เมื่อพระศาสดาประทับอยู่
ณ พระวิหารเชตวัน พราหมณ์ชาวเมืองสาวัตถี ผู้หนึ่งหักร้างถางป่าเพื่อทำไร่
พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของเขา จึงเสด็จไปกระทำปฏิสันถารกับเขาบ่อยๆ
วันหนึ่งพราหมณ์กราบทูลว่า
วันนี้เป็นมงคลในการหว่านข้าวของ ข้าพระองค์ เมื่อข้าวกล้าสำเร็จแล้ว
ข้าพระองค์จักถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
พระศาสดาทรงรับด้วยดุษณีภาพ
รุ่งขึ้นพราหมณ์ยืนดูข้าวกล้าอยู่
พระศาสดาก็เสด็จมาทักทายพราหมณ์ แล้วเสด็จหลีกไป พราหมณ์คิดว่า
พระสมณโคดมมาเนืองๆ คงมีความต้องการ ภัตร (ข้าว) อย่างไม่ต้องสงสัย
ต่อมาเมื่อข้าวแก่แล้ว
พราหมณ์ตกลงใจจะเกี่ยวในวันรุ่งขึ้น ในคืนนั้นเอง ฝนตกตลอดคืน
ห้วงน้ำใหญ่ไหลมาพัดพาข้าวลงทะเลหมด พราหมณ์มองดูความย่อยยับแห่งข้าวแล้วเกิดความเสียใจอย่างแรง
ยกมือตีอกคร่ำครวญ ไปถึง เรือน แล้วลงนอนบ่นพร่ำ
ในเวลาใกล้รุ่ง
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นพราหมณ์ถูกความเสียใจครอบงำ ทรงดำริว่าเราต้องเป็นที่พึ่งของพราหมณ์
รุ่งขึ้น เสด็จไปบิณฑบาตในนครสาวัตถี เสวยเสร็จแล้วเสด็จไปโปรดพราหมณ์พร้อมด้วยสมณะติดตาม
พราหมณ์เห็นพระศาสดาเสด็จมาเยี่ยม ก็ค่อยได้ความโปร่งใจ
พระศาสดาประทับนั่งบนอาสนะที่จัดไว้
ตรัสถามว่า ดูก่อนพราหมณ์ เหตุไรจึงเศร้าหมองไปเล่า
พราหมณ์ตอบว่า
พระองค์ย่อมทราบการงานที่ข้าพระองค์กระทำ ข้าพระองค์เคยกราบทูลไว้ว่า
เมื่อข้าวกล้านี้สำเร็จ ข้าพระองค์จักถวายทานแด่พระองค์
บัดนี้ห้วงน้ำใหญ่พัดพาข้าวของข้าพระองค์ลงทะเลหมด ข้าวเปลือก
ประมาณ ๑๐๐ เกวียนเสียหายหมด เหตุนั้น ความโศกอย่างใหญ่หลวงจึงเกิดแก่ข้าพระองค์
พระศาสดาตรัสว่า
ดูก่อนพราหมณ์ ก็เมื่อท่านเศร้าโศกอยู่ สิ่งที่เสียหายไปแล้วจะกลับคืนมาได้หรือ
พราหมณ์กราบทูลว่า
ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้แน่นอนพระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า
เมื่อเป็นอย่างนี้ท่านเศร้าโศกเพราะเหตุไร ขึ้นชื่อว่าทรัพย์และข้าวเปลือก
ถึงคราวเกิดก็เกิด ถึงคราวเสียหายก็เสียหาย สิ่งที่มีการปรุงแต่ง
จะไม่มีความเสียหายนั้นไม่มีดอก ท่านอย่าคิดไปเลย
หลังจากปลอบเขาแล้ว
พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมอันเป็นที่สบายแก่เขา เมื่อจบพระธรรมเทศนา
พราหมณ์ได้เป็นโสดาบัน และคลายความโศกลง
(อรรถกถากามชาดก ทวาทสกนิบาต)
ในเรื่องทั้งสองนี้
พระราชาและพราหมณ์เศร้าโศกเสียใจ เพราะความเสื่อมแห่งทรัพย์เป็นเหตุ
ธรรมดาของทรัพย์สมบัติทั้งหลายนั้น ย่อมละทิ้งเจ้าของ
ไปเสียก่อนก็มี บางทีเจ้าของย่อมละทิ้งทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปก่อนก็มี
ทรัพย์สมบัติที่บริโภคใช้สอยกันอยู่เป็นของไม่แน่นอน
ดังนั้น จึงไม่ควรเศร้าโศกเมื่อเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ
ถึงจะเศร้าโศกก็ไม่อาจทำให้ทรัพย์สมบัติที่วิบัติไปกลับคืนมาได้
ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นของเรา
แม้แต่ตัวเราเอง ดังนั้น จะห่วงไปไยกับทรัพย์สมบัติที่เป็นของนอกกาย
ตายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ในโลกให้คนอื่นใช้สอยต่อไป
ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่ |
มีเพียงแต่ ต้นทุน บุญกุศล |
ทรัพย์สมบัติ ทิ้งไว้ ให้ปวงชน |
แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ |
เมื่อเจ้ามา มีอะไร มาด้วยเจ้า |
เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน |
เจ้ามามือเปล่า เจ้าจะ เอาอะไร |
เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา |
|
(จุฬาลงกรณ์
ปร.) |
สิ่งที่ตามทรัพย์สมบัติมานั้นไม่ใช่อื่นไกลเลย
มันคือความวิบัตินั่นเอง
ความมั่งมีไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้แน่นอน
จึงไม่ต่างอะไรกับดวงเทียนที่ถูกจุดไว้ ในที่แจ้ง ถึงแม้มีมากเล่มก็อาจพลันดับไปในไม่ช้า
คนเราเมื่อเกิดมาก็แต่ตัวเปล่า
มิได้มีผู้ใดนำเอาทรัพย์สินหรือเครื่องประดับ สักชิ้นติดตัวมาเลย
เมื่อยามจะตาย ทุกคนก็ต้องทิ้งสมบัติที่หามาด้วยความเหนื่อยยากไว้เบื้องหลัง
จะมีผู้ใดนำสมบัติแม้แต่ชิ้นเดียวติดตัวไปก็ไม่มี เมื่อทรัพย์สมบัติทั้งหลายมีภาวะความจริงเป็นอย่างนี้
บุคคลก็ไม่ควรยึดมั่นว่าเป็นของตนแต่ผู้เดียว เขาควรคิดอยู่เสมอว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของโลก ส่วนที่อยู่ในความครอบครองของเขา
เป็นเพียงการยืมมาใช้ชั่วคราวเท่านั้น