การทำสมาธิ แบบกำหนดลมหายใจ จัดว่าเป็นแบบที่ง่ายและสะดวกที่สุดกว่าทุกวิธี จึงมีผู้นิยมทำกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบันเป็นแบบที่พระพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงไว้ชัดเจน ในอานาปานสติสูตร (14/167) และสติปัฏฐานสูตร (12/84)
วิธีการทำสมาธิ แบบกำหนดลมหายใจ มีหลักการทำแยกย่อยออกไปอีกมาก เพื่อป้องกันความสับสนจึงขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1. แบบอิสระ คือ เอาจิตไปกำหนดที่ลมหายใจ อยู่กับลมที่หายใจเข้า และลมหายใจออก โดยไม่ต้องใช้คำบริกรรมหรือคำภาวนาเข้าประกอบด้วย
เมื่อขณะที่กำลังหายใจเข้า ก็เอาจิตเข้าไปประกบกับลมที่กำลังหายใจเข้าด้วย เมื่อขณะที่กำลังหายใจออก ก็เอาจิตเข้าไปประกบ กับลมที่กำลังหายใจออกด้วย
การทำแบบนี้ เราจะหลับตาทำ หรือลืมตาทำก็ได้ตามถนัด แต่ในการฝึกแรกๆ การหลับตาจะสะดวกและทำง่ายกว่า เมื่อตาไม่เห็น ใจก็ย่อมไม่คิด ไม่ปรุงให้ฟุ้งซ่าน
ท่านั่งขัดสมาธิ นั่งตัวตรง ขาขวาซ้อนทับขาซ้าย มือขวาวางซ้อนทับมือซ้าย เป็นท่าที่ดีที่สุด สำหรับผู้ที่จะทำนานๆ แต่สำหรับผู้ที่ทำเป็นพิธี ใช้เวลาไม่มากนัก จะใช้ท่านั่งหรืออิริยาบถไหนก็ได้ ขอแต่ว่าให้หายใจสะดวกและนั่งสบายเป็นพอ
แบบอิสระนี้ มีวิธีทำแยกออกเป็น 2 อย่าง คือ แบบปักหลัก กับ แบบตามลม
ก. แบบปักหลัก คือ ไม่ตามลมเข้า ไม่ตามลมออก ทำอุปมาเหมือนยามเฝ้าประตู ดูเฉพาะคนที่กำลังผ่านประตูเข้า และออกเท่านั้น
ขณะเมื่อเรากำลังหายใจเข้าอยู่ ให้สังเกตว่า ลมกระทบจมูกตรงส่วนไหนชัดเจนมากที่สุด ถ้ายังจับได้ไม่ชัดเจน ควรหายใจแรง ๆ ลึก ๆ สัก 3 ครั้ง ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ส่วนไหนถูกกระทบมากที่สุด ก็เอาตรงนั้นแหละ เป็น “ศูนย์กลาง” ของลมหายใจ ทุกขณะที่หายใจเข้าและหายใจออก
เอาจิตไว้กับลมหายใจเข้า และลมหายใจออกตลอดเวลา เมื่อเผลอลืมไป ก็ให้ตั้งต้นทำไปใหม่ ซึ่งในการฝึกแรกๆ มันก็ย่อมลืมง่ายเป็นธรรมดา ขอให้ตั้งใจมีฉันทะเอาจริงเอาจริง ไม่นานนักจิตก็ย่อมจะเกิดความคุ้นเคย เกิดความเชื่อง เหมือนหมาถูกล่ามโซ่อยู่นานๆ ความพยายามอยู่ที่ไหน? ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น!
ข้อควรระวัง ในการทำสมาธิทุกครั้ง ควรปลุกประสาทให้ตื่นตัวอยู่เสมอ นั่นคือ เมื่อเกิดความง่วงงัวเงีย หรืออ่อนเพลียก็ไม่ควรนั่งทำ ควรบริหารร่างกาย ให้เกิดความสดชื่นก่อน จิตจะเป็นสมาธิง่าย และจะไม่เสียนิสัย คือ นั่งโงกง่วง สะลึมสะลือ
ข. แบบตามลม คือ ตามลมเข้าและตามลมออก เมื่อหายใจเข้า ก็จับลมที่บริเวณจมูก แล้วก็ตามลมเข้าไปในท้อง เมื่อสุดลมหายใจเข้าก็หยุดนิดหนึ่ง พอลมหายใจออก ก็ตามลมออกมาด้วย
ตั้งฐานของลมไว้ 3 จุด คือบริเวณจมูก (หรือโพรงจมูก) หน้าอกตรงลิ้นปี่ และสะดือ เมื่อหายใจเข้าเริ่มจับจุดที่หนึ่ง คือ บริเวณจมูก ตรงที่ลมกระทบชัด ตามลมเข้าไปจับจุดที่ 2 คือ หน้าอก ตามลมเข้าไปสิ้นสุดเอาที่สะดือ เมื่อหายใจออก ก็ผ่าน 3 จุดเช่นเดียวกัน
2. แบบผสม คือ ใช้เลขเข้ามานับประกบด้วยกับใช้คำบริกรรม หรือคำภาวนา เข้าผสมกับลมหายใจ มีวิธีการทำแยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ก. การนับเป็นคู่ คือ เมื่อหายใจเข้านับว่า “หนึ่ง” หายใจออกนับว่า “หนึ่ง" หายใจเข้าครั้งที่สองนับว่า “สอง” หายใจออกครั้งที่สองนับว่า “สอง” นับไปจนถึง “สิบ” แล้วก็ตั้งต้นนับหนึ่งไปจนถึงสิบอีก ทำอย่างนี้เรื่อยไปตามกำหนดเวลาที่ต้องการ
ข. การนับเป็นเดี่ยว คือ เมื่อหายใจเข้าไม่นับ เมื่อหายใจออกสุดแล้ว จึงนับ “หนึ่ง” กล่าวคือนับเฉพาะลมหายใจออกอย่างเดียว ตอนลมหายใจเข้าไม่นับ นับหนึ่งไปจนถึงสิบ แล้วตั้งต้นนับหนึ่งจนถึงสิบอีกเรื่อยไป
ค. การบริกรรมหรือภาวนา คือ ใช้คำต่างๆ เช่น พุธ-โธ พองหนอ-ยุบหนอ สัมมาอรหัง เป็นต้น เข้าประกบกับลมหายใจเข้าและออก ดังนี้
แบบพุท-โธ หายเข้าระลึกว่า “พุท” หายใจออกระลึกว่า “โธ”
แบบพองหนอ-ยุบหนอ หายใจเข้าระลึกว่า “พองหนอ” หายใจออกระลึกว่า “ยุบหนอ”
แบบสัมมาอรหัง หายใจเข้าระลึกว่า “สัมมาอรหัง” หายใจออกก็ระลึกว่า “สัมมาอรหัง”
เคล็ดลับแห่งความสำเร็จ ในการทำสมาธิ อยู่ที่การใช้อุบายต่าง ๆ โดยเฉพาะก็อิทธิบาท 4 จำเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติกิจทุกสิ่ง ถ้าขาดอิทธิบาทแล้ว จะเกิดความล้มเหลวขึ้นในทันที
อิทธิบาท คือ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จ หรือคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย มี 4 ประการ ได้แก่
- ฉันทะ ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
- วิริยะ ความเพียร คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้น ด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อทอย
- จิตตะ ความคิด คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป
- วิมังสา ความไตร่ตรอง หรือ ทดลอง คือ หมั่นใช้ปัญญาพิจารณา ใคร่ครวญ ตรวจตราหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อน ในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไข ปรับปรุง เป็นต้น
ผู้เขียนเองในอดีต เป็นคนที่จิตสงบยาก ได้ใช้อิทธิบาทมาช่วย ก็สำเร็จไปทุกเรื่อง อย่างเรื่องการฝึกสมาธินี้ ใช้พุทโธก็ไม่อยู่ ใช้พองหนอ-ยุบหนอก็ไม่ได้ เรื่องใช้สัมมาอรหังก็เหลว หันมาใช้วิธีนับทั้งเข้าและออก ก็ไม่เอาไหนอีก
เกือบๆ จะล้มเลิกเสียหลายครั้งแล้ว ลองใช้ไม้สุดท้ายดู คือใช้วิธีนับนั่นแหละ แต่นับเฉพาะตอนหายใจออก เพราะถ้านับทั้งเข้าและออก มันจะง่ายเกินไป เกิดความเพลิน พาลจะลืมเอาง่ายๆ ครั้นจะไม่ใช้เลขนับมันก็จะเผลอได้ง่าย เลยใช้แบบวิธี “พบกันครึ่งทาง” กล่าวคือ
เมื่อขณะหายใจเข้าไม่ต้องนับ แต่เอาจิตคอยระวังไว้กับลมหายใจ ที่กำลังอยู่ตลอดเวลา เมื่อหายใจออกก็ทำเช่นเดียวกัน แต่พอสุดลมหายใจออก ก็ใส่เลขนับเข้าไปด้วย วิธีนี้นับว่าได้ผล เมื่อเผลอไปก็จะลืมเลขที่นับ สมาธิจะดิ่งจมไม่รู้สึกตัวก็ไม่ได้ เพราะคิดเลขนับ เลขนับมันหยาบ คอยกระตุ้นจิตไม่ให้เคลิ้มได้ดีนัก
วิธีนี้เท่ากับว่า “ทำหนึ่งได้สอง” นั่นคือ ได้ทั้งสมาธิ แถมได้สติเป็นผลพวงตามมาอีกด้วย แต่กว่าจะได้ก็ปล้ำกันอยู่หลายเดือน ด้วยการใช้ธรรมะ 3 ตัวเข้ามร่วมคือ วิริยะ ขันติ และสัจจะ ด้วยการปฏิบัติ ดังนี้
ในการทำครั้งแรก ๆ ที่จิตยังไม่สงบ ต้องตั้งสัจจะทุกครั้งไป ว่าจะทำให้ได้ครบเท่านั้นเท่านี้เที่ยวจึงจะเลิกได้ ถ้าไม่ได้ตามนั้นก็จะไม่ยอมเลิกเด็ดขาด ทำอยู่ไม่กี่ครั้งก็ได้ผล คือ
การนับลมเป็นเที่ยว เท่ากับสิบคู่ของการหายใจ หรือหายใจออกสิบครั้งเรียกว่า “หนึ่งเที่ยว” ถ้าทำสิบเที่ยว ก็เท่ากับหายใจออก 100 ครั้ง
โดยปกติคนทั่วไป มักหายใจ 15 ครั้งต่อ 1 นาที จะช้าหรือเร็วกว่านี้ก็ไม่มากนัก จึงถือเอาการนับเป็นเที่ยว แทนนาฬิกาได้คือ 15 ครั้งต่อ 1 นาที ไม่ต้องเสียเวลาดูนาฬิกา
เมื่อเราตั้งสัจจะ ว่าจะทำครั้งนี้กี่เที่ยวแล้ว ก็จะต้องทำให้ได้ และจะต้องได้เที่ยวที่ “บริสุทธิ์” ด้วยคือ แต่ละเที่ยวที่ได้จะต้องไม่เผลอ ถ้าเผลอหรือลืมก็จะต้องตั้งต้นนับหนึ่ง ในเที่ยวนั้นๆ ใหม่ เช่น
เราตั้งสัจจะไว้ว่า คืนนี้หรือครั้งนี้จะทำ 10 เที่ยว ในแต่ละเที่ยวนั้นจะต้องไม่เผลอไม่ลืมเลย ถ้าเกิดเผลอหรือลืมในเที่ยวใด ก็จะต้องทำชดใช้ให้บริสุทธิ์ก่อนจึงจะนับเที่ยวต่อไปได้
การทำแบบนี้ ได้ทั้งคุณภาพ (สมาธิ) และได้ทั้งปริมาณ (เวลาที่ไม่เสียไปเปล่า)
เมื่อทำครบทั้ง 10 เที่ยวแล้ว ก็อย่าเพิ่งเลิกในทันที ให้ทำแถมเรื่อยๆ ไป จนกว่าจะเห็นว่าสมควรเลิก จึงค่อยเลิก มิฉะนั้นจะถูกผีมันหัวเราะเยาะใส่หน้า เพราะมันเดาล่วงหน้าไว้ก่อนแล้วว่า พอเราทำครบ 10 เที่ยวแล้วก็จะต้องเลิก เราจึงต้องทำเผื่อไว้มากๆ จนผีทายไม่ถูกเลยอายเราไป จนเทวดาต้องสาธุการ
ผี กับ เทวดา
คนในสมัยก่อน มีความเชื่อว่า คนที่คิดดีหรือคิดชั่ว ทำดีหรือทำชั่วนั้น แม้คนด้วยกันจะไม่เห็น แต่ผีและเทวดา ก็ย่อมจะรู้และเห็นอยู่ตลอดเวลา เราจึงไม่ควรจะโกหกตัวเอง เมื่อตั้งสัจจะว่าจะทำสิ่งใดแล้วก็ควรจะพยายามทำให้สำเร็จ เมื่อทำสำเร็จก็จะเกิดปีติและกำลังใจ ให้ทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป
ผีนั้นจะหัวเราะเยาะใส่หน้า กับคนที่ทำอะไรไม่จริง ไม่สำเร็จ แต่ถ้าเราทำจริง และทำให้สำเร็จตามสัจจะ มันก็จะอายและหลบหนีไป
ส่วนเทวดานั้น จะคอยสรรเสริฐและอนุโมทนาต่อคนที่ทำความดีและทำให้สำเร็จ เพื่อขอแบ่งส่วนบุญหรือร่วมบุญด้วย
ความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันหรือหลอกเด็ก แต่เป็นเรื่องจริงที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกมากมาย คนสมัยก่อนท่านจึงว่า เมื่อจะคิดหรือทำความชั่ว ถ้าไม่อายคนด้วยกัน ก็ให้ละอายผีสางเทวดาบ้าง นับว่าเป็นเรื่องที่ควรแก่การรับฟังและพิจารณาอยู่.
การปฏิบัติธรรม หมายถึงการปฏิบัติในทางความดี และความถูกต้อง มิได้หมายถึงการนั่งหลับตาเสมอไป และการนั่งหลับตานั้น ถ้าหลับตาด้วยความหลงผิดหรือเห็นผิด ก็ไม่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติธรรม.