วันเวลาปัจจุบัน 06 ธ.ค. 2024, 22:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2019, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


หนังสือภาพ ชีวประวัติ และปฏิปทาของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


รูปภาพ

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม

บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นหลานปู่ของพระเสนาณรงค์ (นวล) และหลานอาของพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ ๒ และที่ ๔ ตามลำดับ

มารดาของท่านชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์

พี่น้องร่วมบิดามารดา มีอยู่ทั้งหมด ๘ คน ถึงแก่กรรมแต่ยังเล็ก ๒ คน ส่วนอีก ๖ คน ได้แก่

๑. นางกองแก้ว อุปพงศ์
๒. ท้าวกุล
๓. นางเฟื้อง
๔. พระอาจารย์ฝั้น
๕. ท้าวคำพัน
๖. นางคำผัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทุกคนสู่สุคติภพไปสิ้นแล้ว ยังเหลือแต่ลูกหลานที่สืบสกุลอยู่ทุกวันนี้เท่านั้น

เมื่อบุตรทุกคนเจริญวัยเป็นท้าวเป็นนางแล้ว เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ผู้บิดา ได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ออกจากบ้านม่วงไข่ ไปตั้งบ้านใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง ให้ชื่อว่าบ้านบะทอง เพราะที่นั่นมีต้นทองหลางใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันต้นทองหลางใหญ่ดังกล่าวได้ตายและผุพังไปสิ้นแล้ว สาเหตุที่อพยพออกจากบ้านม่วงไข่ก็เพราะเห็นว่า สถานที่ใหม่อุดมสมบูรณ์กว่า เหมาะแก่การทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เช่นวัว ควาย และเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเลี้ยงไหม เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งมีลำห้วยขนาบอยู่ถึงสองด้าน ด้านหนึ่งคือ ลำห้วยอูนอยู่ทางทิศใต้ ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือลำห้วยปลา อยู่ทางทิศเหนือ

ก่อนอพยพจากบ้านม่วงไข่ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) บิดาของพระอาจารย์ฝั้น ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองลูกบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขมาก่อนแล้ว ครั้นมาตั้งบ้านเรือนกันใหม่ที่บ้านบะทอง ท่านก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไปอีก เพราะลูกบ้านต่างให้ความเคารพนับถือในฐานะที่ท่านเป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางและเยือกเย็นเป็นทีประจักษ์มาช้านาน

สำหรับพระอาจารย์ฝั้น เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยรุ่น มีความประพฤติเรียบร้อย อ่อนโยน อุปนิสัยในคอเยือกเย็นและกว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดา ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค หนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดามารดาและญาติพี่น้อง โดยไม่เห็นแก่ความลำบากยากเย็นใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนในด้านการศึกษานั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เริ่มเรียนหนังสือมาตั้งแต่ครั้งยังอยู่ที่บ้านม่วงไข่ โดยเข้าศึกษาที่วัดโพธิชัย แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่ มูลบทบรรพกิจเล่ม ๑-๒ ซึ่งเป็นแบบเรียนที่วิเศษสุดในยุคนั้น ผู้ใดเรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน ผู้เป็นอาจารย์สอนหนังสือแก่ท่านในครั้งนั้น ได้แก่พระอาจารย์ตัน (บิดาของพันตรีนายแพทย์ตอง วุฒิสาร) กับนายหุ่น (บิดาของนายบัวดี ไชยชมภู ปลัดอำเภอพรรณานิคม)

ปรากฏว่า ท่านมีความหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ให้เป็นครูสอนเด็กๆ แทน ในขณะที่อาจารย์มีกิจจำเป็น

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ไปศึกษาต่อกับนายเขียน อุปพงศ์ พี่เขยที่เป็นปลัดขวา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปเป็นปลัดขวา อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย

เมื่อจบการศึกษา อ่านออกเขียนได้อย่างแตกฉานแล้ว พระอาจารย์ฝั้นมีความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ เพราะเป็นงานที่มีหน้ามีตา ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในสมัยนั้น แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมเสียโดยสิ้นเชิง

สาเหตุที่ท่านเกิดไม่ชอบงานราชการนั้น ก็เพราะเมื่อครั้งไปเล่าเรียนกับพี่เขยที่ขอนแก่น พี่เขยไห้ใช้เอาปิ่นโตไปส่งให้นักโทษอยู่เสมอ นักโทษคนหนึ่งคือ พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่นนั้นเอง ท่านต้องโทษฐานฆ่าคนตาย จึงถูกคุมขังตามกระบิลเมือง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการถูกจำคุกอีกบางคน เช่น นายวีระพงศ์ ปลัดซ้าย เป็นต้น ต่อมาพี่เขยได้ย้ายไปเป็นปลัดขวาที่อำเภอกุดป่อง จังหวัดเลย ครั้นเมื่อท่านเดินทางไปเยี่ยม ก็พบพี่เขยต้องหาฆ่าคนตายเข้าอีก เมื่อได้เห็นข้าราชการใหญ่โตได้รับโทษ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยานาหมื่นดังกล่าว ท่านจึงเปลี่ยนใจ ไม่อยากเข้ารับราชการเหมือนกับคนอื่นๆ รีบลาพี่เขยกลับสกลนครทันที ซึ่งสมัยนั้นการคมนาคมมีทางเดียวคือทางบก จากจังหวัดเลยผ่านอุดรธานีถึงสกลนคร ท่านต้องเดินเท้าเปล่าและต้องนอนค้างกลางทางถึง ๑๐ คืน

ปรากฏว่า สภาพของบรรดานักโทษที่ท่านประสบมาทั้งโทษหนักโทษเบา ได้มาเป็นภาพติดตาท่านอยู่เสมอตั้งแต่นั้น นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต

เมื่อกลับมาจากจังหวัดเลยมาถึงบ้านแล้ว (ในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี) ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านเอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า

ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้นจนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุดจนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติศาสนาที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่านและรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก

ครั้นถึงอายุ ๒๐ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดสิทธิบังคม ที่บ้านไฮ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยพระครูป้อง (นนทะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับ พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ท่านได้ท่องบ่นเจ็ดตำนานจนจบบริบูรณ์ ขณะเดียวกันพระอุปัชฌาย์ของท่านก็ได้สอนให้รู้จักวิธีเจริญกัมมัฏฐานตลอดพรรษาด้วย

ออกพรรษาปีนั้น ท่านได้กลับมาอยู่ที่วัดโพนทอง ซึ่งมีท่านอาญาครูธรรม เป็นเจ้าอาวาส (ภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร) ท่านอาญาครูธรรมชอบฝึกกัมมัฏฐานให้พระลูกวัดเสมอ หลังออกพรรษาระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือน ๔ ท่านได้ชักชวนพระลูกวัดออกเที่ยวธุดงค์ ไปฝึกหัดภาวนาเจริญกัมมัฏฐานตามเขาลำเนาไพร ตามถ้ำตามป่าช้าต่างๆ ที่เป็นที่วิเวก ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ติดตามไปด้วย

การฝึกหัดภาวนาในสมัยนั้น มีวิธีฝึกใจให้สงบโดยอาศัยการนับลูกประคำ กล่าวคือ เอาลูกมะแทน ๑๐๘ ลูก ร้อยเป็นพวงคล้องคอ หรือพันข้อมือไว้ เวลาเจริญพุทธานุสติกัมมัฏฐานจะด้วยการนั่ง การนอน หรือจะยืน จะเดินก็ดี เมื่อบริกรรมว่า พุทโธๆ จะต้องนับลูกมะแทนไปด้วยทีละลูก คือนับ พุทโธ ๑๐๘ เท่าลูกมะแทน เมื่อถึงบทธัมโมและสังโฆ ก็ต้องนับเช่นเดียวกัน หากนับพลั้งเผลอ แสดงว่าจิตใจไม่สงบ ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ที่พุทโธ ๑ อีก เป็นการฝึกที่ดูเผินๆ น่าจะง่าย แต่เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง จะเห็นว่าไม่ง่ายดั่งใจนึก เพราะต้องบริกรรมอยู่ตลอดเวลาด้วยจิตที่เป็นสมาธิ เว้นไว้แต่เวลาที่นอนหลับ และเวลาที่ฉันจังหันเท่านั้น

ใน พ.ศ. ๒๔๖๓ เดือน ๓ ข้างขึ้น เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์ฝั้นได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และได้ปวารณาตนขอเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สาเหตุที่พบกันมีอยู่ว่า ระยะเวลาดังกล่าว พระอาจารย์มั่นพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ได้เที่ยวธุดงค์ไปพักที่วัดป่าภูไทสามัคคี บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ญาติโยมทั้งหลายในบ้านม่วงไข่ ได้พากันไปนมัสการและขอฟังพระธรรมเทศนาของท่าน สำหรับพระภิกษุที่ไปร่วมฟังด้วย มีท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น

พระอาจารย์มั่นได้แสดงพระธรรมเทศนาเบื้องต้นในเรื่องการให้ทาน รักษาศีล และการบำเพ็ญภาวนา ตามขั้นภูมิของผู้ฟัง ว่าการให้ทานและการรักษาศีลภาวนานั้น ถ้าจะให้เกิดผลานิสงส์มากจะต้องละจากความคิดเห็นที่ผิดให้เป็นถูกเสียก่อน ท่านยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวชาวบ้านมากที่สุดขึ้นอ้างว่า ชาวบ้านม่วงไข่นั้นส่วนใหญ่นับถือภูตผีปีศาจ ตลอดจนเทวดาและนางไม้เป็นสรณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลวไหล ไร้เหตุผล ท่านได้แสดงข้อเท็จจริงขึ้นหักล้างหลายประการ และได้แสดงพระธรรมเทศนาอันลึกซึ้ง จนกระทั่งชาวบ้านเห็นจริง ละจากมิจฉาทิฏฐิ เลิกนับถือภูตผีปีศาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

โยมผู้หนึ่งคือ อาชญาขุนพิจารณ์ (บุญมาก) สุวรรณรงค์ ผู้ช่วยสมุหบัญชี อำเภอพรรณานิคม ซึ่งเป็นบุตรชายของพระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคม คนที่ ๔ และเป็นนายอำเภอพรรณานิคมคนแรกในสมัยรัชกาลที่ห้า ได้กราบเรียนถามพระอาจารย์มั่นว่า เหตุใดการให้ทานหรือการรับศีลจึงต้องตั้ง นโม ก่อนทุกครั้ง จะกล่าวคำถวายทานและรับศีลเลยทีเดียวไม่ได้หรือ พระอาจารย์มั่นได้แสดงธรรมเรื่องนโมอย่างลึกซึ้งให้ฟัง

“เหตุใดหนอ นักปราชญ์ทั้งหลาย จะสวดก็ดี จะรับศีลก็ดี หรือจะทำการกุศลใดๆ ก็ดีจึงต้องตั้ง นโม ก่อนจะทิ้ง นโม ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ นโม ก็ต้องเป็น สิ่งสำคัญ จะยกขึ้นพิจารณา ได้ความปรากฏว่า น คือธาตุน้ำ โม คือธาตุดิน พร้อมกับบทพระคาถาขึ้นมาว่า

มาตาเปตฺติกสมฺภโว โอทนกุมฺมาสปจฺจโย

สัมภวธาตุของมารดาบิดาผสมกันจึงเป็นตัวตนขึ้นมา เมื่อคลอดจากครรภ์มารดาแล้วก็ได้รับข้าวสุกและขนมกุมมาสเป็นเครื่องเลี้ยงจึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้

“น” เป็นธาตุ ของมารดา โม เป็นธาตุของบิดา ฉะนั้น เมื่อธาตุทั้ง ๒ ผสมกันเข้าไป ไฟธาตุของมารดาเคี่ยวเข้าจนได้นามว่า “กลละ” คือ น้ำมันหยดเดียว ณ ที่นี้เอง ปฏิสนธิวิญญาณเข้าถือปฏิสนธิได้ จิตจึงได้ปฏิสนธิในธาตุ “นโม” นั้น

เมื่อจิตเข้าไปอาศัยแล้ว “กลละ” ก็ค่อยเจริญขึ้นเป็น “อัมพุชะ” คือ เป็นก้อนเลือด เจริญจากก้อนเลือดมาเป็น “ฆนะ” คือ แท่งและ เปสี คือ ชิ้นเนื้อ แล้วขยายตัวออกคล้ายรูปจิ้งเหลน จึงเป็น ปัญจสาขา คือ แขน ๒ ขา ๒ หัว ๑

ส่วนธาตุ “พ” คือ ลม “ธ” คือ ไฟนั้น เป็นธาตุเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจาก กลละ นั้นแล้ว กลละ ก็ต้องเข้ามาอาศัยภายหลัง เพราะจิตไม่ถือ เมื่อละจากกลละนั้นแล้ว กลละ ก็ต้องทิ้งเปล่า หรือ สูญเปล่า ลม และไฟก็ไม่มี คนตาย ลมและไฟก็ดับหายสาบสูญไป จึงว่าเป็นธาตุอาศัย ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ธาตุทั้ง ๒ คือ นโม เป็นดั้งเดิม

ในกาลต่อมาเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ต้องอาศัย “น” มารดา “โม” บิดาเป็นผู้ทะนุถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมา ด้วยการให้ข้าวสุก และขนมกุมมาสเป็นต้น ตลอดจนการแนะนำสั่งสอนความดีทุกอย่าง

ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า “ปุพพาจารย์” เป็นผู้สอนก่อนใครๆ ทั้งสิ้น มารดาบิดาเป็นผู้มีเมตตาจิตต่อบุตรธิดาจะนับจะประมาณมิได้ มรดกที่ท่านทำให้กล่าวคือ รูปกายนี้แลเป็นมรดกดั้งเดิม ทรัพย์สินเงินทองอันเป็นภายนอก ก็เป็นไปจากรูปกายนี้เอง ถ้ารูปกายนี้ไม่มีแล้วก็ทำอะไรไม่ได้ ชื่อว่าไม่มีอะไรเลย

เพราะเหตุนั้นตัวของเราทั้งตัวนี้เป็น “มูลมรดก” ของมารดาบิดาทั้งสิ้น จึงว่าคุณของท่านจะนับจะประมาณมิได้เลย ปราชญ์ทั้งหลายจึงหาได้ละทิ้งไม่

เราต้องเอาตัวเราคือ นโม ตั้งขึ้นก่อน แล้วจึงทำกิริยา น้อมไหว้ลงภายหลัง นโม ท่านแปลว่านอบน้อมนั้นเป็นการแปลเพียงกิริยา หาได้แปล ต้นกิริยาไม่

มูลมรดกนี้แลเป็นต้นทุนทำการฝึกหัดปฏิบัติตน ไม่ต้องเป็นคนจนทรัพย์สำหรับทำทุนปฏิบัติ

นโม เมื่อกล่าวเพียง ๒ ธาตุเท่านั้นยังไม่สมประกอบ หรือยังไม่เต็มส่วน ต้องพลิกสระพยัญชนะดังนี้ คือ เอาสระอะ จากตัว “น” มาใส่ตัว “ม” เอา สระโอจากตัว “ม” มาใส่ตัว “น” แล้วกลับตัวมะ มาไว้หน้าตัว โน เป็น มโน แปลว่า ใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้ทั้งกายทั้งใจ เต็มตามสมควรแก่การใช้เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติได้

มโน คือ ใจ นี้เป็นดั้งเดิมเป็นมหาฐานใหญ่ จะทำจะพูดอะไรก็ย่อมเป็นไปจากใจนี้ทั้งหมดได้ในพระพุทธพจน์ว่า

มโนปุพฺพงฺ คมา ธมฺมา มโนเสฎฐา มโมยา

ธรรมทั้งหลายมีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ

พระบรมศาสดาจะทรงบัญญัติพระธรรมวินัยก็ทรงบัญญัติออกไปจากใจ คือ มหาฐานนี้ทั้งสิ้น

เหตุนี้เมื่อพระสาวกผู้ได้มาพิจารณาตามจนถึงรู้จัก นโม แจ่มแจ้งแล้ว มโน ก็สุดบัญญัติ คือพ้นจากบัญญัติทั้งสิ้น

สมบัติทั้งหลาย ในโลกนี้ต้องออกไปจากนโมทั้งสิ้น ของใครก็ก้อนของใคร ต่างคนต่างถือเอาก้อนอันนี้ ถือเอาเป็นสมบัติ บัญญัติตามกระแสแห่งน้ำ โอฆะ จนเป็นอวิชชาตัวก่อภพก่อชาติด้วยการไม่รู้เท่า ด้วยการหลงถือว่าตัวเป็นเราเป็นของเราไปหมด”


เมื่อแสดงจบ ญาติโยมน้อยใหญ่ต่างเชื่อถือและเลื่อมใสเป็นอันมาก พากันสมาทานรับเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ตั้งแต่นั้นมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้ ส่วนท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบลง ก็บังเกิดความปีติยินดีและเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านเกิดกำลังใจมุมานะอยากบังเกิดความรอบรู้เหมือนพระอาจารย์มั่น จึงปรึกษาหารือกันว่า พระอาจารย์มั่น ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือในชั้นสูง คือเรียนสนธิ เรียนมูลกัจจายน์ ประถมกัปป์ ประถมมูล จนกระทั่งสำเร็จมาจากเมืองอุบล จึงแสดงพระธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งและแคล่วคล่องไม่ติดขัด ประดุจสายน้ำไหล พวกเราน่าจะต้องตามรอยท่าน โดยไปร่ำเรียนจากอุบลฯ ให้สำเร็จเสียก่อน จึงจะแปลอรรถธรรมได้เหมือนท่าน เมื่อปรึกษาหารือกันแล้ว ได้พากันปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ต่อพระอาจารย์มั่น รับเอาข้อวัตรปฏิบัติ ถือธุดงควัตรโดยเคร่งครัด กับได้ขอติดสอยห้อยตามท่านอาจารย์มั่นไปด้วย แต่ท่านพระอาจารย์มั่นท่านคอยไม่ได้ เพราะทั้งสามท่านยังไม่พร้อมในเรื่องบริขารสำหรับธุดงค์ จึงออกเดินทางไปก่อน พระอาจารย์ทั้งสามต่างได้รีบจัดเตรียมบริขารสำหรับธุดงค์อย่างรีบด่วน เมื่อพร้อมแล้ว จึงออกติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปทั้งสามท่าน

เหตุที่พระอาจารย์มั่นออกเดินทางไปโดยไม่คอยในครั้งนั้น ได้มีการสันนิษฐานในภายหลังว่า พระอาจารย์มั่นเห็นว่า พระอาจารย์ทั้งสามตัดสินใจอย่างกะทันหันเกินไป ท่านต้องการจะให้ตรึกตรองอย่างรอบคอบสักระยะเวลาหนึ่งก่อน แต่พระอาจารย์ทั้งสาม ได้บังเกิดศรัทธาอย่างแก่กล้าในตัวพระอาจารย์มั่นโดยไม่อาจถอนตัวได้เสียแล้ว จึงไม่ยอมเลิกล้มความตั้งใจดังกล่าว

ในระหว่างนั้น พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์ อดีตเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดสุรินทร์ หรือปัจจุบันเรียกว่า เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย) ได้เที่ยวตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยเหมือนกัน โดยเดินธุดงค์เลียบฝั่งแม่น้ำโขงมาจนถึงบ้านม่วงไข่ แล้วจึงได้ไปพักอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย เมื่อท่านอาญาครูดี พระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปพบพระอาจารย์ดูลย์ที่วัดนั้น จึงได้ศึกษาธรรมเบื้องต้นกับท่านอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง และเนื่องจากต่างก็มีความประสงค์จะตามหาพระอาจารย์มั่นด้วยกันอยู่แล้ว ดังนั้นพระอาจารย์ทั้ง ๔ จึงได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตาม โดยพระอาจารย์ดูลย์รับหน้าที่เป็นผู้นำทาง

เมื่อธุดงค์ติดตามไปถึงตำบลบ้านคำบก อำเภอหนองสูง (ปัจจุบัน อำเภอคำชะอี) จังหวัดนครพนม จึงทราบว่า พระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านห้วยทราย และกำลังเดินธุดงค์ต่อไปยังอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์ทั้งสี่จึงรีบติดตามไปอย่างเร่งรีบ จนกระทั่งไปทันพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน ตำบลตาลเนิ้ง อำเภอสว่างแดนดิน

พระอาจารย์ทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมอยู่กับพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ วัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ ที่บ้านหนองดินดำแล้วไปหาพระอาจารย์สิงห์ ที่บ้านหนองหวาย ตำบลเดียวกัน ศึกษาธรรมอยู่กับท่านอีก ๗ วัน จากนั้นก็ได้กลับไปอยู่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอๆ

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้น กับสามเณรพรหม สุวรรณรงค์ ผู้มีศักดิ์เป็นหลาน ได้เดินธุดงค์ไปอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และได้ไปภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบท ก่อนเดินทางไปยังถ้ำพระบทแห่งนี้ ได้มีผู้เล่าให้ท่านฟังว่าที่ถ้ำนั้นผีดุมาก โดยเฉพาะที่ปากถ้ามีต้นตะเคียนสูงใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง มีเถาวัลย์ห้อยระโยงระยางอยู่เกะกะ และมืดครึ้มน่ากลัวยิ่ง ผู้ไม่กลัวผี เมื่อไปภาวนาอยู่ในถ้ำดังกล่าว ต่างก็เคยถูกผีหลอกมาแล้วมากต่อมาก เช่นมาหว่านดินรบกวนบ้าง หรือบางทีก็เขย่าต้นไม้ให้ดังเกรียวกราวบ้าง เป็นต้น

พระอาจารย์ฝั้นได้ฟังคำบอกเล่าดังนั้น จึงได้กล่าวว่า เกิดมายังไม่เคยเห็นผี หรือถูกผีหลอกเลยสักครั้ง เพียงแต่มีคนเล่ากันต่อๆ มาว่ามีผี ทั้งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยว่าผีหักคอคนไปกินทั้งดิบๆ ถ้าเป็นเสือสางหรือสัตว์อื่นๆ ที่ดุร้ายละก็ไม่แน่ จากนั้นก็พาสามเณรพรหมเดินทางต่อไปจนกระทั่งถึงถ้ำพระบทเมื่อเวลา ๕ โมงเย็นเศษๆ

เมื่อช่วยกันทำความสะอาดตามบริเวณปากทางถ้ำและในถ้ำแล้ว ได้พากันไปอาบน้ำที่อ่างหินใกล้ๆ แล้วกลับมากางกลด กับเตรียมน้ำร้อนน้ำฉัน เสร็จแล้วก็ออกเดินจงกรม โดยพระอาจารย์ฝั้นเดินจงกรมอยู่ทางทิศตะวันออกของกลด ส่วนสามเณรพรหม เดินทางทิศตะวันออก ต่างเดินจงกรมด้วยจิตใจอันสงบและมั่นคง ไม่ปรากฏสิ่งผิดปกติใดๆ มาแผ้วพานตลอดทั้งคืน

ต่อมาในคืนที่ ๒ ได้มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างภาวนาอยู่ในกลด สมดังที่มีผู้เล่าไว้ กล่าวคือ ได้ยินเสียงต้นไม้เขย่าดังเกรียวกราวอยู่เป็นระยะๆ เมื่อได้ยินครั้งแรก พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหมต่างก็ขนลุกซู่ด้วยความตกใจ แต่ก็เร่งภาวนาอย่างเต็มที่เพื่อวางใจให้สงบ ในที่สุดขนที่ลุกซู่ก็เหือดหาย จิตใจก็เป็นปกติและเกิดความกล้าหาญขึ้น พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหมจึงได้ออกจากกลดมาพิสูจน์ว่าเสียงต้นไม้ที่ดังเกรียวกราวเกิดจากอะไรแน่ คืนนั้นเป็นคืนเดือนหงาย จึงได้เห็นบ่างขนาดใหญ่ ๓ ตัว ตัวโตเท่าแมว บินฉวัดเฉวียนอยู่บริเวณต้นตะเคียนใหญ่ บางทีก็กระพือขึ้นไปตามเถาวัลย์ แล้วเขย่ากิ่งตะเคียนเล่น สะเก็ดจากกิ่งและใบที่แห้งร่วงหล่นลงมานั้นเหมือนผีมาเขย่าต้นไม้ไม่มีผิด

ในคืนต่อมา เสียงเขย่าต้นไม้ก็ยังปรากฏอยู่ทุกคืน แต่พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหม ได้ประจักษ์ความจริงเสียแล้ว จึงมิได้สนใจอีกต่อไป

ระหว่างบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่ถ้ำพระบทนั้น การบิณฑบาตก็ได้อาศัยเพียงตายายชาวไร่สองคนผัวเมียไม่มีลูก ซึ่งไปปลูกบ้านอยู่กลางดง ห่างถ้ำประมาณ ๑๐๐ เส้น ทั้งคู่ประกอบอาชีพในการทำไร่ข้าวและปลูกพริกปลูกฝ้าย เมื่อบิณฑบาตแต่ละครั้งได้ข้าววันละปั้นและพริกกับเกลือเท่านั้น ตกเย็นท่านก็ฉันยาดองด้วยน้ำมูตร กล่าวคือลูกสมอมาดองกับน้ำมูตรของท่านเองในกระบอกไม่ไผ่แล้วเผาไฟให้สุก

เมื่อครบ ๑๕ วันแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้พาสามเณรพรหมออกเที่ยวธุดงค์ต่อไป โดยตั้งใจว่าจะไปให้ถึงภูเขาควายในประเทศลาว แต่ในที่สุดเมื่อข้ามโขงไปแล้วก็เปลี่ยนใจ เพราะจากการสอบถามทางไปภูเขาควายกับพระภิกษุบางรูป และชาวบ้าน ได้รับคำบอกเล่าว่า ขณะนี้ฝรั่งเศสเข้มงวดกวดขันการเข้าประเทศมาก ท่านตรองดูแล้วเห็นว่า หนังสือเดินทางก็ไม่มี ใบสุทธิก็มิได้ติดตัวมาด้วย หากเกิดเรื่องขึ้นจะลำบาก ญาติโยมที่จะช่วยเหลือก็ไม่มี เพราะต่างบ้านต่างเมือง อีกประการหนึ่ง เมื่อภาวนาออกนอกลู่นอกทาง ก็ไม่มีผู้ใดจะปรึกษาแก้ไข เพราะห่างไกลครูบาอาจารย์ จึงตกลงเดินทางกลับ แต่มิได้กลับตามเส้นทางเดิม คราวนี้เดินเลียบฝั่งโขงขึ้นไปทางเหนือน้ำ โดยเดินไปตามทางเดินแคบๆ สองข้างทางเป็นป่าทึบ ทางเดินที่ปรากฏรอยตะกุยของเสืออยู่บ่อยๆ ทั้งเก่าทั้งใหม่คละกันไปเรื่อย ยิ่งตอนที่ตะวันลับไม้ จะได้ยินเสียงเสือคำรามร้องก้องไปทั้งหน้าหลัง แม้จะภาวนาอยู่ตลอดทาง แต่จิตใจก็อดหวั่นไหวไม่ได้ จนบางครั้งถึงกับภาวนาผิดๆ ถูกๆ เพราะไม่แน่ใจเอาเสียเลย ว่ามันจะโจนเข้าตะครุบเอาเมื่อไหร่

เพื่อให้กำลังใจกล้าแข็งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นได้อุทานภาษิตอีสานขึ้นมาบทหนึ่ง ซึ่งท่านเคยพูดถึงบ่อยๆ เมื่อครั้งยังเป็นฆราวาสว่า

“เสือกินโค กินควาย เพิ่นช้าใกล้ สื่อกินอ้าย เพิ่นช้าไกล”

ภาษิตบทนี้ ท่านอธิบายให้ศิษย์ฟังในระยะหลังว่า ถ้าเสือกินโคหรือกินควาย เสียงร่ำลือจะไม่ไปไกลเพราะเป็นเรื่องธรรมดา คงร่ำลือเฉพาะในหมู่บ้านนั้นๆ แต่ถ้าหากเสือกินคนหรือกินพระกัมมัฏฐานแล้ว ผู้คนจะร่ำลือไปไกลมากทีเดียว

ภาษิตที่ท่านอุทานขึ้นมาบทนั้น ยังผลให้ท่านข่มความกลัวในจิตใจได้ดีขึ้น ขณะเดียวกันก็บังเกิดความกล้า พร้อมที่จะเผชิญเหตุการณ์ทุกวิถีทาง พระกัมมัฏฐานกลัวสัตว์ป่าก็ไม่ใช่พระกัมมัฏฐาน

นอกจากภาษิตข้างต้น ท่านยังกล่าวต่อไปอีกว่า

ภาษิตบทนี้มีความหมายว่า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดนั้น มันฝังแน่นอยู่ในสันดานของมนุษย์ เช่นเดียวกับจระเข้ที่กบดานแน่นิ่งอยู่ใต้น้ำ นานๆ จึงจะโผล่หัวขึ้นมานอนอ้าปากตามชายฝั่ง พอแมลงวันเข้าไปไข่ มันจะคลานลงน้ำแล้วอ้าปากตรงผิวน้ำ เพื่อให้ไข่แมลงวันไหลออกไปเป็นเหยื่อปลา และเมื่อใดที่ปลาใหญ่ปลาเล็ก หลงเข้าไปกินไข่แมลงวันในปากของมัน มันก็จะงับปลากลืนกินไปทันที ส่วนกระท้างนั้นก็เช่นเดียวกับกระรอก ซึ่งหัวหางกระดุกกระดิกอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น หากกำคอจระเข้และคอกระท้างไว้ให้มั่น ไม่ปล่อยให้จระเข้มันฟาดหาง และไม่ยอมให้กระท้างกระดุกกระดิกได้ จิตใจก็จะสงบเป็นปกติ ไม่กลัวเกรงต่อภยันตราย ถึงเสือจะคาบไปกินก็ไม่กระวนกระวายเป็นทุกข์

ท่านกล่าวกับสามเณรพรหมในตอนนั้นอีกด้วยว่า เมื่อเรามีสติ กำหนดรู้เท่าทันมันดีแล้ว

“การตายนั้นถึงตายคว่ำก็ไม่หน่าย จะตายหงายหน้าก็ไม่จ่ม”

กล่าวคือไม่ว่าจะตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม สุคติเป็นหวังได้เสมอไป ดังนี้

หลังจากข่มสติให้หายกลัวเสือได้สำเร็จ การเที่ยวธุดงค์ก็เต็มไปด้วยความปลอดโปร่ง และต่อมาไม่นานนัก พระอาจารย์ฝั้นกับสามเณรพรหมก็บรรลุถึงท่าน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเรือรับส่งข้ามฟากกันอยู่เป็นประจำ จึงเรียกเรือมารับแล้วข้ามกลับมาฝั่งไทย

พอขึ้นฝั่งพักผ่อนได้ชั่วครู่ พระอาจารย์ฝั้นก็พาสามเณรพรหม เดินทางไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่บ้านนาสีดา ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เมื่อนมัสการพระอาจารย์มั่นเรียบร้อยแล้ว

ทั้งๆ ที่พระอาจารย์ฝั้นยังไม่ได้กราบเรียนให้พระอาจารย์มั่นทราบถึงเรื่องราวที่ได้ประสบมา แต่พระอาจารย์มั่นก็สามารถหยั่งรู้ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เพราะจากการสนทนาตอนหนึ่ง พระอาจารย์มั่นได้กล่าวขึ้นมาลอยๆ ว่า

“ท่านฝั้น เณรพรหม ได้ผี ได้เสือเป็นอาจารย์น่ะดีแล้ว ผีกับเสือสอนให้รู้วิธีตั้งสมาธิให้มั่นคง สอนให้กำหนดจิตใจให้สงบ รู้เท่าความกลัว ว่าอะไรมันกลัวผี กลัวเสือ ถ้าจิตใจกลัว เสือมันกินจิตใจคนได้เมื่อไหร่ มันกินร่างของคนต่างหาก นี่แหละเขาจึงพูดกันว่า ผู้ไม่กลัวตาย ไม่ตาย ผู้กลัวตายต้องตายกลายเป็นอาหารสัตว์ ที่ท่านฝั้นใช้ภาษิตต่างๆ เป็นอุบายอันแยบคาย เตือนจิตใจให้รู้สึกตัวอยู่เสมอ ขณะได้ยินเสียงเสือนั้นชอบแล้ว”

ต่อจากนั้นพระอาจารย์มั่นได้ถามพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า จะไปเรียน “หนังสือใหญ่” คือเรียนประถมกัปป์ ประถมมูล กับมูลกัจจายน์ ตามที่ได้ตั้งใจไว้จริงๆ หรือ พระอาจารย์ฝั้นตอบว่า มีเจตนาไว้เช่นนั้นจริง พระอาจารย์มั่นเห็นความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของพระอาจารย์ฝั้นจึงบอกว่า ท่านฝั้น ไม่ต้องไปเรียนถึงเมืองอุบลหรอก อยู่กับผมที่นี่ก็แล้วกัน ผมจะสอนให้จนหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว หากยังไม่จุใจค่อยไปเรียนต่อทีหลัง ส่วนเณรพรหม เธอจะไปเรียนที่เมืองอุบลก็ได้ ตามใจสมัคร

สามเณรพรหมจึงได้แยกกันกับพระอาจารย์ฝั้น ตอนนั้นเป็นปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๔

สามเณรพรหมลงไปเมืองอุบล กับพระอาจารย์สิงห์ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นอยู่เรียน “หนังสือใหญ่” กับพระอาจารย์มั่น บางครั้งได้ออกบำเพ็ญภาวนาโดยลำพัง เมื่อขัดข้องสงสัยในข้ออรรถข้อธรรมอันใดก็กลับเข้ามาเรียนถามพระอาจารย์มั่น

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปทางอำเภอวาริชภูมิ ขณะไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองแสง เกิดอาพาธเป็นไข้หวัด เป็นอุปสรรคต่อการพำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเกิดความวุ่นวายในจิตใจ ทั้งกลางวันและกลางคืน อุบายแก้ไขที่เคยกำหนดรู้ได้ก็หลงลืมหมด ไม่ผิดอะไรกับการเดินป่า พบขอนไม้ใหญ่ขวางกั้น จะข้ามไปมันก็สูงขึ้น จะลอดหรือมันก็ทรุดต่ำลงติดดิน จะไปขวาไปซ้าย ขอนไม้มันก็เคลื่อนเข้ากางกั้นไว้ทุกครั้ง เป็นเช่นนี้ถึง ๓ คืน ก็ยังเอาชนะอุปสรรคไม่สำเร็จ

เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นออกไปบิณฑบาต กลับมาก็ฉันได้เพียงนิดหน่อย แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังตัดสินใจออกเดินธุดงค์ต่อ จัดแจงเครื่องบริขาร บ่าข้างหนึ่งสะพายบาตร บ่าอีกข้างหนึ่งแบกกลด ออกเดินไปทั้งๆ ที่ยังไม่หายอาพาธ ระหว่างทางท่านได้พบสุนัขตัวหนึ่ง กำลังแทะกระดูกอยู่ พอมันเห็นท่านก็วิ่งหนี แต่แล้วก็เลียบเคียงกลับมาแทะกระดูกต่อ เป็นเช่นนี้ถึง ๓ ครั้ง ทันใดท่านได้เกิดธรรมสังเวช บังเกิดความสลดขึ้นในใจเป็นอย่างมาก จึงถามตนเองว่า ขณะนี้เธอเป็นฆราวาสหรือพระกัมมัฏฐาน ถ้าเป็นฆราวาสก็เหมือนกับสุนัขแทะกระดูกนี่แหละ กระดูกมีเนื้อหนังเมื่อไหร่ อย่างมากก็กลืนลงคอไปได้แต่น้ำลายเท่านั้นเอง แต่นี่เธอเป็นพระกัมมัฏฐาน เท่าที่เธอภาวนาไม่สำเร็จมาถึง ๓ คืน ก็เพราะเธออยากสร้างโลก สร้างภพ สร้างชาติ สร้างวัฏฏสงสาร ไม่มีสิ้นสุดแห่งความคิด อยากมีบ้าน มีเรือน มีไร่มีนา มีวัวมีควาย อยากมีเมียมีลูกมีหลาน จะไปสร้างคุณงามความดีในที่ใดก็ไม่ได้ เพราะเป็นห่วงสมบัติ และห่วงลูกห่วงเมีย พร้อมกันนั้น พระอาจารย์ฝั้นก็กล่าวภาษิตขึ้นมาบทหนึ่ง มีข้อความดังนี้

“ตัณหารักเมีย เปรียบเหมือนเชือกผูกคอ ตัณหารักลูกหลาน เปรียบเหมือนปอผูกศอก ตัณหารักวัตถุข้าวของต่างๆ เปรียบเหมือนปอผูกตีน”

สมบัติพัสถานต่างๆ ที่สร้างสมไว้ เมื่อตายลงไม่เห็นมีใครหาบหามเอาไปได้เลยสักคนเดียว มีแต่คุณงามความดีกับความชั่วเท่านั้นที่ติดตัวไป พระอาจารย์ฝั้นปลงด้วยว่า ถ้าเธอเป็นพระกัมมัฏฐานไม่ควรคิดสร้างโลกวัฏฏสงสารเช่นนั้น ควรตั้งใจภาวนาให้รู้ให้เห็นในอรรถธรรมสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทั้งสิ้น

เมื่อกำหนดใจได้เช่นนั้น ไข้หวัดก็ดี ข้อขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างอาพาธก็ดี ก็ปลาศนาการไปสิ้น เกิดสติสัมปชัญญะ รู้อาการของจิตทุกลมหายใจเข้าออก

ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นจึงได้เดินธุดงค์กลับไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่วัดมหาชัย อำเภอหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี

เมื่อไปถึง พอกราบพระอาจารย์มั่นเสร็จ ท่านก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจอีกครั้งหนึ่ง เหมือนตอนกลับจากฝั่งลาวครั้งที่แล้ว เพราะพระอาจารย์มั่นได้หัวร่อขึ้นมาในทันใด แล้วกล่าวกับพระอาจารย์ฝั้นว่า

“ท่านฝั้น ครั้งก่อนได้ยินเสือร้อง จิตใจถึงสงบ มาครั้งนี้ได้หมาแทะกระดูกเป็นอาจารย์เข้าอีกแล้ว จึงมีสติรอบรู้ในอรรถในธรรม ท่านฝั้นถือเอาหมาแทะกระดูกเป็นอุบายอันแยบคายสำหรับเปลี่ยนจิตใจให้สงบจนสามารถทำให้เห็นแจ้งในธรรมนั้นได้ถูกต้อง ชื่อว่าเป็นศิษย์ของพระพุทธองค์โดยแท้ การเห็นอะไรแล้วน้อมนำเข้ามาพิจารณาภายในจิตเช่นนี้ เป็นการกระทำที่ชอบแล้ว”

น่าสังเกตว่า เมื่อพระอาจารย์ฝั้นสามารถฝึกจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคง บำเพ็ญภาวนาได้ตลอดรอดฝั่ง โดยอุปสรรคใดๆ ไม่อาจมารบกวนได้แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจขอรับการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เวลา ๑๕ น. ๒๒ นาที ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นที่พระครูสังฆวุฒิกร เป็นพระอุปัชฌายะ, พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ก่อนหน้านั้น ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีพระอาจารย์มารับการญัตติเป็นธรรมยุตอีก ๒ รูป คือ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์อุ่นฯ

นอกนั้นยังมีพระอาจารย์กว่า สุมโน อีกรูปหนึ่ง ซึ่งพออายุครบบวชก็ได้อุปสมบทเป็นพระธรรมยุติกนิกาย หลังจากพระอาจารย์ฝั้นญัตติเพียงไม่กี่วัน

สำหรับพระอาจารย์ฝั้น ภายหลังญัตติแล้ว ท่านก็เดินทางไปหาพระอาจารย์มั่นที่วัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคายและจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเลย

พระอาจารย์ต่างๆ ที่ร่วมจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ. ๒๔๖๘) ได้แก่
พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน
พระอาจารย์กว่า สุมโน
พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ
พระอาจารย์สาร
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
และยังมีพระภิกษุสามเณรอีกรวมถึง ๑๖ รูป

ระหว่างพรรษานั้น พระอาจารย์ฝั้นอาพาธเป็นไข้มาเลเรีย ออกพรรษาแล้วก็ยังไม่หายขาด ปรากฏว่า ระหว่างอาพาธอยู่นั้น แม้จะมีไข้จับ แต่เมื่อถึงวันประชุมฟังโอวาทจากพระอาจารย์มั่น ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ อุตส่าห์ไปฟังโอวาทมิได้ขาดเลยสักครั้งเดียว ยิ่งไปกว่านั้น การทำข้อวัตรปฏิบัติ เช่น ตักน้ำ และปัดกวาดบริเวณวัด ทำความสะอาดเสนาสนะ ท่านก็ร่วมทำกับภิกษุสามเณรอื่นๆ อยู่เสมอมา แม้จะมีผู้นิมนต์ให้ท่านหยุด ท่านก็ไม่ยอม การกระทำตนเหมือนมิได้ป่วยไข้ โดยใช้พลังจิตเข้าต่อสู้ดังกล่าว เป็นอุบายให้ท่านสามารถพลิกความป่วยเจ็บมาเป็นธรรมอริยสัจจขึ้นได้ จนกระทั่งพระอาจารย์มั่นถึงกับออกปากชมว่า “ท่านฝั้นได้กำลังใจมากนะ พรรษานี้”

เมื่อใกล้จะออกพรรษา พระอาจารย์มั่นได้ประชุมหมู่ศิษย์เพื่อเตรียมออกเที่ยวธุดงค์หาที่วิเวก และได้จัดหมู่ศิษย์ออกไปเป็นพวกๆ โดยจัดพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นให้ไปเป็นชุดเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีนิสัยต้องกันมาก นอกนั้นก็จัดเป็นชุดๆ อีกหลายชุด

ก่อนออกธุดงค์ พระอาจารย์มั่นได้สั่งไว้ด้วยว่า แต่ละชุดให้เดินธุดงค์เลียบภูเขา ภาวนาวิเวกไปตามแนวภูเขานั้น และแต่ละชุดก็ไม่จำเป็นต้องเดินธุดงค์ไปด้วยกันโดยตลอด ระหว่างทางท่านใดอยากไปพักวิเวก ณ ที่ใด เช่นตามถ้าซึ่งมีอยู่ตามทางก็ทำได้ เพียงแต่บอกเล่ากันให้ทราบ ในระหว่างพระภิกษุชุดเดียวกัน จะได้นัดหมายไปพบกันข้างหน้าเพื่อเดินธุดงค์ต่อไปได้อีก

ครั้นออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์อ่อนได้แยกไปทางภูเขาพระพุทธบาทบัวบก อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ส่วนพระอาจารย์ฝั้น ออกไปทางบ้านนาบง ตำบลสามขา (ปัจจุบันเป็นตำบลกองนาง) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วไปภาวนาอยู่ที่วัดร้างแห่งหนึ่ง

พระอาจารย์ฝั้นพักอยู่ที่วัดร้างนั้นอีกหลายวัน จึงออกเที่ยวธุดงค์ต่อไปโดยเลียบไปกับฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อเข้าเขตศรีเชียงใหม่ วันหนึ่งขณะที่ท่านออกเที่ยวไปจนค่ำ ไปพบศาลภูตาแห่งหนึ่งที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เป็นศาลากว้างครึ่งวา ยาว ๑ วา สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ ศอก มุงหลังคาด้วยแผ่นไม้เล็กๆ คล้ายกระเบื้อง เปิดโล่งสามด้านข้าง ท่านจึงเข้าไปอาศัยพัก ตอนย่ำรุ่ง มีคนแจวเรือมาจอดที่ริมฝั่งน้ำตรงกับบริเวณที่ตั้งศาลภูตานั้น แล้วยกมือขึ้นอธิษฐานด้วยเสียงอันดังว่า “ขอให้เจ้าแม่นางอั้วบันดาลให้ค้าขายดีๆ ร่ำรวย อยู่เย็นเป็นสุข” ท่านนึกขำ จึงออกเสียงแทนเจ้าแม่ไปว่า “เออ เอาซี” เล่นเอาผู้นั้นรีบแจวหนีไปอย่างตกอกตกใจ

ออกจากศาลภูตาแล้วท่านก็เที่ยวต่อไป และไปแวะที่วัดผาชัน (วัดอรัญญบรรพต) ซึ่งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกัน พักอยู่หลายวันจึงเลยไปถึงที่หินหมากเป้ง พักอยู่อีกระยะหนึ่ง ต่อมาจึงเดินทางย้อนกลับไปพบพระอาจารย์กู่และพระอาจารย์อ่อน ที่พระพุทธบาทบัวบกตามที่ตกลงกันไว้ก่อนแยกทาง แต่พอถึงบ้านผักบุ้ง เชิงเขาพระบาทบัวบก ก็ทราบว่าพระอาจารย์ทั้งสองได้ออกเดินธุดงค์ไปที่บ้านค้อแล้ว ท่านจึงพักอยู่ที่บ้านผักบุ้ง ๕ วัน โดยหาสถานที่สงบ เจริญกรรมมัฏฐานอยู่ตามภูเขาลูกนั้น

ระหว่างพำนักอยู่ที่นั่น มีเหตุการณ์อันไม่คาดฝันอุบัติขึ้น คือวันหนึ่งเมื่อท่านได้เดินขึ้นไปบนภูเขาเพื่อแสวงหาสถานที่สงบตามลำพัง ขณะผ่านราวป่าท่านถึงกับสะดุ้ง เพราะได้ยินเสียงผิดสังเกตห่างออกไปไม่มากนักทางด้านข้าง เป็นเสียงคล้ายสัตว์กำลังตะกุยดินอยู่ สามัญสำนึกบอกท่านว่าคงเป็นสัตว์ใหญ่ อาจเป็นสัตว์ร้าย และอาจเป็นเสือก็ได้

พอนึกถึงเสือ ท่านก็ยืนนิ่งตัวแข็ง แล้วในอึดใจนั้นเอง ขณะที่ท่านกำลังสำรวมจิตมิให้ตื่นเต้นต่อเหตุการณ์ที่จะบังเกิดขึ้น สัตว์ตัวนั้นก็ผงกหัวพ้นกอหญ้าอันรกทึบขึ้นมา

เสือจริงๆ นั่นแหละ เห็นจากหัวที่โผล่ขึ้นมา ตัวมันไม่ใช่เล็ก

พอแน่ใจว่าเป็นเสือ ท่านก็เย็นวาบไปตามไขสันหลัง เหงื่อเม็ดโป้งๆ ผุดขึ้นตามใบหน้า ความรู้สึกบอกตัวท่านโดยฉับพลันว่า ถ้าหันหลังวิ่ง เป็นเสร็จมันแน่ มันจะกระโจนเข้าใส่อย่างไม่มีปัญหา จึงพยายามสำรวมจิตใจให้แน่วแน่เพื่อรับกับสถานการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่างกะทันหัน ทุกลมหายใจในขณะนั้นมันให้ติดให้ขัด ไม่สะดวกดายเหมือนในภาวะธรรมดา

นับว่าท่านตัดสินใจรับสถานการณ์ได้ถูกต้อง เจ้าเสือร้ายจ้องดูท่านได้เพียง ๒-๓ อึดใจ ก็ร้องก้องป่าแล้วกระโจนหายกลับเข้าไปในป่า

บรรดาพระเณรข้างล่างได้ยินเสียงร้องของเสือ ก็ตามขึ้นมาตะโกนถามว่าเกิดอะไรขึ้น ครั้นเมื่อทราบความจริงแล้ว ทุกรูปต่างก็โล่งอก

หลังจากไปเที่ยวธุดงค์ไปหลายแห่งแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็กลับมายังวัดอรัญวาสี อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นวัดที่ท่านจำพรรษา แต่ขณะที่กลับมาถึง ปรากฏว่าก่อนหน้านั้น พระอาจารย์มั่นออกเดินธุดงค์ไปที่ตำบลหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ท่านจึงได้ติดตามไป พอถึงอำเภอสว่างแดนดิน ท่านก็เกิดอาพาธขึ้น การเดินทางจึงช้าลง และมาทราบภายหลังว่า พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และ พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ได้อาราธนานิมนต์พระอาจารย์มั่นไปอยู่บ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอศรีสงคราม) จังหวัดนครพนม พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามติดตามไปจนพบพระอาจารย์มั่น แต่อาการอาพาธของท่านก็ยังไม่หายดี พระอาจารย์มั่นจึงให้ท่านนั่งพิจารณาภายในร่างกายตลอดคืน ก็น่าอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย พอรุ่งเช้า อาการอาพาธของท่านก็หายไปราวปลิดทิ้ง ท่านจึงตั้งใจว่า ในปีต่อไปจะจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์มั่นอีก

พอเดือน ๗ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์ฝั้นได้เข้าร่วมทำญัตติกรรมพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร พร้อมทั้งพระภิกษุที่เป็นศิษย์ของท่านทั้งสองอีกประมาณ ๒๐ องค์ อีกด้วย ในจำนวนพระภิกษุที่มาทำการญัตติ มีพระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งครั้งนั้นยังเป็นสามเณรรวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง ที่อุทกุกเขปสีมา (โบสถ์น้ำ) หนองสามผง สำหรับโบสถ์น้ำที่ท่านจัดสร้างขึ้นนี้ ใช้เรือ ๒ ลำลอยเป็นโป๊ะ เอาไม้พื้นปูเป็นแพ แต่ไม่มีหลังคา เหตุที่สร้างโบสถ์น้ำทำสังฆกรรมคราวนี้ ก็เพราะในป่าจะหาโบสถ์ให้ถูกต้องตามพระวินัยไม่ได้ การทำญัตติกรรมครั้งนี้ ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งเป็นพระครูชิโนวาทธำรง มาเป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นอีก ๗ วัน ท่านอาญาครูดี ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ฝั้นมาก่อน ก็เดินทางมาขอญัตติอีกรูปหนึ่ง ณ ที่เดียวกันนี้

ก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๗ วัน กำนันบ้านดอนแดงคอกช้าง อำเภอท่าอุเทน (ปัจจุบันอยู่ในกิ่งอำเภอนาหว้า) จังหวัดนครพนม พร้อมด้วยลูกบ้านอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเลื่อมใสศรัทธาในคณะพระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ได้เข้ามาพบ และขอร้องให้พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง แต่พระอาจารย์มั่นมีเหตุอันจำเป็นต้องขัดข้อง จึงให้พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กว่า ไปจำพรรษาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง ตามที่ชาวบ้านปรารถนา ซึ่งนับเป็นพรรษาที่ ๒ ของพระอาจารย์ฝั้น

หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้เดินทางมาที่บ้านดอนแดงคอกช้าง พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรประมาณ ๗๐ รูป และได้มีการประชุมหารือกันในเรื่องที่จะไปเผยแพร่ธรรมและไปโปรดเทศนาญาติโยมที่เมืองอุบล พร้อมกันนั้นก็ได้หารือในการที่จะให้โยมมารดาของพระอาจารย์มั่น ย้ายไปอยู่ที่เมืองอุบลด้วย เมื่อตกลงกันแล้วก็ปฏิบัติไปตามนั้น

เมื่อส่งโยมมารดาของพระอาจารย์มั่นไปอยู่เมืองอุบลแล้ว ก็แยกเดินทางออกเป็นหมู่ๆ สำหรับพระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางออกจากบ้านดอนแดงคอกช้างกับพระอาจารย์กู่ พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์กว่า และพระเณรอีก ๒-๓ รูป เดินธุดงค์ไปตามป่าเขา ผ่านบ้านตาน บ้านนาหว้า บ้านนางัว-บ้านโพธิสว่าง จนถึงบ้านเชียงเครือ แล้วพักอยู่ที่สกลนคร ๗ วัน จึงออกเดินธุดงค์ไปทางอำเภอนาแก ลัดป่าข้ามภูเขาไปยังบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม แล้วเดินธุดงค์เข้าสู่เขตเมืองอุบล

ระหว่างเดินธุดงค์ร่วมกันมา พระอาจารย์อ่อนเกิดความวิตกและกล่าวขึ้นว่า เมื่อไปพบกับพระอาจารย์มั่นที่เมืองอุบลแล้ว ที่นั่นมีญาติโยมที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนแตกฉานเป็นปราชญ์อยู่มาก ถ้าโยมเหล่านั้นตั้งปัญหาธรรมต่างๆ พระอาจารย์มั่นคงต้องตอบได้ไม่ติดไม่คา แต่ถ้าถามพระอาจารย์มั่นแล้ววกมาถามพวกศิษย์อย่างเราๆ บ้าง ว่าจะเก่งเหมือนพระอาจารย์มั่นหรือไม่ประการใด พวกศิษย์อย่างเราจะตอบปัญหาได้หรือไม่ก็ไม่ทราบ พระอาจารย์ฝั้นได้กล่าวว่า จะกลัวไปทำไมในเรื่องนี้ ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นที่ใจ รวมอยู่ที่ใจ พวกเรารู้จุดรวมของธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว ตอบเขาไปวันยังค่ำก็ไม่มีอับจน เรื่องนี้ไม่ต้องวิตก พระอาจารย์อ่อนได้ฟังดังนั้นก็เกิดกำลังใจ หายวิตกไปได้

ทั้งหมดเดินธุดงค์ไปถึงบ้านหัววัว ตำบลกำแมด เมืองอุบล (ปัจจุบันอยู่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร) ก็พบพระอาจารย์มั่นคอยอยู่ที่นั่นก่อนแล้ว เมื่อศิษย์ทั้งหลายตามมาครบทุกชุด ก็เดินธุดงค์ต่อไป จนกระทั่งไปพักที่บ้านหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี แต่พระอาจารย์มั่นแยกไปพักที่บ้านหนองขอน ห่างจากบ้านหัวตะพานไปประมาณ ๕๐ เส้น โดยพระอาจารย์ฝั้นติดตามไปจัดเสนาสนะถวาย

ระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุติในภาคอีสาน ทราบข่าวว่าคณะพระกัมมัฏฐานของพระอาจารย์มั่น เดินทางมาพักอยู่ที่บ้านหัวตะพาน จึงสั่งให้เจ้าคณะแขวง อำเภอม่วงสามสิบ กับเจ้าคณะแขวงอำเภออำนาจเจริญ พร้อมด้วยนายอำเภออำนาจเจริญ ไปทำการขับไล่พระภิกษุคณะนี้ออกไปให้หมด ทั้งยังได้ประกาศด้วยว่า ถ้าผู้ใดใส่บาตรพระกัมมัฏฐานเหล่านี้จะจับใส่คุกให้หมดสิ้น แต่ชาวบ้านก็ไม่กลัว ยังคงใส่บาตรกันอยู่เป็นปกติ นายอำเภอทราบเรื่องจึงไปพบพระภิกษุคณะนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งมาว่า ในนามของจังหวัด ทางจังหวัดสั่งให้มาขับไล่ พระอาจารย์สิงห์ซึ่งเป็นคนจังหวัดอุบลฯ ได้ตอบโต้ไปว่า ท่านเกิดที่นี่ท่านก็ควรจะอยู่ที่นี่ได้ นายอำเภอไม่ยอม พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ช่วยพูดขอร้องให้มีการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันบ้าง แต่นายอำเภอก็ไม่ยอมท่าเดียว จากนั้นก็จดชื่อพระกัมมัฏฐานไว้ทุกองค์ รวมทั้งพระอาจารย์มั่น พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น พระอาจารย์เที่ยง พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สีลา ฯลฯ จนหมด แม้กระทั่งนามโยมบิดามารดา สถานที่เกิด วัดที่บวช ทั้งหมดมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐ รูป และพวกลูกศิษย์ผ้าขาวอีกมากร่วมร้อยคน นายอำเภอต้องใช้เวลาจดตั้งแต่กลางวันจนถึงสองยามจึงเสร็จ ตั้งหน้าตั้งตาจดจนกระทั่งไม่ได้กินข้าวเที่ยง เสร็จแล้วก็กลับไป

ทางฝ่ายพระอาจารย์ก็ประชุมปรึกษากันว่า ทำอย่างไรดีเรื่องนี้จึงจะสงบลงได้ ไม่ลุกลามออกไปเป็นเรื่องใหญ่ พระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นรับเรื่องไปพิจารณาแก้ไข

เสร็จการปรึกษาหารือแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็รีบเดินทางไปพบพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ซึ่งอยู่ห่างออกไป ๕๐ เส้น พระอาจารย์มั่น ทราบเรื่องจึงให้พระอาจารย์ฝั้นนั่งพิจารณา พอกำหนดจิตเป็นสมาธิแล้วปรากฏเป็นนิมิตว่า

“แผ่นดินตรงนั้นขาด”

คือแยกออกจากกันเป็นสองข้าง ข้างโน้นก็มาไม่ได้ ข้างนี้ก็ไปไม่ได้ พอดีสว่าง พระอาจารย์ฝั้นจึงเล่าเรื่องที่นิมิตให้พระอาจารย์มั่นฟัง

เช้าวันนั้นเอง พระอาจารย์มหาปิ่นกับพระอาจารย์อ่อน ได้ออกเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ เพื่อพบกับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะจังหวัดชี้แจงว่า ท่านไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย จากนั้นได้ให้นำจดหมายไปบอกนายอำเภอว่า ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องยุ่งยากทั้งหลายจึงได้ยุติลง

เมื่อผ่านพ้นเรื่องนั้นไปด้วยดีแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้กราบลาพระอาจารย์มั่นออกธุดงค์ ย้อนกลับไปเยี่ยม พระอาจารย์ดี ฉนฺโน ที่บ้านกุดแห่ ตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเลิงนกทา (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดยโสธร)

พระอาจารย์ดีต้อนรับขับสู้พระอาจารย์ฝั้นอย่างแข็งขัน จากการถามทุกข์สุข พระอาจารย์ดีได้แสดงความวิตกกังวลต่อพระอาจารย์ฝั้นเรื่องหนึ่งว่า ท่านได้สอนธรรมข้อปฏิบัติให้ญาติโยมทั้งหลายไปแล้ว แต่ญาติโยมบางคนเมื่อปฏิบัติแล้วได้เกิดวิปัสสนูกิเลส มีอันเป็นไปต่างๆ บางพวกออกจากการภาวนาเดินไปถึงสี่แยก เกิดเข้าใจเอาว่าเป็นทางเดินของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตเจ้า พวกนี้จะพากันคุกเข่ากราบไหว้อยู่ที่นั่นเป็นเวลานานจึงได้ลุกเดินไปบ้าง พอไปถึงสี่แยกหน้าก็เข้าใจผิด และปฏิบัติเช่นนี้อีกเรื่อยๆ บางคนลุกจากภาวนาได้ ก็ถอดผ้านุ่งผ้าห่มออกจนหมด เดินฝ่าญาติโยมที่นั่งภาวนาอยู่ด้วยกัน จนเกิดโกลาหลกันยกใหญ่ มีญาติโยมบางคนกราบไหว้พระอาจารย์ดี ให้ท่านช่วยไปแก้ไขให้ ท่านก็มิรู้จะแก้ได้อย่างไร เป็นเหตุให้กระวนกระวายใจมาเกือบปีแล้ว จึงขอความกรุณาให้พระอาจารย์ฝั้นช่วยแก้ไขให้ด้วย พระอาจารย์ฝั้นตรองหาทางแก้ไขอยู่ไม่นานนักก็รับปาก พระอาจารย์ดีจึงให้เณรเข้าไปป่าวร้องในหมู่บ้าน ให้บรรดาญาติโยมไปฟังธรรมโอวาทของพระอาจารย์ฝั้นที่วัดในตอนค่ำ

ถึงเวลานัด ญาติโยมทั้งหลายก็หลั่งไหลเข้าไปในวัด เริ่มแรกพระอาจารย์ฝั้นให้ญาติโยมเหล่านั้นยึดพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง เมื่อบูชาคุณพระรัตนตรัยแล้ว ท่านได้เริ่มเทศนาให้รู้จักแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อญาติโยมเข้าใจวิธีแก้แล้ว ท่านจึงนำเข้าที่ภาวนา เมื่อเห็นผู้ใดกำหนดจิตไม่ถูกต้อง ท่านก็เตือน ขณะเดียวกันท่านก็กำหนดจิตติดตามกำกับจิตของญาติโยมเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ญาติโยมที่เคยกำหนดจิตหลงทาง ต่างก็กลับมาเดินถูกทางไปทั้งหมด พอเลิกจากการภาวนา ต่างก็สาธุการ และแซ่ซ้องยินดีโดยทั่วกัน พากันกราบไหว้เคารพว่า ท่านอาจารย์ช่างเข้าใจวิธีแก้ได้เก่งมาก หากไม่ได้ท่าน พวกเขาอาจถึงกับเสียจริตไปก็ได้

พระอาจารย์ฝั้นได้นำพวกญาติโยมภาวนาติดต่อกันไปถึง ๔-๕ คืน เมื่อเห็นว่าต่างก็เดินถูกทางกันแล้ว ท่านก็กลับมากราบเรียนพระอาจารย์มั่นที่บ้านหนองขอน ให้ทราบเรื่องราวที่ได้ปฏิบัติไป

พระอาจารย์ฝั้นตั้งใจไว้ว่า ในปีนี้จะจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่นต่อไปอีก ขณะเดียวกันท่านอาจารย์กู่ก็ไปจำพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง อำเภอเดียวกัน ระยะนั้นปรากฏว่าฝนตกชุกมาก พระภิกษุประสบอุปสรรคไม่อาจไปร่วมทำอุโบสถได้สะดวก โดยเฉพาะที่บ้านบ่อชะเนง ไม่มีพระสวดปาฏิโมกข์ได้ พระอาจารย์มั่นจึงได้สั่งให้พระอาจารย์ฝั้นซึ่งสวดปาฏิโมกข์ได้ ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพระอาจารย์กู่ ที่บ้านบ่อชะเนง

ในระหว่างพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง พระอุปัชฌาย์ลุย เจ้าคณะตำบลบ้านเค็งใหญ่ ได้ทราบว่าพระอาจารย์กู่ และพระอาจารย์ฝั้นมาสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตตำบลของท่าน จึงเดินทางไปขับไล่ เพราะไม่ชอบพระกัมมัฏฐาน พระอุปัชฌาย์ลุยปรารภขึ้นว่า

“ผมมาที่นี่เพื่อไล่พวกท่าน และจะไม่ให้มีพระกัมมัฏฐานอยู่ในเขตตำบลนี้ ท่านจะว่าอย่างไร”

พระอาจารย์ฝั้นตอบไปว่า

“ท่านมาขับไล่ก็ดีแล้ว กัมมัฏฐานนั้นได้แก่อะไร ได้แก่ เกศา คือ ผม โลมา คือขน นขา คือ เล็บ ทันตา คือ ฟัน และ ตโจ คือ หนัง ท่านเจ้าคณะก็เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ได้สอนกัมมัฏฐานแก่พวกกุลบุตรที่เข้ามาบวชเรียนเป็นศิษย์ของท่าน ท่านก็คงสอนกัมมัฏฐานอย่างนี้ให้เขาไม่ใช่หรือขอรับ แล้วท่านจะมาขับไล่กัมมัฏฐานด้วยวิธีใดกันล่ะ เกศา - โลมา ท่านจะไล่ด้วยวิธีต้มน้ำร้อนลวก แบบฆ่าเป็ดฆ่าไก่ แล้วเอาคีมเอาแหนบมาถอนเช่นนี้หรือ ? ส่วน นขา - ทันตา และตโจ ท่านจะไล่ด้วยการเอาค้อนตี ตาปูตีเอากระนั้นหรือไร ? ถ้าจะไล่กัมมัฏฐานแบบนี้กระผมก็ยินดีให้ไล่นะขอรับ”

พระอุปัชฌาย์ลุยได้ฟังก็โกรธมาก พูดอะไรไม่ออก คว้าย่ามลงจากกุฏิไปเลย

ระหว่างพรรษาปีนั้น พระอาจารย์กู่กับพระอาจารย์ฝั้น ได้เทศนาสั่งสอนพวกญาติโยมบ้านบ่อชะเนงและบ้านอื่นๆ ใกล้เคียงมาตลอด ผู้คนต่างก็เลื่อมใสในปฏิปทาของท่านทั้งสองเป็นอย่างมาก ถึงกับให้ลูกชายลูกสาว บวชเป็นพระเป็นเณร และเป็นแม่ชีกันอย่างมากมาย

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นได้พาพระภิกษุสามเณร มาที่บ้านบ่อชะเนง แล้วปรึกษาหารือกันในอันที่จะเดินทางเข้าตัวจังหวัดอุบลฯ เพื่อเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดจนญาติโยมที่ศรัทธาต่อไป

เมื่อนัดหมายกันแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้เดินทางร่วมกับพระอาจารย์มั่นไปก่อน พักที่วัดสุทัศน์ฯ ๒ คืน วัดเลียบ ๒ คืน แล้วพักที่วัดบูรพาอีก ๑๐ คืน

ระหว่างพักที่วัดบูรพา พระอาจารย์มั่นได้พาโยมมารดาจากอุบลฯ ไปอยู่บ้านบ่อชะเนง ตามที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อจัดหาที่พักให้โยมมารดาเรียบร้อยแล้ว ก็มอบให้พระอาจารย์อุ่น รับภาระดูแลโยมมารดาต่อไป

ออกพรรษาครั้งนี้ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร ๓ รูป และลูกศิษย์ผ้าขาว ๒ คน ได้ลาพระอาจารย์มั่นออกเที่ยวธุดงค์ไปตามป่าเขา จนกระทั่งไปถึงบ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม

ขณะเสาะหาสถานที่บำเพ็ญภาวนาอยู่นั้น โยมผู้หนึ่งได้แจ้งแก่ท่านว่า ละแวกนี้มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อถ้ำจำปา ท่านจึงให้พาไป ครั้นพอไปถึงหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่งก็พากันหยุดพักพอหายเหนื่อยก็พากันเดินทางต่อไป เมื่อเดินไปได้พักใหญ่ก็ยังไม่ถึงสักที โยมชักละล้าละลัง แล้วก็บอกว่า ถ้าจะเลยมาเสียแล้ว จึงได้พากันเดินย้อนกลับมาที่หนองน้ำใหม่ ได้เดินกลับไปกลับมาเช่นนี้อยู่สองเที่ยว โดยวกไปเวียนมา ในที่สุดก็กลับมาที่เก่าทุกคราว โยมที่นำมาบอกว่า ไม่ใช่ที่เก่า ท่านจึงได้ชี้น้ำหมากที่ท่านได้บ้วนไว้ตอนหยุดพักเหนื่อยเมื่อสักครู่นี้ให้ดู โยมคนนั้นจึงได้ยอมจำนน แล้วได้พากันเดินทางต่อไป ในที่สุดก็พบถ้ำจำปาเอาเมื่อเวลาประมาณ ๕ โมงเย็น ต่างก็เข้าไปดูสภาพภายในถ้ำและจัดเตรียมที่ที่จะพักกันต่อไป

พระอาจารย์ฝั้นได้ถามโยมผู้นั้นอีกว่าหมู่บ้านอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะทราบที่บิณฑบาตและบริเวณนี้จะหาน้ำได้ที่ไหน โยมตอบว่า หมู่บ้านไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่ตรงไหนแน่ ส่วนน้ำอยู่ใต้ถ้ำ

คืนนั้น ในขณะที่ท่านได้นั่งสมาธิอยู่ ได้นิมิตเห็นทางคนเดิน และได้ยินเสียงวัวร้อง ท่านจึงได้มองตามทางสายนั้นไปเรื่อยๆ จนได้ระยะจากถ้ำประมาณ ๒๐๐ เส้น จึงเห็นโรงนาหลังหนึ่งและทางเข้าหมู่บ้านอยู่ใกล้ๆ ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นท่านพร้อมด้วย พระ เณร และลูกศิษย์ผ้าขาวคนหนึ่งได้ออกบิณฑบาต โดยตัวท่านเองเดินนำไปตามทาง ปรากฏว่า ระหว่างทางเป็นป่ารก ต้นไม้ก็ทึมทึบ สุดท้ายก็ได้พบโรงนาและทางเข้าหมู่บ้านซึ่งตรงกับที่ปรากฏในนิมิต ท่านจึงนำเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๗-๘ หลังคาเรือน ในตอนกลับ ทั้งหมดต่างก็กลับไม่ถูก ได้ถามชาวบ้านดู ก็ไม่มีใครรู้จักถ้ำจำปาเลยสักคนเดียว ทั้งนี้เนื่องจากชาวบ้านเหล่านี้เพิ่งจะอพยพมาอยู่และตั้งหมู่บ้านนี้ขึ้นได้เมื่อไม่นานมานี้เอง ยังไม่คุ้นกับภูมิประเทศในละแวกนี้ ท่านได้ออกปากถามถึงหนองน้ำใหญ่ ชาวบ้านก็รู้จักกันดี ท่านจึงได้ให้ชาวบ้านพาไปส่ง แล้วจับเส้นทางจากหนองน้ำกลับไปถ้ำ กว่าจะถึงก็เป็นเวลาล่วงเข้า ๓ โมงเช้าแล้ว

ที่ถ้ำจำปา พระอาจารย์ฝั้นได้พักทำความเพียรอยู่เป็นเวลาถึง ๒๐ วัน จึงได้เดินทางกลับไปที่บ้านบ่อชะเนง พอไปถึงได้ทราบว่า เจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดสระปทุม ได้พาพระอาจารย์มั่นเข้ากรุงเทพฯ ไปแล้ว เมื่อไม่พบพระอาจารย์มั่น ท่านจึงได้เดินทางย้อนกลับไปยังบ้านหนองสูงอีก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2019, 21:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


ในพรรษาที่ ๔ ของพระอาจารย์ฝั้น คือ พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้จำพรรษาอยู่สำนักสงฆ์ ที่หนองน่อง บ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นที่พระอาจารย์มั่นได้เคยจำพรรษาเมื่อปี ๒๔๖๔ ระหว่างที่จำพรรษาท่านได้อาพาธโรคกระเพาะ อาการหนักมาก แต่พอออกพรรษาก็ค่อยหายเป็นปกติ จึงได้เดินทางย้อนกลับมาที่อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลฯ อีกครั้ง และได้ร่วมปรึกษาหารือกับพระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ที่บ้านหัววัวว่า ขณะนี้จังหวัดขอนแก่นมีเหตุการณ์ไม่สู้ดี ควรลงไปช่วยเจ้าคุณพระพิศาลอรัญเขต (จันทร์ เขมิโย)* ซึ่งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่นอยู่ เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันออกเดินทาง โดยกำหนดให้ไปพบกันก่อนเข้าพรรษาที่ขอนแก่น สำหรับพระอาจารย์ฝั้น ต้องการจะไปเยี่ยมญาติโยมทางอำเภอพรรณานิคมก่อน จึงได้เดินทางผ่านธาตุพนม นาแก มาจนถึงสกลนคร พอถึงวัดพระธาตุเชิงชุม ก็เห็นรถยนต์โดยสารเข้า ตั้งแต่เกิดมาท่านไม่เคยเห็นรถยนต์เลย จึงคิดจะลองขึ้นดูบ้าง

* ชื่อและฉายาพ้องกับ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) วัดศรีเทพประดิษฐาราม จังหวัดนครพนม อดีตเจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดนครพนม หรือปัจจุบันเรียกว่า เจ้าคณะจังหวัดนครพนม ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย)

เมื่อนั่งไปได้สักครู่หนึ่ง ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา ว่ารถยนต์นี้วิ่งไปได้อย่างไรหนอ จึงได้กำหนดจิตพิจารณาไปจนกระทั่งเข้าไปถึงเครื่องยนต์

เพียงแวบเดียวเครื่องยนต์ก็ดับ

คนขับก็ลงไปตรวจดู แต่ก็ไม่พบข้อบกพร่อง จึงติดเครื่องใหม่ รถก็สตาร์ทติดเป็นปกติ แต่พอรถวิ่งผ่านกรมทหาร (ปัจจุบันคือที่ตั้ง กองทัพภาค ๒) ไปได้หน่อยเดียว ท่านก็กำหนดจิตกลับเข้าไปที่เครื่องยนต์อีก เพียงแวบเดียว เครื่องยนต์ก็ดับอีกเป็นครั้งที่ ๒ พอคนขับลงไปแก้ไข ก็ไม่พบข้อบกพร่องเหมือนครั้งแรก จึงขึ้นมาติดเครื่องขับต่อไปใหม่ เมื่อรถวิ่งไปอีกสักครู่ ท่านก็กำหนดจิตเข้าในในเครื่องอีก เครื่องยนต์ก็ดับอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนี้ท่านจึงได้ทราบสาเหตุและคิดเสียใจที่ความอยากรู้อยากเห็นของท่านทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนและเสียเวลา จึงได้เลิกพิจารณาอีก รถก็ได้วิ่งไปถึงพรรณานิคมโดยเรียบร้อย

พระอาจารย์ฝั้นลงรถที่บ้านม่วงไข่แล้วเดินไปพักที่บ้านบะทอง เมื่อเยี่ยมญาติโยมที่นั่นตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปทางบ้านแร่ ไปออกอำเภอวาริชภูมิ ตัดป่าฝ่าภูเขาไปอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรฯ ไปพักที่บ้านเชียงแหว และมุ่งต่อไปอำเภอกุมภวาปี แล้วเดินไปจนถึงอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จากนั้นก็ขึ้นรถไฟจากน้ำพองไปลงในตัวจังหวัด เพื่อพบกับพระอาจารย์สิงห์และพระเณรตามที่ได้นัดกันไว้ที่วัดเหล่างาต่อไป

ที่วัดเหล่างา (ปัจจุบันคือวัดวิเวกธรรม) พระปฏิบัติสัทธรรมชุดนี้ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๗๐ รูป ได้ประชุมตกลงให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็นสำนักสงฆ์วัดป่าฝ่ายอรัญวาสีขึ้นหลายแห่งในจังหวัดขอนแก่น เพื่อเผยแผ่ธรรม เทศนาสั่งสอนประชาชนให้ละมิจฉาทิฏฐิ เลิกจากการเคารพนับถือภูตผีปีศาจ และให้ตั้งอยู่ในไตรสรณาคมน์

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๒ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร จำพรรษาที่วัดเหล่างา ตำบลโนนทัน อำเภอพระลับ (ปัจจุบัน อำเภอเมือง) จังหวัดขอนแก่น พระอาจารย์สิม พุทฺธาจาโร ซึ่งอุปสมบทเป็นพระภิกษุในปีนั้น ก็ได้มาจำพรรษารวมอยู่ด้วย

พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ จำพรรษาที่วัดป่าบ้านพระ คือ ตำบลโนนทัน

พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก จำพรรษาที่วัดป่าชัยวัน บ้านสีฐาน อำเภอพระลับ

พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านคำไฮ ตำบลเมืองเก่า

พระอาจารย์ดี ฉนฺโน จำพรรษาที่วัดบ้านโคกโจด อำเภอพระลับ

พระอาจารย์อุ่น จำพรรษาที่วัดป่าบ้านทุ่ม

พระอาจารย์ซามา อาจุตฺโต จำพรรษาที่วัดป่าบ้านยางคำ

พระอาจารย์นิน จำพรรษาที่วัดป่าสุมนามัย อำเภอบ้านไผ่

สำหรับพระอาจารย์ฝั้นเอง จำพรรษาที่วัดป่าบ้านผือ ตำบลโนนทัน

เมื่อพระอาจารย์ฝั้นเดินทางไปถึงบ้านผือ ท่านได้ไปพักอยู่ที่ศาลภูตา ศาลภูตาคือสถานที่ซึ่งชาวบ้านสร้างเป็นหอขึ้น สำหรับเป็นที่สิงสถิตของภูตผีปีศาจ ชาวบ้านไปสักการะบวงสรวงกันบ่อยๆ เพราะถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างที่ไปพักอยู่ศาลภูตา มีชาวบ้านสองคนมาตักน้ำ เมื่อพบท่านเข้า จึงเอาน้ำมาถวาย ท่านก็ขอให้ชาวบ้านทั้งสองไปบอกผู้ใหญ่บ้านให้รับทราบในการมาพักของท่านด้วย หลังจากนั้นไม่นานนัก ผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านอีก ๔ คน ก็มาถึง ลูกบ้านได้แสดงความไม่พอใจในการที่ท่านมาพักที่ศาลภูตานี้ คนหนึ่งได้โวยวายขึ้นว่า พระอะไรไม่เคยเห็น มานอนกลางดินกินกลางทรายเช่นนี้ จะถือว่าเป็นพระอย่างไรได้ คนที่สองให้ความเห็นขึ้นมาดังๆ ว่า เอาปืนยิงหัวเสียก็สิ้นเรื่อง คนที่สามก็โพล่งขึ้นว่า เอาสากมองที่หัวไปก็พอ แต่คนสุดท้ายออกความเห็นไม่รุนแรงเหมือนสามคนแรก เพียงให้เอาก้อนหินขว้างขับไล่ให้ไป

ผู้ใหญ่บ้านดูจะเป็นคนที่มีใจเป็นธรรมกว่าเพื่อน ได้ทัดทานลูกบ้านทั้ง ๔ คนนั้นไว้ว่า ควรสอบถามดูก่อนว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม พระดีหรือพระร้าย ยังผลให้ลูกบ้านทั้ง ๔ ไม่พอใจแต่พากันถอยออกไปยืนดูอยู่ห่างๆ

พระอาจารย์ฝั้นได้บอกกับผู้ใหญ่บ้านว่า ท่านเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปตามสถานที่อันวิเวกต่างๆ เมื่อมาถึงที่นี่ จึงขอพักอาศัยในศาลภูตานี้ เพราะศาลภูตาเป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน ท่านจึงขอพึ่งพาอาศัยบ้าง ท่านได้บอกผู้ใหญ่บ้านไปด้วยว่า ท่านพึ่งศาลภูตาได้ดีกว่าชาวบ้านเสียอีก ชาวบ้านพึ่งศาลภูตากันอย่างไร ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอยู่ได้ ท่านเองพอเข้ามาพึ่งก็ปัดกวาดถากถางหนามและข่อยออกไปจนหมดสิ้นอย่างที่เห็น ผู้ใหญ่บ้านประจักษ์ข้อเท็จจริงเพียงประการแรกถึงกับนิ่งงัน ครั้นแล้วก็สอบถามท่านถึงปัญหาธรรมต่างๆ เหมือนเป็นการลองภูมิ ท่านก็อธิบายให้ฟังอย่างลึกซึ้งหมดจดไปทุกข้อ ทำเอาผู้ใหญ่บ้านถึงกับออกปากว่า “น่าเลื่อมใสจริงๆ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทศนาสั่งสอนคนสมัยก่อน บัดนี้มาเจอเอาคนจริงเข้าแล้ว” เช่นเดียวกัน ลูกบ้านทั้ง ๔ ซึ่งยืนสดับตรับฟังอยู่ใกล้ๆ เกิดความเลื่อมใสไปด้วย

ทั้งหมดได้กลับไปหมู่บ้าน จัดหาเสื่อที่นอนและหมอนมุ้งไปทำที่พักให้พระอาจารย์ฝั้น ทิฏฐิเดิมที่มีอยู่ปลาศนาการไปจนหมดสิ้น ถึงกับนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาเสียที่นั่นเลยด้วยซ้ำ แต่ท่านปฏิเสธว่า ที่นั่นน้ำท่วม เพราะใกล้กับลำชี ไม่อาจจำพรรษาได้อย่างที่ชาวบ้านปรารถนา ชาวบ้านซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่ก็แจ้งแก่ท่านว่า ไม่ห่างไปจากที่นี่นัก มีดอนป่าช้าอยู่แห่งหนึ่งน้ำไม่ท่วม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่จำพรรษาอย่างยิ่ง ท่านไม่อาจปฏิเสธต่อไปอีกได้ จึงไปจำพรรษาอยู่ที่ดอนป่าช้าตามที่ชาวบ้านนิมนต์

ถึงกลางพรรษา ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งยังนับถือภูตผีปีศาจอยู่ ได้รับความเดือดร้อนตามความเชื่อเรื่องผีเข้าเป็นอันมาก กล่าวคือ เชื่อกันว่า มีผีเข้าไปอาละวาดอยู่ในหมู่บ้าน เข้าคนโน้นออกคนนี้ ที่ตายไปก็มี ที่ยังไม่ตายก็มี นอกจากนี้ยังมีโยมอุปัฏฐาก ๓-๔ คน ไปปรึกษากับพระอาจารย์ฝั้นด้วย เล่าว่า สามีล่องเรือบรรทุกข้าวไปขายที่จังหวัดอุบลราชธานี ภรรยากับลูกๆ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากกลัวว่าถูกผีเข้าเหมือนคนอื่น ไม่ทราบจะพึ่งใครได้ จึงมากราบไหว้ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง พระอาจารย์ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว ภาวนา พุทโธ พุทโธ ไว้เสมอ ผีเข้าไม่ได้หรอก ต่อให้เรียกผี หรือท้าผีมากิน มันก็ไม่กล้ามากิน หรือมารบกวน โยมอุปัฏฐากกลุ่มนั้นก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ดี ปรากฏว่ายังมีผีเข้าชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ มีชาวบ้านได้ไปแจ้งแก่พระอาจารย์ฝั้นให้ทราบว่า ได้ถามผีดูแล้วว่า ทำไมไม่ไปเข้าพวกที่ปฏิบัติอุปัฏฐากบ้างล่ะ ผีในร่างคนก็ตอบว่า ไม่กล้าเข้าไป จะเข้าไปได้อย่างไร พอเข้าบ้านก็เห็นแต่พระพุทธรูปนั่งอยู่เป็นแถว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลุ่มอื่นยังคงมีความหวาดหวั่นเรื่องผีเข้ากันอยู่ ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อหาหมอผีมาไล่ผีออกไป เมื่อเสาะหาหมอผีมาได้แล้ว ชาวบ้านกลับเดือดร้อนหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหมอผีตั้งเงื่อนไขว่า จะไล่ผีออกไปจากหมู่บ้านนั้นไม่ยาก แต่ทุกครัวเรือนต้องนำเงินไปมอบให้เสียก่อน จึงจะทำพิธีขับไล่ให้ โยมอุปัฏฐากจึงได้นำความไปปรึกษาหารือกับพระอาจารย์ฝั้น ว่าจะทำอย่างไรดี ท่านจึงแนะนำว่า หากหมอผีจะเก็บเงินเพื่อไปสร้างโน่นสร้างนี่ที่เป็นสาธารณสมบัติ หรือสร้างวัดวาอารามก็ควรให้ แต่ถ้าหมอผีเก็บเงินไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ไม่ควรให้ ทั้งยังได้แนะนำไม่ให้เชื่อเรื่องผีสางอีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องเหลวไหล คนเราป่วยเจ็บกันได้ทุกคน จะปักใจเชื่อเอาเสียเลยว่าผีเข้า ย่อมเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล โยมเหล่านั้นก็พากันเชื่อฟังท่าน และไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามที่หมอผีเรียกร้องไว้ ในที่สุด หมดผีก็หมดความสำคัญไป ความเชื่อเรื่องผีสางของชาวบ้านก็ค่อยๆ ลดน้อยลง

ออกพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ลาญาติโยมออกจากป่าช้าจะไปอำเภอน้ำพอง เมื่อถึงวัดศรีจันทร์ ปรากฏว่าเดินทางต่อไปไม่ได้ เพราะชาวบ้านเหล่านั้นได้ติดตามมาขอร้องให้ท่านกลับไปช่วยเหลืออีกสักครั้ง โดยอ้างว่ามีผีร้ายขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านทุกหลัง ท่านจึงต้องกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้งหนึ่ง

การกลับไปครั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านได้ประชุมลูกบ้านแล้วมานมัสการท่าน ขอรับไตรสรณคมน์ ต่อจากนั้นความเชื่อเรื่องผีสางจึงหมดสิ้นลง

ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาที่วัดบ้านผือ จังหวัดขอนแก่น พอออกพรรษาแล้ว ท่านกับพระอาจารย์อ่อน ได้เที่ยวธุดงค์กัมมัฏฐานไปจนถึงหมู่บ้านจีด ในเขตอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บังเอิญได้ข่าวว่า โยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนป่วยหนัก พระอาจารย์อ่อนจึงแยกไปรักษาโยมพี่สาว ส่วนท่านพำนักอยู่ที่บ้านจีดโดยลำพัง

ที่นั่น พระอาจารย์ฝั้นได้เผชิญศึกหนักเข้าเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ “ธรรมต่อไก่” ธรรมต่อไก่เป็นวิธีบรรลุธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งชีผ้าขาวคนหนึ่งชื่อ “ไท้สุข” บัญญัติขึ้นมาว่า หากใครนำไก่ตัวผู้และไก่ตัวเมียคู่หนึ่งมามอบให้ชีผ้าขาวแล้ว เพียงแต่กลับไปนอนบ้านก็สามารถบรรลุธรรมได้ มีชาวบ้านหลงเชื่อกันอยู่เป็นจำนวนมาก

พระอาจารย์ฝั้นได้ชี้แจงแสดงธรรมต่อไปทั้งวัน ชีผ้าขาวกับผู้ที่เชื่อถือเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมแพ้

ตอนหนึ่ง ชีผ้าขาว อ้างว่าตนมีคาถาดี คือ ทุ โส โม นะ สา ธุ พระอาจารย์ฝั้นได้ออกอุบายแก้ว่า ทุ สะ นะ โส เป็นคำของเปรต ๔ พี่น้อง ทั้งสี่ ก่อนตายเป็นเศรษฐีทีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ตลอดชีวิตไม่เคยทำคุณงามความดี ไม่เคยสร้างกุศลเลย เอาแต่ประพฤติชั่ว เสเพลไปตามที่ต่าง ๆ ครั้นตายแล้ว จึงกลายไปเป็นเปรตไปหมด ต่างตกนรกไปถึง ๖ หมื่นปี พอครบกำหนด คนพี่โผล่ขึ้นมาก็ออกปากพูดได้คำเดียวว่า “ทุ” พวกน้อง ๆ โผล่ขึ้นมาก็ออกปากได้คำเดียวเช่นกันว่า “สะ” “นะ” “โส” ตามลำดับ หมายถึงว่า เราทำแต่ความชั่ว เราไม่เคยทำความดีเลย เมื่อไหร่จะพ้นหนอ ฉะนั้น คำเหล่านี้จึงเป็นคำของเปรต ไม่ใช่คาถาหรือคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สั่งสอนแก้ไขกันอยู่ถึงอาทิตย์หนึ่ง ก็ยังไม่อาจละทิฏฐิของพวกนั้นลงได้

พอดีโยมพี่สาวของพระอาจารย์อ่อนหายป่วย พระอาจารย์อ่อนจึงย้อนกลับมา โดยมีพระอาจารย์กู่มาสมทบด้วยอีกรูปหนึ่ง กำลังใจของพระอาจารย์ฝั้นจึงดีขึ้น เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทางฝ่ายท่านมีท่านเพียงรูปเดียวเท่านั้น อธิบายอะไรออกไปก็ถูกขัดถูกแซงเสียหมด

ในที่สุดชีผ้าขาวกับพรรคพวกก็ยอมแพ้ ยอมเห็นตามและรับว่า เหตุที่เขาบัญญัติ “ธรรมต่อไก่” ขึ้นมาก็เพื่อเป็น “นากิน” (อาชีพหากินด้วยการหลอกลวง) และยอมรับนับถือไตรสรณาคมน์ตามที่ท่านสั่งสอนไว้แต่ต้น

แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไปอยู่ดี เพราะว่าเมื่อพระอาจารย์ฝั้นบอกให้ชีผ้าขาวตัดผมเสีย ชีผ้าขาวผู้นั้นก็ไม่ยอมตัด อ้างว่าถ้าตัดผมเป็นต้องตายแน่ๆ พระอาจารย์อ่อนจึงบอกว่า อย่ากลัว ดูทีหรือว่าจะตายจริงหรือไม่ คนอื่นเขาตัดผมกันทั่วไปไม่เห็นตายเลยสักคน ชีผ้าขาวจึงได้ยอมเมื่อตัดผมแล้วไม่ตาย ชีผ้าขาวจึงยอมรับนับถือบรรดาพระอาจารย์ทั้งสามยิ่งขึ้น

ระหว่างที่พำนักอยู่ที่บ้านจีด มีโยมผู้หญิงคนหนึ่ง ไอทั้งวันทั้งคืน เสาะหายาจากที่ต่างๆ มากิน จนนับขนานไม่ถ้วนก็ยังไม่หาย ผังเทศน์ก็ฟังไม่ได้ ขณะฟังก็ไออยู่ตลอดเวลา เป็นที่รบกวนสมาธิของผู้อื่น คืนที่สาม พอฟังเทศน์จบลง พระอาจารย์ฝั้นจึงถามว่า ทำไมไม่รักษา โยมผู้นั้นตอบว่า กินยามาหลายขนานแล้วก็ไม่เห็นหาย ท่านจึงบอกโยมผู้นั้นไปว่า คงเป็นกรรมเก่าที่ทำมาแต่ปางก่อน ขอให้หัดภาวนาดู แล้วบอกคาถาให้บริกรรมว่า ปฏิกะ มันตุ ภูตานิ วันแรกท่านให้ภาวนาตั้งจิตบริกรรม โดยกำหนดจิตที่ใดที่หนึ่ง วันแรกนั่งบริกรรมได้สักพักก็ยังไออยู่ตลอด วันที่สองปรากฏว่ามีอาการค่อยชุ่มคอขึ้นหน่อย อาการไอห่างไปบ้าง พอถึงวันที่สามอาการไอก็หายไปราวกับปลิดทิ้ง รู้สึกคอชุ่มขึ้น โยมผู้นั้นนั่งบริกรรมอยู่จนดึกดื่น ใครๆ หลับกันหมด แกก็ยังไม่ยอมหลับ ในที่สุดอาการไอก็หายโดยเด็ดขาดตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

โยมผู้นั้นสำนึกในบุญคุณ ได้เอาเงินทองมาถวายพระอาจารย์ฝั้น แต่ท่านไม่ยอมรับ ผลที่สุดก็เอาจักรเย็บผ้ามาถวาย อ้างว่าเป็นค่ายกครู เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจ ท่านจึงได้เอาจักรนั้นไปเย็บจีวรของท่านเองจนเสร็จแล้วจึงคืนให้

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๗ ของพระอาจารย์ฝั้น ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่ภูระงำ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ติดตามอยู่ร่วมจำพรรษาด้วย นับเป็นปีที่ ๓ ที่ท่านไปจำพรรษาอยู่ที่ขอนแก่น

ก่อนหน้าที่จะไปถึงภูระงำ ท่านได้ออกจากอำเภอหนองหาน มาที่วัดศรีจันทร์ และได้เข้าร่วมพิธีกระทำญัตติกรรมพระภิกษุครั้งใหญ่ ในการนี้ท่านอดตาหลับขับตานอนจนตาลายไปหมด เพราะต้องเตรียมตัดเย็บสบง จีวร สังฆาฏิ ทั้งกลางวันกลางคืน เป็นเหตุให้ท่านอาพาธลง

พอเข้าใกล้พรรษาจึงได้ตัดสินใจไปจำพรรษาที่ภูระงำ ซึ่งขณะนั้นอาการอาพาธของท่านก็ยังไม่ทุเลาดีนัก

ระหว่างจำพรรษาอยู่บนภูระงำ ปรากฏว่าท่านได้รับความทุกขเวทนาเป็นอันมาก ตามเนื้อตัวปวดไปหมด จะนั่งจะนอนก็ปวดเมื่อยไปทุกอิริยาบถ ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งภาวนาทำความเพียรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ตั้งใจว่าจะภาวนาสละชีวิต คือภาวนาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมรณภาพ โดยนั่งภาวนาถึงความทุกข์ ความเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกาย และด้วยความสำรวมใจที่แน่วแน่ จิตของท่านก็พลันสงบวุบลงไป ร่างกายเบาหวิว ความทุกข์ทรมานทั้งหลายแหล่ก็พลอยปลาศนาการไปหมดสิ้น

ตั้งแต่ทุ่มเศษจนกระทั่ง ๙ โมงเช้า ท่านนั่งภาวนาในอิริยาบถเดียวอยู่ตลอดเวลา จนพระเณรทั้งหลายที่กลับจากบิณฑบาต ไม่กล้ารบกวน แต่พอพระเณรเข้าไปกราบท่านก็รู้สึกตัวและถอนจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นมา

พระเณรต่างนิมนต์ให้ท่านฉันจังหัน แต่ท่านแย้งว่า ยังไม่ได้ออกบิณฑบาตเลย พระเณรต้องกราบเรียนว่า ขณะนั้นใกล้จะ ๑๐ โมงอยู่แล้ว ต่างไปบิณฑบาตกลับมากันหมดแล้ว ท่านจึงรำพึงขึ้นมาว่า ท่านได้นั่งภาวนาประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง นึกไม่ถึงเลยว่าจะข้ามคืนมาจนถึงขณะนี้

ปรากฏว่า จากการนั่งบำเพ็ญสมาธิภาวนาบนภูระงำครั้งนั้น ยังผลให้ท่านระลึก พุทโธ ได้เป็นครั้งแรก อาการอาพาธปวดเมื่อยหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมาน เบาตัว เบากาย สบายเป็นปกติ และทำให้ท่านคิดได้ด้วยว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เคยทำความเพียร นั่งสมาธิอยู่ได้นานถึง ๔๙ วัน เมื่อเป็นเช่นนี้ หากท่านจะนั่งนานยิ่งกว่าที่ท่านเคยนั่งในขณะนี้อีกสักเท่าไหร่ ก็ควรจะต้องนั่งได้

ในการนั่งภาวนาทำความเพียรอีกครั้งหนึ่ง พอจิตสงบ ท่านได้นิมิตเห็นหญิงมีครรภ์แก่มาเจ็บท้องอยู่ตรงหน้า แล้วคลอดมาเป็นเด็กใหญ่ สามารถเดินได้ วิ่งได้เลยทันที ขณะเดียวกันก็นิมิตคาถาขององคุลีมาล ซึ่งเป็นคาถาสำหรับหญิงคลอดลูกขึ้นมาได้ด้วย เมื่อถอนจิตจากสมาธิแล้ว ท่านได้จดคาถาบทนั้นไว้ว่า “โสตถิคัพพะสะ”

ต่อมาปรากฏว่า มีหญิงชราผู้หนึ่ง พาลูกสาวซึ่งเจ็บท้องใกล้จะคลอดเป็นท้องแรกมาหา แจ้งว่า เจ็บท้องมา ๓ วันแล้วไม่คลอดสักที ได้รับทุกข์เวทนาเป็นอันมาก ขอร้องให้ท่านช่วยเหลือ เพราะไม่ทราบจะพึ่งใครได้ พระอาจารย์ฝั้นจึงได้เขียนคาถาบทนั้นลงไปบนซองยา แล้วให้ไปภาวนาที่บ้าน ต่อมาอีก ๓ วัน หญิงชราก็มาส่งข่าวว่า ลูกสาวคลอดบุตรแล้ว ไม่เจ็บไม่ปวดแต่ประการใด

ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านจะคลอดลูก ก็มาขอคาถาท่านอยู่เป็นประจำ

ออกพรรษาคราวนั้น ท่านลงจากภูระงำ เที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐาน เทศนาธรรมสั่งสอนชาวบ้านไปเรื่อย ๆ จนถึงอำเภอน้ำพอง ซึ่งที่นั่น ท่านได้พบพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์มหาปิ่น และพระเณรอีกหลายรูป ซึ่งต่างก็เที่ยวธุดงค์กันมาจากสถานที่ที่จำพรรษาด้วยกันทั้งนั้น

และที่อำเภอน้ำพองนี่เอง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะมณฑลอีสาน เมื่อครั้งยังเป็นพระพรหมมุนี ได้มีบัญชาให้พระอาจารย์สิงห์นำพระภิกษุสามเณรในคณะของท่านเดินทางไปจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ร่วมเดินทางไปกับพระภิกษุสามเณรคณะนี้ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) นั้น แต่ไหนแต่ไรมาท่านไม่ชอบพระธุดงค์เอาเลย ท่านว่าเป็นพระขี้เกียจ ไม่ศึกษาเล่าเรียน ถึงกับมีเรื่องต้องขับไล่ไสส่งมาแล้วหลายครั้งหลายหน แม้แต่พระอาจารย์สิงห์ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของท่านเองก็ยังเคยถูกขับไล่มาแล้ว จนบางครั้ง พระอาจารย์สิงห์เกิดรำคาญถึงกับจะหลบออกนอกประเทศไปเลยก็มี แต่ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์รุนแรงดังกล่าว พระอาจารย์ฝั้นจะเป็นผู้แก้ไข และได้พยายามขอร้องให้พระอาจารย์สิงห์ต่อสู้ด้วยการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาตลอด ในที่สุดสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็กลับบังเกิดความเลื่อมใส และยอมรับปฏิปทาของพระอาจารย์ทั้งปวงในสายกัมมัฏฐานตลอดมา จนถึงกาลอวสานแห่งชีวิตของท่าน

เมื่อถึงนครราชสีมา พระอาจารย์ฝั้นได้ไปพักอยู่ที่วัดสุทธจินดา ที่วัดนั้นมีพุทธบริษัทไปร่วมทำบุญกันมาก เมื่อครั้งที่หลวงชาญนิคม ผู้บังคับกองตำรวจ จังหวัดนครราชสีมา ได้ยกที่ดินผืนใหญ่ให้สร้างวัดป่าสาลวัน ท่านก็อยู่ร่วมในพิธีถวายที่ดินคราวนั้นด้วย

รุ่งขึ้นจากวันที่มีการถวายที่ดิน พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก โดยเดินทางร่วมมากับพระอาจารย์สิงห์ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เพื่อเข้ามาเยี่ยมอาการป่วยของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เมื่อถึงกรุงเทพฯ ก็ได้เข้าพักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ตั้งแต่เดือนสาม จนถึงเดือนหก

ระหว่างพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ เรื่องที่ไม่น่าจะเกิด ได้อุบัติขึ้นแก่ท่านโดยบังเอิญ ที่ว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นนั้น ก็เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสตรีเพศ

เรื่องมีว่า วันหนึ่งพระอาจารย์สิงห์ ได้พาท่านไปนมัสการท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) ที่วัดสระปทุม ระหว่างทางได้เดินสวนกับผู้หญิงคนหนึ่งเข้า นับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา พระอาจารย์ฝั้นก็ลืมผู้หญิงคนนั้นไม่ลง

ท่านรู้สึกว่า ท่านได้เกิดความรักขึ้นในใจเสียแล้ว ขณะเดียวกัน ท่านก็บอกตัวเองด้วยว่า ท่านจะต้องขจัดความรู้สึกดังกล่าวออกไปเสียให้พ้นจากความรู้สึกนึกคิดให้ได้

กลับวัดบรมนิวาสในวันนั้น ท่านได้นั่งภาวนา พิจารณาแก้ไขตัวเองถึงสามวัน แต่ก็ไม่ได้ผล ใบหน้าของผู้หญิงนั้นยังคงอยู่ในความรู้สึกนึกคิด จนไม่อาจสลัดให้ออกไปได้ ในที่สุด เมื่อเห็นว่า เป็นการยากที่จะแก้ไขได้ด้วยตัวเองแล้ว ท่านจึงได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านพระอาจารย์สิงห์ฟัง เพื่อให้ช่วยแก้ไข พระอาจารย์สิงห์ได้แนะให้ท่านไปพักในพระอุโบสถ พร้อมกับให้พิจารณาทำความเพียรให้หนักขึ้น

พระอาจารย์ฝั้นได้บำเพ็ญภาวนาอยู่ในพระอุโบสถเป็นเวลาถึง ๗ วัน ก็สามารถรู้ชัดถึงบุพเพสันนิวาสแต่ในปางก่อน ว่าผู้หญิงคนนี้กับท่าน เคยเป็นสามีภรรยากันมา จึงทำให้เกิดความรู้สึกดังกล่าวขึ้น เมื่อตระหนักในเหตุในผล ท่านก็สามารถตัดขาด ลืมผู้หญิงคนนั้นไปได้โดยสิ้นเชิง

หลังจากพักอยู่ในวัดบรมนิวาสได้ ๓ เดือน พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางกลับไปที่จังหวัดนครราชสีมา และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล พรรษานี้เป็นพรรษาที่ ๘ ของท่าน (พ.ศ. ๒๔๗๕) และน่าสังเกตด้วยว่า นับแต่ปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมาจนถึงปี ๒๔๘๖ (พรรษาที่ ๘ ถึง พรรษาที่ ๑๙) ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัด ในจังหวัดนครราชสีมาโดยตลอด

วัดป่าศรัทธารวมที่ท่านจำพรรษาในพรรษาที่ ๘ นั้น แต่ก่อนเคยเป็นป่าช้าที่ ๒ สำหรับเผาศพผู้ที่ตายด้วยโรคติดต่อ เช่น อหิวาตกโรค และกาฬโรค เป็นต้น

ในพรรษานี้ มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาด้วยกันรวม ๑๔ รูป คือนอกจากท่านแล้ว ยังมีพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล, พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี, พระอาจารย์ภุมมี ฐิตธมฺโม, พระอาจารย์หลุย จนฺทสาโร, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ฯลฯ รวมพระภิกษุ ๑๐ รูป และสามเณรอีก ๔ รูป ตลอดระยะเวลาเข้าพรรษา พระอาจารย์เทสก์ กับพระอาจารย์ฝั้นได้ช่วยเหลือพระอาจารย์มหาปิ่นในภาระต่างๆ เป็นอันมาก เช่นแสดงพระธรรมเทศนาอบรมญาติโยม และรับแขกที่มาเยี่ยมเยือนเป็นต้น

ออกพรรษาปีนั้น คือ พ.ศ. ๒๔๗๕ พระอาจารย์ฝั้นได้ชวนพระอาจารย์อ่อน ธุดงค์ไปวิเวกภาวนาที่บ้านคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ตอนหนึ่งขณะไปวิเวกอยู่ที่บ้านหนองบัว พระอาจารย์ฝั้นได้เกิดอาพาธเป็นไข้มาเลเรียขึ้นมาอีก ฉันยาควินินก็แล้ว ยาอื่นๆ ก็แล้ว ก็ไม่หายขาดลงไปได้ ท่านจึงได้ใช้วิธีนั่งภาวนากำหนดจิตดู

พอจิตรวมได้ที่แล้ว ท่านก็พิจารณากายเพื่อดูอาการไข้

ทันใด ท่านก็นิมิตเห็นอะไรอย่างหนึ่งจะเรียกว่าอะไรก็ไม่ทราบ ได้กระโดดออกจากร่างของท่านไปยืนอยู่ข้างหน้า ท่านพิจารณากำหนดจิตเพ่งดูมันต่อไป เจ้าอะไรตนนั้นก็กลับกลายเป็นกวาง แล้วกระโดดลงไปในห้วย จากนั้นกระโดดขึ้นจากห้วยวิ่งต่อไป ขณะวิ่งมันได้กลายเป็นช้างตัวใหญ่ บุกป่าเสียงไม้หักโครมครามลับไปจากสายตาของท่าน

รุ่งเช้าอาการไข้ของท่านก็กลับหายเป็นปกติ

พอเข้าเดือน ๖ นายอำเภอขุนเหมสมาหารได้อาราธนาพระอาจารย์อ่อนกับพระอาจารย์ฝั้นไปจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ใกล้สถานีรถไฟบ้านใหม่สำโรง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เสร็จแล้วพระอาจารย์ฝั้นได้ธุดงค์กลับไปโคราชเพื่อต่อไปยังอำเภอโนนสูง

พอถึงบ้านมะรุม ได้จัดสร้างเสนาสนะป่าเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นบนโคกป่าช้า ซึ่งอยู่ระหว่างหมู่บ้านแฝกและหมู่บ้านหนองงา ตำบลพลสงครามและได้จำพรรษาอยู่ใน พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ (พรรษาที่ ๙-๑๐) ส่วนพระอาจารย์อ่อนได้แยกไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านใหม่สำโรง

ออกพรรษาปี ๒๔๗๖ พระอาจารย์ฝั้นได้กลับไปโคราช เพื่อนมัสการพระอาจารย์สิงห์ ที่วัดป่าสาลวัน พอดีเกิด “กบฏบวรเดช” จะเที่ยวธุดงค์ทางไกลก็ไม่ได้ จึงชวนพระอาจารย์อ่อนพร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกหลายรูป ไปเที่ยววิเวกภาวนาอยู่ในท้องที่อำเภอปักธงไชย ระหว่างไปพักอยู่ที่ถ้ำเขาตะกุรัง มีเสือมารบกวนทั้งคืน เลียบๆ เคียงๆ จะเข้ามาทำร้ายให้ได้ ท่านนึกรำคาญขึ้นมา จึงคว้าก้อนหินโยนเข้าไปก้อนหนึ่ง มันก็เลยโจนเข้าป่าไป ไม่มารบกวนอีกต่อไป

หลังจากตระเวนทำความเพียรในที่ต่างๆ ตนตลอดฤดูแล้ง ถึงเดือน ๖ พระอาจารย์ฝั้นก็กลับมาที่อำเภอปังธงไชย พอดีพวกญาติโยมมีความศรัทธาอาราธนาให้ท่านสร้างวัดป่าขึ้นใกล้ๆ อำเภอ ท่านจึงพักอยู่ที่นั่นเพื่อจัดการให้ พอกำหนดเขตวัด วางแนวกุฏิศาลาไว้ให้พอสมควรแล้ว ท่านก็มอบหน้าที่ให้บรรดาญาติโยมสร้างกันเองต่อไป ส่วนท่านเดินทางกลับวัดป่าสาลวัน เพื่อกราบเรียนให้ท่านอาจารย์สิงห์ทราบว่าไปสร้างวัดป่าไว้ ขอให้ท่านรับรองการสร้างวัดนี้ไว้ด้วย

ในพรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๔๗๗) พระอาจารย์ฝั้นได้กลับไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านมะรุม อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ต่อมาออกพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ตกลงใจจะออกเดินธุดงค์ ไปทางดงพญาเย็นโดยมีพระภิกษุ ๓ รูป กับสามเณรอีก ๑ รูปร่วมคณะไปด้วย โยมผู้หนึ่งชื่อหลวงบำรุงฯ มีศรัทธาเอารถไปส่งให้จนถึงชายป่า เมื่อลงจากรถแล้วก็มุ่งเข้าดงพญาเย็นทั้งคณะ

ระหว่างเดินธุดงค์ พระเณรที่ร่วมคณะเกิดกระหายน้ำ ท่านก็บอกให้หยุดฉันน้ำก่อน ส่วนท่านเองเดินล่วงหน้าไป สักพักหนึ่งก็รู้สึกสังหรณ์ใจว่ากำลังมีอะไรเกิดขึ้นแก่ท่านสักอย่าง เดินอยู่ดีๆ ก็รู้สึกใจเต้นแรง แต่มองไปรอบข้าง ไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ ท่านจึงเดินไปเรื่อยๆ แม้กระนั้นก็ยังไม่หายใจเต้น ทันใดท่านก็เห็นเสือนอนหันหลังให้อยู่ตัวหนึ่งข้างหน้า จะหลบหลีกก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะเป็นเรื่องกะทันหันเกินไป ตอนนี้หัวใจที่เต้นแรงแทบว่าจะพาลหยุดเต้นเลยทีเดียว

แต่ถึงอย่างไร ท่านก็ยังสำรวมสติได้อย่างรวดเร็ว ท่านตัดสินใจอย่างไม่เคยมีใครทำมาก่อน

เดินเข้าไปใกล้ๆ มัน แล้วร้องตามไปว่า

“เสือหรือนี่ !”

เจ้าเสือร้ายผงกหัวหันมาตามเสียง พอเห็นท่านก็เผ่นแผล็ว หายเข้าป่ารกทึบไป

เมื่อพระเณรตามมาทัน ทั้งหมดจึงออกเดินทางต่อเพื่อมุ่งหน้าไปยังบ้านสอยดาว อำเภอปากช่อง อยู่ห่างจากสถานีจันทึกไปประมาณ ๓๐๐ เส้น แต่ก่อนจะถึงได้แวะไปที่ไร่หลวงบำรุงฯ แล้วพักอยู่ที่นั่นหลายวัน คนของหลวงบำรุงฯ ได้จัดทำอาหารถวายพระ โดยมิได้ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

ที่ไร่ของหลวงบำรุงฯ ท่านอาจารย์ฝั้นได้เผชิญกับผีกองกอยเข้าครั้งหนึ่ง

ปกติพวกชาวบ้านเข้าใจว่า ผีกองกอยคือนกไม้หอม ถ้านกประเภทนี้ไปร้องที่ไหน เชื่อกันว่ามีไม้หอมอยู่ที่นั่น ก่อนไปหาไม้หอม เช่น ไม้จันทร์หอม ชาวบ้านจะทำพิธีบวงสรวงกันเสียก่อน อธิษฐานให้นกไปร้องอยู่ที่บริเวณที่มีไม้หอม จะได้หาพบง่ายยิ่งขึ้น พอบวงสรวงเสร็จก็เข้าไปนั่งคอยนอนคอยอยู่ในป่า ตกกลางคืนได้ยินเสียงนกประเภทนี้ร้องทางไหน ก็ตามเสียงไปทางนั้น

ท่านอาจารย์ฝั้นได้ยินมันร้องทุกคืน พอตะวันตกดิน ได้ยินเสียงร้องจากทางหนึ่งไปอีกทางหนึ่ง พอสว่างก็ได้ยินเสียงร้องย้อนกลับไปทางเก่า

ระหว่างนั้น เด็กคนหนึ่งซึ่งติดตามมาด้วยได้ละเมิดคำสั่งของท่าน ขณะเข้าป่าไม่ได้สำรวมศีล มักลักลอบไปจับไก่ กิ้งก่า หรือบางทีก็จับแย้มาฆ่ากิน ด้วยเหตุนี้ พอตกกลางคืน แทนที่ผีกองกอยจะไปตามทางของมันอย่างเคย กลับวกมายังที่พักธุดงค์แล้วไปยังที่พักของเด็ก ท่านให้นึกเอะใจว่า เด็กคงศีลขาดเสียแล้ว จึงพร้อมทั้งพระภิกษุสามเณรจุดโคมเทียนโดยมีผ้าคลุมติดไว้ทุกทิศ แล้วนั่งล้อมเด็กไว้ คอยพิจารณาดูตัวมัน แต่ได้ยินเพียงเสียงของมันเท่านั้น พระอาจารย์ฝั้นจึงนั่งสมาธิพอจิตรวมได้ที่ก็เห็นผีกองกอยตัวนั้น หน้าเท่าเล็บมือ ผมยาวคล้ายชะนี หล่นตุ๊บลงมาจากต้นไม้แล้วหายสาบสูญไปเลย

เมื่อทราบความจริงว่า เด็กละเมิดคำสั่งสอนของท่านจนศีลขาด ท่านจึงส่งเด็กกลับไปเสีย แล้วคณะของท่านก็เดินทางต่อไปจนถึงบ้านสอยดาว ทำความเพียรอยู่ที่นั่นอีกหลายเดือน จึงได้กลับไปยังนครราชสีมา

ระหว่างอยู่นครราชสีมา ท่านได้บำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่พักหนึ่ง กล่าวคือท่านตั้งใจจะอดอาหารสักระยะเวลาหนึ่ง โดยจะไม่ฉันอะไรเลยนอกจากน้ำ เช้าขึ้นมา ท่านออกไปบิณฑบาตก็จริง แต่ได้มาแล้ว ก็ถวายองค์อื่นจนหมดสิ้น จากนั้นก็นั่งเย็บปะจีวร สบง ไปตามเรื่อง พอล่วงเข้าวันที่ ๓ ขณะที่กำลังสนเข็มอยู่ ท่านก็รู้สึกว่ามือสั่น จึงพิจารณาทบทวนดู ก็ประจักษ์ความจริงว่า ไฟถ้าขาดเชื้อเสียแล้วย่อมไม่อาจลุกโพลงขึ้นได้ฉันใด มนุษย์เราก็จะต้องมีอาหารสำหรับประทังชีวิตฉันนั้น ท่านจึงเลิกอดอาหาร แต่ฉันให้น้อยลงกว่าเดิม แม้ลูกศิษย์ของท่านบางคนมาขออนุญาตอดอาหารบ้าง ท่านก็ไม่อนุญาต เพราะเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์อันใดดังกล่าวแล้ว

ในพรรษาที่ ๑๑-๑๙ (พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๘๖) ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าศรัทธารวม ตำบลหัวทะเล จังหวัดเดียวกันอีก

เมื่อเดือน ๓ ข้างขึ้น ๑๔ ค่ำ ปี ๒๔๗๙ ท่านได้ออกจากวัดป่าศรัทธารวม ไปตามพระอาจารย์มั่นที่เชียงใหม่ เพราะเวลาที่จากกัน ท่านคิดถึงพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา ในการไปตามหาพระอาจารย์มั่นครั้งนี้ พระอาจารย์อ่อนได้เดินทางร่วมไปด้วย

เมื่อลงรถไฟที่สถานีเชียงใหม่แล้ว ทั้งสองท่านได้เดินทางต่อไปที่วัดเจดีย์หลวง นับว่าน่าอัศจรรย์เป็นอันมาก ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นหยั่งรู้ได้อย่างไร จึงมาคอยท่านอยู่ก่อนแล้ว พระอาจารย์มั่นได้บอกกับท่านทั้งสองว่า พระเณรมาหาเป็นร้อยๆ ยังไม่ดีใจเท่าที่ท่านมาเพียงสององค์ มีพระเณรมาหากันมากแต่ไม่พบ เพราะท่านเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปเรื่อยๆ

เมื่อเข้าสู่ที่พักซึ่งพระอาจารย์มั่นกำหนดให้แล้ว ทั้งสองท่านได้ถวายการปฏิบัติต่อพระอาจารย์มั่น สักพักใหญ่ พระอาจารย์มั่นก็ลุกขึ้นมาเทศนาให้ฟัง ตอนหนึ่งท่านบอกด้วยว่า พระอาจารย์อ่อนและพระอาจารย์ฝั้น เป็นพระเจ้าชู้ พระอาจารย์ทั้งสองได้ฟังก็งุนงงและบังเกิดความตกใจ แต่เมื่อพิจารณาตัวเองดูแล้ว ก็ประจักษ์ว่าจริงอย่างที่ท่านบอก เพราะผ้าจีวร สบง เปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง ไม่ใช่สีกลัก มิหนำซ้ำ ฝาบาตรที่ท่านพระอาจารย์ฝั้นใช้อยู่ยังประดับมุกอีกด้วย

คืนนั้น พระอาจารย์ทั้งสองนั่งสมาธิทำความเพียรจนสว่าง

เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์อ่อนขอลาพระอาจารย์มั่นไปอำเภอพร้าว พระอาจารย์ฝั้นจะไปด้วย แต่พระอาจารย์มั่นไม่ยอมให้ไป ท่านให้พักอยู่ด้วยกันไปก่อน

ต่อมาพระอาจารย์อ่อน และพระอาจารย์ฝั้นได้ขอลาไปวิเวกที่อื่นอีกหลายครั้ง แต่พระอาจารย์มั่นพูดตัดบทไว้ทุกที อ้างว่าอยู่ที่นี่ดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี พระอาจารย์มั่นได้อนุญาตให้ท่านทั้งสองไปพักอยู่ที่ห้วยน้ำริน และต่อมาได้ไปยังบ้านปง ที่บ้านปงนี้เอง พระอาจารย์อ่อนเกิดอาพาธด้วยไข้มาเลเรีย พระอาจารย์ฝั้นได้ช่วยรักษาพยาบาลจนกระทั่งทุเลาลง แล้วพากันกลับไปหาพระอาจารย์มั่นยังวัดเจดีย์หลวงอีกครั้ง

กลับไปคราวนี้ พระอาจารย์มั่นได้ให้พระอาจารย์ฝั้น มุ่งทำความเพียรทั้งกลางวันกลางคืน ปรากฏว่าท่านทั้งสองต่างสามารถมองเห็นกันทางสมาธิโดยตลอด ทั้งๆ ที่กุฏิห่างกันเป็นระยะทางถึงเกือบ ๕๐๐ เมตร

พอใกล้เข้าพรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ครั้งเป็นพระญาณดิลก ได้ขึ้นไปเป็นกรรมการสอบสวนชำระอธิกรณ์ที่วัดเจดีย์หลวง ได้ให้พระอาจารย์อ่อนเดินทางไปให้นิสสัยพระมอญ ซึ่งได้รับการญัตติกรรมเป็นพระธรรมยุตินิกาย ที่วัดหนองดู่ จังหวัดลำพูน แต่เนื่องจากวัดนี้อยู่ริมแม่น้ำปิง ขณะนั้นน้ำกำลังท่วม พระอาจารย์อ่อนจึงตัดสินใจไม่ไป พอดีกับพระอาจารย์ฝั้นได้รับจดหมายพร้อมกับธนาณัติจากหลวงเกรียงศักดิ์พิชิตเป็นปัจจัยมูลค่า ๔๐ บาทถวายเป็นค่าพาหนะ ให้ท่านเดินทางกลับไปจำพรรษาที่นครราชสีมา

ท่านทั้งสองจึงตัดสินใจกลับจากเชียงใหม่ในเดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปี พ.ศ. ๒๔๘๐

ระหว่างออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๖ พระอาจารย์ฝั้นได้ออกเดินธุดงค์จากวัดป่าศรัทธารวม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นวัดที่ท่านพำนักจำพรรษาติดต่อกันนานถึง ๑๒ ปี ไปพักวิเวกภาวนาตามป่าเขา ที่เห็นว่าสงบเงียบพอเจริญกัมมัฏฐานได้ โดยเปลี่ยนสถานที่ผ่านหมู่บ้านและอำเภอต่างๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงเขาพนมรุ้ง อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อบำเพ็ญความเพียรอยู่ที่เขาพนมรุ้งเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ท่านได้เดินทางต่อไปถึงจังหวัดสุรินทร์ และได้ไปพักอยู่ในไม้กระเบา ริมห้วยเสนง ซึ่งร่มรื่นและเงียบสงัด เหมาะแก่การภาวนาเป็นอย่างยิ่ง การเดินธุดงค์ครั้งนี้ มีพระและเณรติดตามไปด้วยรวม ๓ รูป ทั้งยังมีเด็กลูกศิษย์ ๓ คน ขอติดตามท่านมาจากอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์อีกด้วย

ระหว่างที่พระอาจารย์ฝั้น พำนักอยู่ในป่าริมห้วยเสนง บรรดาพุทธบริษัทชาวจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดใกล้เคียงต่างเลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก สังเกตได้จากจำนวนผู้คนที่พากันไปฟังพระธรรมเทศนาและรับการอบรมจากท่านอย่างเนืองแน่นมิได้ขาด ผู้คนล้นหลามไปนมัสการทั้งกลางวันกลางคืน ราวกับว่ามีงานมหกรรมขึ้นมากทีเดียว

พระอาจารย์ฝั้น ได้ให้ลูกศิษย์หาเครื่องยามาประกอบเป็นยาดอง โดยมีผลสมอเป็นตัวยาสำคัญ กับเครื่องเทศอีกบางอย่าง ปรากฏว่ายาดองที่ท่านประกอบขึ้นคราวนี้มีสรรพคุณอย่างมหาศาล แก้โรคได้สารพัด แม้คนที่เป็นโรคท้องมานมาหลายปี รักษาที่ไหนก็ไม่หาย พอไปฟังพระธรรมเทศนา รับไตรสรณาคมน์ และรับยาดองจากท่านไปกินเพียง ๓ วัน โรคท้องมานก็หายดังปลิดทิ้ง แม้กระทั่งคนที่เสียจริต เมื่อรับไตรสรณาคมน์ และได้รับการประพรมน้ำมนต์แล้วก็หายเป็นปกติ ทันตาเห็น ไปหลายราย พุทธบริษัททั้งหลายจึงพากันแตกตื่นในความศักดิ์สิทธิ์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงขนาดขนานนามให้ท่านเป็น “เจ้าผู้มีบุญ” เลยทีเดียว

ตั้งแต่นั้นมา แม้พระอาจารย์ฝั้นจะจากไปประจำอยู่ที่จังหวัดสกลนครแล้ว พุทธบริษัทชาวจังหวัดสุรินทร์ ก็ยังพยายามติดตามไปนมัสการ ทำบุญ ภาวนา และรับการอบรมจากท่านอยู่เสมอมิได้ขาด

ระหว่างพักอยู่ริมห้วยเสนงนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ย้ายสถานที่ไปพักโปรดญาติโยมตามที่ต่างๆ ตามคำนิมนต์ของชาวบ้านผู้มีจิตเลื่อมใสบ้างเป็นบางครั้ง แต่ละแห่งที่ท่านไปพัก บรรดาพุทธบริษัทต่างก็ติดตามไปรับการอบรมและปฏิบัติธรรมอย่างล้นหลามทุกครั้ง สถานที่แห่งที่สามที่ท่านไปพัก ต่อมาได้กลายเป็นวัดป่าโยธาประสิทธิ์ ซึ่งได้เจริญรุ่งเรืองเรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

พอใกล้จะเข้าพรรษา พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ลาญาติโยมเดินทางออกจากสุรินทร์ไปจำพรรษาที่วัดบูรพา จังหวัดอุบลราชธานีตามบัญชาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายก

สาเหตุที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเพราะในปีนั้น สมเด็จฯ อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรค ในทางธรรมปฏิบัติ สมเด็จฯ ได้นิมนต์พระอาจารย์สิงห์ให้อธิบายธรรมเป็นองค์แรก เมื่อพระอาจารย์สิงห์อธิบายจบลงแล้ว สมเด็จฯ จึงให้พระอาจารย์ทอง อโกโส เจ้าอาวาสวัดบูรพา อธิบายอีก จากนั้นจึงหันมาทางพระอาจารย์ฝั้น ให้อธิบายธรรมให้ฟังอีกเป็นองค์สุดท้าย พระอาจารย์ฝั้นจึงได้อธิบายธรรมถวายโดยมีอรรถดังนี้

ให้ท่านทำจิตเป็นสมาธิ ยกไวยกรณ์ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ยกอันนี้ไว้เสียก่อน ทำจิตให้เป็นสมาธิ เราต้องตั้งสมาธิให้ได้ ภาวนากำหนดจิตให้เป็นสมาธิ พอตั้งเป็นสมาธิดีแล้ว ให้เป็นหลัก เปรียบเหมือนเราจะนับตั้งร้อยตั้งพัน ก็ต้องตั้งหนึ่งเสียก่อน ถ้าเราไม่ตั้งหนึ่งเสียก่อน ก็ไปไม่ได้ ฉันใด จิตของเราจะรู้ได้ เราก็ตั้งจิตของเราเป็นสมาธิเสียก่อน เรียบเหมือน นัยหนึ่งคือเหมือนเราจะปลูกต้นไม้ พอปลูกลงแล้ว ก็มีคนเขาว่า ปลูกตรงนั้นมันจะงามดี ก็ถอนไปปลูกตรงนั้น และก็มีคนเขามาบอกอีกว่า ตรงโน้นดีกว่า ก็ถอนไปปลูกตรงโน้นอีก ทำอย่างนี้ ผลที่สุดต้นไม้ก็ตาย ทิ้งเสียเปล่าๆ ไม่ได้อะไรเสียอย่าง ฉันใด เราจะทำจะปลูกอะไร ก็ฝังให้มันแน่น ไม่ต้องถอนไปไหน มันเกิดขึ้นเอง นี้แหละสมาธิ ฉันใดก็ฉันนั้นแหละ หรืออีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนเราจะขุดน้ำบ่อ ต้องการน้ำในพื้นดิน เราก็ขุดลงไปแห่งเดียวเท่านั้น พอเราขุดไปได้หน่อยเดียว ได้น้ำสัก ๒-๓ บาตรแล้ว มีคนเขาบอกว่าที่นั่นมันตื้น เราก็ย้ายไปขุดที่อื่นอีก พอคนอื่นเขาบอกว่า ตรงนั้นไม่ดี ตรงนี้ไม่ดี ก็ย้ายไป ย้ายมา ผลที่สุดก็ไม่ได้กินน้ำ ใครจะว่าก็ช่างเขา ขุดมันแห่งเดียวคงถึงน้ำ ฉันใด เปรียบเหมือนสมาธิของเรา ต้องตั้งไว้แห่งเดียวเท่านั้น เมื่อเราตั้งไว้แห่งเดียว ไม่ต้องไปอื่นไกล ไม่ต้องส่งไปข้างหน้า ข้างหลัง ไม่ต้องคิดถึงอดีต อนาคต กำหนดจิตให้สงบอันเดียวเท่านั้น

ได้ให้ท่านทำสมาธิภาวนา ทำจิตให้สงบ ให้พิจารณาแยกธาตุ แยกขันธ์และอายตนะออกเป็นส่วน ๆ ตามความเป็นจริง พิจารณาให้เห็นความเป็นไปของสิ่งเหล่านั้นตามหน้าที่ของมัน ให้แยกกายออกจากจิต แยกจิตออกจากกาย ให้ยึดเอาตัวจิต คือผู้รู้เป็นหลัก พร้อมด้วยสติ ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ให้พิจารณาให้อยู่ในสภาพของมันเองแต่ละอย่าง เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว จะเห็นได้ว่า ธาตุทั้ง ๔ ต่างเจ็บไม่เป็น ป่วยไม่เป็น แดดจะออก ฝนจะตก ก็อยู่ในสภาพของมันเอง ในตัวคนเราก็ประกอบไปด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้รวมกัน การที่มีความเจ็บปวดป่วยไข้อยู่นั้น ก็เนื่องมาจากตัวผู้รู้ คือจิต เข้ายึดด้วยอุปาทานว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นของเขาของเรา เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ตัวผู้รู้คือจิตเท่านั้นที่ไปยึดเอามาว่าเจ็บ ว่าปวด ว่าร้อน ว่าเย็น หรือหนาว ฯลฯ ตามสภาพความเป็นจริงแล้ว สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นไม่ได้เป็นอะไรเลย ดินก็คงเป็นดิน น้ำก็คงเป็นน้ำ ไม่มีส่วนรู้เห็นในความเจ็บปวดใดๆ ด้วย เมื่อทำจิตให้สงบและพิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายและวางจากอุปาทาน คือเว้นการยึดถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น เมื่อละได้เช่นนี้ ความเจ็บปวดต่างๆ ตลอดจนความตายย่อมไม่มีตัวตน เพราะฉะนั้น หากทำจิตให้สงบ เป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว โรคต่างๆ ก็จะทุเลาหายไปเอง

เมื่อพระอาจารย์ฝั้นอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์จบแล้ว สมเด็จฯ ได้พูดขึ้นว่า เออ, เข้าทีดี แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า ในพรรษานี้ ฉันจะอยู่ได้รอดตลอดพรรษาหรือไม่ พระอาจารย์ฝั้นก็เรียนตอบไปว่า ถ้าพระเดชพระคุณทำจิตให้สงบได้ดังที่อธิบายถวายมาแล้ว ก็รับรองว่าอยู่ได้ตลอดพรรษาแน่นอน

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาอยู่กับท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังกล่าวแล้ว โดยพระอาจารย์ฝั้นได้เลือกเอาวัดบูรพาเป็นที่จำพรรษา เพราะวัดนี้อยู่ฝั่งเดียวกันกับวัดสุปัฏน์ที่สมเด็จฯ พำนักอยู่ การไปมาสะดวกกว่าวัดป่าแสนสำราญ ซึ่งอยู่ทางฝั่งอำเภอวารินชำราบ

วัดบูรพาที่ท่านเลือกพัก มีเขตเป็นสองตอน ตอนหนึ่งเป็นสำนักเรียนพระปริยัติธรรม อีกตอนหนึ่งเป็นป่า มีกุฏิหลังเล็กๆ อยู่ ๕-๖ หลัง สำหรับพระเณรอาศัยปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะ พระอาจารย์ฝั้นได้เลือกเอาด้านที่เป็นป่า เป็นที่พักตลอดพรรษานั้น และได้หมั่นไปอธิบายธรรมปฏิบัติถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดสุปัฏน์เกือบทุกวัน และด้วยอำนาจการปฏิบัติธรรมนั้น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ก็หายวันหายคืน ทั้งอยู่ได้ตลอดพรรษาและล่วงเลยต่อมาอีกหลายปี

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้ออกปากยอมรับในความจริงและชมว่า พระคณะกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีจริง ทั้งยังทำได้ดังพูดจริงๆ อีกด้วย สมควรที่พระมหาเปรียญทั้งหลายจะถือเอาเป็นตัวอย่างปฏิบัติต่อไป ท่านได้กล่าวต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า ฉันเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระบวชเณรมาจนนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยนึกสนใจใน ตจปัญจกกัมมัฏฐานเหล่านี้เลย เพิ่งจะมารู้ซึ้งในพรรษานี้เอง พูดแล้วท่านก็นับ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า นี่เป็นธาตุดิน นี่เป็นธาตุน้ำ นี่เป็นธาตุลม นี่เป็นธาตุไฟใช่ไหม ? พระอาจารย์ฝั้นก็รับว่าใช่ จากนั้นท่านก็ปรารภขึ้นว่า ตัวท่านเองเปรียบเหมือนผู้บวชใหม่ เพิ่งจะมาเรียนรู้ เกสา โลมา ฯลฯ ความรู้ในด้านมหาเปรียญ ที่เล่าเรียนมามากนั้น ไม่ยังประโยชน์และความหมายต่อชีวิตท่านเลย ยศฐาสมณศักดิ์ ก็แก้ทุกข์ท่านไม่ได้ ช่วยท่านไม่ได้ พระอาจารย์ฝั้นให้ธรรมปฏิบัติในพรรษานี้ได้ผลคุ้มค่า ทำให้ท่านรู้จักกัมมัฏฐานดีขึ้น

ในพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ นั้น พระอาจารย์ฝั้นเกือบไม่มีเวลาเป็นของตัวท่านเองเลย ทั้งนี้เพราะท่านได้ทำหน้าที่อุปัฏฐากพร้อมกันถึง ๒ อาจารย์ กล่าวคือ นอกจากกลางคืนจะต้องเข้าถวายธรรมแก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ที่วัดสุปัฏน์ จากหัวค่ำไปจนถึงเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม บางครั้งก็ถึง ๖ ทุ่ม จึงได้กลับวัดบูรพา แล้วพอเช้าขึ้น ท่านก็ออกบิณฑบาตไปเรื่อยๆ แล้วข้ามแม่น้ำมูลไปทางฝั่งอำเภอวารินชำราบ ไปฉันเช้าที่วัดป่าแสนสำราญ ฉันเสร็จก็ประกอบยารักษาโรค ถวายพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งปีนั้นกำลังอาพาธด้วยโรคปอด อยู่ที่วัดป่าแสนสำราญ พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามหาสมุนไพรต่างๆ มาปรุง แล้วกลั่นเป็นยาถวายพระอาจารย์มหาปิ่น หยูกยาที่ทันสมัยก็ไม่มี เพราะขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

เมื่อพูดถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ น่าบันทึกไว้เป็นพิเศษในที่นี้ด้วยว่า การหยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าของพระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นที่จดจำและประทับใจในบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและบรรดาพุทธบริษัทจำนวนมากในจังหวัดอุบลราชธานีมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ปีนั้นอยู่ในราวกลางพรรษา พ.ศ. ๒๔๘๗ จังหวัดอุบลราชธานี กลาดเกลื่อนไปด้วยทหารญี่ปุ่นซึ่งเข้าไปตั้งมั่นอยู่ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องจดจ้องทำลายล้าง โดยส่งเครื่องบินเข้ามาทิ้งระเบิดตามจุดยุทธศาสตร์อยู่เสมอ ชาวบ้านร้านถิ่นจึงพากันอพยพหลบภัยออกไปอยู่ตามรอบนอก หรืออำเภอชั้นนอกที่ปลอดจากทหารญี่ปุ่น ในตัวเมืองอุบลฯ จึงเงียบเหงาลงถนัด จะหลงเหลืออยู่ก็เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นไม่อาจโยกย้ายหรืออพยพเท่านั้น ตกกลางคืน คนเหล่านี้จะนอนตาไม่หลับลงง่ายๆ ต้องคอยหลบภัยทางอากาศกันอยู่เสมอ ปกติเครื่องบินฝ่ายพันธมิตรจะมาทิ้งระเบิดในราวอาทิตย์ละ ๒ หรือ ๓ ครั้ง ถ้าวันไหนเครื่องบินจะล่วงล้ำเข้ามาทิ้งระเบิด พระอาจารย์ฝั้นจะบอกล่วงหน้าให้บรรดาศิษย์ทั้งหลายรู้ก่อนอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง เช่นในตอนเย็น ขณะพระเณรซึ่งเป็นศิษย์ กำลังจัดน้ำฉันน้ำใช้ถวายอยู่นั้น ท่านจะเตือนขึ้นว่า ให้ทุกองค์รีบทำกิจให้เสร็จไปโดยเร็ว แล้วเตรียมหลบภัยกันให้ดี คืนนี้เครื่องบินจะมาทิ้งระเบิดอีกแล้ว ภิกษุสามเณรทั้งหลายก็รีบทำตามที่ท่านสั่ง พอตกกลางคืน ก็มีเครื่องบินข้าศึกเข้ามาทิ้งระเบิดจริงๆ

บางครั้งในตอนกลางวันแท้ๆ ท่านบอกลูกศิษย์ลูกหาว่า เครื่องบินมาแล้ว รีบทำอะไรให้เสร็จๆ แล้วรีบไปหลบภัยกันเสีย ทุกองค์ต่างมองตากันด้วยความงุนงง แต่อีกไม่นานนัก ก็มีเครื่องบินเข้ามาจริงๆ ชาวบ้านหอบลูกจูงหลานเข้าไปหลบภัยอยู่ในบริเวณวัดเต็มไปหมด พระอาจารย์ฝั้นก็ลงจากกุฏิไปเตือนให้อยู่ในความสงบ และให้ภาวนา “พุทโธ พุทโธ” ไว้โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เสร็จฤดูกาลกฐินแล้ว พระอาจารย์ฝั้น ได้เข้านมัสการลาสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่วัดสุปัฏนาราม ขอเดินทางไปสกลนคร อันเป็นจังหวัดบ้านเกิดของท่าน เพื่อบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน อุทิศแด่บุพการี คือโยมบิดามารดา สมเด็จฯ ก็อนุญาต จากนั้นท่านได้ไปนมัสการลาพระอาจารย์สิงห์ กับพระอาจารย์มหาปิ่นที่วัดแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ แล้วไปลาญาติโยมพุทธบริษัท เสร็จแล้วท่านพร้อมด้วยพระภิกษุรูปหนึ่ง สามเณรรูปหนึ่ง กับเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง ได้ออกเดินทางจากอุบลราชธานี มุ่งหน้าไปสกลนคร

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนมาก รถยนต์โดยสารต้องใช้ถ่านแทน และมีวิ่งน้อยคัน พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์ นั่งรถโดยสารซึ่งใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง ออกจากอุบลราชธานีตั้งแต่เช้า ไปถึงอำเภอมุกดาหารจังหวัดนครพนม เมื่อเวลา ๓ ทุ่มเศษ แล้วไปขอพักค้างคืนที่วัดศรีมงคล เช้ารุ่งขึ้นได้โดยสารรถคันเดิมไปพักค้างคืนที่วัดป่าเกาะแก้ว อำเภอธาตุพนม ซึ่งที่นั่นพระอาจารย์ฝั้นได้พาคณะของท่านไปกราบนมัสการพระธาตุพนมด้วย แล้วได้กล่าวแก่พระภิกษุสามเณรและลูกศิษย์ว่า ใครผู้ใดเดินทางผ่านมาถึงแล้วไม่แวะนมัสการองค์พระธาตุพนม คนๆ นั้นนับว่าบาปหนา มีกรรมปกปิดจนไม่สามารถจะมองเห็นปูชนียสถานอันสำคัญ ท่านเล่าด้วยว่า ก่อนโน้น บริเวณพระธาตุพนมเต็มไปด้วยป่ารกรุงรัง องค์พระธาตุก็เต็มไปด้วยเถาวัลย์ปกคลุม พระอาจารย์เสาร์กับพระอาจารย์มั่น สมัยยังหนุ่มแน่นเมื่อเที่ยวธุดงค์ถึงที่นั่นก็มักจะนำญาติโยมไปรื้อเถาวัลย์ออก และถางป่ารอบๆ บริเวณจนสะอาด

หลังจากพักอยู่ที่วัดป่าเกาะแก้วได้ ๔-๕ วัน พระอาจารย์ฝั้นก็พาคณะออกเดินทางต่อ โดยสะพายบาตรแบกกลด หิ้วกาน้ำออกเดินทาง จากอำเภอธาตุพนมมุ่งไปยังอำเภอนาแก กว่าจะถึงก็เกือบมืด จึงแวะพักที่วัดบ้านนาแกน้อยคืนหนึ่ง พอเช้าวันรุ่งขึ้นก็ออกเดินทางต่อไปถึงวัดป่าบ้านนาโสก ที่วัดนี้ท่านได้บำเพ็ญภาวนาอยู่หลายคืน และที่วัดนี้เอง ท่านได้ดัดนิสัยกลัวภูตผีของพระภิกษุลูกศิษย์ที่ร่วมคณะไปด้วยจนได้ผล

เรื่องมีอยู่ว่า ท่านจะพำนักอยู่วัดใดก็ตาม ปกติท่านจะลงจากกุฏิไปอยู่ตามร่มไม้ ซึ่งเรียกว่าอยู่รุกขมูลเสมอมา เมื่อมาพักที่วัดป่านาโสก เจ้าอาวาสได้จัดกุฏิถวายให้ท่านพักก็จริง แต่ท่านพักได้คืนเดียว ก็พาพระภิกษุที่เดินทางไปด้วย ลงไปทำที่พักใหม่ โดยยกแคร่ขึ้นใต้ร่มไม้ในบริเวณป่าช้า ซึ่งที่นั่นเป็นป่าโปร่งบ้าง ทึบบ้าง สัตว์ป่าต่างๆ ก็ชุกชุมมาก เมื่อทำที่พักเฉพาะท่านเสร็จแล้ว ท่านก็บอกพระภิกษุให้หาที่พักในบริเวณเดียวกันตามใจชอบ แล้วถามว่ากลัวผีกันหรือเปล่า พระภิกษุรูปนั้นก็ตอบตามตรงว่า กลัว แต่แทนที่ท่านจะบอกให้ทำที่พักใกล้ๆ ท่านกลับพาไปหาที่พักกลางป่าช้า ลึกเข้าไปในดงดิบ รอบๆ ที่พักเต็มไปด้วยหลุมศพทั้งเก่าและใหม่ แต่เนื่องจากเคารพและเชื่อฟังในตัวท่าน พระภิกษุรูปนั้นจึงจัดทำที่พักโดยมิได้อิดเอื้อนแต่ประการใด ทั้งๆ ที่จิตใจเต็มไปด้วยความหวาดหวั่น

ระยะนั้น อากาศกำลังหนาวจัด แต่คืนนั้นพระภิกษุลูกศิษย์แม้ไม่ใช้ผ้าห่มเลย เหงื่อก็ยังไหลโทรมร่าง เพราะจิตใจไม่เป็นปกติให้กลัวผีมาหลอกหลอนอยู่เรื่อย คืนต่อมา พระอาจารย์ฝั้นก็สั่งสอนให้รู้จักแก้ความกลัวในสิ่งต่างๆ โดยท่านถามว่า เมื่อคืนนี้ เวลากลัวมากๆ อย่างนั้นน่ะ ภาวนาไปแล้วจิตมันสงบหรือเปล่า พระภิกษุรูปนั้นตอบว่า จิตไม่สงบเลย เพราะมีแต่ความกลัวจนนอนไม่หลับ พระอาจารย์ฝั้นก็บอกว่า ถ้าจิตไม่สงบก็แสดงว่ามันไม่กลัวน่ะซี เพราะถ้าจิตมันกลัว มันก็ต้องสงบ และต้องรวมเป็นสมาธิได้ ถ้าจิตมันยังแส่หา หรือนึกว่ามีผีและยังกลัวอยู่ เรียกว่าจิตไม่สงบ เมื่อจิตไม่รวม ไม่สงบ ก็แสดงว่าจิตมันไม่กลัว ตามธรรมดา เมื่อคนเราบังเกิดความกลัวขึ้นมา เป็นต้นว่า กลัวช้าง กลัวเสือ หรือกลัวสัตว์ต่างๆ ย่อมต้องหาที่หลบที่กำบัง หรือหาที่พึ่ง เช่นวิ่งเข้าหลบในบ้านเรือน เมื่อหลบกำบังแล้ว ความกลัวมันก็หายไป ตรงกันข้าม ถ้าวิ่งออกไปข้างนอกโดยปราศจากที่สำหรับกำบัง ความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จิตของคนเราก็เช่นกัน เมื่อบังเกิดความกลัว ก็ความสวบนิ่งอยู่กับสมาธิภาวนา ไม่ใช่วิ่งออกไปหาผีตามป่าช้าแล้วก็นั่งกลัวตัวสั่นอยู่คนเดียว แล้วท่านก็สั่งสอนอีกว่า ความกลัวผีนั้นเป็นเพียงอุปาทานของเราเอง เราหลอกตัวเราเอง เราเองนึกขึ้นว่าผี แล้วเราก็กลัวผี เมื่อบังเกิดความกลัวขึ้นมา ต้องรีบสำรวมใจให้สงบ จิตจะได้มีกำลังต้านทานต่อสิ่งร้ายเหล่านั้นได้ จิตของเราจะได้มีกำลังพิจารณาหาเหตุผลต่างๆ เพื่อจะได้ต่อสู้กับภัยทั้งปวงที่จะเกิดขึ้น จิตยิ่งฟุ้งซ่านเท่าไหร่ แม้ใบไม้ร่วงก็เข้าใจว่าผีหลอก ดีไม่ดี ออกวิ่งจีวรปลิวไปเปล่าๆ เมื่อสั่งสอนถึงตอนนี้แล้ว ท่านก็บอกต่อไปว่า ต่อไปนี้ ถ้ากลัวผีมากกว่าครูบาอาจารย์ละก็ จงไปคุกเข่ากราบผีเสียดีกว่า ไม่ต้องมากราบไหว้ครูบาอาจารย์ให้เสียเวลา พระภิกษุรูปนั้นเล่าในภายหลังว่า ได้ยินคำสอนของพระอาจารย์ฝั้นเช่นนั้นแล้ว ให้บังเกิดความมานะเป็นอันมาก พยายามต่อสู้ความกลัวด้วยการรวบรวมสมาธิจนเป็นผลสำเร็จ และได้พบความจริงด้วยว่า เมื่อพิจารณากันด้วยเหตุผล กล้าต่อสู้กับความเป็นจริงอย่างพระอาจารย์ฝั้นสั่งสอนแล้ว แม้ตกอยู่กลางป่าช้าดงดิบอันเต็มไปด้วยหลุมฝังศพ ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวแต่ประการใด เพียงแต่ตัวเองคิดขึ้นมาหลอกตัวเองเท่านั้น

พักอยู่ที่วัดป่าบ้านนาโสกประมาณ ๘-๙ วัน พระอาจารย์ฝั้นก็พาภิกษุสามเณรเดินทางต่อไปพักที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร อันเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาอยู่ก่อน แต่ขณะนั้นพระอาจารย์มั่นได้ย้ายไปพักมนที่วิเวกใกล้ๆ กับบ้านห้วยแคนแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นจึงเดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าห้วยแคน และอีก ๓ วันต่อมา ได้เดินทางต่อไปยังวัดป่าบ้านโคก ซึ่งเป็นวัดที่พระอาจารย์มั่น เคยพักจำพรรษามาก่อนเช่นกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2019, 21:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
พระอาจารย์ดี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ท่านอาญาครูดี”


พระอาจารย์ฝั้นพักอยู่กับพระอาจารย์กงมา จิรปญฺโญ ประมาณ ๔-๕ คืน ก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าสุทธาวาส แต่ไปได้แค่บ้านนายอก็ค่ำลงเสียก่อน ท่านจึงแวะพักค้างคืนที่โรงเรียนประชาบาล เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากบิณฑบาตและฉันเสร็จก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าสุทธาวาส พักอยู่ที่วัดนั้นอีก ๓ คืน จึงเดินทางต่อไปยังอำเภอพรรณานิคมแล้วเดินทาง ตัดทุ่งนาไปยังบ้านบะทอง อันเป็นบ้านเกิดของท่านเอง พักที่บ้านบะทองเพียงคืนเดียว ก็ย้ายเข้าไปพักในป่าข้างป่าช้าใกล้ๆ กับหนองแวง ซึ่งบรรดาญาติโยมได้พากันไปถากถางทำที่พักชั่วคราวถวายให้

ที่พักชั่วคราวดังกล่าวได้กลายมาเป็นวัดป่าอุดมสมพรในปัจจุบัน ส่วนหนองแวงได้กลายมาเป็นสระน้ำใหญ่ที่มีโบสถ์น้ำอยู่กลางสระ

ณ ที่พักชั่วคราวนั้นเอง พระอาจารย์ฝั้นได้เตรียมการทำบุญอุทิศส่วนกุศล แด่บุพการีของท่าน โดยมีญาติโยมมาช่วยเตรียมการด้วยอย่างแข็งขัน เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ท่านจึงได้เริ่มพิธี งานทำบุญครั้งนั้นปรากฏว่าได้กระทำกันอย่างใหญ่โต ชาวบ้านหลายหมู่บ้านได้ไปร่วมงานอย่างคับคั่ง ไม่มีมหรสพ ไม่มีเครื่องกระจายเสียง มีแต่ฟังเทศน์อบรมธรรมแต่ประการเดียวตลอดคืน โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ไปร่วมในพีด้วยหลายรูป

เมื่อพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นการแสดงธรรม พระภิกษุองค์แรกที่ขึ้นแสดงธรรมคือพระอาจารย์ฝั้น ในนามของเจ้าภาพ ท่านได้ตักเตือนให้บรรดาญาติโยมตั้งใจรับการอบรมอย่างจริงจัง อย่ารบกวนสมาธิของผู้ฟังด้วยกัน จากนั้นก็นิมนต์พระอาจารย์ดี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ท่านอาญาครูดี” ขึ้นเทศน์เป็นองค์ต่อไป พระอาจารย์ดีเทศน์จนถึง ๖ ทุ่ม ก็จบลง ต่อไปพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ขึ้นเทศน์ต่อตั้งแต่ ๖ ทุ่มไปจนสว่าง เมื่อได้เวลาออกบิณฑบาต ท่านจึงได้ลงจากธรรมาสน์ บรรดาญาติโยมที่ไปร่วมงานบำเพ็ญกุศลกับพระอาจารย์ฝั้นครั้งนั้น ต่างก็ปลื้มปีติและซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง เพราะนานๆ จะมีพระภิกษุไปชักจูงให้ประกอบการบุญการกุศลสักครั้งหนึ่ง

และตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้นก็เริ่มมีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษามาตลอด จนได้กลายเป็นวัดป่าอุดมสมพรดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

น่าสังเกตว่า คืนแรกที่พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุร่วมคณะเข้าไปพักในป่าแห่งนี้นั้น ท่านได้ให้โยมถางป่าแล้วเอาฟางมาปู จากนั้นก็ปูเสื่อทับลงไปบนฟาง ตกกลางคืนปลวกได้กลิ่นฟางจึงออกมาอาละวาด ต้องย้ายกันตลอดคืนถึง ๔-๕ ครั้งจนสว่าง ทุกรูปต่างไม่ได้หลับไม่ได้นอนตลอดคืน เช้ารุ่งขึ้นต้องทำเป็นแคร่ยกขึ้นพ้นจากพื้น จึงปลอดภัยจากกองทัพปลวกไปได้ การที่สถานที่นั้นกลายมาเป็นวัดป่าอุดมสมพร ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในปัจจุบัน ก็เป็นเพราะว่าพระอาจารย์ฝั้นได้บุกเบิกมาด้วยความยากลำบาก นับตั้งแต่คืนแรกเลยทีเดียว

เสร็จจากการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานแด่บุพการีของท่านแล้ว อีกไม่กี่วันต่อมา พระอาจารย์ฝั้นได้ลาบรรดาญาติโยมทั้งหลายเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากได้รับนิมนต์ไปร่วมงานศพของคุณแม่ชีสาริกา ซึ่งทางเจ้าภาพและคณะสงฆ์จากจังหวัดอุบลฯ นิมนต์ไว้ล่วงหน้าแล้ว ก่อนจะเดินทางออกจากจังหวัดอุบลฯ มาจังหวัดสกลนคร เมื่อจัดบริขารเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็พาศิษย์ออกเดินทางโดยเดินเท้าจากที่พักดังกล่าว ย้อนกลับไปทางตัวเมืองสกลนคร แต่เดินทางไปทั้งวันไปได้แค่บ้านพาน จึงแวะเข้าไปพักในป่าช้าหนึ่งคืน รุ่งเช้าจึงออกไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน วันนั้นพระอาจารย์ฝั้นและพระลูกศิษย์บิณฑบาต ได้เพียงข้าวเหนียวกับน้ำอ้อยเพียง ๔ ก้อนเท่านั้น

เกี่ยวกับบิณฑบาตนี้ พระอาจารย์ฝั้นได้เคยเล่าให้บรรดาพระภิกษุสามเณรที่เป็นศิษย์ใกล้ชิดฟังว่า สมัยก่อนท่านเที่ยวธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ บางหมู่บ้านท่านบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลยก็มี แม้ข้างเหนียวสักปั้นหนึ่งก็ไม่ได้ ต้องอดอาหารเดินทางต่อไปอีก แต่ถึงจะลำบากยากเข็ญสักเพียงใด ท่านก็ไม่เคยย่อท้อ ยิ่งอดอยากมากเท่าไรก็ยิ่งทำความเพียรได้มากขึ้นเท่านั้น สำหรับท่านเองนั้นเคยฝึกหัดทรมานตนด้วยการอดอาหารมาแล้วเป็นเวลาหลายๆ วันก็มี

เมื่อฉันข้าวเหนียวกับน้ำอ้อยตอนเช้าวันนั้นเสร็จแล้ว พระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุลูกศิษย์ก็เดินทางต่อไปยังวัดป่าธาตุนาเวง ซึ่งพระอาจารย์พรหม จิรปุญฺโญ เคยเป็นเจ้าอาวาสอยู่มาก่อน วัดนี้เป็นป่าดงดิบอยู่ใกล้กับโรงเรียนพลตำรวจ เขต ๔ เมื่อสมัยโน้น แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นวิทยาลัยครูสกลนครไปแล้ว

ท่านตั้งใจจะพักที่วัดป่าธาตุนาเวงเพียงคืนเดียว แต่เนื่องจากมีผู้นิมนต์ให้ท่านจำพรรษาอยู่ที่สกลนคร เพื่อแบ่งเบาภาระพระอาจารย์มั่นอีกแรงหนึ่ง ประกอบกับธุรกิจการกุศลที่ท่านตั้งใจไปกระทำที่อุบลราชธานี ได้หมดความจำเป็นไปแล้ว เพราะศพคุณแม่ชีสาริกาได้จัดการเผาไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากกำหนดการเดิมผิดพลาดไป ท่านจึงตกลงใจรับปาก และพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา

ขณะจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวงนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เป็นผู้นำในการบูรณะวัด โดยซ่อมแซมกุฏิที่ผุพังให้มีสภาพดีขึ้นสำหรับอยู่อาศัย ภายหลังวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์

พอถึงวันอุโบสถ พระอาจารย์ฝั้นจะอบรมสานุศิษย์เป็นประจำ อบรมแล้วก็นำให้นั่งสมาธิภาวนาและเดินจงกรมตลอดคืน

ระหว่างพรรษานั้น มีเรื่องอัศจรรย์ซึ่งบรรดาพระลูกศิษย์ชุดที่จำพรรษาอยู่ด้วยยังจำกันได้แม่นยำอยู่เรื่องหนึ่ง

กล่าวคือ เวลาพระอาจารย์ฝั้นมีกิจธุระต้องเข้าไปในตัวเมือง หรือไปที่วัดป่าสุทธาวาสนั้น หากคิดระยะทางดูแล้วจะเห็นได้ว่า จะต้องเดินเท้าออกจากวัดไปเป็นระยะทาง ๑ กิโลเมตรเศษจึงจะถึงสี่แยกถนนใหญ่ และจากสี่แยกไปจนถึงตัวเมืองสกลนคร จะเป็นระยะทางอีกประมาณ ๖ กิโลเมตร บางครั้งท่านจะนำพระภิกษุสามเณรออกเดินทางด้วยเท้าไปจนถึงตัวเมืองเลยทีเดียว แต่ที่น่าอัศจรรย์มีอยู่ว่า บางครั้ง เมื่อเตรียมตัวจะออกจากวัดเพื่อเดินทาง ก็ได้ยินเสียงรถยนต์วิ่งกระหึ่มอยู่บนถนนใหญ่ ซึ่งแน่ใจได้ว่าเป็นรถโดยสารที่วิ่งจากอุดรฯ จะเข้าสู่ตัวเมืองสกลนคร พอได้ยินเสียงรถ พระภิกษุที่จะร่วมเดินทางด้วยก็เรียนท่านว่า จะขอวิ่งออกไปก่อนเพื่อบอกให้รถหยุดรอตรงสี่แยก แต่ท่านจะบอกว่า ไม่ต้องหรอก วิ่งไปให้เหนื่อยเปล่าๆ รถคันนั้นต้องหยุดรอเราแน่ๆ จากนั้นท่านก็นำคณะออกเดินเท้าไปตามสบาย พอถึงสี่แยกก็พบรถโดยสารจอดรอเราอยู่แล้วจริงๆ

ปรากฏว่าเครื่องยนต์ดับ คนขับสตาร์ทเท่าไหร่ก็ไม่ติด

พระอาจารย์ฝั้นได้สอบถามดูแล้ว ท่านก็บอกแก่คนขับรถโดยสารว่า เอาละ เครื่องดีแล้ว รีบไปกันเถอะ อาตมาขอโดยสารไปในตัวเมืองด้วย กล่าวจบท่านก็พาคณะก้าวขึ้นรถ คนขับลองสตาร์ทดูใหม่ ก็ปรากฏว่าเครื่องติดดังกระหึ่มขึ้นจริงๆ ผู้คนในรถจึงพากันเอ่ยปากว่าแปลกแท้ และต่างมองหน้ากันเองด้วยความไม่เข้าใจ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่อาจมีใครทราบได้ว่า เกิดจากกระแสจิตอันแรงกล้าของพระอาจารย์ฝั้นหรืออย่างไร แต่พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านรูปหนึ่ง ยังจำได้ถึงคำสั่งสอนของท่านเกี่ยวกับอำนาจจิตได้ดี กล่าวคือ ท่านเคยเทศน์ถึงความแก่กล้าของจิตว่า ก่อนจะทำต้องบำเพ็ญความเพียร ชำระกิเลสออกจากจิตให้หมดสิ้นไปเสียก่อน เมื่อขัดเกลาจนหมดจดได้แล้ว อำนาจของจิตย่อมเกิดขึ้นได้เอง เปรียบเช่นกับน้ำฝน เมื่อตกลงสู่แผ่นดินอันเต็มไปด้วยฝุ่นละออง น้ำฝนที่ใสก็กลายเป็นข้นขุ่น ยิ่งไปกวนเข้าก็ยิ่งขุ่นมากขึ้น ใครฉลาดตักใส่ภาชนะวางทิ้งไว้นิ่งๆ ความสกปรกก็จะตกตะกอน และน้ำนั้นก็จะใสขึ้นใหม่ สามารถใช้ดื่มกินได้ สภาพของจิตนั้นเดิมก็ใสสะอาด ปราศจากมลทินเป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่แล้ว แต่เมื่อเข้ามายึดถือในอัตภาพร่างกาย อันเต็มไปด้วยกิเลสต่างๆ จิตก็จะเศร้าหมองขุ่นมัว หากชำระให้หมดไปได้ จิตก็จะใสสะอาด มีพลังและมีอำนาจสามารถทำอะไรๆ ได้ตามกำลังของจิต

ก่อนเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุอีกบางรูป เที่ยวธุดงค์ต่อไปโดยออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ เมื่อเดินทางไปถึงวัดป่าบ้านโคก พระภิกษุรูปหนึ่งเกิดอาพาธเป็นไข้มาเลเรียอย่างหนัก ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ หยูกยาหายากมาก ท่านได้รีบพากลับวัดป่าธาตุนาเวง และให้การรักษาพยาบาลป้อนข้าวป้อนน้ำอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหายเป็นปกติ เกี่ยวกับเรื่องไข้มาเลเรียนี้ ท่านได้เล่าให้บรรดาสานุศิษย์ฟังว่า ตัวท่านเคยประสบมาแล้วเช่นเดียวกัน ออกเดินธุดงค์คราใด จะต้องมีรากยาติดย่ามไปด้วยเสมอ บางครั้งเดินอยู่ดีๆ เกิดอาการไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน ต้องแวะนอนใต้ร่มไม้ เอารากยาออกมาเคี้ยวแล้วกลืนน้ำลายเข้าไปแทน เพราะน้ำที่จะฝนรากยาหาไม่ได้ในละแวกนั้น ต้องทนลำบากเพราะไข้มาเลเรียอยู่ถึงสิบกว่าปี จึงได้ชินกับไข้ประเภทนี้

ท่านได้เตือนบรรดาพระลูกศิษย์ที่ร่วมธุดงค์อยู่เสมอมาด้วยว่า เวลาเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ ให้ระวังเรื่องน้ำ เหนื่อยๆ และหิวจัดอย่าดื่มน้ำในทันทีที่เห็นน้ำ ควรรอให้หายเหนื่อยเสียก่อนจึงค่อยดื่ม เหงื่อกำลังออกโชกร่างก็เช่นเดียวกัน อย่าอาบน้ำทันที ควรรอให้เหงื่อแห้งเสียก่อน จึงค่อยอาบน้ำ ถ้าดื่มน้ำในเวลาที่หิวจัด หรืออาบน้ำทั้งเหงื่อ หรือกำลังเหนื่อย บางครั้งจะจับไข้ทันที

เสร็จฤดูกาลรับกฐิน หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๘ พระอาจารย์ฝั้น ได้ออกเที่ยวธุดงค์ไปในเขตเทือกเขาภูพาน ไปพักวิเวกตามสถานที่อันสงบตามเชิงเขาบ้าง ไปป่าทึบอันเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายต่างๆ บ้าง แล้วเลยขึ้นไปพักบนภูเขาใกล้ๆ กับบ้านนาสีนวล (วัดดอยธรรมเจดีย์ในปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่า เต็มไปด้วยเสือร้ายและสัตว์ป่านานาชนิด พักวิเวกอยู่ที่นั่นได้ประมาณเดือนเศษก็ลงมา แล้วไปพักที่วัดป่าบ้านโคก หรือวัดป่าวิสุทธิธรรม ซึ่งพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ได้สร้างขึ้นและนิมนต์พระอาจารย์มั่นมาจำพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ จากนั้นในปีถัดมาพระอาจารย์มั่นจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน แต่พระอาจารย์กงมายังคงอยู่ที่วัดป่าบ้านโคกต่อไป หลวงปู่ฝั้นได้ชักชวนพระอาจารย์กงมาให้ร่วมธุดงค์ไปด้วย จากนั้นเดินทางไปพักที่วัดป่าร้างใกล้กับบ้านหนองมะเกลือ ตำบลดงชนอีกประมาณเดือนเศษ จึงย้ายไปพักที่ป่าไผ่ บ้านธาตุดุม ห่างตัวเมืองสกลนครในราว ๔-๕ กิโลเมตร

ครึ่งเดือนกว่าๆ ต่อมา เมื่อทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นอาพาธอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์ฝั้นกับพระอาจารย์กงมา จึงรีบเดินทางไปเยี่ยม ปรนนิบัติท่านอยู่ในราว ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์มั่นก็ทุเลาลง จึงเดินทางกลับไปพักที่ป่าไผ่บ้านธาตุดุมอีก และต่อมาได้ย้ายไปพักที่วัดร้างแห่งหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองสกลนคร คือวัดสระแก้ว วัดนี้ร้างพระเณรอยู่หลายปีมาแล้ว บริเวณวัดจึงเต็มไปด้วยป่ารกรุงรัง (ปัจจุบันปลูกสร้างเป็นโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร)

ระยะแรกที่พระอาจารย์ฝั้น กับพระอาจารย์กงมา พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกบางรูป ได้เข้าไปพักในวัดร้างแห่งนี้ ภายในวัดมีกุฏิร้างจะพังมิพังแหล่หันหน้าเข้าหากันอยู่ ๒ หลัง ระหว่างกลางเป็นชานโล่ง ปูพื้นติดต่อถึงกัน พระอาจารย์ทั้งสองท่านต่างก็พักอยู่รูปละหลัง พระภิกษุสามเณรไปพักรวมกันอยู่อีกหลังหนึ่ง คนละด้านกับพระอาจารย์ ส่วนอีกหลังหนึ่งนั้น จัดไว้สำหรับเป็นที่ฉันจังหันรวม สำหรับพระอาจารย์กงมานั้น พักอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งก็เดินทางกลับไปวัดป่าบ้านโคก

ต่อมาวันหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นได้บอกกับพระภิกษุสามเณรว่า พักอยู่บนกุฏินี้ไม่ค่อยสงบนัก ลงไปอยู่ร่มไม้รุกขมูลกันดีกว่า แล้วท่านก็ลงจากกุฏิไปเลือกเอาที่พักใหม่ใต้ต้นสัก ซึ่งมีสระน้ำอยู่ใกล้ๆ โดยทำที่พักและทางจงกรมขึ้น แล้วยกแคร่ไม่ไปตั้งเป็นที่นอน

พระอาจารย์ฝั้นพักอยู่ตรงนั้นได้ ๒-๓ คืน เช้ารุ่งขึ้นก็บอกกับพระลูกศิษย์ว่า เมื่อคืนนี้เห็นแก้วอะไรใสๆ จมอยู่ที่ก้นสระ แล้วจึงพาพระลูกศิษย์กับนายใช้ ผู้ซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับรั้ววัดและได้ปฏิบัติอุปัฏฐากพระอาจารย์ฝั้นมาตลอดเวลาที่พักอยู่ในวัดนั้น ไปเดินรอบๆ สระ ปรากฏว่าสระนั้นเต็มไปด้วยสาหร่ายมองไม่เห็นอะไรเลย พระอาจารย์ฝั้นเดินสังเกตอยู่ครู่หนึ่ง ก็ชี้ลงไปที่สาหร่ายแห่งหนึ่ง แล้วบอกว่าอยู่ตรงนี้แหละ เมื่อนายใช้ลงไปงมดูก็พบขวดโหลแก้วขนาดกลางจมอยู่ในเลน ๒ ลูก เมื่อล้างสะอาดพิจารณาดูแล้ว พระอาจารย์ฝั้นก็เอ่ยขึ้นว่า คงเป็นโหลใส่อัฐิของท่านผู้ใดผู้หนึ่ง อาจเป็นโหลใส่อัฐิของคุณพระพินิจฯ ก็ได้ เพราะบริเวณนั้นมีเจดีย์เก็บอัฐิของคุณพระพินิจฯ อยู่ใกล้ๆ จึงพากันเดินไปดูที่เจดีย์ เมื่อให้นายใช้ปีนขึ้นไปดูด้านบน ก็พบว่าเจดีย์ถูกคนร้ายลอบขุด โดยคนร้ายทุบคอเจดีย์แตกแล้วขนสมบัติมีค่าต่างๆ ที่บรรจุอยู่ข้างในไปหมด ส่วนอัฐิของคุณพระพินิจฯ และภรรยา ก็ถูกเทออกจากขวดโหลกองไว้เป็น ๒ กอง เมื่อญาติๆ ของคุณพระพากันมาดู ก็ยืนยันว่าเป็นขวดโหลที่ใส่อัฐิดังกล่าวจริง จึงพร้อมใจกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลและทำพีบรรจุอัฐิใหม่ แล้วบรรจุเข้าไว้ยังเจดีย์ตามเดิม

พระอาจารย์ฝั้นพักวิเวกอยู่ที่วัดร้างแห่งนั้นประมาณเดือนเศษ ก็พาพระภิกษุสามเณรกลับไปวัดป่าธาตุนาเวงอีก และได้นำบรรดาทหาร ตำรวจในจังหวัดให้ช่วยกันพัฒนาวัดป่าธาตุนาเวงให้สะอาดเรียบร้อยขึ้น จนเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาเป็นวัดป่าภูธรพิทักษ์กระทั่งทุกวันนี้

มีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งอยู่ประการหนึ่งว่า การพัฒนาบ้านเมืองซึ่งทางราชการกำลังเร่งรัดเพื่อความเจริญของท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น แม้ที่จริงพระอาจารย์ฝั้น ได้มีโครงการและลงมือปฏิบัติเอง และได้เป็นผู้นำในการพัฒนามาก่อนแล้ว กล่าวคือ ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด แม้จะชั่ว ๓ วัน ๗ วันก็ตาม ท่านจะแนะนำชาวบ้านให้ทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนถนนหนทางให้ดูสะอาดตาอยู่เสมอ แม้ขณะที่ท่านไปพำนักอยู่ในป่าช้าหรือหมู่บ้านบริเวณเชิงเขาภูพาน หนทางที่ท่านจะเดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน จะมีชาวบ้านร่วมกันถากถาง ปัดกวาด และทำความสะอาดอยู่เสมอ ที่โรงเรียนพลตำรวจเขต ๔ ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกัน

ก่อนที่พระอาจารย์ฝั้นจะไปพักอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง บริเวณนั้นรกรุงรังด้วยป่าหญ้า ไข้มาเลเรียก็ชุกชุม ตำรวจป่วยเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง ถึงขนาดโดดหน้าต่างกองร้อยตายไปก็มี ตำรวจและครอบครัวเชื่อกันว่า เป็นเพราะผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซพิโรธ หาใช่โรคมาเลเรียอะไรไม่ พระอาจารย์ฝั้นได้พยายามอธิบายให้ตำรวจเหล่านั้นเข้าใจในเหตุผล เลิกเชื่อถือผีสาง แต่ตำรวจและครอบครัวเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมเชื่อ

ต่อมาเมื่อคณะตำรวจนิมนต์ท่านไปเทศน์ที่กองร้อย ท่านจึงปรารภกับผู้กำกับการตำรวจว่า ถ้าอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ควรจัดสถานที่ให้สะอาดขึ้น ตัดถนนหนทางเรียบร้อย ถางป่าและหญ้าในบริเวณเสียให้เตียน อากาศจะได้ปลอดโปร่งและถ่ายเทได้ดีขึ้น สำหรับหนองหญ้าไซนั้นเล่าก็ควรขุดลอกให้เป็นสระน้ำเสีย จะได้ดูสวยงามและได้ประโยชน์ในการใช้สระน้ำด้วย เมื่อผู้กำกับประชุมตำรวจแล้ว ที่ประชุมตกลงทำทุกอย่าง เว้นแต่การขุดลอกหนองหญ้าไซเท่านั้น เพราะกลัวผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซจะพิโรธ คร่าชีวิตตำรวจตลอดจนสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น แล้วก็จัดการตัดถนน ทำสนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น ถางป่า ถางหญ้าจนสะอาดตา ทำให้อากาศถ่ายเทโดยสะดวกขึ้นกว่าก่อน

ต่อมาถึงวาระประชุมอบรมฟังเทศน์ที่กองร้อยอีก คณะตำรวจและครอบครัวไปประชุมฟังเทศน์กันอย่างคับคั่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงหยิบยกปัญหาการขุดลอกหนองหญ้าไซขึ้นมาปรารภอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนก็บอกว่าไม่กล้า กลัวเจ้าพ่อหักคอเอา แต่หากท่านไปนั่งเป็นประธานดูพวกตนขุดแล้วจึงจะยอมทำ พระอาจารย์ฝั้นก็ตอบตกลง

การขุดลอกหนองหญ้าไซจึงได้เริ่มขึ้นในโอกาสต่อมา ต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้น จนกลายเป็นสระน้ำขึ้นมา อากาศก็ดีขึ้น ไข้มาเลเรียที่เคยชุกชุมก็ค่อยๆ ทุเลาลงจนเหือดหายไปในที่สุด

ก่อนเข้าพรรษาปีนั้นคือปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการทหารนครราชสีมา ซึ่งเป็นศิษย์ที่มีความเคารพพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมาก ได้เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร พอทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นพำนักอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง ก็รีบรุดไปหา เพื่อขอนิมนต์ไปโปรดทหาร และประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้ง หลวงหาญสงครามนี้เคยเป็นศิษย์ของท่านสมัยที่ท่านพำนักอยู่ที่นครราชสีมา โดยเฉพาะเมื่อคราวที่ท่านเป็นแม่ทัพนำกำลังเข้าล้อมเมืองเชียงตุง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ล้อมอยู่หลายวัน ไม่อาจหาทางเข้าตีขั้นแตกหักได้ จึงนั่งสมาธิภาวนาระลึกถึงพระอาจารย์ฝั้นในคืนวันหนึ่ง เช้ามืดวันรุ่งขึ้น ได้ชวนทหาร ๒-๓ คนออกเดินสำรวจไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็ไปพบมารดาเจ้าเมืองเชียงตุงเข้าโดยบังเอิญ จึงได้รู้ถึงทางเข้าตีเมืองเชียงตุงจากมารดาเจ้าเมือง การยกเข้าตีก็ประสบความสำเร็จ หลวงหาญฯ จึงรำลึกในพระคุณ ของพระอาจารย์ฝั้นยิ่งขึ้น ภายหลังเที่ยวได้ตามหาพระอาจารย์ฝั้น แต่ไม่พบ จนกระทั่งไปราชการที่สกลนครแล้วทราบที่พำนักของท่านเข้า จึงรีบรุดไปนิมนต์ดังกล่าวแล้ว

แต่หลวงหาญสงครามไม่อาจนิมนต์พระอาจารย์ฝั้นไปโปรดที่นครราชสีมาได้ เพราะผู้กำกับการโรงเรียนพลตำรวจเขต ๔ ได้พยายามทัดทานไว้อย่างหนัก ต่างฝ่ายต่างขอกันอยู่พักใหญ่ ในที่สุดหลวงหาญฯ ก็ใจอ่อนเลิกล้มความตั้งใจ กล่าวคือไม่นิมนต์ท่านไปนครราชสีมา แต่ท่านตั้งข้อแม้เอาไว้ว่า ท่านผู้กำกับการตำรวจจะต้องดูแลปฏิบัติพระอาจารย์ฝั้นของท่านให้ดี ผู้กำกับการก็รับปากจะปฏิบัติตามนั้นอย่างแข็งขัน

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลังเข้าพรรษามาจนถึงเดือนเก้า คือ เดือนสิงหาคมเข้าไปแล้ว ฝนฟ้าก็ยังไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านกลัวอดข้าวเพราะทำนาไม่ได้ จึงไปปรารภกับพระอาจารย์ฝั้น ท่านจึงแนะนำให้รักษาศีลให้เคร่งครัดโดยพร้อมเพรียงกัน ท่านกล่าวว่า หากยึดมั่นในพระรัตนตรัยแล้วจะไม่อดตายอย่างแน่นอน กุศลความดีทั้งหลายจะรักษาผู้ปฏิบัติชอบเสมอ บรรดาญาติโยมและอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายต่างก็พากันเข้าวัด ปฏิบัติถือศีล ๕ ศีล ๘ กันอย่างมั่นคง ต่อมาวันหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นให้ศิษย์เอาเสื่อไปปูที่กลางแดดบนลานวัด แล้วท่านกับพระภิกษุ ๒ รูป สามเณรอีก ๒ รูป ก็ลงไปนั่งสวดคาถาท่ามกลางแสงแดดจ้า (คาถาที่สวดนั้นพระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้จดลงในสมุดปกแข็งสีน้ำเงิน มีความยาวประมาณ ๓ หน้ากระดาษ) นั่งสวดไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เกิดสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ท้องฟ้าที่กำลังมีแดดจ้า พลันมีเสียงฟ้าคำราม แล้วบังเกิดก้อนเมฆกับมีฝนเทลงมาอย่างหนัก พระอาจารย์ฝั้นจึงให้พระเณรที่ร่วมสวดหลบฝนไปก่อน ส่วนตัวท่านเองก็ยังคงนั่งอยู่ที่เดิมอีกนานจึงได้ลุกขึ้น

ฝนตกอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้นเกือบ ๓ ชั่วโมง จึงได้หยุดตก และเมื่อหยุดตกแล้ว ท้องฟ้าก็แจ่มใสดังเดิม ตั้งแต่นั้นมา ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้ทำนากันตามปกติโดยทั่วถึง

พระอาจารย์ฝั้นได้พำนักและบูรณะวัดป่าธาตุนาเวงเป็นเวลานานถึง ๙ ปี ระหว่างนั้นเมื่อเสร็จฤดูกาลกฐิน ท่านจะพาภิกษุสามเณร เดินธุดงค์ไปวิเวกตามสถานที่ต่างๆ อยู่เสมอ

ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อออกพรรษา ท่านได้พาภิกษุสามเณร เดินธุดงค์ไปวิเวกที่ภูวัว ในท้องที่อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย

เหตุที่จะไปพำนักเพื่อบำเพ็ญความเพียรบนภูวัว เริ่มจากท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ วัดโพธิสมภรณ์ ได้นิมนต์ท่านไปในงานศพของพระอาจารย์อุ่น ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เสร็จงานศพแล้ว พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์อ่อน และท่านพระครูอุดมธรรมคุณ (ทองสุก สุจิตฺโต อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส) ได้ปรึกษาหารือกันว่า จะไปทางไหนกันดี หรือจะแยกย้ายกันกลับวัด พระอาจารย์อ่อนก็ออกความเห็นว่า ไปวิเวกต่อแถวๆ ภูลังกา หรือภูวัวก่อนดีกว่า ต่างก็เห็นดีด้วย ทั้งสามท่าน พร้อมด้วยภิกษุผู้เป็นศิษย์อีกบางรูป จึงพร้อมกันออกเดินทางจากอำเภอท่าอุเทนไปทางอำเภอบ้านแพง จนกระทั่งถึงภูลังกา ซึ่งเป็นที่พำนักของพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

เมื่อขึ้นไปพักอยู่กับพระอาจารย์วังฯ ได้ประมาณ ๗-๘ วัน พระอาจารย์ฝั้นได้พิจารณาเห็นความยากลำบากในการขึ้นลง เพราะเขาสูงมากลงมาบิณฑบาตไม่ได้ พวกญาติโยมต้องจัดเสบียงอาหารส่งขึ้นไปให้ลูกศิษย์ทำอาหารถวาย พระเณร ยิ่งมากรูปก็ยิ่งลำบากแก่ญาติโยมมากขึ้น จึงได้สอบถามพระอาจารย์วังเกี่ยวกับภูวัว โดยปรารภว่า อยากจะไปวิเวกอยู่ที่นั่น พระอาจารย์วังก็บอกว่า ภูวัวเป็นที่วิเวกดีมาก เป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น ช้าง เสือ ตลอดจนวัวกระทิง โดยเฉพาะอีเก้ง กับกวาง ลิงมีเป็นฝูงๆ พระอาจารย์อ่อนกับพระอาจารย์ฝั้น และท่านพระครูอุดมธรรมคุณจึงได้ลงจากภูลังกา เดินทางต่อไปยังบ้านโพธิ์หมากแข้ง แล้วไปพักอยู่ในวัดร้างบริเวณป่าใกล้ๆ บ้านโสกก่าม เมื่อถามญาติโยมถึงสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญกัมมัฏฐานบนภูวัว พวกญาติโยมก็บอกว่ามีอยู่หลายแห่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงให้นำขึ้นไป

วันแรกที่ขึ้นภูวัว ได้ไปพักที่ “ก้อนน้ำอ้อย” ที่เรียกว่าก้อนน้ำอ้อยเพราะเป็นหินก้อนใหญ่ รูปร่างคล้ายงบน้ำอ้อย ตั้งอยู่บนหินใหญ่อีกก้อนหนึ่ง ใต้หินก้อนน้ำอ้อยเป็นที่หลบแดดหลบฝนได้สบายมาก เพราะด้านใต้ของหินเป็นเพิงออกมาโดยรอบคล้ายๆ ถ้ำ พระอาจารย์ทั้งสามพำนักอยู่ที่นี่หลายวัน ก็เห็นว่าเป็นสถานที่ไม่สงบนัก เพราะเป็นทางช้างผ่านขึ้นลงอยู่เป็นประจำ กลางคืนช้างจะขึ้นมาทั้งโขลง ส่งเสียงรบกวนสมาธิอยู่เสมอ โขลงหนึ่งนับร้อยๆ เชือก ช้างไม่อาจใช้ทางอื่นได้ เพราะทางอื่นเป็นหน้าผาชันไปทั้งหมด ทั้งสามท่านจึงย้ายไปพักวิเวกที่ถ้ำพระ โดยให้พวกญาติโยมยกแคร่ขึ้นเป็นที่พัก

ถ้ำพระแห่งนี้อยู่ในบริเวณริมห้วยบางบาด มีลานหินกว้างใหญ่ และมีที่สำหรับบำเพ็ญภาวนาอย่างเหมาะสม ร่มรื่นและสงบดีเป็นอันมาก แต่ถึงอย่างไรก็ยังห่างไกลจากหมู่บ้าน ลงไปบิณฑบาตไม่ได้ ต้องให้ลูกศิษย์ทำอาหารถวายทุกวัน โดยอาศัยญาติโยมบ้านนาตะไก้ บ้านโสกก่าม และบ้านดอนเสียด หมุนเวียนกันส่งเสบียงทุกวันพระ ถ้าวันไหนพระอาจารย์ฝั้นจะไม่ฉันจังหัน ท่านก็จะบอกให้ทำฉันกันเอง ท่านจะอดอาหารไปกี่วัน ท่านก็จะบอกล่วงหน้าให้ทราบ เพื่อความสะดวกในการจัดทำอยู่เสมอ

จริงอย่างที่พระอาจารย์วังพูดไว้ บนภูวัวเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด น้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์ดี ในห้วยบางบาดมีวังน้ำอยู่แห่งหนึ่ง น้ำลึกมากและมีจระเข้ตัวใหญ่ๆ อาศัยอยู่หลายตัว กลางวันแดดร้อนจัด มันจะขึ้นจากถ้ำมานอนอ้าปากตากแดดอยู่เป็นประจำ แม้กระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีจระเข้อาศัยอยู่ในวังน้ำแห่งนั้น แต่ขณะนี้มีหมู่บ้านใหม่ตั้งใกล้เข้าไปอีก ห่างจากถ้ำพระประมาณ ๖-๗ กิโลเมตร พระและเณรที่ไปพักวิเวกจึงพอเดินไปบิณฑบาตกันได้แล้ว

พระอาจารย์ฝั้นพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำพระบนภูวัวได้ประมาณ ๒ เดือนเศษ ท่านพระครูอุดมธรรมคุณก็ออกความเห็นขึ้นว่า ควรจะทำอะไรไว้เป็นที่ระลึกในสถานที่นั้นสักอย่าง บังเอิญบนที่พักสูงขึ้นไปเป็นหน้าผา เหมาะสำหรับจะสร้างพระประธานไว้สักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ตกลงสร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาขึ้นด้วยวัสดุที่หาได้ง่ายๆ เช่น มูลช้าง มูลวัว จึงแจ้งให้บรรดาญาติโยมบ้านดอนเสียด บ้านโสกก่าม และบ้านนาตะไก้ พร้อมด้วยบ้านอื่นๆ ใกล้เคียงช่วยหาให้ สำหรับช่างปั้นนั้น พระอาจารย์ฝั้นกับพระครูอุดมมีฝีมือเยี่ยมอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเสาะหา เมื่อได้ของพร้อมแล้วก็ลงมือทันที

ปีนั้นฝนตกหนัก น้ำก็หลากมาแรง การสร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาจึงประสบอุปสรรคไปบ้าง แต่ทั้งๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จ พระอาจารย์ฝั้นก็ผลุนผลันชวนท่านพระครูอุดมธรรมคุณลงจากภูวัวโดยไม่มีใครคาดฝัน

พระอาจารย์ฝั้นไม่มีเหตุผลอะไรในสายตาของพระภิกษุลูกศิษย์ และในสายตาของญาติโยมทั้งหลายทั้งปวง ในการทิ้งงานสำคัญไปอย่างกะทันหัน

พระภิกษุลูกศิษย์ไปทราบเอาเมื่อท่านกลับไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือแล้วว่า การที่ท่านผลุนผลันลงมาจากภูวัวนั้น เป็นเพราะท่านต้องการกลับไปเยี่ยมอาการอาพาธของพระอาจารย์มั่น ซึ่งขณะนั้นกำลังป่วยหนักยิ่งกว่าครั้งใดๆ

พระอาจารย์ฝั้นทราบได้อย่างไรว่าพระอาจารย์มั่นกำลังป่วยหนัก เรื่องนี้เป็นที่ประหลาดใจกันอยู่ในหมู่พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏด้วยว่า พระอาจารย์มั่นกำลังต้องการพบพระอาจารย์ฝั้นอยู่จริงๆ ถึงขนาดให้พระเณรออกตามหาพระอาจารย์ฝั้นอยู่ด้วยซ้ำ

เมื่อปฏิบัติพระอาจารย์มั่นอยู่ได้ประมาณ ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์มั่นก็ค่อยทุเลาลง พระอาจารย์ฝั้นจึงได้กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เมื่อออกพรรษาปีนั้น (พ.ศ. ๒๔๙๑) พระอาจารย์ฝั้นได้ไปเยี่ยมอาการของพระอาจารย์มั่นอีกครั้งหนึ่งที่วัดป่าบ้านหนองผือ พักอยู่ที่นั่นหลายวัน จึงได้กลับไปวัดป่าภูธรพิทักษ์อีกเพราะเห็นว่าอาการดีขึ้นมากแล้ว

ต่อมาประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๙๒ พระอาจารย์ฝั้นก็ชวนท่านพระครูอุดมธรรมคุณไปวิเวกที่ภูวัวอีก เพื่อสร้างเสริมพระประธานบนหน้าผาให้เสร็จเรียบร้อย การเสริมสร้างได้กระทำอย่างเร่งรีบ เพราะท่านเป็นห่วงพระอาจารย์มั่นเป็นอันมาก เมื่อทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว บรรดาญาติโยมได้ขึ้นไปร่วมอนุโมทนา บำเพ็ญกุศลด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นท่านจึงได้ลาญาติโยมลงจากภูวัวกลับไปยังวัดภูธรพิทักษ์ รวมเวลาที่พักอยู่ในถ้ำพระที่ภูวัวประมาณ ๒ เดือนเศษ

กลับไปที่วัดป่าภูธรพิทักษ์คราวนี้ เมื่อเห็นว่าอาการอาพาธของพระอาจารย์มั่น ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงอีกแล้ว พระอาจารย์ฝั้นจึงได้เริ่มงานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง กล่าวคือได้ชักชวนบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายสร้างศาลาโรงธรรมหลังใหม่ขึ้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ (คือศาลาโรงธรรมในปัจจุบันนี้) โดยท่านเองเป็นประธานสำหรับการควบคุมการก่อสร้าง ในการนี้ ตำรวจกับชาวบ้านได้มีจิตศรัทธาไปร่วมมือกับพระภิกษุสามเณรอยู่ตลอดเวลา การก่อสร้างกระทำแบบค่อยทำค่อยไป กินเวลา ๗ เดือนเศษจึงได้เสร็จ

ในกลางพรรษา ระหว่างก่อสร้างศาลาโรงธรรมดังกล่าว มีเหตุที่ควรบันทึกไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ตอนเข้าพรรษาปีนั้น ได้มีพระภิกษุสามเณรมากเป็นพิเศษ ยิ่งไปกว่านั้น แม้การก่อสร้างศาลาโรงธรรมจะกำลังดำเนินอยู่ แต่ตอนกลางคืน ท่านก็ให้ทำความเพียรอย่างไม่ลดละ ท่านได้นำพระภิกษุสามเณรทำความเพียรด้วยการเดินจงกรมและนั่งสมาธิกันเป็นประจำ อนึ่งกลางพรรษานั้นฝนตกหนัก บางครั้งตกทั้งกลางวันและกลางคืน อากาศก็เปลี่ยนแปลงไม่เป็นปกติ เป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณร เป็นไข้มาเลเรียกันหลายรูป เณรรูปหนึ่งอาการหนักต้องนำส่งโรงพยาบาลนครพนม รักษาอยู่หลายสัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ พระภิกษุรูปหนึ่งเกิดวิปริตทางจิต จะเป็นด้วยไข้ขึ้นสมองหรืออย่างไรไม่ทราบ เป็นมากถึงขนาดพูดไม่ยอมหยุด คือพูดฝ่ายเดียวโดยไม่เปิดโอกาสให้คู่สนทนาได้พูดเลย

พระอาจารย์ฝั้นจึงได้เรียกพระภิกษุรูปนั้นขึ้นไปหาท่านบนกุฏิเพื่อถามอาการ พระภิกษุก็บอกท่านว่า ไม่ได้เป็นอะไรเลย สบายดีทุกอย่าง แต่ก็พูดอยู่ตลอดเวลาไม่ยอมหยุด ท่านจะตักเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง เอาแต่พูดอย่างน้ำไหลไฟดับ พระอาจารย์ฝั้นจึงปล่อยให้พูดไปเรื่อยๆ ส่วนท่านนั้นก็นั่งกำหนดจิตของท่านด้วยความสงบนิ่ง ประมาณ ๕ นาทีต่อมา ปรากฏว่าพระภิกษุรูปนั้นหยุดพูดลงทันที แล้วอ้าปากหาวล้มลงนอนต่อหน้าท่านไปเฉยๆ ท่านก็บอกให้พระภิกษุรูปหนึ่งหาหมอนมารองศีรษะให้ แล้วสั่งว่า ให้นอนหลับอยู่เช่นนี้แหละ นอนอิ่มแล้วจะตื่นขึ้นมาเอง ท่านพูดแล้วก็ลงทำกิจวัตรด้วยการปัดกวาดลานวัดตามปกติ จากนั้นสรงน้ำแล้วก็เดินจงกรมต่อ

พระภิกษุรูปนั้นหลับไปตั้งแต่ ๑๕ น. จนถึงเวลาราว ๑๘ น. จึงได้ลุกขึ้นมาอย่างงงๆ แล้วถามขึ้นว่า ผมมานอนอยู่ที่นี่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ส่วนอาการอาพาธก็หายไปราวกับปลิดทิ้ง เมื่อพระภิกษุอื่นๆ เล่าความให้ฟังแล้ว ท่านก็แสดงความแปลกใจ บอกว่าไม่รู้ตัวอะไรเลย แม้การพูดโดยไม่ยอมหยุด ก็กระทำไปโดยไม่รู้ตัว

พระอาจารย์ฝั้นไม่ได้พูดอะไรถึงเรื่องนี้ แต่บรรดาสานุศิษย์ต่างคิดในใจกันว่า นี่เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งและคงจะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการใช้กระแสจิตเข้าแก้ไข

ศาลาโรงธรรมดังกล่าว พอออกพรรษาก็เสร็จเรียบร้อย ทันพิธีรับกฐินบนศาลาหลังใหม่พอดี

พอถึงกลางพรรษา พระอาจารย์มั่นก็อาพาธอีก พระอาจารย์ฝั้นได้รีบไปเยี่ยมทันที โดยแวะรับพระอาจารย์อ่อน จากวัดป่าบ้านม่วงไข่ไปด้วย อาการอาพาธของพระอาจารย์มั่นครั้งนี้ปรากฏว่าน่าวิตกกว่าทุกคราว ทางจังหวัดสกลนครทราบข่าวจึงให้คุณวัน คมนามูล นำรถยนต์ไปรับพระอาจารย์มั่น ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อให้ใกล้หมอยิ่งขึ้น พระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรอีกมากมาย ได้ตามไปพักที่วัดนั้นด้วย เป็นเหตุให้กุฏิไม่พอพักอาศัย ต้องพักรวมกันทั้งพระอาจารย์ กับพระลูกศิษย์

แพทย์ผู้รักษาได้ให้ยานอนหลับแก่พระอาจารย์ในในตอนกลางวันของวันที่ไปถึงวัด พระภิกษุรูปหนึ่งผู้เป็นศิษย์พระอาจารย์ฝั้น ยังจำเหตุการณ์ในวันนั้นได้ดีว่า หลังจากพระอาจารย์มั่นฉันยานอนหลับไปแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้ลงจากกุฏิที่พระอาจารย์มั่นพักอยู่ แล้วบอกแก่พระภิกษุสามเณรบางรูปว่า ถึงเวลา ๖ โมงเย็น พระอาจารย์มั่นจึงจะตื่น ให้รีบสรงน้ำกันแต่วันๆ หน่อย สำหรับพระอาจารย์ฝั้นนั้น เมื่อสรงน้ำเสร็จก็รีบกลับขึ้นไปเฝ้าดูอาการของพระอาจารย์มั่นอีก จนกระทั่งประมาณ ๓ ทุ่มเศษ ท่านจึงได้ลงจากกุฏิมาบอกว่าพระอาจารย์มั่นยังไม่ฟื้น ท่านเองจะพักสักครู่หนึ่งก่อน หากถึงเวลา ๖ ทุ่มแล้ว ถ้าท่านยังหลับอยู่ ก็ให้พระภิกษุผู้เป็นศิษย์ปลุกด้วย เพราะจะต้องขึ้นไปเปลี่ยนเวรเฝ้าพระอาจารย์มั่น

กว่าพระอาจารย์ฝั้นจะหลับก็ร่วม ๆ ๕ ทุ่มเข้าไปแล้ว พอถึงเวลาประมาณ ๖ ทุ่มเศษ ท่านก็ลงจากกุฏิแล้วเรียกน้ำไปบ้วนปาก พอพระภิกษุผู้เป็นศิษย์ยกน้ำเข้าไป ท่านก็เร่งว่าเร็วๆ หน่อย

ท่านบ้วนปากอย่างลวกๆ แล้วรีบไปที่กุฏิพระอาจารย์มั่นทันที

สักครู่จากนั้น พระอาจารย์ฝั้นก็สั่งให้พระภิกษุรีบไปนิมนต์ครูบาอาจารย์ทุกๆ องค์ไปพร้อมกันที่กุฏิที่พักพระอาจารย์มั่นโดยด่วน

เมื่อศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของพระอาจารย์มั่นไปรวมพร้อมกันทุกรูปแล้ว ถึงเวลาประมาณตี ๒ เศษ พระอาจารย์มั่นก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ ท่ามกลางบรรดาสานุศิษย์ที่รายล้อมเฝ้าดูอาการอยู่ ณ ที่นั้น

บรรดาศิษย์ชั้นผู้ใหญ่ของพระอาจารย์มั่นได้ประชุมเพื่อจัดงานศพ และได้เตรียมงานกันถึง ๓ เดือน จึงกำหนดประชุมเพลิง พระอาจารย์ฝั้นได้อยู่ช่วยจัดการมาแต่ต้น จนกระทั่งประชุมเพลิงแล้วเสร็จ ต่อมาประมาณต้นเดือนมีนาคมของปี ๒๔๙๓ พระอาจารย์ฝั้น ได้นำพระภิกษุบางรูปออก (พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส หลวงตาจรัส พระอาจารย์ผ่าน ปญฺญาปทีโป และสามเณร) เดินทางธุดงค์ไปทางจังหวัดนครพนม เพื่อหาสถานที่วิเวกทำความเพียรต่อไป

พระอาจารย์ฝั้นท่านพาเดินทางไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ของพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ อยู่ ๒ คืน จากนั้นโยมเอารถมารับไปพักที่วัดป่าบ้านท่าควาย เมื่อไปอยู่วัดป่าบ้านท่าควาย พระอาจารย์ฝั้นกำลังเร่งความเพียร วันหนึ่งๆ จะฉันนมเพียง ๑ แก้ว พระเณรที่ตามไปด้วย จึงพากันฉันวันเว้นวันบ้าง หลายวันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นพาเทศน์พระเวส (งานบุญพระเวส) มีเทศน์ทำบุญอย่างเดียว ไม่ได้จัดแต่งดอกบัว ดอกผักตบอย่างละ ๑,๐๐๐ ตามที่อื่นเขาทำกัน เป็นเหตุให้พวกชาวบ้านท่าควายไม่กล้ามางาน เพราะกลัวว่าทำไม่ถูกวิธีแล้วจะมีลมพญามารใหญ่พัดมา มีญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใสมานิดหน่อย ท่านก็เทศน์จบแล้วทุกอย่าง ไม่มีลมใหญ่อะไร ต่อมาไม่นานทางวัดที่หมู่บ้านเขาจัดบ้าง ปรากฏตอนบ่ายมีลมพายุพัดทำลายข้าวของในงาน และกระท่อมเสียหายหมด พระอาจารย์ผ่านว่า นี้เป็นกำลังจิตของหลวงปู่ฝั้น จึงไม่มีอะไรรบกวน

เมื่ออยู่บ้านท่าควายหลายวันแล้ว วันหนึ่งไปบิณฑบาตพอไปถึงสุดทางบิณฑบาต พระอาจารย์ฝั้นท่านได้หยุดยืนแล้วพูดกับพระอาจารย์ผ่าน ว่า “นั่นๆ ท่านผ่าน ที่จะไปภาวนา” ที่นั้นคือภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ๒-๓ วันต่อมาพระอาจารย์ฝั้นจึงพาเดินไปประมาณ ๕ กิโลเมตรจนกระทั่งถึงภูกระแต แล้วจึงแยกย้ายกันไปพำนักบำเพ็ญภาวนา ที่นี่เป็นสถานที่สัปปายะ มีสัตว์ป่ามากมาย มีแอ่งน้ำซับซึ่งผุดออกมาจากดิน อยู่ที่ตีนเขา พอรุ่งเช้ามีชาวบ้านมาเล่าถวายว่า “เมื่อคืนฝันเห็นพวกภูตผีปีศาจบนภูเขาพากันแตกตื่นย้ายครอบครัวหนี บอกว่าเจ้านายมา” พระอาจารย์ฝั้นอยู่ที่นี้ได้ ๒ เดือน ก็ปรารภขึ้นว่า พักที่นี่อันที่จริงก็ดีอยู่ แต่ผู้คนมาเยี่ยมเยียนเป็นการรบกวนมากเหลือเกิน ไม่มีโอกาสที่จะทำความเพียรได้โดยสะดวก ท่านจึงได้เดินทางไปภูวัวต่อ โดยกลับไปพักที่บ้านท่าควายอีกครั้ง พระอาจารย์ผ่านกับหลวงตาจรัสพักอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าควาย คณะที่เหลืออันมีพระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์คำพอง และสามเณรอีก ๑ รูปลงเรือขึ้นเหนือไปขึ้นบกที่บ้านท่าสีได จากนั้นเดินทางไปพักที่บ้านโสกก่ามคืนหนึ่ง เพื่อให้ญาติโยมได้เตรียมเสบียงอาหารสำหรับขึ้นภูวัว

อนึ่ง ก่อนจะออกจากบ้านท่านสีได ไปยังบ้านโสกก่าม พระอาจารย์ฝั้นได้พาภิกษุสามเณรไปพักอยู่ในป่าดงดิบคืนหนึ่ง รุ่งเช้าท่านได้ถามพระอาจารย์คำพองที่ไปด้วย ว่าเป็นยังไง เมื่อคืนภาวนาได้ดีไหม พระอาจารย์คำพองก็ตอบไปตามตรงว่า เมื่อคืนรู้สึกนานเหลือเกินกว่าจะสว่าง ท่านก็หัวเราะแล้วพูดขึ้นว่า มัวแต่นั่งเหงื่อแตกกลัวเสือร้องอยู่น่ะซิ มัวแต่นั่งกลัว นอนกลัว จะไปสวรรค์ ไปนิพพานได้อย่างไรกันล่ะ

ปรากฏว่าพระอาจารย์คำพองนั้นไม่เป็นอันภาวนาทั้งคืนจริงๆ เพราะตลอดคืนได้ยินแต่เสียงเสือรอบๆ ที่พัก ถึงขนาดจะออกจากกลดมาเดินจงกรมก็ไม่กล้า ได้แต่นั่งเหงื่อแตกอยู่ข้างใน

พระอาจารย์ฝั้นได้เทศน์สั่งสอนไว้ในตอนนั้นด้วยว่า ได้เคยบอกแล้วหลายครั้งว่า “พระนิพพานอยู่ฟากตาย ความสุขก็อยู่ฟากทุกข์” เราทำความเพียรภาวนาไป พอถึงทุกข์ก็เกิดความกลัวทุกข์เสียแล้ว แล้วเมื่อใดจะพ้นทุกข์ไปได้เล่า พาไปอยู่ป่าช้าก็กลัวผี พามาอยู่ในดงก็กลัวเสือ การกลัวผีก็ดี การกลัวเสือก็ดี นั่นไม่ใช่กลัวตายหรอกหรือ ลองนั่งภาวนาดูซิว่า เสือมันจะมาคาบคอไปกินจริง ๆ ไหม การกลัวควรกลัวแต่ในทางที่ผิด คือกลัวความผิด ไม่กระทำผิด กลัวว่าตนเองจะไม่พ้นจากวัฏทุกข์ แล้วรีบเร่งบำเพ็ญความเพียรเข้าจึงจะถูก

การขึ้นภูวัวครั้งนี้ มีญาติโยมไปส่ง ๖-๗ คนพร้อมเสบียงอาหาร โดยออกเดินทางลัดเลาะไป สองฟากข้างทางเป็นป่าดงดิบที่แสนจะรกทึบ ทางเดินก็เต็มไปด้วยรอยเท้าช้างกับรอยเท้าเสือทั้งเก่าและใหม่ กว่าจะขึ้นถึงถ้ำพระบนภูวัวก็ตกบ่ายประมาณ ๓ โมงกว่า

พวกญาติโยมได้ช่วยกันซ่อมแซมที่พักอาศัย และนอนค้างอยู่บนนั้นด้วย คืนนั้นพระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมและรักษาศีล ๕ ศีล ๘ จากนั้นได้นำญาติโยมนั่งสมาธิภาวนาอยู่จนใกล้จะตี ๒ จึงได้หยุดพักผ่อน

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกญาติโยมได้จัดการทำอาหารใส่บาตร แล้วไปหาไม้มาซ่อมที่พักต่อ เสร็จเรียบร้อยแล้วก็พากันลงจากภูวัว ไปในตอนบ่าย ๓ โมง บนถ้ำพระ ภูวัวจึงเหลือแต่พระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุสามเณรอีก ๒ รูป

ทั้ง ๓ รูป ได้ทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นเวลาหลายเดือน เรื่องอาหารการฉัน พระอาจารย์ฝั้นสั่งสอนให้ฉันแต่พอควร พอเป็นกำลังให้อยู่เพื่อบำเพ็ญภาวนาก็พอแล้ว ถ้าวันไหนคิดจะไม่ฉันก็ไม่ต้องประกอบอาหาร แต่ถึงอย่างไร ท่านก็กำชับว่า อย่าถึงกับหักโหมอดอาหารเสียเลย ให้ฉันแต่น้อยก่อน แล้วค่อยๆ ผ่อนลง ถ้าอดอาหารทันที โดยกำลังใจไม่เข้มแข็งพอจะเกิดโทษ นับแต่นั้นมา การฉันอาหารของภิกษุสามเณรก็น้อยลงตามลำดับ พระอาจารย์ฝั้นเองก็พยายามลดอาหารลง จนกระทั่งบางวันไม่ฉันอะไรเลย บางทีก็อดไปเป็นเวลาหลายๆ วัน

พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับภิกษุสามเณรว่า ปีนี้ท่านจะจำพรรษาอยู่บนภูวัว พอถึงเดือน ๘ ก่อนเข้าพรรษา ท่านก็บอกให้พระภิกษุสามเณรลงจากภูวัวกลับไปวัด ตัวท่านเองจะจำพรรษาอยู่รูปเดียวตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ท่านบอกว่า บนภูเขาเช่นนั้น ผู้ที่มีกำลังใจไม่เข้มแข็งพออาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ มีพระอาจารย์มั่นเป็นครูบาอาจารย์ และเป็นที่พึ่งแก่สานุศิษย์ทั้งหลายอยู่ บัดนี้ ท่านล่วงลับไปแล้ว เราจำเป็นต้องรีบเร่งทำความเพียร เพื่อปฏิบัติเอาตัวรอดก่อน

ปรากฏว่า ระยะนั้นฝนกำลังตกหนักทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้ญาติโยมไม่สามารถส่งเสบียงอาหารขึ้นมาได้ ครั้นต่อมาในวันพระใกล้จะเข้าพรรษา แม้ว่าฝนจะกำลังตกหนัก แต่ความเป็นห่วงและด้วยศรัทธาอันแก่กล้า บรรดาญาติโยมก็ได้บุกฝ่าห่าฝนขึ้นมาด้วยความยากลำบากทุลักทุเล คืนนั้นหลังจากพระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมญาติโยมแล้ว ท่านได้พิจารณาเห็นว่า ถ้าจะจำพรรษาอยู่ที่นี่ต่อไปแล้ว จะเป็นภาระหนักต่อญาติโยมเป็นอย่างมาก

ดังนั้น ในวันรุ่งขึ้น ท่านก็ได้ตัดสินใจลงจากภูวัว เสร็จแล้วท่านจึงได้พาภิกษุและสามเณรเดินทางต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2019, 21:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


ในระหว่างที่พักอยู่ในถ้ำพระ บนภูวัวครั้งนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งน่าจะนับว่าร้ายแรงที่สุดในชีวิตของท่าน

กล่าวคือ วันหนึ่ง พวกญาติโยมบ้านดอนเสียดและบ้านโสกก่ามได้พากันขึ้นไปนมัสการ ตกกลางคืน พระอาจารย์ฝั้นได้เทศนาอบรมตามปกติ พอเช้าวันรุ่งขึ้น ท่านก็ขอให้พวกญาติโยมพาไปชมภูมิประเทศบนภูวัว และเพื่อที่จะแสวงหาสมุนไพรบางอย่างด้วย เมื่อฉันจังหันเสร็จ ก็ออกเดินทางโดยมีโยม ๒ คนเดินนำหน้า พระอาจารย์ฝั้นและพระภิกษุตามหลัง ส่วนสามเณรอีกรูปหนึ่งท่านสั่งให้อยู่ที่พัก

ทั้งหมดเดินขึ้นไปตามลำห้วยบางบาด พอถึงลานหินที่ลาดชันขึ้นไปข้างบน ยาวประมาณ ๑๐ กว่าวา บนลานมีน้ำไหลรินๆ และมีตะไคร่หินขึ้นอยู่ตามทางลาดชันนั้นโดยตลอด

โยม ๒ คนเดินนำหน้าขึ้นไปก่อน ท่านเดินตามขึ้นไป และตามด้วยพระภิกษุซึ่งรั้งท้ายอีกรูปหนึ่ง โยมทั้งสองไต่ผ่านลานหินอันชันลื่นขึ้นไปได้ ส่วนพระอาจารย์ฝั้นไต่จวนจะถึงอยู่แล้วเพียงอีกก้าวเดียวก็จะพ้นไปได้ พอก้าวเท้าข้ามร่องน้ำ ท่านก็ลื่นล้มลงทั้งยืน ศีรษะฟาดกับลานหินดังสนั่น เหมือนมะพร้าวถูกทุบ จากนั้นก็ลื่นไถลลงมาตามลาดหิน โดยศีรษะลงมาก่อน

พระภิกษุซึ่งรั้งท้าย ตกใจตัวสั่นอยู่กับที่ จะช่วยเหลืออะไรก็ไม่ได้ เพราะท่านเองประคองตัวแทบไม่ได้อยู่แล้ว ได้แต่มองดูพระอาจารย์ไถลผ่านหน้าไปด้วยความตกตะลึง

ไถลลงไปได้ประมาณ ๖ วา ก็ไปตกหลุมหินซึ่งเป็นแอ่งแห่งหนึ่ง แต่ด้วยความลื่นของตะไคร่ ท่านไม่ได้หยุดอยู่ลงเพียงนั้น กลับหมุนไปอยู่ในลักษณะเอาศีรษะขึ้น แล้วไถลลื่นต่อไปอีก

ข้างหน้าของท่านมีช่องหิน ใหญ่ครือๆ กับตัวคน น้ำที่ไหลลงมา ไปรวมหล่นอยู่ในช่องนั้นเป็นส่วนใหญ่ หากท่านไถลไปถึงช่องนั้นแล้วไหลพรวดลงไป ย่อมมีทางเดียวคือมรณภาพอย่างแน่นอน

แต่ด้วยอำนาจบุญ ก่อนจะถึงช่องหิน ท่านก็กลับตั้งหลักลุกขึ้นได้ แล้วเดินขึ้นไปตามทางเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พระภิกษุที่ไปด้วยได้ขอให้ท่านขึ้นไปทางอื่น แต่ท่านไม่ยอม บอกว่า "เมื่อมันตกลงมาตรงนี้ ก็ต้องขึ้นไปตรงนี้ให้ได้” แล้วท่านก็เดินขึ้นไปใหม่ จนถึงที่จริงๆ

น่าอัศจรรย์ตรงที่ว่า พระอาจารย์ฝั้นไม่มีบาดแผลเลยแม้แต่น้อย ถึงจะมีถลอกเพียงเท่าหัวไม้ขีดบนข้อศอก ก็ไม่น่าจะเรียกว่าบาดแผล

ตกเย็นกลับมาถึงที่พัก หลังจากสรงน้ำและต้มน้ำร้อนเสร็จแล้ว ท่านก็ออกเดินจงกรมตามปกติ พอตกค่ำ พระภิกษุได้เข้าไปปฏิบัติ แล้วถามอาการของท่าน ว่าขณะมี่ศีรษะกระแทกหินดังสนั่นนั้น ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง ท่านก็ตอบว่า อาการก็เหมือนสำลีตกลงบนหินนั่นแหละ

พระภิกษุรูปนั้นขณะนี้ยังมีชีวิตอยู่ มีความเห็นว่า ในขณะที่ท่านกำลังลื่นล้มก่อนศีรษะฟาดลานหินนั้น ท่านสามารถกำหนดจิตได้ในชั่วพริบตา ทำให้ตัวท่านเบาได้ดังสำลีโดยฉับพลัน เพราะท่านเคยเทศน์สั่งสอนเสมอว่า จิตของผู้ที่ฝึกให้ดีแล้ว ย่อมมีสติพร้อมอยู่ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ถึงแม้หลับอยู่ ก็หลับด้วยการพักผ่อนในสมาธิ

การเดินทางลงจากถ้ำพระภูวัว ในคราวนั้น ประสบความยากลำบากยิ่งกว่าคราวก่อน เพราะฝนตกหนักทำให้น้ำมาก การข้ามห้วยข้ามคลองซึ่งมีอยู่หลายแห่งจึงไม่สะดวกเท่าที่ควร ที่น่าหนักใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตัวทาก ซึ่งชอบเกาะแข้งเกาะขาเพื่อกัดกินเลือด โดยเฉพาะในเขตที่เป็นดงดิบ จะมีฝูงทากนับไม่ถ้วนสองข้างทางเลยทีเดียว ดีที่โยมตัดไม้ไผ่เอามาเหลาให้แบนคล้ายใบมีด แล้วถวายพระอาจารย์ฝั้นกับพระภิกษุสามเณรที่ร่วมทาง พอมันกระโดดเกาะขาก็เขี่ยหลุดไปได้โดยมันไม่ทันกัด

เมื่อเดินทางมาถึงบ้านดอนเสียด พระอาจารย์ฝั้นได้แวะพักเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านดังกล่าวรวม ๓ คืน เพราะระยะนั้นชาวบ้านเจ็บป่วยกันมาก นอกจากนั้น ทุกคืน ยังมีแสงอะไรไม่ทราบ แดงโร่พุ่งข้ามหมู่บ้านไปมา นายคำพอ หัวหน้าหมู่บ้านได้นิมนต์ไปที่บ้านและขอให้ท่านได้เจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล พอเสร็จแล้วท่านได้อบรมชาวบ้าน แล้วเทศนาสั่งสอนต่อให้ละจากมิจฉาทิฏฐิ ให้เคารพกราบไหว้บูชาพระรัตนตรัย กับให้ภาวนา “พุทโธ” โดยทั่วกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ต่อจากนั้นก็ประพรมน้ำพุทธมนต์ให้โดยทั่วถึง

ปรากฏว่า ชาวบ้านมีกำลังใจดีขึ้น หายเจ็บหายไข้เป็นปกติทุกคน แสงไฟแดงโร่ที่พุ่งข้ามหมู่บ้านไปมาทุกคืนก็พลอยหายไปด้วย พระอาจารย์ฝั้นจึงพาพระภิกษุสามเณรเดินทางต่อไปยังบ้านโสกก่าม พอไปถึง ชาวบ้านได้นิมนต์ให้พักที่วัดร้างในดงข้างหมู่บ้านอีก ๔ คืน เพราะอยากจะทำบุญฟังเทศน์กันให้เต็มที่

พระอาจารย์ฝั้น พักอยู่บนศาลาหลังเล็กๆ แต่ให้พระภิกษุสามเณรพักลึกเข้าไปในดง ให้แยกพักกันคนละด้าน โดยมีพวกโยมทำแคร่ยกพื้นให้แต่ไม่มีฝากั้น

เช้าวันรุ่งขึ้น พระอาจารย์ฝั้นได้ถามพระภิกษุรูปนั้นว่า เมื่อคืนได้ยินเสียงอะไรหรือเปล่า พระภิกษุตอบว่า ตอนสองยามเศษๆ ได้ยินเสียงสัตว์อะไรก็ไม่ทราบ ร้องเหมือนอีเก้ง วนเวียนอยู่ใกล้ๆ ขณะจุดไฟเดินจงกรม พระอาจารย์ฝั้น ก็บอกให้ทราบว่า ไม่ใช่อีเก้ง แต่เป็นเสือใหญ่ พอมันออกจากที่นั่นก็ไปกินวัวของชาวบ้าน

ปรากฏว่าเป็นความจริง ขณะออกบิณฑบาต ชาวบ้านได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อคืนนี้ เจ้าลายใหญ่กัดวัวไปถึงสองตัว ตัวหนึ่งเอาไปไม่ได้ มันกัดเสียจนเอวหัก แต่ไม่ตาย อีกตัวหนึ่งมันคาบหายไปเลย

ออกจากบ้านโสกก่าม พระอาจารย์ฝั้นได้พาพระภิกษุสามเณรเดินทางต่อไปยังอำเภอบ้านแพง แวะพักที่วัดป่าในอำเภอบ้านแพงคืนหนึ่ง เช้าวันรุ่งขึ้น ลงเรือล่องไปขึ้นที่จังหวัดนครพนม พักที่วัดป่าบ้านท่าควายอีกหนึ่งคืน แล้วขึ้นรถยนต์ต่อไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร เพื่อเข้าจำพรรษาที่วัดนั้น

ตอนกลางพรรษา พระอาจารย์ฝั้นได้อบรมสั่งสอนพระเณรสานุศิษย์ ให้ตั้งใจบำเพ็ญความเพียรอย่างจริงจัง ถึงวันธรรมสวนะ ตามปักข์ ท่านจะพาสานุศิษย์นั่งบำเพ็ญร่วมกันบนศาลาโรงธรรมตลอดคืน ส่วนวันธรรมดา หลังจากเทศน์อบรมแล้ว ก็ให้แยกย้ายกันทำความเพียรต่อไป

พระอาจารย์ฝั้นพยายามทำตนเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์ตลอดพรรษา ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน แทบว่าจะหาเวลาพักผ่อนได้ยากยิ่ง เช่นตอนหัวค่ำ ท่านเทศน์อบรมพระเณรจน ๓ ทุ่มครึ่ง จากนั้นท่านก็ลงเดินจงกรมไปจนถึง ๕ ทุ่มเศษ แล้วท่านก็ขึ้นกุฏิให้พระภิกษุขึ้นไปปฏิบัติท่านจนถึง ๖ ทุ่มเศษ เสร็จจากนั้นท่านก็ลงมาเดินจงกรมอีก แล้วขึ้นกุฏิ พอประมาณตี ๓ ท่านก็ออกมาล้างหน้าบ้วนปาก ไหว้พระสวดมนต์ สวดมนต์จบแล้วเดินจงกรมต่อจนสว่าง พอถึงเวลาออกบิณฑบาต ท่านจึงได้ขึ้นศาลาเตรียมครองผ้าออกบิณฑบาตต่อไป

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๓ พระอาจารย์ฝั้นพร้อมด้วยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้พาพระภิกษุสามเณรอีกบางรูปเดินธุดงค์ไปจังหวัดจันทบุรี โดยพระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปในงานที่วัดดำรงธรรม ในเขตอำเภอขลุง การเดินทางครั้งนี้ ท่านกับคณะได้นั่งรถยนต์โดยสารจากสกลนครไปขึ้นรถไฟที่อุดรฯ เข้ากรุงเทพฯ แล้วนั่งรถโดยสารจากกรุงเทพฯ ไปจันทบุรีอีกทอดหนึ่ง

ระหว่างพักที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง ได้มีประชาชนสนใจเข้าฟังธรรมและรับการอบรมเป็นจำนวนมาก ต่อมา พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์ไปพักที่สำนักสงฆ์บ้านกงษีไร่ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ลึกเข้าไปในป่า ท่านได้พักอยู่ที่นั้นหลายวัน แล้วจึงกลับไปพักที่วัดดำรงธรรม

ต่อมาอีกหลายวัน ก็มีโยมนิมนต์ท่านและคณะไปพักวิเวกบนเขาหนองชึม อำเภอแหลมสิงห์ พักอยู่ที่นั่นได้ประมาณครึ่งเดือนก็มีโยมนิมนต์ท่านกับคณะไปพักที่ป่าเงาะ ข้างน้ำตกพริ้วอีกหลายวัน ซึ่งที่นั่นมีญาติโยมเข้ารับการอบรมในข้อปฏิบัติกันเป็นจำนวนมากตามเคย หลังจากนั้น จึงรับนิมนต์ไปพักตามป่าตามสวนของญาติโยมอีกหลายแห่ง

การเดินทางกลับ พระอาจารย์ฝั้นและคณะได้แวะตามสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง ครั้งสุดท้ายได้ไปพักที่วัดเขาน้อย ท่าแฉลบ เพื่อรอเรือกลับกรุงเทพฯ พักที่วัดนั้นประมาณ ๙-๑๐ วัน จึงได้ลงเรือมาถึงกรุงเทพฯ ในตอนเช้าของวันใหม่ รวมเวลาที่พักอยู่ในจันทบุรีเกือบ ๓ เดือน

ในกรุงเทพฯ พระอาจารย์ฝั้นกับคณะได้ไปพักที่วัดนรนารถฯ ๓ คืน จากนั้นก็มีโยมรับไปพักที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ แต่ขณะนั้น พระอาจารย์ลียังสร้างวัดไม่เสร็จเรียบร้อย พระอาจารย์ลีจึงได้พาพระอาจารย์ฝั้นกับคณะไปชมวัดต่างๆ ในจังหวัดลพบุรี และนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรีด้วย หลังจากนั้นอีก ๗-๘ วัน ท่านจึงพาคณะกลับไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร และนับแต่นั้นมา พระอาจารย์ฝั้นได้มีกิจนิมนต์ต้องเดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เป็นประจำเกือบทุกปี

กลับวัดป่าภูธรพิทักษ์คราวนี้ พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ พระอาจารย์ฝั้นได้จัดงานสำคัญขึ้นชิ้นหนึ่งที่วัดป่าสุทธาวาส และหลังจากนั้น งานดังกล่าวได้ถือปฏิบัติตลอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นั่นคือจัดวันประชุมใหญ่พระกัมมัฏฐาน ในวันคล้ายวันประชุมเพลิงศพของพระอาจารย์มั่น เพื่อระลึกถึงพระคุณของท่านที่มีต่อสานุศิษย์อย่างคงเส้นคงวามาตลอด พระอาจารย์ฝั้นได้ไปพักที่วัดป่าสุทธาวาสเพื่อเตรียมงานก่อนเป็นเวลาหลายวัน เพราะการก่อสร้างพระอุโบสถ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งพระอาจารย์มั่น กำลังกระทำอยู่อย่างรีบเร่ง โดยสร้างขึ้นบนพื้นที่ที่ใช้เผาศพพระอาจารย์มั่น

เสร็จงานประชุมพระกัมมัฏฐานคราวนั้นแล้ว พระอาจารย์ในได้กลับไปยังวัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะได้ตรากตรำในการงานมามาก สังขารเล่าก็ทรุดโทรมและอ่อนแอลงไปมาก

ประมาณเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดบรมนิวาส ได้มีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้น ไปพบที่กรุงเทพฯ ด่วน ท่านและพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง กับเด็กลูกศิษย์อีกคนหนึ่งได้เดินทางเข้ากรุงเทพทันที ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ให้พักที่วัดบรมนิวาสได้สองคืน ก็เรียกท่านเข้าพบอีกครั้งแล้วให้ท่านเดินทางไปที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดฉะเชิงเทราโดยด่วน เพราะที่วัดนั้นมีเรื่องไม่สงบเกิดขึ้นภายใน พระภิกษุสามเณรแตกความสามัคคีกัน พระอาจารย์ฝั้นจึงพร้อมด้วยพระภิกษุและสานุศิษย์ที่มาจากสกลนคร เดินทางไปวัดนั้นทันที เมื่อไปถึง ได้ไปสังเกตการณ์และสืบหาข้อเท็จจริงจากข้าหลวงอยู่ที่วัดนั้น ๔-๕ วัน พอประมวลเหตุการณ์ได้แล้ว จึงเดินทางกลับวัดบรมนิวาส และได้รายงานให้ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ทราบว่า ชาวบ้านและพระลูกวัดต้องการให้ส่งเจ้าอาวาสวัดนั้น ที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เรียกมาสอบเรื่องราวแล้วยังไม่ได้ส่งกลับไป จึงเกิดเรื่องขัดแย้งไม่เข้าใจ และแตกแยกกันขึ้น เมื่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ทราบข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้ส่งเจ้าอาวาสกลับคืนวัดนั้นไป เรื่องต่างๆ จึงค่อยสงบลง

ระหว่างที่อยู่ที่วัดบรมนิวาส พระอาจารย์ฝั้น กับพระลูกศิษย์ต้องออกบิณฑบาตไปเรื่อยๆ ตามตรอกซอยต่างๆ พอเข้าไปในซอยแห่งหนึ่ง ชาวบ้านดีใจกันเป็นอันมาก เพราะไม่เคยมีพระไปบิณฑบาตในซอยนั้นมาก่อนเลย ต่างนิมนต์ให้รอก่อน บางบ้านก็จัดหาเก้าอี้มาให้นั่ง แล้วเตรียมข้าวปลาอาหารใส่บาตรกันอย่างฉุกละหุก เมื่อทราบว่าพระอาจารย์ฝั้นมาจากต่างจังหวัด ก็นิมนต์ให้เข้าไปบิณฑบาตทุกวันจนกว่าจะกลับ

โดยเฉพาะในซอยหนึ่งแถวๆ หลังวัดพระยายัง พระอาจารย์ฝั้นสามารถทำให้ฝรั่งครอบครัวหนึ่งเกิดศรัทธาออกมาใส่บาตร ทั้งๆ ที่ครอบครัวนี้ไม่เคยใส่บาตรมาก่อนเลย เมื่อจากฝรั่งครอบครัวนั้นออกมาแล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับพระลูกศิษย์ว่า ฝรั่งแท้ๆ ยังรู้จักใส่บาตร

อีกไม่กี่วันต่อมา พระอาจารย์ฝั้นก็เดินทางกลับวัดป่าภูธรพิทักษ์ ที่จังหวัดสกลนคร ก่อนกลับท่านเจ้าคุณสมเด็จฯ ได้ปรารภขึ้นว่า ตั้งใจจะให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพนิมิตร ที่ฉะเชิงเทรา แต่ท่านไปสังเกตการณ์ตนได้ความกระจ่าง สามารถคลี่คลายสถานการณ์ไปได้เช่นนี้ ก็นับว่าท่านได้ทำประโยชน์ให้มากทีเดียว

หลังจากพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ มีสามเณรเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายรูปหันเข้ามาปฏิบัติต่อพระอาจารย์ฝั้น ส่วนที่ยังอ่อนต่อการศึกษาก็มุ่งหน้ามาเล่าเรียนฝึกหัด กุฏิที่มีอยู่จึงไม่เพียงพอให้พำนัก ในปี ๒๔๙๔ พระอาจารย์ฝั้นจึงได้จัดให้มีการก่อสร้างกุฏิถาวรขึ้นหลายหลัง เพื่อให้เพียงพอแก่การอยู่จำพรรษา น่าสังเกตว่า ท่านได้เตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า การก่อสร้างใดๆ ไม่ให้มีการบอกบุญเรี่ยไรเป็นอันขาด ให้ทำเท่าที่จำเป็นสามารถจะทำได้ และให้ทำต่อเมื่อมีผู้ศรัทธาจะทำ มิฉะนั้นจะเป็นเรื่องเดือดร้อนถึงชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่จะให้ท่านคิดทำขึ้นเองนั้นน้อยเหลือเกิน เพราะท่านไม่ต้องการให้เป็นปลิโพธิกังวล แก่บรรดาพระเณร จะได้มีเวลากระทำความเพียรได้โดยปราศจากอุปสรรคของข้อกังวลนั้นๆ

เข้าพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามปกติ แนะนำพร่ำสอนและทำเป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์อย่างเคร่งครัดเหมือนปีก่อนๆ รวมทั้งเทศนาสั่งสอนประชาชนตลอดพรรษา การประกอบความเพียรก็เร่งทั้งกลางวันและกลางคืน พระเณรรูปใดมีอารมณ์ฟุ้งซ่านไปในทางที่ผิด ท่านก็เทศน์สอนขึ้นมาเองโดยไม่มีใครบอก ราวกับว่าท่านหยั่งรู้ได้ด้วยตัวของท่านเองฉะนั้น บรรดาพระเณรจึงตั้งใจสำรวมกันอย่างเต็มที่

พอออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์วิริยังค์ได้นิมนต์พระอาจารย์ฝั้น และพระอาจารย์กงมาไปร่วมงานที่วัดดำรงธรรม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี อีกครั้งหนึ่ง เสร็จงานวัดนั้นแล้ว ท่านได้ไปพักวิเวกอยู่ในป่าข้างๆ น้ำตกพริ้ว และได้มีญาติโยมนิมนต์ไปพักตามที่ต่างๆ อีกหลายแห่งตลอดระยะเวลาร่วม ๒ เดือน

ตอนเดินทางกลับ พระอาจารย์ฝั้นได้แวะพักที่วัดป่าบ้านฉางเป็นเวลา ๔-๕ วัน ประจวบกับชาวไร่กำลังเดือดร้อนเรื่องด้วงมะพร้าวกันมาก บางไร่กินจนมะพร้าวตายแทบเกลี้ยง บางแห่งต้องตัดสินใจเผาทิ้งหมดทั้งไร่ โยมผู้หนึ่งจึงขอให้ท่านทำน้ำมนต์ให้ เพื่อขจัดปัดเป่าความเดือดร้อนดังกล่าวให้หมดสิ้นไป พระอาจารย์ฝั้นก็ได้ทำน้ำมนต์ให้ แล้วหยิบไม้สีฟันของท่านให้ไปด้วย ๔-๕ อัน กำชับให้ตั้งใจภาวนา พุทโธ ให้ดี แล้วให้เอาไม้สีฟันไปเหน็บ ๔ มุมไร่ กับให้เอาน้ำมนต์ไปพรมรอบๆ ไร่ด้วย

อีก ๒ วันต่อมา โยมผู้นั้นกับภรรยาก็กลับมาหาพระอาจารย์ฝั้นอีก ยกมือไหว้ท่วมหัวพร้อมกับเรียนว่า ความเดือดร้อนทั้งปวงเหือดหายไปอย่างน่าอัศจรรย์ บัดนี้ ตัวด้วงทั้งหลายหายไปจากไร่ของตนจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ต้องเผาไร่เหมือนเจ้าของไร่คนอื่นๆ

ออกจากวัดป่าบ้านฉาง พระอาจารย์ฝั้น ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ แวะพักกับพระอาจารย์ลี ที่วัดอโศการาม จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ จึงพาคณะกลับไปยังจังหวัดสกลนคร

กลับไปคราวนี้ท่านและไปพักที่วัดป่าสุทธาวาส เพื่อเตรียมการประชุมในวันที่ระลึกคล้ายวันประชุมเพลิงศพพระอาจารย์มั่น จนกระทั่งเสร็จการประชุมแล้ว จึงได้กลับไปพักที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามปกติ แต่เมื่อพักได้ในราว ๒ สัปดาห์ พระอาจารย์ฝั้นก็พาพระลูกศิษย์ออกธุดงค์อีก คราวนี้ไปพักวิเวกที่ถ้ำเป็ด เขตอำเภอสว่างแดนดิน ใกล้ๆ กับวัดพระอาจารย์วัน อุตฺตโม ในปัจจุบัน ถ้ำเป็ดเป็นสถานที่วิเวกสงบดีมาก เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ตลอดเวลาหลายเดือนที่ท่านไปพักวิเวกอยู่นั้น ท่านได้จัดการบูรณะสร้างถังน้ำ และได้สร้างกุฏิ ๒-๓ หลัง พร้อมทั้งศาลาโรงฉันไว้ด้วย

ปัจจุบันถ้ำเป็ดอยู่ในกิ่งอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งแยกออกมาจากอำเภอสว่างแดนดิน มาตั้งเป็นอีกอำเภอหนึ่ง การคมนาคมก็สะดวกขึ้นกว่าเดิม เพราะสมัยโน้นไม่มีถนนหนทางไปบ้านส่องดาว การไปมาต้องเดินเท้าแต่ประการเดียว

ที่ถ้ำเป็ด นอกจากพระอาจารย์ฝั้นจะพัฒนาทางด้านสถานที่ โดยชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันสร้างถาวรวัตถุไว้เป็นสาธารณะประโยชน์แล้ว ยังพัฒนาทางด้านจิตใจของชาวบ้านพร้อมกันไปด้วยอีกทางหนึ่ง โดยการเทศน์สั่งสอนให้รู้จักทาน ศีล และภาวนา ให้ขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ปกติเมื่อพ้นฤดูทำนาแล้ว ชาวบ้านแถบนั้นจะเที่ยวเล่นสนุกสนานไปโดยไร้ประโยชน์ แล้วก็พากันบ่นว่าอดอยาก อาหารการกินก็ไม่สมบูรณ์ พระอาจารย์ฝั้นได้แนะนำให้ทำสวนครัว ปลูกผักต่างๆ ตลอดจนพริก มะเขือ ฯลฯ เป็นต้น แรกๆ มีบางคนเท่านั้นที่ทำตาม และก็ได้ผลดีแก่เศรษฐกิจในครอบครัว ทำให้ชาวบ้านทั่วไปพากันเอาอย่าง ถึงขนาดบางรายมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตด้วย

ความสะอาดเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์ฝั้นพยายามเทศน์สั่งสอน โดยแนะนำผู้ใหญ่บ้านให้ประชุมลูกบ้าน แล้วแนะนำให้ลูกบ้านรักษาความสะอาด และรักษาสุขภาพอนามัยทุกหลังคาเรือน เวลาออกบิณฑบาตเห็นตรงไหนสกปรกรกรุงรัง ก็บอกให้ทำความสะอาดตรงนั้น ไม่นานนัก หมู่บ้านนั้นก็สะอาด มองไปทางไหนก็ดูสดใสขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือนหรือถนนหนทางโดยทั่วไป

อีกหมู่บ้านหนึ่งใกล้ๆ กับถ้ำเป็ด ถึงฤดูแล้ง ชาวบ้านไม่ทำมาหากินอะไรเลย เฝ้าแต่ขุดหาอึ่งอ่างมาประกอบอาหารอยู่ทุกวี่ทุกวัน บางวันไม่ได้สักตัวเดียว บางวันได้แค่ตัวสองตัว เมื่อไม่พอกินก็บ่นว่าอดอยาก พระอาจารย์ฝั้นได้ใช้โอกาสที่ชาวบ้านมาฟังธรรม เทศนาสั่งสอนว่าเป็นการขยันหมั่นเพียรในทางที่ผิด ปราศจากประโยชน์ทั้งส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม ขุดอึ่งอ่างได้ไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป ควรเอาเวลาว่างจากการทำนามาขุดดินทำไร่ทำสวนจะดีกว่า ชาวบ้านก็ประจักษ์ในเหตุผลและพากันทำตาม จนกระทั่งเห็นผลขึ้นมาตามลำดับ บางคนถึงกับไปปรารภกับพระอาจารย์ฝั้นว่า ถ้าทำอย่างที่ท่านแนะนำมาแต่ต้น ป่านฉะนี้คงตั้งหลักฐานได้กันหมดแล้ว

เมื่อขึ้นไปพักที่ถ้ำเป็ดใหม่ๆ มีถ้ำเล็กๆ อยู่ถ้ำหนึ่งถัดลงมาจากที่พักของพระอาจารย์ฝั้น พระภิกษุศิษย์รูปหนึ่งเห็นว่าสงบดี เหมาะแก่การพักวิเวก จึงให้พวกโยมที่ขึ้นไปส่ง จัดการยกแคร่สูงคืบเดียวให้ เพื่อใช้เป็นที่พัก ตกเย็นก่อนลงไปพักที่ถ้ำเล็กนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้เตือนพระภิกษุลูกศิษย์ว่า “ลงไปนอนที่ถ้ำนั้น ภาวนาให้ดีล่ะ อย่าถึงกับหอบบริขารบาตรจีวรหนี ตั้งใจภาวนาให้ดี อย่าประมาท” ท่านหยุดหัวเราะแล้วกล่าวต่อไปอีกด้วยว่า “ความกลัวของคนเรานั้นน่ะ ถ้ากลัวสุดขีดถึงกับเป็นพระกัมมัฏฐานก็เป็นบ้าได้เหมือนกัน ถ้าไม่กลัวตายเสียอย่างเดียวอยู่ไหนก็อยู่ได้” พระภิกษุรูปนั้นเข้าใจว่าท่านตักเตือนเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อตกดึกทำกิจวัตรเสร็จประมาณ ๖ ทุ่มเศษ ก็ลงไปถ้ำเล็ก เข้าทำวัตรสวดมนต์จบแล้วก็เอนกายลงนอนพัก ตั้งใจว่าสักครู่จะลุกขึ้นภาวนาตามปกติ

กำลังเคลิ้มๆ พระภิกษุรูปนั้นก็สะดุ้งตื่นขึ้นมาด้วยความตกใจ เนื่องจากมีฝูงกบและเขียดแตกตื่นออกมาจากถ้ำเป็นฝูงๆ แคร่ที่ยกไว้เป็นที่พักก็อยู่ตรงปากถ้ำพอดี กบใหญ่ๆ ๓-๔ ตัว จึงโดดขึ้นมาเกาะอยู่บนหน้าอกจนรู้สึกเย็นยะเยือก พอท่านผุดลุกขึ้นมันก็โดดหนี จะลุกหนีออกมาก็บังเอิญนึกถึงคำเตือนของพระอาจารย์ฝั้นขึ้นมาได้ จึงสงบใจให้เป็นปกติ แล้วนั่งสดับเหตุการณ์อยู่เงียบๆ ทันใดก็ได้ยินเสียงงูเลื้อยดังแกรกกรากอยู่ในถ้ำ จะหนีก็เหมือนไม่เชื่อพระอาจารย์ จึงมุมานะนั่งภาวนาท่ามกลางเสียงงูเลื้อย และท่ามกลางเสียงกบเขียดกระโดดเป็นฝูงๆ ตลอดคืน ในที่สุดเมื่อจิตสงบดีแล้ว ความกลัวก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง

เช้าวันนั้น เมื่อลงไปทำกิจวัตรที่กุฏิพระอาจารย์ฝั้นตามปกติ ท่านได้ทักทายขึ้นว่า

“เป็นไงมั่ง เกือบจะหอบบริขารวิ่งหนีความตายแล้วไหมล่ะ จะหนีไปอยู่ที่ไหนจึงจะพ้นความตายเล่า อยู่ที่ไหนมันก็ตายเหมือนกันแหละ”

พูดจบ ท่านก็ล้างหน้าบ้วนปากแล้วลงเดินจงกรมตามปกติ พระภิกษุรูปนั้นได้แต่รับฟังด้วยความอัศจรรย์

พระอาจารย์ฝั้นพำนักอยู่ที่ถ้ำเป็ดจนเกือบจะเข้าพรรษา คณะตำรวจโรงเรียนพลฯ เขต ๔ จึงเอารถจี๊ปกลางขึ้นไปรับ เพื่อนิมนต์กลับไปจำพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามเดิม

กลับมาจำพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีพระเณรเพิ่มขึ้นมาก ท่านจึงรับภาระเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ทั้งการสั่งสอนศิษย์ภายใน คือ พระภิกษุสามเณร และศิษย์ภายนอก คือบรรดาญาติโยมที่ไปศึกษาธรรม ตลอดจนคณะอุบาสก อุบาสิกา ที่ไปรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำทุกวันพระ ท่านได้บำเพ็ญตนเป็นตัวอย่างแก่บรรดาสานุศิษย์อย่างเคร่งครัด เสมอต้นเสมอปลายตลอดทั้งพรรษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันพระอุโบสถ ตอนกลางคืนท่านจะพาสานุศิษย์นั่งสมาธิภาวนาตลอดคืน เมื่อเห็นว่ามีง่วงเหงาหาวนอน ก็จะเทศน์อบรมสลับไปเป็นช่วงๆ เป็นที่น่าเลื่อมใสและศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง บางคนถึงกับออกปากปฏิญาณตนเลิกการประพฤติชั่วโดยเด็ดขาด นับว่าท่านได้ยังประโยชน์แก่มวลชนอย่างได้ผลเป็นอันมาก

หลังออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระอาจารย์ฝั้นมีกิจนิมนต์ลงไปกรุงเทพฯ พร้อมด้วยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เสร็จกิจแล้วได้เลยไปจันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง กลับจากจันทบุรีได้แวะเข้าพักที่วัดอโศการาม

หลังจากนั้นแล้วจึงเดินทางกลับไปจังหวัดสกลนคร โดยมีคณะศิษย์ทั้งหลายจากกรุงเทพฯ บ้าง จากจังหวัดใกล้เคียงบ้าง พากันติดตามไปรับการอบรมธรรมจากท่านหลายคน พร้อมทั้งคณะทายก ทายิกาที่เป็นศิษย์ประจำอยู่ก่อนก็ยกขบวนเข้ารับการอบรมด้วยเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้ท่านต้องมีภาระในการรับแขกมากยิ่งขึ้น แต่ท่านก็มิได้ย่อท้อหรือเบื่อหน่าย ใครจะไปนมัสการเมื่อใดท่านต้อนรับเสมอหน้ากันหมด บางครั้งแขกมากมายทั้งกลางวันและกลางคืน จนท่านจะหาเวลาลุกไปสรงน้ำก็ยังยาก กว่าแขกจะกลับหมดก็ตก ๓ ทุ่มเศษจึงได้มีโอกาส เคยมีพระภิกษุลูกศิษย์แนะนำให้รับแขกเป็นเวลา แต่ท่านไม่ยอม อ้างว่าจะทำให้คนเหล่านั้นเสียเวลาทำมาหากิน ต้องมารอกันเสียเวลาเป็นชั่วโมงๆ โดยเปล่าประโยชน์

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์ฝั้นคงจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ตามเดิม ระหว่างนั้นทางด้านฆราวาสญาติโยมยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่ไปนมัสการก็มีมาก ทั้งใกล้และไกล แต่ท่านก็ยังเข้มแข็งในปฏิปทาตามปกติ

ตอนกลางพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับศิษย์ทั้งปวงอยู่เสมอว่า ท่านได้นิมิตเห็นถ้ำอยู่ถ้ำหนึ่ง อยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพาน ในถ้ำนั้นมีแสงสว่างเท่าๆ กับตะเกียงเจ้าพายุ ๒ ดวง อากาศก็ดี สงบและวิเวก เมื่อขึ้นไปอยู่ในถ้ำนั้นแล้วก็เหมือนกับอยู่ในโลกอีกโลกหนึ่งทีเดียว ท่านปรารภอยู่เสมอด้วยว่า ออกพรรษาแล้วจะต้องไปดูให้ได้ พอออกพรรษา พระอาจารย์ฝั้นก็ตัดสินใจออกเดินทางไปยังถ้ำตามที่นิมิตไว้ แต่มิได้ตรงไปยังถ้ำดังกล่าวเสียทีเดียว ท่านได้ออกเดินทางไปกับพระภิกษุสามเณรอย่างละรูป ไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อพาคณะญาติโยมบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศแก่บุพการีทั้งหลาย เสร็จแล้วออกเดินทางไปพักที่วัดป่าบ้านกู่ เพื่อบำเพ็ญกุศลครบรอบวันฌาปนกิจของพระอาจารย์กู่ จากนั้นได้เดินทางไปพักที่วัดป่าข้างๆ วัดบ้านไอ่ ๒ คืน แล้วเดินทางต่อไปยังบ้านคำข่า พอไปถึงพวกโยมได้พาไปพักในดงข้างหมู่บ้าน เป็นดงหนาทึบมาก ชาวบ้านเรียกกันว่า ดงวัดร้าง เมื่อทำความคุ้นเคยกับญาติในหมู่บ้านดีแล้ว ท่านก็ถามว่า ภูเขาแถบนี้มีถ้ำบ้างหรือไม่ พวกโยมตอบว่ามีหลายแห่งทั้งถ้ำเล็กและถ้ำใหญ่ ท่านจึงให้พวกโยมพาขึ้นไปดูในวันต่อมา วันนั้นทั้งวันให้ดูถ้ำหลายถ้ำ แต่ไม่ตรงกับถ้ำที่นิมิตสักแห่ง จึงกลับไปยังที่พัก

ญาติโยมได้บอกท่านว่า ยังมีอีกถ้ำหนึ่ง อยู่บนยอดเขา เป็นถ้ำใหญ่มาก ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำขาม ทุกปีเมื่อถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะขึ้นไปทำบุญและสรงน้ำพระบนถ้ำนั้นเป็นประจำ แล้วก็พาท่านไปดูในวันรุ่งขึ้น การเดินทางเต็มไปด้วยความยากลำบาก ต้องปีนต้องไต่ไปตามไหล่เขาอันเต็มไปด้วยขวากหนาม

เมื่อไปถึงถ้ำขามแล้ว พระอาจารย์ฝั้นเดินดูรอบๆ บริเวณอยู่สักครู่ ก็ออกปากขึ้นทันทีว่า “เออ ถ้ำนี้แหละที่เรานิมิตเห็นตอนกลางพรรษา” พูดแล้วท่านก็ให้พวกโยมจัดหาไม้มาทำเป็นแคร่นอนขึ้นในถ้ำรวม ๒ ที่ ความจริงท่านตั้งใจจะพักค้างคืนในคืนนั้นเลย แต่เนื่องจากไม่ได้เตรียมบริขารและเสบียงอาหารไปด้วย จึงจำต้องกลับลงมาก่อน ระหว่างทางที่ลงมานั้น ท่านได้ให้พวกโยมตัดทางลงมาด้วย จะได้ขึ้นโดยสะดวกในวันหลัง

เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ท่านก็เดินทางขึ้นไปยังถ้ำขามพร้อมด้วยญาติโยมและเสบียงกรัง เพราะถ้ำนั้นอยู่ห่างจากหมู่บ้านมาก การสัญจรบิณฑบาตไม่สะดวก ต้องอาศัยลูกศิษย์ทำอาหารเอง จึงต้องเตรียมเสบียงกรังขึ้นไปด้วย

พระอาจารย์ฝั้นได้ขึ้นไปพักอยู่บนถ้ำขาม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์ เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๗

เมื่อขึ้นไปพักใหม่ๆ มีความขัดข้องในเรื่องน้ำกินน้ำใช้ พวกโยมก็แนะนำว่ามีน้ำบ่อซึมอยู่ที่ภูเขาอีกลูกหนึ่งทางตะวันออก ห่างจากถ้ำขามไปประมาณ ๔ กิโลเมตร เมื่อไม่มีแหล่งน้ำใดใกล้กว่า จึงจำเป็นต้องใช้น้ำจากบ่อซึมดังกล่าว โดยใช้กระบอกไม่ไผ่เป็นภาชนะบรรจุน้ำ สะพายใส่บ่าทั้งสองข้างกลับไปยังถ้ำขาม หากใช้ถังหรือปีบบรรจุจะหกเสียหายแทบหมด เพราะต้องหาบหามระหกระเหินเป็นระยะทางไกลมาก

ในช่วงที่ขึ้นไปใหม่ๆ การใช้น้ำต้องกระทำอย่างประหยัด พระเณรต้องเดินไปสรงน้ำไกลถึง ๔ กิโลเมตรเศษ เสร็จแล้วจึงสะพายกระบอกน้ำกลับขึ้นมาบนถ้ำขามอีก กว่าจะถึงที่พักเหงื่อก็โทรมร่างราวกับว่ายังไม่ได้อาบน้ำมาเลย

อยู่ในสภาพเช่นนั้นมาประมาณครึ่งเดือน พระอาจารย์ฝั้นก็บอกพระภิกษุลูกศิษย์ว่า บนเขาหลังถ้ำขามนี้มีอ่างน้ำอยู่เหมือนกัน แต่ดินถมลงไปจนเต็มหมด หากขุดดินออกคงเก็บน้ำฝนได้มากอยู่ ท่านบอกว่าได้นิมิตเห็นอ่างที่ว่ามา ๒-๓ วันแล้ว จากนั้นก็พากันเดินสำรวจ ในที่สุดก็ได้เห็นปากอ่างซึ่งมีหญ้าปกคลุมอยู่เต็ม พระอาจารย์ฝั้นได้ให้พระภิกษุลูกศิษย์โกยดินขึ้น พอโกยดินลึกลงไปประมาณเมตรเศษๆ ก็มีน้ำซึมออกมา จึงปล่อยไว้ให้น้ำซึมออกมาเป็นน้ำบ่อ อาศัยตักใช้ไปได้หลายวัน พอน้ำแห้งก็โกยดินกันใหม่ให้ลึกลงไปกว่าเก่า ก็มีน้ำซึมออกมาให้ใช้อีก เป็นอยู่เช่นนั้นประมาณเดือนเศษ พอขุดลึกลงไปโพรงอันกว้างใหญ่ ๒-๓ โพรงซึ่งอยู่ใต้ดินก็ทะลุถึงกันเข้าเอง เป็นเหตุให้กลายสภาพเป็นอ่างขนาดใหญ่ ขนาดลงไปยืนแล้วยื่นมือขึ้นมาไม่ถึงปากหลุม เป็นอ่างเก็บน้ำฝนได้อย่างดีจนกระทั่งทุกวันนี้ และต่อมาอีกปี ก็ได้ระเบิดหินทำเป็นสระน้ำขึ้นอีก ๓ สระ บนหลังเขา จึงมีน้ำใช้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ทางด้านหลังถ้ำ ซึ่งเต็มไปด้วยต้นลั่นทมขาว ดอกสะพรั่งส่งกลิ่นหมอฟุ้งไปทั่งบริเวณ พระอาจารย์ฝั้นได้ให้พวกญาติโยมปัดกวาดทำความสะอาดจนกระทั่งมีสภาพเรียบร้อยน่าดูขึ้น

ถึงวันวิสาขบูชาเดือน ๖ พระอาจารย์ฝั้นได้นำญาติโยมทำพิธีเวียนเทียน เสร็จแล้วเทศนาอบรมสั่งสอนตลอดทั้งคืน ท่านนั่งเทศน์ใต้ต้นลั่นทมจนสว่างคาตา มีชาวบ้านขึ้นไปร่วมงานมากเป็นพิเศษ ธูปเทียนบูชาสว่างไสวไปหมดทั้งภูเขา ต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ให้ญาติโยมช่วยกันทำที่พักมีหลังคาและฝากั้น เพื่ออาศัยจำพรรษาที่ถ้ำขามในปีนั้น แต่การจำพรรษาจะให้พระภิกษุสามเณรอยู่กันน้อยรูปที่สุด เพราะลำบากเกี่ยวกับอาหารการฉัน หมู่บ้านก็อยู่ไกล บิณฑบาตไปไม่ถึง ท่านปรารภด้วยว่า ได้พบสถานที่อันเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างสมบูรณ์แล้ว ท่านเองไม่ลงไปจำพรรษาข้างล่างอย่างแน่นอน แล้วท่านก็เลือกที่พักสำหรับจำพรรษา คือ กุฏิของท่านที่อยู่บนถ้ำขามในปัจจุบัน ชาวบ้านเรียกว่าถ้ำเสือ เมื่อขึ้นไปพักใหม่ๆ เสือตัวนี้ยังขึ้นลงเข้าออกอยู่เป็นประจำ ต่อมาเมื่อท่านไปทำที่พักขวางทางเข้า มันจึงหลบหนี ไม่กล้ำกรายเข้ามาอีกเลย

เป็นอันว่าในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ พระอาจารย์ฝั้นได้จำพรรษาอยู่บนถ้ำขาม โดยมีพระภิกษุอีก ๓ รูป กับสามเณรอีก ๓ รูปร่วมจำพรรษาอยู่ด้วย แม้จะอดอยากอย่างไรก็มิได้ถือเป็นอุปสรรค เพราะที่นั่นไกลจากหมู่บ้าน ต้องเดินเท้าเปล่าจากถนนใหญ่ไปอีกเป็นระยะทางถึงกว่า ๒๐ กิโลเมตรการบิณฑบาตจึงไม่อาจกระทำได้

แต่ในพรรษานั้นมีชาวไร่ ๓ ครอบครัวขึ้นไปทำไร่พริกบนภูเขาอีกลูกหนึ่ง และมีศรัทธานิมนต์พระไปบิณฑบาตเป็นประจำ จึงไม่ถึงกับอดอยากกันเท่าไรนัก ส่วนพระอาจารย์ฝั้นนั้น ท่านได้ตกลงใจไม่ฉันข้าว ฉันแต่หน่อไม้กับผลไม้เท่าที่มีเท่านั้น หน่อไม้ก็ฉันกับน้ำปลาตลอดทั้งพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็ยังฉันแต่หน่อไม้และผลไม้ต่อมาอีกเป็นเวลาถึงเดือนเศษ รวมแล้วเป็นเวลาถึง ๔ เดือนเศษที่ท่านไม่ได้ฉันข้าวเลยแม้แต่เมล็ดเดียว

ก็น่าแปลก ปกติเมื่อหมดฤดูกาลแล้ว หน่อไม้จะไม่งอก แต่ปีนั้นมีหน่อไม้ให้ท่านฉันตลอดปี

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้พาญาติโยมซึ่งเสร็จจากการทำนาไปทำสระน้ำบนหลังถ้ำ และตัดเส้นทางลงมาบิณฑบาต โดยวิธีนัดพบกันกลางทาง กล่าวคือทางพระเดินจากถ้ำลงมา ชาวบ้านออกจากบ้านไปใส่บาตร เมื่อใส่บาตรแล้วก็แยกย้ายกันกลับ

ถึงฤดูแล้งปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้นปรารภกับบรรดาญาติโยมที่ไปปฏิบัติท่านว่า ผู้คนที่ไปปฏิบัติท่าน เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ศาลาโรงธรรมที่มีอยู่ไม่แข็งแรงและไม่เพียงพอแก่การพักอาศัย สมควรที่จะสร้างศาลาโรงธรรมอันเป็นที่พักให้ถาวรขึ้น ญาติโยมทั้งหลายก็เห็นพ้องด้วย จึงช่วยกันจัดหาอุปกรณ์การก่อสร้าง โดยตกลงให้พระอาจารย์ฝั้นเป็นผู้อำนวยการสร้างด้วยตัวของท่านเอง

การลำเลียงอุปกรณ์ก่อสร้างขึ้นไปบนภูเขาครั้งนั้น เต็มไปด้วยความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง ทั้งพระทั้งเณรพร้อมด้วยชาวบ้าน ต้องใช้กำลังกายแบกหามวัสดุต่างๆ ขึ้นไป เสาบางต้นยาวตั้ง ๑๑-๑๒ เมตร แต่ถึงกระนั้นก็ไม่มีใครย่อท้อ ระหว่างนั้นชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า พระอาจารย์ฝั้นจะสร้างศาลาโรงธรรม ก็พร้อมใจกันขึ้นไปช่วยอย่างคับคั่ง จนกระทั่งการขนอุปกรณ์การก่อสร้างสำเร็จลงโดยไม่มีใครเห็นแก่ความเหนื่อยยาก

เมื่อถึงวันยกเสา ชาวบ้านทั้งใกล้และไกล ได้ขึ้นไปช่วยอย่างพร้อมเพรียงและในที่สุด การยกเสาขึ้นตั้งโดยการควบคุมของพระอาจารย์ฝั้น ก็สำเร็จไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

ที่ว่าน่าอัศจรรย์ก็เพราะว่า พื้นที่ที่จะปลูกสร้างศาลาโรงธรรมนั้นไม่เสมอกัน สูงๆ ต่ำๆ และระเกะระกะไปด้วยก้อนหิน เสาทุกต้นที่ขึ้นตั้งบนก้อนหิน จึงสั้นบ้างยาวบ้าง เมื่อพระอาจารย์ฝั้นสั่งให้ตัดและบากเสาให้เป็นใกสำหรับรับคานเรียบร้อยแล้วทุกต้น จึงให้ยกขึ้นตั้งหมดทุกเสา

ปรากฏว่า เสาทุกเสาตั้งได้ที่ทุกต้น โดยไม่ต้องแก้ไขหรือขยับเขยื้อนเลย มิหนำซ้ำ ทั้งๆ ที่ตั้งเสาขึ้นบนหิน เสาทุกต้นก็แน่นปั๋ง ราวกับฝังลึกในดินเป็นเมตรๆ

ชาวบ้านที่ขึ้นไปช่วยต่างกลัวกันว่า เสาจะล้มทับ แต่พระอาจารย์ฝั้นปลอบว่า ไม่เป็นไร ตั้งใจทำไปเถอะ และไม่ยอมให้ชาวบ้านตีค้ำยันเพื่อกันล้ม ท่านบอกชาวบ้านว่า ถ้าไม่เชื่อผลักดูก็ได้ว่ามันจะล้มไหม ชาวบ้านบางคนได้เข้าไปผลักดูเขย่าดู เมื่อเห็นว่าตั้งอยู่บนหินได้อย่างแน่นหนาทุกต้นก็ได้แต่ประหลาดใจ แต่ละคนไม่กล้าพูดอะไร ได้แต่มองหน้ากันไปมา

เมื่อตั้งเสาเสร็จก็ตกเย็น พวกญาติโยมบางคนก็ลงจากเขากลับบ้าน แต่ส่วนใหญ่พักค้างกันอยู่บนเขา เพื่อช่วยงานต่อไปในวันรุ่งขึ้น

คืนนั้น พระอาจารย์ฝั้นได้ลงไปทำวัตรสวดมนต์แล้วเทศนาสั่งสอน และแนะนำให้พวกชาวบ้านภานาพุทโธกันเข้าไว้ อย่าหลับนอนให้มากนัก เมื่อแนะนำเสร็จก็ให้ไปพักผ่อนกันได้ พอตกดึกเงียบสงัด บรรดาญาติโยม ๓-๔ คนที่พักอยู่ในถ้ำ ต่างได้ยินเสียงผู้คนนับร้อยๆ คุยกันก้องถ้ำไปหมด แต่ยังไม่ได้ศัพท์ว่าพูดเรื่องอะไร แรกๆ ก็คิดว่าชาวบ้านบางคนลุกขึ้นมาคุยกัน แต่เมื่อมองไปรอบๆ ก็เห็นทุกคนนอนหลับ จึงรู้สึกเอะใจและนึกกลัวขึ้นมาทันที จะนอนก็นอนไม่หลับ ได้แต่จับกลุ่มสดับเหตุการณ์จนกระทั่งตี ๕ เศษ จึงได้ลุกไปถามพระภิกษุรูปหนึ่งดูว่าเป็นเสียงอะไรกันแน่ แต่พระภิกษุรูปนั้นไม่ยอมตอบ เพียงแต่แนะนำให้ไปถามพระอาจารย์ฝั้นเอาเอง แล้วท่านก็ชวนชาวบ้าน ๓-๔ คนนั้นไปเดินจงกรมด้วยกันบนหลังถ้ำ

เช้าวันนั้น พระอาจารย์ฝั้นขึ้นไปบนศาลา ก็ทักทายกับพวกญาติโยมทันทีว่า เป็นยังไงบ้าง เมื่อคืนนั่งกลัวจนนอนไม่หลับทีเดียวหรือ ได้ยินพวกเทพเขามาอนุโมทนาสาธุการกันหรือเหล่า เขามาอนุโมทนากันตั้งมากมาย พวกโยม ๓-๔ คน ที่ผ่านเหตุการณ์มาเมื่อคืน ได้แต่มองหน้ากันอย่างประหลาดใจ ทำไมพระอาจารย์ฝั้นจึงทราบได้ว่า เมื่อคืนกลัวกันมากจนหลับไม่ลงก็ไม่ทราบ

ในที่สุด ศาลาโรงธรรมหลังถาวร ภายใต้การอำนวยการสร้างของพระอาจารย์ฝั้นก็สำเร็จลง ในการนี้ได้มีการสร้างกุฏิที่พักอาศัยของพระอาจารย์ฝั้นขึ้นใหม่ด้วย พร้อมทั้งทำสระน้ำใหญ่บนหลังถ้ำเพื่อเป็นที่เก็บน้ำฝนมาจนกระทั่งปัจจุบัน นับว่าได้อำนวยประโยชน์แก่บรรดาศิษยานุศิษย์ และบรรดาญาติโยมทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

มีเรื่องน่าบันทึกไว้ในที่นี้อีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ ก่อนจะลงมือสร้างศาลาโรงธรรมดังกล่าว ได้เกิดปัญหาแก่บรรดาญาติโยมทั้งหลายขึ้นมาว่า องค์พระประธานซึ่งเจ้าภาพจัดส่งไว้ที่บ้านคำข่านั้น ทำอย่างไรจึงจะอัญเชิญขึ้นไปให้ถึงถ้ำขามได้ เพราะระยะนั้น ถนนสำหรับขึ้นลงยังไม่มี ทางคนเดินแม้จะมีอยู่ แต่จะขึ้นลงแต่ละทีก็แสนลำบากมากอยู่แล้ว แต่พระอาจารย์ฝั้นได้บอกบรรดาญาติโยมทั้งหลายว่าไม่ยาก ให้พากันหามขึ้นไปเลย โดยมีคนถางทางนำหน้าขึ้นไปก่อน ฝ่ายที่หามพระประธานก็ให้หามตามไปเรื่อยๆ หากจะตัดทางให้เสร็จก่อนแล้วหามพระประธานขึ้นไป ก็จะเสียเวลาไปอย่างน้อยถึง ๕ วัน จึงจะตัดทางได้สำเร็จ อีกประการหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นจะต้องจากถ้ำขามไปในงานประชุมประจำปีของคณะศิษย์พระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส ไม่มีเวลาพอจะรอได้ ชาวบ้านก็สนองเจตนาของท่าน ด้วยการแบ่งกำลังออกเป็นสองชุด ชุดแรกให้ถางทางขึ้นไปก่อน ชุดหลังหามพระประธานตามขึ้นไป เมื่อลงมือกันเข้าจริงๆ ชุดที่ถางทางขึ้นไปก่อน ทำงานไม่ทัน เพราะเป็นป่ารก เต็มไปด้วยขวากหนาม ชุดที่หามพระประธานขึ้นไปไม่อาจหยุดรอได้ เพราะพระประธานหนักมาก จะวางลงหรือยกขึ้นแต่ละครั้งลำบากเป็นที่สุด เนื่องจากสภาพพื้นที่สูงชันและเต็มไปด้วยก้อนหินระเกะระกะ จึงจำเป็นต้องแซงชุดที่ถางทางขึ้นไปก่อน เมื่อแซงไปแล้ว ก็บุกต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เพราะทางชันขึ้นตลอดเวลา ชุดที่ถางทางล่วงหน้า จึงพากันวางมีด ช่วยกันผลัดเปลี่ยน ทำหน้าที่หามร่วมขบวนไปด้วย จนในที่สุดก็อัญเชิญพระประธานขึ้นไปถึงถ้ำขามได้สำเร็จภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง

น่าสังเกตว่า ในขณะที่ชาวบ้านช่วยกันหามพระประธานขึ้นไปนั้น ผู้คนชุลมุนวุ่นวายถึงขนาดล้มลุกคลุกคลานอยู่ตลอดเวลา หลายต่อหลายคนล้มลงไปในดงขวากหนาม น่าจะได้รับบาดเจ็บหรือมีบาดแผลกันบ้าง แต่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง ทุกคนปลอดภัยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บเลยสักคน

และในปีนั้นเอง มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ได้มีคณะศิษย์ทางกรุงเทพฯ พากันขึ้นถ้ำขามไปนมัสการพระอาจารย์ฝั้นเป็นจำนวนมาก แม้การขึ้นถ้ำขาม จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก ยังอุตส่าห์ขึ้นไปจนถึง ที่จ้างเกวียนนั่งไปจนถึงเขาแล้วเดินขึ้นก็มี ที่ขึ้นไปแล้วต้องพักเหนื่อยค้างคืนก็มีมาก ทางรถยนต์ที่สร้างขึ้นไปจนถึงถ้ำขามในทุกวันนี้นั้น ก็เกิดจากนายช่างวิศวกรท่านหนึ่ง อุปสมบทแล้วขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนถ้ำขามในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เมื่อจวนจะออกพรรษา ได้เกิดศรัทธาจะทำทางรถยนต์ขึ้นลงถ้ำขามให้ได้ จึงออกสำรวจทางหลังถ้ำ แล้วทำทางลงมาจนสำเร็จ ยังผลให้รถยนต์วิ่งขึ้นลงได้จนปัจจุบัน

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พระอาจารย์ฝั้นคงจำพรรษาอยู่บนถ้ำขามพร้อมด้วยพระภิกษุ ๔ รูปกับสามเณรอีก ๓ รูป เท่ากับพรรษาก่อน ในฤดูแล้งปีนั้น มีการทำสระน้ำเป็นงานหลัก สระน้ำบนถ้ำขามนั้นปรากฏว่าต้องทำถึงสองครั้ง เมื่อทำเสร็จครั้งแรกเก็บน้ำเต็มสระแล้วเกิดชำรุด ผนังแตกร้าว น้ำไหลซึมออกไปหมด จึงต้องจัดทำกันใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยขยับเนื้อที่เข้าไปอีก ครั้งนี้ทำผนังเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก จึงแน่นหนาถาวรมาจนกระทั่งปัจจุบัน และในปีต่อมาพระอาจารย์ฝั้นได้ทำสระน้ำอีกแห่งบนพื้นที่สูงขึ้นไป จึงมีทั้งหมดรวมสองสระ

ตลอดเวลาที่ผ่านไป พระอาจารย์ฝั้นยังคงนำสานุศิษย์บำเพ็ญความเพียรอย่างคงเส้นคงวา สำหรับอาหารการบิณฑบาตยังคงขัดสนอยู่เช่นเคย แต่บรรดาพระภิกษุสามเณรที่อาศัยอยู่กับพระอาจารย์ฝั้นก็มิได้ย่อท้อต่อความลำบาก ชาวบ้านก็เอาใจใส่เป็นอย่างดี โดยเดินทางไปใส่บาตรที่เชิงเขา ส่วนพระและเณรก็เดินลงจากเขา รับบิณฑบาตแล้วก็เดินกลับขึ้นไป หว่าจะได้ลงมือฉันก็ตกเข้าไปเกือบ ๙ น.ครึ่ง ขณะเดียวกันนั้น ก็ได้มีการจัดสร้างกุฏิ สำหรับพระและเณรอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยแรงศรัทธาของบรรดาสานุศิษย์ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านไปมีพระและเณรขึ้นไปอาศัยและจำพรรษามากขึ้นเป็นลำดับ

มีข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งว่า ขณะที่พระอาจารย์ฝั้นฯ ขึ้นไปพักบนถ้ำขามใหม่ๆ นั้น บริเวณเชิงเขาเต็มไปด้วยป่ารก เป็นดงช้างดงเสือ และสัตว์ป่านานาชนิด แต่ปัจจุบันได้เป็นป่ากล้วย และไร่สวนไปมากมาย

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพระอาจารย์ฝั้นได้เป็นผู้แนะนำให้ชาวบ้านบุกเบิก เพื่อประโยชน์ในการครองชีพ และในทางเศรษฐกิจของชาวบ้านแถบนั้นเอง เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งขณะที่พระอาจารย์ฝั้นได้แนะนำสั่งสอนให้ญาติโยมมีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน ท่านได้แนะนำให้ปลูกกล้วยปลูกอ้อยให้มากขึ้นด้วย จะได้มีอยู่มีกินไม่อดอยากยากแค้น โยมคนหนึ่งได้ค้านขึ้นว่า หมู่บ้านแถบนี้พื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้นเสียแรงเปล่าๆ ต่อให้เทวดาหน้าไหนมาปลูกก็ไม่ได้ผล พระอาจารย์ฝั้นจึงถามว่าได้ลองปลูกดูแล้วหรือยัง โยมผู้นั้นตอบว่า ยัง พระอาจารย์ฝั้นจึงสั่งสอนว่า เพราะพวกเราพากันขี้เกียจเช่นนี้แหละถึงได้พากันอดอยาก ขาดแคลนกันมาเรื่อย มัวแต่พูดมัวแต่คิดว่าทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยลงมือทำเลย แล้วจะรู้ผลได้อย่างไรว่าปลูกขึ้นหรือไม่ขึ้น หากปลูกไม่ขึ้นจริงๆ แล้วบรรดาต้นไม้ต่างๆ เหล่านี้มันจะอยู่ได้อย่างไร ถึงภูเขานี้เองก็เถอะ ถ้าปลูกลงไปมันก็ขึ้นได้เหมือนกัน แล้วพระอาจารย์ฝั้นก็สั่งให้ญาติโยมหาหน่อกล้วยขึ้นไปปลูกดูบนภูเขา เพื่อลองดูว่ามันจะขึ้นได้หรือไม่ พร้อมกันนั้น ก็พาญาติโยมรวมทั้งโยมที่ค้านท่านไปปรับพื้นที่ตรงที่เป็นป่ากล้วยทุกวันนี้ด้วยกันทุกคน ต่อๆ มา พวกโยมก็แบกหน่อกล้วยขึ้นไปปลูกวันละต้นสองต้น ในที่สุดกล้วยที่ปลูกก็เจริญงอกงามจนเป็นป่ากล้วยอยู่ในปัจจุบัน และไร่สวนในบริเวณถ้ำขาม ก็เกิดขึ้นอย่างมากมายตามกันมา นับว่าพระอาจารย์ฝั้นได้เป็นผู้บุกเบิกนำความเจริญไปสู่หมู่บ้านนั้นอย่างแท้จริง

ในพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๙ พระอาจารย์ฝั้นลงไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ เพราะบรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายได้อ้อนวอนขออาราธนาท่านลงไปจำพรรษาอยู่ที่นั่น ออกพรรษาแล้วท่านก็กลับขึ้นไปบนถ้ำขามและนำสานุศิษย์ในการบูรณะ กับก่อสร้างถาวรวัตถุเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ในพรรษา พ.ศ. ๒๕๐๐ มีพระและเณรจำพรรษาอยู่กับท่านรวม ๗ รูป เหมือนปีก่อน ปีต่อมาก็ยังคงจำนวนเดิม แต่ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ มีพระและเณรจำพรรษาเพิ่มขึ้นเป็น ๙ รูป ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เพิ่มเป็น ๑๕ รูป จนเกินกำลังของผู้ที่จะให้ความอุปัฏฐาก ยังความลำบากแก่พระและเณรในกลางพรรษาเป็นอันมาก ในพรรษาต่อมาท่านจึงตัดจำนวนลง คือในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ มีพระและเณรจำพรรษาลดลงเหลือ ๙ รูป และปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ลดลงอีกเหลือ ๖ รูป

เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ แล้ว พระอาจารย์ฝั้นได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร ในฤดูแล้งของปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้นำญาติโยมพัฒนาเส้นทางจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปบ้านหนองโดกโดยช่วยดูแลเป็นกำลังใจแก่ชาวบ้านอย่างใกล้ชิด เป็นเวลาถึง ๕-๖ วัน การตรากตรำคร่ำเคร่งงานในขณะสังขารกำลังร่วงโรยเช่นนี้ เป็นเหตุให้ท่านป่วยหนักถึงขนาดต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร หลังจากนั้นประมาณ ๒ สัปดาห์ เมื่ออาการทุเลาลงแล้ว จึงกลับไปพักฟื้นที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ อีกพรรษาหนึ่ง เพราะขณะนั้นท่านมีอายุมากแล้ว และมีโรคภัยเบียดเบียนด้วย คณะแพทย์และสานุศิษย์เห็นว่าการเดินขึ้นลงที่ถ้ำขามต้องออกกำลังมาก อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่านได้ จึงวิงวอนให้ท่านพักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ไปพลางก่อน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ท่านจะจำพรรษาอยู่ที่วัดนั้นเพื่อเป็นการพักฟื้น แต่บรรดาญาติโยมทั้งใกล้และไกลก็ยังพากันไปนมัสการอยู่ไม่ขาด ท่านเองก็เมตตาต้อนรับ และเทศนาอบรมสั่งสอนโดยมิเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย นับเป็นอันตรายต่อสุขภาพของท่านเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ท่านยังมีภารกิจในการอบรมพระภิกษุสามเณร โดยเฉพาะนวกภิกษุผู้บวชใหม่ไปพร้อมกันด้วย ทั้งยังได้นำการพัฒนาวัด โดยขุดลอกขยายสระหนองแวงให้กว้างและลึกจนเป็นรูปสระใหญ่ สร้างโบสถ์น้ำขึ้นในแบบได้ประโยชน์ใช้สอยและถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยหลีกเลี่ยงความวิจิตรพิสดารในการตกแต่งอย่างสิ้นเชิง สำหรับกุฏิที่พักก็ได้สร้างขึ้นใหม่เท่าที่มีความจำเป็นเท่านั้น

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ผู้ซึ่งจากไปเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชนทางภาคใต้ติดต่อกันมาถึง ๑๕ ปี ได้เดินทางกลับมาทางภาคอีสาน และได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนพระอาจารย์ฝั้น ที่พรรณานิคมด้วย วันหนึ่งท่านได้เดินขึ้นไปบนถ้ำขาม พอเห็นสภาพบนถ้ำขามเข้าแล้วท่านก็ชอบใจ จึงได้พักวิเวกและจำพรรษาอยู่บนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพรรษาท่านสามารถบำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะพระภิกษุสามเณรที่ร่วมพรรษาด้วย ล้วนเป็นสานุศิษย์ของพระอาจารย์ฝั้น แต่ละรูปได้รับการอบรมจากพระอาจารย์ฝั้นอย่างดีมาแล้วทั้งนั้น จึงไม่เป็นภาระที่ท่านจะต้องหนักใจหรือสืบต่อการอบรมแต่ประการใด ความเหมาะสมในการวิเวกบำเพ็ญความเพียรบนถ้ำขามนั้น พระอาจารย์ขาว อนาลโย ก็พอใจเช่นเดียวกัน กล่าวคือในการพาคณะศิษย์ของท่านขึ้นไปพัก เพื่อเยี่ยมเยียนพระอาจารย์เทสก์ ในวันหนึ่ง ท่านถึงกับเอ่ยปากขอแลกสถานที่กับพระอาจารย์เทสก์ โดยขอให้พระอาจารย์เทสก์ไปอยู่ดูแลวัดถ้ำกลองเพลแทนท่าน ส่วนท่านเองจะขออยู่บนวัดถ้ำขามเอง แต่ไม่สำเร็จ

ในปีต่อๆ มา พระอาจารย์ฝั้นยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดป่าถ้ำขาม แต่ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด บรรดาผู้คนจะพากันไปกราบไหว้นมัสการท่านอย่างเนืองแน่น ทุกคนได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างเสมอหน้า ไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีคนมีคนจน ไม่มีเจ้านายหรือบ่าวไพร่ ทุกคนได้รับความเมตตาปรานีเสมอกันหมด ตลอดเวลาที่ผ่านไป ท่านไม่เคยกระตือรือร้นในอันที่จะต้อนรับใครผู้ใดเป็นพิเศษ ทั้งไม่เคยย่อท้อในการเอาธุระแนะนำสั่งสอนอบรมเทศนาแก่ผู้คนทุกหมู่ทุกเหล่า

ท่านเป็นนักสร้างคน คือสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ท่านได้แก้ไขผู้ประพฤติเป็นพาลเกเรเบียดเบียนข่มเหงรังแก สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตลอดจนผู้ติดอบายมุขต่างๆ ให้บังเกิดความสำนึกตนและละเว้นจากการประพฤติมิชอบเป็นผลสำเร็จมามากต่อมาก

เมตตาบารมีธรรมของท่าน กว้างใหญ่ใหญ่ไพศาลขึ้นทุกที แต่ละปีที่ล่วงไป ผู้คนที่หลั่งไหลไปนมัสการท่านเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกระทั่งในระยะหลังๆ บรรดาสานุศิษย์และนายแพทย์ได้กราบวิงวอนท่านครั้งแล้วครั้งเล่า ให้บรรเทาการรับแขกลงเสียบ้าง ท่านจะได้มีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น เพราะนับวันที่ผ่านไปสังขารของท่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทั้งยังล้มป่วยลงบ่อยๆ อีกด้วย แต่ท่านไม่ยอมกระทำตาม ซึ่งทุกคนก็ตระหนักดีในเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อเมตตาธรรมที่ท่านยึดถือปฏิบัติมาตลอด

ความตรากตรำในการแผ่บารมีธรรมของท่านนี้เอง เป็นมูลเหตุสำคัญให้ท่านเกิดอาพาธอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่อาการของท่านไม่ดีขึ้น จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในกรุงเทพมหานครอีกระยะหนึ่ง โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

รักษาตัวอยู่ได้ระยะหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นก็ขอกลับวัด กลับมาคราวนี้ คณะศิษย์ได้ร่วมกันสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ท่านพักอาศัย โดยยกพื้นขึ้นมาบนสระหนองแวง ข้างโบสถ์น้ำและทำรั้วกั้นเพื่อมิให้ผู้คนเข้าไปรบกวนท่านด้วย

แต่การของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้เกิดอาการโรคแทรกซ้อนขึ้นอย่างรุนแรง และกะทันหัน ท่านจึงต้องทิ้งขันธ์ธาตุของท่านไปด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๙.๕๐ น. ของวันเดียวกัน

ข่าวมรณภาพแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว สานุศิษย์และญาติโยมทั้งหลายต่างหลั่งไหลไปคารวะศพของท่าน แต่ละคนพบกันด้วยสีหน้าอันหม่นหมอง หลายต่อหลายคนบรรยายความรู้สึกในขณะนั้นด้วยน้ำตา เพราะไม่ทราบจะบรรยายถึงความเศร้าเสียใจให้สมบูรณ์ดีไปกว่านั้นได้อย่างไร

๔ ม.ค. ๒๐ ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้มรณภาพด้วยอาการอันสงบ

ณ บัดนี้ พระภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้ารูปหนึ่ง...พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงในพระสัทธรรม ได้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ละสังขารขันธ์พ้นโลกดับสูญไปแล้ว

จะเหลืออยู่ก็แต่ร่องรอยแห่งเมตตาบารมีธรรมอันสูงส่งของท่าน ซึ่งจะจารึกอยู่ในความทรงจำของบรรดาสานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปอย่างไม่มีวันลืมเลือน

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2019, 23:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819

• ธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว : “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=44239


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.ย. 2019, 23:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


:b20: :b8: :b20: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2020, 12:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


onion


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร