พระพุทธองค์เสด็จมาถึงปาวาลเจดีย์
ประทับภายใต้ต้นไม้ซึ่งมีเงาครึ้มต้นหนึ่ง ตรัสกับพระอานนท์ว่า
"อานนท์!
ผู้อบรมอิทธิบาท ๔ มาอย่างดีแล้ว ทำจนแคล่วคล่องแล้วอย่างเรานี้
ถ้าปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ถึง ๑ กัปป์ คือ ๑๒๐ ปี ก็สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้"
พระโลกนาถตรัสดังนี้ถึงสามครั้ง แต่พระอานนท์ก็คงเฉย
มิได้ทูลอะไรเลย ความวิตกกังวลและความเศร้าของท่านมีมากเกินไป
จนปิดบังดวงปัญญาเสียหมดสิ้น ความจงรักภักดีอย่างเหลือล้นที่ท่านมีต่อพระศาสดานั้น
บางทีก็ทำให้ท่านลืมเฉลียวถึงความประสงค์ของผู้ที่ท่านจงรักภักดีนั้น
ปล่อยโอกาสทองให้ล่วงไปอย่างน่าเสียดาย
เมื่อเห็นพระอานนท์เฉยอยู่พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
"อานนท์! เธอไปพักผ่อนเสียบ้างเถิด เธอเหนื่อยมากแล้ว
แม้ตถาคตก็จะพักผ่อนเหมือนกัน พระอานนท์จึงหลีกไปพักผ่อน
ณ โคนต้นไม้อีกต้นหนึ่ง
ณ
บัดนั้น พระตถาคตเจ้าทรงรำพึงถึงอดีตกาลนานไกล ซึ่งล่วงมาแล้วถึง
๔๕ ปี สมัยเมื่อพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ท้อพระทัยในการที่จะประกาศสัจธรรมเพราะเกรงว่าจะทรงเหนื่อยเปล่า
แต่อาศัยพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงตกลงพระทัยย่ำธรรมเภรี
และครานั้นพระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า ถ้าบริษัททั้ง
๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ยังไม่เป็นปึกแผ่นมั่นคง
ยังไม่สามารถย่ำยีปรุปวาท คือคำกล่าวจ้วงจาบล่วงเกินจากพาหิรลัทธิที่จะพึงมีต่อพระพุทธธรรม
คำสอนของพระองค์ยังไม่แพร่หลายเพียงพอตราบใด พระองค์ก็จะยังไม่นิพพานตราบนั้น
ก็แลบัดนี้
พระธรรมคำสอนของพระองค์แพร่หลายเพียงพอแล้ว ภิกษุ ภิกษุณี
อุบาสก อุบาสิกา ฉลาดสามารถพอที่จะดำรงพรหมจรรย์ศาสโนวาทของพระองค์แล้ว
เป็นกาลสมควรแล้วที่พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน
ทรงดำริดังนี้แล้ว
จึงทรงปลงพระชนม์มายุสังขารคือตั้งพระทัยแน่วแน่ว่า
พระองค์จักปรินิพพานในวันวิสาขะปุรณมีคือวันเพ็ญเดือน
๖
อันว่าบุคคลผู้มีกำลังกลิ้งศิลามหึมาแท่งทึบจากหน้าผา
ลงสู่สระย่อมก่อความกระเพื่อมสั่นสะเทือนแก่น้ำในสระนั้นฉันใด
การปลงพระชนม์มายุสังขารอธิษฐานพระทัยว่า จะปรินิพพานของพระอนาวณญาณก็ฉันนั้น
ก่อความวิปริตแปรปรวนแก่โลกธาตุทั้งสิ้น มหาปฐพีมีอาการสั่นสะเทือนเหมือนหนังสัตว์ที่เขาขึงไว้แล้วตีด้วยไม้ท่อนใหญ่ก็ปานกัน
รุกขสาขาหวั่นไหวไกวแกว่งด้วยแรงวายุโบกสะบัดใบอยู่พอสมควร
แล้วนิ่งสงบมืออาการประหนึ่งว่าเศร้าโศกสลดในเหตุการณ์ครั้งนี้
เหมือนกุมารีนางน้อยคร่ำครวญปริเทวนาถึงมารดาผู้จะจากไปจนสลบแน่นิ่ง
ณ เบื้องบนท้องฟ้าสีครามกลายเป็นแดงเข้มดุจเสื่อลำแพน
ซึ่งไล้ด้วยเลือดสด ปักษาชาติร้องระงมสนั่นไพรเหมือนจะประกาศว่าพระผู้ทรงมหากรุณากำลังจะจากไปในไม่ช้านี้
พระอานนท์สังเกตเห็นความวิปริตแปรปรวนของโลกธาตุดังนี้
จึงเข้าเฝ้าพระจอมมุนีทูลถามว่า "พระองค์ผู้เจริญ!
โลกธาตุนี้วิปริตแปรปรวนผิดปกติไม่เคยมี ไม่เคยเป็นได้เป็นแล้วเพราะเหตุอะไรหนอ?"
พระทศพลเจ้าตรัสว่า
"อานนท์เอย! อย่างนี้แหละ คราใดที่ตถาคตประสูติ
ตรัสรู้ หมุนธรรมจักร ปลงอายุสังขาร และนิพพาน ครานั้นย่อมจะมีเหตุการณ์วิปริตอย่างนี้เกิดขึ้น"
พระอานนท์ทราบว่า
บัดนี้พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขารเสียแล้ว ความสะเทือนใจและว้าเหว่ประดังขึ้นมาจนอัสสุชลธาราไหลหลั่งสุดห้ามหัก
เพราะความรักเหลือประมาณที่ท่านมีในพระเชฏฐภาดาท่านหมอบลงที่พระบาทมูลแล้วทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ!
ขอพระองค์อาศัยความกรุณาในข้าพระองค์และหมู่สัตว์ จงดำรงพระชนม์ชีพต่อไปอีกเถิดอย่าเพิ่งด่วนปรินิพพานเลย"
กราบทูลเท่านี้แล้วพระอานนท์ก็ไม่อาจทูลอะไรต่อไปอีก
เพราะโศกาดูรท่วมท้นหทัย
"อานนท์เอย!"
พระศาสดาตรัสพร้อมด้วยทอดทัศนาการไปเบื้องพระพักตร์อย่างสุดไกล
มีแววแห่งความเด็ดเดี่ยวฉายออกมาทางพระเนตร และพระพักตร์
"เป็นไปไม่ได้ที่จะให้ตถาคตกลับใจ ตถาคตจะต้องปรินิพพานในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะอีก
๓ เดือนข้างหน้านี้ อานนท์! เราได้แสดงนิมิตโอภาสอย่างแจ่มแจ้งแก่เธอพอเป็นนัยมาไม่น้อยกว่า
๑๖ ครั้งแล้วว่าคนอย่างเรานี้มีอิทธิบาทภาวนาที่ได้อบรมมาด้วยดี
ถ้าประสงค์จะอยู่ถึงหนึ่งกัปป์คือ ๑๒๐ ปี ก็พออยู่ได้
แต่เธอหาเฉลียวใจไม่ มิได้ทูลเราเลย เราตั้งใจไว้ว่าในคราวก่อนๆ
นี้ ถ้าเธอทูลให้เราอยู่ต่อไปเราจะห้ามเสียสองครั้ง
พอเธอทูลครั้งที่ ๓ จะรับอาราธนาของเธอ แต่บัดนี้ช้าเสียแล้ว
เราไม่อาจกลับใจได้อีก" พระศาสดาหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตรัสต่อไปว่า
"อานนท์!
เธอยังจำได้ไหม ครั้งหนึ่ง ณ ภูเขาซึ่งมีลักษณะยอดเหมือนนกแร้ง
อันได้นามว่า "คิชฌกูฏ" ภายใต้ภูเขานี้มีถ้ำอันขจรนามชื่อ
สุกรขาตา ณ ถ้ำนี้เองสาวกผู้เลื่องลือว่าเลิศทางปัญญาของเราคือสารีบุตรได้ถอนตัณหานุสัยโดยสิ้นเชิง
เพียงเพราะฟังคำที่เราสนทนากับหลานชายของเธอผู้มีนามว่าฑีฆนขะ
เพราะไว้เล็บยาว
"เมื่อสารีบุตรมาบวชในสำนักของเราแล้วฑีฆนขะปริพพาชกเที่ยวตามหาลุงของตน
มาพบลุงของเขาคือสารีบุตรถวายงานพัดเราอยู่ จึงพูดเปรยๆ
เป็นเชิงกระทบกระเทียบว่า "พระโคดม! ทุกสิ่งทุกอย่างข้าพเจ้าไม่พอใจหมด"
ซึ่งรวมความว่า เขาไม่พอใจเราด้วยเพราะตถาคตก็รวมอยู่ในคำว่า
'ทุกสิ่งทุกอย่าง' เราได้ตอบเขาไปว่า "ถ้าอย่างนั้น
เธอควรจะไม่พอใจความคิดเห็นอันนั้นของเธอเสียด้วย"
"อานนท์!
เราได้แสดงธรรมอื่นอีกเป็นอเนกปริยาย สารีบุตรถวายงานพัดไปฟังไป
จนจิตของเธอหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง
"อานนท์เอย!
ณ ภูเขาคิชฌกูฏดังกล่าวนี้ เราเคยพูดกับเธอว่า คนอย่างเราถ้าจะอยู่ต่อไปอีก
๑ กัปป์ หรือเกินกว่านั้นก็พอได้ แต่เธอก็หารู้ความหมายแห่งคำที่เราพูดไม่
"อานนท์!
ต่อมาที่โคตมนิโครธที่เหวสำหรับทิ้งโจรที่ถ้ำสัตตบรรณใกล้เวภารบรรพตที่กาฬศิลาใกล้เขาอิสิคิลิ
ซึ่งเลื่องลือมาแต่โบราณกาลว่า เป็นที่อยู่อาศัยของพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นอันมาก
เมื่อท่านเข้าไป ณ ที่นั้นแล้วไม่มีใครเห็นท่านออกมาอีกเลย
จึงกล่าวขานกันว่าอิสิคิลิบรรพต ที่เงื้อมเขาชื่อสัปปิโสณทิกาใกล้ป่าสีตวันที่ตโปทาราม
ที่เวฬุวันสวนไผ่อันร่มรื่นของจอมเสนาแห่งแคว้นมคธ ที่สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจ
ที่มัททกุจฉิมิคาทายวัน ทั้ง ๑๐ แห่งนี้อยู่ ณ เขตแขวงราชคฤห์
"ต่อมาเมื่อเราทิ้งราชคฤห์ไว้เบื้องหลัง
แล้วจาริกสู่เวสาลีนครอันรุ่งเรืองยิ่ง เราก็ได้นัยแกเธออีกถึง
๖ แห่ง คือที่อุเทนเจดีย์ สัตตัมพเจดีย์ โคตมกเจดีย์
พหุปุตตเจดีย์ สารันทเจดีย์ และปาวาลเจดีย์เป็นแห่งสุดท้าย
คือสถานที่ซึ่งเราอยู่ ณ บัดนี้ แต่เธอก็หาเฉลียวใจไม่
ทั้งนี้เป็นความบกพร่องของเธอเอง เธอจะคร่ำครวญเอาอะไรอีก
"อานนท์เอย!
บัดนี้สังขารอันเป็นเหมือนเกวียนชำรุดนี้เราได้สละแล้ว
เรื่องที่จะดึงกลับคืนมาอีกนั้นมิใช่วิสัยแห่งตถาคต
อานนท์! เรามิได้ปรักปรำเธอ เธอเบาใจเถิด เธอได้ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว
บัดนี้เป็นกาลสมควรที่ตถาคตจะจากโลกนี้ไป แต่ยังเหลือเวลาอีกถึง
๓ เดือน บัดนี้สังขารของตถาคตเป็นเสมือนเรือรั่ว คอยแต่เวลาจะจมลงสู่ท้องธารเท่านั้น
"อานนท์!
เราเคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่าบุคคลย่อมต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พึงใจเป็นธรรมดาหลีกเลี่ยงไม่ได้
อานนท์เอย! ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด สิ่งทั้งหลายมีความแตกไป
ดับไป สลายไป เป็นธรรมดา จะปรารถนามิให้เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นนั้น
เป็นฐานะที่ไม่พึงหวังได้ ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเคลื่อนไปสู่จุดสลายตัวอยู่ทุกขณะ"
แลแล้วพระจอมศาสดาก็เสด็จไปยังภัณทุคาม
และโภคนครตามลำดับ ในระหว่างนั้นทรงให้โอวาทภิกษุทั้งหลายด้วยพระธรรมเทศนาอันเป็นไป
เพื่อโลกุตตราริยกรรม กล่าวคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุต
และวิมุตญาณทรรศนะ เป็นต้นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย!
ศีลเป็นพื้นฐานเป็นที่รองรับคุณอันยิ่งใหญ่ ประหนึ่งแผ่นดินเป็นที่รองรับและตั้งลงแห่งสิ่งทั้งหลายทั้งที่มีชีพและหาชีพมิได้
เป็นต้นว่าพฤกษาลดาวัลย์มหาสิงขร และสัตว์ตุบททวิบาทนานาชนิด
บุคคลผู้มีศีลเป็นพื้นใจย่อมอยู่สบาย มีความปลอดโปร่งเหมือนเรือนที่บุคคลปัดกวาดเช็ดถูเรียบร้อย
ปราศจากเรือดและฝุ่นเป็นที่รบกวน
"ศีลนี่เองเป็นพื้นฐานให้เกิดสมาธิ
คือความสงบใจ สมาธิที่มีศีลเป็นเบื้องต้น เป็นพื้นฐานย่อมเป็นสมาธิที่มีผลมาก
มีอานิสงส์มาก บุคคลผู้มีสมาธิย่อมอยู่อย่างสงบ เหมือนเรืยนที่มีฝาผนัง
มีประตู หน้าต่างปิดเปิดได้เรียบร้อย มีหลังคาสำหรับป้องกันลมแดดและฝน
ผู้อยู่ในเรือนเช่นนี้ฝนตกก็ไม่เปียก แดดออกก็ไม่ร้อนฉันใด
บุคคลผู้มีจิตเป็นสมาธิดีก็ฉันนั้น ย่อมสงบอยู่ได้ไม่กระวนกระวาย
เมื่อลมแดดและฝน กล่าวคือโลกธรรม แผดเผากระพือพัดซัดสาดเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า
สมาธิอย่างนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญญาในการฟาดฟันย่ำยีและเชือดเฉือนกิเลสอาสวะต่างๆ
ให้เบาบางและหมดสิ้นไป เหมือนบุคคลผู้มีกำลังจับศาตราอันคมกริบ
แล้วถางป่าให้โล่งเตียนก็ปานกัน
"ปัญญาซึ่งมีสมาธิเป็นรากฐานนั้นย่อมปรากฏดุจไฟดวงใหญ่กำจัดความมืดให้ปลาสนาการ
มีแสงสว่างรุ่งเรืองอำไพ ขับฝุ่นละอองคือกิเลสให้ปลิวหาย
ปัญญาจึงเป็นดุจประทีปแห่งดวงใจ
"อันว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ผ่องใสอยู่โดยปกติแต่เศร้าหมองไปเพราะคลุกเคล้าด้วยกิเลสนานาชนิด
ศีล สมาธิ และปัญญา เป็นเครื่องฟอกจิตใจให้ขาวสะอาดดังเดิม
จิตที่ฟอกแล้วด้วยศีล สมาธิ และปัญญาย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง"
"ภิกษุทั้งหลาย!
บุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วจากอาสวะ ย่อมพบกับปีติปราโมชอันใหญ่หลวง
รู้สึกตนว่าได้พบขุมทรัพย์มหึมา หาอะไรเปรียบมิได้ เอิบอาบซาบซ่านด้วยธรรม
ตนของตนเองนั่นแล เป็นผู้รู้ว่า บัดนี้กิเลสานุสัยต่างๆ
ได้สิ้นไปแล้ว ภพใหม่ไม่มีอีกแล้ว เหมือนบุคคลผู้ตัดแขนขาด
ย่อมรู้ด้วยตนเองว่า บัดนี้แขนของตนขาดแล้ว"
"โอวาทานุศาสนี
ของพระผู้มีพระภาคส่วนใหญ่เป็นไปเยี่ยงนี้
ข่าวการปลงพระชนมายุสังขาร
ของพระศาสดาแผ่กระจายไปทั่วสังฆมณฑล ประดุจบุรุษผู้มีกำลังกระพือผ้าขาวคลุมบริเวณเนื้อที่อันน้อย
บัดนี้สาวกของพระองค์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตรู้สึกว้าเหว่
หวิวหวั่นและเลื่อนลอย สาวกที่เป็นปุถุชนไม่อาจกลั้นอัสสุธาราไว้ได้
มีใบหน้าอาบด้วยน้ำตา ประชุมกันเป็นกลุ่มๆ รำพึงรำพันอยู่ว่า
พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพานเสียแล้ว พวกเราจะทำอย่างไรหนอ
ส่วนสาวกผู้เป็นขีณาสพสิ้นอาสวะแล้วก็ได้แต่ปลงธรรมสังเวช
คือความสลดใจตามแบบพระอริยะ
ภิกษุรูปหนึ่งได้นามว่า
ธัมมาราม คิดว่า อีก ๓ เดือนข้างหน้าพระตถาคตเจ้าจะปรินิพพาน
เราบวชในสำนักของพระองค์ แต่ยังมีอาสวะกิเลสอยู่ กระไรหนอเราจะพึงเพียรพยายาม
เพื่อบรรลุอรหัตตผลในเวลาที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่
คิดดังนี้แล้ว ท่านมิได้จับกลุ่มกับภิกษุอื่นๆ มิได้เศร้าโศก
ปลีกตนออกไปอยู่แต่ผู้เดียว พยายามทำสมณะและวิปัสสนา
ภิกษุทั้งหลายอื่นเห็นพฤติการณ์ดังนี้
เข้าใจว่าภิกษุธัมมารามหาความรักความอาลัยในพระผู้มีพระภาคมิได้
จึงนำข้อความนั้นกราบทูลพระพุทธองค์
"พระเจ้าข้า"
ภิกษุทูล "ภิกษุชื่อธัมมารามหาความรักความอาลัยในพระองค์มิได้เลย
เมื่อทราบว่าพระองค์จะปรินิพพานก็หาได้แสดงอาการเศร้าโศกอย่างใดไม่
ปลีกตนไปอยู่แต่ผู้เดียวไม่เกี่ยวข้องไต่ถามเรื่องราวของพระองค์เลย"
พระศาสดารับสั่งให้พระธัมมารามเข้าเฝ้า
ตรัสถามว่า "ธัมมาราม!" ได้ยินว่าเธอทำอย่างที่ภิกษุทั้งหลายกล่าวนี้หรือ?"
"พระพุทธเจ้าข้า"
พระธัมมารามทูลรับ
"ทำไมเธอจึงทำอย่างนั้น
เธอไม่อาลัยใยดีในตถาคตหรือ?" พระศาสดาตรัสถาม
"หามิได้พระเจ้าข้า
ข้าพระองค์คิดว่า ข้าพระองค์บวชแล้วในสำนักของพระองค์ผู้สรรเสริญความเพียรพยายาม
บัดนี้พระองค์จะนิพพานแล้ว ทำไฉนหนอ ข้าพระองค์จะพึงทำความเพียรเพื่อบรรลุธรรมอันสูงสุด
เพื่อบูชาพระองค์ตั้งแต่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ข้าพระองค์จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว"
พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานออก
๓ ครั้งว่า "ดีแล้ว ภิกษุ!" แล้วผินพระพักตร์มาตรัสกับภิกษุทั้งหลายอื่นว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! ผู้ใดมีความเสน่หาอาลัยในเรา พึงทำตนอย่างธัมมารามภิกษุนี้
การทำอย่างนี้ ชื่อว่าบูชาเคารพ นับถือเราด้วยอาการอันยอดยิ่ง
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุผู้ยินดีในธรรม ตรึกตรองธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่เสมอ
ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม ไม่เสื่อมจากพระนิพพาน"
แม้กระนั้นภิกษุทั้งหลายก็ไม่วายที่จะแวดล้อมพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง
พระศาสดาทรงเห็นดังนี้ จึงเตือนภิกษุเหล่านั้นให้พยายามแสวงหาวิเวก
เพื่อบรรลุคุณธรรมที่ยังมิได้บรรลุ เพื่อทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลส
ด้วยพระพุทธพจน์ว่า
ภิกษุทั้งหลาย!
บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ ๘ ประเสริฐที่สุด บรรดาบททั้งหลาย
บทสี่ คือ อริยสัจ ประเสริฐที่สุด บรรดาธรรมทั้งหลาย
วิราคะคือ การปราศจากความกำหนัดยินดี ประเสริฐที่สุด
บรรดาสัตว์ ๒ เท้า พระตถาคตเจ้าผู้มีจักษุ ประเสริฐที่สุด
มรรคมีองค์ ๘ นี่แลเป็นไปเพื่อทรรศนะอันบริสุทธิ์หาใช่ทางอื่นไม่
เธอทั้งหลายจงเดินไปตามทางมีองค์ ๘ นี้ อันเป็นทางที่ทำมารให้หลงติดตามไม่ได้
เธอทั้งหลายจงตั้งใจปฏิบัติเพื่อทำทุกข์ให้สูญสิ้นไป
ความเพียรพยายาม เธอทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกทางเท่านั้น
เมื่อปฏิบัติตนดังนั้น พวกเธอจักพ้นจากมารและบ่วงแห่งมาร"
พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า
"มาเถิดอานนท์! เราจักไปกุสินารานครด้วยกัน"
พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้วประกาศให้ภิกษุทั้งหลายทราบพร้อมกัน
แล้วดุ่มเดินจากสถานที่นั้นมุ่งสู่กุสินารานคร ในระหว่างทางทรงเหน็ดเหนื่อยมาก
จึงแวะเข้าร่มพฤกษ์ใบหนาต้นหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิ
ทำเป็นสี่ชั้น
"อานนท์!
เราเหน็ดเหนื่อยเหลือเกิน อาพาธก็มีอาการรุนแรงขึ้น
เร็วเข้าเถิด รีบปูสังฆาฏิลงเราจะนอนพักผ่อน และขอให้เธอไปนำน้ำมาดื่มพอแก้กระหาย"
"พระเจ้าข้า"
พระอานนท์ทูล "เกวียนเป็นจำนวนมากเพิ่งผ่านพ้นลำน้ำไปสักครู่นี่เอง
น้ำยังขุ่นอยู่ไม่ควรที่พระองค์จะดื่ม ขอเสด็จไปดื่ม
ณ แม่น้ำกกุธานทีเถิด มีน้ำใสจืดสนิท เย็นดี"
"อย่าเลย
อานนท์!" พระตถาคตตรัสเป็นเชิงวิงวอน "อย่าเลยจนถึงแม่น้ำกกุธานทีเลย
เรากระหายเหลือเกิน ร่างกายเร่าร้อน คอแห้งผาก เธอจงรีบไปนำน้ำมาเถิด"
พระอานนท์รับพุทธบัญชาแล้ว
ถือบาตรของพระตถาคตเจ้าไป ท่านมีอาการเศร้าซึมและวิตกกังวล
เมื่อมาถึงริมแม่น้ำยังมองเห็นน้ำขุ่นอยู่ ท่านมีอาการเหมือนว่าจะเดินกลับ
แต่ด้วยความเชื่อและห่วงใยในพระศาสดาจึงเดินลงไปอีก
พอท่านทำท่าจะตักขึ้นมาเท่านั้น น้ำซึ่งมีสีขุ่นขาวเพราะรอยเกวียนและโค
ก็ปรากฏเป็นน้ำใสสะอาด เหมือนกระจกเงาซึ่งหญิงสาวผู้รักสวยรักงามขัดไว้ดีแล้ว
ท่านจึงตักน้ำนั้นมา แล้วรีบเดินกลับ น้อมบาตรน้ำเข้าไปถวายพระศาสดา
พระพุทธองค์ทรงดื่มด้วยความกระหาย
พระอานนท์มองดูด้วยความชื่นชมในพุทธบารมี แล้วทูลว่า
"พระพุทธเจ้าข้า อัศจรรย์จริง! สิ่งที่ไม่เคยมีไม่เคยปรากฏได้มีและปรากฏแล้ว
เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ บารมีธรรมเป็นสิ่งน่าสั่งสมแท้"
แล้วท่านก็เล่าเรื่องน้ำที่ขุ่นกลับใสสะอาดโดยฉับพลัน
ให้พระผู้มีพระภาคสดับ พระจอมมุนีคงประทับสงบนิ่งด้วยอาการแห่งผู้เจนจบและเข้าใจในความเป็นไปทั้งปวง
ก่อนหน้านี้เพียงเล็กน้อย
เมื่อพระองค์ผ่านมาทางเมืองปาวา ประทับ ณ สวนมะม่วงของนายจุนทะบุตรนายช่างทอง
นางจุนทะทูลอาราธนารับภัตตาหาร ณ บ้านของตน แล้วจัดแจงขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีต
รุ่งขึ้นได้เวลาแล้ว อาราธนาพระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เพื่อเสวย
พระพุทธองค์ทอดทัศนาการเห็นสูกรมัทวะ อาหารชนิดหนึ่งซึ่งย่อยยาก
จึงรับสั่งให้ถวายแก่พระองค์แต่ผู้เดียว มิให้ถวายแก่ภิกษุรูปอื่น
เมื่อพระองค์เสวยแล้วก็รับสั่งให้ฝังเสีย
ดูเถิด!
พระมหากรุณาแห่งพระองค์มีถึงปานนี้ สำหรับพระองค์นั้นมิได้ห่วงใยในชีวิตแล้ว
เพราะถึงอย่างไรๆ ก็จะต้องนิพพานในคืนวันนี้แน่นอน ทรงเป็นห่วงภิกษุสาวกว่าจะลำบาก
ถ้าฉันอาหารที่ย่อยยากชนิดนั้น ประหนึ่งมารดาหรือบิดาผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมในบุตรของตน
ทราบว่าอะไรจะทำให้บุตรธิดาลำบาก ย่อมพร้อมที่จะรับความลำบากอันนั้นเสียเอง.