วันเวลาปัจจุบัน 09 ต.ค. 2024, 05:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2008, 09:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


เชิญประชาสัมพันธ์สถานที่ปฏิบัติ โดยการลงชื่อ-ที่อยู่ กำหนดการ-ระเบียบการ และเว็บไซต์ (ถ้ามี)
ของสถานที่ปฏิบัติธรรม จังหวัดพิจิตร ได้เลยครับ


เว็บไซต์จังหวัดพิจิตร
http://phichit.ect.go.th

.......

สอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่กระดานสนทนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=1


:b8:

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2008, 09:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลวงปู่จันทา ถาวโร
............................................................................



วัดป่าเขาน้อย
หมู่ 5 บ้านเนินหัวโล้
ต.วังทรายพูน อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร 66180


หลวงปู่จันทา ถาวโร อดีตประธานสงฆ์

เมื่อปี พ.ศ. 2528 หลวงปู่จันทา ถาวโร ได้มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่าเขาน้อย ต่อมา หลวงปู่จันทา ถาวโร กับ หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม ได้นำพาพระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาญาติโยม ช่วยกันพัฒนาสำนักสงฆ์จนสามารถสร้างเป็นวัดที่มีอาคารเสนาสนะมั่งคงและสร้างกำแพงล้อมรอบ ให้ความสะดวกแก่พระภิกษุ สามเณร และประชาชนที่มาปฏิบัติธรรม ทั้งนี้ วัดป่าเขาน้อย เป็นวัดปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

หลวงปู่จันทา ละสังขารแล้ว พระราชทานเพลิงฯ ๓๑ มี.ค.๕๕
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=41238

ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่จันทา ถาวโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=21128

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2008, 09:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระมหาเจดีย์รัตนแก้ว วัดใหม่ปลายห้วย
............................................................................



วัดใหม่ปลายห้วย
เลขที่ 108 หมู่ 11 ต.เนินปอ
อ.สามง่าม จ.พิจิตร 66140
โทรศัพท์ 056-601-333, 086-062-8446
โทรสาร 055-334-541


พระพิศาลญาณวงศ์ (หลวงปู่ทองดี อนีโฆ) ประธานสงฆ์

หลวงพ่ออุดร ฐานุตฺตโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ปลายห้วย


“หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” แห่งวัดใหม่ปลายห้วย ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร จัดได้ว่าเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ อีกรูปหนึ่ง เราจะได้รับฟังข้ออรรถข้อธรรมและคำสั่งสอนของท่านที่ฟังง่ายแต่ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับรสแห่งพระธรรมแล้ว เรายังได้มีโอกาสกราบนมัสการสิ่งศักดิ์ภายในวัดอีกหลายที่ เช่น หลวงปู่ใหญ่เทพโลกอุดรซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก (หน้าตัก 12 ศอก สูง 48 ศอก) หลวงปู่โต พรหมรังสี (หน้าตัก 9 ศอก สูง 14 ศอก) หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน เสาพระเจ้าอโศกมหาราช เป็นต้น

หลวงปู่ทองดี อนีโฆ มีนามเดิมว่า ทองดี เพชรวิจิตร เกิดเมื่อปีขาล เดือนอ้าย วันอาทิตย์ ณ บ้านวังกระทิง อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร โยมบิดาชื่อนายทวี เพชรวิจิตร โยมมารดาชื่อนางโน เพชรวิจิตร ปัจจุบันอายุ 45 ปี (เมื่อปี พ.ศ.2551) ท่านเล่าว่า ชีวิตเกิดมาตั้งแต่จำความได้ ท่านได้เห็นสัจธรรมของชีวิตว่า ชีวิตของคนเรานี้เกิดก็มีแต่ทุกข์ “มีผัวมีเมีย ก็ทุกข์ ตื่นเช้ามาก็ทะเลาะด่ากัน ชีวิตคู่นี้ไม่เห็นดีตรงไหนเลยมีแต่ทุกข์” คิดตรงนี้แล้วจึงไม่อยากมีคู่ชีวิต เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตทางโลก ตัดสินใจออกบวชเมื่อตอนอายุ 21 ปี ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ตามแนวคำสอนของพระพุทธองค์

ในช่วงแรกหลวงปู่ทองดีได้ไปอาศัยอยู่กับพระในป่า ชื่อ หลวงปู่สี อัมริตโต ซึ่งเป็นพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน หลวงปู่ทองดี เล่าว่า “ท่านก็สอนให้อาตมา พิจารณารูปนามของเรานี้ว่าอะไรมันเกิดขึ้นกับใจของเราบ้าง ให้มีสติรู้เท่าทันในอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเองทุกขณะจิต รู้ว่าจิตในปัจจุบันเป็นกุศลหรืออกุศล ให้มีสติเป็นตัวบอก เราจะได้รู้ความคิดของเราว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง จะได้ไม่เข้าข้างตัวเอง” และท่านก็ยังสอนให้อาตมารู้จักคำว่า ช่าง “ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ใครจะด่าอย่างไรก็ช่าง ใครจะนิยมอย่างไรก็ช่าง เพราะถ้าช่างได้แล้วเราก็มีความสุข”

อยู่กับหลวงปู่สี อัมริตโต ได้ 4-5 ปี จากนั้นหลวงปู่ทองดีก็ได้ธุดงค์ไปพบกับ หลวงปู่เรือง อาภัสสโร ไปอยู่ที่ถ้ำอรหันต์ ท่านก็สอนแนว “มหาสติปัฏฐานสี่” ให้ดู กาย เวทนา จิต ธรรม ท่านเคยสอนว่า “เวลาหลับทำให้เหมือนตื่น เวลาตื่นทำให้เหมือนหลับ คือไม่ต้องรับอะไร สิ่งที่เรารับขอให้รู้อย่างเดียว” รู้จัก พ. พานไหม ? คำว่าพอ ไม่ใช่แปลว่าหยุด คำว่า “พอ” ในที่นี้อุปมาไปว่าเราขายของได้ 500 เราก็ต้องพอใจว่าเราได้ 500 อย่าไปคิดว่าอยากได้ 1,000 พอได้ 500 แล้วเสียใจ ถามว่าใครทุกข์ เราก็ทุกข์เอง เราจึงต้องพอใจในสิ่งที่เราเป็นอยู่ มีอยู่ ได้อยู่ ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น คนเราส่วนมากชอบเป็นทุกข์ ไม่ชอบเห็นทุกข์ เลยต้องทุกข์ไม่มีวันสิ้นสุด ฉะนั้นเกิดเป็นคนก็ขอให้มีสติ เมื่อมีสติก็สามารถจะผ่านอุปสรรค ผ่านการทำงานในสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้

คนที่เข้าวัดเข้าวากันบ่อยๆ มักจะถูกคนเอาไปนินทาว่า ไปต่างๆ นานาว่า เป็นคนมีแต่ทุกข์ หรือชอบขวางโลกบ้าง หลงงมงายเป็นคนบ้าบ้าง เราพึงพิจารณาว่า “เราอยากเป็นคนบ้า หรือเป็นคนน่าสงสาร” คนพวกหนึ่งชอบมาวัดมาวามารักษาศีล มาสวดมนต์เจริญภาวนา กับอีกพวกหนึ่งชอบยิงนกตกปลา เที่ยวเตร่ ทำบาปทำกรรม ประกอบแต่สิ่งที่เป็นอบายมุข เป็นพวกทุศีล พวกนี้มองพวกมาวัดมาวา มาปฏิบัติว่า พวกบ้าพวกงมงาย ฝ่ายพวกมาวัดจะมองพวกทุศีลว่า ทำแต่อกุศลกรรม ทำชั่ว โถ ! ชีวิตน่าสงสาร เกิดมาเป็นคนทั้งชีวิต ช่างน่าสงสาร แล้วพวกเราล่ะอยากเป็นคนบ้าหรือคนน่าสงสาร

คนเราบางครั้งมักสนุกสนานไปกับชีวิต หรือเป็นทุกข์ไปกับชีวิต แต่ไม่พิจารณาว่าที่ผ่านมานั้นชีวิตดำเนินมาอย่างไร และจะดำเนินต่อไปอย่างไร เมื่อถึงตอนที่ยังไม่สายเกินไป เราจะลองเริ่มพิจารณาในรายละเอียดของชีวิตและการดำเนินชีวิตว่า คุณค่าของการดำเนินชีวิตอยู่ที่ใด สิ่งที่ทำอยู่นั้นเอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิตในอนาคตหรือไม่ เมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว จะมีอะไรติดตัวเป็นเสบียงไป “เรือออกจากท่าแล้ว เพิ่งจะไปตัดถ่อ” มันจะทันได้อย่างไร พวกเราทั้งหลายมีชีวิตอยู่ตอนนี้ ไม่คิดจะสร้างดี สร้างบุญ สร้างกุศลเข้าใส่ตัว สร้างแต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่มีประโยชน์ พอใกล้จะตายเพิ่งจะมาคิดได้ เพิ่งจะมาภาวนา “พุทโธ พุทโธ” มันสายไปแล้ว ตัดถ่อเอาไว้ก่อนเถอะพวกเรา เรือออกจากท่าแล้วจะได้ไม่ลำบาก

เรื่องของโลกทั้งหลายนั้นมีแต่เรื่องยุ่ง ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขไม่ได้ และโดยเฉพาะเรื่องของคนอื่นยิ่งแก้ไม่ได้ แต่เรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ไหน มาจบที่ตัวเรา ไล่ดูตัวเราเอง และแก้ที่ตัวเราเอง ตนเตือนตนด้วยตนเอง “โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม”

หลวงปู่ทองดี เป็นทั้งพระนักปฏิบัติและพระนักพัฒนา ท่านได้มีจิตเมตตาช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ในจังหวัดพิจิตรอย่างมากมาย เช่น สร้างศาสนสถานในวัดต่างๆ ที่ขาดแคลนในจังหวัดพิจิตร อุปถัมภ์และส่งเสริมการอบรมปฏิบัติธรรมให้แก่พระสงฆ์และประชาชน และไม่เพียงแต่ทำนุบำรุงพระศาสนาเท่านั้น ท่านยังได้ช่วยเหลือสาธารณชนในด้านต่างๆ เช่น ซ่อมแซมสถานที่สาธารณประโยชน์ต่างๆ สร้างโรงเรียน ห้องสมุด ช่วยเหลือขุดคลองผันน้ำให้ชาวนาที่ขาดแคลนน้ำ บัดนี้ หลวงพ่อได้มองเห็นปัญหา พระสงฆ์ไทยในชนบทโดยเฉพาะทางด้านภาคเหนือ 16 จังหวัด เวลาอาพาธจะเข้ารับการบำบัดรักษาที่โรงพยาบาลท้องถิ่น ในอำเภอหรือในจังหวัดของตนปะปน และแออัดกับคนไข้ คฤหัสถ์ซึ่งมีจำนวนมากอยู่แล้ว จนเตียงและห้องไม่เพียงพอ อันเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม

ในกรณีท่านป่วยหนัก ต้องเข้าไปบำบัดที่โรงพยาบาลสงฆ์ในกรุงเทพฯ ซึ่งมักจะมีปัญหาในเรื่องของที่พำนักก่อนที่จะเข้าโรงพยาบาล รวมถึงปัญหาค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ เช่น ค่าพาหนะ และภัตตาหาร เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องสร้าง “ตึกสงฆ์อาพาธ” ขึ้นในจังหวัดพิจิตร เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ในการดูแลบำบัดรักษาอาการของพระสงฆ์

โดยหลวงปู่ทองดีได้มีแนวคิดที่จะรับภาระช่วยเหลือพระสงฆ์อาพาธในพื้นที่ จึงได้ร่วมประชุมกับทางโรงพยาบาลพิจิตร เพื่อหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว และเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มาร่วมกันทำบุญครั้งใหญ่โดยการบริจาคต้นทุนก่อสร้างตึกสงฆ์อาพาธตามประสงค์ของหลวงพ่อ

ด้วยเหตุนี้ จึงขอเชิญชวนท่านสาธุชนทั้งหลายที่มีความเลื่อมใสศรัทธากับปฏิปทาของหลวงปู่ทองดี ได้ร่วมบุญกับหลวงพ่อในการสร้างตึกสงฆ์อาพาธนี้ และอีกประการหนึ่ง การสร้างตึกสงฆ์อาพาธ เพื่อพระสงฆ์ในชนบทของจังหวัดพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียงนั้น นับเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง และมีอานิสงส์ทำให้ผู้บำเพ็ญบุญ ปราศจากโรคภัย ไข้เจ็บ มีอายุมั่นขวัญยืน สมบูรณ์ด้วยพลานามัย มีความสุขกายสบายใจ

หมายเหตุ : เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2553 เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา คล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระอธิการทองดี อนีโฆ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ พระพิศาลญาณวงศ์

รูปภาพ
พระพิศาลญาณวงศ์ (หลวงปู่ทองดี อนีโฆ) ประธานสงฆ์

รูปภาพ
หลวงพ่ออุดร ฐานุตฺตโร เจ้าอาวาสวัดใหม่ปลายห้วย


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

แผนที่วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=4178

เว็บไซต์หลวงปู่ทองดี อนีโฆ
http://www.thongdeeaneeko.com/

เว็บไซต์วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.sawangburi.com/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2008, 09:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดทับคล้อ (สวนพระโพธิสัตว์)
หมู่ 1 ต.ทับคล้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร 66150
โทรศัพท์ 056-641-230


พระครูวิสุทธิภาวนาคุณ (หลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ) เจ้าอาวาส

วัดทับคล้อ เป็นวัดหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการปฏิบัติธรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการ
ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามแนวนโยบายของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ


รูปภาพ
หลวงพ่อพระมหาโกศล จนฺทวณฺโณ


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

เว็บไซต์วัดทับคล้อ
http://www.watthapklo.com/
http://www.watthapklo.com/th/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2008, 09:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระอุโบสถวัดท่าหลวง
............................................................................



วัดท่าหลวง (พระอารามหลวง)
สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดท่าหลวง
ศูนย์พัฒนาคุณธรรมวัดท่าหลวง
ถ.บุษบา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิจิตร 66000
โทรศัพท์ 056-615-395, 087-573-3888


พระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ) เจ้าอาวาส

วัดท่าหลวง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดพิจิตร แห่งที่ ๔ ตามมติที่ประชุมมหาเถรสมาคม และเป็นที่ตั้งของสำนักวิปัสสนากัมมัฏฐาน วัดท่าหลวง ซึ่งได้ดำเนินการสอนโดย พระมหาเจษฎ์ วิสุทฺธิรํสี พระวิปัสสนาจารย์ (ศิษย์สายพระธรรมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อทอง สิริมงฺคโล เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่)

นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่ตั้งของ ศูนย์พัฒนาคุณธรรมวัดท่าหลวง ที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในเชิงการอบรมตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้พระภิกษุ-สามเณร-เยาวชน-พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสอบรมศึกษา เล่าเรียน และปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอน และเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีของศาสนาสืบต่อไป นอกจากนี้แล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้มีจัดตั้ง สำนักวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นภายในวัดท่าหลวง เพื่อให้พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พ่อค้า ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาปฏิบัติธรรม ฝึกสมาธิ เจริญจิตภาวนา ตลอดจน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ทางวัดมีการจัดโครงการค่ายอบรมคุณธรรม จริยธรรม ชื่อ ค่ายพุทธบุตร เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เด็ก และเยาวชน เข้ามารับการอบรมคุณธรรม จริยธรรม

กิจกรรมการอบรม :
เป็นกิจกรรมที่ประยุกต์ความหลากหลายในการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ให้กับผู้เข้ารับการอบรม เนื้อหาของหลักสูตร ได้แก่ หลักธรรมคำสอน หลักศีลธรรม พระธรรมวินัย พุทธประวัติ โดยมีพระวิทยากร เป็นผู้ให้การอบรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางด้านศาสนา เช่น หลักธรรมคำสอน ศาสนพิธี เป็นต้น เพื่อให้ความรู้และชักจูงเยาวชนให้ห่างไกลยาเสพติด ฯลฯ ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ดังนี้

หลักสูตรที่ ๑ พระพุทธศาสนา ๑ วันในโรงเรียน
หลักสูตรที่ ๒ ระยะเวลา ๒ วัน ๑ คืน
หลักสูตรที่ ๓ ระยะเวลา ๓ วัน ๒ คืน
หลักสูตรที่ ๔ ระยะเวลา ๔ วัน ๓ คืน

นอกจากนี้ ทางวัดยังมี สวนสมุนไพร เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาให้ความรู้แก่พระสังฆาธิการ ประชาชนทั่วไป ได้เรียนรู้เรื่องสมุนไพร โดยร่วมมือกับหน่วยงานราชการต่างๆ รับนักเรียน นักศึกษา เด็ก และเยาวชน ที่มีปัญหาทางครอบครัวและติดยาเสพติด เข้ารับการอบรม และทำการบำบัดรักษาด้วยยาสมุนไพร จนถึงปัจจุบัน

วัดท่าหลวง มีเนื้อที่ทั้งหมด ๔๖ ไร่ แบ่งเป็น ๒ เขต คือ ๑. เขตพุทธาวาส เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ติดริมแม่น้ำน่าน ๒. เขตสังฆาวาส เป็นที่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณร

รูปภาพ
“หลวงพ่อเพชร” วัดท่าหลวง
............................................................................



วัดท่าหลวง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตะวันตก ถนนบุษบาใกล้ศาลากลางจังหวัดเก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สร้างขึ้นประมาณปีพุทธศักราช ๒๓๘๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ชื่อ “หลวงพ่อเพชร” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสนรุ่นแรก หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ในท่าขัดสมาธิเพชร สังฆาฎิสั้นเหนือพระอุระ มีพุทธลักษณะงดงามมาก มีขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๔๐ เมตร (๒ ศอกเศษ) สูง ๑.๖๐ เมตร (๓ ศอกเศษ) ที่ที่ประทับนั่งตั้งอยู่บนฐานมีรูปบัวคว่ำบัวหงายรองรับ สร้างในระหว่างปีพุทธศักราช ๑๖๖๐ ถึง ๑๘๘๐ สร้างมาแล้วประมาณ ๘๘๒ ปี เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพิจิตร

ด้วยกิตติศัพท์นานัปการ เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตรจะต้องไปนมัสการหลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากมีประชาชนที่นับถืออย่างมาก เมื่อใครมีเรื่องเดือดร้อน เช่น ของหายหรือมีความทุกข์ยาก ที่จะบนบานศาลกล่าวขออำนาจหลวงพ่อเพชรให้ช่วยปกป้องรักษา หรือปัดเป่าความทุกข์ยากให้หมดไป เดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชรก็จะช่วยทุกราย เมื่อผู้นั้นพ้นทุกข์ก็จะนำหัวหมู เป็ด ไก่ ขนม ไปถวายแด่หลวงพ่อเพชรที่พระอุโบสถ กลิ่นธูปและควันเทียนจะไม่ขาดระยะ ชาวพิจิตรทุกผู้ทุกนาม ต่างให้ความเคารพนับถืออย่างสูงต่อพระองค์หลวงพ่อเพชร ทั้งยังเป็นมิ่งขวัญศูนย์รวมใจของชาวพิจิตร พลังแห่งความนับถือพุทธานุภาพของหลวงพ่อเพชรจะไม่จางหายไปจากหัวใจของชาวพุทธ

รูปภาพ

ประวัติการสร้างหลวงพ่อเพชร ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชัดแน่นอน เพียงแต่มีตำนานเล่าขานกันสืบมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาลว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้เกิดขบถจอมทอง เมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ไปปราบปรามขบถจอมทอง เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักลี้พลที่เมืองพิจิตร ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับปฏิสันถารเป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร แต่ก่อนที่จะจากกันเจ้าเมืองพิจิตรได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ

หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาก็นึกถึงคำร้องของพระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร จึงอัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย โดยให้ประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก ได้ไปอัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ ณ วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ชาวพิจิตรเป็นอย่างมาก

รูปภาพ

จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชประสงค์จะหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม เพื่อนำไปไว้ที่วัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก จึงได้สั่งการให้ พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ในขณะนั้น แสวงหาพระพุทธรูปที่สวยงามตามพระราชประสงค์ เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) จึงออกตรวจดูพระพุทธรูปทั่วๆ ไปในเมืองพิจิตร ก็พบว่าองค์หลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามตามพระราชประสงค์ และเพื่อสะดวกในการขนย้าย จึงได้จ้างชาวณวนคนหนึ่งชื่ออาง ทำการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชร การทะลวงหุ่นดินนั้นก็เพื่อต้องการให้น้ำหนักเบา แล้วนำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่า มีปรำลากจูงด้วยเรือพาย และเมื่อมาถึงเมืองพิษณุโลกก็เทียบท่าอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่)

หลังจากนั้น พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ก็ได้ไปกราบเรียนเจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก ว่า ได้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาถึงเมืองพิษณุโลกแล้ว และกราบเรียนต่อไปว่า การนำหลวงพ่อเพชรมาครั้งนี้ชาวเมืองพิจิตรทุกคนมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก เพราะเสียดายในองค์หลวงพ่อเพชรในฐานะที่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่เดิม

เมื่อได้ทราบดังนั้น เจ้าพระศรีสุริยศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก จึงได้ตรวจดูพระพุทธรูป ก็เห็นว่ามีความงดงามจริงๆ ดังคำบอกเล่าของเจ้าเมืองพิจิตร แต่มีขนาดองค์ใหญ่โตเกินไป อีกประการหนึ่งก็เห็นว่าเป็นการทำลายจิตใจของชาวเมืองพิจิตร จึงได้สั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำกลับไปไว้ที่เมืองพิจิตรตามเดิม อย่างไรก็ตาม การอัญเชิญหลวงพ่อเพชรกลับมายังเมืองพิจิตรคราวนี้ ไม่ได้นำไปประดิษฐานไว้ที่อุโบสถวัดนครชุมเหมือนเดิม แต่นำมาไว้ที่วัดท่าหลวง โดยทำปรำคลุมไว้เป็นการชั่วคราว

รูปภาพ

เมื่อประชาชนรู้ข่าวการนำหลวงพ่อเพชรกลับมาที่เมืองพิจิตร ต่างก็พากันมาปิดทองนมัสการอยู่ที่วัดท่าหลวง จึงได้ปรึกษาหารือกันจะแห่แหนหลวงพ่อเพชรกลับไปวัดนครชุมอย่างเดิม ส่วนราษฎรทางเมืองใหม่เห็นว่าเมืองพิจิตรได้ย้ายมาตั้งใหม่แล้ว หลวงพ่อเพชรก็ควรจะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองใหม่ด้วย จึงไม่ยินยอมให้ชาวเมืองเก่านำกลับไปวัดนครชุม

เหตุการณ์ตอนนี้มีผู้เล่าขานว่า ขนาดเกิดการยื้อแย่งกัน และถึงขั้นการเตรียมอาวุธเข้าประหัตประหารกัน เดือดร้อนถึง พระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตรในขณะนั้น ต้องออกห้ามทัพ ด้วยเดชะบารมีขององค์หลวงพ่อเพชร ประกอบกับชาวเมืองพิจิตรเคารพนับถือท่านมาก ศึกครั้งนั้นจึงยุติลง และได้ชี้แจงว่า จะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลองเท่ากับขนาดองค์จริง เพื่อนำกลับไปให้ชาวเมืองเก่าแทนองค์หลวงพ่อเพชรองค์จริง ส่วนหลวงพ่อเพชรองค์จริงนั้นขอให้ประดิษฐานไว้ที่วัดท่าหลวงซึ่งท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ และถ้าชาวเมืองเก่าจะมานมัสการก็ไม่ไกลเกินไปนัก ชาวเมืองพิจิตรก็เชื่อฟังแต่โดยดีไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น องค์หลวงพ่อเพชรจึงประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าหลวงตราบเท่าทุกวันนี้

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่องค์หลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐาน ณ วัดท่าหลวง แห่งนี้นั้น มีคนเล่าสืบต่อกันมาว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธชินราชจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ พระองค์จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่มีลักษณะที่งดงามสมควรที่จะนำไปแทนพระพุทธชินราช จึงมีคำสั่งให้เจ้าเมืองพิจิตรนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก

รูปภาพ

ข่าวการที่ทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อเพชรไปกรุงเทพมหานคร ได้ล่วงรู้ไปถึงประชาชน ชาวเมืองพิจิตรต่างพากันเสียดายและหวงแหนองค์หลวงพ่อเพชรเป็นอันมาก จึงได้คบคิดกับนายอาง ซึ่งเป็นชาวญวน มีหน้าที่จัดการทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้น้ำหนักเบาสะดวกในการขนย้าย เมื่อจัดการทะลวงหุ่นดินออกแล้วก็ช่วยกันย้ายองค์หลวงพ่อเพชรไปซ่อนไว้ในป่า และเคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ มิได้หยุดหย่อน แต่ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรเคลื่อนย้าย หาได้พ้นการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองแต่อย่างใด ผลที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับให้นำองค์หลวงพ่อเพชรมาจากเมืองเก่า และได้นำมาพักไว้ชั่วคราวที่วัดท่าหลวง เพื่อรอการนำไปยังเมืองพิษณุโลก

ชาวเมืองพิษณุโลกก็เช่นเดียวกันกับชาวเมืองพิจิตร เมื่อทางราชการจะนำองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไปจากพวกเขา ต่างก็พากันหวงแหนโศกเศร้าเสียใจ ร้องให้กันทั่งเมือง เป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ท่านเจ้าคุณสมุหเทศาภิบาล จึงได้นำความเรื่องนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ระงับการนำพระพุทธชินราชไปกรุงเทพมหานคร โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองไว้ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แทน เมื่อองค์หลวงพ่อพระพุทธชินราชไม่ได้เคลื่อนย้ายไปกรุงเทพฯ องค์หลวงพ่อเพชรจึงได้ประดิษฐานอยู่ ณ วัดท่าหลวง จ.พิจิตร ตราบจนกระทั่งปัจจุบันนี้


พระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ)

รูปภาพ
พระมหาเจษฎ์ วิสุทฺธิรํสี พระวิปัสสนาจารย์


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระราชวิจิตรโมลี นาบุญเมืองพิจิตร
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9801

หลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง จ.พิจิตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19301

เว็บไซต์ศูนย์พัฒนาคุณธรรมวัดท่าหลวง
http://student.nu.ac.th/bunlard/

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร