วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 20:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 14:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




Couple-Transparent.png
Couple-Transparent.png [ 387.23 KiB | เปิดดู 979 ครั้ง ]
ภาคหลักการ
ความสุข คืออะไร


เมื่อจะพัฒนาความสุข ก็มาดูความหมายของความสุขเสียก่อนว่า ความสุขมีความหมายว่าอย่างไร

ความสุข คือ การได้สนองความต้องการ หรือใช้ภาษาง่ายๆ ว่า คือ ความสมอยากสมปรารถนา

ขอทำความเข้าใจไว้ก่อนว่า นี่ยังไม่ใช่ความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ครอบคลุมในระดับพื้นฐานที่มีขอบเขตกว้างมาก เป็นความหมายที่สำคัญอย่างยิ่ง ความสุขที่คนทั่วๆ ไป รู้จัก ก็อยู่แค่ความหมายนี้

เราอยากอาบน้ำแล้ว ได้อาบน้ำ ก็มีความสุข อยากรับประทานอะไรแล้ว ได้รับประทาน ก็มีความสุข เด็กอยากเล่นแล้ว ได้เล่น ก็มีความสุข นี่ก็คือได้สนองความต้องการ หรือสนองความอยากความปรารถนานั่นเอง

ตรงนี้ ขอแทรกเรื่องปัญหาทางภาษา เวลานี้ คำว่า “ต้องการ” กับ “ปรารถนา” กับ “อยาก” บางทีก็ต้องระวังการใช้ เนื่องจากในทางวิชาการสมัยใหม่บางสาขา มีการใช้โดยแยกความหมายให้แตกต่างกัน โดยเฉพาะระหว่างความต้องการ กับความอยาก ให้มีความหมายเป็นคนละอย่าง

สำหรับในที่นี้ จะใช้คำว่าต้องการกับปรารถนาแบบปนกันไปเลย ไม่แยก ให้เหมือนกับว่ามีความหมายอย่างเดียวกัน ถ้าเทียบกับคำภาษาอังกฤษ ให้ถือว่าเท่ากับ desire ทั้งนั้น

เมื่อบอกว่า ความสุข คือการได้สนองความต้องการ หรือการได้สมอยากสมปรารถนา เรื่องก็เลยโยงไปหาคำว่า ต้องการ หรือปรารถนา ซึ่งต้องมาทำความเข้าใจกัน

ความต้องการ หรือความปรารถนานี้ เป็นเรื่องใหญ่มาก ขอยกพุทธพจน์มาตั้งเป็นหลัก พระองค์ตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา สพฺเพ ธมฺมา” แปลว่า ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล หมายความว่า เรื่องของมนุษย์ทุกสิ่งทุกอย่าง มีความต้องการเป็นมูล มีความอยากเป็นต้นทาง

เพราะฉะนั้น

๑. เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องความอยาก ความปรารถนา ความต้องการนี้ ให้ชัดเจน

๒. ในเมื่อความสุขเป็นการได้สนองความต้องการ หรือได้สนองความปรารถนา มันก็บ่งชี้ว่า การที่จะพัฒนาความสุขได้นั้น ก็ต้องพัฒนาความอยาก พัฒนาความปรารถนา หรือพัฒนาความต้องการด้วย มิฉะนั้น การพัฒนาความสุข ก็จะไม่สำเร็จ

เป็นอันว่า ความต้องการนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องพัฒนา

ก็จึงมาทำความเข้าใจเรื่องความต้องการ หรือความอยากกันต่อไป ขอให้ถือหลักความต้องการนี้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรไปหลบไปเลี่ยงที่จะศึกษามัน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 14:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




College-Student-PNG-Photos.png
College-Student-PNG-Photos.png [ 493.79 KiB | เปิดดู 979 ครั้ง ]
ความคลุมเครือพร่ามัวในหลักความอยากความต้องการนี้ ทำให้มองอะไรไม่ชัด พัฒนาไม่เดินหน้า แก้ปัญหาไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา จริยธรรม วิชาการ หรือกิจการอะไรก็ตาม ถ้าจับจุดนี้ไม่ได้ ก็เป็นอันว่าไปไม่ถึงไหน ไม่ถึงเนื้อตัวไม่ถึงสาระของเรื่องนั้นๆ

ความต้องการ คืออะไร และสำคัญอย่างไร

ศัพท์ธรรมสำหรับความอยากหรือความต้องการนี้ ค่อนข้างซับซ้อน ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเล็กน้อย

ขอยกพุทธพจน์มาดูกันอีกครั้งหนึ่ง คือที่ตรัสว่า “ฉนฺทมูลกา สพฺเพ ธมฺมา” (ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล หรือเป็นราก เป็นฐาน เป็นต้นตอ)

คำสำคัญคือ “ฉันทะ” แปลว่า ความต้องการ หรือความอยาก จะแปลว่าปรารถนา ที่เป็นคำบาลีว่า “ปตฺถนา” ก็ได้

ที่ว่าซับซ้อน ก็คือ เริ่มแรก “ฉันทะ” ความต้องการ หรือความอยากนี้ ในขั้นพื้นฐาน เป็นคำกลางๆ ใช้ใน ทางดีก็ได้ ในทางร้ายก็ได้ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ มีทั้ง กามฉันท์ เนกขัมมฉันท์ บริโภคฉันท์ ธรรมฉันท์ ฯลฯ

ในขั้นนี้ ท่านแยก “ฉันทะ” คือความต้องการนี้ ว่ามี ๒ อย่าง คือ

๑. ตัณหาฉันทะ แปลว่า ฉันทะคือตัณหา หรือฉันทะที่เป็นตัณหา (ฉันทะ คือความอยากได้ อยากเอา อยากเป็น อยากมี อยากมลาย)

๒. กัตตุกัมยตาฉันทะ แปลว่า ฉันทะคือกัตตุกัมยตา หรือฉันทะที่เป็นกัตตุกัมยตา (ฉันทะ คือความอยากทำ ใฝ่จะทำ ใฝ่สร้างสรรค์)

อย่างแรกเป็นฝ่ายร้าย เป็นอกุศลฉันทะ อย่างหลังเป็นฝ่ายดี เป็นกุศลฉันทะ ที่จริง อย่างนี้ก็ดูง่าย และก็ชัดดีอยู่ แต่ถ้อยคำยาวไปหน่อย เรียกยาก

ตรงนี้ก็มาถึงที่ซับซ้อน คือ ในเวลาแสดงธรรม อธิบายธรรม หรือพูดจาสื่อสารกันทั่วไป ก็อยากใช้คำที่สั้นๆ ง่ายๆ ในที่สุดก็ปรากฏผลออกมาว่า

- เวลาพูดถึงฉันทะ ที่อยากในทางไม่ดี เป็นอกุศล ก็ใช้คำเดียวไปเลยว่า “ตัณหา” (ไม่ต้องพูดว่า ตัณหาฉันทะ)

- ถ้าจะพูดถึงฉันทะ ที่อยากในทางดี เป็นกุศล ก็ใช้คำเดียวไปเลยว่า “ฉันทะ” (ไม่ต้องไปพูดให้ยาวว่ากัตตุกัมมยตาฉันทะ หรือกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ หรือสภาวฉันทะ ฯลฯ)

ตอนนี้ก็เลยพูดได้ง่าย สั้นนิดเดียว รู้เรื่องกันไป ไม่ต้องยืดยาดเยิ่นเย้อ พอบอกว่า “ตัณหา” ก็คือความอยากที่ไม่ดี (คือฉันทะฝ่ายอกุศลนั่นเอง) พอพูดว่า “ฉันทะ” ก็คือความอยากที่ดี (คือฉันทะฝ่ายกุศล หรือกัตตุกัมยตาฉันทะนั่นเอง)

ถ้าไม่รู้ที่ไปที่มา ก็จะงง ว่าคำไหนหมายถึงอะไร คำไหนดี คำไหนร้าย ก็สับสนยุ่งไปหมด เช่นไปเจอกามฉันทะ ก็งง ไหนว่าฉันทะเป็นฝ่ายดี ทำไมนี่ไม่ดีล่ะ ดังนี้เป็นต้น จึงต้องพูดทำความเข้าใจกันให้ชัด

ถึงตอนนี้ ก็สรุปได้ คือบอกว่า ความอยาก หรือความต้องการนั้น มี ๒ อย่าง คือ

๑. ตัณหา คือ ความอยากความต้องการที่เป็นอกุศล ได้แก่ อยากได้ อยากเอา อยากมี อยากเป็น อยากทำลาย

๒. ฉันทะ คือ ความอยากความต้องการที่เป็นกุศล ได้แก่ อยากทำ (ให้มันดี) ใฝ่ฝึก ใฝ่ศึกษา ใฝ่ปฏิบัติ ใฝ่จัดทำ ใฝ่สร้างสรรค์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2021, 05:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




Students-Learning-Transparent-PNG.png
Students-Learning-Transparent-PNG.png [ 193.43 KiB | เปิดดู 979 ครั้ง ]
ในคัมภีร์ภาษาบาลีชั้นพุทธพจน์ เมื่อท่านจะแยก ๒ อย่างนี้ ท่านก็หาคำกลางมาตั้งก่อน ได้พบว่าท่านใช้คำว่า ปตฺถนา คือความปรารถนามาวางเป็นคำกลาง แล้วท่านก็แยกให้ดู บอกว่า ปตฺถนา (คือความปรารถนา) มี ๒ อย่าง (ก็คือที่แยกให้ดูแล้วข้างบนนั่นเอง) ได้แก่

๑. ตณฺหาปตฺถนา คือ ความปรารถนาที่เป็นตัณหา (ปรารถนาเอา, ต้องการเสพ)

๒. ฉนฺทปตฺถนา คือ ความปรารถนาที่เป็นฉันทะ (ปรารถนาดี, ต้องการทำให้ดี)

มีข้อสังเกตว่า คนไทยทั่วไป โดยเฉพาะชาวพุทธไทยนี้เอง พอพูดถึงความอยาก ก็มักจะบอกว่าไม่ดี ไม่ถูก ใช้ไม่ได้ แล้วก็ชอบบอกกัน สอนกัน ไม่ให้อยาก ซึ่งนับว่าเป็นอันตราย อาจกลายเป็นการทำร้าย ทั้งตัดรอนการพัฒนาคน และขัดขวางการพัฒนาสังคมประเทศชาติ

ส่วนคนอีกพวกหนึ่งก็เลยเถิดไปในทางตรงข้าม ชอบพูดชอบสอนว่าให้อยากได้อยากเอา อยากมั่งอยากมี บางทีถึงกับสอนให้โลภ ให้อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นใหญ่เป็นโต บอกว่าต้องอย่างนี้ ประเทศชาติสังคมจึงจะพัฒนา แต่ไม่ได้พัฒนาจริงเลย มีแต่พัฒนาไปสู่ความพินาศ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ พาคนพาโลกออกไปจากสันติภาพ

ทั้งสองพวกนี้ ก็คือสุดโต่ง สุดขั้วไปคนละด้าน แต่เหมือนกัน ร่วมกันตรงที่มีความไม่รู้ คือไม่รู้จักความอยาก ไม่รู้ไม่เข้าใจธรรมชาติของความต้องการ แล้วก็จัดการกับความอยากนั้นไม่ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น เรื่องความอยาก จึงต้องรู้จัก และแยกให้ได้ ดังที่นำมาให้ดูนั้น เมื่อแยกได้แล้ว เรื่องราวอะไรต่างๆ ก็จะกระจ่างแจ้งชัดเจนขึ้นอย่างมากมาย

เมื่อได้เห็นความหมายที่แตกต่างกันระหว่างความอยาก ๒ แบบนั้นไปคร่าวๆ แล้ว ก็จะให้จับสาระ หรือลักษณะสำคัญของความแตกต่างนั้นให้จะแจ้งขึ้นอีก เป็นการชี้จุดสำคัญให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

๑. ตัณหา เป็นความอยากเพื่อตัวตนของเรา หรือเพื่อตัวเราเอง เช่น อยากเอาเข้ามาให้แก่ตัว เอามาบำเรอตัว ให้ตัวเสพ ให้ตัวได้ ให้ตัวเป็นหรือไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

๒. ฉันทะ เป็นความอยากเพื่อสภาวะของสิ่งนั้นๆ เอง เพื่อความดี เพื่อความงาม เพื่อความสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ

ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ในวัด เช่นว่า คนมาในวัดแล้ว เข้าไปในบริเวณที่มีต้นไม้มากๆ เห็นกระรอกกระแตวิ่งโลดเต้นกระโดดกระโจนไปมา

คนหนึ่งก็ชื่นชม มองว่า เจ้ากระรอกนี้น่าดู คล่องแคล่ว มันกระโดดไปกระโดดมา ดีนะ เป็นภาพที่งามตา ขอให้กระรอกเหล่านี้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ทำหมู่ไม้ที่ร่มรื่นให้งดงามน่าเพลินใจ ช่วยให้วัดเป็นรมณียสถานนานเท่านานต่อไปเถิด อย่างนี้คืออยากเพื่อสภาวะที่เต็มสมบูรณ์ของสิ่งนั้นเอง เรียกว่ามีความอยากหรือความต้องการที่เป็นกุศล เป็นฉันทะ

ส่วนอีกคนหนึ่ง ก็เห็นกระรอกตัวเดียวกันนั้นแหละ แต่เขามองไปก็คิดไปว่า เจ้ากระรอกตัวนี้อ้วนดี เนื้อมาก ถ้าเราจับได้ เอาไปลงหม้อแกงเย็นนี้ คงอร่อยทีเดียวละ นี้คืออยากเพื่อตัวตนของตนเอง เรียกว่ามีความอยากที่เป็นอกุศล เป็นตัณหา

อีกตัวอย่างหนึ่ง นักเรียนจบมัธยมศึกษาแล้ว คิดเลือกจะเรียนแพทย์

คนหนึ่งอยากเป็นแพทย์ เพราะอยากมีรายได้มาก อยากหาเงินง่าย จะมั่งคั่งร่ำรวย และมีหน้ามีตา มีเกียรติสูง นี้คืออยากเพื่อตัวตนของตนเอง เรียกว่ามีความอยากหรือความต้องการที่เป็นอกุศล ก็เป็นพวกตัณหา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2021, 05:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




Child-Girl-PNG-Pic.png
Child-Girl-PNG-Pic.png [ 147.14 KiB | เปิดดู 979 ครั้ง ]
ส่วนอีกคนหนึ่งอยากเป็นแพทย์ เพราะอยากทำให้คนหายจากโรค อยากเห็นประชาชนแข็งแรงมีสุขภาพดี อยากให้ชาวบ้านพ้นความเดือดร้อน อยากให้บ้านเมืองมีพลเมืองที่มีคุณภาพอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข อย่างนี้คืออยากเพื่อสภาวะที่เต็มสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ ที่เป็นวัตถุประสงค์อย่างตรงไปตรงมาของอาชีพแพทย์นั้นเอง เรียกว่ามีความอยากหรือความต้องการที่เป็นกุศล เป็นฉันทะ

คนมีความอยากต้องการอย่างไหน เมื่อเขาได้สนองความต้องการอย่างนั้น เขาก็มีความสุข ดังนั้น ความสุขของคนจึงต่างกันไปตามความต้องการ

คนหนึ่งอยากให้กระรอกแข็งแรงสมบูรณ์เป็นอยู่สุขสบายของมัน พอเห็นกระรอกนั้นกระโดดโลดเต้นร่าเริงดี ความต้องการของเขาก็ได้รับการสนอง เขาก็มีความสุขทันที

อีกคนหนึ่งอยากเอากระรอกมาต้มกินให้ลิ้นของตัวได้อร่อย ต้องไล่จับไล่ยิงเอากระรอกนั้นมาต้มมาแกงให้มันตาย จนกว่าตัวเองจะได้กิน ความต้องการของเขาจึงจะได้รับการสนอง แล้วเขาจึงจะมีความสุข

มองกว้างไกลออกไป คนมีฉันทะรักที่จะทำเหตุของความเจริญ คนมากด้วยตัณหาได้แต่รอเสพผลของความเจริญนั้น พูดสั้นๆ ว่า พวกฉันทะเป็นนักสร้าง พวกตัณหาเป็นนักเสพ พวกฉันทะจึงมีความสุขในการสร้างสรรค์ พวกตัณหาจึงมีสุขต่อเมื่อได้เสพ

ในสังคมที่เป็นอยู่นี้ ไม่อาจหวังว่าจะทำการใดให้กระแสตัณหาเหือดหายไปได้ หรือจะให้วิถีของฉันทะขยายขึ้นมาเป็นใหญ่ สิ่งที่พึงทำ คือพยายามดุลไว้ ไม่ปล่อยให้กระแสตัณหาท่วมท้นไหลพาลงเหวไป และคอยส่งเสริมวิถีแห่งการสนองฉันทะให้ดำเนินไปได้

ตราบใด คนผู้มีความสุขในแนวทางของการสนองฉันทะ ยังมีเป็นหลักเป็นแกนอยู่ สังคมมนุษย์ก็จะยังพอดำเนินไปได้

สิ่งที่จะต้องทำตลอดเวลา ก็คือ ความไม่ประมาทในการพัฒนามนุษย์ ให้ก้าวหน้าไปในการพัฒนาความสุข

พอจะได้ใจพองฟูขึ้นไป เป็นปีติ ได้สมใจสงบลงมา เป็นความสุข
ก่อนจะพูดต่อไปถึงหลักในการปฏิบัติจัดการกับความต้องการ ขอแทรกเรื่องน่ารู้ ที่จะช่วยให้เข้าใจหรือรู้จักความสุขได้ชัดเจนมากขึ้น

ได้บอกแล้วว่า ความสุข คือการได้สนองความต้องการ หรือความสมอยากสมปรารถนา

ที่จริง ความสมอยาก หรือการได้สนองความต้องการนั้น พูดอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือ การทำให้ความต้องการสงบระงับไปนั่นเอง เหมือนอย่างระงับความกระหาย ด้วยการดื่มน้ำ หรือระงับความหิว ด้วยการกินอาหาร เมื่อความหิวคือความต้องการอาหารสงบไป หรือเมื่อความกระหายคือความต้องการน้ำสงบไป ก็เป็นความสุข

ดังนั้น เมื่อพูดตามความหมายนี้ ความสงบระงับไปของความต้องการนั่นเอง เป็นความสุข หรือพูดให้สั้นว่า ความสุขคือความสงบ

ทีนี้ ในการสนองความต้องการ หรือสมอยากสมปรารถนานั้น จิตใจกว่าจะมาถึงความสงบที่เป็นภาวะแห่งความสุข บางทีก็ได้ประสบหรือได้เสวยภาวะที่น่าชื่นชมยินดีมาเป็นลำดับหลายขั้นหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เด่นก็คือ “ปิติ” ซึ่งมักพูดเข้าคู่เข้าชุดกันว่า “ปีติสุข”

ถ้าเรามองเห็นและเข้าใจภาวะจิตที่เป็นขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการสนองความต้องการนี้แล้ว ก็จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่าความสุขเป็นความสงบอย่างไร และความสงบนั้น มีความหมายสำคัญแค่ไหนและดีอย่างไร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2021, 05:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




e1f7515d7d92c3ad56f1177dc12be12a.png
e1f7515d7d92c3ad56f1177dc12be12a.png [ 441.1 KiB | เปิดดู 979 ครั้ง ]
เริ่มที่ปีติ กับสุขนี่แหละ ว่าไปตามหลักก่อน ท่านพูดให้ง่ายว่า ความปลื้มใจในการได้อารมณ์ที่ปรารถนา เป็นปีติ การเสวยรสอารมณ์ที่ได้แล้ว เป็นสุข เช่น คนเดินทางกันดารมาแสนเหน็ดเหนื่อย เมื่อเห็นน้ำหรือได้ยินว่ามีน้ำ ที่จะได้กินได้ดื่ม ก็เกิดปีติ พอเข้าไปสู่ร่มเงาหมู่ไม้และได้ลงดื่มกินอาบน้ำนั้น ก็มีความสุข

เพื่อให้เข้าใจชัดยิ่งขึ้น ท่านแสดงตัวอย่างให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอนไว้ เหมือนดังว่า คนผู้หนึ่งเดินทางกันดารมาแสนไกล แดดก็ร้อนจนเหงื่อโซมตัว ทั้งหิวทั้งกระหายเหลือเกิน

ถึงจุดหนึ่งเห็นคนเดินทางสวนมา ก็ถามว่า ในทางที่ผ่านมามีน้ำดื่มที่ไหนบ้างไหม นายคนนั้นตอบว่า โน่น ดูสิ ข้างหน้าโน้น ท่านผ่านดงนั้นไป จะมีทั้งสระน้ำใหญ่และไพรสณฑ์ พอได้ฟังคำบอกแค่นั้น เขาก็ดีใจเหลือเกิน ร่าเริงขึ้นมาเลย

เมื่อเดินต่อจากที่นั้นไป ได้เห็นกลีบ ก้าน ใบ และดอกบัว เป็นต้น ที่ตกเกลื่อนบนพื้นดิน ก็ยิ่งดีใจร่าเริงมากขึ้นๆ เมื่อเดินต่อไปอีก ก็ได้เห็นคนมีผ้าเปียกผมเปียก ได้ยินเสียงไก่ป่าและนกยูง เป็นต้น แล้วใกล้เข้าไปๆ ก็เห็นไพรสณฑ์เขียวในบริเวณเขตสระน้ำ เห็นดอกบัวที่เกิดในสระ เห็นน้ำใสสะอาด เขาก็ยิ่งดีใจร่าเริงปลาบปลื้มยิ่งขึ้นไปๆ ทุกทีๆ

แล้วในที่สุด มาถึงสระ ก็กระโจน หรือก้าวลงไป พอถึงน้ำ ได้สัมผัส ก็ฉ่ำชื่น ใจที่ฟูขึ้นพองออกไป ก็สงบเข้าที่ เขาอาบดื่มตามชอบใจ ระงับความกระวนกระวายหมดไป เคี้ยวกินเหง้ารากใบบัว เป็นต้น จนอิ่มหนำ แล้วขึ้นจากสระ มาลงนอนใต้ร่มไม้เย็นสบาย มีลมอ่อนๆ โชยมา พูดกับตัวเองว่า สุขหนอๆ

ตามตัวอย่างที่ท่านยกมาเปรียบเทียบนี้ จะเห็นว่า

ความดีใจปลาบปลื้มร่าเริง นับตั้งแต่ชายผู้นั้นได้ยินว่ามีสระน้ำและหมู่ไม้ จนกระทั่งได้เห็นน้ำ นั้นคือ ปีติ ซึ่งเป็นอาการร่าเริงยินดีในอารมณ์ที่เป็นขั้นก่อนหน้า

ส่วนการที่เขาได้ลงไปอาบน้ำ กิน ดื่ม แล้วนอนรำพึงว่า สุขหนอๆ ที่ใต้ร่มไม้เย็นสบาย มีสายลมอ่อนๆ โชยมา นี้คือ สุข ซึ่งอยู่ในตอนที่ได้เสวยรสอารมณ์

ปีตินั้นมีลักษณะฟู พอง พลุ่งขึ้น ซู่ซ่า ซาบซ่าน ปลาบปลื้ม ซึ่งก็แสนจะดีอย่างยิ่ง แต่ถึงจะดีอย่างไร ปีติจะค้างอยู่ไม่ได้ เพราะยังไม่สม ยังไม่ลุจุดหมาย สุดท้ายก็ต้องมาจบลงที่ความสุข ต้องดีสุดตรงที่สุข ซึ่งก็คือสงบเข้าที่นั่นเอง

ถ้ายังไม่สงบ ก็ยังไม่สม ยังจบยังสมบูรณ์ไม่ได้ จึงมาดีที่สุดตรงที่สมและสงบลงได้ เรียกว่าเป็นสุข

ที่จริง ถ้าดูให้ละเอียด แยกให้ครบ ยังมีภาวะจิตอีกช่วงหนึ่ง อยู่ระหว่างปีติกับสุข อันนี้ก็สำคัญ เมื่อกี้ เรามองแต่ด้านที่จะได้สนองระงับดับความต้องการได้สมอยากสมปรารถนา คือด้านได้ แต่เมื่อดูให้ละเอียด ก็ดูด้านของตัวความต้องการเองด้วย

ความต้องการนั้นก็มีอาการของมันเอง คือ ความรุนเร้า ความเร่าร้อน ความกดดัน ยิ่งถ้ารุนแรง ก็กลายเป็นความกระวนกระวาย ความเครียด ความกระสับกระส่าย จนถึงขั้นทุรนทุราย

ทีนี้ ในกระบวนการสนองความต้องการนั้น เมื่อเข้ามาในขั้นตอนของการสนองที่จะได้สมปรารถนา ขณะที่ปีติฟู่ฟ่าแรงขึ้นนั้นเอง อีกด้านหนึ่ง มันก็ทำให้ความกระวนกระวาย เครียด เขม็ง กระสับกระส่ายที่เป็นอาการของความต้องการ ซึ่งมีผลทั้งต่อจิตและกาย ได้ผ่อนคลาย ระงับไป หายเร่าร้อน เย็นลง ราบลง กลายเป็นความเรียบรื่น ภาวะนี้เรียกว่า “ปัสสัทธิ”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 มิ.ย. 2021, 06:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




6564679_preview.png
6564679_preview.png [ 89.39 KiB | เปิดดู 979 ครั้ง ]
ปัสสัทธินี่แหละ เป็นตัวนำโดยตรงเข้าสู่ความสุข เพราะฉะนั้น เมื่อซอยละเอียดให้ชัด ท่านจึงพูดตามลำดับดังนี้ว่า “ปิติ ปัสสัทธิ และสุข”

(ความต้องการฝ่ายตัณหา จะมีอาการเร่าร้อน กระวนกระวาย เครียด เป็นต้นนี้ได้เต็มที่ เพราะอยู่บนฐานของ โมหะและอิงกับความยึดถือตัวตน แต่ความต้องการฝ่ายฉันทะมากับปัญญาเป็นปกติอยู่แล้ว ปัญญาจึงทำหน้าที่จัดปรับแก้และกันปัญหาเหล่านี้ไปพร้อมในตัว)

พอพูดถึงอาการของความต้องการ ก็เลยมีแง่ซับซ้อนเล็กน้อยที่ควรจะพูดไว้ประกอบความรู้ด้วย คือ นอกจากการระงับความต้องการด้วยการสนองที่พูดมานั้น ก็มีการระงับความต้องการด้วยการไม่สนอง ซึ่งเป็นการกระทำในทางตรงข้าม

ทีนี้ เมื่อความต้องการเกิดขึ้น ถ้าพยายามระงับด้วยการไม่สนองมัน ไม่ยอมตามมัน โดยขัดขวางหรือขัดขืนฝืนใจ กดข่มหรือบังคับ ก็จะยิ่งทำให้มีอาการรุนแรง เกิดความเร่าร้อนกระวนกระวายทุรนทุรายมากขึ้น และอาจจะระบายหรือระเบิดออกมา ทำให้เกิดทุกข์แก่ตน และเป็นภัยแก่คนอื่นมากมาย แล้วในโลกนี้ ก็แก้ไขกันด้วยวิธีสร้างโทษภัยแบบตอบโต้หรือตอบแทนย้อนกลับไป และเป็นการขู่ไว้ ไม่ใช่สงบจริง

เมื่อมาเข้าสู่กระบวนการฝึกศึกษาพัฒนาคน การมีจิตสำนึกที่จะฝึกตนก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง แม้จะฝืนใจ แต่ข้างดีก็มีผลที่รู้สึกว่าได้ฝึกตนขึ้นมา แล้วก็อาจจะดีใจที่ได้ทดสอบกำลังความสามารถในการฝึกตนนั้น

แต่การฝึกฝนพัฒนายังมีวิธีมากกว่านี้ ทั้งวิธีการทางจิต และทางปัญญา

วิธีทางจิต ก็เช่น การให้ฝ่ายกุศลมีกำลังเหนือกว่า อย่างง่ายๆ ก็เช่น ให้ฉันทะ ที่ใฝ่รู้ใฝ่ดี ที่อยากค้นคว้าหาความรู้ แรงเข้มกว่าตัณหา ที่ใฝ่มั่วใฝ่เสพ ที่อยากหนีโรงเรียนไปกินเหล้ากับเพื่อนสุราบาน

อีกอย่างหนึ่งคือใช้วิธีแทนที่ เช่น มองไปที่เงินของคุณ จ. อยากจะขโมยเอาเสีย แต่นึกถึงว่าคุณ จ. หาเงินมาด้วยความยากลำบาก มีทุกข์มากอยู่แล้ว ไม่ควรไปเพิ่มทุกข์ให้เขา เกิดกรุณาหรือการุณย์ขึ้นมา ตัณหาก็แห้งหายสงบไป

ส่วนวิธีทางปัญญา ก็เช่นว่า เขาเอาทองคำมาขายให้ในราคาแสนจะถูก ก็ตาลุกอยากได้เหลือเกิน แต่พอรู้ทันว่าเป็นทองเก๊ ความอยากได้ก็หายวับไปหมดสิ้น สงบลงได้ แต่ปัญญาอย่างนี้ ควรเรียกล้อว่าเป็นปัญญาเทียม แค่รู้ทันทองเก๊ พอแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปที

จะเป็นปัญญาแท้ ก็ต้องอย่างพระสาวกที่มองเห็นความจริงว่า เงินทองเพชรนิลจินดาประดาทรัพย์ ไม่ใช่แก่นสารของชีวิต ไม่เป็นของเราของเขาของใครจริง ทำชีวิตให้ดีงามประเสริฐเป็นสุขแท้จริงไม่ได้ ทั้งเราทั้งมันก็เป็นไปตามธรรมชาติ คืออนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น ถ้าจะอยู่กับมัน ก็ต้องใช้ประโยชน์อย่างรู้เท่าทัน ไม่ให้เป็นเหตุก่อโทษทุกข์ภัย เมื่อจะเปิดโล่งสู่ความเป็นอิสระเสรีมีสุขที่แท้ ก็สละละได้ทั้งหมดในทันที อย่างนี้คือปัญญาที่ทำให้ตัณหาไม่มีที่ตั้งตัว จึงสงบจริง

รวมแล้ว ไม่ว่าจะสงบระงับด้วยการสนองความต้องการก็ตาม หรือสงบระงับด้วยวิธีทางจิตทางปัญญาให้ไม่ต้องสนองความต้องการที่ไม่ถูกไม่ดีก็ตาม ความสงบนั้นก็เป็นความสุข และความสุขก็คือความสงบ สันติเป็นสุข สุขเป็นสันติ คือสันติสุข ดังความหมายที่ได้ว่ามา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร