วันเวลาปัจจุบัน 08 ต.ค. 2024, 23:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2013, 19:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระประวัติและปฏิปทา
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
พุทธศักราช ๒๓๘๖-๒๓๙๒


วัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ)
แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร


:b44: หัวข้อ

• พระประวัติในเบื้องต้น
• สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
• ประวัติและความสำคัญของวัดราชบุรณะ
• จัดสมณทูตไทยไปลังกา
• พระอวสานกาล

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2013, 20:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


พระประวัติในเบื้องต้น

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
ทรงมีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
ทราบแต่เพียงว่า ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีขาล
จุลศักราช ๑๑๒๐ ตรงกับวันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๐๑
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา
สันนิษฐานว่า เป็นพระราชาคณะที่ พระนิกรมมุนี มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี
ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็น สมเด็จพระสังฆราช
ในราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ
และทรงเลื่อนสมณศักดิ์พระพรหมมุนี (ด่อน) เป็นที่ พระพิมลธรรม
เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙
ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

“ศรีศยุภะมัศดุอดีตกาล พระพุทธศักราช
ชะไมยะสหัศสังวัจฉะระไตรยสตาธฤกษ เอกุนสัฎฐิเตมาศะประจุบันกาล
มุกสิกสังวัจฉะระสาวนมาศ กาฬปักษยะครุวาระสัตะดฤษถีปริเฉทกาลอุกฤษฐ

สมเด็จบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า
ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์อะนันตะคุณวิปุลปรีชาอันมหาประเสริฐทรงพระราชศรัทธา
มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท
ดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนาให้พระเทพโมลี เป็นพระพรหมมุนี
ศรีวิสุทธิญาณนายกติปิฎกธรา มหาคณิศร บวรสังฆาราม คามวาสี
สถิตยะในราชบุรณาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล
พระชนมายุศมะศรีสวัสดิพิพัฒมงคลวิมลทฤฆายุศมะ ในพระพุทธศาสนาเถิดฯ”


ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ หรือในรัชกาลที่ ๓ ไม่ทราบแน่ชัด
เลื่อนเป็น พระธรรมอุดม ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๗๓ ในรัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ
เลื่อนเป็น สมเด็จพระพนรัตน ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

“ศรีศยุภะมัศดุอดีตกาล พระพุทธศักราชชะไมยะสหัสสังวัจฉะระ
ไตรสัตตาทฤกะเตสัตติสังวัจฉะระ ปัญจมาสะ ปัจจุบันกาล พยัฆสังวัจะระ
กฎิกมาศ ศุขปักษย์ เตรัสมีดฤษถีสุกระวาระ ปริเฉทกาลอุกฤษฐ
สมเด็จบรมธรรม์มฤกมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์
อนันตคุณวิบุลปรีชาอันมหาประเสริฐทรงพระราชศรัทธา

มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูร สุรสิงหนาทดำรัสสั่ง
พระราชูทิศถาปนให้พระธรรมอุดม เป็นสมเด็จพระพนรัตนปริยัติวรา
วิสุทธิสังฆาปรินายก ติปิฎกธราจารย์สฤทธิขัติยสารสุนทร
มหาคณิศรบวรวามะคณะสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิตย์
ในราชบุรณาวาสวรวิหาร พระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล
พระชนมายุศมะศรีสวัสดิพิพัฒมงคลวิมลทฤฆายุศมะ ในพระพุทธศาสนาเถิดฯ”



สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๓๘๕
ตรงกับวันศุกร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีขาล นี้
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวแล้วพระราชทานเพลิงพระศพ
เมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๖

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระพนรัตน (นาค)
ขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๒๐๕
ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๖
สถิต ณ วัดราชบุรณะ ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๖ พรรษา


ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

“ศิริศยุภมัศดุ อดีตกาลพระพุทธศักราช ชะไมยสหัสสังวัจฉะระ
ไตรยสตาธฤกฉะอะสีติ ปัตยุบันกาล สะสะสังวัจฉะระ
วิสาขมาศกาฬปักษ์เอกาทศะมีตฤตถี พุทธวาระ ปริเฉทกาลอุกฤษฐ

สมเด็จบรมธรรม์มฤกมหาราชาธิราชเจ้าผู้ทรงทศพิธราชธรรม์
อนันตคุณวิบุลปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธา
มีพระราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนา

ให้เลื่อนสมเด็จพระพนรัตนขึ้นเป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี
ศรีสมณุตปริณายก ติปิฎกธราจารย์ สฤษดิ์ขัติยสารสุนทร มหาคณฤศรทักษิณา
สฤษดิสังฆะ คามวาสีอรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณานิกรจตุพิธบรรพสัช
สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง

(แล้วมีนามองค์อื่นต่อไป ลงท้ายจึงมีพรว่า)
ให้จฤกถฤตฤกาลอวยผล พระชนมายุศมศิริสวัสดิพิพัฒมงคลวิมลทฤฆายุ
ในพระพุทธศาสนาจงทุกๆ พระองค์เทอญฯ”


ในประกาศที่ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (นาค) ดังกล่าวข้างต้นนั้น
ได้ระบุไว้ว่าพระองค์สถิต ณ วัดมหาธาตุ
ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ

แต่ในความเป็นจริง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) มิได้เสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
เนื่องเพราะขณะนั้นวัดมหาธาตุอยู่ในระหว่างการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่
ซึ่งต้องรื้อลงแล้วทำใหม่ดุจสร้างใหม่ทั่วทั้งพระอาราม

โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ
ทรงมีพระราชดำริที่จะให้เป็นที่อยู่จำพรรษาของภิกษุสามเณรได้ ๑,๐๐๐ รูป
จึงได้เริ่มลงมือปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗
จนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ดี
จวบจนต้นรัชกาลที่ ๔ จึงสำเร็จบริบูรณ์
สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะ จนถึงสิ้นพระชนม์

อาจกล่าวได้ว่า ธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
ก็เป็นอันเลิกไปตั้งแต่สมัยของสมเด็จพระสังฆราช (นาค) นับแต่นั้นเป็นต้นมา
สมเด็จพระสังฆราชเคยสถิตอยู่ ณ พระอารามใด
เมื่อก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็จะยังสถิตอยู่ ณ พระอารามนั้นสืบไป
ดังที่ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกันต่อมาจวบจนถึงทุกวันนี้

(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2013, 20:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระปรางค์ วัดราชบุรณราชวรวิหาร


ประวัติและความสำคัญของวัดราชบุรณะ

วัดราชบุรณะ หรือ วัดราชบุรณราชวรวิหาร
เป็นวัดเอกประจำเมืองตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งกรุงเทพฯ เขตพระนคร
กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญวัดหนึ่งของประเทศไทย
เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร

ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๗
วัดราชบุรณะ เดิมชื่อ “วัดเลียบ” กล่าวกันว่าพ่อค้าชาวจีนชื่อ “เลี้ยบ”
เป็นผู้สร้าง จึงเรียกกันว่า “วัดจีนเลี้ยบ”
ต่อมาคำว่าจีนเลือนไปคงเหลือเป็นวัดเลียบเท่านั้น

หลังจากที่รัชกาลที่ ๑ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองกรุงรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริพิทักษ์ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์
ทั้งพระอารามและทรงถวายเป็นพระอารามหลวง
ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดราชบุรณะ”
ตามนามวัดคู่เมืองราชธานีตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

พระปรางค์ของวัดราชบุรณะนั้นมีความงดงามมาก
สร้างมาตั้งครั้งสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นศิลปะแบบย่อมุมไม้ ๒๘
มีฐานบัวซ้อน ๕ ชั้น แต่ละชั้นทำเป็นรูปมารแบกโดยรอบ
โดยมีนภศูลพระฉัตรครอบประดับบนยอดพระปรางค์

นอกเหนือจากความสำคัญในทางประวัติศาสตร์แล้ว “ขรัวอินโข่ง”
พระภิกษุที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นจิตรกรเอกในพระราชสำนักว่า

“ผู้นำเทคนิคการเขียนภาพแบบยุโรปมาผสมผสานกับ
ศิลปะดั้งเดิมของไทย ด้วยการให้แสงและเงาภาพ”


ก็เคยบวชจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้

และเมื่อครั้งประเทศไทยได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาในรัชกาลที่ ๖
วัดราชบุรณะได้ถูกระเบิดทำให้สถานที่สำคัญๆ ของวัดได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด
รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่งด้วย

รูปภาพ
อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เมืองแกลง จ.ระยอง


นอกจาก “ขรัวอินโข่ง” แล้ว
เมื่อครั้งสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
“สุนทรภู่” กวีเอกของไทย ก็ได้เคยออกบวชที่ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)
เพื่อหนีราชภัยในรัชกาลที่ ๓ ขณะอายุได้ ๔๑ ปี เช่นกัน

ดังนั้น ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒
บริเวณวัดและพระอุโบสถจึงได้ถูกรับการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่
โดยมี ศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) เป็นผู้ออกแบบ

พระอุโบสถนี้เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข หลังคาลด ๒ ชั้น
หน้าบันเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ
ภายในประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยในซุ้มเรือนแก้ว
พระนามว่า “พระพุทธมหาราชประสาธน์”
ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ แทนพระประธานองค์เดิม
ที่ถูกระเบิดทำลายเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

รูปภาพ
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



จัดสมณทูตไทยไปลังกา

ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) ในรัชกาลที่ ๓
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดส่งสมณฑูตไปลังกา
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เพื่อสืบข่าวพระศาสนาและยืมคัมภีร์พระไตรปิฎก

ในส่วนที่ไทยยังบกพร่อง สมณฑูตชุดนี้ได้เดินทางกลับถึงกรุงเทพฯ
ในต้นปี พ.ศ. ๒๓๘๖ อันเป็นปีที่ทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราช (นาค)
ครั้นปี พ.ศ. ๒๓๘๗ พระสงฆ์ลังกาฝากหนังสือเข้ามาเตือนหนังสือพระไตรปิฎก
ที่ยืมมาเที่ยวก่อน ๔๐ พระคัมภีร์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้
จัดสมณฑูตออกไปยังลังกาอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๒ ในรัชกาลนี้
พระสงฆ์ที่ไปในครั้งนี้ ๖ รูป คือ

๑. พระอมระ (คือพระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) วัดบรมนิวาส)
ซึ่งเคยร่วมไปในสมณฑูตชุดก่อนด้วย
๒. พระสุภูติ (คือพระสมุทรมุนี สังข์) ซึ่งเคยร่วมไปในสมณฑูตชุดก่อนด้วย
๓. พระสังฆรักขิต
๔. พระปิลันทวัชชะ (ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า พระปิลินทวัจฉะ)
๕. พระยัญญทัตตะ
๖. พระอาสภะ
๗. สามเณรแก่น เปรียญ (ภายหลังลาสิกขาได้เป็นพระยาโอวาทวรกิจ)
(ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่า สามเณรปันขาระ)


รูปภาพ
พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร)


สมณฑูตชุดนี้ก็เป็นพระภิกษุสามเณรธรรมยุตล้วนเช่นเดียวกับชุดก่อน
สมณฑูต ๗ รูปพร้อมด้วยพระภิกษุชาวลังกาอีก ๑ รูป และไวยาวัจกร ๑๐ คน
ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ๑๒ ข้างแรม พ.ศ. ๒๓๘๗
โดยเรือหลวงอุดมเดชและได้กลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือน ๔ ปีเดียวกัน
พร้อมกับได้ยืมหนังสือพระไตรปิฏกเข้ามาอีก ๓๐ คัมภีร์
และในคราวนี้ได้มีภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ชาวลังกาติดตามมาด้วยถึง ๔๐ คนเศษ

คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ยืมมาคราวนี้มีอะไรบ้างยังไม่พบหลักฐาน
แต่จากความในสมณสันเทศ (จดหมาย) ของพระสงฆ์ลังกา
ที่ฝากเข้ามาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งยังทรงผนวชอยู่และทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ในขณะนั้น
ปรากฏชื่อคัมภีร์บางส่วนที่พระสงฆ์ได้มาในครั้งนั้น คือ

๑. นามรูปปริเฉท
๒. มหานยสารทีปนี
๓. เอกักขรโกสฎีกา
๔. วัจจวาจฎีกา
๕. สัททัตถรชาลินีฎีกา
๖. วินยวินิจฉยฎีกา
๗. บุราณฎีกาบาลีมุต
๘. นวฎีกามูลสิกขา
๙. บุราณฎีกาอังคุตร
๑๐. ฎีกามหาวงศ์ (๑๐ คัมภีร์นี้ ให้ยืมมา)
๑๑. เภสัชมัญชุสา
๑๒. ชินจริต
๑๓. เรื่องทันตธาตุ


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยกับลังกา
ได้มีการติดต่อกันในทางพระศาสนาค่อนข้างใกล้ชิด
ทั้งโดยทางราชการและโดยทางเอกชน
โดยทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ชาวลังกาได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยบ่อยๆ

และโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชและทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารอยู่
ทำหน้าที่ต้อนรับดูแลพระสงฆ์ลังกา
ตลอดถึงจัดสมณฑูตไทยออกไปลังกาตามพระราชประสงค์ถึง ๒ ครั้ง
ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร จึงต้องมีหมู่กุฏิไว้รับรองพระสงฆ์ลังกาโดยเฉพาะ
เรียกว่า “คณะลังกา” (บริเวณที่เป็นพระวิหารพระศาสดาในบัดนี้)
ดังที่กล่าวไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารว่า

“ครั้งนั้น พระเปรียญ (วัดบวรนิเวศวิหาร) พูดมคธได้คล่อง
มีพระลังกาเข้ามา (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)
จึงต้องทรงมีหน้าที่เป็นผู้รับรองในราชการ
มีคณะไว้สำหรับพระลังกาที่วัด (บวรนิเวศวิหาร)
ตั้งอยู่ที่เป็นพระวิหารพระศาสดาในทุกวันนี้ ทรงสื่อสารกับคณะสงฆ์ที่ลังกา
บางคราวก็ทรงแต่งสมณฑูตส่งไปลังกาโดยราชการก็มี”


การที่ต้องมีคณะลังกาไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น
แสดงว่าคงมีพระสงฆ์ลังกาเข้ามาพำนักอยู่บ่อยๆ หรือเป็นประจำ
และที่น่าสนใจก็คือ พระเปรียญวัดบวรนิเวศวิหารครั้งนั้น
ไม่เพียงแต่พูดมคธได้คล่องเท่านั้น
แต่บางท่านยังสามารถพูดภาษาอังกฤษได้คล่องอีกด้วย
อาทิเช่น พระอมระ [คือพระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร)]
(ซึ่งเป็นสมณฑูตไปลังกาถึง ๒ ครั้ง)
ในรัชกาลที่ ๓ ชาวลังกาก็ชมว่า “พูดได้เหมือนอังกฤษทีเดียว”

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี อโนมสิริ) ซึ่งเป็นสมณฑูตไปลังกา
แต่ครั้งยังเป็นพระราชาคณะที่ พระอโนมศิริมุนี ในรัชกาลที่ ๔
ก็สามารถเทศนาเป็นภาษามคธให้ชาวลังกาฟังได้
อันแสดงให้เห็นว่าการศึกษาภาษาบาลีของพระสงฆ์ไทยยุคนั้นเจริญก้าวหน้ามาก
ทั้งมีความตื่นตัวในการศึกษาภาษาของชาวตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ เป็นต้นด้วย

ทั้งนี้ก็โดยมีพระสงฆ์สำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดบวรนิเวศวิหารเป็นผู้นำ ซึ่งแบบอย่างอันนี้ได้ตกทอดมาจน
ถึงยุคของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในรัชกาลที่ ๕

รูปภาพ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๓ แห่งบรมราชจักรีวงศ์



พระอวสานกาล

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๕ ปีเศษ
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๘๖
ก็สิ้นพระชนม์เมื่อปีระกา พุทธศักราช ๒๓๙๒
ในรัชกาลที่ ๓ มีพระชนม์มายุได้ ๘๖ พรรษา



:b8: :b8: :b8: รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหามาจาก ::
(๑) หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ :
สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
วัดราชบุรณะ, สุเชาวน์ พลอยชุม เรียบเรียง, มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.
(๒) หนังสือ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์,
โกวิท ตั้งตรงจิตร เรียบเรียง, สวีริยาศาสน์ จัดพิมพ์, ๒๕๔๙.
(๓) หนังสือประวัติวัดราชบุรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ)
จากเว็บไซต์วัดเลียบ http://www.watliab.com/


:b42: กระทู้ในบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13315

:b44: ••• ประวัติตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชไทย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=19521

:b44: ระยะเวลาการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช (พระองค์ใหม่)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=49539

:b44: ประวัติ “คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=47044

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร