๐
พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ มีนามเดิมว่า สุโข ทะเสนชัด เกิดเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๒ ที่บ้านม่วงแยก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โยมบิดาชื่อ นายบอ ทะเสนชัด (ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวัยชรา ที่วัดบ้านเสียว ต.เสียว อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ และปัจจุบันมรณภาพแล้ว) โยมมารดาชื่อ นางคุม เชื้อกูล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๖ คน เป็นชาย ๒ คน หญิง ๔ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๖
๐ ท่านเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น แม้ฐานะทางบ้านจะยากจน ประกอบอาชีพทำไร่ทำนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เมื่ออายุถึงเกณฑ์ท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านม่วงแยก ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ จนจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วไม่ได้เรียนต่อ หลังจากนั้นอีกประมาณ ๒ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร
๐ อายุ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดทุ่งเลน บ้านทุ่งเลน ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ ในงานวัน
ผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตของวัด โดยมีพระครูวัชรินทร์ อภิปุญโญ เป็นพระอุปัชฌาย์
๐ อายุ ๒๐ ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดเศวตฉัตร แขวงบางลำพูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ได้ญัตติในมหานิกาย เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๒ โดยมีพระเทพเมธี เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูวิสุทธิคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า "กตปุญโญ" แปลว่า "ผู้ทำบุญไว้แล้วแต่ปางก่อน"
๐ ท่านตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณรว่า "เมื่ออาศัยผ้าเหลืองเลี้ยงชีวิต อยากให้ผ้าเหลืองอาศัยเราบ้าง" ซึ่งหมายถึง ท่านมีความตั้งใจ
อย่างแน่วแน่ที่จะกล่าวธรรม แสดงธรรม เพื่อการเผยแผ่และช่วยเหลือเกื้อกูลพระศาสนา จึงเป็นเหตุทำให้ท่านเริ่มฝึกฝนการเทศน์ตามคัมภีร์ใบลานและศึกษาภาษาขอม ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นต้นมา
๐ ท่านได้ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมและสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ ที่สำนักศาสนศึกษาวัดบ้านดอนข่า ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ทั้งนี้ ท่านพิจารณาเห็นว่าได้ศึกษาพุทธประวัติและธรรมะในเบื้องต้นพอเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว จึงตัดสินใจหันมาปฏิบัติธรรมและปฏิบัติธุดงค์อย่างจริงจังเพื่อแสวงหาพระสัทธรรม
๐ ท่านเป็นพระนักเทศน์ โดยเริ่มเทศน์ครั้งแรกตั้งแต่เป็นสามเณร เมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๒ เรื่อยมา จนกระทั่งได้มาเทศน์เผยแผ่ธรรมะทางวิทยุจำนวน
หลายสิบสถานีจวบจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ตลอดจนรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมตามสถานที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลทั่วประเทศ ชีวิตจึงอยู่กับการเดินทางเพื่อให้ธรรมทานเป็นส่วนมาก รวมทั้งเคยรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมที่ประเทศพม่าและมาเลเซีย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๑ ท่านเน้นการสอนธรรมะที่สร้างกำลังใจให้ "จิต" อดทนหนักแน่นในการเพียรปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างบารมี ทั้งนี้ สำนวนโวหารการกล่าวธรรม การแสดงธรรมของท่าน มีความโดดเด่นในข้ออรรถ ข้อธรรม มีความไพเราะจับใจ สงบเย็น และมีความหลากหลาย
๐ ท่านเป็นพระนักปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง ซึ่งแนวทางการ
ปฏิบัติธรรมของท่าน ตั้งแต่เป็นสามเณรเริ่มต้นจากการปฏิบัติเจริญ
สมถกรรมฐาน บริกรรม "สัมมาอะระหัง วา" เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุพรรษาแรกจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ท่านปฏิบัติตามแนวการเจริญอานา
ปานสติกรรมฐาน ควบกับการพิจารณาอาการ ๓๒ และแผ่เมตตาพรหมวิหารเป็นประจำ ทั้งนี้ ท่านยังได้เพียรเสียสละมุ่งมั่นปฏิบัติตนเป็น
ครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจเข้มแข็งหนักแน่น เพื่อนำพาสอนปฏิบัติธรรมและ
สอนปฏิบัติธุดงค์ให้แก่คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเรื่อยมา
๐ ท่านเป็นพระนักพัฒนา ซึ่งเพียรเสียสละมุ่งมั่นอุทิศตนทำงานเพื่อพระศาสนาและสังคม โดยท่านจะรับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมในโครงการอบรมภาคจริยธรรมตามโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ ทั้งใกล้และไกลทั่วประเทศ และมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีโครงการจัดบวชปฏิบัติธรรมให้กับพระภิกษุ สามเณร และสาธุชนสายบุญ ในวันสำคัญทางศาสนาและในโอกาสอันควรอย่าง
ต่อเนื่องตลอดปี นอกจากนี้แล้วท่านยังได้พัฒนาและบูรณะปฏิสังขรณ์
ศาสนสถานและเสนาสนะทั่วไปทั้งภายในและภายนอกสำนักฯ
๐ ทุกๆ ครั้งที่ท่านนำพาคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญ เดินทางไปปฏิบัติธรรมนอกสถานที่ ณ ที่ใดก็ตาม สิ่งที่คณะผู้ร่วมเดินทางทุกคนได้พบเห็นอยู่เสมออันนำมาซึ่งความปีติภูมิใจ ก็คือ นอกจากการได้ปฏิบัติธรรมแล้ว ท่านยังได้นำพาคณะผู้ร่วมเดินทางทุกคนให้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างถาวรวัตถุและในศาสนกิจอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับสถานที่นั้นๆ เช่น งานเสขะปฏิปทา (ปฏิบัติธรรม) ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ระหว่างวันที่ ๘-๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ ณ วัดไตรสิกขาพลามลตาราม ต.บ้านแพด อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ซึ่งเป็นสถานที่จำพรรษาของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ งานเสขะปฏิปทาครั้งนี้ได้มีพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาจากทั่วสารทิศ รวมทั้งพระนิสิตจาก มจร. เดินทางมาปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากเกือบสองพันชีวิต จึงทำให้ภัตตาหารและอาหาร รวมทั้งสถานที่ต้อนรับและห้องน้ำไม่เพียงพอสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม เมื่อทราบเช่นนั้นท่านก็รวบรวมปัจจัยจากคณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญเพื่อเป็นค่าภัตตาหารและค่าอาหารให้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาผู้มาปฏิบัติธรรม จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจัดการเรียกช่างที่
อยู่ทางสำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนนท์นพเก้าให้เดินทางมาก่อสร้างห้องน้ำจำนวน ๕๐ ห้องทันที ทั้งนี้ ท่านมีโครงการจะมอบปัจจัยเพื่อเป็น
ค่าภัตตาหารและค่าอาหาร ฯ แด่วัดไตรสิกขา ฯ ในงานเสขะปฏิปทาเป็นประจำทุกปี จำนวนปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาทเป็นอย่างน้อย รวมทั้ง จะ
ก่อสร้างห้องน้ำ ณ วัดไตรสิกขา ฯ รวมทั้งหมดจำนวน ๑๐๐ ห้อง เป็นต้น
๐ ท่านมีปกติเบิกบานและเมตตาอยู่เสมอ มีความว่องไว มีความอดทน
และอุปนิสัยที่โดดเด่นที่สุดที่เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้แก่คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญ ก็คือ การเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการีเป็นอย่างยิ่ง ส่วนในเรื่องความเมตตาของท่านนั้น จะเห็นเด่นชัดในกรณีที่บุคคลใดก็ตามที่เดือดร้อนไม่ว่าเรื่องใดๆ แล้วไปหาท่าน ถ้าช่วยเหลือได้ ท่านจะให้ความช่วยเหลือทันที
๐ ปัจจุบันท่านเป็นประธานสงฆ์ ณ สำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณีนนท์นพเก้า ต.ลาดบัวหลวง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา โดยท่านได้รับ
นิมนต์จากแม่ชีอุบล แก้วมณีและคณะ ให้มาเป็นประธานสงฆ์เมื่อช่วงเข้าพรรษาของปี พ.ศ.๒๕๔๒ ทั้งนี้ แม่ชีอุบล แก้วมณีและคณะเป็นผู้มี
ศรัทธาถวายที่ดินจำนวน ๓๒ ไร่เพื่อก่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรมแก้วมณี
นนท์นพเก้า ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายเนื้อที่ของสำนักฯ อีกจำนวน ๑๐ ไร่ ดังนั้น ปัจจุบันเนื้อที่ของสำนักฯ จึงมีรวมทั้งหมดจำนวน ๔๒ ไร่
๐ ในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน คณะศิษยานุศิษย์และสาธุชนสายบุญผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสจะร่วมกันจัดงานแสดงมุทิตาจิตและปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นอาจาริยบูชา
๐ ท่านมีผลงานด้านงานเขียนหนังสือธรรมะจำนวน ๔ เล่ม ดังนี้
พ.ศ.๒๕๔๗ | :: ธรรมบรรยาย โดย พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ |
พ.ศ.๒๕๔๘ | :: กล่าวถึงพระคุณแม่ (พิมพ์ ๒ ครั้ง) |
| :: พระมหากัปปินเถระ (พิมพ์ ๒ ครั้ง) |
| เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทแก่ภิกษุ |
| :: พระราหุลเถระ |
| เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา |