วันเวลาปัจจุบัน 08 พ.ย. 2024, 11:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2018, 17:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
พระวิปัสสนาจารย์แห่งสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต
ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง

คลิปวีดีโอมาจาก สํานักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต จ.ตรัง youtube channal
------------

พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร
ผู้เป็นที่รู้จักในวันนี้

ย้อนอดีตบนเส้นทางของการแสวงหาสัจธรรมในชีวิตสมณเพศของพระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร ในการแสวงหาธรรมอันยิ่งในพระพุทธศาสนากับการเข้าถึงธรรมในอภิธรรมซึ่งเป็นธรรมอันลึกซึ้ง เป็นบรมธรรม แต่สามารถเข้าถึงธรรมนี้ได้จากการปฏิบัติ ว่าโดยสภาวะของอภิธรรม เป็นธรรมอันยิ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นบรมธรรมอันสูงสุด สามารถเห็นแจ้งได้จากการปฏิบัติไม่ใช่จากการคิด

เมื่อปี พ.ศ.2536 ที่จังหวัดตรัง ท่านแม่ครูนราวรรณ กุลธรชุติภาส ผู้ก่อตั้งสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต และผู้เป็นศิษย์พระอาจารย์ใหญ่ (พระอาจารย์ ดร.ภัททันตะ อาสภมหาเถระ ธัมมาจริยะ อัคคมหากัมมัฏฐานาจริยะ) ได้บอกกล่าวแก่โยคีในสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิตไว้ว่า “ถ้ามีพระองค์เล็กๆ มาให้รับไว้”

พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร มีนามเดิมว่า ประเสริฐ ไชยสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2513 ที่ตำบลสูงเนิน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ โยมบิดามีนามว่า นายบุญ ไชยสุวรรณ โยมมารดามีนามว่า นางทัน ไชยสุวรรณ ท่านเป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน ในปี พ.ศ.2533 เมื่อท่านอายุครบ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทที่วัดบ้านด่าน โดยมีอดีตพระครูภัทรกิจวิธาน เป็นพระอุปัชฌาย์

ในปี พ.ศ.2536 ที่จังหวัดศรีสะเกษ ในพรรษาที่ 3 พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร แห่งวัดบ้านด่าน อำเภอขุนหาญ เริ่มคิดทบทวนชีวิตในสมณเพศ กับกิจวัตรในแต่ละวัน ว่าท่านบวชเพื่ออะไร หลังจากเสร็จกิจรับนิมนต์เพื่อสวดในแต่ละวัน สวดเสร็จญาติโยมถวายซอง แล้วท่านก็กลับวัด...“เราได้อะไร คนฟังได้อะไร มันไม่ใช่เป้าหมายของการบวช ถ้ายังเป็นอยู่อย่างนี้ คงอยู่ไม่ได้นาน”

เป็นจังหวะเดียวกับมีเพื่อนพระธุดงค์มาชวนออกธุดงค์ ใจท่านอยากไปมาก แต่ก็ไม่กล้าไปเนื่องจากเกรงใจท่านพระครูโสภณปุญญาภิวัฒน์ ผู้เป็นเจ้าอาวาส ว่าท่านจะไม่มีคนช่วยงาน ถ้าออกจากวัดไป เกรงว่าจะเป็นการเนรคุณ แต่อีกใจหนึ่งนั้นเล่าก็อยากไป ท่านคิดซ้ำแล้วคิดซ้ำอีก คืนนั้นทั้งคืน “ไปดีไม่ไปดี” ถาม-ตอบ ถาม-ตอบ อยู่อย่างนั้น ไม่ได้หลับไม่ได้นอน

จนรุ่งขึ้นตอนเช้า ท่านตัดสินใจเก็บสิ่งของสัมภาระที่จำเป็นสำหรับการธุดงค์ติดตัว ตอบคำถามในใจตัวเองว่า เราออกธุดงค์ครั้งนี้ไม่ได้ไปเพื่อการท่องเที่ยว แต่หากอยู่ต่อไปก็คงจะไม่ได้อะไรจากสิ่งที่ต้องการแสวงหาในเพศบรรพชิต จากนั้นท่านก็เข้าไปขออนุญาตท่านพระครูโสภณปุญญาภิวัฒน์ ว่าจะขอไปเที่ยว แต่ไม่ได้เรียนท่านว่าจะไปกี่วัน หลังจากออกธุดงค์นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ท่านก็ไม่เคยกลับไปจำพรรษาที่วัดบ้านด่านอีกเลย

สาเหตุที่ท่านอยากออกธุดงค์มาก เพราะท่านอยากทราบว่าพระธุดงค์เป็นอย่างไร ทำไมคนจึงศรัทธาพระธุดงค์ และสิ่งที่สำคัญที่ท่านอยากทราบจริงๆ คือ เดินธุดงค์เพื่อแสวงหาอะไร ช่วงเริ่มออกธุดงค์ ท่านฉันมังสวิรัติ หากบางครั้งเลือกไม่ได้ท่านก็ใช้วิธีเจเขี่ย แค่มีข้าวฉันท่านก็อยู่ได้ เดินธุดงค์ได้ ตอนนั้นในใจท่านคิดแต่เพียงว่า ท่านเป็นลูกพระพุทธเจ้า ตายที่ไหนก็ได้! ท่านเป็นพระออกธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ไม่ห่วงทางบ้าน และไม่คิดว่าญาติพี่น้องจะเป็นห่วง ท่านรู้แต่เพียงว่าท่านเจริญรอยตามพระพุทธเจ้า

ตอนนั้นท่านไม่กลัวอะไร ไม่กลัวตาย มุ่งอย่างเดียว มีความเด็ดเดี่ยวที่ไหนที่ชาวบ้านบอกว่าอันตราย ท่านก็เข้าไปธุดงค์ทางนั้น เหมือนเป็นความท้าทาย มีความสุข แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่กับความหวาดระแวงภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อานิสงค์ที่ประจักษ์ชัดของการออกธุดงค์ก็คือ การได้ตบะบารมี ป่าแต่ละแห่งนั้นมีอาถรรพ์แตกต่างกันไป การธุดงค์ในป่าทำให้ผู้เดินธุดงค์มีความสำรวมกายวาจาในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มองไม่เห็น ผู้เดินธุดงค์ต้องมีความเคารพในธรรมชาติของป่า รวมทั้งให้เกียรติและไม่ล่วงเกินรุกขเทวดา ซึ่งจะส่งผลให้การเดินธุดงค์เป็นไปด้วยความราบรื่น ไม่หลงป่า และรอดพ้นจากความอาถรรพ์ของป่า

ตลอดสองปีของการเดินธุดงค์ในป่าดงดิบทั่วทิศเหนือ อีสาน ตะวันออก และประเทศเพื่อนบ้าน เป็นชีวิตที่เรียบง่ายและอิสระ ช่วงธุดงค์ในป่านั้น บางครั้งท่านก็เก็บเศษผ้ามาย้อมใหม่ ห่มเป็นจีวร ไม่มีปัจจัยติดตัว เมื่อมีคนนำปัจจัยมาถวาย ท่านก็นำไปทำบุญต่อ มีอาหารวันละมื้อก็อยู่ได้ แม้จะทำทุกสิ่งที่เป็นกิจอันควรของพระธุดงค์ในการออกธุดงค์ ท่านก็ยังรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่คำตอบในสิ่งที่ท่านแสวงหา

เมื่อออกจากธุดงค์ในป่าทางจันทบุรีแล้ว มีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้นเป็นเรื่องแปลกที่แปลกมาก คือท่านมีอาการเหมือนกับคนหลงทิศ ไม่ใช่หลงทางทิศตะวันออกตะวันตกสลับกันหมดเลย แล้วก็จำไม่ได้ว่าทิศไหนเป็นทิศเหนือทิศใต้ เห็นดวงอาทิตย์อยู่ฝั่งนี้แต่ก็ไม่เชื่อว่าฝั่งนี้คือทิศตะวันออก แม้จะเป็นป่าที่เคยอยู่และมีความคุ้นเคย ในขณะเดียวกันท่านก็เริ่มมีความคิดอยากจะลงใต้ ทั้งๆ ที่ทางใต้เป็นอย่างไรไม่เคยรู้จัก แต่รู้สึกอยากไป ท่านคิดอยู่เสมอว่าอยากไป อยากไป...เหมือนกับเป็นการอธิษฐานจิต คิดแล้วคิดอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนมีความมุ่งมั่นชัดเจน ถึงไม่รู้ว่าจะไปอย่างไรก็จะไป รู้สึกแรกเลยว่าใช่ สิ่งที่แสวงหามานาน

ปี พ.ศ.2538 ณ ถ้ำพุทธโคดม จังหวัดพัทลุง เป็นการลงใต้ครั้งแรกของท่าน ช่วงก่อนเข้าพรรษามีโยมจากจังหวัดตรังมาที่ถ้ำพุทธโคดม หลังจากที่ได้สนทนากัน โยมอยากนิมนต์ให้ท่านไปตรัง บอกว่ามีแม่ชีท่านหนึ่งเก่งมากทางด้านวิปัสสนา นั่นเป็นโอกาสครั้งแรกที่ท่านได้ไปสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต พร้อมกับพระจากถ้ำพุทธโคดม

เมื่อท่านมาถึงสำนัก แม่ชีนภัทรไปเชิญท่านแม่ครูลงมาที่ศาลาธรรมรัตนะ ท่านแม่ครูนิมนต์ให้บรรดาพระที่มานั่งบนเก้าอี้ ส่วนท่านนั่งบนตั่ง แล้วท่านแม่ครูก็มองมาที่พระอาจารย์ มองแล้วมองอีก ท่านมหาซึ่งเป็นพระที่มาด้วยกันก็สนทนาธรรมกับท่านแม่ครู ท่านแม่ครูให้ลองกระดิกนิ้ว พร้อมกับถามว่า “ความรู้สึกอยู่ที่ไหน” พระอาจารย์นั่งฟังอย่างสงบ แต่ก็รู้สึกแปลกใจ แค่สังเกตอาการกระดิกนิ้ว...“จิตที่ทำหน้าที่รู้ว่ากระดิกกับอาการกระดิก เป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน” ฟังแล้วท่านรู้สึกว่าเป็นภาษาที่คุ้นมาก

รูปภาพ
ประตูทางเข้าสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต

รูปภาพ

ศาลานราพรหมสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต

เมื่อพระอาจารย์เห็นท่านแม่ครูครั้งแรก ก็รู้สึกเลยว่าใช่! แต่ไม่รู้ว่าใช่อะไร เวลาที่ท่านแม่ครูพูด ท่านรู้สึกว่าใช่แล้วสิ่งที่ท่านแสวงหามานาน แม้ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่รู้สึกว่าใช่ หลังเสร็จการสนทนาธรรม ท่านแม่ครูก็ถามพระอาจารย์ว่า “ถ้าดิฉันจะถวายจีวร จะรับไหม” เพราะจีวรของพระอาจารย์นั้น สบงสีหนึ่ง จีวรสีหนึ่ง สังฆาฏิก็อีกสีหนึ่ง คนละสีเลย ไม่เข้าชุดกัน เพราะท่านเก็บแต่ของเก่าที่เขาทิ้ง ไปรื้อมาซักทำความสะอาดแล้วเอามาใช้

หลังจากกลับมาที่ถ้ำพุทธโคดมทุกๆ วันหลังบิณฑบาตและฉันอาหารเสร็จ ท่านก็จะนั่งที่ชะง่อนหิน หันหน้ามองไปทางตรัง รอว่าเมื่อไหร่จะออกพรรษา หลังออกพรรษาแล้ว ท่านก็มุ่งไปที่สำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิตอีกครั้ง ตั้งใจจะขอปฏิบัติธรรมกับท่านแม่ครู แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะอยู่ที่สำนักฯ นาน แต่กว่าท่านจะได้พบท่านแม่ครูก็ต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ทั้งที่กุฏิก็ห่างกันไม่ถึงร้อยเมตร แต่ก็ไม่เคยได้พบท่านแม่ครู

จนวันหนึ่งขณะที่พระอาจารย์กำลังทาสีปรับปรุงโรงทาน ท่านแม่ครูก็มาที่โรงทานแล้วถามว่า “พระคุณเจ้า จะเป็นการเสียศักดิ์ศรีไหมถ้าดิฉันจะถวายความรู้” ในใจพระอาจารย์ขณะนั้นรู้สึกดีใจมาก จึงตอบไปว่า “อาตมาไม่มีศักดิ์ศรี” ท่านแม่ครูจึงได้นิมนต์พระอาจารย์มาที่ศาลาธรรมรัตนะเพื่อถวายความรู้เป็นครั้งแรก

รูปภาพ
ศาลาธรรมรัตนะ สำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิตเพื่อใช้เวลาสอบอารมย์

ท่ามกลางหมู่โยคีภายในศาลาธรรมรัตนะ ท่านแม่ครูนิมนต์พระอาจารย์หันหลังให้กระดาน แล้วท่านก็เขียนคำตอบเฉลยล่วงหน้าไว้บนกระดาน หลังจากนั้นจึงเริ่มให้พระอาจารย์ปฏิบัติตามที่ท่านบอก แล้วตอบคำถามท่านทีละข้อเมื่อจบคำถามแล้ว พระอาจารย์จึงได้หันมาดูคำตอบบนกระดาน ปรากฏว่าตอบได้ถูกทุกข้อ เป็นที่ฉงนแก่บรรดาโยคีทั้งหลายในที่นั้น

จากนั้นท่านแม่ครูจึงเริ่มสอนและสอบอารมณ์พระอาจารย์ หากแต่ว่าสอนได้ไม่นานท่านก็มีกิจธุระที่จังหวัดพะเยา ระหว่างอยู่ที่สำนักฯ ทุกๆ วันขณะปฏิบัติธรรม พระอาจารย์ก็จะมองไปที่กุฏิท่านแม่ครู รอว่าเมื่อไหร่ท่านจะกลับ ใจระลึกถึงท่าน...แม้ขณะสรงน้ำ ซึ่งสมัยนั้นยังต้องใช้วิธีโยกปั๊มน้ำบาดาล พระอาจารย์ก็ยืนหันหน้าไปทางกุฏิท่านแม่ครู (ทั้งที่หากพบท่านก็คงไม่กล้าคุยกับท่าน)

ช่วงที่ท่านแม่ครูไปเหนือ พระอาจารย์รู้สึกว่าปฏิบัติได้ก้าวหน้า สภาวะดีมาก เมื่อท่านแม่ครูกลับมาจากพะเยา พระอาจารย์รู้สึกดีใจที่จะได้ส่งอารมณ์หลังจากท่านแม่ครูนิมนต์ให้พระอาจารย์นั่ง ยังไม่ทันที่พระอาจารย์จะได้เล่าสภาวะ ท่านแม่ครูก็บอกให้ปฏิบัติต่อ ให้ทำอย่างนี้ๆ นะ...พระอาจารย์ก็อยากจะเล่าสภาวะที่ปฏิบัติในช่วงที่ท่านแม่ครูไม่อยู่ ท่านแม่ครูจึงบอกว่า “ให้ของใหม่แล้วยังจะเอาของเก่าอีก!” พระอาจารย์ทิ้งเรื่องสภาวะที่เตรียมจะเล่าโดยทันที แม้จะยังคาใจในสภาวะที่ไม่ได้เล่าก็ตาม แล้วก็เริ่มปฏิบัติใหม่ตามที่ท่านแม่ครูสอน

ในสมัยท่านแม่ครูนั้น การส่งสภาวะจะไม่ใช้เวลามาก การเล่าจึงต้องกระชับและตรงประเด็น ท่านแม่ครูเป็นผู้ที่มีความสามารถในการใช้สำนวนภาษาสภาวะได้ดี มีความสละสลวย เข้าใจได้ ตรงกับสภาวะ เช่น คำว่า “ตัวมุ่ง” “ความมั่นคง” ฯลฯ คำพูดของท่านไพเราะ ภาษาที่ใช้ฟังแล้วรู้สึกดี พระอาจารย์จึงซึมซับมาจากท่านแม่ครูผู้เป็นต้นแบบ ภาษาสภาวะที่ท่านแม่ครูใช้พูดจะเน้นเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ท่านแม่ครูบอกเพียงแค่ว่าให้ทำอะไร ทำอย่างไรพระอาจารย์ก็ทำอย่างนั้น

ภาษาสภาวะของท่านแม่ครูตรงไปตรงมา สามารถปฏิบัติตามได้ทันที พระอาจารย์คอยสังเกตและกลายเป็นผู้ที่จับประเด็นเป็นรู้ว่าจุดสำคัญอยู่ตรงไหน พอท่านแม่ครูถามเสร็จปุ๊บ พระอาจารย์จะเล่าทันที ทำได้ ทำไม่ได้ ทำไม่ทัน ก็ไม่มีอาการคร่ำครวญแต่อย่างใด ท่านแม่ครูบอกเพียงว่า ใช่ ถูกแล้ว พระอาจารย์ก็จดจำว่าประเด็นสำคัญคืออะไร อยู่ตรงไหน แต่ในขณะนั้นท่านยังไม่มีความเข้าใจเรื่องของสภาวะ รู้เพียงแค่ปฏิบัติอย่างไรถึงจะก้าวหน้า ท่านทำหน้าที่ของผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด รู้เพียงอย่างเดียวว่าทำแล้วส่งผลให้สภาพจิตดีขึ้นอย่างไร ไม่คิดหาความหมายของสภาวธรรม

ท่านแม่ครูอ่อนน้อมถ่อมตนและให้เกียรติพระสงฆ์มาก แม้กับพระที่เพิ่งบวชใหม่ในสำนักฯ ก็ตาม โยคีที่สำนักฯ ทุกคนเคารพบูชาและยกย่องท่านแม่ครูว่าเป็นบุคคลที่เก่งที่สุดในความรู้สึกของพวกเขา ดังนั้นท่านจึงเป็นแบบอย่างที่งดงามที่สุดของพวกเขาด้วยเช่นกัน พระอาจารย์เคยถามท่านแม่ครูว่าทำไมเวลาสอน โยคีไม่ฟัง หรือฟังไม่ค่อยเข้าใจ หรือไม่ค่อยใส่ใจ ท่านแม่ครูก็ว่า ถ้าโยคีเขาเก่ง ก็เป็นครูบาอาจารย์แล้ว เรามีหน้าที่สอนก็สอนไป คำพูดเพียงสั้นๆ ก็ทำให้ท่านได้คิด ท่านมีความรู้สึกว่าหากตนเองมีปัญญาอย่างท่านแม่ครูสักครึ่งหนึ่งก็คงดีไม่น้อย จึงเรียนท่านแม่ครูไปว่าหากได้ปัญญาของท่านสักนิดก็ยังดี ท่านแม่ครูก็ให้พรอยู่เรื่อยๆ

หลังจากนั้นท่านแม่ครูได้จัดหาหนังสืออภิธรรมตรี อภิธรรมโท และอภิธรรมเอกให้พระอาจารย์อ่าน ท่านจึงมีโอกาสได้ศึกษาบัญญัติ โดยเรียนจากละเอียดมาหยาบ จากปลีกย่อยไปหาหัวข้อ ท่านแม่ครูสอนโยงเข้ากับสภาวธรรมอาศัยการปฏิบัติเข้าถึงสภาวธรรมจึงเข้าใจง่ายขึ้น วิถีจิตเป็นอย่างไร จิตดับเป็นอย่างไร ดับแล้วจิดดวงใหม่เกิดอย่างไร...ทำให้เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้

จิตดวงหนึ่งรับรู้ครั้งละหนึ่งอารมณ์ รับรู้แล้วดับไป จิดดวงใหม่เกิดใหม่แล้วรับรู้ใหม่...ธรรมในอภิธรรมเป็นธรรมอันลึกซึ้ง เป็นบรมธรรม แต่เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้จากการปฏิบัติ (ภาวนามยปัญญา) ไม่ใช่จากการคิด (จินตมยปัญญา) ว่าโดยสภาวะเป็นเรื่องของอภิธรรม คือธรรมอันยิ่ง เป็นปรมัตถธรรมและเป็นบรมธรรมอันสูงสุด ที่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่เข้าใจ ถึงแม้ไม่รู้ชื่อเรียกไม่ถูก แต่สภาวะเป็นตัวบ่งบอก

จวบจนวันหนึ่ง ท่านแม่ครูถามพระอาจารย์ว่า “ปฏิบัติแล้วคิดจะสอนคนบ้างไหม” แม้ในใจพระอาจารย์ไม่คิดอยากสอนใคร ไม่คิดอยากเป็นวิปัสสนาจารย์ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า หากสามารถบอกหรือแนะนำผู้อื่นได้บ้าง ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจและกำลังแสวงหา ท่านแม่ครูถามต่อว่า “อยากเรียนวิชาครูไหม” พระอาจารย์เห็นเป็นโอกาสอันดีจึงจัดหาดอกไม้ธูปเทียนเพื่อขอเรียนวิชาครู

พระอาจารย์เริ่มจากการจดจำสภาวะของโยคีแต่ละคน แล้วนำไปเล่าให้ท่านแม่ครูฟังว่าคนไหนสภาวะเป็นอย่างไร หากเล่าไม่ละเอียดหรือเล่าข้ามไปท่านแม่ครูก็จะบอกให้เน้นจุดที่สำคัญ ท่านแม่ครูมักถามว่า “โยคีคนนี้อยู่ญาณไหน” แต่ท่านจะไม่เฉลย ให้พระอาจารย์กลับไปฟังโยคีใหม่ แล้วพิจารณาทบทวนสภาวญาณของโยคีเพื่อมาเล่าให้ท่านฟังในวันถัดมา

นอกจากพระอาจารย์จะต้องจดจำสภาวะของโยคีแต่ละคนที่สอบอารมณ์มาแล้ว ยังต้องบอกให้ได้ว่าสภาวะใดเป็นบัญญัติ สภาวะใดเป็นปรมัตถ์ท่านแม่ครูให้ความสำคัญกับการเป็นวิปัสสนาจารย์เป็นอย่างมาก คือจะต้องเป็นผู้รู้จริง ชัดเจน ไม่คลุมเครือ จึงจะสอนผู้อื่นได้ถูกต้อง ท่านแม่ครูจึงเน้นให้พระอาจารย์พิจารณาแยกระหว่างบัญญัติกับปรมัตถ์ให้ชัด

จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านแม่ครูนิมนต์ให้พระอาจารย์ขึ้นไปนั่งบนเก้าอี้ประจำที่ท่านแม่ครูใช้สอบอารมณ์โยคี ด้วยเก้าอี้นั้นเป็นเก้าอี้สอนธรรมะของครูบาอาจารย์ พระอาจารย์จึงรู้สึกอึดอัดและลำบากใจมาก แต่ในเมื่อปฏิเสธความตั้งใจของท่านแม่ครูไม่ได้ จึงต้องขึ้นไปนั่งตามที่ท่านแม่ครูนิมนต์ ท่านแม่ครูถามท่านว่า “นั่งแล้วรู้สึกอบอุ่นไหม เก้าอี้นี้เป็นของท่านแล้ว ยกให้ท่านแล้วต่อไปท่านทำหน้าที่นี้แล้วนะ” พระอาจารย์จึงเป็นวิปัสสนาจารย์เต็มตัวนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

จวบจนวันนี้ คำว่า “พระอาจารย์” เป็นคำที่เหล่าโยคีทุกคนของสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต กล่าวเรียกท่านด้วยความเคารพบูชาอย่างสูงสุด และท่านยังเป็น “พระอาจารย์” ผู้เป็นที่รู้จักในวงกว้างของบุคคลทั่วไปในนาม “พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร พระวิปัสสนาจารย์แห่งสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต จังหวัดตรัง” ในวันนี้

สมดั่งคำปณิธาน
“ตั้งจิตดำรงอยู่คู่โลกา ทรงคุณค่าเมื่อทดแทนพระคุณเอย”

คณะศิษยานุศิษย์
10 มิถุนายน 2559

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหาประวัติมาจาก ::
หนังสือบทสวดมนต์พิธี งานสมโภชศาลานราวรรณรำลึก
และครบรอบ 30 ปี แห่งการก่อตั้งสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต

------------

การสอนจะอาศัยสติปัฏฐาน ๔ เป็นหลัก ด้วยการเดินจงกรมสลับกับการนั่งสมาธิ ควบคู่ไปกับการกำหนดอิริยาบถย่อย พร้อมกับรับฟังธรรมบรรยายเกี่ยวกับการเจริญสติและหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ผู้เข้าอบรมจะได้ฝึกการเจริญสติปัฏฐานเบื้องต้น และได้รับสารธรรมอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

ปัจจุบัน พระอาจารย์ได้เมตตาบรรยายธรรมะนอกสถานที่ ดังนี้
- ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- เรือนพฤกษา นนทบุรี
- วัดบางไผ่ พระอารามหลวง นนทบุรี
- วัดยานนาวา พระอารามหลวง กทม.
- มูลนิธิ มายาโคตมี กทม.
- ศาลาธรรม ปทุมธานี
- บริษัทโก่วย่งฮั้ว หาดใหญ่


แก้ไขล่าสุดโดย อภิสิทธิ์ ภู่ภักดี เมื่อ 08 ม.ค. 2019, 11:54, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2018, 10:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ก.พ. 2015, 15:40
โพสต์: 65

แนวปฏิบัติ: ไม่เจาะจงรูปแบบ
งานอดิเรก: ปั่นจักรยาน
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว




ภาพคำสอน_๑๘๐๘๒๓_0008_resize.jpg
ภาพคำสอน_๑๘๐๘๒๓_0008_resize.jpg [ 111.61 KiB | เปิดดู 7502 ครั้ง ]
ทำบุญ ได้บุญ ทำปัญญา ได้ปัญญา ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ก็จะหลุดพ้น
โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานงฺกโร พระวิปัสสนาจารย์แห่งสำนักวิปัสสนาพัฒนาทางจิต จังหวัดตรังMaking merits, receive merits;
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร