วันเวลาปัจจุบัน 13 ต.ค. 2024, 08:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 16:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ทศบารมีวิภาค - ปัญญาบารมี
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


อิทานิ ปณฺณรสี ทิวเส สนฺนิปติตาย พุทฺธปริสาย กาจิ ธมฺมิกถา กถิยเต,
อิโต ปรํ ปญฺญาปารมํ อนุสนฺธึ ฆเฏตฺวา ภาสิสฺสามีติ
อิมสฺส ธมฺมปริยายสฺส อตฺโถ สาธายสฺมนฺเตหิ สกฺกจฺจํ โสตพฺโพติ


ณ วันนี้เป็นวันปัณณรสีดิถีที่ ๑๕ ค่ำ แห่งศุกลปักษ์
เป็นวันอันพุทธบริษัทมาสันนิบาตประชุมกัน เพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา
อันเป็นโอวาทานุศาสน์ของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
และได้พร้อมกันกระทำกิจในเบื้องต้น คืออามิสบูชาและปฏิบัติบูชาเสร็จแล้ว
บัดนี้ เป็นโอกาสที่จักฟังพระธรรมเทศนาต่อไป พึงตั้งใจฟังด้วยดี
ตามในพุทธโอวาทว่า สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ผู้ตั้งใจฟังธรรมด้วยดี ย่อมเกิดปัญญา
ดังนี้ ส่วนการแสดงธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีลักษณะเป็น ๓ นัย โคตมเจติยสูตรว่า

อภิญฺญาย โข โส ภควา พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล
พระองค์ทรงสั่งสอนพุทธเวไนยด้วยธรรมกถาใด ๆ
ก็เพื่อจะให้ผู้ได้ยินได้ฟังนั้นรู้ยิ่ง รู้จริง ทรงแสดงเปิดเผยโดยแจ่มแจ้ง
ไม่มีอาการปกปิด คือไม่มีภายใน ไม่มีภายนอก
ประสงค์จะให้ผู้ฟังรู้ตามจริง ๆ เป็นประการที่ ๑

สนิทานํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมล้วนมีเหตุ มีนิทาน
พอที่ผู้ฟังจะตรองตามเห็นได้ คือมีที่อ้างอิง ชี้ของที่มีจริง
ไม่ลึกซึ้งจนเหลือวิสัยของผู้ฟังเป็นประการที่ ๒

สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสติ ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์
คือธรรมที่ทรงแสดงนั้นมีปาฏิหาริย์ อาจย่ำยีปรปักษ์ คือข้าศึกเสียได้
เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังพุทธโอวาท
ย่อมทำตนเป็นข้าศึกแก่ตนอยู่เสมอ คือ ลุอำนาจแห่งอกุศลธรรม
โลภบ้าง โกรธบ้าง รักบ้าง ชังบ้าง หัวเราะบ้าง ร้องไห้บ้าง เหล่านี้เป็นตัวอย่าง
ชื่อว่าทำข้าศึกแก่ตน คือ ตนทำใส่ตนเอง ถ้าเป็น สุติวา อริยสาวโก
คือเป็นอริยสาวก ผู้ได้สดับตรับฟังแล้ว ย่อมปราบข้าศึกเหล่านั้นออกจากตนได้
ยกตัวอย่าง ถ้าผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมปราบความโลภ ความโกรธ
ความหลงส่วนหยาบ ที่เกิดทางกาย ทางวาจาได้
ถ้าผู้มีจิตตวิสุทธิ ย่อมปราบความโลภ ความโกรธ ความหลงอย่างกลาง
ที่เกิดขึ้นรุมจิต คือกามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาได้
ถ้ามีทิฏฐิวิสุทธิ ย่อมปราบอุปธิกิเลส ซึ่งเป็นอนุสัยได้ จึงชื่อว่า
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงมีปาฏิหาริย์ พึงสันนิษฐานให้เข้าใจอย่างนี้

ถ้าเห็นความเหล่านี้ชัดใจแล้ว จะเป็นผู้เลื่อมใสต่อพระกรุณาคุณ
พระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างยิ่ง
จะอดกราบไหว้ไม่ได้เลย แม้ท่านทั้งหลาย แต่ก่อน ๆ ผู้ไม่เคยฟังพระธรรมเทศนา
ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นได้ฟังก็เกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส
ปฏิญาณตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ในพระพุทธศาสนา
บางท่านก็ร้องประกาศว่า ภาชนะที่คว่ำ พระองค์หงายขึ้นแล้ว
บางท่านก็ร้องประกาศว่า พระองค์ชี้ทางให้คนหลงทางแล้ว
บางท่านก็ร้องประกาศว่า พระองค์ส่องแสงสว่างให้แก่คนตามืดแล้ว
โดยประการต่าง ๆ ตามความพอใจของตน ๆ เพระเหตุเกิดความเชื่อ
ความเลื่อมใส เกิดปีติ ความอิ่มอกอิ่มใจ ปลาบปลื้มซาบซ่านทั่วสรีรกาย
เห็นว่าลามกธรรม เราพ้นเสียได้วันนี้แล้ว
ต่อแต่นี้ไป เราจะเดินในทรงสุคติตรงไปทีเดียว อธิบายว่า รู้จักบุญรู้จักบาปนั่นเอง

ถึงแม้พวกเราทั้งหลายทุกวันนี้ ก็เช่นนั้นเหมือนกัน
พอรู้ชัดว่า กรรมเป็นของตน ๆ กรรมที่ดีให้ผลดี กรรมที่ชั่วให้ผลชั่ว
เท่านี้ก็อิ่มอกอิ่มใจ เชื่อว่าตนมีที่พึ่งอันได้แล้ว

เพราะเหตุนั้นท่านจึงนิยมปัญญาว่าเป็นแสงสว่างยิ่งกว่าดวงประทีป
หรือดวงพระจันทร์ ดวงพระอาทิตย์ เพราะส่องในที่มืด
คือ อวิชชา โมหะ ให้แจ่มแจ้งขึ้นได้
ท่านแสดงไว้ว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นด้วยเหตุ ๓ สถาน

คือ เกิดด้วยสุตะ การได้ยินได้ฟัง ได้เล่าเรียน ชื่อว่า สุตามยะ

คือ เกิดด้วยจินตนาการตรวจตรอง ค้นหาเหตุหาผล ชื่อว่า จินตามยะ

คือ ภาวนาการสำรวมจิต ไม่ให้ฟุ้งซ่าน เมื่อจิตเป็นหนึ่งแล้ว
ย่อมส่องแสงให้เกิดปัญญา ชื่อว่า ภาวนามยะ


แต่ความจริง สุตามยะ นี้แหละเป็นของสำคัญ
คนเราทุกคน ถ้าขาดการได้ยินได้ฟังได้เล่าได้เรียนเสียแล้ว
จะเอาความรู้ความฉลาดมาจากไหน ถึงจินตามยะ คือทางวิปัสสนา
ภาวนามยะ คือทางสมถะ ถ้าขาดสุตามยะเสียแล้ว ก็เกิดขึ้นไม่ได้
เพราะเหตุนั้นพุทธบริษัทพึงพากันยินดีต่อการฟังพระธรรมเทศนาอยู่เนือง ๆ
อย่าปล่อยเวลาให้เสียไปเปล่าปราศจากประโยชน์

บัดนี้จักแสดง ปัญญาบารมี ต่ออนุสนธิสืบไป

ด้วยปัญญาบารมีนี้ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วนับด้วยโกฏิแห่งกัลป์เป็นอันมาก
ครั้นมาถึงปัจฉิมชาติ พระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้นำเอาปัญญาที่พระองค์ทรงสร้างมา
อันเต็มบริบูรณ์ในพระองค์นั้นแหละ แจกแก่พุทธบริษัท
พุทธบริษัทผู้รับแจกดำเนินตามก็พากันสำเร็จมรรคผลนิพพาน
นับด้วยล้านโกฏิไม่ถ้วน ผู้ดำเนินด้วยปัญญาตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า
ตั้งแต่ครั้งพระพุทธกาลตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
ชื่อว่าผู้รับแจก ผู้รับดื่ม ย่อมได้รับรสของพระสัทธรรมด้วยกันทุกคน
แต่ปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น
มากมายหลายประเภทนัก จักรวบรัดตัดเอามาแสดงต่อ
พอเป็นทางปฏิบัติให้เหมาะแก่เวลาเทศน์กัณฑ์หนึ่งเท่านั้น

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มี.ค. 2010, 17:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปัญญานั้นจัดเป็น ๒ คือ โลกิยปัญญา ๑ โลกุตรปัญญา ๑

ส่วนโลกิยปัญญานั้น จัดเป็นสอง คือ
เป็นไปในคดีโลก ได้แก่ฉลาดรอบรู้ในคดีโลก ๑
เป็นไปในคดีธรรม ได้แก่เป็นผู้ฉลาดรู้รอบในอรรถธรรม
จำทรงพระปริยัติธรรมได้มา แต่ยังค้นพระโลกุตรธรรมไม่พบ
ก็ยังตกอยู่ในลักษณะของโลก
ชื่อว่าคดีธรรม ๑ สองประเภทนี้รวมอยู่ในโลกิยปัญญา

โลกุตรปัญญานั้น ตามระเบียบของท่านจัดไว้เป็น ๓
คือ อย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง
ปัญญาที่ค้นพบเห็นโลกุตรธรรม ชื่อว่า โลกุตรปัญญา
อย่างต่ำรู้ภูมิพระโสดา พระสกิทาคา
อย่างกลางรู้ภูมิพระอนาคา อย่างสูงรู้ภูมิพระอรหันต์


โลกิยปัญญาเป็นเหตุ โลกุตรปัญญาเป็นผล อาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป
แต่คำที่ว่า โลกิยปัญญา โลกุตตรปัญญานั้นกว้างขวางนัก
แต่ละอย่าง ๆ เต็มโลก ยากที่จักย่นมาให้พอแก่เวลา
และให้ได้ความพอประกอบเป็นทางปฏิบัติของพุทธบริษัท
ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น พระองค์ทรงนามว่า โลกวิทู ผู้รู้แจ้งซึ่งโลก
ความจริงโลกกับธรรมก็เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่อาการ
ถ้ารู้โลกชัดแล้วก็เป็นอันรู้ธรรม ที่พวกเราศึกษาเล่าเรียนสดับตรับฟังอยู่ทุกวันนี้
ก็ล้วนแต่เรียนโลกทั้งนั้น ถ้ารู้โลกไม่จบก็ยังไม่รู้ธรรม โลกปิดธรรม
เพราะเหตุนั้นจะแสดงให้เข้าใจลักษณะของโลกและลักษณะของธรรม พอเป็นทางปฏิบัติ

ลักษณะของโลกนั้น คือ ศึกษาให้รู้ออกไป
ลักษณะของธรรมนั้น คือ ศึกษาเข้ามาในตน
มีลักษณะต่างกันอย่างนี้

ที่ว่าศึกษาให้รู้ออกไปนั้น คือ ธรรมดา โลกย่อมสอนให้รู้สกลกายนี้ก่อน
ให้รู้ลักษณะอาการของร่างกายว่า นั่นชื่อนั้น ๆ แล้ว
ก็สอนความประพฤติความบริหารร่างกายด้วยอาการอย่างนี้ ๆ
เมื่อสอนให้รู้ตัวจบแล้ว ก็สอนให้รู้จักบุคคลและวัตถุสำหรับอาศัยต่อออกไป
เป็นต้นว่า ให้รู้จัก บิดา มารดา วงศาคณาญาติ รู้ชาติ รู้สกุล
ให้รู้จักเข้าของเงินทอง ให้รู้จักทรัพย์ที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้
แล้วสอนให้รู้จักการแสวงหาและการบริหารรักษา และสอนให้ฉลาดในการใช้จ่ายเป็นต้น
และให้เล่าเรียนหนังสือเลขลูกคิด วิธีกสิกรรมพาณิชกรรม ระเบียบการปกครองหมู่คณะ
สรรพวิชาในโลกพรรณนาไม่ถ้วน เรียนให้รู้แผ่ออกไปอย่างนี้ เป็นลักษณะของโลก

การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็มีอาการแผ่ออกไปเหมือนกัน
คือ เรียนให้รู้จักธรรม ให้รู้จักวินัย คือ ในเบื้องต้นมีแต่ธรรมกับวินัยเท่านั้น
เมื่อท่านกระทำสังคายนา จึงแบ่งเป็น ๓ เป็นพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์
พระวินัยทั้งสิ้นก็แสกงวิธีบริหารรักษาตัว
พระสูตรทั้งสิ้นก็แสดงระเบียบเครื่องสมมติและความประพฤติเป็นไปของตัว
พระปรมัตถ์ทั้งสิ้นก็แสดงสภาพที่รับสมมติส่วนละเอียดในตัว
แต่วิธีเล่าเรียนล้วนแต่เป็นวิธีแผ่ให้กว้างออกไปทั้งสิ้น
การเรียนพระปริยัติธรรม จึงยังตกอยู่ในลักษณะของโลก
คือเรียนให้รู้โลกนั้นเอง จึงชื่อว่า โลกิยปัญญา

บัดนี้จักแสดงโลกิยปัญญาอย่างย่อ พอเป็นทางดำเนินของพุทธบริษัท
คือให้รู้วินัย วินโย แปลว่า นำเสียให้พินาศ ได้แก่ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐
ศีลพระปาฏิโมกข์ เป็นอุบายป้องกันกายวิการ วจีวิการ คือกายทำชั่ว วาจากล่าวชั่ว
อาศัย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเกิดขึ้น
กำจัดเสียสิ้นด้วยการรักษาศีล เพราะเหตุนั้น ศีล จึงชื่อว่า วินัย

พระสูตรนั้น แปลว่า ร้อยกรอง คือศึกษาให้รู้เป็นหมวด ๆ ที่ท่านร้อยกรองไว้แล้ว
ดังมงคลสูตร ท่านจัดเป็นมงคล ๓๘ ร้อยกรองเข้าไว้เป็นพวง ๆ
ดังคาถาหนึ่งมี ๓ มงคลบ้าง ๔ มงคลบ้าง ๕ มงคลบ้าง
หรือดัง อนัตตลักขณสูตร ร้อยกรอง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เข้าไว้ให้เป็นระเบียบอันหนึ่ง แล้วอธิบายความต่อไป
การที่รวบรวมหมวดธรรมเข้าไว้อย่างนี้ เป็นลักษณะแห่งพระสูตร
พระสูตรทั้งสิ้นใช้สมมติโลก คือใช้ตามโวหารของโลก
จึงชื่อว่าเรียนโลก เป็นโลกิยปัญญา

พระประมัตถ์นั้น แปลว่ามีอรรถอันสุขุม ละเอียด
ดัง จิต เจตสิก รูป นิพพาน หรือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เป็นตัวอย่าง
คือต้องศึกษาโลกนั้นเอง แต่เป็นส่วนละเอียด
จึงยังตกอยู่ในโลกิยปัญญา การเรียนพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์
แผ่ให้กว้างขวางออกไปเป็นลักษณะของโลก ได้ชื่อว่าเรียนโลก

ที่ว่าศึกษาให้รู้เข้ามาในตนชื่อว่าเรียนธรรมนั้น พึงเข้าใจอย่างนี้
การที่เราศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาทั้งสิ้น ก็เพื่อจะบริหารบำรุงตน
การรักษาศีลทุกประเภท ก็คือรักษากาย วาจา ของตนเอง
กายวาจานี้จึงชื่อว่าเป็นพระวินัย การศึกษาเล่าเรียนพระสูตรทั้งสิ้น
ก็คือเล่าเรียนให้รู้จักตน ให้รู้จักสมมติธรรมอันมีในตน
ให้รู้ว่าตนเป็นพระสูตร การศึกษาเล่าเรียนพระปรมัตถ์ทั้งสิ้น
ก็คือเรียนให้รู้ว่า พระปรมัตถธรรมมีในตน ให้รู้ว่า ตนเป็นพระปรมัตถธรรม

การเรียนก็คือ เรียนให้รู้ตน ให้รู้ว่าตนเป็นพระวินัยด้วยอาการนี้
ตนเป็นพระสูตรด้วยอาการนี้ ตนเป็นพระปรมัตถ์ด้วยอาการนี้
ศึกษาให้ร่นเข้ามาในตน เมื่อร่นพระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์เข้ามาเป็นตนแล้ว
ค้นหาตนว่า อะไรเป็นตนแน่ ความรู้ตนชื่อว่า วิชชาการรู้ศิลปวิทยาทั้งสิ้น
รู้วินัยทั้งสิ้น รู้พระสูตรทั้งสิ้น รู้พระปรมัตถ์ทั้งสิ้น ชื่อว่ารู้โลก
โลกนี้แหละปิดธรรม ถ้ารู้โลกจบแล้ว ก็รู้ธรรมเท่านั้นเอง
ธรรมนั้นก็คือตนนั้นเอง ตนนั้นคืออะไร ก็คือธรรมนั่นเอง
พึงเข้าใจว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ถ้าจำหน่ายตนออกไป ก็เป็นโลกหมด
ดังจำหน่ายเพียงว่า นาม รูป ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เท่านี้ก็เป็นโลกไปหมด
ปัญญาที่รู้โลก รู้ธรรมทั้งสิ้น ถ้ายังไม่รู้โลกุตรธรรมเพียงไร
ก็ยังตกอยู่ในประเภทแห่งโลกิยปัญญาทั้งสิ้น
ท่านวางแบบแผนขีดเขตแดนของโลกิยปัญญาไว้เพียงโคตรภูญาณ
ว่าเป็นญาณเครื่องรู้ ที่สุดภูมิปุถุชน ต่อแต่นั้นไปจึงเป็นโลกุตรปัญญา


ทางที่แสดงมานี้เป็นทางที่พุทธบริษัท ต้องการปรารถนาด้วยกันทุกคน
จะแสดงไว้พอเป็นเครื่องประกอบกับแผนที่หรือตำรา
ความจริงแผนที่กับภูมิประเทศไกลกันมากตำรายากับตัวยาไกลกันมาก
ในลักษณะของวิปัสสนาญาณ ที่ท่านแสดงไว้กับความเป็นจริงของผู้ปฏิบัติ
ก็ไกลกันมากเช่นนั้น แต่ก็ต้องอาศัยลักษณะของวิปัสสนาญาณนั่นเอง
เหมือนผู้จะเดินตรวจประเทศก็ต้องอาศัยแผนที่นั่นเอง ผู้เป็นหมอก็ต้องอาศัยตำรานั่นเอง

แท้จริงพระโยคาวจรผู้จะเห็นโลกุตรธรรม ก็ต้องอาศัยโลกิยวิปัสสนา
คือทำความรู้ตน เห็นตนว่าเป็นทุกข์ เป็นสมุทัย เป็นนิโรธ เป็นมรรค
เห็นตนเป็นมรรค ก็คือเห็นตนเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
เมื่ออบรมศีล สมาธิ ปัญญาให้แก่กล้ามีกำลังขึ้น
ก็จักรู้สึกว่า ธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสังขารทั้งสิ้น
แล้วเพ่งสังขารด้วยสังขารุเบกขาญาณ คือกำหนดสังขารด้วยอุเบกขาจิต
คือจิตเป็นกลาง เป็นอนุโลม ปฏิโลม จนเกิดโคตรภูจิต
เห็นสังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน ตนไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในตน ตนไม่มีในสังขาร
ละสักกายทิฏฐิ ที่ถือว่าเป็นสังขารเสียได้ สิ้นสงสัยในสังขาร คือรู้เท่าสังขาร
สิ้นความสงสัยในศีลในวัตร เพียงเท่านี้ท่านเสดงว่า จิตตกกระแสธรรม เป็นโลกุตตรปัญญา
การศึกษาธรรมย่อมศึกษาเข้ามาในตน ร่นธรรมทั้งสิ้นให้เข้ามาในตนอย่างนี้

การที่แสดงมานี้เป็นแต่เพียงแผนที่เท่านั้น ให้พุทธบริษัทไปตรวจให้เห็นด้วยตน
ถ้าอุตสาหะบำเพ็ญปัญญาบารมีโดยนัยนี้ให้เต็มรอบ
ก็ชื่อว่าผู้รับแจกปัญญาบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้านำมาบริโภค
ความปรารถนาที่ตนต้องประสงค์ ก็คงสำเร็จโดยไม่ต้องมีความสงสัย
มีความเชื่อแน่นอนว่า ถ้าพุทธบริษัทตั้งใจดำเนินตามคงจะมีความเจริญงอกงาม
ในพระพุทธศาสนาโดยส่วนเดียว ดังวิสัชนามาด้วยประการฉะนี้ ฯ

:b8: :b8: :b8:

ที่มา : หนังสือ ทศบารมีวิภาค-มงคลสุตตวิภาคบรรยาย
ของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส

สำเนาเทศน์เช้า เดือน ๑๒ ศุกลปักษ์ แรม ๑ ค่ำ (๙/๘/๗๐) [ทศบารมีวิภาค - ปัญญาบารมี]


:b50: :b50: ทศบารมีวิภาค : พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=56279

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2015, 11:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2013, 10:07
โพสต์: 406

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.ค. 2018, 09:20 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร