เว็บบอร์ด สนทนาธรรม สอบถามห้องแชดสนทนาธรรมสมุดเยี่ยม ฝากข้อความ ติชมรวมเว็บพระพุทธศาสนารวมรูปภาพ พุทธศิลป์ พระพุทธเจ้า พระพุทธรูป พระเจดีย์ พระสงฆ์
  ตั้งเป็นหน้าแรก   เก็บเข้า Favorites   สั่งพิมพ์   แจ้งปัญหา
   
 
 
 
สารบัญหลัก
  หน้าหลัก
  หนังสือธรรมะ
  บทสวดมนต์
  เสียงธรรม mp3
  เสียงสวดมนต์ mp3
  ห้องสวดมนต์ออนไลน์
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  วัดป่า-พระป่า
  วันสำคัญทางศาสนา
  ดาวน์โหลด e-book
  คำสอนจากครูบาอาจารย์
  บทความ..ธรรมจักร
  รูปภาพ
  กระดานสนทนา
  ห้องสนทนา
  สมุดเยี่ยม
  รวมเว็บ
  ติดต่อทีมงาน
ขึ้นบน
 
เว็บบอร์ด
  สนทนาธรรม
  ข่าวกิจกรรม
  สติปัฏฐาน
  สมาธิ
  กฎแห่งกรรม
  นิทานธรรมะ
  หนังสือธรรมะ
  บทความธรรมะ
  กวีธรรม
  นานาสาระ
  วิทยุธรรมะ
  สถานที่ปฏิบัติธรรม
  เสียงธรรมออนไลน์
  เสียงสวดมนต์ออนไลน์
  พระพุทธเจ้า
  ประวัติอสีติมหาสาวก
  ประวัติเอตทัคคะ
  ประวัติครูบาอาจารย์
 
 
^-^ มาฝึกสมาธิกันดีกว่า ^-^
 
@ อยากรู้  ประวัติศาสตร์ วงล้อมธรรมจักร ลัญลักษณ์ของพุทธศาสนา  คลิกอ่าน @
 
รวมเว็บพระพุทธศาสนา แบ่งออกเป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการค้นคว้าหาข้อมูล
 
คำสอนของครูบาอาจารย์ เช่นหลวงปู่ดูลย์,หลวงปู่เทสก์,หลวงพ่อชา,หลวงพ่อพุธ,หลวงพ่อจรัญ,พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นต้น
 
อัลบั้มภาพพระพุทธศาสนา
 
เรือนธรรม - บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ
 
ขอเชิญเข้ามาร่วมสนทนาธรรมด้วยกันครับ
 
ดูซิ ! ว่ามีใครอยู่ในห้องบ้าง
 
ฝากข้อความติชมของท่านได้ที่นี่ครับ
 
 
 
 
   ธรรมจักร   หนังสือธรรมะ งานเพื่อความสุข และแก่นสารของชีวิต ปรับขนาดตัวอักษร เพิ่มขนาด ลดขนาด ขนาดปกติ  
 
ชีวิต งาน และธรรม : อิสรภาพภายในเอกภาพ
 

      เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่อง ชีวิตนี้เพื่องาน และงานนี่เพื่อธรรม ทั้งหมดนี้ก็เป็นนัยหนึ่งของความหมายแต่ถ้าจะวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง ชื่อหัวข้อที่ตั้งไว้ก็ได้แยกชีวิตกับงานออกเป็นสองคำ เมื่อกี้เราได้ดึงเอาชีวิตกับงานมารวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว แต่ถึงอย่างนั้นในแง่ของความเป็นจริงก็เป็นคำพูดคนละคำ ชีวิตก็เป็นอันหนึ่ง งานก็เป็นอันหนึ่ง เพียงแต่เรามาโยงให้เป็นเอกภาพ

          ทีนี้ แง่ที่ชีวิตกับงานเป็นคนละคำ ยังเป็นคนละอย่างและยังมีความหมายที่ต่างกัน ก็คือ งานนั้นมีลักษณะที่จะต้องทำกันเรื่อยไปไม่สิ้นสุด ยังไม่มีความสมบูรณ์เสร็จสิ้นที่แท้จริง เพราะว่างานนั้นสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงของกาลเทศะ และของชุมชน สังคมมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นงานจะไม่มีความสมบูรณ์เสร็จสิ้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงต่อไปตามสภาพแวดล้อมของสังคม แต่ชีวิตของคนมีความจบสิ้นในตัว จะไม่ไปกับงานตลอดไป อันนี้ก็เป็นอีกแง่หนึ่ง

          ตามที่พูดไปแล้วแม้ว่าชีวิตกับงานจะเป็นเอกภาพกันได้แล้ว แต่ในแง่หนึ่งก็ยังมีความต่าง อย่างที่ว่า งานสำหรับสังคมนี้คงดำเนินต่อไป แต่ชีวิตของคนมีการจบสิ้นได้ และจะต้องจบสิ้นไป แม้ว่าเราจะไม่สามารถทำให้งานมีความสมบูรณ์เสร็จสิ้น แต่ชีวิตของคนเราแต่ละชีวิตเราควรจะทำให้สมบูรณ์ และชีวิตของเราในโลกนี้เราก็สามารถทำให้สมบูรณ์ได้ด้วย ทำอย่างไรจะให้สมบูรณ์

          ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักเกี่ยวกับจุดหมายของชีวิตได้ ๓ ขั้นว่า ชีวิตที่เกิดขึ้นมานั้นแม้ว่ามันจะไม่มีจุดหมายของมันเอง เราก็ควรทำให้มีจุดหมาย เราอาจจะตอบไม่ได้ว่า ชีวิตนี้เกิดมามีจุดหมายหรือไม่ เพราะเมื่อว่าตามหลักธรรมแล้ว ชีวิตนี้เกิดมาพร้อมด้วยอวิชชา ชีวิตไม่ได้บอกเราว่ามันมีจุดหมายอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราก็สามารถตั้งความมุ่งหมายให้แก่มันได้ด้วยการศึกษาและเข้าใจชีวิต ก็มองเห็นว่าชีวิตนี้จะเป็นอยู่ดี จะต้องมีคุณภาพ จะต้องเข้าถึงสิ่งหรือสภาวะที่มีคุณค่าหรือเป็นประโยชน์แก่มันอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ทางพระจึงได้แสดงไว้ว่า เมื่อเกิดมาแล้วชีวิตของเราควรเข้าถึงจุดหมายระดับต่างๆ เพื่อให้เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้แก่ชีวิตของเราเอง ให้มันมีให้มันเป็นได้อย่างนั้น ประโยชน์หรือจุดหมายนี้ ท่านแบ่งเป็น ๓ ขั้น

          จุดหมายที่หนึ่ง เรียกว่า จุดหมายที่ตามองเห็น จุดหมายของชีวิตที่ตามองเห็น โดยพื้นฐานที่สุด ถ้าพูดด้วยภาษาของคนปัจจุบัน ก็คือ การมีรายได้ มีทรัพย์สินเงินทอง มีปัจจัย ๔ พอพึ่งตัวเองได้ การเป็นที่ยอมรับ และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เรื่องผลประโยชน์และความจำเป็นต่างๆ ทางวัตถุและทางสังคมเหล่านี้ ชีวิตของเราจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัย เราปฏิเสธไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ การพึ่งตัวเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องกระทำให้เกิดให้มี ทุกคนควรที่จะต้องพิจารณาตัวเองว่า ในขั้นที่หนึ่ง เกี่ยวกับการมีทรัพย์ที่จะใช้สอย มีปัจจัยที่พออยู่ได้ การสัมพันธ์ในทางที่ดีกับผู้อื่นในสังคม เรื่องของความอยู่ดี พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ที่ตามองเห็นนี้ เราทำได้แค่ไหนบรรลุผลไหม นี่คือขั้นที่หนึ่งที่ท่านให้ใช้เป็นหลักวัด

          ต่อไปขั้นที่สอง จุดหมายที่เลยจากตามองเห็น หรือประโยชน์ซึ่งเลยไกลออกไปข้างหน้า เลยจากที่ตามองเห็น ก็คือด้านในหรือด้านจิตใจ หมายถึง การพัฒนาชีวิตจิตใจ รวมทั้งการมีความสุขในการทำงาน การมองเห็นคุณค่าของงานในแง่ความหมายที่แท้จริงว่าเป็นประโยชน์ ต่อเพื่อนมนุษย์หรือเพื่อสันติสุข ความประพฤติสุจริต พร้อมที่จะเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมได้ต่างๆ สภาพเหล่านี้ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจและเอิบอิ่มภายในจิตใจ เป็นความสุขที่ลึกซึ้ง นี่เป็นสิ่งที่เลยจากตามองเห็น ซึ่งคนหลายคนแม้นจะมีประโยชน์ที่ตามองเห็นพรั่งพร้อมบริบูรณ์ แต่ไม่มีความสุขที่แท้จริงเลย เพราะพ้นจากที่ตามองเห็นไปแล้ว จิตใจไม่พร้อม ไม่ได้พัฒนาเพียงพอ เพราะฉะนั้น ต้องมองว่าในส่วนที่มองไม่เห็น คือ เลยไปกว่านนั้นยังมีอีกส่วนหนึ่ง แล้วส่วนนั้นเราได้แค่ไหนเพียงไร

          สุดท้าย จุดหมายที่พ้นเหนือโลก หรือจุดหมายแห่งการเข้าถึงอิสรภาพ เรียกว่า ประโยชน์สูงสุด คือ ประโยชน์ในขั้นที่สองนั้น แม้จะเลยจากที่ตามองเห็นประโยชน์ในขั้นที่สองนั้น แม้จะเลยจากที่ตามองเห็นไปแล้ว ก็ยังเป็นเพียงเรื่องของนามธรรมในระดับของความดีต่างๆ ซึ่งแม้จะสูง แม้จะประเสริฐก็ยังมีความยึดความติดอยู่ในความดีความงามต่างๆ เหล่านั้น และยังอยู่ในข่ายของความทุกข์ ยังไม่พ้นเป็นอิสระแท้จริง ส่วนจุดหมายขั้นสุดท้ายนี้ ก็คือการอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นขึ้นไป คือความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาถือว่า ความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์เป็นจุดหมายที่แท้จริงของชีวิต

          ตอนนี้ แม้แต่งานที่ว่าสำคัญ  เราก็ต้องอยู่เหนือมันเพราะถึงแม้ว่างานกับชีวิตของเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ตราบใดที่เรายังมีความติดในงานนั้นอยู่ ยังยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา งานแม้จะเป็นสิ่งที่ดีงามมีคุณค่าเป็นประโยชน์ แต่เราก็จะเกิดความทุกข์จากงานนั้นได้ จึงจะต้องมาถึงขั้นสุดท้ายอีกขั้นหนึ่งคือ ความหลุดพ้นเป็นอิสระโดยสมบูรณ์อยู่เหนือสิ่งทั้งปวง แม้แต่สิ่งที่เรียกว่างาน

          ในขั้นนี้เราจะทำงานให้ดีที่สุด โดยที่จิตใจไม่ติดค้างกังวลอยู่กับงาน ไม่ว่าในแง่ที่ตัวเราจะได้ผลอะไรจากงานนั้น หรือในแง่ว่างานจะทำให้ตัวเราได้เป็นอย่างนั้นๆ หรือแม้แต่ในแง่ว่างานของเราจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ การมองตามเหตุปัจจัยนั้นเป็นตัวต้นทางที่จะทำให้เรามาถึงขั้นนี้ ในเวลาที่ทำงานเราทำด้วยความตั้งใจอย่างดีที่สุด แต่มีท่าทีของจิตใจที่ว่ามองไปตามเหตุปัจจัย ถ้างานนั้นมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย  มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นไป ไม่ใช่เรื่องของตัวเราที่จะเข้าไปรับกระทบ เข้าไปอยาก เข้าไปยึด หรือถือค้างไว้ เรามีหน้าที่แต่เพียงทำเหตุปัจจัยให้ดีที่สุดด้วยความรู้ที่ชัดเจนที่สุด มีแต่ตัวรู้ คือ รู้ว่าที่ดีงาม ถูกต้องหรือเหมาะควรเป็นอย่างไร รู้ว่าเหตุปัจจัยที่จะให้เป็นอย่างนั้นคืออะไร แล้วทำตามที่รู้คือ ทำเหตุปัจจัยที่รู้ว่าจะเกิดผลเป็นการดีงามถูกต้องเหมาะหรือควรอย่างนั้น

          เมื่อทำเหตุปัจจัยแล้ว มันก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยนั้นแหละที่จะทำให้เกิดผลขึ้นมา เราหมดหน้าที่แค่นั้นไม่ต้องมายุ่งในนอกเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปอยากไปยึด ตอนนี้ใจของเราก็เรียกว่าลอยพ้นออกมาได้ส่วนหนึ่ง เมื่อใดเราเข้าถึงความจริงโดยสมบูรณ์แล้ว จิตใจของเราก็จะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ทำงานนั้นได้ผลสมบูรณ์ โดยพร้อมกันนั้นก็ไม่ทำให้ตัวเราตกไปอยู่ใต้ความกดทับ หรือในการบีบคั้นของตัวงานนั้นด้วย แต่เราก็คงสุขสบายโปร่งใจอยู่ตามปกติของเรา อันนี้เป็นประโยชน์สูงสุดในขั้นสุดท้ายถ้าสามารถทำได้อย่างนี้ ชีวิตก็จะมีความสมบูรณ์ในตัว

          ดังได้กล่าวแล้วว่า งานไม่ใช่เป็นตัวเรา และก็ไม่ใช่เป็นของเราจริง แต่งานนั้นเป็นกิจกรรมของชีวิตเป็นกิจกรรมของสังคม เป็นสิ่งที่ชีวิตของเราเข้าไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องแล้วก็ต้องผ่านกันไปในที่สุด งานนั้นเราไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แท้จริงเพราะมันขึ้นกับผลที่มีต่อสิ่งอื่น ขึ้นกับปัจจัยแวดล้อม กาลเทศะ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป แต่ชีวิตของเราแต่ละคนนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ และเราสามารถทำให้สมบูรณ์แท้จริงเพราะมันขึ้นกับผลที่มีต่อสิ่งอื่น ขึ้นกับปัจจัยสิ่งแวดล้อม กาลเทศะ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม คนอื่นจะต้องมารับช่วงทำกันต่อไป แต่ชีวิตของเราแต่ละคนนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้สมบูรณ์ได้ และเราสามารถทำให้สมบูรณ์ได้ แม้แต่ด้วยการปฏิบัติงานนี้แหละอย่างถูกต้อง เมื่อเราปฏิบัติต่องานหรือทำงานอย่างถูกต้องมีท่าทีของจิตใจต่องานถูกต้องแล้ว ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ในตัวในแต่ละขณะนั้นนั่นเอง นี่คือ ประโยชน์ในระดับต่างๆ จนถึงขึ้นสูงสุดที่ทางธรรมสอนไว้

          รวมความว่า ภาระที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว หรือเอกภาพที่กล่าวมานั้น เมื่อวิเคราะห์ลงไปแล้ว ยังแยกได้เป็น ๒ ระดับ

          ในระดับหนึ่ง แม้ว่าในเวลาทำงาน ชีวิตจะเต็มอิ่มสมบูรณ์ในแต่ละขณะนั้นๆ ทุกขณะ เพราะชีวิตจิตใจกลมกลืนเข้าไปในงานเป็นอันเดียวกัน พร้อมทั้งมีความสุขพร้อมอยู่ด้วยในตัว แต่ลึกลงไปในจิตใจก็ยังมีความยึดติดถือมั่นอยู่ว่างานของเราๆ พร้อมด้วยความอยาก ความหวังความหมายมั่น และหวาดหวั่นว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นเถิด มันจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่หนอ เป็นต้น จึงยังแฝงเอาเชื้อแห่งความทุกข์ซ่อนไว้ลึกซึ้งภายใน เป็นเอกภาพที่มีความแยกต่างหาก ซึ่งสิ่งที่ต่างหากกันเข้ามารวมกัน มีตัวตนที่ไปรวมเข้ากับสิ่งอื่น หรือฝังกลืนเข้าไปในสิ่งนั้นในงานนั้น ซึ่งเมื่อมีการรวมเข้าก็อาจมีการแยกออกได้อีก

          ส่วนในอีกระดับหนึ่ง ความประสานกลมกลืนของชีวิตจิตใจกับงานที่ทำ เป็นไปพร้อมด้วยความรู้เท่านตามความเป็นจริงในธรรมชาติของชีวิตและการงาน เป็นต้น ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยไม่ต้องอยากยึดมั่นถือสำคัญมั่นหมายให้นอกเหนือ หรือเกิดออกไปจากการกระทำตามเหตุผลด้วยความตั้งใจ และเพียรพยายามอย่างจริงจัง เป็นภาวะอิสรภาพซึ่งเอกภาพเป็นเพียงสำนวนพูด เพราะแท้จริงแล้วไม่มีอะไรแยกต่างหากที่จะต้องมารวมเข้าด้วยกันเนื่องจากไม่มีตัวตน ที่จะเข้าไปรวมหรือแยกออกมาเป็นเพียงความเป็นไป หรือดำเนินไปอย่างประสานกลมกลืนในความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ที่แท้ก็คือความโปร่งโล่ง เป็นอิสระ เรียกว่าภาวะปลอดทุกข์ไร้ปัญหา เพราะไม่มีช่องให้ความคับข้องติดขัดบีบคั้นเกิดขึ้นเลย

          ฉะนั้น พึงเข้าใจว่า ภาวะที่ชีวิต งาน และธรรม ประสานกลมกลืนเข้าเป็นหนึ่งเดียว ดังได้กล่าวมา ก่อนหน้านี้ซึ่งผู้ทำงานมีชีวิตเต็มสมบูรณ์เสร็จสิ้นไปในแต่ละขณะ ที่เป็นปัจจุบันนั้น ว่าที่จริงแล้วเมื่อถึงขั้นสุดท้ายก็ตรงกันกับภาวะของการมีชีวิตที่เป็นอิสระอยู่พ้นเหนืองาน ที่กล่าวถึงในที่นี้นั่นเอง เพราะความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น หมายถึง ความสัมพันธ์ที่กลมกลืนเสร็จสิ้นผ่านไปในแต่ละขณะไม่ใช่เป็นการเข้าไปยึดติดผูกพันอยู่ด้วยกัน ซึ่งแม้จะอยู่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแยกต่างหาก จึงมารวมหรือยึดติดกัน

          แต่ในภาวะที่เป็นเอกภาพอย่างสมบูรณ์แท้จริงผู้ที่ทำงาน มีชีวิตเป็นงาน และมีงานเป็นชีวิตในขณะนั้นๆ เสร็จสิ้นไปโดยไม่มีตัวตนที่จะแยกออกมายึดติดในขณะนั้น และไม่มีอะไรค้างใจเลยไปจากปัจจุบัน จึงเป็นอิสรภาพในท่ามกลางแห่งภาวะที่เรียกว่าเป็นเอกภาพนั้นทีเดียว เป็นอันว่าชีวิตเพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม และลึกลงไปอีก ชีวิตนี้ก็เป็นงานและงานนี้ก็เป็นธรรม และชีวิตก็เป็นธรรมเองด้วย จนกระทั่งในที่สุดชีวิตนี้ก็มาถึงขั้นสุดท้าย คือ เป็นชีวิตที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงาน แต่ก็เป็นอิสระอยู่พ้นเหนือแม้แต่งาน ก็เป็นอันว่าถึงความจบสิ้นสมบูรณ์ ถ้าถึงขั้นนี้ก็เรียกว่าเป็นประโยชน์สูงสุดในประโยชน์สามขั้นที่เราจะต้องทำให้ได้

          พระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า คนเราเกิดมาควรเข้าถึงประโยชน์ให้ครบสามขั้น และประโยชน์ทั้งสามขั้นนี้แหละคือเครื่องมือ หรือเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้วัดผลของตนเองในการดำเนินชีวิต ถ้าเราดำเนินชีวิตของเราไปแล้ว คอยเอาหลักประโยชน์ หรือจุดหมายสามขั้นนี้มาวัดตัวเองอยู่เสมอ เราก็จะเห็นการพัฒนาตนเอง หรือเป็นการสร้างสมความดีก็ตาม หลักประโยชน์สามขั้นนี้ สามารถนำมาใช้ได้เสมอไป ใช้ได้จนถึงขั้นสมบูรณ์เป็นอิสระ จบการพัฒนาอยู่พ้นเหนือการที่จะเป็นทุกข์ แม้แต่เพราะความดี

          วันนี้ อาตมาภาพได้มาพูดในโอกาสอันเป็นสิริมงคล ก็ต้องการให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็นประโยชน์ ประโยชน์ก็คือจุดหมายดังที่กล่าวมานี้ ซึ่งมีถึง ๓ ขั้น ก็ขอให้เราทั้งหลายมาช่วยกันทำให้เกิดประโยชน์ทั้งสามขั้นนี้ ทั้งแก่ชีวิตของตนเอง ทั้งแก่ชีวิตของคนอื่น และแก่สังคมส่วนรวม  แล้วอันนี้แหละจะเป็นเครื่องแสดงถึงการที่ธรรมได้เกิดขึ้น และงอกงามสมบูรณ์ในโลก

 

 

   

สารบัญ
งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ชีวิตนี้เพื่องานงานนี้เพื่อธรรม
ชีวิตจะสุขสันต์ ถ้าทำงานมีความสุข เกิดมาแล้ว ควรใช้ชีวิตอย่างไร ?
เพราะรู้คุณจึงรักงาน และทำด้วยใจเบิกบานเป็นสุข ทำงานเพื่ออะไร ?
งานยิ่งเพิ่มคุณค่า เมื่อใช้เป็นเครื่องพัฒนาตัวคน ควรทำงานกันอย่างไร ?
ปรุงแต่งสิ่งอื่นได้หลายหลาย ทำไมไม่ปรุงแต่งใจตัวเองให้เป็นสุข จุดมุ่งหมายของคน หรือจุดมุ่งหมายของงาน ?
ตรวจสอบความเจริญก้าวหน้าให้แต่ละวันเวลา ได้ทั้งงานและความสุข ทำงานอย่างไร จึงจะได้ความสุข?
  ชีวิต งาน และธรรม : ความประสานสู่เอกภาพ
  ชีวิต งาน และธรรม : อิสรภาพภายในเอกภาพ
  ดาวน์โหลด หนังสือเล่มนี้
 
 
 
 
 
 
 
 
  หน้าหลัก l หนังสือธรรมะ l เสียงสวดมนต์ mp3 l เสียงธรรม mp3 l บทสวดมนต์ l สมาธิ l รูปภาพ
ดาวน์โหลด e-book l ห้องสวดมนต์ออนไลน์  l กระดานสนทนา l ห้องสนทนา chat  l สมุดเยี่ยม lรวมเว็บ
 
จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
ขึ้นบน