การนับเป็นคาบ เป็นการฝึกสมาธิแบบคนไทยสมัยก่อน ที่สนใจเกี่ยวกับความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ด้วยการเอาสมาธิ จากการนับเป็นคาบนี้ ไปปลุกเศกวัตถุต่าง ๆ เป็นที่เชื่อถือกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน
วิธีการแบบนี้ ท่านใช้หัวใจของธรรมะต่าง ๆ มาเป็นอุปกรณ์ โดยจับเอาแต่เฉพาะตัวหน้าตัวเดียว มารวมเป็นชุดแล้วนับเป็นคาบ เช่น อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ก็ตัดเอาเฉพาะตัวหน้ามา คือ ทุ สะ นิ มะ หรือพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ก็ย่อมาได้ 5 คือ คือ กะ โก กัส โค เม และยังมีคำอื่นๆ อีกมากมาย ตามแต่ใครจะชอบธรรมะบทไหน ก็ย่อเอาบทนั้นมาใช้
แม้ว่าจะไม่ใช้บทธรรมะ จะใช้คำอื่นๆ ที่เราตั้งหรือผูกขึ้นมาเองก็ใช้ได้ เพราะจุดประสงค์ใหญ่ ก็เพื่อยึดเอามาเป็นอารมณ์ ใช้จิตสงบเท่านั้น มีวิธีการทำง่ายๆ ดังนี้
ทุ สะ นิ มะ
เขียนหรือท่องคาถานี้ ให้จำได้แม่นยำก่อน แล้วให้หลับตาว่าเป็นคาบ จัดเป็นเที่ยวได้ 4 เที่ยว คือ
เที่ยวที่ 1. ว่า ทุ สะ นิ มะ
เที่ยวที่ 2. ว่า สะ นิ มะ ทุ
เที่ยวที่ 3. ว่า นิ มะ ทุ สะ
เที่ยวที่ 4. ว่า มะ ทุ สะ นิ
ใช้วิธีนับแบบอ่านหนังสือ คือ อ่านจากซ้ายไปขวา หนึ่งเที่ยวก็เลื่อนไปหนึ่งตัว 4 เที่ยวก็ครบรอบจัดว่าเป็น “หนึ่งคาบ” หนึ่งคาบจึงหมายถึงการนับหัวใจของอริยสัจ 4 ได้ 4 เที่ยว
เมื่อนับครบ 1 คาบ ก็ให้เลื่อนลูกประคำไป 1 ลูก ส่วนมากจะใช้ 108 ลูกรวมเป็น 1 พะวง เพื่อให้จำง่าย ถ้าเราทำน้อยๆ คาบ เพื่อให้จิตสงบเป็นสมาธิ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ลูกประคำเข้าร่วมนับด้วยก็ได้ หรือจะใช้งอนิ้วมือ 10 นิ้วแทนลูกประคำก็ได้
การนับเป็นคาบแบบนี้ เหมาะสำหรับคนที่มีจิตฟุ้งซ่านมาก ๆ คนที่พูดว่าจิตไม่สงบ ทำสมาธิไม่ได้ มีภาระมาก ยังไม่ว่าง เมื่อทำสมาธิแบบนี้ ขอรับประกันว่า ต้องสงบแน่ แต่จะไม่สงบอยู่เพียงประการเดียวคือ ไม่ยอมทำ หรือขี้เกียจทำเท่านั้นแหละ !
การนับแบบนี้ มีข้อควรระวัง 2 ประการ คือ ใช้คำย่อน้อยเกินไป จนทำให้นับง่ายเกินไป ความสนใจใส่ใจก็จะพลอยน้อยไปด้วย การทำก็เลยไม่ได้ผล กับการใช้คำย่อมากไป จิตก็จะเกิดความสับสนจำยากได้หน้าลืมหลังขาด ๆ เกิด ๆ จะทำให้เบื่อและเลิกในที่สุด.