การใช้วัตถุกำกับ ในการทำสมาธิแบบนี้ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยและต้องใช้สายตาเพ่งดู จนวัตถุนั้นติดตาแม้หลับตาแล้วก็ยังเห็นชัดเจนอยู่ จึงจะถือว่าจิตเกิดสมาธิ
วัตถุที่ใช้ มีหลายชนิด เช่น พระพุทธรูป วัตถุที่กลมๆ สี่ต่าง ๆ เช่น สีแดง สีขาว สีดำ เป็นต้น เมื่เราเพ่งดูสิ่งใดแล้ว จิตสงบเป็นสมาธิ ก็ถือว่าใช้ได้ และจัดว่าถูกกับจริตนิสัยของตน
ข้อควรปฏิบัติ
1. การใช้พระพุทธรูป ใช้ได้ทั้งพระพุทธรูปที่เป็นโลหะ พระพุทธรูปที่เป็นภาพถ่าย หรือภาพเขียน แต่ควรจะเป็นรูปพระที่เกลี้ยงๆ ไม่ควรใช้พระทรงเครื่อง หรือมีซุ้มประกอบ เพราะจะทำให้จิตรวมตัวเป็นสมาธิยาก เมื่อรวมจิตยาก ก็จะเกิดความเบื่อหน่ายเห็นว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องยาก
ที่สำคัญ ควรตั้งพระพุทธรูปไว้ให้เด่นๆ ฉากหรือม่าน ควรเป็นสีอ่อนๆ เพื่อมิให้กลืนองค์พระ ให้เห็นองค์พระชัดเจน ไม่ใกล้หรือไกลจนเกินไป ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป สีขององค์พระไม่ควรจะขึ้นเงา เพราะจะเกิดประกาย จิตจะรวมตัวยาก
2. การใช้วัตถุกลม ๆ จะเป็นวัตถุอะไรก็ได้ เช่น ลูกแก้ว ฝาขวดหรือกระป๋อง เป็นต้น วางไว้หรือติดฝาให้อยู่ห่างตัวพอสมควร อยู่ในที่ไม่มืด หรือสว่างจนเกินไป กำลังสบายๆ ตา
3. การใช้สีต่าง ๆ จะเป็นสีอะไรก็ได้ เช่น สีแดง สีเขียว สีดำ เป็นต้น ข้อสำคัญจะต้องเป็นสีที่ตนชอบ ดูแล้วเกิดความสบายใจสงบใจ ก็ใช้ได้ทั้งสิ้น
สีดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นสีที่กลม ไม่เล็กหรือไม่ใหญ่ ไม่ใกล้หรือไกลจนเกินไป จะเอาสีไปทาไว้ หรือตัดเอาไปปะไว้ในพื้นหรือฝาที่มีสีตัดกันก็ได้
ใช้กล่องกระดาษเจาะรู เอากระดาษสีที่ชอบปะไว้แล้วเอาหลอดไฟฟ้าใส่ไว้ หรือจุดเทียนใส่ไว้ภายในหรือจะเพ่งไฟจากเทียน หรือตะเกียงก็ได้ ถ้าสามารถรวมจิตให้เกิดสมาธิได้
วิธีการทำ
นั่งอยู่ในที่ไหนก็ได้ ในอิริยาบทใดก็ได้ ขอให้อยู่ในท่าที่สบายเป็นใช้ได้ เพ่งสายตาไปที่วัตถทั้ง 3 ประเภทนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง (ไม่ใช่ทำคราวเดียว 3 อย่าง) เพ่งอยู่ให้นานพอสมควรแล้วลองหลับตาลงนึกถึงภาพเหล่านั้น ว่าเห็นชัดไหม ? มีส่วนใดไม่ชัดเจนบ้าง ? ถ้ายังไม่ชัดเจน ก็ให้ลืมตาเพ่งดูต่อไป ถ้าเห็นชัดเจนดี ก็ไม่ต้องเพ่ง ให้หลับตา เพ่งมองสิ่งนั้นทางมโนภาพเรื่อยไป
คุณสมบัติ 3 ประการของวัตถุหรือสี ที่จะใช้เพ่งให้เกิดสมาธิที่สำคัญ คือ เด่น ชัดเจน สบายตา ถ้าข้อใดข้อหนึ่งขาด จิตอาจรวมตัวเป็นสมาธิยาก หรือไม่เป็นเลย
แบบใช้วัตถุกำกับนี้ จะนั่งเพ่งเป็นประจำวันก็ได้ จะใช้วัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่เองแล้วในที่ทำงาน เช่น พระพุทธรูปบนหิ้งบูชา รูปพระต่าง ๆ ที่ติดไว้หรือเครื่องมือประกอบอาชีพ ที่มีลักษณะกลม ๆ ทุกชนิด ก็ใช้เพ่งให้จิตเกิดสมาธิได้
เมื่อนั่งไปในรถหรือในเรือ มีวัตถุอะไรปรากฎอยู่ข้างหน้าหรือเฉพาะหน้า ก็สามารถใช้เป็นอุปกรณ์ได้ ขอเพียงแต่ว่า เมื่อเพ่งดูแล้ว จิตสามารถรวมตัวสงบ ก็ใช้ได้ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ การสร้างมโนภาพ ด้วยการนึกถึงรูปและภาพในที่ต่างๆ เมื่อนึกแล้วเห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนก็เอาภาพเหล่านั้นมาเป็นอารมณ์ของสมาธิได้เช่นเดียวกัน
ข้อควรคิด การทำสมาธิทุกแบบ ไม่ควรจะหลับตาทำตลอดไป เพราะจะได้ประโยชน์เพียงด้านเดียว ไม่อาจจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ที่ทุกคนจะต้องประสบกับปัญหาร้อยแปด ถ้าจิตขาดสมาธิ โอกาสที่จะคิดผิด พูดผิด และทำผิดก็มีอยู่มาก ควรที่จะหลับตาบ้าง ลืมตาบ้านสลับกันไป เพื่อให้เกิดความเคยชิน แม้ในขณะที่กำลังลืมตาอยู่ และกำลังทำงานอยู่ก็สามารถมีสมาธิได้ หรือเอาสมาธิมาใช้ในงานประจำวันได้จึงจะถือว่า สมาธิให้ประโยชน์สารพัดอย่าง
ความไม่เคยชิน เป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ในการลืมตาทำสมาธิ แต่ถ้าได้ศึกษาธรรมชาติของจิตอย่างถูกต้องแล้ว การลืมตาทำสมาธิก็จะง่ายมาก เพราะธรรมชาติของจิตนั้น รับอารมณ์ได้ทีละอย่าง จะรับพร้อมกันในขณะเดียวกันหลายๆ อย่างไม่ได้ แต่เพราะความไวและรวดเร็วของจิต จึงรับและปล่อยอารมณ์ได้ คล้ายกับว่ารับอารมณ์หรือเรื่องราวได้ครั้งละหลายๆ อย่าง ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย
ดังนั้น ในขณะที่เราลืมตาอยู่ เราก็สามารถทำสมาธิได้ คือกำหนดจิตไว้ที่ลมหายใจเข้าและออก ส่วนสายตาจะมองไปที่ใดก็ได้ มันจะเป็นเพียง สักแต่ว่าเห็น เท่านั้น ต่อเมื่อเกิดความ ตั้งใจ ที่จะดูหรือเผลอไป มันก็จะทิ้งลมหายใจ แล้วไปเกาะในอารมณ์ทางตานั้นทันที
ฉะนั้น เมื่อเราลืมตาอยู่ จึงสามารถทำสมาธิได้ แต่จะต้องพยายามหัดฝืนความเคยชินให้บ่อยๆ จนเกิดความเคยชินอันใหม่ ในการลืมตาทำ จากนั้นมันก็จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ.
ฝึกสติ ทำแสนง่าย ไม่น่าเชื่อ
ถ้าไม่เบื่อ เมื่อนึกถึง ลมหายใจ
เข้าก็รู้ ออกก็รู้ ดูมันไป
ความผ่องใส เกิดกับจิต เป็นนิจเอย.