วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 15:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=2



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2008, 17:58 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ย. 2008, 17:29
โพสต์: 191

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

วิหารธรรมที่ทรงอยู่มากที่สุดก่อนตรัสรู้

ภิกษุ ท.! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ด้วยอำนาจแห่งการเจริญทำให้มาก ซึ่งสมาธิใดสมาธินั้น ภิกษุย่อมจะได้โดยไม่หนักใจ ได้โดยไม่ยาก โดยไม่ลำบากเลย.

ภิกษุ ท.! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิต ก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่งการเจริญทำให้มากซึ่งสมาธิไหนกันเล่า? ภิกษุ ท.! ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตาม ย่อมมีขึ้นไม่ได้ ด้วยอำนาจแห่ง การเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ.

ภิกษุ ท.! เมื่อบุคคลเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิอยู่อย่างไรเล่า ความหวั่นไหวโยกโคลงของกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงของจิตก็ตามย่อมมีขึ้นไม่ได้?

ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ไปสู่ป่า หรือโคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตามแล้วนั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า. ภิกษุนั้นหายใจเข้าก็มีสติ หายใจออก ก็มีสติ.

เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว.

เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น.

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวงหายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้ทำกายสังขารให้สงบรำงับอยู่ หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้ทำกายสังขารให้สงบรำงับอยู่ หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งปีติหายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งสุขหายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้สงบรำงับอยู่ หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้ทำจิตตสังขาร ให้สงบรำงับอยู่หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้รู้สึกพร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์บันเทิงอยู่ หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์บันเทิงอยู่หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้ดำรงจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้ดำรงจิตให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปลดปล่อยอยู่ หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้ทำจิตให้ปลดปล่อยอยู่ หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นความไม่เที่ยง หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นความไม่เที่ยง หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นธรรมเป็นความจางคลาย หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นธรรมเป็น ความจางคลาย หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นธรรมเป็นความดับสนิท หายใจเข้าอยู่". ว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นธรรมเป็นความดับสนิท หายใจออกอยู่".

เธอย่อมทำการสำเหนียกฝึกฝน โดยหลักว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นธรรมเป็นความสลัดกลับหลัง หายใจเข้าอยู่", ว่า "เราจักเป็นผู้มองเห็นธรรมเป็นความสลัดกลับหลัง หายใจออกอยู่". ดังนี้.

ภิกษุ ท.! เมื่อบุคคลเจริญทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ อยู่อย่างนี้แล ความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งกาย หรือความหวั่นไหวโยกโคลงแห่งจิตก็ตามย่อมมีขึ้นไม่ได้. ....ฯลฯ....

ภิกษุ ท.! แม้เราเองก็เหมือนกัน ในกาลก่อนแต่การตรัสรู้ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรม คืออานาปานสติสมาธินี้ เป็นส่วนมาก. เมื่อเราอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก กายก็ไม่ลำบาก ตาก็ไม่ลำบาก และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่มีอุปาทาน.

ภิกษุ ท.! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า กายของเราก็อย่าลำบาก ตาของเราก็อย่าลำบาก และจิตของเราก็จงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่มีอุปาทานเถิด ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ให้เป็นอย่างดี.

ภิกษุ ท.! ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า ความครุ่นคิดอันเกี่ยวข้องไปทางเหย้าเรือนของเรา จงหายไปอย่างหมดสิ้น ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.

ภิกษุ ท.! ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าปฏิกูล ต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.

ภิกษุ ท.! ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ต่อสิ่งที่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.

ภิกษุ ท.! ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าปฏิกูล ทั้งต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และต่อสิ่งที่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.

ภิกษุ ท.! ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้อยู่ด้วยความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูล ทั้งต่อสิ่งที่ปฏิกูล และต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูล ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้นจงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ ให้เป็นอย่างดี.

ภิกษุ ท.! ในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุหวังว่า เราพึงเป็นผู้ไม่ใส่ใจเสียเลยทั้งต่อสิ่งที่ไม่ปฏิกูลและต่อสิ่งที่ปฏิกูล ทั้งสองอย่าง แล้วเป็นผู้อยู่อุเบกขามีสติสัมปชัญญะเถิด ดังนี้แล้ว; ภิกษุนั้น จงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ให้เป็นอย่างดี.

(ต่อแต่นี้ มีตรัสทำนองนี้เรื่อยไปจนถึง ความหวังจะได้ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และสัญญาเวทยิตนิโรธ จนกระทั่งความดับเย็นแห่งเวทนา เพราะความไม่เพลิดเพลินในเวทนานั้น เป็นที่สุด ว่าผู้ต้องการพึงทำในใจ ในอานาปานสติสมาธินี้ให้เป็นอย่างดี).

บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๙, ๔๐๑/๑๓๒๔, ๑๓๒๙. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน ปรารภพระมหากัปปินะเข้าสมาธินั่งนิ่งไม่ไหวติงจนเป็นปรกตินิสัย.


จาก พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ท่านพุทธทาสภิกขุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ค. 2010, 00:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ค. 2008, 21:56
โพสต์: 3925

ชื่อเล่น: เช่นนั้น
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทนี้ ก็น่าอ่าน...

.....................................................
ธรรมะอันยิ่งใหญ่ ไม่อาจเอื้อนเอ่ย
บัญญัติ เป็นเพียงสิ่งต่ำต้อยแบกรับความยิ่งใหญ่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ค. 2010, 05:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ก.พ. 2009, 05:07
โพสต์: 372


 ข้อมูลส่วนตัว


ศึกษาถึงวิธีการ ยกองค์ฌานที่ได้จากการเจริญอานาปานสติ ขึ้นสู่วิปัสสนา ได้ที่

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๖๒๕๗ - ๖๗๖๔. หน้าที่ ๒๕๗ - ๒๗๗.
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B ... agebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=273


http://84000.org/tipitaka/attha/attha.p ... i=273&p=2#อานาปานบรรพ

อานาปานบรรพ
คำว่า ภิกษุไปป่าก็ดี ไปที่โคนไม้ก็ดี ไปยังเรือนว่างก็ดี นี้เป็นเครื่องแสดงการกำหนดเอาเสนาสนะอันเหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐานของภิกษุนั้น. เพราะจิตของเธอซ่านไปในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้นมานาน ย่อมไม่ประสงค์จะลงสู่วิถีแห่งกัมมัฏฐาน คอยแต่จะแล่นออกนอกทางท่าเดียว เหมือนเกวียนที่เทียมด้วยโคโกงฉะนั้น.
เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้จะเจริญสติปัฏฐานนี้ ประสงค์จะทรมานจิตที่ร้าย ที่เจริญมาด้วยการดื่มรส มีรูปารมณ์เป็นต้นมานาน พึงพรากออกจากอารมณ์ เช่นรูปารมณ์เป็นต้น แล้วเข้าไปป่าก็ได้ โคนไม้ก็ได้ เรือนว่างก็ได้ แล้วเอาเชือก คือสติผูกเข้าไว้ที่หลัก คืออารมณ์ของสติปัฏฐานนั้น จิตของเธอนั้นแม้จะดิ้นรนไปทางนั้นทางนี้ เมื่อไม่ได้อารมณ์ที่คุ้นเคยมาก่อน ไม่อาจตัดเชือก คือสติให้ขาดแล้วหนีไปได้ ก็จะแอบแนบสนิทเฉพาะอารมณ์นั้นอย่างเดียว ด้วยอำนาจเป็นอุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา
เหมือนอย่างคนเลี้ยงโค ต้องการจะทรมานลูกโคโกงที่ดื่มนมแม่โคตัวโกงจนเติบโต พึงพรากมันไปเสียจากแม่โค แล้วปักหลักใหญ่ไว้หลักหนึ่ง เอาเชือกผูกไว้ที่หลักนั้น ครั้งนั้น ลูกโคของเขานั้นก็จะดิ้นไปทางโน้นทางนี้ เมื่อไม่อาจหนีไปได้ ก็หมอบหรือนอนแนบหลักนั้นนั่นแล ฉะนั้น.
เหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า
ยถา ถมฺเภ นิพนฺเธยฺย วจฺฉํ ทมํ นโร อิธ
พนฺเธยฺเยวํ สกํ จิตฺตํ สติยารมฺมเณ ทฬฺหํ
นรชนในพระศาสนานี้ พึงผูกจิตของตน
ไว้ในอารมณ์ให้มั่นด้วยสติ เหมือนคนเลี้ยงโค
เมื่อจะฝึกลูกโค พึงผูกมันไว้ที่หลักฉะนั้น.

เสนาสนะนี้ ย่อมเหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐานของภิกษุผู้เจริญสติปัฏฐานนั้น ด้วยประการฉะนี้. เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า คำนี้เป็นเครื่องแสดงการกำหนดเสนาสนะอันเหมาะแก่การเจริญสติปัฏฐานของภิกษุนั้นดังนี้.

เสนาสนะที่เหมาะแก่การเจริญอานาปานสติ
อีกอย่างหนึ่ง เพราะพระโยคาวจรไม่ละ ละแวกบ้านอันอื้ออึ้งด้วยเสียงหญิงชาย ช้างม้าเป็นต้น จะบำเพ็ญอานาปานสติกัมมัฏฐาน อันเป็นยอดในกายานุปัสสนา เป็นปทัฏฐานแห่งการบรรลุคุณวิเศษ และธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งปวงนี้ให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ เลย เพราะฌานมีเสียงเป็นข้าศึก
แต่พระโยคาวจรกำหนดกัมมัฏฐานนี้แล้วให้จตุตถฌาน มีอานาปานสติเป็นอารมณ์เกิดขึ้น ทำฌานนั้นนั่นแลให้เป็นบาท พิจารณาสังขารทั้งหลายแล้วบรรลุพระอรหัต ซึ่งเป็นผลอันยอดจะทำได้ง่าย ก็แต่ในป่าที่ไม่มีบ้าน ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะอันเหมาะแก่ภิกษุโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโต วา ไปป่าก็ดี เป็นต้น.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเหมือนอาจารย์ผู้รู้ชัยภูมิ. อาจารย์ผู้รู้ชัยภูมิเห็นพื้นที่ควรสร้างนครแล้ว ใคร่ครวญถี่ถ้วนแล้ว ก็ชี้ว่า ท่านทั้งหลายจงสร้างนครตรงนี้ เมื่อเขาสร้างนครเสร็จ โดยสวัสดีแล้ว ย่อมได้รับลาภสักการะอย่างใหญ่จากราชสกุล ฉันใด
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นก็ฉันนั้น ทรงใคร่ครวญถึงเสนาสนะอันเหมาะแก่พระโยคาวจรแล้วทรงชี้ว่า เสนาสนะตรงนี้ พระโยคาวจรควรประกอบกัมมัฏฐานเนืองๆ ต่อแต่นั้น พระโยคีเจริญกัมมัฏฐานเนืองๆ ในเสนาสนะนั้น ได้บรรลุพระอรหัตตามลำดับ ย่อมทรงได้รับสักการะอย่างใหญ่ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ จริงหนอ.
ก็ภิกษุนี้ ท่านกล่าวว่า เป็นเช่นเดียวกับเสือเหลือง. เหมือนอย่างพระยาเสือเหลืองขนาดใหญ่อาศัยพงหญ้าป่าชัฏ หรือเทือกเขาในป่า ซ่อนตัวคอยจับหมู่มฤคมีกระบือป่า ละมัง หมูป่าเป็นต้น ฉันใด ภิกษุนี้ผู้มีเพียรประกอบเนืองๆ ซึ่งกัมมัฏฐานในป่าเป็นต้น ย่อมถือเอาซึ่งมรรค ๔ และอริยผล ๔ ได้ตามลำดับ ฉันนั้นเหมือนกัน.
เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์จึงกล่าวว่า.
ยถาปิ ทีปิโก นาม นิลียิตฺวา คณฺหตี มิเค
ตเถวายํ พุทฺธปุตฺโต ยุตฺตโยโค วิปสฺสโก
อรญฺญํ ปวิสิตฺวาน คณฺหติ ผลมุตฺตมํ
อันเสือเหลืองซ่อนตัวคอยจับหมู่มฤค ฉันใด
ภิกษุผู้เป็นพุทธบุตรนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เข้าไปสู่
ป่าแล้ว ประกอบความเพียร เป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง
(เจริญวิปัสสนา) ย่อมถือไว้ได้ซึ่งผลอันสูงสุดได้.

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเสนาสนะป่า อันเป็นภูมิที่เหมาะแก่ชวนปัญญา อันเป็นเครื่องบากบั่นของพระโยคาวจรนั้น จึงตรัสว่า อรญฺญคโตวา ไปป่าก็ดี เป็นต้น.
ต่อแต่นี้ไป ก่อนอื่น คำที่ควรจะกล่าวในอานาปานบรรพนี้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วทั้งนั้น.

กำหนดลมอัสสาสปัสสาสะ
ก็คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน นี้เป็นเพียงคำอุปมาเท่านั้น. คำว่า ในกายภายใน ก็ดีนี้เป็นเพียงอัปปนาเท่านั้น. แต่อัปปนานั้นก็ย่อมไม่มาในคำนั้น. มาแต่อุปจารกัมมัฏฐานที่เหลือ. แต่ก็ยังมาไม่ถึง คำว่า ผู้ขยัน หมายถึง ผู้ฉลาด (ผู้ชำนาญ).
คำว่า ชักเชือกกลึงยาวก็ดี ความว่า เหยียดมือ เหยียดเท้า ชักเชือกยาวในเวลากลึงกลองช่องพิณเป็นต้น ซึ่งเป็นของใหญ่. คำว่า ชักเชือกสั้นก็ดี ความว่า ชักเชือกสั้นๆ ในเวลากลึงของเล็กๆ น้อยๆ เช่นงาและลิ่มสลักเป็นต้น.
คำว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล ความว่า แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้น เมื่อหายใจเข้ายาวโดยลมอัสสาสะและปัสสาสะ ที่เป็นไปโดยระยะยาวและระยะสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว ฯลฯ คอยสำเหนียกอยู่ว่าเราหายใจออกยาวดังนี้. เมื่อเธอสำเหนียกอยู่อย่างนี้ ฌาน ๔ ย่อมเกิดในนิมิตแห่งลมอัสสาสปัสสาสะ. เธอออกจากฌานแล้ว จะกำหนดลมอัสสาสปัสสาสะ หรือองค์ฌานได้.
ในการกำหนดลมอัสสาสปัสสาสะนั้น ภิกษุประกอบกัมมัฏฐานในลมอัสสาสปัสสาสะ ย่อมกำหนดรูปอย่างนี้ว่า ลมอัสสาสปัสสาสะเหล่านี้อาศัยอะไร อาศัยวัตถุ กรัชกาย ชื่อว่าวัตถุ มหาภูตรูป ๔ กับอุปาทายรูป ชื่อว่ากรัชกาย ต่อแต่นั้น จึงกำหนดในนามธรรม ซึ่งมีผัสสะเป็นที่ ๕ (๑. เวทนา ๒. สัญญา ๓. เจตนา ๔. วิญญาณ ๕. ผัสสะ) มีรูปนั้นเป็นอารมณ์.
ครั้นกำหนดนามรูปนั้นอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ค้นหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้นอยู่ เห็นปฏิจจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้นแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยเสียได้ว่านี้เป็นเพียงปัจจัย และธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช้สัตว์หรือบุคคล จึงยกนามรูปกับทั้งปัจจัย ขึ้นสู่พระไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนาอยู่ ย่อมบรรลุพระอรหัตโดยลำดับ. นี้เป็นทางปฏิบัติออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.
ภิกษุผู้เจริญฌานกัมมัฏฐาน กำหนดนามรูปว่า องค์ฌานเหล่านี้อาศัยอะไร อาศัยวัตถุรูป กรัชกายชื่อว่าวัตถุรูป องค์ฌานจัดเป็นนาม กรัชกายจัดเป็นรูป เมื่อจะแสวงหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้น จึงเห็นปัจจยาการมีอวิชชาเป็นต้น จึงข้ามความสงสัยเสียได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคล จึงยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ. นี้เป็นมุขของการออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง.
คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํวา ในกายภายใน ความว่า พิจารณาเห็นกายในกาย คือลมอัสสาสปัสสาสะของตนอยู่อย่างนี้.
คำว่า หรือ ภายนอก ความว่า หรือพิจารณาเห็นกายในกาย คือลมอัสสาสปัสสาสะของคนอื่น อยู่.
คำว่า ทั้งภายในทั้งภายนอก ความว่า หรือในกาย คือลมอัสสาสปัสสาสะของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยคำนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกาลที่ภิกษุนั้นไม่หยุดกัมมัฏฐานที่คล่องแคล่ว ให้กาย คือลมอัสสาสปัสสาสะสัญจรไปมาอยู่ ก็กิจทั้งสองนี้ ย่อมไม่ได้ในเวลาเดียวกัน.
คำว่า พิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิด ความว่า ลมอาศัยสูบของช่างทอง ๑ ลูกสูบ ๑ ความพยายามอันเกิดแต่ลูกสูบนั้น ๑ จึงจะสัญจรไปมาได้ฉันใด กาย คือลมอัสสาสปัสสาสะก็อาศัยกรัชกาย ๑ ช่องจมูก ๑ จิต ๑ ของภิกษุ จึงสัญจรไปมาได้ฉันนั้น. ภิกษุเห็นธรรมมีกายเป็นต้น ซึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา ท่านเรียกว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิดในกาย.
คำว่า พิจารณาธรรม คือความเสื่อมก็ดี ความว่า เมื่อสูบถูกนำออกไปแล้ว เมื่อลูกสูบแตกแล้ว เมื่อความพยายามอันเกิดแต่ลูกสูบนั้น ไม่มี ลมนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันใด เมื่อกายแตกแล้ว เมื่อช่องจมูกถูกกำจัดเสียแล้ว และเมื่อจิตดับแล้ว ชื่อว่ากาย คือลมอัสสาสปัสสาสะ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ภิกษุผู้เห็นอยู่อย่างนี้ว่า ลมอัสสาสปัสสาสะดับ เพราะกายเป็นต้นดับ ดังนี้ ท่านเรียกว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเสื่อมในกาย.
คำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด และความเสื่อม หมายความว่า พิจารณาเห็นความเกิดตามกาล ความเสื่อมตามกาล.
คำว่า สติของเธอปรากฏชัดว่ากายมีอยู่ ความว่า สติของภิกษุนั้นเข้าไปตั้งเฉพาะอย่างนี้ว่า กายแลมีอยู่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร.
คำว่า เพียงเท่านั้น นี้เป็นเครื่องกำหนดเขตแห่งประโยชน์.
ท่านอธิบายว่า สติที่เข้าไปตั้งอยู่นั้น หาใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ ที่แท้ก็เพียงเพื่อประโยชน์สักว่า ความรู้ คือประมาณแห่งความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป และประมาณแห่งสติเท่านั้น อธิบายว่า เพื่อความเจริญแห่งสติสัมปชัญญะ.
คำว่า ไม่ถูกกิเลส อาศัยอยู่ ความว่า ไม่ถูกกิเลสอาศัย ด้วยอำนาจแห่งกิเลสเป็นที่อาศัย คือตัณหา และทิฏฐิอยู่.
คำว่า ไม่ยึดถือสิ่งไรๆ ในโลกด้วย ความว่า ไม่ถือสิ่งไรๆ ในโลก คือรูป ฯลฯ หรือวิญญาณว่า นี้เป็นตัวของเรา นี้มีในตัวของเรา.
ปิอักษรใน คำว่า เอวํปิ ลงในอรรถ คือ อาศัยความข้างหน้าประมวลมา.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมอบเทศนา คืออานาปานบรรพแสดงแล้วด้วยบทนี้.

อานาปานสติเป็นอริยสัจ ๔
ในอานาปานบรรพนั้น สติที่กำหนดลมอัสสาสปัสสาสะเป็นอารมณ์เป็นทุกขสัจ ตัณหามีในก่อนอันยังทุกขสัจนั้นให้ตั้งขึ้นเป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่งสัจจะทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจ มีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ. ภิกษุโยคาวจรขวนขวายด้วยอำนาจสัจจะ ๔ อย่างนี้ ย่อมบรรลุความดับทุกข์ได้ฉะนี้.
นี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ จนบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ตั้งมั่นแล้ว ด้วยอำนาจแห่งลมอัสสาสปัสสาสะ รูปหนึ่งฉะนี้แล.
จบอานาปานบรรพ

-----------------------------------------------------

สมถะที่เป็นบาทของวิปัสสนา
viewtopic.php?f=2&t=21049
อรรถกถา

ถามว่า เริ่มตั้งวิปัสสนาอย่างไร ?
แก้ว่า จริงอยู่ พระโยคีนั้น ครั้นออกจากฌานแล้วกำหนดองค์ฌาน
ย่อมเห็นหทัยวัตถุ ซึ่งเป็นที่อาศัยแห่งองค์ฌานเหล่านั้น ย่อมเห็นภูตรูป ซึ่ง
เป็นที่อาศัยแห่งหทัยวัตถุนั้น และย่อมเห็นกรัชกายแม้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่อาศัย
แห่งภูตรูปเหล่านั้น. ในลำดับแห่งการเห็นนั้น เธอย่อมกำหนดรูปและอรูปว่า
องค์ฌานจัดเป็นอรูป, (หทัย) วัตถุเป็นต้นจัดเป็นรูป. อีกอย่างหนึ่ง เธอนั้น
ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว กำหนดภูตรูปทั้ง ๔ ด้วยอำนาจปฐวีธาตุเป็นต้น ใน
บรรดาส่วนทั้งหลายมีผมเป็นอาทิ และรูปซึ่งอาศัยภูตรูปนั้น ย่อมเห็นวิญญาณ
พร้อมทั้งสัมปยุตธรรมซึ่งมีรูปตามที่ตนกำหนดแล้วเป็นอารมณ์ หรือมีรูปวัตถุ
และทวารตามที่ตนกำหนดแล้วเป็นอารมณ์. ลำดับนั้น เธอย่อมกำหนดว่า
ภูตรูปเป็นต้น จัดเป็นรูป, วิญญาณที่มีสัมปยุตธรรม จัดเป็นอรูป. อีกอย่างหนึ่ง
เธอครั้นออกจากสมาบัติแล้ว ย่อมเห็นว่า กรัชกายและจิตเป็นที่เกิดขึ้นแห่ง
ลมอัสสาสะและปัสสาสะ. เหมือนอย่างว่า เมื่อสูบของช่างทองยังสูบอยู่ ลม
ย่อมสัญจรไปมา เพราะอาศัยการสูบ และความพยายามอันเกิดจากการสูบนั้น
ของบุรุษ ฉันใด, ลมหายใจเข้าและหายใจออก ย่อมเข้าออก เพราะอาศัย
กายและจิตฉันนั้นเหมือนกันแล. ลำดับนั้น เธอกำหนดลมหายใจเข้าหายใจออก
และกายว่า เป็นรูป, กำหนดจิตนั้นและธรรมที่สัมปยุตด้วยจิตว่า เป็นอรูป.

.....................................................
สมถะ (ฌาน, สมาธิ) ที่เป็นบาทของวิปัสสนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21049

ผู้บรรลุธรรม จากสมถะ มีจำนวนน้อยกว่าผู้ไม่มี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=21062

การเจริญสติปัฏฐานหมวดพิจารณาอิริยาบถ ๔ จากพระไตรปิฏก อรรถกถา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=2&t=29201

ควรศึกษาอัตตโนมติ ของท่านพุทธทาสหรือไม่ ?
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17187


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 17:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 มิ.ย. 2007, 21:13
โพสต์: 2631

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


วิเคราะห์แนวคิดท่านพุทธทาส

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

ส่วนหนึ่งของเสวนา

"มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส ‘แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร’"

เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์

ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คัดลอกมาจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 27 ฉบับที่ 07

วิภา จิรภาไพศาล /ในโลกอันแสนวิปริต กับฐานความคิดท่านพุทธทาส /





ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปีชาตกาลท่านพุทธทาส เครือข่ายธรรมโฆษณ์ พุทธทาส ๑๐๐ ปี ได้จัดงานพุทธทาส ๑๐๐ ปี : ร้อยใจ ฟื้นไทย ให้คืนธรรม เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีพระไพศาล วิสาโล, ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ และพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ร่วมเสวนาในหัวข้อ "มองอนาคตผ่านรากฐานความคิดและชีวิตท่านพุทธทาส 'แล้วเราจะอยู่ในโลกอันแสนวิปริตนี้ได้อย่างไร'"




ขณะที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เริ่มการเสวนาจากการวิเคราะห์แนวคิดพื้นฐานของท่านอาจารย์พุทธทาสว่า

"ถ้าจะให้อาตมาพูดผ่านแนวคิดของท่าน ในแง่ ๑. คือตนอาจจะอ่านไม่เพียงพอ ๒. การที่จะบอกว่าท่านผู้นั้นเป็นเรื่องยากและที่ต้องระวังมาก ที่นี้แม้แต่ชื่อที่บอกว่ามองอนาคตผ่านแนวคิดและชีวิตของพุทธทาสก็แปลความหมายได้หลายอย่าง

แปลง่ายๆ ก็ให้มองอนาคตของมนุษย์ ของสังคม หรือของอะไรก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอย่างไร เราเพียงแต่ดูว่ามันจะเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็น เราไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่แทนที่จะมองอย่างนั้น อาตมาคิดว่าเราน่ามองแบบมีส่วนรวมว่าอนาคตของโลกควรเป็นอย่างไร แล้วเราจะช่วยทำให้เป็นอย่างนั้นได้อย่างไร อาตมาคิดว่าถ้ามองแบบนี้จะมีความหมายสำคัญมากกว่า

ส่วนแนวคิดและชีวิตของท่านพุทธทาสซึ่งจะโยงมาหาการที่เราจะต้องเข้าใจแนวคิดชีวิตของท่านพุทธทาส ว่าเราเข้าใจอย่างไร เราก็จะไปมองเรื่องอนาคตที่ว่านั้นจะจัดการไปตามนั้น ตอนนี้มันเป็นเรื่องสำคัญว่าเรามองแนวคิดของท่านพุทธทาสอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรามองตรงกันนั้นถูกต้องแล้ว อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน มันกลับมาสู่ปัญหาพื้นฐานเลยว่าตัวแนวคิดของท่านเป็นอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญมาก

บางทีอาจเป็นหัวข้อที่ท่านที่ศึกษางานจะต้องมาช่วยกันวิเคราะห์ ถกเถียง และอย่างน้อยก็ไม่ด่วนตัดสิน เพราะว่าแนวคิดของท่านที่มองอะไรกว้างขวางและผลงานเยอะ มีความเสี่ยงภัยเหมือนกัน คือบางคนไปจับอะไรมอง ได้ยินอะไร หรือว่าไปอ่านหนังสือของท่านบางเล่มเห็นข้อความบางอย่างจับเอาเลยว่าท่านคิดเห็นอย่างนั้น จริงอยู่ท่านกล่าวจากความคิดของท่าน แต่เรามองอย่างไม่รู้ความเป็นมาเป็นไปเดิม ไม่รู้แนวคิดพื้นฐานกว้างๆ ของท่าน เราก็มองไปแต่เป็นไปตามความคิดความรู้สึกของเราเอง มันทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน

การมองแนวคิดของท่านพุทธทาส ถ้ามองขั้นที่ ๑ เรามองที่เจตนาก่อน เจตนาของท่านเป็นอย่างไร อันนี้เห็นได้ค่อนข้างชัด แม้แต่ชื่อท่านเอง ท่านก็เรียกว่าพุทธทาส แปลว่าทาสของพระพุทธเจ้า ซึ่งถ้าพูดอย่างภาษาเราง่ายๆ ท่านมุ่งอุทิศชีวิตของท่านในการสนองงานของพระพุทธเจ้าอะไรล่ะ สนองงานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้สำหรับพระสงฆ์ย้ำบ่อยมาก

ท่านมีเจตนาพื้นฐานเพื่อจะสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชน ทำให้โลกอยู่ร่มเย็นเป็นสุข อันนี้จริงไหม ถ้าเรายอมรับเราตกลง แล้วเราแน่ใจ เราก็ได้ไปในขั้นเจตนา เมื่อเราได้เจตนาก็ได้ขั้นพื้นฐานเลยมันเป็นตัวนำจิต เพราะว่าจิตของเรากับจิตของท่านจะสอดคล้องกัน ที่นี้เราแน่ใจไหม มันก็ได้ไปส่วนสำคัญ ที่นี้เมื่อมามองงานของท่านที่มีมากมาย อย่างที่พูดเมื่อกี้ ถ้าเราไม่ได้ชัดเจนกับตัวเอง เรื่องของแนวคิดของท่านที่เป็นไปตามเจตนานี้ มันก็เป็นไปในทิศทางที่จะทำให้โลกอยู่เย็นเป็นสุข พอมีแนวคิดพื้นฐานแบบนี้จะช่วยให้การแปลความหมายดีขึ้น เราจะยอมรับไหมว่าแนวคิดนี้แน่ใจ

ต่อไปก็มองที่ตัวหนังสือบ้าง คำพูด คำเทศนาของท่าน อาตมาจะยกตัวอย่างเลย บางที่บางคนไปจับเฉพาะบางแง่บางส่วน แล้วจะทำให้เกิดปัญหา เช่น บางทีบางคนอาจจะไปยกคำของท่านมา ที่บอกว่าพระไตรปิฎกนี่ต้องฉีกออกเท่านั้นเปอร์เซ็นต์ เหมือนกับว่ามีส่วนที่ไม่ควรใช้ ไม่ควรเชื่อถือหลายเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับตัวท่าน ตั้งแต่เจตนาพื้นฐาน บางคนก็อาจจะเข้าใจเลยไปว่าพระไตรปิฎกไม่น่าเชื่อถือ บางคนก็ยกไปอ้างในทำนองนี้ หรือเป็นว่าเป็นแนวคิดของท่าน

อันนี้ถ้าเราดูพื้นจากที่เป็นมา อย่างที่อาตมาเล่า อาตมามอง เริ่มจากหนังสือพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ แล้วก็ต่อมาท่านพุทธทาสออกหนังสือกลุ่มจากพระโอษฐ์เยอะมาก ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์, อริยสัจจากพระโอษฐ์, ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ท่านมีหนังสือแบบนี้แสดงว่าท่าทีหรือว่าทัศนคติของท่านต่อพระไตรปิฎกเป็นอย่างไร อย่างน้อยท่านเอาจริงเอาจังมากกับพระไตรปิฎก ท่านอยู่กับพระไตรปิฎกมามากมาย และตั้งใจค้นคว้า ศึกษาจริง

เราจะเห็นข้อความที่ท่านใช้อ้าง แม้แต่ในเรื่องปฏิจจสมุปบาท เหมือนกับว่าด้านหนึ่งท่านเป็นผู้เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์ต่อพระไตรปิฎก ไว้ใจพระไตรปิฎกมาก แต่พร้อมกันนั้นท่านก็มีท่าทีให้มีเหตุผลไม่เชื่อเรื่อยเปื่อย หรือเชื่องมงาย ว่าอะไรที่อยู่ในชุดที่เรียกว่าพระไตรปิฎกจะต้องเชื่อตามไปหมด อันนี้เป็นทัศนคติที่พอดีๆ ที่ศึกษาอย่างมีเหตุผล

อาตมาจะอ่านให้ฟังสักนิดเป็นการโควทท่านหน่อย ในหนังสือโอสาเรปนะธรรม หน้า ๔๒๓ บอกว่า "ดังนั้นในการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ต้องถือเอาบาลีเดิมเป็นหลัก" นี้แสดงว่าท่านยึดพระไตรปิฎก คำว่า "บาลี" เป็นคำทางพระหมายถึงพระไตรปิฎก อย่ามอบตัวให้กับอรรถกถาอย่างไม่ลืมหูลืมตา อันนี้ก็พูดถึงอรรถกถา ซึ่งประเดี๋ยวก็ต้องพูดกันอีก มาถึงเรื่องฉีก ท่านก็ยังพูดถึงเรื่องฉีก ในหนังสือพระธรรมปาติโมกข์ เล่ม ๒ หน้า ๑๒๓ ท่านพูดถึงเว่ยหลาง

"ฉะนั้นการที่เขาฉีกพระสูตรนี้ มันถูกที่สุด เดี๋ยวนี้เรามีห้องสมุด มีหนังสือแยะ ที่เราก็มี เขาให้อะไรเยอะแยะ เป็นตารางที่ขังความโง่ของคนไว้อย่าให้ไปครอบงำใคร...ฉะนั้นห้องสมุดของผมที่ชั้นบนนี้ ผมจึงไม่ให้ใครเอาหรือขึ้นไปใช้มัน เพราะเป็นความโง่ของคนทั้งโลกที่ผมขังไว้ อย่าให้ไปครอบงำคนอื่น บางชุดซื้อมาตั้งหมื่น นั้นคือความโง่ ไม่กี่เล่ม เอามาขังไว้ในนี้ไปครอบงำใครได้ นี้ยิ่งทำยิ่งโง่ ยิ่งอ่านยิ่งโง่ ยิ่งเรียนมากยิ่งโง่"

ถ้าคนมาจับความแค่นี้ก็จะบอกว่าท่านเป็นปฏิปักษ์กับเรื่องหนังสือ ไม่สนับสนุนให้อ่านให้ค้นคว้า อันนี้ก็ไม่อยากให้ไปจับเอาเฉพาะแง่เฉพาะมุมนิดๆ หน่อยๆ ต้องดูทั้งหมดว่าท่านมองอย่างไร คิดอย่างไร บางทีมันเป็นเรื่องเฉพาะกรณี เราก็ต้องดูว่าขณะนั้นท่านกำลังพูดเรื่องอะไร ท่านต้องการให้ผู้ฟังได้แง่คิดอะไรในเรื่องนี้

เมื่อกี้พูดถึงว่าให้เอาบาลี หรือพระไตรปิฎกเป็นหลัก อย่าไปมอบตัวให้กับอรรถกถา ทีนี้บางทีท่านพูดถึงเรื่องอรรถกถาในหลายกรณีก็จะมีเรื่องพูดในแง่ที่ไม่ค่อยดี คล้ายๆ กับไม่น่าไว้ใจ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องอย่างนั้น แต่นี้บางคนไปถึงขนาดที่ว่าอรรถกานี้ไว้ใจไม่ได้ อาตมาอ่านหนังสือบางเล่มเขาดูถูกอรรถกถา ไม่เชื่ออรรถกถา ถ้าเราดูท่านพุทธทาส อาจจะถือเป็นความพอดีก็ได้ งานของท่านจะพูดถึงอรรถกถาเยอะแล้วท่านก็ใช้ประโยชน์จากอรรถกถา เรื่องราวต่างๆ ท่านก็เอาจากอรรถกถามา

เราไม่ต้องไปพูดเฉพาะท่านหรอก คืออย่างคำแปลพระไตรปิฎก ฉบับโน้นฉบับนี้เราก็มาอ้างกันว่าเป็นพระไตรปิฎก และที่ใช้ในเมืองไทยก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย โดยมากก็จะคัดมา อ้างอิงมาจากฉบับแปลเป็นภาษาไทย เราไม่ได้อ้างอิงมาจากฉบับภาษาบาลีมาอ้างอิงโดยตรง และหลายคนก็ไม่สามารถแปลได้ด้วย

ที่เราบอกว่าพระไตรปิฎกๆ นั้น คำแปลเขาอ้างจากอรรถกถานะ พระไตรปิฎกฉบับ ๒๕ ศตวรรษพิมพ์ครบชุดครั้งแรกในประเทศไทย ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ แล้วต่อมาก็กลายเป็นฉบับกรมการศาสนา ฉบับมหามกุฏฯ มหาจุฬาฯ คนแปลไม่ได้รู้ไปหมด ต้องค้นหากัน เวลาค้นๆ กันที่ไหน ก็ค้นจากอรรถกถา จากฎีกา แล้วก็แปลไปตามนั้น

คนที่บอกว่าไม่เชื่ออรรถกถา ไม่รู้แปลพระไตรปิฎกเอาตามอรรถกถา ใช้อรรถกถามาเป็นสิ่งที่ตัวเองยึดถือเลย โดยอ้างอิงพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกแปลไม่ได้แปลตรงไปตรงมาหรอก แปลตามอรรถกถาอธิบาย เพราะพระไตรปิฎกนั้นเรารู้อยู่แล้วว่าเก่ากว่าอรรถกถามาก ที่นี้ศัพท์ที่เก่าขนาดนั้น บางทีรูปประโยคดูไม่ออกเลยว่าหมายความว่าอย่างไร การแปลจึงต้องหาอุปมาช่วย ก็ได้อรรถกถานี้แหละที่เก่ารองจากพระไตรปิฎก จึงไปเอาอรรถกถาว่าท่านอธิบายบาลีองค์นี้ไว้อย่างไร ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่ชัดอยากจะได้ความที่ชัดยิ่งขึ้นก็ไปค้นคัมภีร์รุ่นต่อมา หรือฎีกา หรืออนุฎีกาต่างๆ มาพิจารณาประกอบ จะถือเอาตามนั้นหรือจะตัดสินอย่างไรก็ตามแต่ รวมแล้วก็คือต้องอาศัยคัมภีร์เก่า

แต่บางคนก็อ้างพระไตรปิฎกโดยไม่รู้ว่าความจริงว่าแม้แต่คนแปลเขาก็อ้างอรรถกถา กลายเป็นว่าที่ตัวเอาๆ มาจากอรรถกถา อันนี้เป็นตัวอย่างที่หลวงพ่อพุทธทาสท่านศึกษามาก ต้องยอมรับว่าท่านบวชตั้งแต่เมื่อไร ท่านอุทิศชีวิตกับการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา ฎีกาอะไรต่างๆ เวลาท่านอธิบายท่านก็ยกมาอ้าง เวลาท่านบอกไม่ให้เชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง ไม่ให้เราเชื่อเรื่อยเปื่อยงมงายไป

ในหนังสือพุทธิกะจริยธรรม หน้า ๒๓๓ "ฉะนั้นเราต้องมีธรรมที่เหมาะสมแก่วัย ที่วัยนั้นจะพอรับเอาได้ หรือเข้าใจได้" ข้อนี้ท่านเปรียบไว้ในอรรถกถาว่า "ขืนป้อนข้าวคำใหญ่ๆ แก่เด็กซึ่งปากยังเล็กๆ" ก็หมายความว่าเด็กจะรับไม่ได้ ท่านได้ยกคำอรรถกถามาใช้ แต่ที่เป็นอภินิหารท่านก็บอกว่าอันนี้เป็นเรื่องน่าเชื่อไม่น่าเชื่อ

ฉะนั้นการที่จะไปพูดเรื่องมองอนาคตอะไร แนวคิดผลงานของท่านอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ บางทีเราอาจจะก้าวเลยไปก็ได้ บางทีคนที่มาพูดมองอนาคตนั้นผ่านชีวิตของท่าน แต่ละคนก็มีในใจของตัวเอง มองแนวคิดของท่านไว้คนละอย่าง เสร็จแล้วอาจจะพูดไปคนละทางสองทาง การมองเรื่องที่ตั้งไว้ว่าเราจะช่วยให้มันเป็นอย่างไร โดยผ่านแนวคิดของท่านพุทธทาส เราก็ต้องชัดด้วย อย่างที่อาตมาบอกว่าให้มองตั้งแต่เจตนาของท่านที่แน่นอนเลย ที่จะสนองพุทธประสงค์ ที่จะรับใช้พระพุทธเจ้า ถ้าเรามีเจตนาแบบนี้ก็ต้องอนุโมทนาว่าเรามีเจตนาที่เป็นกุศล เราศึกษางานของท่าน เพื่อเอามาใช้ เอามาสอน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ถ้าทำได้อย่างนี้จะเป็นส่วนที่เราได้สนองท่านพุทธทาสด้วยนะ ท่านพุทธทาสสนองงานพระพุทธเจ้า โดยที่ว่าเราก็จำกัดลงมาในแง่สนองรับใช้ท่านพุทธทาส เราก็ได้รับใช้ทั้งสองเลย

เอาเป็นอันว่าหลวงพ่อพุทธทาสตั้งเจตนาเลย ท่านอุทิศชีวิตสนองงานพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ชื่อตัวเอง ที่ท่านเรียกตัวเองว่าพุทธทาสภิกขุ บทบาทที่เด่นของท่านก็สมานสัมพันธ์กับยุคสมัย อย่างที่บอกว่าคนไทยห่างไกลพุทธศาสนามาก ความเชื่ออะไรก็เป็นไปตามปรัมปรา ที่สืบต่อกันมา ก็ค่อยๆ คลาดเคลื่อน ค่อยๆ เพี้ยนไป อันนี้เป็นปัญหาของสังคมไทยที่เป็นสังคมพุทธ เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ต้องอาศัยกัน ไม่ใช่ศาสนาที่สำเร็จด้วยศรัทธา ที่จะบอกเลยว่าให้มีหลักความเชื่ออย่างไร"

แม้โลกวันนี้จะแสนวิปริตเพียงใด หากท่านมองผ่านฐานแนวคิดของท่านพุทธทาส จะเห็นว่าไม่ได้เป็นเรื่องของความทุกข์เพียงด้านเดียว แต่ยังเป็นบุญ เป็นโชค ดังคำกล่าวของท่านที่ว่า "โชคดีมีบุญที่ได้มาเกิดในโลกนี้ ในสภาพปัจจุบันนี้ที่แสนจะวิปริต เพราะว่ามีอะไรให้ศึกษามาก...คิดดูถ้าไม่มีเรื่องให้ศึกษามากแล้วมันจะฉลาดได้อย่างไร"

.....................................................
นิพพานที่นี่ เดี๋ยวนี้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ค. 2010, 18:50
โพสต์: 24

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุๆๆๆ

เป็นข้อธรรม ที่ถึงใจมากครับ
อ่านแล้ว ยิ่งตอกย้ำให้ใจตั้งมั่น ในหนทางธรรมยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาบุญกับ เพื่อนสหธรรมิกทุกท่านครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ส.ค. 2010, 14:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ส.ค. 2010, 13:31
โพสต์: 12

ชื่อเล่น: เบสท์
อายุ: 0
ที่อยู่: เจริญนคร

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร