ทีนี้เมื่อคนทำงานไปตามความหมายและความเข้าใจของเขา ความหมายของงานตามที่เขาเข้าใจนั้นก็มีผลต่อพฤติกรรมในการทำงาน
และส่งผลต่อความรู้สึกและต่อสภาพจิตใจในการทำงานของเขาด้วย
เราเข้าใจการทำงานอย่างไรเราก็มุ่งหวังผลสนองไปตามความหมายนั้น
ถ้าเกิดผลสนองตามความมุ่งหมายเราก็เกิดความพึงพอใจ ถ้าไม่สนองตามความมุ่งหมายก็เกิดความเศร้าเสียอกเสียใจ
เพราะฉะนั้น ความเข้าใจในความหมายของงานจึงมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจของเรามาก
ตัวอย่างเช่น
คนที่ทำงานในความหมายที่เป็นเพียงเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ
ให้ได้ผลตอบแทน ให้ได้ผลประโยชน์ ถ้าหากว่าไม่ได้ผลประโยชน์มาก
ผลประโยชน์ที่ได้มาน้อยไป เขาก็จะรู้สึกไม่สมหวัง เกิดความไม่พอใจ
เกิดความทุกข์ เพราะว่าความมุ่งหมายในการทำงานของเขา ไปอยู่ที่ตัวผลประโยชน์ตอบแทนคือเรื่องเงินทอง
เป็นต้น การที่เขาจะมีความสุขหรือความทุกข์ก็อยู่แค่นั้น
ทีนี้
ถ้ามองความหมายของงานไปในแง่ว่า เป็นการทำหน้าที่หรือบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมประเทศชาติ
สำหรับคนที่มองอย่างนี้ บางทีแม้ว่าผลประโยชน์ตอบแทนอาจไม่มากนัก
แต่ความพึงพอใจของเขาอยู่ที่ว่า งานนั้นทำให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
ดังนั้น เขาก็มีความสุข ความรู้สึกในจิตใจไปสัมพันธ์กับความเข้าใจความหมายของงาน
คนที่มองงานในแง่ของการพัฒนาตนหรือพัฒนาศักยภาพ
เวลาทำงานก็จะเพลินไปกับงาน เพราะในเวลาที่ทำงานเราได้ฝึกตัวของเราอยู่ตลอดเวลา
เราทำงานไปเราก็ได้ความสามารถเพิ่มพูนความชำนาญมากขึ้น
ส่วนเรื่องที่ว่าจะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากน้อย เราจะไม่คำนึงถึงนัก
เราจะมีความพึงพอใจในการที่ได้พัฒนาตนเองให้ศักยภาพออกผลเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น การเข้าใจความหมายของงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมากต่อสภาพจิตใจ
ตอนนี้
อยากจะพูดถึงความรู้สึกพื้นฐานทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานสักนิดหนึ่ง
เมื่อเรามองดูความหมายของงาน ถ้ามองดูวัฒนธรรมไทยและนำไปเทียบกับวัฒนธรรมตะวันตก
จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันอยู่ และความแตกต่างนั้นก็แสดงถึงพื้นฐานทางด้านการสั่งสมฝึกอบรมจิตใจของวัฒนธรรมนั้น
ๆ คนไทยเรามองคำว่างานกันอย่างไร ก่อนที่วัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้ามา
คนไทยเราใช้คำว่า งาน ในความหมายที่ไม่เหมือนปัจจุบัน
เรามีงานวัด เรามีงานสงกรานต์ เรามีงานกฐิน เรามีงานทอดผ้าป่า
คำว่างานในความหมายของคนไทยเป็นกิจกรรม เพื่อความสนุกสนาน
เพื่อความบันเทิง งานวัดเป็นเรื่องสนุกทั้งนั้น มีมหรสพ
มีละคร หนัง ลิเก ในงานสงกรานต์เราก็ไปสนุกกัน เอาน้ำไปสาดกัน
ไปเล่นอะไรต่ออะไรกันครึกครื้น
แต่ความจริงงานมีความหมายที่ซ้อนอยู่ลึกกว่านั้นคือ
เป็นเรื่องการทำความดี กิจกรรมที่เป็นหลักเป็นแกนของงาน
ก็คือ การทำบุญ การกุศล หรือบำเพ็ญความดีบางอย่าง โดยเฉพาะการมาร่วมกันทำประโยชน์บางอย่างเพื่อส่วนรวม
แม้แต่งานสงกรานต์ก็มีกิจกรรมที่เป็นการทำบุญทำกุศลอยู่
รวมทั้งการขนทรายเข้าวัด
ดังนั้น
การทำงานจึงมีความหมายในเชิงที่เป็นกิจกรรมในการทำความดีบางอย่าง
หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนา แต่ส่วนหนึ่งที่ปนอยู่ด้วยก็คือความสนุกสนานบันเทิง
ซึ่งเป็นส่วนที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันในคนไทยส่วนมาก เป็นอันว่าความหมายของงานที่เป็นไปตามวัฒนธรรมไทยนี้
เหลือมาในรูปของความสนุกสนานเป็นหลัก
ทีนี้
ในแง่ของสังคมตะวันตก การทำงานแบบตะวันตกเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมตะวันตกนั่นเอง
ความหมายแบบตะวันตกคืออะไร งานในความหมายของตะวันตกนั้นเรียกว่า
work และมีความสำคัญที่คู่กับ work เป็นคำที่ตรงข้ามกัน
ซึ่งมีค่าเท่ากับ work ซึ่งช่วยให้ความเด่นชัดแก่ความหมายของ
work ด้วยคือคำว่า leisure แปลว่า การพักผ่อนหย่อนใจ
งานในความหมายของฝรั่ง จึงคู่และตรงข้ามกันกับการพักผ่อนหย่อนใจ
เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมตะวันตกจึงมองว่างานเป็นเรื่องของความเหน็ดเหนื่อย
ลำบากตรากตรำ เป็นเรื่องที่ต้องทนทำด้วยความทุกข์ยากและก็จึงต้องมีสิ่งที่คู่กันเพื่อทดแทน
คือ การพักผ่อนหย่อนใจ
เพราะฉะนั้น
ตามวัฒนธรรมของฝรั่งนี้ คนเราต้องทำงาน และเสร็จแล้วก็ไปพักผ่อนหย่อนใจเพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยทดแทนชดเชยหรือผ่อนระบาย
ดังนั้น งานจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดได้มาก และถ้าเราตั้งท่าไว้ไม่ดี
มีท่าทีของจิตใจที่ไม่ถูกต้อง คือ ไม่มีความรักงาน เราก็จะทำงานด้วยความเหนื่อยหน่ายและอยากจะหนีงาน
งานกลายเป็นสิ่งที่หนักหนา ต้องเผชิญ ต้องผจญ ต้องต่อสู้
เพราะฉะนั้นก็จึงต้องหาทางหลีกเลี่ยงไปเสีย เราจะต้องการให้งานเลิกหรือจะหนีไปจากงานเพื่อไปหาการพักผ่อน
อันเป็นสิ่งที่จะต้องแก้ไข และจึงต้องมีจริยธรรมที่เข้าชุดเป็นคู่กันเรียกว่า
จริยธรรมในการทำงาน (work ethic) คือว่า
คนในวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งทำงานแบบตะวันตกจะต้องสร้างนิสัยรักงานขึ้นมาให้ได้
พอรักงานก็มีใจสู้ และทนต่อความหนักความเหน็ดเหนื่อยของงานได้
เป็นอันว่า
ความหนักและความเหน็ดเหนื่อยเป็นลักษณะงานแบบตะวันตก คนไทยรับเอาความหมายของคำว่า
งาน ในแง่ที่เป็นความหนักน่าเหนื่อยมาจากตะวันตก
โดยไม่ได้รับเอานิสัยรักงานมาด้วยแต่เรามีนิสัยรักความสนุกที่สั่งสมมา
กับความหมายของงานในวัฒนธรรมของไทยเราเอง ในสภาพของความนุงนังและสับสนของวัฒนธรรมอย่างนี้
ถ้าเราปรับตัวไม่ดี เราจะเสียทั้งสองด้าน คือ ในแง่ของตัวเองเราก็รักความสนุกสนาน
ของเก่าที่ว่างานมีความหมายเป็นความสนุกสนาน เรามุ่งอยากได้ความสนุกสนานพอเจองานแบบตะวันตกที่หนักและไม่สนุก
ก็อยากจะหนีงานไป เพราะไม่มีนิสัยรักงาน ผลเสียก็จะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น
ถ้าจะให้ดีก็ต้องแก้ไขให้ถูกต้องความหมายที่ดีของเราในวัฒนธรรมเก่าว่า
งานเป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อะไรสักอย่างหนึ่ง
โดยมีความสนุกสนานเป็นผลพ่วงมาหรือเป็นผลพลอยได้ เราก็รักษาไว้
และในเวลาเดียวกัน งานในความหมายที่ต้องสู้ต้องทำด้วยความเหน็ดเหนื่อยนี้
เราก็ยินดีต้องรับไม่ถอยหนี จะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ว่าทำอย่างไรจึงจะให้การทำงานเป็นไปด้วยดี
โดยมีนิสัยรักงานและสู้งานมาช่วยสนับสนุน
|