เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ พระอานนท์พุทธอานุชา ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ
 
๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร

           สมณะทั้งสองเดินดุ่มผ่านทุ่งกว้างเข้าสู่เขตป่าโปร่ง มีทางพอเดินได้สะดวก สมณะซึ่งเดินนำหน้ามีอินทรีย์ผ่องใส มีสายตาทอดลงต่ำ ผิวขาวละเอียดอ่อนลักษณะแสดงว่ามาจากวรรณะสูง อากัปกิริยาและท่าที่เยื้องย่างน่าทัศนา นำมาซึ่งความเลื่อมใสปีติปราโมชแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก ผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกาย แม้จะทำขึ้นอย่างง่ายๆ ไม่มีรูปทรงอะไร แต่ก็มองดูสะอาดเรียบร้อยดี

           ส่วนสมณะผู้เดินอยู่เบื้องหลัง แม้จะมีส่วนสูงไม่เท่าองค์หน้า แต่ก็มีรูปร่างอยู่ในขนาดเดียวกัน ท่านเดินได้ระยะพองามไม่ห่างกันและไม่ชิดจนเกินไป

           ทั้งสองเดินมาถึงทางสองแพร่ง เมื่อสมณะผู้เดินหน้ามีอาการว่าจะเลี้ยวไปทางขวา สมณะผู้เดินหลังก็กล่าวขึ้นว่า

           "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ข้าพระองค์ต้องการไปทางซ้าย พระเจ้าข้าฯ"

           "อย่าเลย - นาคสมาละ! ตถาคตต้องการไปทางขวา เรามีเรื่องสำคัญที่จะต้องไปโปรดสัตว์ทางนี้"

           "ข้าพระองค์ต้องการไปทางซ้าย พระเจ้าข้าฯ" พระนาคสมาละยืนยัน

           "อย่าเลย - นาคสมาละ! มากับตถาคตทางขวานี่เถิด" พระผู้มีพระภาคขอร้อง

           พระพุทธองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งแต่พระนาคสมาละก็หายอมไม่ ในที่สุดท่านก็วางบาตรของพระผู้มีพระภาคไว้ในทางสองแพร่ง แล้วเดินหลีกไปทางซ้ายตามความปรารถนาของท่าน พระจอมมุนีศากบุตรต้องนำบาตรของพระองค์ไปเองและเสด็จไปโดดเดี่ยว

           อีกครั้งหนึ่ง พระเมฆิยะเป็นพระอุปฐากพระผู้มีพระภาค พระองค์เสด็จไปยังชันตุคาม เขตปาจีนวังสะมีพระเมฆิยะตามเสด็จ เวลาเช้าพระเมฆิยะไปบิณฑบาตในชันตุคาม กลับจากบิณฑบาตแล้วท่านเดินผ่านสวนมะม่วงอันน่ารื่นรมย์แห่งหนึ่ง ปรารถนาจะไปบำเพ็ญสมณธรรมที่นั่น จึงกราบทูลขออนุญาตพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงห้ามถึงสามครั้งว่า

           "อย่าเพิ่งไปเลย - เมฆิยะ เวลานี้เราอยู่คนเดียว ขอให้ภิกษุอื่นมาแทนเสียก่อนแล้วเธอจึงค่อยไป"

           ความจริงพระพุทธองค์ทรงเห็นอุปนิสัยของพระเมฆิยะว่ายังไม่สมควรที่จะไป จึงไม่ทรงอนุญาต หาใช่เพราะทรงคำนึงถึงความลำบากไม่ และไม่ใช่พระองค์จะไม่ทรงเห็นความจำเป็นในการบำเพ็ญสมณธรรม เกี่ยวกับเรื่องสมณธรรมนั้น พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมให้ภิกษุกระทำอยู่เสมอ

           พระเมฆิยะไม่ยอมฟังคำท้วงติงของพระพุทธองค์ ละทิ้งพระองค์ไว้แล้วไปสู่สวนมะม่วงอันร่มรื่น บำเพ็ญสมณธรรมทำจิตให้สงบ แต่ก็หาสงบไม่ ถูกวิตกทั้งสามรบกวนจนไม่อาจให้จิตสงบได้เลย วิตกทั้งสามนั้นคือกามวิตก - ความตรึกเรื่องกาม พยาบาทวิตก - ความตรึกในทางปองร้าย และวิหิงสาวิตก - ความตรึกในทางเบียดเบียน ในที่สุดจึงกลับมาเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า

           "เมฆิยะเอย! จิตนี้เป็นสิ่งที่ดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายาก ห้ามได้ยาก ผู้มีปัญญาจึงพยายามทำจิตนี้ให้หายดิ้นรน และเป็นจิตตรงเหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรง

           เมฆิยะเอย! จิตนี้คอยแต่จะกลิ้งเกลือกลงไปคลุกเคล้ากับกามคุณ เหมือนปลาซึ่งเกิดในน้ำถูกนายพรานเบ็ดยกขึ้นจากน้ำแล้ว คอยแต่จะดิ้นลงไปในน้ำอยู่เสมอ ผู้มีปัญญาจึงพยายามยกจิตขึ้นจากอาศัยในกามคุณ ให้ละบ่วงมารเสีย"

           ภายใน ๒๐ ปีแรก จำเดิมแต่การตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค คือระหว่างพระชนมายุ ๓๕ ถึง ๕๔ พรรษา พระพุทธองค์ ไม่มีพระสาวกผู้อยู่อุปฐากประจำ บางคราวก็เป็นพระอุปวาณะ บางคราวพระนาคิตะ บางคราวพระสุนักขัตตะ บางคราวพระสาคตะ บางคราวพระราธะ บางคราวพระนาคสมาละ และบางคราวพระเมฆิยะที่กล่าวแล้ว บางคราวก็เป็นสามเณรจุนทะ น้องชายพระสารีบุตร

           พระผู้มีพระภาคได้รับความลำบากด้วยการที่ภิกษุผู้อุปฐากไม่รู้พระทัยของพระองค์ ต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยๆ ถ้าจะมีผู้สงสัยว่า เหตุไฉนพระพุทธเจ้าจึงต้องมีพระอุปฐากประจำด้วย ดูๆ จะมิเป็นการยังถือยศศักดิ์ถือฐานะอยู่หรือ? เรื่องนี้ถ้าพิจารณาด้วยดี จะเห็นความจำเป็นที่พระองค์จะต้องมีพระอุปฐากประจำ หรือผู้รับใช้ใกล้ชิด เพราะพระองค์ต้องทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า ต้องมีการประชุมสงฆ์เป็นคราวๆ และต้องต้อนรับคฤหัสถ์บรรพชิตมากหลาย ที่มาเฝ้าเพื่อถวายปัจจัยบ้าง เพื่อทูลถามปัญหาข้อข้องใจบ้าง ในบรรดาผู้มาเฝ้าเหล่านั้น ที่เป็นมาตุคามก็มีมาก จะเห็นว่าพระองค์ไม่ควรประทับอยู่แต่ลำพัง แต่ก็มีนานๆ ครั้งที่พระศาสดาทรงปลีกพระองค์ไปประทับแต่ลำพัง ในระยะนั้นเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ไม่ทรงต้อนรับผู้ใด ทรงหลีกเร้นอยู่เพื่อแสวงหาความสุขในปัจจุบัน ที่เรียกว่า "ทิฏฐธรรมสุขวิหาร"

           ด้วยประการดังกล่าวมานี้ จึงคราวหนึ่ง เมื่อพระองค์ประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถีราชธานีแห่งแคว้นโกศล พระเถระชั้นผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก มีพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ เป็นต้น มาประชุมกันพร้อม พระผู้มีพระภาคทรงปรารภในท่ามกลางสงฆ์ว่า บัดนี้พระองค์ทรงพระชราแล้ว ภิกษุผู้อุปฐากพระองค์ บางรูปก็ทอดทิ้งพระองค์ไปเสียเฉยๆ บางรูปวางบาตร และจีวรของพระองค์ไว้บนพื้นดินแล้วเดินจากไป จึงขอให้สงฆ์เลือกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งขึ้นรับตำแหน่งอุปฐากพระองค์เป็นประจำ

           ภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสนี้แล้ว มีความสังเวชสลดจิตอย่างยิ่ง พระสารีบุตรกราบบังคมทูลขึ้นก่อนว่า

           "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นดวงตาของโลก! ข้าพระพุทธเจ้าขออาสา รับเป็นอุปฐากปฏิบัติพระองค์เป็นประจำ ขอพระผู้มีพระภาคอาศัยความอนุเคราะห์รับข้าพระองค์เป็นอุปฐากเถิด"

           พระผู้มีพระภาคตรัสตอบขอบใจพระสารีบุตร แล้วตรัสว่า "สารีบุตร! อย่าเลย - เธออย่าทำหน้าที่อุปฐากเราเลย เธออยู่ ณ ที่ใดที่นั้นก็มีประโยชน์มาก โอวาทคำสั่งสอนของเธอเป็นเหมือนโอวาทของพระพุทธเจ้า เธอสามารถหมุนธรรมจักรให้เป็นประโยชน์สุขแก่ปวงชนเช่นกับด้วยเรา ผู้ได้เข้าใกล้เธอเหมือนได้เข้าใกล้เรา ผู้ที่สนทนากับเธอเหมือนได้สนทนากับเรา"

           ต่อจากนั้นพระมหาเถระรูปอื่นๆ ต่างก็แสดงความจำนงจะเป็นอุปฐากปฏิบัติพระพุทธองค์เป็นประจำ แต่พระองค์ทรงห้ามเสียทั้งสิ้น เหลือแต่พระอานนท์เท่านั้นที่ยังคงนั่งเฉยอยู่ พระสารีบุตรจึงกล่าวเตือนพระอานนท์ขึ้นว่า

           "อานนท์! เธอไม่เสนอเพื่อรับเป็นอุปฐากพระผู้มีพระภาคหรือ ทำไมจึงนั่งเฉยอยู่"

"ข้าแต่ท่านธรรมเสนาบดี" พระอานนท์ตอบ "อันตำแหน่งที่ขอได้มานั้นจะประเสริฐอะไร อีกประการหนึ่งเล่า พระผู้มีพระภาคก็ทรงทราบอัธยาศัยของข้าพเจ้าอยู่ ถ้าพระองค์ทรงประสงค์ก็คงจะตรัสให้ข้าพเจ้าเป็นอุปฐากของพระองค์เอง ความรู้สึกของข้าพเจ้าที่มีต่อพระผู้มีพระภาคเป็นอย่างไร พระองค์ก็ทรงทราบอยู่แล้ว"

           ที่ประชุมเงียบไปครู่หนึ่ง ไม่มีผู้ใดไหวกายหรือวาจาเลย เงียบสงบเหมือนไม่มีพระภิกษุอาศัยอยู่ ณ ที่นั้นเลย ภิกษุทุกรูปนั่งสงบ ไม่มีแม้แต่เพียงไอหรือจามหรืออาการกระดุกกระดิก พระผู้มีพระภาคตรัสขึ้นท่ามกลางความเงียบขึ้นว่า

           "ภิกษุทั้งหลาย! อานนท์มีความประสงค์ที่จะอุปฐากเราอยู่แล้ว เป็นเพียงขอให้สงฆ์รับทราบเท่านั้น เพราะฉะนั้นตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อานนท์จักอุปฐากเรา"

           เป็นความรอบคอบสุขุมของพระผู้มีพระภาคที่ตรัสเช่นนั้น ความจริงหากพระองค์จะไม่ตรัสในที่ประชุมสงฆ์ แต่ตรัสเฉพาะพระอานนท์เอง พระอานนท์ก็พอใจที่จะอุปฐากอยู่ใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา แต่เพื่อจะยกย่องพระอานนท์ และให้สงฆ์รับทราบในอัธยาศัยของพระอานนท์ พระองค์จึงปรารภเรื่องนี้ท่ามกลางสงฆ์ ความเป็นจริงพระอานนท์ได้สั่งสมบารมีมาเป็นเวลาหลายร้อยชาติ เพื่อตำแหน่งอันมีเกียรตินี้

           พระอานนท์เป็นผู้รอบคอบ มองเห็นกาลไกล เมื่อพระผู้มีพระภาคและสงฆ์มอบตำแหน่งนี้ไว้แล้ว จึงทูลของเงื่อนไขบางประการดังนี้

           "ข้าแต่พระผู้เป็นนาถาของโลก! เมื่อข้าพระองค์รับเป็นพุทธอุปฐากแล้ว ข้าพระองค์ทูลขอพระกรุณาบางประการ คือ

           ๑. ขอพระองค์อย่าได้ประทานจีวรอันประณีตที่มีผู้นำมาถวายแก่ข้าพระองค์เลย

           ๒. ขอพระองค์อย่าได้ประทานบิณฑบาต อันประณีตที่พระองค์ได้แล้วแก่ข้าพระองค์

           ๓. ขอพระองค์อย่าได้ให้ข้าพระองค์อยู่ในที่ๆ เดียวกันกับที่พระองค์ประทับ

           ๔. ขออย่าได้พาข้าพระองค์ไปในที่นิมนต์ ซึ่งพระองค์รับไว้

           "ดูก่อนอานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไรจึงขอเงื่อนไข ๔ ประการนี้"

           "ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลขอพร ๔ ประการนี้ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ ว่าข้อพระองค์รับตำแหน่งพุทธอุปฐาก เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ"

           พระอานนท์ยังได้ทูลขึ้นอีกในบัดนี้ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษสูงสุด! ข้ออื่นยังมีอีกคือ

           ๕. ขอพระองค์โปรดกรุณา เสด็จไปสู่ที่นิมนต์ ซึ่งข้าพระองค์รับไว้เพื่อพระองค์ไม่อยู่

           ๖. ขอให้ข้าพระองค์ได้พาพุทธบริษัทเข้าเฝ้าพระองค์ได้ในขณะที่เขามาเพื่อจะเฝ้า

           ๗. ถ้าข้าพระองค์มีความสงสัยเรื่องใด เมื่อใดขอให้ได้เข้าเฝ้าทูลถามได้ทุกโอกาส"

           "อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพร ๓ ประการนี้!"

           "ข้าพระองค์ทูลขอ เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ข้าพระองค์บำรุงพระองค์อยู่ทำไมกัน เรื่องเพียงเท่านี้พระองค์ก็ไม่ทรงสงเคราะห์ ข้าแต่พระจอมมุนี ข้ออื่นยังมีอีก คือ

           ๘. ถ้าพระองค์แสดงพระธรรมเทศนา ในที่ใดแก่ผู้ใด ซึ่งข้าพระองค์มิได้อยู่ด้วย ขอได้โปรดเล่าพระธรรมเทศนานั้นแก่ข้าพระองค์อีกครั้งหนึ่ง"

           "อานนท์! เธอเห็นประโยชน์อย่างไร จึงขอพรข้อนี้?"

           "ข้าแต่พระจอมมุนี! ข้าพระองค์ทูลขอพรข้อนี้เพื่อป้องกันมิให้คนทั้งหลายตำหนิได้ว่า ดูเถิด พระอานนท์เฝ้าติดตามพระศาสดาอยู่เหมือนเงาตามตัว แต่เมื่อถามถึงพระสูตร หรือชาดก หรือคาถา ว่าสูตรนี้ ชาดกนี้ คาถานี้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ใคร ที่ไหนก็หารู้ไม่ เรื่องเพียงเท่านี้ยังไม่รู้ จะมัวติดตามพระศาสดาอยู่ทำไม เหมือนกบอยู่ในสระบัว แต่หารู้ถึงเกสรบัวไม่"

           พระพุทธองค์ ประทานพรทั้ง ๘ ประการ แก่พระอานนท์พุทธอนุชาตามปรารถนาและพระอานนท์ก็รับตำแหน่งพุทธอุปฐากตั้งแต่บัดนั้นมา พระผู้มีพระภาคมีพระชนมายุได้ ๕๕ พรรษา เป็นปีที่ ๒๐ จำเดิมแต่ตรัสรู้ ส่วนพระอานนท์มีอายุได้ ๕๕ ปีเช่นกัน แต่มีพรรษาได้ ๑๙ จำเดิมแต่อุปสมบท.

 

 

สารบัญ
๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร ๑๘. ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา
๒. ๑๙.
๓. พุทธุปฐากผู้เป็นบัณฑิต ๒๐. ปุพพูปการของพระพุทธอนุชา
๔. ๒๑.
๕. ๒๒.
๖. ความรัก - ความร้าย ๒๓. คราวเมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขาร
๗. ๒๔.
๘. โกกิลาผู้ประหารกิเลส ๒๕. ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร
๙. ๒๖.
๑๐. ณ ป่าประดู่ลาย ๒๗. อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน
๑๑. ๒๘.
๑๒. สุทัตตะสร้างอารามเชตวัน ๒๙. วันหนึ่งก่อนวันประชุมสังคายนา
๑๓. ๓๐.
๑๔. มหาอุบาสิกานามวิสาขา ๓๑. จุตรงคพลและวิมลมาน
๑๕. ๓๒.
๑๖. นางบุญและนางบาป ๓๓. ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ
๑๗.  
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน