ในอดีตกาล
ณ กปิลนคร แคว้นปัญจาละ พระเจ้าพรหมทัตทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม
คราวหนึ่ง ทรงปลอมเป็นช่างหูก เสด็จไปพระองค์เดียว เที่ยวตรวจดูแว่นแคว้น
พบว่าประชาชนอยู่อย่างเป็นสุขโดยไม่ต้องปิดประตูเรือน
เลย ระหว่างเสด็จกลับพระนคร ทรงได้ธิดาของหญิงหม้ายยากจนคนหนึ่ง
เป็นชายา ทรงตั้งชื่อว่า อุพพรี ภายหลังทรงสถาปนาให้เป็นอัครมเหสี
ทรงเสวยสุขร่วมกับนางตลอดพระชนมชีพ ในที่สุดแห่งอายุก็เสด็จสวรรคต
หลังการถวายพระเพลิงพระศพ
พระนางอุพพรีผู้มีพระหทัยเพียบพร้อมไปด้วยความโศก เสด็จไปยังป่าช้า
บูชาด้วยของหอมและดอกไม้อยู่หลายวัน ระบุถึงพระคุณของพระราชา
คร่ำครวญรำพันราวกับคนเสียสติ
สมัยนั้น
ฤษีตนหนึ่งมีฌานและอภิญญา ทอดพระเนตรเห็นพระนาง อุพพรีด้วยทิพยจักษุ
หวังจะบรรเทาความโศกของพระนาง จึงเหาะไปป่าช้านั้น ถามพระนางว่า
พระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัต ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐
พระองค์แล้ว พระนางทรงกันแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ไหน
พระนางอุพพรีตรัสว่า
พระราชาพระองค์ใดเป็นพระราชโอรสของพระเจ้า จุฬนี ทรงเป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ
ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชาพระองค์นั้น ผู้เป็นพระราชสวามี
ทรงประทานสิ่งของที่น่าปรารถนาทุกอย่าง
พระดาบสกล่าวว่า
พระราชาทุกพระองค์ทรงพระนามว่า พรหมทัต ล้วนเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าจุฬนี
เป็นใหญ่ในแคว้นปัญจาละ พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทั้งหมด
โดยลำดับกันมา เพราะเหตุไร พระนางจึงเว้นพระราชาพระองค์ก่อนๆ
ทรงกันแสงถึงแต่พระราชาพระองค์หลัง
พระนางอุพพรีได้ฟังแล้วเกิดสลดพระทัย
จึงตรัสถามว่า ดิฉันเกิดเป็นแต่หญิงตลอดกาล หรือว่าเกิดเป็นชายบ้าง
ท่านพูดถึงแต่กาลที่ดิฉันเป็นหญิงในสังสารวัฏอันยาวนาน
พระดาบสตอบว่า
พระนางเกิดเป็นหญิงบ้าง เป็นชายบ้าง บางคราวก็เกิด เป็นสัตว์
ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีตย่อมไม่ปรากฏ
พระนางอุพพรีได้ฟังคำสอนว่าด้วยสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด
และความที่สัตว์ทั้งหลายต่างมีกรรมเป็นของตนเอง ก็สลดพระทัย
คลายความโศกลงได้ แล้วพระนางก็ออกบวชเป็นบรรพชิต เจริญเมตตาจิต
เมื่อสวรรคตก็เข้าถึงพรหมโลก
(อุพพรีเปติวัตถุ
๒๖/๑๑๐)
เรื่องนี้แสดงให้เห็นความทุกข์โศกของอีกชีวิตหนึ่ง
ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันหาที่สิ้นสุดมิได้ ขณะท่องเที่ยวอยู่ก็ได้พบบุคคลที่น่ารักน่าพอใจ
แล้วก็ต้องพรากจากกัน เหลือไว้แต่ความเศร้าโศก เป็นเช่นนี้เหมือนกันหมดทุกภพทุกชาติ
ควรที่จะเบื่อหน่าย ควรที่จะหาทางเพื่อความหลุดพ้น
เราเกิดมา เวียนวน ในสงสาร |
แสนช้านาน ยิ่งนัก ทุกข์หนักหนา |
จนกับมี ดีกับชั่ว พันพัวมา |
เหลือระอา ถ้าจะนับ อัประมาณ |