วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 05:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ค. 2020, 05:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5091


 ข้อมูลส่วนตัว


มีนักปราชญ์คนหนึ่งเคยบอกว่าถ้าอยากพูดเท็จควรมีความจำดี เหตุผลคือเพราะโกหกคนนั้นคนนี้ ถ้าความจำไม่ดีแล้วจะสับสนว่าพูดอะไรกับใคร ไม่นานจะพบโทษของการโกหกข้อหนึ่งว่าไม่มีใครเชื่อคำพูดของเรา คำพูดไม่มีน้ำหนัก เราจะเป็นที่ระแวงของคนอื่นแม้ในกรณีที่พูดความจริงก็ตาม

ผู้ที่โกหกจนเป็นนิสัยยังต้องการเคารพนับถือตัวเอง ไม่อยากคิดว่าตัวเองเป็นคนขี้โกหก คนประเภทนี้หลายคนก็เลยหลอกลวงตัวเองว่าสิ่งที่พูดเป็นความจริงทั้งหมดจนกระทั่งความทรงจำเปลี่ยนไป เมื่อมีใครตักเตือนว่ากล่าวเพราะการโกหกจะน้อยใจเสียใจมากพอๆ กับคนที่ไม่เคยโกหก เมื่อการโกหกถึงขั้นนี้แล้วเป็นปัญหาต่อสุขภาพจิต เพราะเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับความไม่จริงเริ่มเลอะเลือน

สรุปแล้วพูดความจริงดีกว่า พูดความจริงที่เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ ด้วยความหวังดี และความสุภาพอ่อนโยน ถ้าพูดอย่างนี้พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่าเป็นวาจาสุภาษิต

พระอาจารย์ชยสาโร






"เรามีบารมีอยู่แล้ว ถ้าคนที่ไม่มีบารมีเก่า เขาจะไม่อยากเข้าวัด เขาไม่อยากปฏิบัติ เขาไม่อยากสนใจ อันนั้นเป็นเรื่องของคนที่ยังไม่เคย คนที่สนใจเหมือนกับพวกเรานี้ก็เรียกว่าเป็นคนที่เคยปฏิบัติมาบ้างแล้ว"

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป









...เวลาเริ่มต้นภาวนา
จิตจะหยาบ จะฟุ้งซ่าน
จะให้อยู่กับลม หรืออยู่กับพุทโธ
"จะอยู่ไม่ได้"

.
ก็ให้ฟังเทศน์ฟังธรรมไปก่อน
ฟังไป จนรู้สึกเย็นสบาย ก็หยุดฟัง
แล้วกลับมาดูลม หรือบริกรรมพุทโธๆ

.
ดูว่าจะแวบไปที่อื่นหรือไม่
“ถ้าสงบตัวลงแล้ว” จะไม่ไป
จะอยู่กับ..พุทโธ
อยู่กับ..ลมหายใจเข้าออก

"ในที่สุดก็จะสงบได้".
....................................
คัดลอก(กำลังใจ)47 กัณฑ์404
ธรรมะบนเขา20/9/2552
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










#แม้ยังไม่บรรลุธรรมก็จงทำความดีเรื่อยไป

ความดีที่เราทำอย่าไปเทียบกับใครเขา ความดีที่ว่าน้อยนั้น มันจะสะสมทีละนิดอย่างงดงามประทับอยู่ในดวงจิต

พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวกทั้งหลาย แต่ก่อนท่านก็ตะเกียกตะกาย เพียรละชั่วทำดี เริ่มสะสมทีละน้อยแบบพวกโยมตอนนี้แหละ

ความดีนี้เอง จะนำพาให้พบครูบาอาจารย์ที่ดี พบวิถีปฏิปทาที่งามตรงตามทางเสด็จของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งครูบาอาจารย์ที่แท้ไม่ใช่ใครอื่น คือ พระสติธรรม พระปัญญาธรรม ของตนนั่นเอง ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน ต้องเป็นแสงสว่างให้ตนเอง และส่องแสงธรรมนี้ให้สรรพสัตว์ได้สว่างด้วย

"บุญญา" จะแปรสภาพเป็น "ปัญญา"
ผู้มีบุญ...ทำอะไรย่อมสำเร็จดังประสงค์
ผู้มีปัญญา...ทำอะไรย่อมสว่างไสวรุ่งโรจน์

ขั้นสมาธิให้กำหนดจิตอยู่กับปัจจุบัน
ขั้นปัญญาให้พิจารณาธรรมขุดค้นขันธ์ ๕ ขุดค้นกาย ขุดค้นจิต
เปิดความจริงของกาย ของจิต
คลี่คลายความหลงในวัฏสงสาร

วันหนึ่งที่เหตุปัจจัยและบุญบารมีพรั่งพร้อม
ท่านจะเป็นผู้ที่สามารถบรรลุธรรมได้ตามพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนแน่นอน

โอวาทธรรม
พระอาจารย์คม อภิวโร
วัดป่าธรรมคีรี (จันดีอนุสรณ์) อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา









“อาตมาได้ยินมามากนะ พวกที่ทำโรงทานนี่ ใครมีอุปสรรคขัดข้องอะไรในชีวิต พอมาทำโรงทานแล้ว ชีวิตก็ดีขึ้น อาตมาบอกพวกที่ไปออกโรงทานกับอาตมา พวกที่อาตมาพาทำโรงทาน อาตมาบอกว่าใครจะไปกับเราต้องทำความรู้สึกเสียก่อน ต้องมีความรู้สึกว่า ของที่เราเอาไป ไม่ใช่ของเรานะ พอเราตั้งเจตนาปุ๊บ เป็นของเขาทันทีเลย เราเพียงแค่เป็นผู้ทำเท่านั้น ถ้าเรายังคิดว่าเป็นของเรา เราจะไปทะเลาะกับคนกินทันทีเลย ไม่ได้นะ ต้องทำอย่างที่บอกคือ ของเขาหอบไปนี่ หอบใส่ถุงใส่อะไรไปนี่ เราไปมองหน้าเขา โถ่ ไม่มีใครเอาไปทิ้งหรอก อย่างน้อยก็เอาไปฝากลูกฝากหลานเขา หรือแม้กระทั่งจะเอาจะฝากหมูฝากหมา มันก็มีประโยชน์ทั้งนั้นล่ะ เราเชื่อแน่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า เขาไม่มาช่วยเราเอาไปทิ้งแน่นอน ใครจะมาเหน็ดเหนื่อยมาแย่งมาเมื่อยมาเข้าคิวยืนขาแข็งแล้วเอาไปทิ้ง

เพราะฉะนั้น เอาไปเถ๊อะ ต้องเปิดใจไว้ พอเปิดใจแล้วรับรองขายดิบขายดี นี่ ทำบุญใจต้องยิ้ม แต่ถ้าเราว่า โอ้ยอย่ามาโลภ อย่ามาแย่งคนอื่นกิน อันเดียวก็พอ นี่ใจมันเศร้าหมอง เพราะฉะนั้น ทำความรู้สึกไว้ว่า ของที่เราเอามา เราตั้งเป้าไว้เลยว่าเป็นของ ๆ เขา เราแค่มาช่วยเขาทำ ความคิดมันมีทั้งหัวทั้งก้อย ที่เขาเอาไปเขาก็อาจจะเอาไปเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานก็ได้ อาตมาว่า เขาไม่เอาไปทิ้งแน่นอน

อะไรก็แล้วแต่ เราคิดดีไว้ก่อนดีกว่า คนเรามันไม่มีชั่วอย่างเดียว มันมีทั้งดีทั้งชั่ว ถ้าเรามองแต่ชั่วของเขา ใจเราก็เศร้าหมอง แต่ถ้าเรามองดี จิตใจเราก็เป็นบุญ แล้วเราจะเอาจิตใจที่เป็นบุญหรือเป็นบาปล่ะ ส่วนที่ว่าจริง ๆ แล้ว เขาจะเป็นคนบุญหรือคนบาป มันก็เรื่องของคนอื่นเขา เรามันห้ามยาก

ไอ้เรื่องคิดลบนี่มันห้ามยาก แต่เราก็พยายาม เราก็ฝึก มันฝึกได้ เหมือนตอนที่หลวงตาออกโครงการช่วยชาติ ก็มีคนบอกว่า หลวงตาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิว พวกเราก็ระดมกำลังทรัพย์ช่วยหลวงตา แล้วมีคนรอบข้างมาแอบเอาไป นี่เราเหน็ดเหนื่อยหาเงินมาให้คนพวกนี่เหรอ อาตมาก็ว่า โอ้ย อย่าไปคิดอย่างนั้น เราคิดแต่ว่า หลวงตาทำโครงการนี้ เป็นโครงการบุญที่เราเห็นชัดเจนว่าเป็นบุญที่กระจายไปยังทุกคนในประเทศไทยเรา เพราะฉะนั้น เราเห็นด้วยศรัทธา ถวายองค์หลวงตาแล้ว พอ เราได้ทำบุญกับหลวงตาแล้ว เป็นบุญของเราแล้ว ส่วนใครจะอะไรยังไง มันเรื่องของเขา อย่าไปคิดมาก เราก็ต้องยอมรับว่าทุกกลุ่มมีทั้งดีไม่ดี จะให้ทุกคนดีหมด จะเป็นไปได้ยังไง เลวเหมือนกันหมดก็เป็นไปไม่ได้ มันก็มีทั้งดีทั้งเลว เรามาทำโรงทานนี่ ทุกคนมีปากมีท้อง เราทำโรงทานต้องทำให้ทั่วถึงนะ”

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
วัดป่าหนองไผ่ จ.สกลนคร
ปรารภธรรมแก่คณะผู้ออกโรงทาน
ในงานพระราชทานเพลิงสรีระสังขาร หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก
เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑











#ขอเตือน_ศรัทธาญาติโยม_ลูกหลานว่า #อย่าได้ประมาท

เพราะการประมาท.. แม้แต่วินาทีเดียว ก็ทำให้ชีวิตเราตกต่ำได้ ให้หมั่น บำเพ็ญคุณงามความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

#ปภากโรวาท
#หลวงปู่สิงห์ทอง #ปภากโร








หมดวันหนึ่ง. ก็เท่ากับเดิน. เข้าไปหาความตาย. ใกล้เข้า. ใกล้เข้า.

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย








ละชั่ว. ทำดี.
พรนี้. พรประเสริฐ.

/หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี









“ เมื่อธรรมมีมากน้อย
ซึมซาบเข้าถึงใจ ย่อม
เป็นเครื่องสนับสนุน เป็น
เครื่องซักฟอกใจโดยลำดับ

สิ่งทั้งหลายที่สกปรก
เคยมืดมิดปิดหัวใจ
มาเป็นเวลานาน
และหนาแน่นเพียงไร
ก็ค่อยจางออกไปๆ

เพราะอำนาจแห่งธรรม
ที่แทรกเข้าไปไม่หยุด
ไม่ถอย ด้วยอำนาจ
แห่งความเพียรเป็นสำคัญ

ดังนั้นงานจิตตภาวนา
จึงเป็นงานสำคัญมาก "

โอวาทธรรม
หลวงตาพระมหาบัว
ญาณสัมปันโน








" บางคนกำลังเข้าใจว่า
ตัวเองกำลัง ประกอบ
ความเพียรอยู่
ด้วยวิธีเดินจงกรมบ้าง
นั่งสมาธิภาวนาบ้าง

แต่นั่นเป็นเพียงกิริยา
แห่งความเพียรทางกาย
ส่วนใจมิได้เพียรไปตาม
กิริยาเลย..

..บางผู้บางคนยังมี
ความคิดสั่งสมกิเลส
เพ่งโทษ โทสะ โลภะ โมหะ
อยู่ตลอดเวลา

นักปฏิบัตินั้นปฏิบัติแต่กาย
ส่วนใจไม่ปฏิบัติ ของแบบนี้
มันปิดกันไม่ได้หรอก

การทำความเพียรนั้น
จะต้องทำทั้งกายและใจ
ประกอบควบคู่กันไป.."

โอวาทธรรม
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต









"อย่าด่าลูกคำหยาบ
ชิบหาย ตายซะ ลูกเวร
ปากพ่อแม่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับลูก"

หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ





"เออ อันร่างกายนี้ ใครๆ ก็รู้ดีอยู่แล้วว่า
มันไม่มีใครจะสามารถพ้นไปได้
จะต้องแตกดับ ทับถมแผ่นดินเท่านี้เอง
เราอย่าไปห่วงมันเกิด แก่ เจ็บ ตาย
มันเป็นประเพณีโลก ต้องตายกันทุกคน
หลวงปู่ก็ยังต้องตายนะ"

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ



เงินแถบปริศนา
พระธรรมวิสุทธิญาณ วิ. (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล)

เรื่องของการบุญทานกุศลนั้น ท่านเล่าว่าที่บ้านของท่านบิดามารดาใส่บาตรเป็นประจำทุกวัน เมื่อท่านยังเล็ก มารดาก็จะอุ้มมาใส่บาตรด้วย

พอโตขึ้นหน่อยก็จะให้ยืนอยู่ข้างๆ คอยใส่ข้าว หรือหย่อนขนมลงในบาตรพระ ทุกวันพระบิดามารดาก็จะพาไปวัดด้วย สอนลูกให้รู้จักทำบุญแต่เล็กแต่น้อย

ท่านเล่าว่า ใส่บาตรเป็นประจำทุกวัน และไปวัดในวันธรรมสวนะทุกครั้ง...ไม่เคยขาด เว้นแต่เจ็บป่วยเท่านั้น

ท่านสังเกตว่าของที่ใส่บาตรมารดาของท่านจะต้องจัดอย่างประณีต เลือกเฟ้นแต่ของที่ดีที่สุดในบ้านมาใส่บาตรก่อน ที่เหลือจึงจะให้สามีและลูกๆ ต่อไป ไม่ว่าเป็นอาหารคาวหวาน หรือส้มสูกลูกไม้ใดๆ ที่ปรุงหรือหาซื้อมาได้

แม้ของที่ญาติหรือเพื่อนให้มาก็จะต้อง “เก็บไว้ใส่บาตร เก็บไว้ถวายพระ” หากมีจำนวนมากพอดอก จึงจะเหลือให้ทางบ้านได้ลิ้มรส

ท่านเป็นเด็ก ยังไม่รู้จักการทำบุญสุนทานอย่างถ่องแท้ พ่อแม่เพียงพาทำ ก็ไม่เคยเห็นประโยชน์ประจักษ์ใจ มองดูการกระทำของมารดาอย่างรำคาญนิดๆ อิจฉาหน่อยๆ

.....รำคาญ ที่ทำไมในบ้านจึงได้กุลีกุจอแต่การบุญ จะไปเที่ยววิ่งเล่น แม่ก็เรียกให้ถือของไปวัดเสียแล้ว! ข้าวของอาหารอย่างดีเลือกสรรไปถวายพระหมด น่าที่บิดาจะห้ามปราม หรือมีทีท่าไม่พอใจ แต่ท่านก็กลับเออออเห็นด้วย บางครั้งช่วยเลือกให้เสียด้วยซ้ำ

.....อิจฉา นั้นก็น่าคิดอยู่บ้าง เพราะของดีๆ อย่างนั้น น่าที่ให้ลูกได้กินได้ชิมบ้าง กลับไปทำบุญหมด ถวายพระนั้นลูกก็ไม่ว่า แต่ถวายหมด ถวายแต่ของดีๆ ความจริง...พ่อแม่นั่นแหละควรจะแบ่งไว้กินเองบ้าง

คิดอยู่ในใจไม่นาน ปากก็อดเปรยออกมาไม่ได้สองสามครั้ง มารดาก็จะห้ามทุกครั้ง อย่าคิดอย่างนั้นนะลูก บาป อิจฉาพระ...! หลายครั้งเข้า มารดาก็จะอธิบายต่อ บุญมีซีลูก ถ้าไม่มี พ่อแม่จะทำไปทำไม

ที่จริงท่านก็มิได้จะตั้งใจค้าน เพราะจิตใจท่านเองก็พอใจการทำบุญอยู่มาก แต่ที่พูดไปนั้น ปรารถนาจะให้บิดามารดาได้กินอาหารดีๆ บ้างเท่านั้น

วันนี้ก็คิดจะยอมแพ้แล้ว แต่วิสัยเด็กก็อยากจะใช้คารมอวดเก่งกับผู้ใหญ่บ้างจึงแกล้งบ่น

“บุญ...มีเป็นอย่างไร ไม่เห็นนี่ครับ ตัวบุญเป็นอย่างไร จับได้ ถูกต้องได้ไหมครับ”

คิดว่าคงจะถูกมารดาเงื้อมือซัดสักผาง ซึ่งท่านตั้งใจจะกระโดดหนี แล้วพ่อแม่ลูกก็จะหัวเราะกันที่ลูกยั่วแม่สำเร็จ

คราวนี้ผิดคาด ท่านทั้งสองสบตากัน อาจจะเป็นเพราะเห็นว่า ลูกชายมีวันเติบโตพอจะรู้ความควรไม่ควรแล้ว ท่านจึงเล่าความให้ลูกน้อยฟัง...บิดาท่านเองเป็นผู้เล่า

ท่านเริ่มต้นว่า

ดีแล้วที่ลูกพูดขึ้นมาเช่นนี้ ถามว่า บุญ ที่ว่ามี...มี นั้นเป็นอย่างไร ตัวบุญเป็นอย่างไร จับต้องได้ไหม ถูกต้องได้ไหม ตัวบุญ...นั้นแน่นอน จับไม่ได้ ถูกต้องไม่ได้ แต่ลูกลองฟังเรื่องนี้ดู...

ระหว่างนั้นบ้านเรายังไม่มีฐานะพอมีพอกินเช่นอย่างเดี๋ยวนี้ ถึงจะมีความรู้ทางหมออยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เปิดร้านยา อาชีพหลักคือทำไร่ ทำสวน แต่ก็พยายามหาของใส่บาตรทุกวัน ส้มหน่วยกล้วยใบก็ใส่บาตรไปตามมี...มิได้ขาด

วันหนึ่งมันเข้าตาจนจริงๆ เงินไม่เหลือติดบ้านเลยสักสตางค์ ที่บางครั้งเคยมีคนมาขอซื้อยาบ้าง วันนั้นเงียบหาย รุ่งขึ้นเป็นวันพระตั้งใจจะไปทำบุญที่วัด ไม่มีเงินเลยจะทำอย่างไร ทุกครั้งว่าลำบากๆ ยังพอหยิบฉวยกล้วยอ้อยในสวนไปวัดได้บ้าง วันนี้อับจนไปหมด เคยทำบุญ เคยไปวัด ก็ไม่ได้ไป มันคับแค้นแน่นใจจริงๆ

บ่น ปรึกษากันจนตีหนึ่ง ตีสอง สองคนสามีภรรยา รำพันว่า เกิดมาชาติหนึ่งทำไมจนเหลือเกิน อดีตเราคงไม่เคยทำบุญทำทาน หรือทำก็เล็กน้อยไม่สม่ำเสมอ ไม่เคยสงเคราะห์คนอื่น ชีวิตชาตินี้จึงได้ลำบากยากเข็ญนัก น้ำตาคลอร้องไห้กันด้วยความคับแค้นใจ...เทวดาฟ้าดินไม่เห็นใจเราบ้างเลย เราอยากจะไปวัด ก็จะไม่ได้ไป!

รุ่งสว่าง บิดาก็คิดว่าไปไร่อ้อยดีกว่า คิดเอาเสื้อมาใส่ จะถีบจักรยานไปไร่ไปสวน พอหยิบเอาเสื้อจากที่แขวนข้างฝา กระเป๋าเสื้อก็ดังกรุ๋งกริ๋งๆ ท่านก็คิดประหลาดใจว่า เสียงอะไร เหมือนเสียงโลหะกระทบกันขยับเสื้อ เสียงดัง กรุ๋งกริ๋งก็ยังคงอยู่

บิดาเอามือล้วงเข้าไปในกระเป๋าเสื้อได้เงินมา ๒ แถบ!


...สมัยนั้นทางภาคเหนือยังใช้เงินแถบอยู่ ที่ลำปางก็เช่นเดียวกัน ท่านพลิกเงินแถบไปมาอยู่ในมือ เอ...มันเหมือนเงินแถบ ใช่หรือเปล่านี่ รูปร่างก็เงินแถบจริงๆ เคาะ...ดีก็ดังเหมือนเสียงโลหะเงิน เอ...เป็นเงินจริงหรือเงินปลอมกันนี่...เสียงดังก็คล้ายเงินจริงๆ

ว่าแต่ว่า...ใครเอาเงินมาให้นะ แม่คำก็ไม่ใช่ บ่นอยู่ด้วยกันจนดึกดื่น คนอื่นจะเอามาก็ไม่มีทาง เสื้อตัวนี้แขวนอยู่ตั้งแต่เย็น ตอนจะหาเงินมาทำบุญก็แทบจะพลิกกระเป๋าตลบกลับออกดู ไม่มีวี่แวว...ไม่มีเลย เราปิดประตูบ้านแต่หัวค่ำ เสื้อก็แขวนอยู่ตรงนั้น ใครจะเอาเงินมาใส่ในกระเป๋าเสื้อได้...!

สุดท้ายท่านก็นำเงินไปซื้อของ ใจไม่ค่อยดีเวลาเขาห่อของให้แล้ว ท่านส่งเงินให้เขาเป็นการชำระค่าของ เกรงเขาจะคืนมา...แต่เอ...เขาก็รับเงินดิบดี ขายของให้เป็นปกติ

บิดาจึงได้เงิน ๒ แถบที่มาปรากฏในกระเป๋าเสื้ออย่างแปลกประหลาดนี้ เอาไปซื้ออาหารไปวัดได้

ได้เงินวันละ ๒ แถบ ทุกเช้าหยิบเสื้อมา จะมีเงินมาปรากฏขึ้นวันละ ๒ แถบ ให้ได้นำไปจับจ่ายซื้อข้าวของไปใส่บาตรไปวัด ท่านปิดปากเงียบ รู้อยู่คนเดียว ยังไม่กล้าเล่าให้ภรรยาฟังเกรงจะว่า เพ้อ หรือ ฝันไป

ได้เป็นเดือนเลย ทุกวัน ในที่สุดเย็นวันหนึ่งก็อดใจเก็บความลับอยู่ต่อไปไม่ไหว ก็เล่าให้คู่ชีวิตฟัง ในชนบทนั้นตกเวลาเย็นกลับจากไร่จากสวนก็จะกลับบ้านมาคุยกัน มีอะไรก็เล่าสู่กันฟัง เย็นวันนั้นท่านก็เล่าเรื่องเงินแถบแปลกประหลาดที่มีอยู่ในกระเป๋าเสื้อทุกเช้านี้ให้ฟัง เธอไม่ได้นำมาใส่ให้ไม่ใช่หรือ สุดท้ายถามซ้ำ

ภรรยายืนยันว่า ไม่เคยนำมาใส่เลย ไม่ทราบด้วยซ้ำ ยังคิดเหมือนกันว่า หมู่นี้มีเงินทำบุญอย่างไม่ขาดแคลน คิดว่าคงจะขายอ้อยได้เงิน หรือก็มีคนไข้ให้เงินเป็นพิเศษ


ไม่ใช่หรอก เงินแปลก มาอยู่ในกระเป๋าเสื้อทุกวันไม่ทราบมาได้อย่างไร

มารดาท่านเป็นหญิงชนบท คงเคยได้ฟังนิทานเล่าต่อๆ กันมาเรื่องพระสังข์ทองที่ออกจากหอยสังข์ไปเอาอาหารผลไม่มาให้ตายายที่อาศัยอยู่ทุกวัน แม่ก็เลยว่า เอ...พระสังข์ทองหอยสังข์คงจะไปขโมยมาให้กระมัง

พอว่า ขโมย รุ่งขึ้นก็หายไปเลย ล้วงในกระเป๋าเสื้อก็ไม่มี จากวันที่มารดาพูดล้อเล่นว่า คงจะไปขโมยมา จากวันนั้นก็ไม่มีอีกเลย

บิดาเล่าแล้ว มารดาซึ่งนั่งอยู่ด้วยฟังบิดาเล่าความเก่าให้ลูกฟัง ก็เสริมว่า...แม่เองปากไม่ดี พูดไม่เป็นมงคล เงินก็เลยไม่มีมาอีก


แล้วทั้งบิดามารดาก็สรุปให้บุตรชายซึ่งนั่งฟังนัยน์ตาแป๋วว่า นี่แหละลูก บุญมีไหม! จะจับไม่ได้จะถูกต้องไม่ได้ก็ตาม แต่หลังจากนั้น พ่อแม่ก็ยิ่งมีใจเชื่อมั่น มีศรัทธา พยายามทำบุญไม่ให้ขาด มีน้อยทำน้อย มีมากทำมาก ฐานะบ้านเราก็ค่อยกระเตื้องขึ้น สบายขึ้น พอมีเงินทองใช้ไม่ขาดมือ มีฐานะอย่างที่ลูกเห็นอยู่นี้


ท่านอาจารย์ (หลวงปู่ไพบูลย์ สุมังคโล) เล่าว่า ท่านก้มกราบเท้าบิดามารดาด้วยความรักและเคารพอย่างสูง ต่อมาในภายหลังเมื่อได้บวชเรียนท่องบ่นสวดมงคลกถา ตอนที่ว่า สุภาสิตา จ ยาวาจา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ...วาจาใดอันชนกล่าวแล้วด้วยดี ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด” คราใด ท่านจะระลึกถึงพระคุณของโยมบิดาโยมมารดาอย่างซาบซึ้งครานั้นทุกครั้งไป

ในวาระนั้น เมื่อเล่าเรื่องเงินแถบซึ่งเกิดจากผลบุญกุศลแล้ว ท่านทั้งสองก็ถือโอกาสอบรมบุตรน้อยต่อไป

ให้รู้จักพูดจาแต่คำอันเป็นมงคล...เป็นมงคลแก่ผู้พูด...เป็นมงคลแก่ผู้ฟัง

...ให้พูดแต่คำไพเราะอ่อนหวาน ซึ่งจะเป็นที่เจริญหู เจริญใจ ทั้งแก่ผู้พูดและผู้ฟัง

...ให้พูดแต่ความดีของผู้อื่น อย่าพยายามพูดถึงความเลวของเขา คนเราย่อมมีทั้งดี ทั้งเลว เราต้องรู้สึกเลือกหยิบแต่ของดี เราก็จะได้แต่ของดี มีแต่ความดีในตัว มีความดีแวดล้อมห้อมล้อมตัวเราตลอดไป


รูปภาพ

:b8: :b8: :b8: ที่มา : หนังสือ สุมงฺคลปูชา หลวงปู่ไพบูลย์ สุมงฺคโล
หน้า ๑๖-๒๔


วัดอนาลโยทิพยาราม
บ้านสันป่าบง ต.สันป่าม่วง อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

สำนักสงฆ์ดอยเทพนิมิต สุดเขตสยาม
บ้านห้วยเม็ง ต.ห้วยเม็ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 105 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร