วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 22:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2021, 05:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




istockphoto-1198118385-612x612.jpg
istockphoto-1198118385-612x612.jpg [ 59.54 KiB | เปิดดู 1101 ครั้ง ]
ศีลสำหรับประชาชน

ความเข้าใจพื้นฐาน


ก่อนจะขยายความในเรื่องศีล โดยเฉพาะที่จะเน้นหลักความประพฤติในระดับของประชาชน หรือชาวบ้านทั่วไป เห็นควรย้ำหลักกว้างๆ ที่ควรรู้ตระหนักไว้ อันจะช่วยให้ประพฤติปฏิบัติศีลในทุกระดับได้ถูกหลัก ตรงตามความมุ่งหมาย เป็นธรรมานุปฏิบัติ

ผู้ประพฤติปฏิบัติรักษาศีลนั้น ตั้งแต่เริ่มแรก ควรมองเห็นความหมายของศีลที่ตนรักษาปฏิบัติโล่งสว่าง พร้อมทั้งตระหนักรู้ถึงความมุ่งหมายของการปฏิบัติ และมองเห็นศีลที่ตนรักษานั้นในระบบการศึกษาหรือระบบการฝึกอบรมพัฒนาชีวิตว่า ความงอกงามด้วยศีลนั้น สัมพันธ์กับการพัฒนาจิตใจและความเจริญปัญญา เกื้อหนุนสมาธิและญาณทัศนะ จะพาให้ปราศปัญหาปลอดทุกข์ ประสบผลที่เป็นประโยชน์สุขอย่างไรๆ ศีลจำเป็นสำหรับชีวิตและสังคมที่ดีงามมีความสุขอย่างไร

ดังที่ทราบกันดีว่า มรรค ที่เรียกเต็มว่า มรรคมีองค์ ๘ นั้น คือรวมข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา และองค์ ๘ ของมรรคนั้น ก็จัดได้เป็น ๓ ขันธ์ คือ ๓ หมวด ได้แก่ ศีล สมาธิ และปัญญา

ในเวลาจะฝึกปฏิบัติกันจริงจัง ก็ฝึกก็ศึกษากันใน ๓ อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ โดยจัดเป็นระบบการศึกษาที่เรียกว่า ไตรสิกขา แปลว่าสิกขา ๓ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา เรียกง่ายๆ ก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อีกนั่นแหละ

เป็นอันว่า การปฏิบัติ การฝึก การหัด การพัฒนาคน การดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตลอดจนปฏิปทาที่จะให้ถึงนิพพาน ทั้งหมดทั้งสิ้น ก็อยู่ใน ๓ หมวดแห่ง ศีล สมาธิ ปัญญา ที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง

เมื่อจับหลักนี้ไว้ได้แล้ว เมื่อพูดถึงศีล ก็บอกว่า ศีลที่แท้ ที่จริง ที่ครบ ก็คือศีลที่มาจากมรรคมีองค์ ๘ นั้น คือ ศีลที่เป็นองค์ของมรรค และตามพุทธพจน์ที่ยกมาให้ดู ก็เห็นชัดแล้วว่าองค์มรรคที่เป็นหมวดศีล ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ นี้คือ ศีลที่จริง ที่แท้ ที่ครบบริบูรณ์

พุทธพจน์ข้างต้นนั้น แสดงความหมายของสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ แต่ละอย่างแยกแยะแบ่งข้อย่อยออกไป ทำให้เห็นได้ว่า สาระสำคัญของศีล คืออะไร ศีลที่เป็นองค์มรรค หรือศีลที่จำเป็นจริงๆ สำหรับชีวิตที่ดีงามมีขอบเขตแค่ไหนเพียงไร ผู้รู้แต่โบราณนับข้อย่อยของศีลในองค์มรรคนี้ ที่แยกย่อยออกไปว่ามี ๘ ข้อ แล้วตั้งชื่อเรียกไว้ว่า “อาชีวัฏฐมกศีล” แปลว่า ศีลมีอาชีวะเป็นที่ ๘

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2021, 06:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวศีลจริงๆ แท้ๆ มีเท่านี้ ต่อจากนี้ ก็แบ่งซอยย่อยต่อออกไป เช่น เมื่อจะจัดการฝึกการศึกษาแก่คนพวกไหน กลุ่มใด ที่ควรมีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร เพื่อความมุ่งหมายจะไปถึงไหน จะเน้นหนักด้านใด หรือแม้แต่จะเตรียมวางฐานปูพื้นในการพัฒนาคนขึ้นมาเป็นขั้นๆ อย่างไร ก็แยกย่อยเป็นรายละเอียดออกไป เป็นศีลพระ ศีลสามเณร ศีลชาวบ้าน เป็นต้น ตลอดจนทำให้เป็นระบบการจัดตั้งจัดการทางสังคมขึ้นมาชัดเจนเพื่อให้ได้ผลเป็นจริงอย่างแน่ใจ เรียกว่าวินัย โดยมีการควบคุม ดำเนินการต่างๆ ปรับโทษ ลงโทษแก่ผู้ละเมิด เป็นต้น

เมื่อได้หลักอย่างนี้แล้ว เพื่อให้จับจุดที่สำคัญๆ ได้ชัดขึ้น ขอให้ดูลักษณะที่ควรสังเกตเป็นพิเศษ ดังนี้

๑. พุทธพจน์ที่จำแนกศีลในมรรคนั้น ทำให้เห็นได้ว่า มรรคมิใช่เป็นมรรคาที่มุ่งสำหรับภิกษุสงฆ์เท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว คำจำกัดความของศีลก็จะต้องหมายถึงศีล ๒๒๗ หรือภิกขุศีล หรือบรรพชิตศีล หรืออะไรทำนองนั้น และทำให้เห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงสาระของศีลในแบบที่ยืดหยุ่น กินความกว้าง คลุมศีลปลีกย่อย ที่แยกกระจายออกไปได้ต่างๆ มากมายหลายแบบ ทำให้ไม่จำเป็นต้องทรงแจงระบุชื่อหมวดศีลปลีกย่อยเหล่านั้น เช่น ไม่ต้องระบุศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ เข้าไว้ด้วย เป็นต้น

๒. ควรย้ำไว้ก่อน เพราะมักลืมกันบ่อยๆ ว่า ศีลมิใช่หมายเพียงความประพฤติดีงามสุจริตทางกาย และวาจาเท่านั้น แต่หมายถึงอาชีวะสุจริตด้วย เรื่องการหาเลี้ยงชีพมีความสำคัญด้านศีลนี้ จะต้องเน้นกันไว้

๓. ขอทวนความที่เคยพูดข้างต้นว่า ในการจำแนกข้อของศีลนั้น ตามปกติ ท่านระบุไว้เพียงหัวข้อ ว่าเว้น เว้นอทินนาทาน เป็นต้น และเมื่อดูแต่หัวข้อ ก็เห็นเพียงด้านลบ หรือด้านปฏิเสธอย่างเดียว ถ้าจะดูให้ชัดให้ครบ ก็ควรดูที่พุทธพจน์ขยายความหมาย เช่น ในกุศลกรรมบถ ๑๐ จะเห็นชัดว่า ศีลแทบทุกข้อแสดงความหมายแยกเป็น ๒ ตอน มีทั้งให้เว้น และให้ทำ ลบตามด้วยบวก คือ

- ตอนต้น กล่าวถึงการเว้นไม่ทำความชั่ว เช่น ละปาณาติบาต...
- ตอนหลัง กล่าวถึงการทำความดี ที่ตรงข้ามกับความชั่วที่งดเว้นนั้น เช่นว่า เกื้อกูลสรรพสัตว์...

๔. ในมรรคนี้ องค์มรรคมีทั้งด้านศีล ด้านจิตหรือสมาธิ และด้านปัญญา ซึ่งต้องมารวมกันครบ จึงจะเป็นมรรค และจึงจะสำเร็จเป็นผล แม้ว่าขณะนี้ เรากำลังพูดถึงศีล หรือจะปฏิบัติศีล ก็ต้องตระหนักว่า นี่เราอยู่ในส่วนนี้ของมรรค เมื่อเดินหน้าไป จะต้องให้ประสานขานรับกับอีก ๒ ส่วนนั้นด้วย จึงจะได้ผลจริง

ความเป็นจริงและความสำเร็จผลต่อเมื่อมีความครบพร้อมขององค์ประกอบอย่างนี้ เรียกอย่างภาษาพระว่าเป็นระบบธรรมสามัคคี หรือที่เวลานี้เรียกว่าองค์รวม แม้แต่ในขั้นสูงสุด การตรัสรู้ก็เกิดขึ้นเมื่อมีธรรมสามัคคี

เมื่อมองดูที่มรรค ซึ่งมีองค์มรรคทุกข้ออยู่ครบ ก็มองเห็นธรรมสามัคคี หรือองค์รวม พร้อมทั้งเห็นองค์ร่วมทั้งหมด พร้อมไปด้วยกัน ก็ง่ายที่จะไม่ลืมระบบ ถึงแม้ขณะนี้อยู่ที่ศีล ก็ไม่ลืมองค์ร่วมอื่น

แม้ในชุดกุศลกรรมบถ ซึ่งพูดได้ว่าเป็นการขยายมรรคออกไป โดยจัดองค์มรรคทำนองประยุกต์เข้าให้เหมาะในระดับสำหรับคนทั่วไป หรือสำหรับบรรดามนุษยชน (ดังที่เคยบอกแล้วว่า ท่านถือว่ากุศลกรรมบถ ๑๐ นี้ เป็นมนุษยธรรม) ก็เห็นได้ไม่ยากว่า ศีลในกรรมบถนั้น มากับจิตใจ/สมาธิและปัญญาด้วย คือมีองค์มรรคมาครบทั้ง ๓ ด้าน (๗ ข้อแรก เป็นศีล, ข้อ ๘-๙ เป็นจิต/สมาธิ, ข้อ ๑๐ เป็นปัญญา; แถมว่า ศีลในกุศลกรรมบถยังขยายออกไปให้เห็นครบ ทั้งท่อนลบ และท่อนบวก)

แต่พอมาดูศีล ๕ ที่ว่าเป็นศีลอย่างต่ำที่สุด คือคนทุกคนอย่างน้อยควรมีศีล ๕ ปรากฏว่า ชุดนี้ มีแค่ศีลเท่านั้น ไม่มีองค์มรรคด้านจิตและปัญญาเลย แสดงว่าไม่พอที่จะเจริญงอกงามพัฒนาก้าวไปในวิถีของพระพุทธศาสนา นี่แหละจึงว่าอย่างต่ำ คือยังทำอะไรไม่ได้ ก็ให้เว้นชั่วร้าย ให้พออยู่กันได้ ไม่เบียดเบียนกันนัก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2021, 06:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ขยายพิเศษ
กุศลกรรมบถ 10 แบ่งออกเป็น 3 หมวด ให้เห็นเป็น "ศีล สมาธิ ปัญญา" ดังนี้

1. กายกรรม 3 ประการ

1. ไม่ฆ่าหรือทำลายชีวิตผู้อื่น
2. ไม่ลักขโมย หรือยึดเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตน
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม

2. วจีกรรม 4 ประการ

4. ไม่พูดเท็จ
5. ไม่พูดส่อเสียด
6. ไม่พูดคำหยาบคาย
7. ไม่พูดเพ้อเจ้อ = ศีล

3. มโนกรรม 3 ประการ

8. ไม่โลภอยากได้ของคนอื่น
9. ไม่คิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น = สมาธิ

10. เห็นชอบตามคลองธรรม = ปัญญา

--------------------------------------------------------------
(๑-๗ ข้อแรก เป็นศีล, ข้อ ๘-๙ เป็นจิต/สมาธิ, ข้อ ๑๐ เป็นปัญญา)
https://84000.org/tipitaka/dic/d_seek.p ... 1%BA%B6_10

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2021, 05:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม ที่จริงนั้น ท่านไม่ได้ปล่อยทิ้งศีล ๕ ออกไปจากระบบองค์รวมหรือธรรมสามัคคี แต่ท่านใช้วิธีจัดระบบใหม่เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือ เมื่อมีเหตุที่จะต้องยอมให้แยกศีลออกไปเป็นชุดต่างหากอย่างนั้นแล้ว ท่านก็นำองค์มรรคด้านจิตและด้านปัญญา ไปจัดเป็นชุดอื่นเตรียมไว้ต่างหาก (ไม่มาอยู่ในชุดเดียวกันอย่างในกุศลกรรมบถ) และท่านก็แนะนำสอนให้คนที่เริ่มปฏิบัติชุดศีล ๕ นั้นก้าวต่อไป ให้เป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นอริยะสาวกอริยะสาวิกา และว่า นอกจากชุดศีล ๕ นั้นแล้ว ก็ให้ปฏิบัติชุดโน้นๆ ซึ่งเป็นด้านจิตและปัญญา ให้ครบด้วย

ชุดด้านจิต และด้านปัญญา ที่จะมารวมกับชุดศีลนั้น พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นมาตรฐานทีเดียว เจาะจงสำหรับคฤหัสถ์ คือชาวบ้าน ตามปกติมี ๔ ชุด (บางทีมีชุดแถมเตรียมไว้ให้อีก ๑ ชุด รวมเป็น ๕ ชุด) ในหนังสือนี้ เคยกล่าวไว้ในที่อื่นแล้ว แต่ในพระไตรปิฎก ท่านแสดงไว้บ่อยมาก ดังนั้น ถึงแม้ที่นี่จะกล่าวซ้ำ ก็สมควร แต่ก็จะไม่แสดงรายละเอียดเต็มตามบาลี เพียงคัดมาพอเห็นรูปเค้า

หลังจากตรัสถึงการจัดการเพื่อชัยชนะโลกนี้ (คือการดูแลจัดการบ้านเรือนผู้คนทรัพย์สินเงินทอง ที่เป็นเรื่องของทิฏฐธัมมิกัตถ์) แล้ว ก็ตรัสถึงการจัดการเพื่อชัยชนะต่อโลกหน้า (ด้านสัมปรายิกัตถ์) ต่อไป ดังนี้

“ดูกรวิสาขา สตรี (มาตุคาม) ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อชนะโลกหน้า

ชื่อว่าจัดโลกหน้าไว้แล้ว ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน?...

(๑)...สตรีถึงพร้อมด้วยศรัทธาอย่างไร?...สตรีเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อปัญญาตรัสรู้ของตถาคต (ตถาโพธิสัทธา) ว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์...

(๒)...สตรีถึงพร้อมด้วยศีลอย่างไร?...สตรีเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิฉาจาร จากมุสาวาท และจากสุราเมรัยและของเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท...

(๓)...สตรีถึงพร้อมด้วยจาคะอย่างไร?...สตรีอยู่ครองเรือน โดยมีใจปราศจากมลทินคือความตระหนี่ มีน้ำใจเผื่อแผ่เสียสละเต็มที่ มีมือที่แบ (พร้อมที่จะให้) ยินดีในการสละ ควรแก่การขอยินดีในการเจือจานแบ่งปัน...

(๔)...สตรีถึงพร้อมด้วยปัญญาอย่างไร?...สตรีเป็นผู้มีปัญญา คือ ประกอบด้วยอริยปัญญา ที่หยั่ง ถึงอุทัยและอัสดง ชำแรกเรื่องได้ ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยถูกต้อง

อีกชุดหนึ่ง ซึ่งก็ควรมี แต่ไม่จำเป็นเท่า ๔ อย่างนั้น ได้แก่ “สุตะ” คือ ความรู้จากการเล่าเรียนเขียนอ่านสดับฟัง หรือจำพวกข้อมูล ข่าวสาร ถ้าเป็นพหูสูต ก็ยิ่งดี

การที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าว ก็เพราะชาวพุทธจำนวนมากพูดกันอยู่ และหยุดกันอยู่ แค่ศีล แม้จะนึกถึงพูดถึงหลักธรรมอื่นบ้าง ก็สับสนไม่เป็นระบบ ทั้งที่ท่านจัดเตรียมไว้ให้แล้ว ที่จะให้คนที่อยู่ในการพัฒนาทุกระดับ มีศีล จิต/สมาธิ ปัญญา ครบ จึงควรพูดอย่างน้อยกับตนเองให้แม่นใจว่า พระพุทธเจ้าทรงย้ำให้คฤหัสถ์หรือชาวบ้าน มี ศรัทธา ศีล ๕ (+สุตะ) จาคะ และปัญญา แล้วจากความพร้อมของธรรมสามัคคีระดับนี้ อริยมรรคาก็เหมือนเปิดกว้างรับให้ก้าวหน้าพัฒนาอย่างดีต่อไป

๕. คำว่า “ศีล” มีความหมายและขอบเขตกว้างมาก และมีการใช้ทั้งแบบเคร่งครัด และอย่างหลวมๆ ยิ่งเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย ก็มีการเพี้ยนและคลุมเครือมากขึ้น โดยเฉพาะมักจะสับสนกันบ่อยกับคำว่า “วินัย” ซึ่งบางทีก็ใช้ปนๆ กันไป บางทีก็เหมือนใช้แทนกันได้ เวลานี้ แม้จะต้องยอมตามความนิยม แต่ก็ควรจะใช้อย่างรู้เท่าทัน และอย่างน้อยสามารถแยกความหมายได้ในขั้นพื้นฐาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2021, 05:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ในที่นี้ จะแสดงความหมายในแง่ที่เหมือนว่า วินัยเป็นส่วนหนึ่งของศีล เมื่อตกลงพูดในแง่นี้ ก็บอกว่า เบื้องแรกมีธรรม ซึ่งประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา แล้วใน ๓ อย่างนี้ สมาธิ และปัญญา เป็นธรรมอย่างเดียว ส่วนศีล นอกจากเป็นธรรมแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นวินัยด้วย ดังนั้น จึงแบ่ง ศีล ได้เป็น ๒ ระดับ คือ

๑) ศีลในระดับที่เป็นธรรม (ธรรมขั้นศีล) ได้แก่ หลักความประพฤติทางกายวาจาและอาชีวะ ที่แนะนำสั่งสอนกัน โดยถือเอาภาวะที่ควรจะมีควรจะเป็นตามธรรมชาติเป็นหลัก และผู้ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืน ย่อมได้รับผลดีหรือชั่ว โดยรับผิดชอบต่อกฎธรรมดาของธรรมชาติเองโดยตรง รวมทั้งการปฏิบัติศีล และการรักษาวินัย ที่ได้กลายเป็นความประพฤติประจำตัวหรือเป็นคุณสมบัติของบุคคล

๒) ศีลในระดับที่เป็นวินัย (วินัยเป็นศีล) ได้แก่ กฎระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนระบบกิจการ ที่จัดตั้งวางตราขึ้นเป็นบัญญัติทางสังคม เพื่อกำหนดและกำกับความประพฤติของบุคคล ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายจำเพาะของหมู่ชนหรือชุมชนนั้น โดยมีระบบการจัดการบังคับควบคุมให้ได้ผลเป็นจริงตามที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีการลงโทษผู้ละเมิดฝ่าฝืน (ต่างหากจากการได้รับผลทางจิตใจตามกฎธรรมชาติ)

ถ้าพูดอย่างเคร่งครัด วินัยยังไม่เป็นศีล แต่วินัยคือส่วนที่พ่วงอยู่กับศีล หรือห้อยไว้กับศีล เป็นระบบวิธีจัดการทางสังคม ที่จะฝึกคนให้มีศีล หรือพูดให้สั้นว่า วินัยก็คือวิธีจัดการฝึกคนให้มีศีลนั่นเอง ส่วนศีลนั้นอาศัยวินัย แต่ไม่ใช่วินัย เพราะศีลเป็นส่วนหนึ่งของธรรม

วิธีแยก คือ ธรรม เป็นเรื่องของธรรมชาติ วินัย เป็นเรื่องของสังคมหรือเกิดจากฝีมือของมนุษย์

เมื่อแยกแยะความหมายให้เข้าใจดีเป็นฐานไว้แล้ว ก็สามารถพูดถึงศีล ในความหมายแบบหลวมๆ สบายๆ เป็นขั้นๆ แง่ๆ ได้ต่างๆ เช่นว่า

ศีล เป็นระเบียบวินัยเพื่อสร้างสังคมที่เรียบร้อย ไม่เบียดเบียนกัน อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข เป็นสภาพเกื้อกูลแก่การดำเนินชีวิตและปฏิบัติกิจของสมาชิกทั้งหลาย

ศีล เป็นเครื่องมือควบคุมความประพฤติ ทำให้กายวาจาเรียบร้อยงดงามอยู่ในระเบียบ

ศีล เป็นความประพฤติที่ดีงามเกื้อกูลของบุคคล ในการสัมพันธ์กับผู้อื่นและต่อสิ่งแวดล้อม อันทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตัวเขาเองและแก่คนอื่นทั้งหลาย ตลอดทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม

ศีล เป็นข้อปฏิบัติสำหรับกำจัดกิเลสขั้นหยาบ ที่แสดงออกทางกายวาจา ขัดเกลาคนให้ประณีตขึ้น

ศีล เป็นข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมกายวาจาและอาชีวะ ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเป็นพื้นฐานของการพัฒนาในระดับสมาธิ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพจิต และช่วยให้จิตมีสมรรถภาพที่จะใช้อย่างได้ผล

ศีล เป็นสภาพปกติทางกายวาจา และอาชีวะ ของผู้ที่มีชีวิตดีงาม หรือคนที่ได้รับการฝึกอบรมดี มีการศึกษาแท้จริง บรรลุภูมิธรรมอันสูงแล้ว

๖. สาระของศีลอยู่ที่เจตนา ได้แก่ การไม่ตั้งใจ ไม่คิดล่วงละเมิด คำว่า “ละเมิด” แง่หนึ่งคือ ละเมิดระเบียบ ละเมิดกฎเกณฑ์ บทบัญญัติ ละเมิดวินัยที่วางกันไว้ อีกแง่หนึ่งคือ ละเมิดต่อผู้อื่น หมายถึงเจตนาที่จะเบียดเบียนผู้อื่นนั่นเอง ศีลจึงหมายถึงการไม่เจตนาละเมิดระเบียบวินัย หรือการไม่เจตนาล่วงเกินเบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามองแต่อาการหรือการกระทำ ศีลก็คือ ความไม่ละเมิด และการไม่เบียดเบียน

มองอีกด้านหนึ่ง ศีลอยู่ที่ความสำรวม กล่าวคือ การสำรวมระวัง คอยปิดกั้นหลีกเว้นไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้นนั่นเอง เป็นศีล และถ้ามองลึกที่สุด สภาพจิตของผู้ไม่คิดจะละเมิด ไม่คิดจะเบียดเบียนใครนั่นแหละ คือตัวศีล

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 มิ.ย. 2021, 21:32 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2943


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร