วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 20:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2021, 06:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ความสุขที่ไม่ต้องหา

เมื่อมองกว้างๆ มนุษย์ยอมรับความจริงว่า พวกตนผจญปัญหาทั้งในระดับสังคมและในระดับบุคคล และถ้ามองเจาะลึกลงไปถึงขั้นพื้นฐาน ก็จะพบว่า ปัญหาของมนุษย์ทั้งในระดับสังคมและในระดับบุคคล ก็มาจากความจริงอันเดียวกัน คือการที่ชีวิตของมนุษย์นั้นโดยธรรมชาติ เป็นที่ตั้งของปัญหา จะใช้คำว่า มีศักยภาพที่จะทำให้เกิดปัญหา หรือว่าไม่ปลอดพ้นจากปัญหา ก็ได้ทั้งนั้น

ปัญหาชีวิตของมนุษย์นั้น มีต่างๆ มากมาย เมื่อพูดตามความรู้สึกให้เข้าใจได้ง่าย ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ดี–ชั่ว หรือ ดี–ร้าย และสุข–ทุกข์ ถ้าพูดรวบรัดลงไปอีก ก็รวมลงในคำเดียวคือ ทุกข์ อย่างคำพูดที่แสดงความรู้สึกเด่นชัดออกมาว่า มีชีวิตอยู่เพื่อหาความสุข ก็เป็นการบ่งถึงทุกข์อยู่ในตัว คือบอกว่าจะหนีออกจากความทุกข์ ไปหาความสุข และทุกข์นั้นยังอาจส่งผลเกี่ยวข้องถึงความดีความชั่ว และสุขทุกข์ ต่อไปอีกหลายชั้นด้วย

ที่พูดมานี้ ยังอ้อมค้อมนิดหน่อย ถ้าจะให้ชัด ก็พูดตรงไปที่ความจริงขั้นพื้นฐานกันเลย คือเป็นหลักความจริงง่ายๆ ว่า ทุกข์เป็นสภาวะด้านหนึ่งของชีวิต หรือว่าชีวิตนี้มีทุกข์เป็นสภาวะด้านหนึ่งของมัน หมายความว่า เป็นธรรมดาตามธรรมชาติของชีวิตนั้นเอง ที่เป็นสังขาร ซึ่งเกิดมีเป็นไปโดยขึ้นต่อเหตุปัจจัยหลากหลาย ไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่คงทน แปรปรวนเรื่อยไป ไม่มี ไม่เป็นตัวตนของมันเองอย่างแท้จริง เช่น จะให้คงอยู่หรือเป็นไปอย่างที่ใจปรารถนาไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามเหตุปัจจัย พูดสั้นๆ นี่ก็คือมันเป็นทุกข์

เมื่อประมวลให้เห็นง่าย ทุกข์ที่เป็นพื้นฐานตามสภาวะของชีวิต ก็พูดรวบรัดด้วยคำว่า ชรา มรณะ หรือ แก่ และตาย หรือ เสื่อมโทรม และแตกสลาย แล้วจากทุกข์ตามสภาวะนี้ ก็ตามมาด้วยทุกข์ที่เป็นความรู้สึกต่างๆ เช่น ความโศกเศร้า ความคับแค้น ความเสียใจ ความพิไรรำพรรณ

ในเมื่อตามสภาวะ ชีวิตมีทุกข์เป็นธรรมชาติพื้นฐานของมันอยู่แล้ว การที่จะแก้ปัญหาดับสลายคลายทุกข์ และการที่จะมีความสุขได้ คนก็ต้องมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริง เริ่มด้วยจัดการให้ชีวิตของตนลงตัวกันได้กับความทุกข์พื้นฐานนั้น โดยมีปัญญาที่ทำให้จิตเป็นอิสระจากทุกข์พื้นฐานนั้น หรือให้ใจอยู่กับมันได้สบายๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำถึงขั้นนั้นไม่ได้ ก็ให้ใจอยู่กับมันด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน วางใจวางท่าทีถูกต้อง อย่างน้อยก็ยอมรับความจริง สู้หน้า เผชิญหน้าความจริงได้ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันความจริงนั้น

ถ้าคนมีจิตใจที่มั่นคงในการอยู่กับความจริงไม่ได้ ถ้าเขาไม่มีปัญญาจัดการให้ชีวิตของตนลงตัวกันได้กับความทุกข์พื้นฐานนั้น ก็กลายเป็นว่า เขาปล่อยให้ทุกข์พื้นฐานนั้นกลายเป็นปมปัญหาที่แฝงซ่อนอยู่ในตัวเขาเอง แล้วเขาก็จะมีชีวิตอยู่แบบปิดกลบปัญหา บังตาจากความทุกข์ และหลอกตัวเอง ปล่อยให้ปมที่ซ่อนอยู่ข้างในนั้น ก่อปัญหาซ้อนขึ้นมาไม่รู้จบสิ้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2021, 06:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


มนุษย์บอกว่าตนปรารถนาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์ แต่แล้วมนุษย์ก็ประสบปัญหาจากวิธีที่จะเข้าถึงความสุขของเขาเอง แทนที่จะแก้ทุกข์ สร้างสุข เขาหนีทุกข์ หาสุข ทุกข์พื้นฐานที่มีแน่ แต่ไม่แก้ เมื่อปล่อยไว้ ก็เลยกลายเป็นปม แล้วก็ก่อปัญหาซ้อนหลังเรื่อยไป แทนที่จะหมดหรือแม้แต่ลดทุกข์ ก็ยิ่งทวีทุกข์ซับซ้อน ทั้งข้างในตัว และออกไปปะทะกระทบข้างนอก

สำหรับมนุษย์ที่ปิดกลบทุกข์ ซ่อนปมปัญหาไว้ข้างในตัวเองนี้ เริ่มแรก การหาความสุขก็แสดงอยู่ในตัวถึงความขาดแคลนบกพร่อง ความบีบคั้นกระวนกระวาย หรือภาวะไร้ความสุขอยู่ภายใน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่ามีทุกข์ จากนั้นจึงผลักดันให้ต้องออกแสวงหาสิ่งที่จะเอามาเติมให้เต็มหายขาดแคลนบกพร่อง หรือเอามาระงับดับคลายความบีบคั้นกระวนกระวายนั้น และในการแสวงหาเช่นนี้ ก็ปรากฏความขัดแย้งเบียดเบียนกันขึ้น เกิดปัญหาเกี่ยวกับความดีความชั่ว และความสุขความทุกข์ในระหว่างมนุษย์พอกพูนขยายวงกว้างขวางออกไป

มองอีกด้านหนึ่ง ปัญหาเกิดจากมนุษย์มีทุกข์อยู่แล้ว แต่แก้ไขทุกข์ไม่ถูกต้อง จึงระบายทุกข์นั้นออกไป ทำให้ทุกข์กระจาย เพิ่มขยายปัญหาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ด้วยความเป็นไปเช่นนี้ ทุกข์ที่เป็นสภาวะติดเนื่องมากับความเป็นสังขารของชีวิต หรือทุกข์ตามธรรมดาของธรรมชาติ แทนที่จะถูกแก้ไข กลับถูกละเลยมองข้าม หรือปิดกลบไว้เสีย แล้วสุขทุกข์ และปัญหาต่างๆ ชนิดที่เกิดจากฝีมือเสกสรรค์ผันพิสดารของมนุษย์ ก็เกิดประดังพรั่งพรูวิจิตรนานัปการ จนแทบจะบดบังให้มนุษย์ลืมปัญหาพื้นฐานของชีวิตเสียทีเดียว

บางคราว มนุษย์เองยังคิดหลงไปด้วยซ้ำว่า หากลืมมองปัญหาพื้นฐานของชีวิตนั้นเสียได้ ก็จะสามารถหลุดพ้นไปจากความทุกข์ และชีวิตก็จะมีความสุข แต่ความจริงยังคงยืนยันอยู่ว่า ตราบใด มนุษย์ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาพื้นฐานแห่งชีวิตของตน ยังวางตัววางใจหาที่ลงไม่ได้กับทุกข์ถึงขั้นตัวสภาวะ ตราบนั้น มนุษย์ก็จะยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ยังหลีกไม่พ้นการตามรังควานของทุกข์ ไม่ว่าจะพบสุขขนาดไหน และจะยังไม่ประสบความสุขที่แท้จริง ซึ่งเต็มอิ่ม สมบูรณ์ในตัว และจบบริบูรณ์ลงที่ความพึงพอใจอย่างไม่คืนคลายไม่กลับกลาย

ซ้ำร้าย ทุกข์พื้นฐานที่หลบเลี่ยงและยังไม่ได้แก้นั้น กลับจะกลายเป็นเงื่อนปมซ้อนอยู่เบื้องหลัง คอยส่งอิทธิพลออกมาบีบคั้นรุนเร้าให้การแสวงหาและเสวยสุขต่างๆ เป็นไปอย่างเร่าร้อนกระวนกระวาย ไม่รู้จักเต็มอิ่ม และไม่มีความแน่ใจจริง ขาดความมั่นใจที่โปร่งโล่ง พร้อมทั้งส่งผลในทางจริยธรรมเกี่ยวกับความดีความชั่ว เช่นเพิ่มทวีการแย่งชิงเบียดเบียน ให้แพร่หลายและรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย พูดอีกนัยหนึ่งว่า สร้างความกดดันให้ทุกข์แฝงขยายตัวเพิ่มขีดระดับสูงตามขึ้นไป

การดำเนินชีวิต ก็คือ ความพยายามที่จะแก้ปัญหาของชีวิต หรือการหาทางปลดเปลื้องไถ่ถอนทุกข์ แต่ถ้าไม่รู้วิธีแก้ไขหรือวิธีปลดเปลื้องไถ่ถอนที่ถูกต้อง การแก้ปัญหา ก็กลายเป็นการเพิ่มปัญหา การปลดเปลื้องไถ่ถอนทุกข์ ก็กลายเป็นการสะสมทุกข์ ยิ่งพยายามดำเนินไป ปัญหาหรือทุกข์ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น กลายเป็นวงจร และเป็นวงจรที่ยิ่งหนายิ่งเข้มข้นยิ่งซับซ้อนขึ้นทุกที เรียกโดยภาพพจน์ว่าเป็นวังวนแห่งปัญหา และการเวียนว่ายอยู่ในทุกข์ สภาพเช่นนี้ คือ ความเป็นไปแห่งกระบวนธรรมแบบสังสารวัฏฏ์ (วังวนแห่งการเวียนว่ายอยู่ในทุกข์) ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในหลักปฏิจจสมปบาทฝ่ายสมุทยวาร หรืออนุโลมปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นว่า ปัญหาหรือความทุกข์ของมนุษย์เกิดขึ้นตามกระบวนการแห่งเหตุและผลอย่างไร

ถ้ามนุษย์อยู่กับความเป็นจริง รู้เข้าใจทุกข์ตามสภาวะของมัน ไม่ซ่อนปัญหา ไม่ปิดตา ไม่หลอกตัวเอง มีใจลงตัวกับทุกข์นั้นตามที่มันเป็นของมันได้ นอกจากว่าเขาจะไม่มีปมซ้อนข้างในที่จะก่อปัญหาใหม่ที่จะขยายปัญหาเก่าแล้ว ปัญญาที่เขามีเป็นพื้นฐานนั้น ก็จะพัฒนาขึ้นไป มาปลดปล่อยจิตใจของเขาให้เป็นอิสระแม้แต่จาก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มิ.ย. 2021, 06:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ทุกข์ที่เป็นสภาวะพื้นฐานของชีวิตด้วย โดยที่ว่า ทุกข์ที่มีเป็นสภาวะตามธรรมดาของมันในธรรมชาติ ก็เป็นเพียงทุกข์ของธรรมชาติตามธรรมดาของมันไป ไม่มีผลที่จะก่อปัญหาทำให้เกิดเป็นทุกข์ขึ้นในจิตใจของเขา

ยิ่งกว่านั้น แม้แต่ในระหว่างที่ยังไม่เป็นอิสระสิ้นเชิง เมื่อไม่มีเงื่อนปมของปัญหาจากทุกข์ที่บังตาไว้นั้น เขาจะเสวยความสุขใด ก็เสวยได้เต็มอิ่มสมบูรณ์ตามภาวะที่มีที่เป็นของมันนั้น และพร้อมกันนั้น โอกาสก็เปิดให้ในการที่คนจะพัฒนาความสุขขั้นต่างๆ ได้มากมาย มีความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น สุขที่เป็นอิสระมากขึ้น สุขที่เต็มอิ่มมากขึ้น ความสุขที่สมบูรณ์ปลอดมลพิษมากขึ้น ความสุขสัมพัทธ์ที่โปร่งโล่งมากขึ้นไปตามลำดับ จนถึงความสุขที่ไร้ทุกข์แท้จริง หนทางแห่งความสุขเปิดกว้างเต็มที่ ไม่มีกรอบกั้นหรือขีดคั่นที่จะจำกัดใดๆ

ว่าโดยหลักพื้นฐาน พระพุทธเจ้าเมื่อทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร อันเป็นที่มาของปัญหาหรือความทุกข์แล้ว ก็มิได้ทรงหยุดอยู่เพียงนั้น แต่ได้ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร อันเป็นกระบวนธรรมฝ่ายวิวัฏฏ์ คือฝ่ายดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหาต่อไปอีกด้วย เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกข์หรือปัญหาของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และทรงแสดงวิธีแก้ไขไว้ด้วย

ยิ่งกว่านั้น ยังทรงชี้ต่อไปถึงภาวะที่เลิศล้ำสมบูรณ์ ซึ่งมนุษย์สามารถมีชีวิตที่ดีงามและเป็นสุขแท้จริงได้ โดยไม่ต้องฝากตัวขึ้นต่อปัจจัยภายนอก ไม่ต้องเอาสุขทุกข์ของตนไปพิงไว้กับสิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขารให้สิ่งเหล่านั้นกำหนด ซึ่งสิ่งเหล่านั้นแม้แต่ตัวมันเองก็ทรงเอาไว้ไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปช่วยรับพิงรับยันให้ใคร ทรงแสดงให้เห็นว่า ภาวะเช่นนั้นมีอยู่ และเป็นไปได้ ภาวะนั้นเป็นสิ่งที่ให้เกิดคุณค่าและความหมายแก่ชีวิตได้อย่างแท้จริง เพราะทำให้ชีวิตเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัว ไม่ต้องขึ้นกับสิ่งภายนอก

ทั้งนี้ ต่างกับภาวะอย่างอื่นภายนอก เช่นความสุข เป็นต้น ที่มนุษย์แสวงหากันอยู่ ซึ่งเมื่อมนุษย์รับเอาคุณค่าและความหมายจากมัน มันก็ทำให้ชีวิตของมนุษย์สูญเสียคุณค่าหมดความหมายไปด้วย เพราะมันเองไม่มีคุณค่าและความหมายที่จะเป็นหลักให้แก่ใคร ด้วยว่าตัวมันเองก็ขึ้นกับสิ่งอื่นๆ ต่อๆ ไป อย่างน้อยที่สุด มันก็ทำให้ความเป็นอิสระความเป็นไทของมนุษย์หลุดออกไปอยู่ในกำกับของมัน

แม้ว่าในเบื้องต้น มนุษย์จะยังไม่สามารถเข้าถึงภาวะวิวัฏฏ์นี้ได้โดยสมบูรณ์ แต่เมื่อเริ่มต้นดำเนินชีวิตตามวิถีทางแห่งการแก้ปัญหาที่ถูกต้องนี้แล้ว เมื่อสามารถตัดทอนกำลังของกระบวนธรรมแห่งปฏิจจสมุป-บาทสมุทยวาร และเสริมกำลังกระบวนธรรมตามแนวปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารได้มากขึ้นเท่าใด ก็จะสามารถแก้ไขปัญหา เหินห่างจากทุกข์ และมีชีวิตที่ดีงามได้มากขึ้นเท่านั้น นอกจากนั้น ยังจะทำให้สามารถเสวยสุขแบบเสพโลกได้อย่างรู้เท่าทัน ไม่สยบ ไม่ตกเป็นทาส ไม่ถูกกระแสความผันผวนของมันทำร้ายเอา ไม่เป็นเหตุก่อทุกข์หรือปัญหาทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และยังจะช่วยให้มีชีวิตที่เกื้อกูลแก่กันในสังคมมากขึ้นตามลำดับอีกด้วย

ในที่นี้ จะแสดงแต่กระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร พร้อมทั้งภาวะแห่งความดับทุกข์ ภาวะพ้นปัญหา หรือไม่เกิดปัญหาเลย ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามโดยตรงกับกระบวนธรรมปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร พร้อมด้วยภาวะแห่งทุกข์ที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น

ส่วนการประพฤติปฏิบัติและการดำเนินชีวิตที่เป็นวิธีแก้ปัญหาหรือผ่อนคลายทุกข์ในระหว่าง เพื่อความก้าวหน้าไปตามลำดับจนถึงจุดหมาย คือภาวะดับทุกข์หรือพ้นปัญหาโดยสิ้นเชิงในที่สุด จะยกไปกล่าวข้างหน้าในตอนต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร