และแล้วนางวิสาขาก็กล่าวว่า
"สุสิมา! ลุกขึ้นเถิด อย่าคร่ำครวญนักเลย ข้อที่เธอลืมเครื่องประดับไว้นั้น
เรามิได้ถือเป็นความผิดประการใด เราเองยังลืมได้ทำไมเธอจะลืมบ้างไม่ได้
เครื่องประดับนี้มีค่าก็จริง แต่ก็หามีค่าเท่าชีวิตของเธอไม่
เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นี้ ถ้าหายหรือเสียไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง
เราก็ทำใหม่ได้ แต่ชีวิตของเธอถ้าเสียไปจะทำใหม่ได้ที่ไหน
ดูก่อนนางผู้ซื่อสัตย์ การที่เธอจะยอมถ่ายถอนเครื่องประดับนี้ด้วยชีวิตของเธอนั้นซึ้งใจเรายิ่งนัก
เธอจงเบาใจเถิด พระธรรมของพระศาสดาได้ชุบย้อมจิตใจของเราให้มองเห็นชีวิตมนุษย์
และแม้สัตว์ทั่วไปเป็นสิ่งมีคุณค่าสูง ไม่อาจจะนำสิ่งของภายนอกมาเทียบได้
อนึ่งเธอเป็นที่รักที่ไว้ใจของเรา เธอเป็นผู้ทำงานดี
ซึ่งตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความจงรักนายของตนไม่เสื่อมคลายและปรวนแปร
ด้วยเหตุนี้เธอจึงได้อยู่รับใช้ใกล้ชิดเรา ความดีของเธอนั้นมีอยู่มาก
ความพลั้งเผลอบกพร่องเพียงเท่านี้จะลบล้างความดีของเธอได้ไฉน"
ดูก่อนภราดา!
เมื่อนางวิสาขากล่าวจบลง หญิงรับใช้ยิ่งคร่ำครวญหนักขึ้น
เธอกอดเท้าทั้งสองของนายและใช้ใบหน้าคลอเคลียอยู่ด้วยความรักและกตัญญู
และแล้วเมื่อนางวิสาขาดึงมือนางให้ลุกขึ้น นางก็ยิ้มทั้งน้ำตามองดูนายของตนด้วยแววตาที่เหมือนเปิดลิ้นชักหัวใจให้เห็นได้หมดสิ้น
ประดุจแววตาแห่งสัตว์เลี้ยง เป็นต้นว่าสุนัขอันแสดงออกยามเมื่อได้รับอาหารจากนายของมัน
ดูก่อนมาริยะ!
มีอยู่เหมือนกันมิใช่หรือที่มนุษย์เราต้องหัวเราะหรือยิ้มทั้งน้ำตา
ทั้งนี้เพราะความเสียใจและความดีใจประดังกันเข้ามาในระยะกระชั้นชิด
เมื่อความเสียใจยังไม่ทันหายไป ความดีใจก็เคลื่อนเข้ามาจนผู้นั้นตั้งตัวไม่ทัน
ภาพที่บุคคลยิ้มทั้งน้ำตานั้นเป็นภาพที่ค่อนข้างจะน่าดูพอใช้
อุปมาเหมือนฝนซึ่งโปรยลงมาและยังไม่หาย แดดก็แผดจ้าออกมาในขณะนั้นเป็นภาพซึ่งนานๆ
เราจะเห็นสักครั้งหนึ่ง
คืนนั้นนางวิสาขา
มหาอุบาสิกาต้องใช้ความคิดอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรกับเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้น
เรื่องนำมาใช้อีกนางไม่สามารถทำได้ จะเก็บไว้เฉยๆ ก็ดูจะเสียประโยชน์ไป
นางจึงตัดสินใจว่ารุ่งขึ้นจะลองบอกขาย ถ้าได้ทรัพย์มาจำนวนตามราคาอันเหมาะแห่งเครื่องประดับแล้ว
ก็จะนำมาทำบุญทำกุศลตามต้องการ แต่ปรากฏว่าในเมืองสาวัตถีไม่มีใครสามารถซื้อได้
พูดถึงคนมีเงินพอซื้อได้นั้นน่าจะพอมี แต่คงจะไม่มีใครกล้านำเอาเครื่องประดับของนางวิสาขา
ซึ่งเป็นที่เคารพของคนทั้งเมืองมาประดับตกแต่งได้ ถ้าผู้ใดทำเข้าแทนที่จะได้รับการยกย่องชมเชย
กลับจะกลายเป็นถูกเยาะเย้ยหยามหยันไป นางวิสาขาจึงตกลงใจซื้อของของตนเองด้วยราคา
๙ โกฏิหรือ ๙๐ ล้านบาท แล้วนำเงินจำนวนนั้นทั้งหมดไปสร้างอารามใหม่ชื่อว่า
ปุพพาราม เพราะอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งพระนครสาวัตถี
การสร้างปุพพาราม เสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ๒๗ โกฏิ คือซื้อที่ดิน
๙ โกฏิ สร้างกุฏิวิหาร ๙ โกฏิ และจ่ายในการฉลองอีก ๙
โกฏิ
ดูก่อนท่านผู้แสวงหาสันติวรบท!
ณ ปุพพารามนี้เอง มีเรื่องหนึ่งซึ่งแสดงถึงพุทธจริยาอันประเสริฐ
คือ วันหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็นแล้วประทับ
ณ ภายนอกซุ้มประตู ครานั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จมาเฝ้า
เมื่อพระองค์ประทับ ณ ที่สมควร และสนทนากับพระศาสดาเป็นสาราณียะอยู่นั่นเอง
มีนักบวชหลายนิกาย กล่าวคือนิครนถ์ ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
อเจลกะ ๗ คน ปริพพาชก ๗ คน และชฎิลอีก ๗ คน รวม ๓๕ คน
ซึ่งล้วนมีเครายาว มีขนรักแร้ยาว ถือบริขารต่างๆ เดินผ่านมา
พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นนักบวชเหล่านั้นแล้ว จึงผินพระพักตร์จากพระผู้มีพระภาคหันไปทางนักบวชเหล่านั้น
คุกพระชานุข้างหนึ่งลงทำผ้าห่มเฉวียงบ่า พลางประกาศพระนามและโคตรของพระองค์ว่า
"ข้าแต่ท่านนักพรตผู้ประเสริฐ! ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปเสนทิโกศล"
ดังนี้ ๓ ครั้งเป็นการแสดงความเคารวะอย่างสูง นักบวชเหล่านั้นหยุดอยู่ครู่หนึ่งแล้วเดินเลยไป
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงหันมากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"ข้าแต่พระจอมมุนี! นักบวชเหล่านั้นคงเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งซึ่งมีอยู่ปรากฏอยู่ในโลกเป็นแน่แท้"
พระสุคตเจ้ามีพระอาการสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะตรัสว่า
"มหาบพิตร! พระองค์เป็นคฤหัสถ์ยังบริโภคกาม บรรทมเบียดโอรสและชายา
ทรงผ้าที่มาจากแคว้นกาสี ทัดทวงของหอม ลูบไล้ด้วยจุณจันทร์
จึงเป็นการยากที่จะรู้ได้ว่า นักบวชเหล่านั้นเป็นอรหันต์หรือไม่
มหาบพิตร! ปกติของคนเป็นอย่างไร อาจรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน
และต้องอยู่ร่วมกันนานๆ ต้องใส่ใจและมีปัญญาสอดส่องกำกับได้ด้วย
ปัญญาของคนพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา ความสะอาดของคนพึงรู้ได้ด้วยการทำงาน
ความกล้าหาญและเรี่ยวแรงรู้ได้ในเวลามีอันตราย ทั้งหมดนี้ต้องใช้เหตุ
๓ อย่างประกอบคือ กาลเวลา ปัญญา และมนสิการ"
ดูก่อนผู้บำเพ็ญตบะ!
พระผู้มีพระภาคทรงตอบอย่างบัวมิให้ซ้ำน้ำมิให้ขุ่น ถ้าพระองค์จะตรัสตรงๆ
ว่านักบวชเหล่านั้นมิได้เป็นอรหันต์ดอก ที่แท้ยังเป็นผู้ชุ่มไปด้วยกิเลส
ก็จะเป็นการยกตนข่มผู้อื่น ถ้าพระองค์จะทรงรับรองว่านักบวชเหล่านั้นเป็นพระอรหันต์
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะพึงดูแคลนพระสัมพัญญุตญาณได้
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลว่า อัศจรรย์จริงพระเจ้าข้า!
อัศจรรย์จริง! พระผู้มีพระภาคทรงเป็นสัพพัญญูโดยแท้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐ! ความจริงนักบวชเหล่านั้นคือจารบุรุษ
ซึ่งข้าพระองค์ส่งไปสอดแนมเหตุการณ์บ้านเมือง ณ แคว้นต่างๆเมื่อถึงบ้านแล้วบุรุษเหล่านั้นย่อมลูบไล้ด้วยของหอม
นอนเบียดบุตรและภรรยาพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ ๕
พระสุคตเจ้าทรงเปล่งอุทานในเวลานั้นว่า
บุคคลไม่ควรพยายามเสียทุกสิ่งทุกอย่างไป ควรเป็นตัวของตัวเอง
ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ และไม่พึงมีแผลประพฤติธรรม
บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนดีด้วยเหตุเพียงรูปร่างผิวพรรณก็หามิได้
ไม่ควรไว้ใจคนที่เห็นกันเพียงครู่เดียว คนชั่วเป็นอันมากเที่ยวไปโดยรูปลักษณะแห่งคนดี
เหมือนหม้อดินและหม้อโลหะซึ่งฉาบไว้ด้วยสุวรรณ มองแวววาวแต่เพียงภายนอก
แต่ภายในไม่สะอาด คนชั่วในโลกนี้เมื่อบริวารแวดล้อมแล้ว
ก็เที่ยวไปได้อย่างคนดี เขางามแต่ภายนอก แต่ภายในไม่บริสุทธิ์
"ดูก่อนท่านผู้ไม่หลงใหลในบ่วงมาร!"
พระอานนท์กล่าว "ท่านจะเห็นว่าพระพุทธภาษิตเหล่านี้คมคายเพียงไร
เป็นพระดำรัสที่ถ้าจะมองว่าลึกซึ้งก็ลึกซึ้ง ถ้าจะมองว่าสามัญชนทั่วไปพอจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้ก็ได้เช่นกัน
ตอนแรกพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า บุคคลไม่ควรพยายามไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
นั้นหมายความว่าก่อนใช้ความพยายามในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ก็ควรจะสำรวจเสียให้ดีก่อนว่า ความพยายามที่ทำไปนั้นจะได้ผลคุ้มเหนื่อยหรือไม่
อุปมาเหมือนนักสำรวจทอง ก่อนที่จะลงมือขุดก็ควรจะใช้เครื่องมือสำรวจเสียก่อนว่าที่ๆ
ตนจะขุดนั้นมีทองอยู่หรือไม่ มิใช่ว่าพอจะขุดทองก็เริ่มขุดไปแต่บันไดบ้านทีเดียว
ถ้าทำอย่างนั้นก็เป็นการเสียแรงเปล่าได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
เป็นการลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย ส่วนเรื่องเป็นตัวของตัวเองก็มีความสำคัญมาก
มนุษย์จะเป็นอย่างไรก็ช่างเถิด แต่ขอให้เป็นตัวของตัวเอง
คนไม่เป็นตัวของตัวเองเป็นคนที่ไว้ใจไม่ได้ ส่วนข้อที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
ให้เป็นคนเลี้ยงตัวได้ไม่ควรอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพนั้น
มีความหมายว่า บุคคลเมื่อมีอายุพอสมควรจะเลี้ยงตัวได้แล้วก็ควรประกอบอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่งเลี้ยงตน
มิใช่คอยแต่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่อย่างเดียว เพราะการอาศัยผู้อื่นในวัยที่ไม่ควรอาศัย
เป็นการแสดงถึงความเป็นผู้ไร้ความสามารถ ส่วนสมณะผู้อาศัยอาหารจากเรือนของผู้อื่นแล้วยังชีพให้เป็นไปนั้น
ก็เป็นเพราะสมณะเหล่านั้นอาศัยศีลของตน ถ้าประชาชนรู้ว่าเป็นผู้ไม่มีศีล
ไม่มีกัลยาณธรรม เขาย่อมไม่เลี้ยง ไม่ถวายอาหาร เพราะฉะนั้นสมณะก็ชื่อว่าเป็นผู้พึ่งตนเอง
กล่าวคือ อาศัยศีลและสัมมาจารของตนเป็นอยู่ ข้อต่อมาที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
บุคคลไม่ควรมีแผลประพฤติธรรมนั้น หมายความว่า ให้ประพฤติธรรมด้วยความสุจริตใจ
มิใช่ประพฤติธรรมด้วยเจตนาที่จะหลอกลวงให้คนมานับถือ
ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ว่า
ควรประพฤติธรรมให้สุจริต อย่าประพฤติธรรมให้ทุจริต ผู้ประพฤติสุจริตย่อมมีความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
นอกจากนี้พระพุทธองค์เคยตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายอยู่เสมอในเรื่องนี้
และทรงแนะให้ถือพระองค์เป็นเนตติดังพระพุทธภาษิตต่อไปนี้
"ภิกษุทั้งหลาย!
พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ
มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะและความสรรเสริญ มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิและแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้
มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระคือความสำรวม
เพื่อปหานะคือความละ เพื่อวิราคะคือความคลายกำหนัดยินดี
และเพื่อนิโรธะคือความดับทุกข์"
ในตอนท้ายพระพุทธองค์ทรงย้ำว่า
บุคคลจะเป็นคนดีเพราะชาติหรือผิวพรรณก็หามิได้ แต่จะเป็นคนดีก็เพราะความประพฤติดี
คนชั่วเป็นอันมากปกปิดความชั่วของตัวไว้ เหมือนหม้อดินที่ฉาบทาด้วยทองแวววาวแต่เพียงภายนอกเท่านั้น
สรุปว่าทรงย้ำให้คนทุกคนมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสดงอาการลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิดหรือหลงเคารพนับถือ
ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นคนเลว
"ดูก่อนภราดา!
ข้าพเจ้าขอวกมากล่าวถึงเรื่องของนางวิสาขาต่อไป วันหนึ่งนางวิสาขามีผ้าเปียกปอนผมเปียก
เดินร้องไห้เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อพระตถาคตตรัสถามก็ได้ความว่า
นางวิสาขาเสียใจเพราะหลานสาวอันเป็นที่รักคนหนึ่งตายลง
นางรักเธอมากเพราะเธอเป็นคนดี ช่วยงานทุกอย่างรวมทั้งงานที่เกี่ยวกับการบุญการกุศลด้วย
"ข้าแต่พระผู้เป็นดวงตาของโลก"
นางวิสาขาทูล "ข้าพระพุทธเจ้าเสียใจในมรณกรรมของหลานสาวคนนี้เหลือเกิน
เธอเป็นคนดีอย่างจะหาใครเสมอเหมือนได้ยาก"
พระตถาคตเจ้าทรงดุษณีอยู่ครู่หนึ่งแล้วเอื้อนพระโอษฐว่า
"ดูก่อนวิสาขา! คนในเมืองสาวัตถีนี้มีประมาณเท่าใด?"
"มีหลายสิบล้านพระพุทธเจ้าข้า!"
นางตอบ
"ถ้าคนเหล่านั้นดีเช่นสุทัตตีหลายของเธอ
เธอจะรักเขาเหล่านั้นหรือไม่?"
"รักพระเจ้าข้า"
"แล้วคนในเมืองสาวัตถีนี้ตายวันละเท่าไร?"
"วันหนึ่งหลายๆ
คนพระเจ้าข้า"
"ดูก่อนวิสาขา!
ถ้าอย่างนั้นเธอก็ต้องมีผมเปียก มีผ้าเปียกอยู่อย่างนี้ทุกวันละซี
เธอต้องร้องไห้คร่ำครวญมีใบหน้าอาบด้วยน้ำตาอยู่เสมอ
เพราะมีคนตายกันอยู่ทุกวัน วิสาขาเอย! ตถาคตกล่าวว่าความรักความอาลัยเป็นสาเหตุแห่งทุกข์
เพราะฉะนั้นคนมีรักมากเท่าใดย่อมมีทุกข์มากเท่านั้น
รักหนึ่งมีทุกข์หนึ่ง มีรักสิบมีทุกข์สิบ มีรักร้อยมีทุกข์ร้อย
ความทุกข์ย่อมเพิ่มขึ้นตามปริมาณแห่งความรักหรือสิ่งอันเป็นที่รัก
เหมือนความร้อนที่เกิดแต่ไฟ ย่อมเพิ่มขึ้นตามจำนวนเชื้อที่เพิ่มขึ้น"
ดูก่อนผู้บำเพ็ญตบะ!
นางวิสาขาได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้วสร่างความโศกลงไปได้บ้าง
นางเป็นโสดาบันก็จริงอยู่ แต่พระโสดาบันนั้นเพียงทำให้บริสุทธิ์ในศีลเท่านั้น
หามีสมาธิและปัญญาสมบูรณ์ไม่ จึงมีบางครั้งที่เผลอสติไป
แสดงอาการเยี่ยงชนทั้งหลาย พระอรหันต์เท่านั้นที่มีสติสมบูรณ์
ดูก่อนภราดา!
สิ่งอันเป็นที่รักย่อมทำให้จิตใจกระเพื่อมและกระทบกระเทือนอยู่เสมอ
เมื่อความรักเกิดขึ้น ความราบเรียบของดวงใจย่อมปราศนาการไป
ยิ่งความรักอันเจือด้วยนันทิราคะด้วยแล้ว ยิ่งทำให้จิตใจอ่อนไหวและเสียสมาธิเป็นที่สุด
ความรักนั้นเปรียบด้วยพายุ เมื่อมีพายุพัดผ่านความราบเรียบของน้ำก็หมดไป
เหลือไว้แต่รอยกระแทกกระทั้นกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลา
มนุษย์จะมีความสุขอย่างสงบประณีต ถ้าเราสามารถทำใจให้ยินดีต้อนรับความขมขื่นและไม่เพลิดเพลินในความชื่นสุขให้มากนัก
อย่างน้อยก็ทำใจมิให้ปฏิเสธความขมขื่นที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
นางวิสาขามีสหายที่รักมากอยู่
๒ คน คือนางสุปปิยา และนางสุปปวาสา เมื่อฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วจบทั้งสามมักจะเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุทั้งหลาย
ถามถึงสิ่งที่ต้องการและยังขาด เมื่อภิกษุรูปใดบอกว่าต้องการอะไร
นางจะจัดถวายเสมอ นอกจากนี้ยังได้ถวายอาหารสำหรับภิกษุป่วยและผู้เตรียมจะเดินทางเป็นประจำอีกด้วย
วันหนึ่งนางสุปปิยาเที่ยวเดินเยี่ยมภิกษุอย่างเคยไปถึงกุฏิภิกษุรูปหนึ่งซึ่งป่วยอยู่
เมื่อนางถามถึงความต้องการว่าท่านปรารถนาสิ่งใดบ้าง
ภิกษุรูปนั้นบอกว่าอยากได้น้ำเนื้อต้ม
ดูก่อนมาริสา!
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตน้ำข้าวและน้ำเนื้อต้มซึ่งกรองดีแล้ว
ไม่มีเมล็ดข้าวหรือกากเนื้อติดอยู่เพื่อภิกษุอาพาธ เธอสามารถฉันได้แม้ในเวลาวิกาลคือหลังเที่ยววัน
นางสุปปิยาดีใจเหลือเกินที่จะได้ถวายอาหารแก่ภิกษุอาพาธ
พระพุทธภาษิตก้องอยู่ในโสตของนางนานมาแล้ว "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!
ผู้ใดปรารถนาจะบำรุงตถาคต ขอให้ผู้นั้นบำรุงภิกษุไข้เถิด"
แต่บังเอิญวันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ นางหาเนื้อไม่ได้เลยจึงเข้าห้องตัดสินใจตัดเนื้อขาของตนด้วยมีดอันคมกริบ
สั่งให้คนใช้จัดการต้ม แล้วขอให้นำน้ำเนื้อต้มนั้นไปถวายภิกษุชื่อโน้นซึ่งอาพาธอยู่
แล้วใช้ผ้าพันแผลที่ขาของตนนอนโทรมเป็นไข้เพราะพิษบาดแผลนั้น
สามีของนางสุปปิยากลับมาไม่เห็นภรรยาอย่างเคยจึงถามคนใช้
ทราบว่านางป่วยจึงเข้าไปเยี่ยมในห้องนอน เมื่อทราบเรื่องโดยตลอดแล้ว
แทนที่จะโกรธพระและภรรยา กลับแสดงความชื่นชมโสมนัสที่ภรรยาของตนมีศรัทธาแรงกล้าในศาสนา
ถึงกับยอมสละเนื้อขาเพื่อต้มเอาน้ำถวายภิกษุอาพาธ จึงรีบไปสู่วัดเชตวัน
ทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านตนในวันรุ่งขึ้น
พระศาสดาทรงรับด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นพระพุทธองค์มีพระสงฆ์เป็นบริวารจำนวนมากเสด็จสู่บ้านของนางสุปปิยา
เมื่อไม่ทอดพระเนตรเห็นนางสุปปิยา จึงถามสุปปิยาอุบาสกผู้สามี
ทรงทราบแล้ว จึงรับสั่งให้คนช่วยกันพยุงคลอเคลียนางสุปปิยามาเฝ้า
เมื่อนางถวายบังคม พระตถาคตเจ้าตรัสว่า "จงมีความสุขเถิดอุบาสิกา"
เท่านั้นแผลใหญ่ที่ขาของนางก็หายสนิทและมีผิวผ่องกว่าเดิมเสียอีก
"ดูก่อนภราดา!
เรื่องนี้เป็นเพราะพุทธานุภาพโดยแท้ พุทธานุภาพนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและเป็นได้จริง
พระจอมมุนีศาสดาแห่งพวกเรานั้น เป็นผู้มีบารมีอันทรงกระทำมาแล้วอย่างมากล้น
เคยตัดศีรษะอันประดับแล้วด้วยมงกุฎที่เพริดพราย เคยควักนัยน์ตาซึ่งดำเหมือนตาเนื้อทราย
เคยสละเลือดเนื้อและอวัยวะมากหลาย ตลอดถึงบุตรภรรยาเพื่อเป็นทานแก่ผู้ต้องการ
จะกล่าวไยถึงการสละทรัพย์สมบัติภายนอก มหาบริจาคทั้งหลายที่พระองค์ทรงกระทำมาทั้งหมดนั้น
โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเดียว คือ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
กล่าวคือความรู้อันเป็นเหตุให้สิ้นกิเลสโดยชอบอันยอดเยี่ยม
ไม่มีอะไรเทียมถึง เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์ของเวไนยนิกรทั้งหลายทั้งทางกายและทางใจ
ดูก่อนมาริยะ! ก็ความรู้ใดเล่าในโลกนี้ จะประเสริฐยิ่งไปกว่าความรู้อันเป็นเหตุให้กิเลสสิ้นไป
เพราะเป็นการดับความกระวนกระวายทั้งมวลเหมือนคนหายโรคไม่ต้องกินยา
"บุคคลผู้เปี่ยมล้นด้วยบารมีนั้นย่อมเป็นผู้มีวาจาศักดิ์สิทธิ์
พระศาสดาเป็นผู้มีพระบารมีธรรมที่ได้สั่งสมมานานตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ
เมื่อพระองค์จะทรงอยู่ในชาตินี้เป็นปัจฉิมชาติ และปัจฉิมภพแล้วบารมีธรรมทั้งมวลหลั่งไหลมาให้ผลในชาติเดียว
ท่านลองคิดดูเถิดจะคณนาได้อย่างไร อุปมาเหมือนน้ำซึ่งหลั่งจากยอดเขา
และถูกกักไว้ด้วยทำนบอันหนาแน่นจนเต็มเปี่ยมแล้ว และบังเอิญทำนบนั้นพังลง
น้ำนั้นจะไหลหลากท่วมทันเพียงใด
"ดูก่อนผู้เชื้อสายอารยัน!
บารมีธรรมเป็นสิ่งน่าสั่งสมโดยแท้"
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า
เสวยพระกระยาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงทรงอนุโมทนาให้นางสุปปิยาและอุบาสกสุปปิยะ
สมาทานอาจหาญร่าเริงในกุศลจริยาสัมมาปฏิบัติเพิ่มพูนศรัทธา
ปสาทะ แล้วก็เสด็จกลับสู่วัดเชตวัน ทรงให้ประชุมสงฆ์และตรัสถามภิกษุอาพาธรูปนั้นว่า
"ดูก่อนภิกษุ!
เธอขอน้ำเนื้อต้มจากอุบาสิกาสุปปิยาหรือ?"
"อย่างนั้น
พระเจ้าข้า" พระรูปนั้นตอบ
"เมื่อเธอจะฉัน
เธอพิจารณาหรือเปล่า?"
"มิได้พิจารณาเลย
พระเจ้าข้า"
"ดูก่อนภิกษุ!
เธอได้ฉันเนื้อมนุษย์แล้ว เธอทำสิ่งที่น่าติเตียน"
ตรัสดังนี้แล้วทรงตำหนิภิกษุนั้นอีกเป็นอเนกปริยาย แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทว่า
"ภิกษุใดฉันเนื้อโดยมิได้พิจารณา
ภิกษุนั้นเป็นอาบัติทุกกฎ ถ้าเนื้อนั้นเป็นเนื้อมนุษย์
เธอต้องอาบัติถุลลัจจัย" ดังนี้.