วันเวลาปัจจุบัน 09 ก.ย. 2024, 23:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=22



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 15:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
ทรงฉายเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม พระชนมายุได้ ๒๗ พรรษา



การศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย

ทรงริเริ่มให้ภิกษุสามเณรที่บวชใหม่เล่าเรียนพระธรรมวินัยในภาษาไทย
เพื่อให้รู้จักพระพุทธศาสนาทั้งส่วนที่เป็นธรรมและวินัยในขั้นพื้นฐาน
ในชั่วระยะเวลาอันสั้น โดยพระองค์ได้ทรงสอนด้วยพระองค์เอง
มีการสอบความรู้ของภิกษุสามเณรที่เรียนด้วยวิธีสอบแบบใหม่คือวิธีเขียน

ต่อมาได้มีภิกษุสามเณร ไม่เฉพาะแต่พระใหม่เท่านั้น
ที่นิยมเล่าเรียนพระธรรมวินัยแบบใหม่ที่พระองค์ทรงจัดขึ้นนี้
และนิยมแพร่หลายออกไปถึงวัดอื่นๆ ด้วย

เมื่อทรงเห็นว่าเป็นการเล่าเรียนที่มีประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรทั่วไป
จึงได้ทรงกำหนดให้เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับคณะสงฆ์ในเวลาต่อมา
ที่เรียกว่า “นักธรรม” ซึ่งเป็นหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ของคณะสงฆ์สืบมาจนปัจจุบัน เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย
คู่กับการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาบาลีที่มีมาแต่โบราณ

ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย

สำหรับเป็นสถานศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร
เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่
คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นๆ
ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา
และสอบด้วยวิธีเขียนซึ่งทรงริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก

ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นเปรียญเช่นเดียวกับผู้สอบไล่ได้ในสนามหลวงตามแบบเดิมเหมือนกัน
เรียกว่า “เปรียญมหามกุฏ”
แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรพระปริยัติธรรมแบบมหามกุฏดังกล่าวนี้
ได้ดำเนินการอยู่เพียง ๘ ปีก็เลิกไป เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ไม่ทรงมีเวลาจะดูแลจัดการเนื่องจากทรงมีพระภารกิจอื่นในคณะสงฆ์มาก

หลักสูตรของเดิม

การศึกษาด้านพระปริยัติ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย
ฝ่ายไทย ๙ ชั้น
ฝ่ายรามัญ ๔ ชั้น

ฝ่ายไทย

ชั้นที่ ๑ เรียน อรรถกถาธรรมบท
ชั้นที่ ๒ เรียน อรรถกถาธรรมบถ
ชั้นที่ ๓ เรียน อรรกถาธรรมบท (ตั้งแต่ชั้นนี้ไป นับเป็นเปรียญ)
ชั้นที่ ๔ เรียน มังคลัตถทีปนี บั้นต้น
ชั้นที่ ๕ เรียน สารัตถะสังคะหะ
ชั้นที่ ๖ เรียน มังคลถทีปนี บั้นปลาย
ชั้นที่ ๗ เรียน เรียน ปฐมสมันตปาสาทิกา
ชั้นที่ ๘ เรียน วิสุทธิมรรค
ชั้นที่ ๙ เรียน สารัตถะทีปนี ฎีกาพระวินัย

ฝ่ายรามัญ

ชั้นที่ ๑ เรียน บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ (ปาจิตตีย์)
ชั้นที่ ๒ เรียน บาลีพระวินัยมหาวัคค์ และจุลวัคค์
ชั้นที่ ๓ เรียน บาลี มุคคกวินัยวินิจฉัย
ชั้นที่ ๔ เรียน ปมสมันตปาสาทิกา

การสอบ ๓ ปี สอบครั้งหนึ่ง
หากทางราชการมีเหตุขัดข้อง
ก็เลื่อนไปเป็น ๖ ปี สอบครั้งหนึ่ง

หลักสูตรมหามกุฏราชวิทยาลัย

ชั้นนักเรียนที่ ๓ เรียน บาลีไวยากรณ์
ชั้นนักเรียนที่ ๒ เรียน อรรถกถาธรรมบท บั้นต้น ท้องนิทาน
ชั้นนักเรียนที่ ๑ เรียน แก้คาถาอรรถกถาธรรมบท บั้นปลาย
ชั้นเปรียญที่ ๓ เรียน แก้คาถาอรรถกถาธรรมบท บั้นต้น
(เปรียญตรี)
ชั้นเปรียญที่ ๒ เรียน บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ ภิกขุนีวิภังค์ และพระสูตรบางสูตร
(เปรียญโท)
ชั้นเปรียญที่ ๑ เรียน บาลีพระวินัยมหาวัคค์ และจุลวัคค์ และอภิธรรม
(เปรียญเอก)

การสอบ สอบทุกปี แลผลของการสอบครั้งแรกใน ปี ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)
นั้นก็ปรากฏว่าได้ผลดี คือมีนักเรียนสอบได้เกินกว่าครึ่ง
ดังที่ปรากฏตามกรายงานการสอบครั้งแรกดังนี้

ชั้นนักเรียนที่ ๓ สอบ ๒๙ สอบได้ ๑๕ ตก ๑๔
ชั้นนักเรียนที่ ๒ สอบ ๑๐ สอบได้ ๖ ตก ๔
ชั้นนักเรียนที่ ๑ สอบ ๔ ได้ ๑ ตก ๓


รูปภาพ
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๓๕ พรรษา


ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรนั้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทย
ของมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นตามวัดธรรมยุต เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของกุลบุตร
โดยใช้หลักสูตรที่พระองค์ทรงจัดขึ้นใหม่เรียกว่า “หลักสูตรมหามกุฏ”
เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดมกุฏ เป็นต้น

การจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวนี้ขึ้นก็ด้วยทรงมีพระดำริว่าเพื่อเป็นการช่วยรัฐบาล
พระองค์ทรงพยายามพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏให้เป็นโรงเรียน
“เชลยศักดิ์” คือโรงเรียนราษฎร์แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐบาล
หรือเอกชนอื่นๆ ทำตาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะขาดเงินทุนที่จะดำเนินการ
ให้เป็นไปตามพระดำริ ในที่สุดก็ต้องทรงมอบโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏฯ
ให้กระทรวงธรรมการ คือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน
เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

รูปภาพ
เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๓๘ พรรษา พ.ศ. ๒๔๔๐


ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย

เนื่องจากทรงจัดการศึกษาในมหามกุฏราชวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว
จำเป็นต้องใช้หนังสือและตำราเรียนเป็นจำนวนมาก
จึงได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นเพื่อจัดพิมพ์หนังสือและตำรับตำราต่างๆ
ให้เพียงพอแก่การใช้ศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร
เรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย”
โดยทรงใช้ แท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระไตรปิฎก
เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ และโรงพิมพ์ก็ตั้งที่โรงพิมพ์หลังเดิม
ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น
เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่และทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร
(คือตรงที่สร้างพระตำหนักเพ็ชรในบัดนี้)

แต่โรงพิมพ์ที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นดังกล่าวนี้ดำเนินกิจการอยู่เพียง ๘ ปี
ก็ต้องเลิกไปเพราะค่าโสหุ้ยสูงจนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้
ต้องทรงกลับไปใช้วิธีจ้างโรงพิมพ์อื่นซึ่งเสียค่าโสหุ้ยน้อยกว่า

รูปภาพ
รูปภาพ

ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ

หลังจากทรงจัดตั้งสถานศึกษาคือมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ ๑ ปี
ก็ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ เป็นนิตยสารรายเดือน
สำหรับตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
ทั้งที่เป็นคำสั่งสอนและข่าวสารต่างๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชน
รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับกิจการมหามกุฏราชวิทยาลัยด้วย

ที่สำคัญคือเพื่อเป็นสนามให้ภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ได้ฝึกแปล แต่ง เขียน เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแล้วตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน
ธรรมจักษุจึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทย
และมีอายุเก่าแก่ที่สุดนับจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 15:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส พระชนมายุได้ราว ๔๐ พรรษา



ทรงอำนวยการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร

พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงมีพระราชดำริจะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ไปยังประชาชนทั่วพระราชอาณาจักร
เพราะทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง
จึงทรงอาราธนาสมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น กรมหมื่น
ให้ทรงอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าวัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล
การใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษาเป็นทางเดียวที่จะขยายได้เร็วและทั่วถึง
เพราะวัดมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในพระราชอาณาจักร
ทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการสร้างโรงเรียนด้วย
เพราะอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่แล้วนั่นเองเป็นโรงเรียน

รูปภาพ
ทรงฉายร่วมกับพระเถรานุเถระ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ราว ๔๐ พรรษา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50205


สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือกพระเถระผู้มีความสามารถ
ทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายรวม ๑๓ รูป เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ
แล้วส่งออกไปดำเนินการจัดการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนั้นๆ
ทั่วพระราชอาณาจักร โดยมีฝ่ายบ้านเมือง คือ กระทรวงมหาดไทย
เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ

พระองค์ทรงรับหน้าที่อำนวยการในการจัดการศึกษาหัวเมืองอยู่ ๕ ปี
ก็ทรงสามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คือ การศึกษาขั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ
เมื่อทรงวางรากฐานการศึกษาในหัวเมืองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว
และมีความมั่งคงพอสมควรแล้ว
ก็ทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงธรรมการดำเนินการต่อไป

จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศไทย
โดยมีวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน มีมหามกุฎราชวิทยาลัยเป็นต้นแบบ
ในด้านหลักสูตรและการฝึกหัดครูสำหรับออกไปสอนในโรงเรียนนั้นๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 15:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ทรงเป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ของไทย

ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ อาจกล่าวได้ว่า
เป็นยุคที่พระสงฆ์มีบทบาททางการศึกษาของชาติมากที่สุด
และผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นเป็นผู้นำทางการศึกษาอยู่ในขณะนั้น
ก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
เริ่มแต่ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย
สำหรับเป็นสถานศึกษาวิทยาการทั้งทางคดีโลกและคดีธรรม
สำหรับภิกษุสามเณรและกุลบุตร ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

และจากความสำเร็จในการจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตัดสินพระราชฤทัย
มอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ทรงรับภาระอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วราชอาณาจักรเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๑
ซึ่งเป็นการมอบหมายภาระในการวางรากฐานการศึกษาขั้นประถมศึกษาของชาติ
ให้พระองค์ทรงดำเนินการ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ได้ทรงจัดการศึกษาขั้นประถมศึกษา
อันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติได้เป็นผลสำเร็จภายในเวลา ๕ ปี
แม้ว่าจะเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง
แต่ก็กล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดการศึกษาขั้นประถมศึกษาของไทย

รูปภาพ
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประดิษฐาน ณ ตึกมนุษยนาคมานพวิทยาทาน วัดบวรนิเวศวิหาร



นอกจากจะทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้ว
ยังทรงพระดำริที่จะพัฒนาการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
โดยทรงพระดำริที่จะพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ที่วัดบวรนิเวศวิหารให้เป็นโรงเรียนราษฎร์แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นตัวอย่าง
เป็นการช่วยรัฐบาล แต่พระดำรินี้ไม่สามารถดำเนินไปได้ตลอด
เพราะขาดงบประมาณดำเนินการเพราะขาดงบประมาณดำเนินการ

ในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ที่เรียกว่า การศึกษาปริยัติธรรมนั้น
ก็ทรงมีแนวพระดำริว่าภิกษุสามเณร
ควรจะมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมเพราะ

“รู้ทางโลกก็เป็นสำคัญอุดหนุนรู้ทางธรรมให้มั่นให้กว้าง
พระศาสดาของเราก็ได้ความรู้ทางโลกเป็นกำลังช่วย
จึงประกาศพระพุทธศาสนาด้วยดี”


การที่ทรงจัดตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยขึ้นในครั้งนั้น
ก็เพื่อจัดการศึกษาแก่ภิกษุสามเณรในแนวนี้ ซึ้งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ การจัดการศึกษาแบบใหม่ของมหามกุฎราชวิทยาลัยนั้น

“ก็เพื่อจะลองหาทางแก้ไขการเรียนพระปริยัติธรรมให้ดีขึ้น
คือ ให้ผู้เรียนรู้ได้เร็วไม่เปลืองเวลา ไม่พักลำบาก รู้ได้ดี”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 15:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
อาคารมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (หลังเก่า)


ประวัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปฏิบัติภารกิจด้านการผลิตบัณฑิต
งานวิจัย งานบริการวิชาการแก่ชุมชน
และงานทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย
โดยเมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้น
ในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหารพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย”

โดยมีพระราชประสงค์เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร
ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๓๙
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย
พระองค์ทรงรับมหามกุฏราชวิทยาลัยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์
และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์บำรุงประจำปี
อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าวแล้วนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
จึงทรงตั้งวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้น ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
๒. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ
๓. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้เปิดดำเนินการแล้ว
ปรากฏว่าพระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา
เพื่อจะให้พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขึ้น

ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๘
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ในฐานะที่ทรงเป็นนายกกรรมการ มหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยพระเถระนุเถระ
จึงได้ทรงประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น
โดยอาศัยนามว่า สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย โดยมีจุดมุ่งหมายดังนี้

๑. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
๒. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศ
๓. เพื่อให้เป็นสถานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ
๔. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน
๕. เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการค้นคว้า
โต้ตอบ หรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ
๖. เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา
และเป็นศาสนทายาทที่เหมาะแก่กาลสมัย
๗. เพื่อความเจริญก้าวหน้า และคงอยู่ตลอดกาลนานของพระพุทธศาสนา

ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า
“กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย”
สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ได้เริ่มเปิดให้การอบรมศึกษาแก่ภิกษุสามเณร
ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบัน

เหตุผลที่ทำให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ทรงพระดำริจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ นั้น
ปรากฏในรายงานประจำปีของมหามกุฏราชวิทยาลัย ว่า

พระเถรานุเถระทั้งหลาย มีความประสงค์ในการจัดตั้งวิทยาลัย
เป็นที่ฝึกสอนพระปริยัติธรรมแลอักขร
สมัยของภิกษุสามเณรแลศิษย์วัดนั้น
ด้วยเห็นว่าธรรมเนียมในประเทศนี้
วัดทั้งหลายเป็นโรงเรียนที่ศึกษาวิชาความรู้ของราษฎรพลเมือง
ตั้งต้นแต่เรียนอักขระฝึกกิริยามารยาท
ตลอดจนถึงเรียนพระปริยัติธรรม

บรรดาราษฎรมีบุตรหลานก็นำเข้ามาฝากเป็นศิษย์วัด
ให้เรียนวิชาความรู้ จนถึงเติบใหญ่อุปสมบทเป็นภิกษุ
บางพวกก็ได้อยู่ไปจนเป็นคณาจารย์ปกครองกันต่อๆ ไป
บางพวกอยู่สมควรแก่ศรัทธาแล้ว
ก็ลาสิกขาสึกไปประกอบการหาเลี้ยงชีพของตนในทางฆราวาส
มีธรรมเนียมเป็นพื้นเมืองมาดังนี้

วิธีการปกครองของวัดนั้น ไม่ได้จัดเป็นชั้นตามสถานที่ว่า
สถานที่นั้นสอนชั้นสูง สถานที่นั้นสอนชั้นต่ำ
ดูท่วงทีเหมือนในวัดหนึ่งจะมีทั้งชั้นสูงชั้นต่ำ

คือราษฎรนำบุตรหลานเข้ามาฝากภิกษุสามเณร
ให้เรียนอักขระแลฝึกกริยามารยาทเป็นต้น
การฝึกสอนชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นต่ำ การฝึกสอนภิกษุสามเณรให้เล่าเรียนมคธภาษาก็ดี
ให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็ดี การศึกษาชั้นนี้จัดว่าเป็นชั้นสูง
แต่การหาดำเนินไปโดยเรียบร้อยดังวิธีที่จัดไม่
เพราะข้อขัดขวางดังต่อไปนี้

ราษฎรผู้จะนำบุตรหลานมาฝากต่อภิกษุสามเณร
ในวัดนั้นๆ ก็ฝากในสำนักที่ตนรู้จักคุ้นเคย
ภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์นั้น บางรูปก็มีความรู้มาก บางรูปก็มีความรู้น้อย
ทั้งไม่มีหลักสูตรแห่งการเล่าเรียนว่าถึงไหนจัดเป็นใช้ได้
ความรู้ของศิษย์จึงไม่เสมอกัน
ตั้งแต่กรมศึกษาธิการจัดหลักสูตรสำหรับสอนความรู้ขึ้นแล้ว

การเล่าเรียนจึงมีกำหนด
แต่เพราะความรู้ของภิกษุสามเณรผู้เป็นอาจารย์ไม่เสมอกัน
ทั้งความนิยมของเด็กผู้เล่าเรียนก็ดี ของผู้ใหญ่ของเด็กก็ดี
เป็นแต่เพียงอ่านได้เขียนได้เท่านั้นก็พอประสงค์
ความรู้ของนักเรียนที่ออกจากวัดจึงยังจัดว่าถึงกำหนดแท้ไม่ได้

ส่วนการเล่าเรียนมคธภาษานั้นแต่เดิมไม่บังคับ แล้วแต่ใครสมัครจะเรียน
ในทุกวันนี้ความนิยมในการเล่าเรียนมคธภาษาน้อยลง
ด้วยผู้ที่มาบวชเป็นภิกษุสามเณรจะหาผู้ที่มีศรัทธาแท้เป็นอันยาก
ทั้งพื้นเดิมก็เป็นคนขัดสน
ต้องการแต่ความรู้ที่จะให้ผลเป็นเครื่องเลี้ยงชีพได้โดยประจักษ์ตา
ไม่ต้องการความรู้ที่เป็นอาภรณ์ของบุรุษ หรือความรู้ที่เป็นเครื่องเจริญผล
โดยเพิ่มสติปัญญาสามารถ แลวิธีฝึกสอนเด็กก็เป็นการเนิ่นช้า

หากจะมีผู้อุตสาหะเรียนบ้าง จะหาอาจารย์ผู้บอกให้รู้จริงเห็นจริงก็ได้ยาก
ทั้งผู้เรียนจะชำนาญในภาษาของตนมาก่อนก็ได้โดยยาก
หลักสูตรก็มากชั้น แลการสอบความรู้ก็ห่าง

ต่อล่วงหลายปีจึงสอบครั้งหนึ่ง ด้วยอาศัยเหตุเหล่านี้
จึงมีอาจารย์สอนให้รู้จริงเห็นจริงได้น้อยตัว
เรียนไม่ทันรู้ละทิ้งไปเสียก็มี บางทีเรียนรู้พอจะสอบความรู้ได้
อยู่ไม่ถึงกาลสอบก็มี เข้าสอบจนเป็นบาเรียนแล้วก็มี
แต่จะหาผู้สอบได้จนจบหลักสูตรได้น้อยถึงนับตัวถ้วน
เพราะหลักสูตรที่ตั้งไว้มากเกิน เมื่อความเล่าเรียนเสื่อมทรามไป

ผู้เป็นบาเรียนเพียง ๔ ประโยค ๕ ประโยค
ก็กว้างขวางมีผู้นับหน้าถือตาแสวงหาลาภผลเลี้ยงตัว พอตั้งตัวได้แล้ว
ก็ไม่คิดที่จะเป็นนักเรียนต่อไป บางรูปก็รับตำแหน่งพระราชาคณะปกครองหมู่คณะเสีย
ในระหว่างยังไม่ทันได้แปลจบหลักสูตร
อาศัยเหตุนี้ การเรียนมคธภาษาจึงไม่เจริญทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้

ส่วนการเรียนพระปริยัติธรรมนั้นเป็น ๒ ชั้น คือชั้นต่ำ ๑ ชั้นสูง ๑
การให้โอวาทสั่งสอน แลให้ศึกษาในตำรับภาษาไทยจัดเป็นชั้นต่ำ
สำหรับภิกษุสามเณรบวชใหม่ ตลอดไปจนถึงผู้ไม่ได้เรียนมคธภาษา

การอ่านการทรงภาษาบาลีไตรปิฎกจัดเป็นชั้นสูง สำหรับผู้รู้ภาษามคธ
การฝึกสอนชั้นต่ำไม่เจริญได้
เพราะผู้ที่เข้ามาบวชไม่ชำนาญในภาษาของตนทั่วทุกคน
ฟังคำสอนก็จำไม่ได้ อ่านหนังสือก็ไม่ค่อยเข้าใจ แลการฝึกสอนชั้นสูงไม่เจริญได้

โดยเหตุที่หลักสูตรสำหรับมคธภาษาเป็นอย่างหนึ่ง
พระปริยัติธรรมที่จำเป็นจะต้องรู้เป็นอย่างหนึ่ง
ผู้เล่าเรียนๆ มคธภาษาสอบความรู้ได้แล้ว
ยังต้องวกมาดูบาลีไตรปิฎกอีกเป็นสองซ้ำอยู่
จะหาผู้สมัครเรียนแต่ภาษามคธก็ได้โดยยากแล้ว
จะหาผู้รู้ภาษามคธแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป
ก็ต้องได้โดยยากเป็นธรรมดา

ถ้าจะคิดบำรุงวิทยาความรู้ให้สมควรกับประเพณี
ที่เป็นมาแต่เดิมแลให้เจริญทันเวลา
จำเป็นที่จะต้องคิดจัดการแก้ไขตามสมควรแก่เวลา

ในการศึกษาของศิษย์วัด จะต้องจัดให้เด็กมีที่เรียนได้ตลอดหลักสูตรของ
กรมศึกษาธิการทั่วทุกคน แลจะต้องฝึกฝนให้ประพฤติกิริยามารยาทให้เรียบร้อย

การเรียนมคธภาษาจะต้องจัดหลักสูตรให้น้อยชั้นลง
แต่ย่นความรู้ให้จุลงในชั้นนั้นๆ ให้เป็นคลองเดียวกัน
กับการเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงด้วย
ต้องบังคับบรรดาภิกษุสามเณรที่มีอายุควรแก่การเล่าเรียน
ให้เล่าเรียนถ้วนทั่วทุกรูป คิดแก้ไขวิธีสอนให้เรียนง่ายขึ้นให้รู้ได้จริง
ให้จบหลักสูตรได้ก่อนที่นักเรียนจะเป็นคนกว้างขวางจนตั้งตัวได้
จะต้องจัดการสอบความรู้ทุกปี
เปลี่ยนแปลงวิธีสอบให้เป็นไปโดยสะดวก
มีใช้เขียนแทนแปลด้วยปากเป็นต้น

การฝึกสอนพระปริยัติธรรมทั้งสองชั้น
เมื่อการฝึกสอนภาษาไทยแลมคธภาษาเจริญแล้ว ก็คงเจริญตามกัน
เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ
ให้ตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นไว้เป็นที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติกนิกาย
พระเถรานุเถระทั้งหลายได้ช่องอันดี จึงได้จัดการเปลี่ยนแปลง
วิธีเล่าเรียนในคณะตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ จนถึงบัดนี้


รูปภาพ

รูปภาพ
“กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก พ.ศ. ๒๔๓๖”
ทรงฉายร่วมกับพระเถระ
เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.ศ. ๑๑๖)


:b47: :b50: :b47: >>> แถวหน้า จากซ้าย :
• พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย)
วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระราชกวี

• หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร
(หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ธมฺมรโต)
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร


• สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ มนุสฺสนาโค)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เมื่อครั้งยังทรงเป็นที่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก

• สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
(หม่อมเจ้าภุชงค์ ชมพูนุท สิริวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังทรงเป็นที่ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต
[เสมอพระราชาคณะชั้นเทพ]

• พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก)
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระธรรมไตรโลกาจารย์

:b47: :b50: :b47: >>> แถวที่ ๒ จากซ้าย :
• พระราชเมธี (ท้วม กณฺณวโร)
วัดพิชยญาติการาม วรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์

• พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย วารโณ)
[เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ]*
วัดเสนาสนาราม ราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา
เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระธรรมราชานุวัตร
[พระราชาคณะผู้ใหญ่]**

• พระสมุทรมุนี (เนตร สงฺกนฺโต)
วัดเครือวัลย์ วรวิหาร


• พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระครูวิจิตรธรรมภาณี

:b47: :b50: :b47: >>> แถวที่ ๓ จากซ้าย :
• พระราชมุนี (ชม สุสมาจาโร)
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระครูปลัดจุลานุนายก

• พระธรรมราชานุวัตร (แสง พุทฺธทตฺโต)
วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา

เมื่อครั้งยังเป็นที่ พระอมราภิรักขิต

• สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
(หม่อมราชวงศ์ชื่น นภวงศ์ สุจิตฺโต)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)

เมื่อครั้งยังทรงเป็นที่ พระสุคุณคณาภรณ์
[พระราชาคณะชั้นสามัญ]

หมายเหตุ :
* พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เสมอเจ้าคณะอรัญวาสี (เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษ) ในราชทินนามเดิมที่ พระธรรมราชานุวัตร (ราชกิจจานุเบกษา, ตั้งตำแหน่งพระสงฆ์, เล่ม ๑๕, ตอน ๓๔, ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗, หน้า ๓๕๒) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/034/351.PDF

** พ.ศ. ๒๔๒๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระธรรมราชานุวัตร (ราชกิจจานุเบกษา, สำเนาสัญญาบัตรพระสงฆ์, เล่ม ๓, ตอน ๔๓, ๒๘ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๐๔, หน้า ๓๖๐) http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2429/043/360_1.PDF

:b45: :b45:

:b49: :b49: >>> เพิ่มเติม : พระสมุทรมุนี (เนตร สงฺกนฺโต) ธุดงค์ไปพุทธคยา

...ฉัน (สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ไปพุทธคยาครั้งนั้น (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ภายหลังสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปมฤคทายวัน ณ สารนาถ ได้ ๑๙ ปี) นึกคาดไปว่าจะได้เกียรติเป็นไทยคนแรกที่ได้ไปสืบพระศาสนาถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เหมือนเช่นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปสืบศาสนาถึงมฤคทายวัน ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศตั้งพระพุทธศาสนา แต่เมื่อไปถึงวัดพุทธคยาพอเข้าประตูวิหาร เห็นผ้ากราบพระปักตรางานหลวงในเมืองไทยผูกห้อยอยู่ผืนหนึ่งก็สิ้นกระหยิ่มใจ ด้วยมีพระภิกษุไทยองค์ใดองค์หนึ่งได้ไปถึงเสียก่อนแล้ว พิจารณาดูหนังสือไทยที่เขียนไว้กับผ้ากราบ บอกชื่อว่า “พระสังกันตเนตรได้มาบูชา” ฉันก็รู้จักตัว คือพระสมุห์เนตร วัดเครือวัลย์ฯ ภายหลังมาได้เป็นพระราชาคณะที่ พระสมุทรมุนี ซึ่งเป็นพระชอบเที่ยวธุดงค์มาแต่ยังหนุ่มจนขึ้นชื่อลือนาม แต่ฉันไม่ได้คาดว่าจะสามารถไปได้ถึงพุทธคยาในอินเดียในสมัยนั้น ก็ประหลาดใจ...

:b50: ข้อสังเกต : “พระสังกันตเนตร” มาจาก นามฉายา (สงฺกนฺโต, สังกันโต) + นามเดิม (เนตร)

:b8: ที่มา : หนังสือ นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นิทานที่ ๗ เรื่องสืบพระศาสนาในอินเดีย

https://vajirayana.org/%E0%B8%99%E0%B8% ... 5%E0%B8%A2


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 15:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร



ในการจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ได้ทรงวางวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ

๑. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุกติกนิกาย
๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยา ซึ่งเป็นของชาติภูมิและต่างประเทศแห่งกุลบุตร
๓. เพื่อเป็นสถานที่จัดการสั่งสอนพระพุทธศาสนา


และพระองค์ได้ทรงอธิบายขยายความของวัตถุประสงค์ทั้ง ๓ ประการไว้ดังนี้

๑. การเล่าเรียนของภิกษุสามเณรนั้นประเพณีเดิมเคยเรียนมูลปกรณ์ก่อน
แล้วจึงเรียนอรรถกถาธรรมบท มังคลัตถทีปนี สารัตถสังคหเป็นต้น
ถึงกำหนด ๓ ปี มีการสอบปริยัติธรรม ครั้งหนึ่ง บางคราวถ้าขัดข้องก็เลื่อนออกไป
ถึง ๖ ปีครั้งหนึ่ง หนังสือสำหรับสอบนั้นมี ๒ อย่าง
สำหรับฝ่ายไทยอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายรามัญอย่าง ๑

สำหรับฝ่ายไทยนั้นจัดเป็น ๙ ชั้น
อรรถกถาธรรมบทแบ่งเป็น ๓ ชั้น

คือ ชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ มังคลัตถทีปนีบั้นต้นชั้นที่ ๔
สารัตถสังคหชั้นที่ ๕ สารัตถทีปนีฏีกาพระวินัยชั้นที่ ๙
ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้ จับประโยคแล้ว
รับหนังสือตามประโยคมาดูเสร็จแล้ว
เข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะด้วยปาก ตามเวลาที่กำหนดให้
ถ้าแปลได้ตลอดประโยคในเวลาที่กำหนดไว้นั้น
จัดเป็นได้ ถ้าครบกำหนดเวลาแล้วยังแปลไม่ตลอดประโยค จัดเป็นตก

ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๓ ขึ้นไป จึงนับว่าเป็น “เปรียญ”
แม้สอบชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ได้แล้ว ถ้าตกชั้นที่ ๓ ก็นับว่าตก
ถึงคราวหน้าจะเข้าแปลใหม่ต้องแปลตั้งแต่ชั้นที่ ๑ ขึ้นไปอีก
ฝ่ายรามัญนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น บาลีมหาวิภังค์ คืออาทิกัณฑ์
หรือปาจิตตีย์อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก

เป็นชั้นที่ ๑ บาลีมหาวิภังค์หรือจุลลวัคค์
อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก
เป็นชั้นที่ ๒ บาลีมุตตกวินัยวินิจฉัย
เป็นชั้นที่ ๓ ปฐมสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัย
เป็นชั้นที่ ๔ แปลเป็นภาษารามัญ แต่ต้องบอกสัมพันธ์ด้วย


ถ้าแปลได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๒ ขึ้นไป จึงนับว่าเป็น “เปรียญ”
เปรียญเหล่านี้ถ้ายังไม่ได้แปลถึงชั้นที่สุด
หรือยังไม่ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ
แม้ถึงจะมีพรรษายุกาลมากก็ยังนับว่ามีหน้าที่จะต้องแปลชั้นสูงขึ้นไปอีก
ต่อเมื่อใดแปลถึงชั้นที่สุดแล้วก็ดี ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ
ในระหว่างนั้นก็ดี จึงนับว่าสิ้นเขตที่จะแปลหนังสืออีก

ภิกษุสามเณรผู้เริ่มเรียน กว่าจะเรียนจบมูลปกรณ์ก็ช้านาน
มักเป็นที่ระอาเบื่อหน่ายแล้วละทิ้งเสีย แม้ถึงเรียนตลอดบ้างก็ไม่เข้าใจตลอดไปได้
เพราะธรรมดาคนเรียนใหม่ ไม่อาจเข้าใจฉบับเรียนที่พิสดารให้ตลอดไปได้
จะกำหนดจำได้แต่เพียงพอแก่สติปัญญา
เหมือนเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ป้อนอาหารคำโตกว่าปากขึ้นไป
รับบริโภคได้พอประมาณปากของตน

ฉะนั้น ท่านผู้ชำนาญในวิธีสอนบางท่านจึงได้คิดแต่งวิธีสอนผู้เริ่มเรียนใหม่
เรียกชื่อว่าบทมาลา ย่อบ้าง พิสดารบ้าง ตามความประสงค์ของท่าน
สำหรับสอนแทนมูลปกรณ์ เพื่อจะให้เวลาเรียนเร็วขึ้น

ส่วนการเรียนนั้น สถานที่หนึ่งก็มีครูคนหนึ่งสอนนักเรียนทุกชั้นไม่ได้ปันเป็นแผนก
จึงหาครูที่มีความรู้พอจะสอนได้ตลอดเป็นอันยาก
ทั้งเป็นที่ลำบากของครูผู้สอนจะสอนนั้นด้วย
ส่วนกำหนดเวลาสอบความรู้ ๓ ปีครั้งหนึ่ง หรือ ๖ ปีครั้งหนึ่งนั้น
เป็นการนาน ผู้ที่เรียนมีความรู้พอจะสอบได้
แต่ยังไม่ถึงสมัยที่จะสอบ หรือผู้ที่สอบตกแล้ว
มักสิ้นหวังที่จะรอคอยคราวสอบครั้งหน้า

แลนักเรียนคนหนึ่งสอบคราวหนึ่งก็ได้ไม่กี่ชั้นนัก
จึงไม่ใคร่จะมีเปรียญประโยคสูง จะหาครูที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ
ได้ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้สอบชั้นสูงได้บ้าง
ก็คงต้องรับตำแหน่งยศพระราชาคณะเสียในระหว่างยังไม่ทันสอบชั้นสูง
ด้วยเหตุจำเป็น มีจะต้องเป็นเจ้าอาวาสเป็นต้น

เมื่อเป็นฉะนี้ ก็ไม่ค่อยมีนักเรียนที่สอบได้ถึงชั้นที่สุดตามแบบที่ตั้งไว้
ส่วนการแปลด้วยปากนั้น สอบวันหนึ่งไม่ได้กี่รูป
กว่าจะจบการสอบคราวหนึ่งถึง ๓ เดือน
เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกำหนดการสอบให้เร็วเข้ามาก็ไม่ได้อยู่เอง
แลเปรียญที่สอบความรู้ได้ถึงชั้นนั้นๆ แล้ว
ก็มีความรู้พออ่านหนังสือเข้าใจได้เท่านั้น
ผู้สอบยังทราบไม่ได้ว่าเป็นผู้ทรงธรรมวินัย
สมควรจะปกครองหมู่คณะแล้วหรือไม่
อาศัยเหตุผลที่กล่าวมานี้ การเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร
จึงนับว่าเจริญดีแล้วยังไม่ได้

เพื่อจะคิดแก้ไขให้การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษะสามเณร
เจริญดีขึ้นทันเวลาที่เป็นอยู่บัดนี้
วิทยาลัยจึงได้จัดวิธีสอนแลสอบความรู้ดังนี้ ในเบื้องต้น
ให้เรียนบาลีไวยากรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือชนิดเดียวกับบทมาลา แล้วจึงขึ้นคัมภีร์ต่อไป
แบบที่สำหรับสอบความรู้นั้น บาลีไวยากรณ์เป็นชั้นนักเรียนที่ ๓
อรรถกถาธรรมบท ความนิทาน เป็นชั้นนักเรียนที่ ๒
แก้กถาธรรมบทบั้นปลาย เป็นนักเรียนชั้นที่ ๑

แก้กถาธรรมบทบั้นต้น เป็นชั้นเปรียญที่ ๓
(ต่อไปถ้ามีกำลังจะพิมพ์มังคลัตถทีปนีได้ จะใช้เป็นแบบสำหรับสอบชั้นเปรียญที่ ๓)
พระบาลีพระวินัยมหาวัคค์และจุลลวังคค์ กับบาลีพระอภิธรรมบางเล่ม
เป็นชั้นเปรียญที่ ๑ กำหนดสอบไล่ทุกปี วิธีสอบไล่นั้นใช้เขียน
แต่ยอมให้ผิดได้ไม่เกินกำหนด ถ้าได้ชั้นไหนแล้วก็เป็นอันได้
วิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตให้สอบไล่ได้โดยวิธีที่จัดนี้ เป็นส่วนพิเศษ

๒. การที่ประชุมชนจะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจนมีอยู่ ๓ ทาง
คือ ด้วยได้ฟังธรรมเทศนา ด้วยได้สนทนาธรรม ด้วยได้อ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอน

การเทศนานั้นมีที่วัดตามกำหนดวันพระบ้าง มีที่โรงธรรมในที่นั้นๆ บ้าง
มีด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยบ้าง เทศที่จัดตามกำหนดวันพระนั้น
จะได้ฟังก็แค่คนที่เข้าวัดเท่านั้น
ส่วนเทศนาในโรงธรรมนั้นตั้งขึ้นที่ไหนก็มีแต่คนในจังหวัดนั้น
และมักจะเทศนาแต่เรื่องนิทานนิยายอะไรต่างๆ
ไม่เป็นทางที่จะให้เข้าใจในพระพุทธศาสนาดีขึ้น

การเทศนาด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยนั้นก็มักมีแบบไว้สำหรับพิธีนั้นๆ
ใครเคยฟังเรื่องใดก็ฟังเรื่องนั้นซ้ำๆ อยู่นั่น ไม่ค่อยจะได้ฟังเรื่องที่แปลกจากนั้น
ส่วนการสนทนาธรรมนั้น เป็นทางที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจน
เพราะผู้ฟังถามข้อที่ตัวไม่เข้าใจหรือสงสัยอยู่ได้
แต่จะหาผู้ที่เข้าใจในการสนทนานี้ยากยิ่งนัก

ส่วนการอ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอนนั้น
เป็นที่เข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟังเทศนา
เพราะอ่านเองมีเวลาที่จะกำหนดตรึกตรองได้ตามชอบใจ
และถ้าจำได้แล้วลืมเสียกลับดูอีกก็ได้
แต่หนังสือที่สำหรับจะอ่านเช่นนั้นยังไม่มีแพร่หลายพอที่ประชุมชนจะแสวงหาไว้อ่านได้
หนังสือที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่ได้แสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาให้สิ้นเชิง
เป็นแต่แสดงบางข้อความตามประสงค์ของผู้แต่งหนังสือนั้นๆ
ความยินดีในธรรมของคนก็ต่างกัน

บางคนยินดีในธรรมที่ลึกซึ้ง บางคนยินดีในธรรมที่ไม่ลึกซึ้ง
ถ้าถูกอัธยาศัยก็พอใจอ่าน ถ้าไม่ถูกอัธยาศัยก็ไม่พอใจอ่าน
หนังสือสำหรับสั่งสอนประชุมชน
ควรจะมีหลายอย่างตามอัธยาศัยของคนต่างๆ กัน


ในการที่จะแนะนำให้ประชุมชนเข้าใจในพระพุทธศาสนาชัดเจนดีนั้น
เป็นกิจที่วิทยาลัยควรจุด ๒ อย่าง คือ
มีธรรมเทศนาที่วัดตามกำหนดวันพระอย่างหนึ่ง
จัดพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนอย่างหนึ่ง

ส่วนการมีเทศนาตามกำหนดวันพระนั้น ได้เคยมีเป็นประเพณีของวัดมาแล้ว
ส่วนการพิมพ์หนังสือแสดงคำสอนนั้นวิทยาลัยจะจัดขึ้นตามกำลังที่จะจัดได้

๓. การฝึกสอนเด็กชาวเมืองนั้น วิทยาลัยจะจัดให้มีโรงเรียนสำหรับสอนหนังสือไทย
แลเลขแลฝึกกิริยาเด็กให้เรียบร้อย สอนให้รู้จักดีชั่วตามสมควร

ใน ๓ ข้อที่กล่าวแล้วนี้ การเล่าเรียนของภิกษุสามเณร วิทยาลัยได้จัดแล้ว
ส่วนอีก ๒ ข้อนั้นอาจจัดได้เมื่อใด ก็จะจัดเมื่อนั้นตามลำดับ

จากพระอธิบายข้างต้นนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า
การศึกษาของพระสงฆ์เท่าที่ผ่านมาไม่เจริญก้าวหน้า
เพราะสาเหตุหลายประการ กล่าวคือ

(๑) ตำราเรียนบางส่วนไม่เหมาะสม ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลาเรียนนานเกินจำเป็น
จนผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายเรียนไปไม่ค่อยตลอด
(๒) เนื่องจากตำราเรียนยากเกินความจำเป็น
แม้ผู้ที่เรียนผ่านไปได้ก็มักจะไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน
(๓) การเรียนไม่มีการจัดเป็นชั้นอย่างเป็นระบบ ครูคนเดียวสอนหมดทุกอย่าง
เป็นเหตุให้หาครูที่สอนได้อย่างสมบูรณ์ตามหลักสูตรยาก
(๔) การสอบไม่มีกำหนดที่แน่นอนและทิ้งระยะนานเกินไป
คือ ๓ ปีครั้งบ้าง ๖ ปีครั้งบ้าง
(๕) วิธีการสอบยังล้าหลัง คือสอบด้วยวิธีแปลด้วยปาก
ซึ่งการสอบแต่ละครั้งต้องใช้เวลามาก แต่สอบนักเรียนได้จำนวนน้อยคน

เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวนี้นั่นเอง
ที่ทำให้ผู้ที่ผ่านการสอบได้แล้วก็มั่นใจไม่ได้ว่าเป็นผู้รู้พระธรรมวินัยดี
เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจในสิ่งที่ตนเรียน
และเรื่องที่เรียนในชั้นนั้นๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นจะต้องรู้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้
หากกล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นปัญหาเกี่ยวกับวิธีสอนและวิธีสอบนั่นเอง

วิธีที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพระดำริขึ้น
เพื่อแก้ไขการศึกษาของภิกษุสามเณรให้เจริญทันกาลสมัย
ดังที่ได้จัดขึ้นในมหามกุฏราชวิทยาลัย

ก็คือในด้านการสอนนั้นจัดหลักสูตรให้มีน้อยชั้น
สามารถเรียนให้จบได้ในเวลาอันสั้น เรียนได้ง่ายขึ้น
แต่ได้ความรู้พอเพียงแก่ความต้องการ
ส่วนการสอบนั้น ให้มีการสอบทุกปีและสอบด้วยวิธีเขียน
กล่าวโดยสรุปก็คือจัดหลักสูตรให้เหมาะสม ใช้เวลาเรียนสั้น
เรียนง่ายได้ความรู้มาก และวัดผลได้แม่นยำ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2009, 15:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย


ข้อมูลพื้นฐานปัจจุบันของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ชื่อมหาวิทยาลัย

ภาษาไทย : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อักษรย่อ คือ มมร.
ภาษาอังกฤษ : Mahamakut Buddhist University อักษรย่อ คือ MBU

ศาสนสุภาษิตประจำมหาวิทยาลัย

วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏฺโฐ เทวมานุเส
ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐในหมู่เทพและมนุษย์

สีประจำมหาวิทยาลัย

สีส้ม หมายถึง สีประจำพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี อันเป็นวันพระราชสมภพ

ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ต้นโพธิ์ ต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คติพจน์ประจำตัวนักศึกษา

ระเบียบ สามัคคี บำเพ็ญประโยชน์

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย

พระมหามงกุฏ :
หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔
พระผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”

พระเกี้ยวประดิษฐานแบบหมอนรอง :
หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕
ซึ่งทรงเป็นผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย
และพระราชทานทรัพย์บำรุงปีละ ๖๐ ชั่ง

หนังสือ :
หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา
โดยที่มหามกุฏราชวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์และตำรา
ทางพระพุทธศาสนา สำหรับส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ปากกาปากไก่ ดินสอ และม้วนกระดาษ :
หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน ตลอดถึงอุปกรณ์ในการผลิตคัมภีร์
และตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ทำหน้าที่เป็นทั้งสถานศึกษาและแหล่งผลิตตำราทางพระพุทธศาสนา

ช่อดอกไม้แย้มกลีบ ในทางการศึกษา :
หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญาและวิทยาความรู้
แต่ในทางพระศาสนาหมายถึง กิตติศัพท์ กิตติคุณ
ที่ฟุ้งขจรไปดุจกลิ่นแห่งดอกไม้โดยมีความหมายรวม
คือความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศ อิสริยยศ บริวารยศ

พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ :
หมายถึง มหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อความมั่นคง
และแพร่หลายของพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่

วงรัศมี :
หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
ที่บังเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย

มหามกุฏราชวิทยาลัย :
หมายถึง สถาบันการศึกษาระดับปริญญาตรี, โท, เอก
ปัจจุบัน คือ “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย”

วัตถุประสงค์หลัก (Objectives)

(๑) ผลิตบัณฑิตพระภิกษุ สามเณร ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
ตามแนวพระพุทธศาสนาเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาในระดับชาติและนานาชาติ

(๒) ผลิตบัณฑิตคฤหัสถ์ทุกคน ให้เป็นคนดี คือ คิดดี พูดดี และทำดี
ตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา

(๓) บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคมให้เกิดผลสัมฤทธิ์
เป็นประจักษ์ชัดเจน ต่อสังคมไทยและสังคมโลก

(๔) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งทางสังคมศาสตร์
และมีคุณภาพทั้งด้านความรู้และความประพฤติ

(๕) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา
การเรียนรู้ และเป็นศูนย์กลางทางวิชาการพระพุทธศาสนาเถรวาท

(๖) ผลิตบัณฑิตเป็นผู้นำ เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งสมานฉันท์
ความเอื้ออาทรต่อกันและความสามัคคี โดยใช้หลักสาราณียธรรมและพรหมวิหารธรรม

(๗) สร้างระบบการบริหารองค์การให้เป็นองค์การที่มีลักษณะของความเป็น
มหาวิทยาลัยเฉพาะทางพระพุทธศาสนาและมีมาตรฐานระดับสากล

พันธกิจ (Mission Statements)

(๑) ผลิตบัณฑิตทางด้านพระพุทธศาสนาให้มีคุณสมบัติตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย
และกระจายโอกาสให้พระภิกษุสามเณร คฤหัสถ์ และผู้สนใจมีโอกาสศึกษามากขึ้น

(๒) ให้บริการวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนาแก่สังคม ชุมชน และท้องถิ่น
โดยเฉพาะวิชาการทางพระพุทธศาสนา เพื่อมุ่งเน้นการเผยแผ่พุทธธรรม
การแก้ปัญหาสังคม การนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดสันติสุข
การชี้นำสังคมในทางสร้างสรรค์ และการยุติข้อขัดแย้งด้วยหลักวิชาการพระพุทธศาสนา

(๓) วิจัยและพัฒนางานวิชาการเชิงลึกด้านพระพุทธศาสนา
เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางด้านวิชาการพระพุทธศาสนาใหม่ๆ
ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
และเผยแผ่องค์ความรู้ในระบบเครือข่ายการเรียนรู้ที่ทันสมัย

(๔) รวบรวมและจัดเก็บข้อมูลด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งค้นคว้า ทำนุบำรุงรักษาภูมิปัญญาไทยและท้องถิ่น
รวมทั้งสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม

ปณิธาน (Aspiration)

มุ่งเน้นให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผลิตบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ
ตามแนวพระพุทธศาสนา พัฒนากระบวนการดำรงชีวิตในสังคมด้วยศีลธรรม
ชี้นำและแก้ปัญหาสังคมด้วยหลักพุทธธรรมทั้งในระดับชาติและนานาชาติ



:b8: :b8: :b8: รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=21082
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13562

ประวัติ...วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร
วัดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในประเทศไทย

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19342

ประมวลพระรูป “สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50205

ครบ ๑๕๐ ปี สมเด็จฯ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=29908


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ย. 2011, 19:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ต.ค. 2009, 15:47
โพสต์: 417

แนวปฏิบัติ: ดูจิต
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
สิ่งที่ชื่นชอบ: วิปัสนา-กรรมฐาน เล่ม 1-2
ชื่อเล่น: นา
อายุ: 44
ที่อยู่: 140/19 ถ.อภัย อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
อย่าแก้ไขคนอื่น จงแก้ไขตัวเราเอง

....................................................

เจ้าเกิดมามีอะไรมาด้วยเล่า
เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
เจ้ามาเปล่าแล้วเจ้าจะเอาอะไร
เจ้าก็ไปตัวเปล่าเหมือนเจ้ามา

...................................................


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร