ที่นี้ถ้าเรามาเผชิญหน้ากับเรื่องงานเลย เอาเรื่องงานเป็นเรื่องหนัก
เรื่องต้องใช้กำลัง เรื่องต้องใช้เรี่ยวแรงและต้องใช้ความคิด
บางทีก็ถึงกับเครียด แต่เราก็จะพูดกันเรื่องงานนี่แหละ
เป็นการเผชิญหน้ากับความจริงกันเลย มันอาจจะดีมากก็ได้
เพราะว่างานนั้นถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลดีระยะยาวแก่ชีวิตทั้งหมด
ถ้าทำงานแล้วมีความสุข ชีวิตนี้ก็มีความสุขยาวนานมากมาย
แต่ถ้าการทำงานเป็นการทนทุกข์ ชีวิตส่วนใหญ่ของเราก็จะเป็นชีวิตแห่งความทุกข์ที่ต้องทน
เพราะอะไร ? เพราะว่างานเป็นกิจกรรมส่วนใหญ่ของชีวิตของเรา
มันกินเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเรา อย่างท่านที่อยู่ในบริษัทนี้
ก็ต้องสละเวลาให้แก่กิจการของบริษัทวันหนึ่งมากทีเดียว
อาตมาได้เดินไปชมกิจการของบริษัท และท่านที่นำชมก็เล่าและอธิบายให้ฟัง
ก็ได้ทราบว่าชาวบริษัททำงานกันนาน อย่างพนักงานที่ยืนทำงาน
เท่าที่มองเห็นนั้น ท่านบอกว่าต้องยืนนาน บางทีถึง
12 ชั่วโมง นานมาก นับว่าเป็นเรื่องที่หนักที่เดียว แสดงว่างานกินเวลาของชีวิตเข้าไปตั้งครึ่งวันแล้ว
วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง หมดไป 12 ชั่วโมงกับการยืนอย่างนั้น
นอกจากนั้นยังต้องไปทำธุรกิจธุระส่วนตัว แล้วก็พักผ่อนหลับนอนเสียบ้าง
เวลาในวันหนึ่งนี่เหลือจากการทำงานไม่เท่าไร และต่อจากวันทำงานแล้วก็เหลือวันพักผ่อนอีกคนละคงจะ
2 วัน ถึงแม้ว่าอาตมาจะไม่ทราบรายละเอียด แต่ก็สรุปได้ว่าเราใช้เวลาไปกับการทำงานมาก
การงานครอบครองชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เพราะฉะนั้น เราควรปฏิบัติต่อการงานให้ถูก
เพื่อให้ชีวิตมีความสุขคุ้มกับเวลาที่เป็นอยู่
คนเรานี้ต้องการให้ชีวิตมีความสุข และในการที่จะให้ชีวิตมีความสุขนั้น
งานเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ แต่ในเวลาที่เรามองว่างานทำให้ชีวิตมีความสุขได้นี่
เรามองกันอย่างไร ? เรามักจะมองไปที่ผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากทำงานแล้ว
คือ มองด้วยความหวังว่าหลังจากทำงานแล้วเราจะได้เงิน แล้วจะได้นำไปซื้อของต่างๆ
ที่เราชอบใจ หรือไปเที่ยวที่โน่น ที่นั่น กินใช้เที่ยวเล่นแล้วเราก็จะมีความสุข
เป็นการคิดหมายไปข้างหน้าในอนาคตว่า หลังจากทำงานไปแล้ว
จะได้ผลของงานเป็นเงินทองที่จะนำไปใช้จ่าย แล้วก็จะมีความสุขจากการกระทำในอนาคตนั้น
ไม่ได้มองที่ความสุขจากตัวงาน คือ ไม่ได้มองว่าตัวงานนั้นทำให้มีความสุข
บางทีถึงกับมองว่า ตัวงานนั้นเป็นความทุกข์ไปก็มี
บางคนไปมองว่าเวลาทำงานเราต้องอดทน ก็ทนทำมันไปทำให้มันเสร็จ
แล้วเราก็จะได้รับผลตอบแทน ผลตอบแทนนั่นแหละจึงจะทำให้เรามีความสุข
เราจะไปมีความสุขในอนาคตตอนโน้น ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า
เวลาที่เราจะมีความสุขนี้มันเหลือน้อยเพราะเวลาที่เป็นส่วนใหญ่ของชีวิตเป็นเวลาที่มีความทุกข์
ต้องทน ต้องรอความสุขที่ยังไม่มาถึง
คนจำนวนมากจะมองเรื่องงานอย่างนี้ ซึ่งแสดงว่าแม้จะมองว่าความสุขเป็นผลที่ได้จากงานก็จริง
แต่มองกันคนละจุด คือ คนทั่วไปมองจุดที่ว่า ตัวงานไม่ใช่ความสุข
ต้องได้รับผลตอบแทนจากงานนั้น แล้วจึงไปหาความสุขอีกอย่างหนึ่ง
อย่างนี้ก็หมายความว่าตัวงานนั้นไม่ทำให้เราเกิดความสุขโดยตรง
เท่ากับเป็นการบอกว่าชีวิตของเรานั้น มีความสุขน้อยกว่าส่วนที่ต้องทุกข์ต้องทน
หากว่าเรามองงานเป็นเรื่องที่ต้องทุกข์ต้องทน ก็แสดงว่าชีวิตส่วนใหญ่
ต้องทุกข์ต้องทน
ถ้าเรามองเสียใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตของเรานี้มีความสุขให้มากที่สุด
ในเมื่องานเป็นชีวิตส่วนใหญ่ของเรา เราก็ต้องหาทางทำให้งานเป็นตัวที่ทำให้เกิดความสุข
แล้วเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตก็จะมีความสุข และยิ่งกว่านั้นก็คือว่า
นอกจากตอนที่ทำงานจะมีความสุขไปด้วยแล้ว ยังได้รับผลตอบแทนจากการทำงานแล้วก็ไปมีความสุขอีก
เป็นความสุขซ้อนอีกชั้นหนึ่ง ก็เลยสุขไปหมดสุขสองชั้น
สุขตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น จุดสำคัญที่จะให้ชีวิตมีความสุขก็อยู่ที่ว่า
เราจะต้องจัดการกับงานหรือปฏิบัติต่องานของเราให้ถูกต้อง
ให้มีความสุขในตอนที่ทำงานนั่นแหละ มิฉะนั้นแล้วชีวิตของเราส่วนใหญ่จะไม่มีความสุข
จะมีส่วนที่เป็นสุขน้อยกว่าส่วนที่เป็นทุกข์หรือที่ต้องทุกข์ต้องทน
ตกลงว่าเราจะทำงานกันให้มีความสุข แต่ไม่ใช่มาสนุกโลดเต้นกันนะ
เดี๋ยวจะว่าเป็นงานแบบงานวัด งานลอยกระทง อย่างนั้นก็เป็นงานเหมือนกัน
เราเรียกว่างาน งานลอยกระทงก็สนุก งานวัดไปดูหนังดูลิเกก็สนุก
นั่นก็เป็นงานเหมือนกัน แต่งานแบบนั้นเป็นงานที่เราไปดูเขา
เราไม่ต้องทำเอง
แต่ที่ท่านพูดอย่างนั้นมันมีแง่ความหมาย คือ แสดงว่าคนไทยแต่เดิมนั้นมองงานในแง่สนุกสนานด้วย
เช่น งานวัด งานลอยกระทง งานสงกรานต์ ทำไมเป็นงาน ก็ต้องอธิบายว่า
คนไทยสมัยโบราณมองว่างานนี่เป็นเรื่องสนุกสนาน เพลิดเพลิน
มีความสุข ไม่ใช่เรื่องทุกข์ แม้แต่ไปเกี่ยวข้าวกัน ก็ยังไปร้องเพลง
นั่นก็เป็นงานเหมือนกัน คือว่า เราไม่ได้มองเฉพาะตัวกิจกรรมที่ทำเท่านั้น
แต่เรามองถึงจิตใจว่า ให้มีความเพลิดเพลินเจริญใจบันเทิงไปด้วย
คนสมัยหลังนี่ มาได้ยินคำว่า งานวัด งานสงกรานต์ งานลอยกระทง
เป็นต้น แล้วก็ไม่ได้มองในแง่ที่จริงมันเป็นงาน คือ เป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ด้วย
ไปมองแต่ในแง่สนุกสนาน คือ เดิมมันก็เป็นงานจริงๆ เป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมนั้น
หมายความว่า เป็นงานที่ไปช่วยกันทำประโยชน์ต่อส่วนรวม
เช่น ไปที่วัดแล้วก็ไปช่วยกันก่อพระเจดีย์ทราย ขนทรายเข้าวัด
หรือทำงานช่วยวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นงานเป็นการทั้งนั้น
เกี่ยวข้าวก็เป็นงานเป็นการ แต่ให้ทำพร้อมไปกับความรื่นเริงบันเทิงใจด้วย
ตกลงว่าที่จริงแล้ว งานในความหมายของประเพณีไทยนั้น มันมีตัวกิจกรรมที่เป็นสาระเป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง
และด้านจิตใจที่มีความรื่นเริงอีกส่วนหนึ่ง ให้มีทั้งสองอย่าง
เป็นอันว่างานที่เราต้องการอย่างแท้จริงนั้นจะต้องมีความหมายครบสองส่วน
คือ
ส่วนที่หนึ่ง ตัวงานที่จะต้องทำให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นจุดมุ่งหมายของงาน
คือ ให้ได้ผลงานอย่างดี เช่น เมื่อทำโรงงานสับปะรด ก็หมายความว่า
จะต้องทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และได้ปริมาณถึงเป้า
คือ มีเป้าหมายว่าจะได้ทำได้เท่าไร ก็ทำให้ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
และในด้านคุณภาพจะให้ได้ขั้นไหนก็ทำได้ตามนั้นพร้อมทั้งสามารถทำให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย
อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง คือ ตัวงานนั้นต้องได้ผลด้วย
อีกส่วนหนึ่ง คือ จิตใจที่ทำงานนั้นเป็นจิตใจที่มีความสุข
หมายความว่า เวลาทำงานนั้นคนที่ทำก็มีความสุขด้วย
ถ้าได้สองอย่างนี้ละก็เรียกว่า ได้ผลสมบูรณ์ งานที่จะมีผลสมบูรณ์นั้น
ให้มองดูทั้งสองด้านนี้ แล้วสองด้านนี้จะกลับมาช่วยกัน
ถ้าเราทำงานโดยมีความสุขด้วยแล้ว ก็จะทำให้เราพอใจที่จะทำงานให้ได้ผลยิ่งขึ้นไป
พอเราทำงานได้ผลดียิ่งขึ้น เราก็อิ่มใจเรียกว่ามีปีติ
เกิดความอิ่มใจในผลงานนั้น ก็มีความสุขมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ดีขึ้นแล้วก็สุขมากขึ้น
เลยเป็นลูกโซ่เรียกว่าเป็นปฎิสัมพันธ์ มีผลย้อนกลับให้ได้ผลดีขึ้นทั้งในแง่ผลงานและความสุข
|