เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ พระอานนท์พุทธอานุชา ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ
 
๒๘. เมื่อสาลวโนทยานขาวด้วยมหาวิโยค

           ขอนำท่านมาสู่บริเวณสาลวโนทยาน กรุงกุสินาราอีกครั้งหนึ่ง

           ภายใต้แสงจันทร์สีนวลยองใยนั้น พระผู้มีพระภาคบรรทมเหยียดพระกายในท่าไสยาสน์ แวดล้อมด้วยพุทธบริษัทมากหลาย แผ่เป็นปริมณฑลกว้างออกไปๆ ประดุจดวงจันทร์ที่ถูกแวดวงด้วยกลุ่มเมฆก็ปานกัน

           พระพุทธองค์ตรัสกับพระอานนท์ว่า "อานนท์! เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว เธอทั้งหลายอาจจะคิดว่า บัดนี้พวกเธอไม่มีศาสดาแล้วจะพึงว้าเหว่ไร้ที่พึ่ง อานนท์เอย! พึงประกาศให้ทราบทั่วกันว่า ธรรมวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้วบัญญัติแล้ว ขอให้ธรรมวินัยอันนั้นจงเป็นศาสดาของพวกเธอแทนเราต่อไป เธอทั้งหลายจงมีธรรมวินัยเป็นที่พึ่ง อย่าได้มีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย"

           "อานนท์! อีกเรื่องหนึ่งที่เราจะสั่งเธอไว้ คือบัดนี้ภิกษุทั้งหลายเรียกกันว่า "อาวุโสๆ" ทั้งผู้แก่และผู้อ่อน ต่อไปนี้ขอให้ภิกษุผู้แก่พรรษากว่าพึงเรียกผู้อ่อนกว่าว่า "อาวุโส" (คุณ) ส่วนภิกษุผู้อ่อนพรรษากว่าพึงเรียกผู้แก่กว่าว่า "ภันเต" หรือ อายัสมา (ท่าน) ผ่อนผันตามควรแก่คารวโวหาร

           "อานนท์! อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องฉันนะ เธอเป็นพระที่ดื้อดึงมีทิฏฐิมานะมาก ไม่ยอมเชื่อฟังใคร ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อใคร เพราะถือดีว่าเคยเป็นข้าเก่าของเรา เคยใกล้ชิดเรามาก่อนใครๆ หมด เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ขอให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ คือเธอปรารถนาจะทำ จะพูดสิ่งใด หรือประสงค์จะอยู่อย่างไรก็ให้เธอทำ พูด และอยู่ ตามอัธยาศัย สงฆ์ไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนอะไรเธอ นี่เป็นวิธีลงพรหมทัณฑ์ คือการลงทัณฑ์ที่หนักที่สุดแบบอริยะ

           "อานนท์! อีกอย่างหนึ่ง คือสิกขาบัญญัติที่เราได้บัญญัติไว้เพื่อภิกษุทั้งหลายจะได้อยู่ด้วยกันอย่างผาสุก ไม่กินแหนงแคลงใจกัน มีธรรมเป็นเครื่องอยู่เสมอกัน สิกขาบทบัญญัติเหล่านั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์พร้อมใจกันจะถอนสิกขาบทเล็กน้อย ซึ่งขัดกับกาลกับสมัยเสียบ้างก็ได้ กาลเวลาล่วงไปสมัยเปลี่ยนไป จะเป็นความลำบากในการปฏิบัติสิกขาบทที่ไม่เหมาะสมัยเช่นนั้น เราอนุญาตให้ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้

           เมื่อพระอานนท์มิได้ถูกถามอะไร พระธรรมราชาจึงตรัสต่อไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ผู้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นี้ ผู้ใดมีความสงสัยเรื่องพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ในมรรคหรือปฏิปทาใดๆ ก็จงถามเสียบัดนี้ เธอทั้งหลายจะได้ไม่เสียใจภายหลังว่า มาอยู่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดาแล้ว มิได้ถามข้อสงสัยแห่งตน"

           ภิกษุทุกรูปเงียบกริบ บริเวณปรินิพพานมณฑลสงบเงียบไม่มีเสียงใดๆ เลย แม้จะมีพุทธบริษัทประชุมกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ตาม ทุกคนปรารถนาจะฟังแต่พระพุทธดำรัส เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเป็นครั้งสุดท้าย

           บัดนี้ พละกำลังของพระผู้มีพระภาคเจ้าเหลืออยู่น้อยเต็มทีแล้ว ประดุจน้ำที่เทราดลงไปในดินที่แตกระแหงย่อมพลันเหือดแห้งหายไป มิได้ปรากฏแก่สายตา ถึงกระนั้น พระบรมโลกนาถก็ยังประทานปัจฉิมโอวาทเป็นพระพุทธดำรัสสุดท้ายว่า

           "ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้เป็นวาระสุดท้ายแห่งเราแล้ว เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้จำมั่นไว้ว่า สิ่งทั้งปวง มีความเสื่อมและความสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงอยู่ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

           ย่างเข้าสู่ปัจฉิมยาม พระจันทร์โคจรไปทางขอบฟ้าทิศตะวันตกแล้ว แสงโสมสาดส่องผ่านทิวไม้ลงมา ท้องฟ้าเกลี้ยงเกลาปราศจากเมฆหมอก รัศมีแจ่มจรัสดูเหมือนจะจงใจส่องแสงเปล่งปลั่งเป็นพิเศษครั้งสุดท้ายแล้วสลัวลงเล็กน้อย เหมือนจงใจอาลัยในพระศาสดาผู้เป็นครูของเทวดาและมนุษย์

           พระผู้มีพระภาคมีพระกายสงบ หลับพระเนตรสนิท พระอนุรุทธเถระ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้น และได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคว่าเป็นเลิศทางทิพยจักษุ ได้เข้าฌานตาม ทราบว่าพระพุทธองค์เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว เข้าสู่อรูปสมาบัติ คืออากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ตามลำดับแล้วถอยกลับมาจาก สัญญาเวทยิตนิโรธ จนถึงปฐมฌาน และเข้าปฐมฌานไปจนถึงจตุตถฌานอีก เมื่อออกจากจตุตถฌาน ยังมิได้ทันได้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะ พระองค์ก็ปรินิพพานในระหว่างนั้น

           ในที่สุดแม้พระพุทธองค์เองก็ต้องประสบอวสานเหมือนคนทั้งหลาย พระธรรมที่พระองค์เคยพร่ำสอนมาตลอดพระชนม์ชีพว่าสัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นที่สุดนี้ เป็นสัจธรรม ที่ไม่ยกเว้นแม้แต่พระองค์เอง

           ตลอดเวลา ๔๕พรรษา ที่ทรงบำเพ็ญพุทธกิจนั้น ทรงลำบากตรากตรำอย่างยิ่งยวด ทรงเสวยเพียงวันละมื้อเพียงเพื่อให้มีพระชนม์อยู่เพื่อประโยชน์แก่โลก พระอัครสาวกทั้งสองได้ปรินิพพานไปก่อนแล้ว นิครนถ์ นาฏบุตร หรือ ศาสดามหาวีระ คู่แข่งผู้ยิ่งใหญ่ในการประกาศศาสนาก็ได้สิ้นชีพไปแล้ว อุบาสกผู้สละอย่างยิ่ง เช่น อนาถปิณฑกคฤหบดี ก็ละทิ้งสังขารของตนจากไปก่อนแล้ว ทั้งผู้ที่เป็นมิตรและตั้งตนเป็นศัตรูกับพระพุทธองค์ ต่างก็ทยอยกันเข้าไปสู่ปากแห่งมรณะกันตามลำดับๆ แม้พระองค์จะต้องนิพพานไปแล้ว แต่ศาสนายังอยู่ พระธรรมคำสอนของพระองค์ยังคงอยู่เป็นประทีปส่องโลกต่อไป จำนวนผู้เคารพเลื่อมใสในศาสนธรรมของพระองค์ได้เพิ่มพูนเอ่อสูงเหมือนน้ำที่บ่าสูงขึ้นโดยไม่มีเวลาลด รากแก้วแห่งพระพุทธศาสนาได้หยั่งลงแล้วอย่างแท้จริงในจิตใจของมนุษยชาติ

           นึกย้อนหลังไป เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนปรินิพพาน พระองค์เป็นผู้โดดเดี่ยว เมื่อปัญจวัคคีย์ทอดทิ้งไปแล้วพระองค์ก็ไม่มีใครอีกเลย ภายใต้โพธิบัลลังก์ครั้งกระนั้น แสงสว่างแห่งการตรัสรู้ได้โชติช่วงขึ้น พร้อมด้วยแสงสว่างแห่งรุ่งอรุณ พระองค์มีเพียงหยาดน้ำค้างบนใบโพธิพฤกษ์เป็นเพื่อน ต้องเสด็จจากโพธิมณฑลไปพาราณสีด้วยพระบาทเปล่าถึง ๑๐ วัน เพียงเพื่อหาเพื่อนผู้จะรับคำแนะนำของพระองค์สัก ๕ คน แต่มาบัดนี้ พระองค์มีภิกษุสาวกเป็นจำนวนแสนจำนวนล้าน มีหมู่ชนเป็นจำนวนมากเดินทางมาจากทิศานุทิศ เพียงเพื่อได้เข้าเฝ้าพระองค์ เพราะคนทั้งหลายรู้สึกว่า การได้เห็นพระพุทธเจ้าเป็นความสุขอย่างยิ่งของเขา

           เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ทรงมีเพียงหญ้าคามัดหนึ่งที่นายโสตถิยะนำมาถวาย และทรงทำเป็นที่รองประทับ มาบัดนี้ มีเสนาสนะมากหลายที่สวยงาม ซึ่งมีผู้ศรัทธาสร้างอุทิศถวายพระองค์ เช่น เชตวัน เวฬุวัน ชีวกัมพวัน มหาวัน ปุพพาราม นิโครธาราม โฆสิตาราม ฯลฯ เศรษฐี คหบดี ต่างแย่งชิงกันจองเพื่อให้พระองค์รับภัตตาหารของเขา แน่นอนทีเดียว หากพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ คงจะไม่ได้รับความนิยมเลื่อมใสถึงขนาดนี้และไม่ยืนนานถึงปานนี้

           เมื่อ ๔๕ ปีมาแล้ว ภายใต้โพธิพฤกษ์อันร่มเย็นริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระองค์ได้บรรลุแล้วซึ่งกิเลสนิพพาน กำจัดกิเลสและความมืดให้หมดไป และบัดนี้ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ และความเย็นเยือกแห่งปัจฉิมยาม พระองค์ก็ดับแล้วด้วยขันธ์นิพพาน

           สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีพระรูปอันวิจิตรด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ประดับด้วยอนุพยัญชนะ ๘๐ มีพระธรรมกายอันสำเร็จแล้วด้วยนานาคุณรัตนะ มีศีลขันธ์อันบริสุทธิ์ด้วยอาการทั้งปวงเป็นต้น ถึงฝั่งแห่งความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยยศ ด้วยบุญ ด้วยฤทธิ์ ด้วยกำลัง และด้วยปัญญา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นยังต้องดับแล้วด้วยการตกลงแห่งฝน คือมรณะ เหมือนกองอัคคีใหญ่ต้องดับมอดลง เพราะฝนห่าใหญ่ตกลงมาฉะนั้น

           พระองค์เคยตรัสไว้ว่า "ไม่ว่าพาล หรือบัณฑิต ไม่ว่ากษัตริย์ พราหมณ์ ไวศยะ ศูทร หรือจัณฑาล ในที่สุดก็ต้องบ่ายหน้าไปสู่ความตาย เหมือนภาชนะไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในที่สุดก็ต้องแตกสลายเหมือนกันหมด" นั้นช่างเป็นความจริงเสียนี่กระไร!

           อันว่าความตายนี้มีอิทธิพลยิ่งใหญ่นัก ไม่มีใครสามารถต้านทานต่อสู้ด้วยวิธีใดๆ ได้เลย ก้าวเข้าไปสู่ปราสาทแห่งกษัตริยาธิราช และแม้ในวงชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสง่าผ่าเผย ปราศจากความสะทกสะท้านใดๆ เช่นเดียวกับก้าวเข้าไปสู่กระท่อมน้อยของขอทาน พญามัจจุราชนี้เป็นตุลาการที่เที่ยงธรรมยิ่งนัก ไม่เคยลำเอียงหรือกินสินบนของใครเลย ย่อมพิจารณาคดีตามบทตายอัยการ ไม่ฟังเสียงคัดค้านและขอร้องของใคร ท่ามกลางเสียงคร่ำครวญอันระคนด้วยกลิ่นธูปควันเทียนนั้น ท่านได้ยื่นพระหัตถ์ออกกระชากให้ความหวังของทุกคนหลุดลอย และแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามพระบัญชาของพระองค์ เมื่อมาถึงจุดนี้ ความยิ่งใหญ่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นเพียงนิยายที่ไว้เล่าสู่กันฟังเท่านั้น

           มงกุฎประดับเพชรก็มีค่ากับหมวกฟาง พระคทาอันมีลวดลายวิจิตรก็เหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า เมื่อความตายมาถึงเข้า พระราชาก็ต้องถอดมงกุฎเพชรลงวาง ทิ้งพระคทาไว้ แล้วเดินเคียงคู่ไปกับชาวนาหรือขอทาน ผู้ซึ่งได้ทิ้งจอบ เสียม หมวกฟาง และคันไถ หรือภาชนะขอทานไว้ให้ทายาทของตน

           ใครเล่าจะต่อกรกับพระยามัจจุราชผู้เป็นใหญ่ในสิ่งที่ต้องตาย แต่ถ้าไม่มีความตายแล้ว มนุษย์ทั้งหลายก็จะมัวเมาประมาท และมีชีวิตอยู่อย่างทุกข์ทรมานมากกว่านี้ พระยามัจจุราชก็มีบุญคุณกับมนุษย์มากอยู่ เพราะเพียงแต่นึกถึงท่านบ่อยๆ เท่านั้น ก็ทำให้ความโลภโกรธและหลงสงบลง และเพียงแต่เอาชื่อของท่านไปขู่เท่านั้น ทำให้บุคคลบางคนวางมือจากความชั่วทุจริตที่เคยทำมา แต่ก็พระยามัจจุราชนี่เองที่กระชากเอาชีวิตของคนดีมีประโยชน์บางคนไปอย่างหน้าตาเฉย แม้ในโอกาสอันยังไม่ควร

           แม้ความงามอันเฉิดฉายของหญิงงามสะคราญตาร่านใจอันถูกยกย่องแล้วว่าเป็นหนึ่งในจักรวาล เป็นที่ต้องการปรารถนายิ่งนักของบุรุษทุกวัยในพื้นพิภพ เธอผู้งามพร้อมเช่นนี้ ในที่สุดก็ต้องเป็นเหยื่อของความตาย ผู้ไม่เคยยกเว้นและปรานีใครเลย เมื่อดาบแห่งมัจจุราชฟาดฟังลง ใช้บ่วงอันมีมหิทธานุภาพยิ่งนัก คล้องเอาดวงวิญญาณไปแล้ว ร่างอันงดงามเร้ากามคุณให้กำเริบนั้นก็พลันนอนนิ่งเหมือนท่อนไม้ มันไร้ค่ายิ่งกว่าท่อนไม้เสียอีก เพราะไม่อาจนำไปทำประโยชน์ใดๆ ได้เลย จะทำสัมภาระหรือเป็นเครื่องมือหุงข้างต้มแกงก็มิได้ มีแต่เป็นเหยื่อของหมู่หนอนเข้าชอนไช ให้ปรุพรุนเน่าเหม็นเป็นที่สะอิดสะเอียน แม้แก่บุคคลที่เคยรักเหมือนจะขาดใจ อะไรเล่าจะเป็นสาระในชีวิตมนุษย์นี้ นอกเสียจากความดีที่เคยบำเพ็ญและทิ้งไว้ให้โลกระลึกถึง และยกย่องบูชา

           ด้วยประการฉะนี้ เจ้าของแห่งเรือนร่างที่งดงามพริ้งเพรา ถ้ามัวแต่เมาในร่างอันไร้สาระของตน มิได้ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์ให้สมกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว คุณค่าของเขาจะสู้ก้อนอิฐปูนถนนได้อย่างไร

           พระผู้พระภาคเจ้าปรินิพพานไปแล้ว พระกายของพระองค์เหมือนของคนทั้งหลาย ซึ่งจะต้องแตกสลายไปในที่สุด แต่ความดีและเกียรติคุณของพระองค์ยังคงดำรงอยู่ในโลกต่อไปอีกนานเท่าใดไม่อาจจะกำหนดได้ ความดีนี่เองที่เป็นสาระอันแท้จริงของชีวิต

           ขณะเดียวกับที่พระผู้มีพระภาค ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ละทิ้งวิบากขันธ์อันทรมานเข้าสู่ศิวโมกข์ มหาปรินิพพานนั้น เหตุอัศจรรย์ก็บันดาลให้เป็นไปทั่วท้องธรณี และสากลจักรวาลโลกธาตุ มหาปฐพีดลซึ่งสามารถรองรับนานาสังขารลักษณะเช่นภูเขาสิเนรุราชเป็นต้น ก็ไม่อาจทนอยู่ได้ แสดงกัมปนาการหวั่นไหว อีกทั้งห้วงมหรรณพก็กำเริบ ตีฟองคะนองครืนครั่นนฤนาทสนั่นทั่วทั้งสาคร หมู่มัจฉาปารกชาติมังกรผุดดำ กระทำศัพท์ให้นฤโฆษประดุจเสียงปริเทวนาการแซ่ซ้อง โศกาดูรกำสรด ท้องฟ้านภากาศก็มืดมัวสลัวลง พร้อมทั้งมีเสียงครืนครั่นสนั่นทั่วเวหาสน์ เหมือนแสดงอาการคร่ำครวญถึงองค์พระโลกนาถผู้จากไป

           มองลงมายังพื้นปฐพี ณ สาลวโนทยานมณฑล ซึ่งคลาคล่ำไปด้วยศาสนิกชนพุทธบริษัท อร่ามไปด้วยกาสาวพัสตร์อำไพพรรณ และทวยนาครผู้มีความอาลัยในพระศาสดา พอเสียงก้องกังวานระคนเศร้าของพระอานนท์พุทธอนุชาประกาศออกมาว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วเท่านั้น เสียงร่ำไห้ก็ระงมขึ้นพร้อมกันประดุจเสียงจักจั่นและเรไร กรีดร้องยามย่ำสนธยา ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตที่ยังเป็นปุถุชนไม่อาจจะอดกลั้นอัสสุชลธาราไว้ได้ ร่ำร้องโหยไห้ประดุจบิดาแห่งตนได้สิ้นชีพลงพร้อมๆ กัน ณ บริเวณสาลวันเปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา เหมือนพระพิรุณโปรยลงมาเป็นครั้งคราว เสียงร่ำไห้ติดต่อเป็นเสียงเดียวกันทั่วกุสินารานคร

           ฝ่ายภิกษุผู้เป็นขีณาสพ สิ้นอาสวะแล้วก็ปลงธรรมสังเวชพร้อมด้วยปลอบผู้ที่กำลังร้องไห้คร่ำครวญด้วยธรรมกถา ให้เห็นความเป็นไปตามธรรมดาแห่งสิ่งทั้งปวง คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และมิใช่ตัวตน ทนไม่ได้ต้องแตกไป ดับไป สลายไป

           พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้วแต่ต้นปัจฉิมยามแห่งราตรี เวลายังเหลืออยู่อีกนาน กว่าจะรุ่งอรุณ พระอนุรุทธะ และพระอานนท์ ได้สับเปลี่ยนกันแสดงธรรมปลอบพุทธบริษัทให้คลายโศก ด้วยธรรมเทศนาอันปฏิสังยุตด้วยไตรลักษณาการ คือความไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา

           ข่าวการดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว จากแคว้นสู่แคว้นจากราชธานีสู่ราชธานี จากนิคมสู่นิคม และจากชนบทสู่ชนบทตลอดทั่วชมพูทวีป ภารตวรรษทั้งหมดสั่นสะเทือนวิปโยค ประดุจบุรุษผู้มีกำลังดึงย่านเถาวัลย์อันเกี่ยวพันรุกขสาขา ยังความสั่นสะเทือนให้เกิดขึ้นทั่วมณฑลแห่งรุกขชาติก็ปานกัน ไอแห่งความเศร้าสลดแผ่กระเซ็นสาดกระจายไปทั่วขัณฑสีมาอาณาเขต ประหนึ่งละอองฝนกระจายไปทั่วพื้นเมทมี ชมพูทวีปทั้งหมดครึ้มไปด้วยเมฆคือความโศก และชุ่มโชกความละอองฝน คือปริเทวนาการ ต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้

           กำหนดเก็บพระพุทธสรีระไว้เป็นเวลา ๖ ราตรี ในวันที่ ๗ ก็จะทำพิธีถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ในระหว่าง ๖ ทิวาตรีนั้น มหาชนจากทิศานุทิศเดินทางมาเพื่อบูชาพระพุทธสรีระ บริเวณอุทยานสาลวัน ปานประหนึ่งคลุมด้วยผ้าขาว ทั้งนี้เพราะชาวชมพูทวีปไว้ทุกข์ด้วยชุดขาวล้วน พระพุทธอนุชาอานนท์ต้องรับภาระหนักเป็นพิเศษ แม้จะพยายามหักห้ามใจสักปานใด แต่ก็มีบางครั้งเมื่อท่านเห็นคนทั้งหลายเศร้าโศก ก็อดที่จะกำสรดตามมิได้ เพราะความอาลัยในพระศาสดามีอยู่ใจจิตใจของท่านสุดประมาณ

           เมื่อถึงวันที่ ๗ พระพุทธสรีระก็ถูกนำไปสู่มกุฏพันธนเจดีย์ ด้านบูรพากุสินารานครเตรียมถวายพระเพลิง พอดีมีข่าวมาว่าพระมหากัสสป ซึ่งเป็นเถระผู้ใหญ่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกย่องมากกำลังเดินทางจากเมืองปาวา จวนจะถึงอยู่แล้ว คณะมัลลกษัตริย์และพระอานนท์จึงให้หยุดการถวายพระเพลิงไว้ก่อน รอจนกระทั่งพระมหากัสสปมาถึง พิธีจึงได้เริ่มขึ้น โดยมีพระมหากัสสปเป็นประธาน

           ผ้า ๔๙๘ ชั้นที่ห่อพระพุทธสรีระนั้นถูกไฟไหม้หมดเหลืออยู่เพียง ๒ ชั้นไฟไม่ไหม้ เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้อย่างสมบูรณ์ มิให้กระจัดกระจาย ผ้าสองชั้นในที่สุดที่ใช้ห่อพระพุทธสรีระนั้น เป็นผ้าพิเศษเรียกว่า "อัคคิโวทานทุสสะ" ตามตัวอักษรแปลว่าซักด้วยไฟ ผ้าชนิดนี้ทำด้วยใยหิน ไฟไม่ไหม้ เมื่อใช้ไปนานๆ ต้องการจะซักต้องโยนเข้ากองไฟ ผ้าจะสะอาดดังเดิม

           อีกครั้งหนึ่งที่เสียงปริเทวนาการ ดังระงมไปทั่วปริมณฑลแห่งมกุฏพันธนาเจดีย์ อันเป็นที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระ อัสสุชลธาราหลั่งไหลชุ่มโชกทุกใบหน้า เขาเหล่านั้นเป็นประดุจฝูงวิหคนกกาที่เคยจับโพธิพฤกษ์หรือมหานิโครธ อันสมบูรณ์ด้วยลำต้นและกิ่งก้านสาขามีเงาครึ้ม สะพรั่งด้วยผลาผลอันเอมโอช เมื่อโพธิ์หรือไทรนั้นล้มลง ยังความเศร้าสลดแก่ฝูงวิหคสุดประมาณ ครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อต้นไม้นั้นถูกเผาให้ไหม้มอด ไม่อาจมองเห็นได้อีกต่อไป นกเหล่านั้นจะเศร้าโศกสักปานใดใครเล่าจะรู้ซึ้งไปกว่าผู้ประสบเอง

           "โอ! พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประเสริฐ" นี่คือเสียงคร่ำครวญ "พระองค์ผู้ทรงพระมหากรุณากว้างใหญ่ดุจห้วงมหรรณพ มีน้ำพระทัยใสบริสุทธิ์ดุจน้ำค้างเมื่อรุ่งอรุณ ทรงมีพระทัยหนักแน่นดุจมหิดล รับได้ทั้งเรื่องดีและเรื่องร้าย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์ขวนขวายเพื่อความสงบร่มเย็นของปวงชน พระองค์เป็นผู้ประทานแสงสว่างแก่โลกภายในคือดวงจิต ประดุจพระอาทิตย์ให้แสงสว่างแก่โลกภายนอกคือท้องฟ้าปฐพี บัดนี้พระองค์ปรินิพพานเสียแล้ว มองไม่เห็นแม้แต่เพียง พระสรีระซึ่งเคยรับใช้พระองค์โปรยปรายธรรมรัตน์ ประหนึ่งม้าแก้วแห่งพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพาหนะนำเจ้าของตรวจความสงบสุขแห่งประชากร

           "โอ! พระมหามุนี ผู้เป็นจอมชน บัดนี้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นประดุจนกในเวหา ไร้โพธิ์หรือไทรที่จะจับเกาะ ประดุจเด็กน้อยผู้ขาดมารดา เหมือนเรือที่ลอยคว้างอยู่ในมหาสมุทร อ้างว้างว้าเหว่สุดประมาณ จะหาใครเล่าผู้เสมอเหมือนพระองค์"

           แม้พระอานนท์ พุทธอนุชาเอง ก็ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ เป็นเวลา ๒๕ ปี จำเดิมแต่รับหน้าที่พุทธอุปฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนที่พุทธอุปฐากมา เคยรับใช้ใกล้ชิดพระพุทธองค์เสมือนเงาตามองค์ บัดนี้พระพุทธองค์เสด็จจากไปเสียแล้ว ท่านรู้สึกว้าเหว่และเงียบเหงา ไม่ได้เห็นพระองค์อีกต่อไปเวลา ๒๕ ปี นานพอที่จะก่อความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรงเมื่อมีการพลัดพราก

           แต่แล้ว เรื่องทั้งหลายก็มาจบลงด้วยสัจธรรมที่พระองค์ทรงพร่ำสอนอยู่เสมอว่า

           -- สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

           -- สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดมีเพราะมีเหตุ สิ่งนั้นย่อมดับไป

           -- สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่ในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด

           บัดนี้ พระพุทธองค์ดับแล้ว ดับอย่างหมดเชื้อ ทิ้งวิบากขันธ์ และกิเลสานุสัยทั้งปวง ประดุจกองไฟดับลงแล้ว เพราะหมดเชื้อฉะนั้นฯ

 

 

สารบัญ
๑. ในที่ประชุมสงฆ์ ณ เชตวันมหาวิหาร ๑๘. ปฏิกิริยาแห่งธัมโมชปัญญา
๒. ๑๙.
๓. พุทธุปฐากผู้เป็นบัณฑิต ๒๐. ปุพพูปการของพระพุทธอนุชา
๔. ๒๑.
๕. ๒๒.
๖. ความรัก - ความร้าย ๒๓. คราวเมื่อทรงปลงพระชนมายุสังขาร
๗. ๒๔.
๘. โกกิลาผู้ประหารกิเลส ๒๕. ปัจฉิมสาวกอรหันต์และพวงดอกไม้มาร
๙. ๒๖.
๑๐. ณ ป่าประดู่ลาย ๒๗. อุปกาชีวกกับพระอนันตชิน
๑๑. ๒๘.
๑๒. สุทัตตะสร้างอารามเชตวัน ๒๙. วันหนึ่งก่อนวันประชุมสังคายนา
๑๓. ๓๐.
๑๔. มหาอุบาสิกานามวิสาขา ๓๑. จุตรงคพลและวิมลมาน
๑๕. ๓๒.
๑๖. นางบุญและนางบาป ๓๓. ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบ
๑๗.  
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน