดตามหาแม่ในป่ากว้างและได้พบแม่สมประสงค์ ความรู้สึกของลูกโคนั้นเป็นฉันใด ความรู้สึกของข้าพเจ้าก็เป็นฉันนั้น" แล้วพระกัมโพชะก็กราบลงแทบบาทมูลของพระอานนท์อีกครั้งหนึ่ง

           "ช่างเถิดผู้มีอายุ" พระอานนท์กล่าว "เรื่องของข้าพเจ้าไม่มีความสำคัญเท่าเรื่องของพระศาสดา อนึ่งท่านบวชอุทิศพระพุทธเจ้าแม้จะนิพพานไปแล้วก็ตาม แต่เรื่องของพระองค์ยังเป็นเครื่องเพิ่มพูนปีติปราโมชแก่ผู้สดับอยู่เสมอ ท่านได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเล่าถึงพุทธจริยาบางตอนเพื่อเป็นเครื่องประดับความรู้ และประคับประคองศรัทธาปสาทะ ข้าพเจ้าจะขอเล่าให้ท่านฟังเป็นปฏิการแก่ความปรารถนาดีของท่าน" แล้วพระอานนท์ก็กล่าวสืบไปว่า

           "ดูก่อนภราดา! ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี่เอง สมัยหนึ่งพระตถาคตเจ้าประทับอยู่ด้วยหมู่ภิกษุนักจำนวนร้อย พระองค์หยิบใบไม้มากำพระหัตถ์หนึ่ง แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้ในกำพระหัตถ์ของพระองค์ กับใบไม้ในป่านี้ทั้งหมด ไหนจะมากกว่ากัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใบไม้ในป่ามีมากกว่าเหลือหลาย ใบไม้ในกำพระหัตถ์มีน้อยนิดเดียว พระพุทธองค์จึงตรัสว่าฉันเดียวกันนั่นแล ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมที่เราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายนั่นเพียงเล็กน้อย เหมือนใบไม้ในกำมือของเรา ส่วนธรรมที่เรามิได้แสดงมีมากมายเหมือบใบไม้ในป่า ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเราจึงไม่แสดงสิ่งที่เรารู้เราเข้าใจอีกมากมายเล่า ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตแสดงแต่ธรรมที่จำเป็นเพื่อระงับดับทุกข์เท่านั้น สิ่งนอกจากนี้รู้ไปก็ทำให้เสียเวลาเปล่า

           ภิกษุทั้งหลาย! สมัยหนึ่งมีภิกษุรูปหนึ่งเข้ามาหาเรา และถามปัญหา ๑๐ ข้อ ขอให้เราแก้ปัญหาข้อข้องใจนั้น ถ้าเราไม่แก้ปัญหาให้คลายสงสัย เขาจะละเพศพรหมจรรย์ปัญหา ๑๐ ข้อนั้นล้วนเป็นปัญหาที่ไร้สาระ ไม่เป็นไปเพื่อระงับดับทุกข์ รู้แล้วก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น เช่น ปัญหาว่าโลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง โลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ตายแล้วเกิดหรือไม่ดังนี้เป็นต้น เราไม่ยอมแก้ปัญหานั้น ภิกษุทั้งหลายเรากล่าวกับภิกษุรูปนั้นว่า อย่าว่าแต่เธอจะละเพศพรหมจรรย์เลย แม้เธอจะตายไปต่อหน้าต่อตาเรา เราก็หายอมแก้ปัญหาเหล่านั้นของเธอไม่

           ภิกษุทั้งหลาย! ปัญหาที่เผชิญอยู่เบื้องหน้าของทุกๆ คน คือปัญหาเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายถูกความทุกข์เสียบอยู่ทั้งทางกายและทางใจ อุปมาเหมือนผู้ถูกยิงด้วยลูกศรซึ่งกำซาบด้วยยาพิษแล้ว ญาติมิตรเห็นเข้าเกิดความกรุณา จึงพยายามจะช่วยกันถอนลูกศรนั้น แต่บุรุษผู้โง่เขลาบอกว่าต้องไปสืบให้ได้เสียก่อนว่าใครเป็นคนยิง และยิงมาจากทิศไหน ลูกศรทำด้วยไม้อะไร แล้วจึงจะค่อยมาถอนลูกศรออก ภิกษุทั้งหลาย! บุรุษผู้นั้นจะต้องตายเสียก่อนเป็นแน่แท้ ความจริงเมื่อถูกยิงแล้ว หน้าที่ของเขาก็คือ ควรพยายามถอดลูกศรออกเสียทันทีชำระแผลให้สะอาดแล้วใส่ยาและรักษาแผลให้หายสนิท หรืออีกอุปมาหนึ่งเหมือนบุคคลที่ไฟไหม้อยู่บนศีรษะ ควรรีบดับเสียโดยพลัน ไม่ควรเที่ยววิ่งหาคนผู้เอาไฟมาเผาศีรษะตน ทั้งๆ ที่ไฟลุกไหม้อยู่

           "ภิกษุทั้งหลาย! สังสารวัฏนี้โพลงอยู่ด้วยเพลิงทุกข์นานาประการโหมให้ร้อนอยู่ทั่ว สัตว์ทั้งหลายดิ้นทุรนทุรายอยู่ในกองทุกข์แห่งสังสารวัฏนี้ ใครเล่าจะเป็นผู้ดับ ถ้าทุกคนไม่ช่วยกันดับทุกข์แห่งตน อุปมาเหมือนบุรุษสตรีผู้รวมกันอยู่ในบริเวณกว้างแห่งหนึ่ง และต่างคนต่างถือดุ้นไฟใหญ่อันไฟลุกโพลงอยู่ทั่วแล้ว ต่างคนต่างก็วิ่งวนกันอยู่ในบริเวณนั้น และร้องกันว่า "ร้อน ร้อน" ภิกษุทั้งหลาย! ครานั้นมีบุรุษผู้หนึ่งเป็นผู้ฉลาดร้องบอกให้ทุกๆ คนทิ้งดุ้นไฟในมือของตนเสีย ผู้ที่ยอมเชื่อทิ้งดุ้นไฟก็ได้ประสบความเย็น ส่วนผู้ไม่เชื่อก็ยังคงวิ่งถือดุ้นไฟพร้อมด้วยร้องตะโกนว่า "ร้อน ร้อน" อยู่นั่นเอง"

           "ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตได้ทิ้งดุ้นไฟแล้วและร้องบอกให้เธอทั้งหลายทิ้งเสียด้วย ดุ้นไฟที่กล่าวถึงนี้คือกิเลสทั้งมวล อันเป็นสิ่งที่เผาลนสัตว์ให้เร่าร้อนกระวนกระวาย ภิกษุทั้งหลาย! อายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ อายตนะภายนอก ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ เป็นของร้อน ร้อนเพราะไฟ คือ ราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง

           "ภิกษุทั้งหลาย! เราตถาคตไม่พิจารณาเห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ที่จะครอบงำรึงรัดใจของบุรุษได้มากเท่ารูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะแห่งสตรี ภิกษุทั้งหลาย! เราไม่พิจารณาเห็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะใดๆ ที่สามารถครอบงำรัดรึงใจของสตรีได้มากกว่า รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะแห่งบุรุษ

           "ภิกษุทั้งหลาย! กามคุณนี้เรากล่าวว่าเป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นกำลังพลแห่งมาร ภิกษุผู้ปรารถนาจะประหารมาร พึงสลัดเหยื่อแห่งมาร ขยี้พวงดอกไม้แห่งมาร และทำลายกำลังพลแห่งมารเสีย"

           "ภิกษุทั้งหลาย! เราเคยเยาะเย้ยกามคุณ ณ โพธิมณฑลในวันที่เราตรัสรู้นั้นเองว่า ดูก่อนกาม! เราได้เห็นต้นเค้าของเจ้าแล้ว เจ้าเกิดจากความดำริคำนึงถึงนั้นเอง เราจักไม่ดำริถึงเจ้าอีก ด้วยประการฉะนี้ กามเอย! เจ้าจะเกิดขึ้นอีกไม่ได้"

           "ดูก่อนภราดา!" พระอานนท์กล่าวต่อไป "ครั้งนั้น ณ ป่าไม้ประดู่ลายนี้ ภิกษุจำนวนมากได้ดวงตาเห็นธรรมและอริยคุณสูงๆ ขึ้นไปด้วยพระพุทธภาษิตอันลึกซึ้งจับใจนี้ พระองค์ทรงใช้อุปมาอุปไมยอันคมคายแยบยล และขมวดพระธรรมเทศนาให้เห็นจุดเด่นที่ทรงประสงค์เหมือนนายช่างผู้ฉลาดเมื่อจะสร้างปราสาท หรือกูฏาคารย่อมจะลงรากปราสาทนั้นให้แน่นหนา และวางเสาอันมั่นคง และสร้างเรือนยอดตะล่อมขึ้นให้ยอดเด่นเห็นสง่างามรุ่งเรืองด้วยพระธรรมเทศนาโกศลแห่งพระทศพล วิมลอนาวรณญาณอันหาใครเปรียบปานมิได้ในสามภพ"

           "ดูก่อนอาคันตุกะ" พระอานนท์กล่าวต่อไป "ณ กรุงโกสัมพีนี่เอง พระตถาคตเจ้าเคยประทับรอยพระบาท คือพระพุทธจริยาอันประเสริฐ ไว้สำหรับให้คนภายหลังถือเป็นเยี่ยงอย่างดำเนินตาม"

           คือสมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงโกสัมพี และสำราญพระอิริยาบถอยู่ ณ โฆสิตาราม ตอนเช้าพระพุทธองค์จะเสด็จออกบิณฑบาต มีประชาชนผู้เลื่อมใสคอยดักถวายเป็นทิวแถว แต่ก็มีกลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่งคอยตามด่าว่ากระทบกระแทกเสียดสีอยู่ตลอดเวลา เมื่อพระองค์เสด็จกลับโฆสิตารามก็ตามไปด่าถึงพระคันธกุฎีด้วยอักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ เช่น ท่านเป็นโค เป็นลา เป็นอูฐ เป็นสัตว์นรก เป็นต้น เรื่องนี้มีเบื้องหลังคือ

           สมัยหนึ่ง ก่อนหน้าที่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่นานนัก พระผู้มีพระภาคเจ้เสด็จสู่แคว้นกุรุ ณ ที่นั้นมีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่แห่งหนึ่ง พราหมณ์นายบ้านมีธิดาสาวทรงสิริโสภาคยิ่งนักนามว่า มาคันทิยา ความงามแห่งนางระบือไปทั่ว ชายหนุ่มผู้มั่งคั่งต่างเดินทางโดยเกวียนบ้างโดยรถม้าบ้าง มาสู่คันทิยาคามนี้ เพื่อทัศนามานทิยานารี บางคนก็แต่งผู้ใหญ่มาสู่ขอ แต่พราหมณ์ผู้บิดายังมองไม่เห็นใครเหมาะสมแก่ธิดาของตน จึงยังไม่ยอมยกให้ใคร มาคันทิยาเป็นที่กล่าวขวัญถึงแห่งปวงชนชาวกุรุอย่างแพร่หลาย จนเมื่อธิดาของสกุลใดเกิดใหม่ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะให้พรว่า ขอให้สวยเหมือนมาคันทิยา

           "ดูก่อนอาคันตุกะ แต่ท่านต้องระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า ความงามกับอันตรายนั้นมักจะมาด้วยกันเสมอ ที่ใดมีความงาม ที่นั้นย่อมมีอันตรายแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ด้วย จะมากหรือน้อยแล้วแต่ขนาดแห่งความงามนั้น และมีอยู่บ่อยครั้งที่เป็นอันตรายไม่เพียงแต่ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องเท่านั้น แต่แก่เจ้าของความงามนั่นเองอีกด้วย"

           พระศาสดาเสด็จไปถึงบ้านมาคันทิยพราหมณ์ในเช้าวันหนึ่ง ขณะที่เขาบูชาไฟอยู่ที่ประตูบ้าน เมื่อได้ทัศนาเห็นพระศาสดาแล้ว พราหมณ์ก็ตะลึงในความงามแห่งพระองค์ ถึงแก่อุทานออกมาว่า ชายผู้นี้งามจริงหนอ เขาเข้าไปหาพระตถาคตเจ้าแล้วกล่าวว่า

           "สมณะ ข้าพเจ้ามองหาชายอันจะคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้ามาเป็นเวลานานแล้ว แต่จะหาใครงามคู่ควรแก่บุตรีของข้าพเจ้าเสมอท่านได้ไม่ ขอท่านโปรดยืนอยู่ตรงนี้สักครู่หนึ่ง แล้วข้าพเจ้าจะนำบุตรีมามอบให้ท่าน"

           พระศาสดาแสดงอาการดุษณีภาพ ทรงเหยียบรอยพระบาทให้ปรากฏไว้ด้วยแรงอธิษฐานอันสำเร็จมาจากบารมีแต่ปางบรรพ์ แล้วเสด็จหลีกไปประทับ ณ ใต้ต้นไม้เงาครึ้มต้นหนึ่ง

           พราหมณ์แจ้งข่าวแก่พราหมณี และให้ตบแต่งลูกสาวให้สวยงาม เพื่อนำไปมอบให้ชายผู้หนึ่งอันตนเห็นว่าคู่ควรกัน แล้วพากันออกจากเรือน เมื่อไม่เห็นพระตถาคต ณ ที่เดิมพราหมณ์ก็ประหลาดใจ บังเอิญพราหมณีได้เหลือบเห็นรอยเท้าที่พระพุทธองค์ทรงเหยียบไว้จึงกล่าวกับพราหมณ์ผู้สามีว่า อย่าติดตามมหาบุรุษผู้นี้เลย ผู้มีรอยเท้าอย่างนี้เป็นผู้สละแล้วซึ่งโลกียารมณ์ทั้งปวง พราหมณ์เอย! อันบุคคลผู้เจ้าราคะนั้นมีเท้าเว้ากลางมาก คนเจ้าโทสะหนักส้น ส่วนคนเจ้าโมหะนั้นปลายเท้าจิกลง ส่วยรอยเท้าของบุรุษผู้นี้เป็นผู้เพิกกิเลสได้แล้วอย่างแท้จริง พราหมณ์ต่อว่าภรรยาว่าอวดรู้อวดดี ทำตนเหมือนจระเข้นอนในตุ่ม จึงพาบุตรีและภรรยาเที่ยวตามหาพระศาสดา มาพบเข้าใต้ไม้แห่งหนึ่ง พราหมณ์ดีใจหนักหนา แต่ได้ต่อว่าเป็นเชิงพ้อว่า "สมณะ ข้าพเจ้าบอกให้ท่านยืนรอที่โน้นแต่หายืนคอยไม่ เหมือนไม่ยินดีจะรับบุตรีของข้าพเจ้า สมณะ! บุตรีของข้าพเจ้านี้งามเลิศกว่านารีใดในทั้งปวงในถิ่นนี้ เป็นที่ปองหมายแห่งเศรษฐีคหบดี และแม้แห่งพระราชา แต่ข้าพเจ้าหาพอใจใครเสมอด้วยท่านไม่ บัดนี้ข้าพเจ้าได้นำนางผู้งามพร้อมมามอบ ณ เบื้องบาทของท่านแล้ว ขอจงรับไว้ และครองกันฉันสามีภรรยาเถิด" พราหมณ์กล่าวจบแล้วสั่งให้บุตรีถวายบังคมพระศาสดา

           พระโลกนาถ ศากยบุตรยังคงประทับดุษณีอยู่ครู่หนึ่ง พระองค์ทรงรำพึงว่า พราหมณ์ผู้นี้มีความหวังดีต่อเรา ต้องการสงเคราะห์เราด้วยสิ่งอันเป็นที่รัก ที่หวงแหนที่สุดแห่งตน แต่สิ่งนี้มีความแก่ ความเจ็บ และความตายเป็นธรรมดา เราจักปฏิการพราหมณ์ผู้นี้ด้วยอมตธรรม และพราหมณ์ พราหมณีทั้งสองนี้มีอุปนิสัยแก่กล้าพอที่จะบรรลุธรรมของเราได้ เป็นการมอบสภาพอันไม่แก่และไม่ตายแก่เขา ดำริดังนี้แล้วพระตถาคตเจ้าจึงเอื้อนโอษฐ์ว่า

           "พราหมณ์! ถ้าเราจะเล่าเรื่องบางเรื่องให้ท่านฟัง ท่านจะพอใจฟังหรือไม่"

           "เล่าเถิดสมณะ ข้าพเจ้าพร้อมอยู่แล้ว ท่านมีบุตรภรรยาอยู่แล้วหรือ?"

           นางมาคันทิยา บุตรีแห่งพราหมณ์นั่งเพ่งพิศพระตถาคตเจ้าเหมือนเด็กมองดูตุ๊กตาซึ่งตนไม่เคยเห็น พร้อมๆ กันนั้น มารยาแห่งสตรีซึ่งปรากฏอยู่ในเรือนร่างและนิสัยแห่งอิตถีเพศทุกคนก็เริ่มฉายแวววาวออกมาทางสายตา และริมฝีปากอันบางงามเต็มอิ่มนั้น

           พระตถาคตเจ้าชายพระเนตรดูนางมาคันทิยาหน่อยหนึ่ง ทรงรู้ถึงจิตใจอันปั่นป่วนของนาง แล้วตรัสว่า

           "พราหมณ์! เมื่อเราอยู่ในวัยหนุ่มมีเกศายังดำสนิท ถูกแวดล้อมด้วยสตรีล้วนแต่สะคราญตา เป็นที่ปรารถนาของบุรุษเพศผู้ยังตัดอาลัยในบ่วงกามมิได้ แต่เราเบื่อหน่ายในโลกียวิสัย จึงสละสมบัติบรมจักร และนางผู้จำเริญตา ออกแสวงหาโมกขธรรมแต่เดียวดาย เที่ยวไปอย่างไม่มีอาลัย ปลอดโปร่งเหมือนบุคคลที่เป็นหนี้แล้วพ้นจากหนี้ เคยถูกคุมขังแล้วพ้นจากที่คุมขัง เคยเป็นโรคแล้วหายจากโรค หลังจากท่องเที่ยวอยู่เดียวดาย และทำความเพียรอย่างเข้มงวดไม่มีใครจะทำได้ยิ่งกว่าอยู่เป็นเวลา ๖ ปี เราก็ได้ประสบชัยชนะอย่างใหญ่หลวงในชีวิต ได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สงบเยือกเย็นถึงที่สุด ล่วงพ้นบ่วงแห่งมารทั้งปวงทั้งที่เป็นทิพย์และเป็นของมนุษย์ มารและธิดามารคือนางตัณหา นางราคา และนางอรดีได้พยายามยั่วยวนเราด้วยวิธีแปลกๆ เพื่อให้เราตกอยู่ในอำนาจ แต่เราก็หาสนใจไยดีไม่ ในที่สุดพวกมารก็ถอยหนีไปเอง เราชนะมารอย่างเด็ดขาด จนมีนามก้องโลกว่า "ผู้พิชิตมาร"

           พระตถาคตหยุดอยู่ครู่หนึ่ง ทรงกวาดสายพระเนตรดูทุกใบหน้า ในที่สุดพระองค์ตรัสว่า

           "พราหมณ์, เมื่อได้เห็นนางตัณหา นางราคา และนางอรดี ซึ่งทรงความงามเหนือสามโลก เราก็หาพอใจแต่น้อยไม่ ก็ทำไมเล่า เราจะพอใจในสรีระแห่งธิดาของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยมูตรและคูถ พราหมณ์เอย! อย่าว่าแต่จะให้แตะต้องด้วยมือเลย เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า".

 

 

สารบัญ
๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร ๑๘. ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา
๒. ๑๙.
๓. พุทธุปฐากผู้เป็นบัณฑิต ๒๐. ปุพพูปการของพระพุทธอนุชา
๔. ๒๑.
๕. ๒๒.
๖. ความรัก - ความร้าย ๒๓. คราวเมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขาร
๗. ๒๔.
๘. โกกิลาผู้ประหารกิเลส ๒๕. ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร
๙. ๒๖.
๑๐. ณ ป่าประดู่ลาย ๒๗. อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน
๑๑. ๒๘.
๑๒. สุทัตตะสร้างอารามเชตวัน ๒๙. วันหนึ่งก่อนวันประชุมสังคายนา
๑๓. ๓๐.
๑๔. มหาอุบาสิกานามวิสาขา ๓๑. จุตรงคพลและวิมลมาน
๑๕. ๓๒.
๑๖. นางบุญและนางบาป ๓๓. ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ
๑๗.  
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน