สมาธิ จัดว่าเป็น ยอดบุญ ที่ชาวพุทธไม่ควรมองข้าม เพราะสมาธิต่ำกว่าปัญญาเพียงขั้นเดียว ถ้านับเรียงว่าศีล สมาธิ และปัญญา แต่ถ้านับแบบชาวบ้าน คือทาน ศีล และภาวนา สมาธิก็รวมอยู่ในข้อภาวนา คือไปรวมอยู่กับปัญญาเสียเลย
แม้ว่าสมาธิจะต่ำกว่าปัญญาก็ตาม แต่สมาธิก็จัดว่าเป็น พื้นฐานของปัญญา นั่นคือ ไม่มีสมาธิ ปัญญาก็เกิดไม่ได้ และในทำนองเดียวกัน สมาธิที่ขาดปัญญาก็ไม่สามารถจะดับทุกข์ได้ ดังนั้น ทั้งสมาธิและปัญญาจึงต่างก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะสำเร็จประโยชน์ที่สมบูรณ์ และถึงที่สุด (ดับทุกข์ได้)
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ที่มีโอกาสฝึกสมาธิแล้วก็ไม่ควรจะ ย่ำเท้า อยู่กับที่ ควรจะก้าวหน้าต่อไปคือการเจริญวิปัสสนาตามวาสนาและบารมีของตน เพราะการฝึกแต่สมาธิล้วน ๆ นั้น ทำให้จิตใจสงบ และประสบความสุขก็จริงอยู่ แต่ยังเป็นความสุขแบบ หินทับหญ้า กล่าวคือ
ตราบใดที่ใจของเรายังมีสมาธิอยู่ ตราบนั้นความทุกข์ก็เล่นงานไม่ได้ แต่ถ้าจิตของเราขาดสมาธิเมื่อไรความทุกข์ก็เล่นงานได้ทันทีเมื่อนั้น
สมาธิ ท่านจึงเปรียบเหมือนหินทับหญ้า ตราบใดที่หินยังทับหญ้าอยู่ หญ้าก็งอกขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อยกหินออกเมื่อใด หญ้าก็จะขึ้นเต็มเมื่อนั้น
เพราะโดยปกติคนเรา ไม่อาจจะมีสมาธิมั่นคงอยู่ได้ตลอดเวลา เพียงสมาธิสามัญที่เกิดเอง ไม่สามารถที่จะต้านทานความทุกข์ได้ จะต้องอาศัยสมาธิก้าวขั้นไปสู่การเจริญวิปัสสนา จึงจะสามารถพิชิตความทุกข์ได้สิ้นเชิง
ดังนั้น ความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น จึงยังไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มันเป็นเพียงความสุขแบบหินทับหญ้าเท่านั้น ผู้หวังความสุขอันเกษมหรือถาวร จึงไม่ควรประมาท
ดังที่กล่าวแล้วว่า สมาธิเป็นยอดบุญหนึ่งในสาม (คือ ศีล สมาธิ ปัญญา) ก่อนที่จะเลิกการทำสมาธิทุกครั้ง ควรแผ่เมตตา และอุทิศส่วนบุญ ที่เกิดจากการทำสมาธินี้ ไปให้พ่อ แม่ ครู อาจารย์ ผู้มีพระคุณ เจ้ากรรม นายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยทั่วไป
ในการอุทิศส่วนบุญนี้ จะทำพร้อมกับการไหว้พระสวดมนต์ก็ได้ ทำเช้าหนเย็นหนก็พอ ส่วนว่าเมื่อทำสมาธิในที่ทำงาน หรือในชีวิตประจำวัน ในรถ ในเรือก็ไม่จำเป็นต้องอุทิศ เอาไว้อุทิศรวมๆ พร้อมกันก่อนนอนก็ได้.