วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 19:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 เม.ย. 2016, 10:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ดูบทความนี้ แล้วเทียบความเห็นชาวพุทธบ้านเราพูดถึงอนิจจัง, อนิจจา ...โลกเปลี่ยนแปลง..เสมอ :b32:



รู้อะไรก็ต้องเข้าใจทั่วตลอดคมชัด จึงจะมีความเข้มแข็งทางปัญญา ที่นำพาสังคมให้ก้าวไปได้มั่นคง


อีกอาจารย์หนึ่ง ตอนนี้ท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่ต้องออกชื่อละ ท่านทำงานวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง นานเป็นสิบปีแล้ว ท่านบอกว่า คนไทยอีสานนี้มีชีวิตแบบอยู่ไปวันหนึ่งๆ เพราะถือหลักอนิจจังของพุทธศาสนา

คือหลักอนิจจังนั้นสอนว่า อะไรต่ออะไรมันก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงไป มันเจริญ เดี๋ยวมันก็เสื่อม มันเสื่อม เดี๋ยวมันก็เจริญ เราจะทำอย่างไรได้ ทำไปมันก็เปลี่ยน เราก็อยู่เรื่อยๆ ต้องปล่อยมันไป

นี่ถ้าคนไหนไม่รู้หลักอนิจจังชัดเจนพอ ก็ชักจะเห็นคล้อยไปตาม ว่า เออ มันคงจะจริงอย่างนั้นนะ ก็คนไทยนี่ถือหลักอนิจจัง แล้วก็ชอบปลงว่าอะไรมันเจริญ มันก็ต้องเสื่อม มันก็เป็นอย่างนี้แหละ แล้วก็เลยไม่ขวนขวาย ไม่เอาการเอางาน ทำอะไรก็ไม่จริงไม่จัง

สำหรับอาจารย์ท่านนี้ ก็ทำนองเดียวกับ Prot. Sutton นั่นแหละ คือจับเอาความเข้าใจของชาวบ้านมาเป็นหลักพุทธศาสนา แทนที่จะแยกออกไปว่าชาวบ้านนับถืออย่างนี้ แต่นั่นไม่ตรงไม่เต็มตามหลักนะ ถ้าจับจุดนี้ได้ ก็ย้อนกลับ เอาหลักที่แท้กลับไปบอกชาวบ้าน ว่าพวกคุณนับถือคลาดเคลื่อนไปแล้ว ให้รีบศึกษาหลักที่ถูกต้อง ปรับแก้ความรู้เข้าใจ และการปฏิบัติเสียใหม่ ถ้าทำอย่างนี้ ก็จะใช้วิชาการมาช่วยสังคมไทยได้มาก

อนิจจังนี่ ถ้ารู้เข้าใจใช้ผิด ก็ยุ่งเหมือนกัน ฉะนั้น จะต้องสอนกันให้เต็มที่ พระพุทธศาสนานี้อยู่ได้ด้วยการศึกษา ถ้าไม่ศึกษาก็หมดเลย จะตามกันไปผิดๆ ถือผิ ปฏิบัติผิด แล้วก็อาจจะทำให้สังคมเสื่อมโทรม และชีวิตก็เสียหาย

พูดง่ายๆ หลักอนิจจังสอนว่า สิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอน เสื่อมแล้วเจริญได้ เจริญแล้วเสื่อมได้ ทีนี้ จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า แต่ที่มันเปลี่ยนแปลงเจริญหรือเสื่อมไปนั้น มันไม่ได้เป็นไปอย่างเรื่อยเปื่อยเลื่อนลอยนะ

มันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น จึงมิใช่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ แต่เรานี้แหละทำใด้มากที่สุด

เมื่อมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ก็คือมันบอกเราว่า ให้ใช้ปัญญาพิจารณาสืบค้นดู เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เสื่อม เหตุปัจจัยอะไรจะทำให้เจริญ แล้วถ้าเราไม่อยากเสื่อม และอยากเจริญ เราไปศึกษา เหตุปัจจัยเหล่านั้นแล้ว ก็ทำ เหตุปัจจัยที่ทำให้เจริญ และป้องกันแก้ไขเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เราก็จะได้ความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญ

ที่สำคัญยิ่งก็คือ เมื่อสิ่งทั้งหลายเปลี่ยนแปลงไป ไม่แน่นอน ท่านจึงให้ไม่นิ่งนอนใจ ให้อยู่อย่างไม่ประมาท เร่งประกอบ เหตุปัจจัยแห่งความเจริญ และป้องกันกำจัด เหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม

พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสธรรมะที่เป็นหลักประกันว่า ถ้าเธอทำอย่างนี้ๆ จะมีแต่เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย ทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าปฏิบัติหลักธรรมนี้แล้ว เจริญอย่างเดียว ไม่มีเสื่อมเลย เอ๊ะ ไม่ขัดกันหรือกับที่ตรัสว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง เดี๋ยวจะหาว่าพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะขัดกัน เอาอีกแล้ว ดูมันยุ่งไปหมด นี่ก็เพราะไม่ศึกษา ที่จริงนั้นมันหนุนกัน

อนิจจังนี่แหละหนุนความไม่เสื่อม (เท่าที่เราจะทำเหตุปัจจัยได้) ถ้าไม่เข้าใจหลักกันทะลุจริง ก็ยุ่งแน่ ฉะนั้น ต้องพูดกันตรงๆ ว่า ชาวพุทธนี้ขาดการศึกษาอย่างหนัก พระพุทธศาสนานี่อยู่ได้ด้วยการศึกษาเท่านั้น ถ้าไม่มีปัญญารู้เข้าใจ ก็ปฏิบัติไม่ถูก เริ่มตั้งแต่เข้าใจผิด แล้วก็เชื่อผิด แล้วก็ปฏิบัติผิด พุทธศาสนาก็หมด มีแต่ชื่อ

ตำราเรียนสังคมวิทยา ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไม่ต้องออกชื่อ เขียนบอกว่า บทบาทของพระก็เหมือนหมอผี อ้าว....เป็นอย่างไรล่ะ หมอผีก็ดี ศาสนาก็ดี มีไว้สำหรับเป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลามีทุกข์มีภัย ก็ได้ปลอบประโลมใจ (อย่างหมอผีนี่ เวลามีทุกข์ ก็ว่าผีมันมาเข้า ฉันจะไล่ผีออก ก็สบายใจไปใช่ไหม) พระก็มีบทบาทช่วยปลอบประโลมใจให้คนสบายใจ เหมือนหมอผีนั่นแหละ อย่างนี้เป็นต้น

(ที่ว่าบทบาทเหมือนหมอผี ก็คือศาสนาโบราณ แต่พุทธศาสนาไม่ใช่มีสาระอยู่ที่ปลอบประโลมใจ แต่อยู่ที่การศึกษาพัฒนามนุษย์ให้เป็นอิสระเหนือการที่จะต้องปลอบ)

นี่คือตัวอย่างมากมายของความขาดการศึกษา แล้วรู้เข้าใจธรรมกันไม่เพียงพอ ไม่ถูกต้อง สับสน อย่างพรหมวิหารที่ว่ากันวุ่นวายไป และเมื่อเข้าใจผิดพลาด ก็ทำให้เกิดผลร้ายด้วย ฉะนั้น เขามาว่ามาด่านี่ ดีแล้ว ต้องเอาประโยชน์ให้ได้ อย่างที่ว่าแล้ว กว่าเขาจะมาด่าเราได้ เขาใช้เวลาและพลังงานสมองไปเยอะแยะ ทุ่นเวลาทุ่นแรงงานของเราไปมากมาย ถ้าไม่มีใครมาว่า บางทีเราก็ดูตัวเราเองไม่ออก เขาจะว่าถูกว่าผิด อันไหนใช้ประโยชน์ได้ เราก็เอามาใช้ซะ ก็กลายเป็นดีไปหมด

เพราะฉะนั้น ถ้านับถือพระพุทธศาสนาถูกต้องแล้ว หนึ่ง ต้องได้ความจริง สอง ต้องได้ประโยชน์ พอประสบพบเจออะไรอะไร ก็ได้เรียนรู้ แล้วก็ได้สองอย่างที่ว่าแล้วนั้น คือ หนึ่ง ได้ความจริง สอง ถ้าไม่จำเป็นต้องหาความจริง ก็ได้ประโยชน์ มองให้เป็นประโยชน์ให้ได้ ก็เลยไม่เกิดผลเสียอะไรทั้งนั้น ไม่ว่าอะไรร้ายแค่ไหน ต้องเอาประโยชน์ให้ได้ทุกอย่าง อันนี้ เป็นการฝึกตัวเอง

แม้แต่ไปเจอสถานการณ์ร้ายอะไร ก็ต้องฝึกตัวไว้ว่า เราจะมองอย่างไร ให้ได้ประโยชน์ให้ได้ ให้มันได้สักแง่หนึ่ง และนี่ก็เป็นการฝึกปัญญา ด้วยหลักโยนิโสมนสิการ ซึ่งใช้กับงานทุกอย่างได้หมด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2016, 09:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2016, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้างใน ใจก็กว้างใหญ่อย่างพรหม ข้างนอก ก็สมานทั้งสังคมไว้ในเอกภาพ

แทรกเสียยืดยาว หันกลับมาที่หลักพรหมวิหาร เมื่อกี้ได้บอกแล้วว่า พรหมวิหารเป็นหลักธรรมชุดประจำใจ ถ้าจะให้สมบูรณ์และได้ผลจริง ต้องออกสู่ปฏิบัติการ ก็จึงต้องพูดกันหน่อยในเรื่องชุดปฏิบัติการนั้น

หลักพรหมวิหารนั้นบอกแล้ว่า เป็นจริยะด้านภายในจิตใจ คราวนี้ ก็มีหลักชุดปฏิบัติการที่จะประกอบและกำกับเจตนาในการแสดงออกข้างนอก เป็นจริยะทางสังคม เหมือนมาประสานรับช่วงการทำงานต่ออกไปจากจริยะฝ่ายภายในนั้น

(ระวังว่า จริยะที่นี้ มิได้หมายถึง จริยธรรม แบบฝรั่งที่เราพูดกันเวลานี้ ซึ่งเป็นเรื่องความประพฤติภายนอก และเป็นการปฏิบัติตามกฎกติกาที่เป็นบัญญัติเป็นข้อๆไม่อยู่ในระบบความสัมพันธ์)

ชุดปฏิบัติการก็มี ๔ ข้อรับกัน เป็นชุดออกสู่สังคม ไม่ใช่ไปนอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้งอย่างเดียว แต่เป็นเมตตาที่ออกสู่ปฏิบัติการ จะออกมาอย่างไร นี่แหละ ที่จริงเราก็ได้ยินอยู่ แต่เราโยงไม่เป็น ก็จึงมองไม่เห็น

ดูกันแบบตื้นๆ พระพุทธศาสนานี้ สอนหลักธรรมอะไรเป็นพื้นเบื้องต้น ชาวพุทธนั้น พอเริ่มทำบุญ ก็ทำทานก่อนเลยใช่ไหม ตักบาตรพระแต่เช้า ไปวัดก็ไปถวายภัตตาหาร แล้วก็เอาไทยธรรมไปถวาย และที่เดี๋ยวนี้นิยมกันนัก ก็คือ ถวายสังฆทาน ถวายกันจริงจังมาก

นี่ก็แสดงว่า ชาวพุทธทำดี ไม่ใช่แค่นอนแผ่เมตตาแล้วนะ มีการปฏิบัติออกมาด้วย คือ ทาน การให้ จะเป็นปัญหาก็ในแง่อื่น เช่นว่าเฉไปทางทำทานด้วยหวังผลตอบแทนแก่ตน หรือทำทานเชิงไสยศาสตร์มากขึ้นๆ แทนที่จะทำทานเกื้อหนุนกันในสังคม (ตรงนี้ฝรั่งนั้นก็ไม่เห็นเสียอีก)

พุทธศาสนาสอนธรรมข้อเริ่มแรกในภาคปฏิบัติ ก็คือทาน ที่จริงสอนแทบจะก่อนเมตตาด้วยซ้ำไป คือเอาที่ด้านปฏิบัติการก่อน สอนทานให้ให้แก่กัน ตั้งแต่ให้กันในครอบครัว ซึ่งที่จริงก็เป็นการประสานกันระหว่างด้านพฤติกรรม กับ ด้านจิตใจ ให้ทานมาเป็นช่องทางของเมตตา กรุณา พร้อมทั้งเป็นเครื่องเพิ่มแรงช่วยพัฒนาเมตตา กรุณา ในจิตใจนั้น แล้วก็ไม่ใช่ให้วัตถุเท่านั้น แต่มีธรรมทาน คือการให้ความรู้คำแนะนำสั่งสอนด้วย

ทีนี้ ทานที่เป็นธรรมข้อแรกของภาคปฏิบัติการนี้ ก็อยู่ในชุดที่มาประสานเชื่อมต่อ กับ พรหมวิหารนี่แหละ คือมันเป็นฝ่ายปฏิบัติสนองรับช่วงงานให้แก่ชุดพรหมวิหาร ในการช่วยผดุงรักษาสังคมไว้ ให้เกิดความสามัคคี และความมั่นคง คือมาเป็นช่องทางที่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาจะออกมาสู่ปฏิบัติการในสังคม


ทีนี้ ก็มาดูว่ามันจะประสานกันออกสู่ปฏิบัติการได้อย่างไร ก็

๑. ทาน การให้ นั่นแหละ เป็นข้อเริ่มต้น


หนึ่ง ทานด้วยเมตตา คือ ตามปกตินี่เอง เรามีเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่น เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนมีทุกข์อะไร ลูกก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร หรือเพื่อนก็ไม่ได้เป็นทุกข์อะไร แต่บางครั้ง เราก็ให้ด้วยความรัก ด้วยปรารถนาดี ด้วยไมตรีจิต ให้ของเล็กๆน้อยๆ แสดงน้ำใจ อย่างนี้ก็เรียกว่า ให้ทานด้วยเมตตา นี่คือเมตตามาออกที่ทานแล้ว

สอง ทานด้วยกรุณา คือ ยามที่คนประสบภัยอันตราย เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม อัคคีภัย หรือเกิดอุบัติภัยอะไรขึ้นมาก็แล้วแต่ แล้วคนเดือดร้อน ตอนนี้ ทานที่ให้การช่วยเหลือทั้งหลาย จะเป็นเงินทอง ของใช้อะไรต่างๆ ก็เป็นการให้ด้วยกรุณา แสดงว่ากรุณามาออกที่ทานด้วย

สาม ทานด้วยมุทิตา คือ บางทีบางคนได้ทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ประสบความสำเร็จในการกระทำนั้น เราก็ดีใจด้วย แล้วก็ส่งเสริมสนับสนุนด้วยทาน ถ้าเขาขาดเงิน เราก็เอาเงินไปช่วย ส่งเสริมอุดหนุนให้เขามีกำลังทำการสร้างสรรค์ที่ดีนั้นต่อไปได้ หรือยิ่งขึ้นไป นี่ก็ ให้ทานด้วยมุทิตา


นี่ก็รับกันแล้ว พรหมวิหารในใจ ออกสู่ปฏิบัติการข้อที่หนึ่ง เรียกว่าทาน

๒. ปิยวาจา วาจาเป็นที่รัก ในข้อหนึ่งที่ผ่านมาแล้ว เมตตา กรุณา มุทิตา แสดงออกที่พฤติกรรมในการให้ ในข้อที่สองนี้ เมตตา กรุณา มุทิตา นั่นแหละ ก็มาแสดงออกที่พฤติกรรมในการพูดจา เรียกว่า ปิยวาจา คือ พูดดี พูดน่ารัก พูดคำสุภาพอ่อนโยน พูดด้วยน้ำใจรัก หรือพูดจามีน้ำใจ นั่นเอง แยกเป็น

หนึ่ง ปิยวาจาด้วยเมตตา คือ ในยามปกติ ก็พูดจาอย่างเป็นมิตร มีน้ำใจไมตรี พูดคำสุภาพไพเราะ มีวาจาน่ารัก ตั้งแต่พูดกับลูก กับ พ่อแม่ พี่น้องในครอบครัว เป็นต้นไป แล้วก็เพื่อน ญาติมิตร และทุกคนในสังคม

สอง ปิยวาจาด้วยกรุณา คือ ยามเขาทุกข์มีความเดือดร้อน ก็พูดจาปลอบโยน ให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ช่วยให้คำปรึกษาในการแก้ปัญหา ก็เป็นวาจามีน้ำใจด้วยกรุณา

สาม ปิยวาจาด้วยมุทิตา คือ ยามเขาทำดีงามประสบความสำเร็จ ก็มุทิตาด้วยคำพูด ไปแสดงความยินดีด้วย พูดสนับสนุน อาจจะบอกกล่าวแก่ผู้คนทั้งหลาย เพื่อช่วยส่งเสริมยิ่งๆขึ้นไป เป็นวาจาส่งเสริม ปิยวาจาก็ทำได้ทั้งด้วย เมตตา กรุณา และมุทิตา

๓. อัตถจริยา บำเพ็ญประโยชน์ การแสดงออกของ เมตตา กรุณา มุทิตา ทางที่สาม ก็มาออกที่เรี่ยวแรงกำลังความสามารถต่างๆ ที่จะเอามาใช้ในการเกื้อกูลกัน และช่วยเหลือสังคมด้วย คือ

หนึ่ง อัตถจริยาด้วยเมตตา คือใน ยามปกติ เราก็มีเรี่ยวแรงกำลังมีกิจหน้าที่ที่ต้องทำกันทุกคน ก็แค่แสดงน้ำใจต่อกัน เช่น เขามาหา เราก็ต้อนรับด้วยไมตรี เอาเก้าอี้มาให้นั่ง เอาน้ำมาให้ เป็นต้น

สอง อัตถจริยาด้วยกรุณา คือ ในยามเขาทุกข์ยากเดือดร้อน เช่น เขาตกน้ำ เรามีกำลังดีว่ายน้ำแข็ง เราก็กระโดดลงไปช่วย หรือไปช่วยพาคนที่ติดในไฟไหม้ออกมา เป็นต้น


สาม อัตถจริยาด้วยมุทิตา คือ ในยามที่เขาทำความดีกัน เราก็ไปช่วยไปร่วมทำประโยชน์ด้วยเรี่ยวแรงกำลังความถนัดความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างสมัยก่อน เวลาวัดมีงาน ญาติโยมก็มาช่วยกันจัดเตรียมงาน มาสร้างโรง สร้างเต็นท์ จัดบริเวณพิธี ถึงสงกรานต์ก็ขนทรายเข้าวัด ฯลฯ รวมความว่า คนเขาทำความดีงามทำประโยชน์ มีกิจกรรมส่งเสริมอะไร เราก็เอาเรียวแรงกำลังของเราไปช่วย จะเป็นกำลังกาย เรี่ยวแรงปัญญา เรี่ยวแรงความสามารถอะไรมี ก็เอามาช่วยกัน

รวมทั้งหมดที่ว่า ทานด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา ปิยวาจาด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา อัตถจริยาด้วยเมตตา ด้วยกรุณา ด้วยมุทิตา รวมเป็น ๙ สถานการณ์

เสร็จแล้วก็คุมท้ายอีกที ที่ผ่านมาในชุดพรหมวิหารนั้นคุมท้ายด้วยอุเบกขา คราวนี้ ในชุดสี่ของภาคปฏิบัติการ ที่คู่กับพรหมวิหาร ก็มีตัวคุมท้าย เป็นข้อที่ ๔ คือ

๔. สมานัตตตา มีตนเสมอสมาน ข้อสมานัตตตานี้ แปลตรงๆว่า ความมีตนเสมอ สมัยนี้เรียกว่า ความเสมอภาค คือมีตนเสมอเท่าเทียมกัน ข้อนี้เป็นที่รวม แต่เน้นการแสดงออกของอุเบกขา มุ่งหมายเป็นธรรม

สมานัตตตา คือ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน และเสมอภาคต่อทุกคนนี้ มีความต่างจากสามข้อแรกที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง คือ จะเห็นว่า ในสามข้อแรกนั้น ยังเป็นการกระทำต่อกันก็ได้ เช่น ทาน เราอาจจะไปจากที่หนึ่ง เขาอยู่ที่อื่น เราก็ไปให้ ก็เป็นการกระทำต่อกัน ปิยวาจา ก็ไปพูดต่อกัน อัตถจริยา ก็ไปช่วยเหลือ ไปให้กำลังใจเขา แต่พอถึงสมานัตตานี้ ก็เข้าร่วม หรืออยู่ร่วมด้วย เข้าถึงกัน เข้าคลุกเลย เป็นตัวที่ช่วยให้มั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะทำให้สังคมเกิดความสามัคคี มีเอกภาพ

ที่ว่ามีตนเสมอนี้ เสมออย่างไรบ้าง เอาง่ายๆ ก็ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หรือไม่เลือกที่รักไม่ผลักที่ชัง ก็มีความเป็นธรรม นี่คือ หลักความยุติธรรม มีตนเสอมเหมือนกัน เสมอต่อทุกคน เป็นตัวรักษาความเป็นธรรม

อุเบกขาก็มาบรรจบกันตรงนี้ กับ สมานัตตตา ตัวสุดท้ายในชุดแรก กับตัวสุดท้ายในชุดที่สอง เป็นตัวดุลที่จะรักษาธรรม คุมหมดเลย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2016, 19:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้างใน มีใจเที่ยงตรงต่อธรรม ข้างนอก มีความเป็นธรรมเสมอกันต่อทุกคน


ทีนี้ กลับมาสู่ตัวสรุปคุมท้ายอีกทีที่ว่า ถ้าไม่มีความเป็นธรรมเสียอย่างเดียว แม้แต่มีเมตตามากมาย มันก็กลายเป็นความลำเอียง ก็เสียเลย รักษาสังคมไว้ไม่ได้ เมตตา เป็นต้น จึงไม่ใช่เป็นหลักประกันเพียงพอที่จะธำรงสังคมไว้ได้ อุเบกขา จึงเป็นหลักสำคัญที่สุด แต่อุเบกขาที่ว่านั้น หมายถึง อุเบกขาที่มากับปัญญา อย่างที่ว่าต้องครบชุด

เป็นอันว่า ต้องมีทั้ง ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วก็มาออกสู่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติการ ด้วย ทาน การให้วัตถุสิ่งของ เงินทองเป็นต้น แล้วก็ ปิยวาจา ช่วยด้วยถ้อยคำที่มีน้ำใจ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ พูดส่งเสริม อัตถจริยา ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ด้วยเรี่ยวแรงกำลังร่างกาย กำลังสติปัญญา กำลังความรู้ กำลังความสามารถปฏิบัติจัดการให้สำเร็จ แล้วก็ สมานัตตตา ความมีตนเสมอสมาน โดยมีความเสมอภาคที่ตั้งธรรมเป็นมาตรฐาน ให้โยงยันอยู่กับธรรม คือ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประสานสอดคล้องกับด้านจิตใจ ซึ่งลงตัวกับธรรม ที่อุเบกขา อันเกิดขึ้นมาจากปัญญาที่เข้าถึงธรรม แล้วอุเบกขานั้นก็ออกมาสู่ปฏิบัติการในสังคม เป็นสมานัตตตา

ด้วยสมานัตตตานี้ ผู้พิพากษาก็มีความเสมอภาค มีตนเสมอเท่าเทียมกัน ทั้งต่อโจทก์ ทั้งต่อจำเลย ไม่ลำเอียง แล้วก็เอาธรรม เอาความจริง เอาความถูกต้อง ที่ปัญญารู้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เป็นตัวตัดสิน

แต่ทั้งนี้ ธรรมที่จะออกมาสู่ปฏิบัติการในการชี้ขาดตัดสินนั้น จะจริงแท้เท่าไร ก็ได้เท่าที่ปัญญารู้ เพราะฉะนั้น ปัญญาก็ต้องแน่ชัดจริงๆ เป็นระบบสัมพันธ์ที่โยงกันไปหมด ซึ่งในที่สุดก็ขึ้นต่อปัญญาที่จะมานำทางชี้ช่องให้แก่เจตนา

เพราะฉะนั้น จึงต้องพัฒนาปัญญาอยู่ตลอดเวลา ท่านจึงให้ ไม่ประมาทในการศึกษา ก็เพื่อจะได้มั่นใจที่สุดว่าปัญญาจะนำเข้าถึงความจริง ความถูกต้อง คือ ถึงธรรมแน่แท้ และในที่สุดก็มาถึงจุดที่ว่าเจตนา จะมาประสานกับปัญญา เพื่อเลือกที่จะชี้ขาดตัดสินอย่างใสสะอาด ตามที่ปัญญาอันใสสะอาดบอกให้นั้นอีกที

เมื่ออุเบกขามากำกับเจตนา ก็ตั้งใจเป็นกลาง ไม่เอียงข้าง ไม่ตกเป็นฝ่าย แต่อยู่กับธรรม และมุ่งสู่ความเป็นธรรม หรือมุ่งที่จะรักษาธรรม ได้แค่นี้ ก็พอที่จะมั่นใจได้แล้วว่า การพิจารณาวินิจฉัยจะเป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม หรือเที่ยงธรรม แต่กระนั้น ท่านก็ยังให้หลักที่จะเสริมสำทับเจตนาให้แน่นแฟ้นขึ้นอีก โดยเพิ่มตัวกันเอียง กันเฉ เข้ามากำกับเจตนาเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง

ตัวกำกับเจตนาที่เข้ามาเสริม เป็นตัวกันให้มั่นอีกชั้นหนึ่งนี้ ได้แก่ การรักษาเจตนาไม่ให้ตกไปในอคติ (ฐานะอันไม่พึงถึง ทางความประพฤติที่ผิด ความไม่เที่ยงธรรม ความลำเอียง) ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก

๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง

๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา

๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ค. 2016, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีธรรมที่กำกับให้ทำหน้าที่เที่ยงตรง ก็ดียิ่ง แต่มีธรรมที่ทำให้เข้มแข็งและเป็นสุขในการทำหน้าที่ด้วย จะดีเยี่ยม


เมื่อมีอุเบกขายืนเป็นหลัก และมีความไม่ยอมต่ออคติทั้ง ๔ มาช่วยกำกับ ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับด้านเจตนา ที่จะออกไปทำหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด แต่กระนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างแห้งแล้ง แถมบางครั้งอาจจะเกิดความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น มีความเบื่อหน่ายท้อแท้ ขึ้นก็ได้

ดังนั้น นอกจากมีธรรมที่ช่วยในด้านการออกปฏิบัติหน้าที่แล้ว ก็ควรมีธรรมบางอย่างไว้บำรุงหล่อเลี้ยงในตัวของผู้ปฏิบัติหน้าที่นั้นเองด้วย เพื่อให้เกิดมีกำลังความเข้มแข็งความแกล้วกล้าสามารถ และความสุขสดชื่นเบิกบานใจในการทำหน้าที่ ซึ่งในที่นี้ ขอพูดสักชุดหนึ่ง

ธรรมชุดนี้ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ไม่เพียงหล่อเลี้ยงด้านเจตนาเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเนื่องไปช่วยในการพัฒนาของปัญญาด้วย

ข้อแรก คือ ศรัทธา ผู้พิพากษาต้องมีความเชื่อมั่นในหลักการแห่งความยุติธรรม เห็นตระเหนักในคุณค่าและความสำคัญของความเป็นธรรม ตั้งต่อชีวิตและสังคม มีความซาบซึ้งเลื่อมใสในกระบวนการยุติธรรม เชื่อมั่นว่าชีวิต แลสังคมจะดีและจะดำรงอยู่ได้ จำเป็นต้องรักษาธรรมไว้ให้ชัดเจนมั่นคง และมีความปรารถนาอย่างจริงจังหรือแรงกล้าที่จะทำให้ความถูกต้องชอบธรรมปรากฏเป็นจริงขึ้นให้จงได้

ถ้าผู้พิพากษามีศรัทธานี้แล้ว นอกจากจะมีกำลังความเข้มแข็ง เอาจริงเอาจังในการทำหน้าที่ให้สำเร็จผลบรรลุจุดหมายของกระบวนการยุติธรรมแล้ว ก็จะมีความสุขสดชื่นเบิกบานด้วย และมิใช่จะสุขในการทำงานเท่านั้น แต่จะมีความสุขในการดำเนินชีวิตของตุลาการด้วย

อีกทั้งเมื่อมีความเลื่อมใสใจมุ่งที่จะให้ถึงจุดหมายนั้น ก็จะทำให้เจตนามาสนองในการตั้งใจไตร่ตรองพิจารณาศึกษาเรื่องราวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องซึ่งจะช่วยให้ก้าวไปสู่จุดหมายนั้น จึงทำให้ปัญญาพัฒนาเพิ่มพูนสมบูรณ์ขึ้นด้วย

ข้อที่ ๒ มีความเพียรพยายาม ที่ทางพระเรียกว่า วิริยะ เมื่อมีศรัทธาเป็นแรงส่งให้มุ่งสู่จุดหมายแล้ว เกิดความเข้มแข็งมีกำลังขึ้นมาก็เพียรพยายามทำการให้ก้าวหน้าไป ไม่ระย่อท้อถอย ศรัทธาเป็นตัวกระตุ้นให้เพียรพยายาม และเมื่อเพียรพยายามก้าวหน้าไป เห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของสิ่งที่ทำ ศรัทธาก็ยิ่งเข้มแข็งแรงกล้ามากขึ้น ศรัทธา กับ ความเพียรพยายามก็หนุน ซึ่งกันและกัน

ในเวลาเดียวกันนั้น ก็ต้องมีสติ ไว้คอยตรวจตราและควบคุมให้พอดี ให้อยู่กับหลัก ให้อยู่ในทาง ให้ไม่พลาด ให้ไม่ถลำล้ำเลย แม้แต่ศรัทธา และความเพียร ที่ว่าดียิ่งนั้น ถ้าแรงนัก ไม่รู้จักใช้สติคุม ก็อาจจะทำให้ด่วนสรุปบ้าง เร่งรัดเกินไป หรือแม้แต่ผลีผลามพรวดพราด พลุ่งพล่าน ขาดความรอบคอบ จึงต้องมีสติไว้ตรวจ และคุมโยตลอด

สติที่คุมดึงจิตไว้ได้นั้น ก็จะโยงจิตไปสู่ข้อที่ ๔ คือ สมาธิ ซึ่งทำให้จิตอยู่ตัว และสมาธินี้จะดุลความเพียรไว้ ไม่ให้เอาแต่แรงก้าวไปๆ จนบางทีว้าวุ่นพลุ่งพล่าน แต่ให้ทำการด้วยจิตใจที่สงบ และหนักแน่นมั่นคง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก เรียกว่าก้าวไปอย่างเรียบสงบหนักแน่น

การทำงานของ ๔ ข้อที่ว่ามานั้น จะเป็นไปด้วยดี ต้องอาศัยปัญญาทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อ ๔ ข้อนั้นมา ก็เรียกร้องให้ปัญญาต้องมาทำงานด้วย เช่นว่า ที่จะก้าวไปนั้น จะไปได้อย่างไร จะใช้วิธีการใด เมื่อก้าวไปขั้นนั้นแล้ว จะต้องต่อต้องผ่านไปขั้นไหนต่อไป ตั้งต้นแต่มาพิสูจน์ความเชื่อของศรัทธา ตลอดจนถึงบอกว่าจุดหมายที่มุ่งไปจะสำเร็จได้อย่างไร

เมื่อเป็นอย่างนี้ ๔ ข้อแรกก็ช่วยให้ปัญญาพัฒนาตัวมันเองด้วย โดยเฉพาะสมาธิ คือ ภาวะจิตที่ใส สงบ อยู่ตัว ไม่มีอะไรรบกวนนั้น เอื้อต่อการเกิดขึ้น การทำงาน การเจริญงอกงามของปัญญา และการใช้ปัญญาอย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน

คุณสมบัติ ๕ ข้อ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา นี้ มีชื่อว่าเป็นพละ ๕ คือเป็นกำลังทำให้เข้มแข็งยืนหยัดอยู่ได้ในการกิจโดยไม่ย่นระย่อห่อเหี่ยว และเรียกว่าเป็นอินทรีย์ ๕ คือ เป็นตัวทำการให้เกิดสมรรถภาพที่จะปฏิบัติงานได้บรรลุผลสำเร็จ

ขอย้ำว่า ด้านหนึ่ง ผู้พิพากษามีอุเบกขาพร้อมด้วยความเว้นอคติมากำกับเจตนา ให้ออกปฏิบัติการทำหน้าที่ถูกต้องเที่ยงตรง และอีกด้านหนึ่ง ผู้พิพากษามีพละ ๕ ที่เป็นอินทรีย์ด้วยนี้ ไว้บำรุงหล่อเลี้ยงตัวให้มีกำลังเข้มแข็งมีสมรรถภาพและมีความสุข ทั้งในการทำหน้าที่และในการดำรงอยู่ในสถานะของตนที่เป็นตุลาการนั้น

รวมความว่า ธรรมะสำหรับผู้พิพากษา ก็คือธรรมะอันเดียวกับที่รักษาชีวิต และสังคมมนุษย์ที่ต้องใช้สำหรับทุกคนนั่นเอง แต่ผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในเรื่องนี้ เพราะถือว่า ผู้พิพากษาเป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม

ในการที่จะรักษาสังคมไว้นั้น ท่านผู้พิพากษาเป็นแบบอย่างในขั้นปฏิบัติการเลยทีเดียวว่า เราจะต้องรักษาสังคมให้อยู่ดี มีความสุขความเจริญ โดยเฉพาะมีความมั่นคงอยู่ได้ ด้วยความเป็นธรรมะ ที่ตั้งอยู่บนฐานของจิตใจ ที่มีพรหมวิหาร ๔ ประการ อันมีอุเบกขาลงไปอยู่ในธรรม ที่ปัญญาบอกให้ แล้วก็ออกสู่ปฏิบัติการด้วยสมานัตตตา ซึ่งเป็นที่แสดงออกของอุเบกขา แล้วก็มั่นใจแน่ว่าแนบสนิทอยู่กับธรรม

ตอนนี้ จะต้องมีสติมาช่วยด้วย เพื่อเตือนให้ตระหนักอยู่เสมอ ที่จะให้ปัญญาทำงานเต็มที่ ให้เจตนาต้องใสสะอาดดีแน่นอน สติจะคอยเตือนให้เราไม่เผลอไม่พลั้งพลาดว่า หนึ่ง เราใช้ปัญญาเต็มที่ ถามตัวเองว่า ปัญญาของเรารู้ความจริงถึงที่สุดไหม ถ้ายังไม่รู้ความจริงถึงที่สุด ยังไม่ชัด อย่าหยุดนะ สืบค้นหาความจริงจนถึงที่สุด และ สอง สติก็เตือนเจตนา ว่า เรามีเจตนาใสสะอาดดีแน่ไหม เจตนาของเราบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความปรารถนาดีต่อชีวิตมนุษย์ มีความปรารถนาดีต่อสังคมแน่นอนไหม เจตนาต้องการรักษาธรรมไว้อย่างแน่นอนไหม

สติเตือนทั้งปัญญาและเจตนา ให้เคลื่อนไปในทางที่จะพัฒนาให้เต็มที่ ให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาก็จะเป็นแบบอย่าง สมเป็นตุลาการอย่างแน่นอน

ก็เป็นอันว่า ธรรมทุกอย่างนั่นแหละ จำเป็นสำหรับผู้พิพากษาในฐานะที่ท่านเป็นตุลา คือเป็นตราชูของสังคม เป็นแบบอย่างในการรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม

พูดถึงผู้พิพากษา ก็โยงมาที่ตุลาการ แล้วก็ทำให้แยกศัพท์ออกไป ซึ่งมีคำหลักคือ “ตุลา” แล้วเลยต่อไป ก็มีคำแปลว่า “ตราชู” อันเป็นข้อที่น่าศึกษา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2016, 09:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2016, 09:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยังมีความหมายของสมานัตตตา อีกแง่หนึ่ง ซึ่งเป็นความหมายหลักเลย ท่านเน้นไว้โดยใช้คำบาลีว่า “สมานสุขทุกขตา” แปลว่า มีสุขทุกข์เสมอกัน หมายความว่า เธอสุข ฉันก็สุขด้วย เธอทุกข์ ฉันก็ไม่ทิ้ง ทั้งร่วมความสุขความเจริญ และร่วมเผชิญร่วมแก้ ปัญหา หรือว่า ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย สุข ก็สุขด้วย ภาษาไทยเรียกว่า “ร่วมสุขร่วมทุกข์” แง่นี้เป็นลักษณะสำคัญของสมานัตตา ที่จะทำให้ มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยดี เมื่อเราอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเขา ก็ร่วมสุข ร่วมทุกข์กัน โดยมีความหมายครบมาทุกแง่ตั้งแต่ตามข้อแรก ความเสมอภาค จึงจะสมบูรณ์

แล้วก็ไม่ใช่เสมอภาคกันเฉยๆ ยังช่วยเหลือดูแลกันด้วย ทาน ปิยวาจา และอัตถจริยา ครบทุกด้าน ทุกสถานการณ์

แล้วก็ไม่ใช่มีเพียงแค่การแสดงออกภายนอก แต่การแสดงออกนั้นมาจากใจจริง โดยมีคุณธรรมในใจเป็นฐานที่มาอีกด้วย ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

เวลานี้ แม้ แต่ความเสมอภาค ก็ตรงข้ามกับความเสมอภาคที่พระสอน คือไม่เป็นความเสมอภาค เชิงสมาน แต่เป็นความเสมอภาคที่เน้นในด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้ใจโน้มไป ในทางแก่งแย่ง แบ่งแยก ที่คอยเพ่งคอยจ้องกันว่า เอ๊ะ....ฉันได้เท่า เธอหรือเปล่า พวกนั้น ตาคนโน้นได้ ๕๐๐ แล้วเราละ ได้ ๕๐๐ หรือเปล่า จะเห็นชัดว่า ความเสมอภาคของคนปัจจุบัน มักมองกันที่เรื่อง ลาภผลเงินทองและประโยชน์ส่วนตัว แล้วก็โน้มไปทางแบ่งแยก และแก่งแย่ง ขอให้สังเกตดูเถิด สังคมปัจจุบันเป็นอย่างนั้นจริงไหม ถ้าจริง ก็แน่นอนว่าจะขาดสามัคคี และยุ่งไม่หยุด

ส่วนความเสมอภาคของพระนี่ เน้นในแง่ สมาน ขอ ให้แยกศัพท์ดูเถิด “สมานัตตตา” ก็คือ สมานอัตตา มา จาก สมาน+อัตตา+ตา (ตา = ภาวะ, อัตต = อัตตา คือ ตน) แปลว่า ความมีตนที่สมาน คือ เสมอ


ในภาษาบาลี “สมาน” แปลว่า เสมอ น่าแปลกที่คำว่า สมาน ที่หมายความว่าเสมอนี้ เมื่อเข้ามาสู่ภาษาไทยแล้ว ได้มีความหมายค่อนข้างจะเปลี่ยนไป กลายเป็นเชื่อม ประสาน เข้า กันสนิท (พจนานุกรมไทยถึงกับถือว่า สมาน ของไทย กับ สมาน ของบาลี เป็นต่างคำกัน) ซึ่งก็มองเห็นความสืบเนื่อง เพราะว่า “สมาน” คือ เสมอ ในภาษาบาลีนั้น ชัดอยู่แล้วว่า เน้นแง่ ประสาน ดังในคำว่า “สมานสุขทุกขตา” ที่ว่ามีสุขและทุกข์เสมอ กัน หรือเสมอกันในสุขและทุกข์ ก็คือร่วมสุขร่วมทุกข์ ไปๆ มาๆ “สมาน” ของบาลี เลยแปลว่า “เท่า เท่ากัน” ก็ได้ “ร่วม ร่วมกัน” ก็ได้

ของพระ มีสุขทุกข์ “เท่ากัน” คือ ร่วมกัน แต่ของไทยปัจจุบัน จะเอาเงิน “เท่ากัน” คือ แย่งกัน

นี่แหละ ความ เสมอภาคที่แท้ ต้องเป็นอย่างที่พระสอน คือ เป็นสมานัตตตา ที่มีตนเสมอสมาน เท่ากัน คือร่วมกัน สังคมจึงจะอยู่ได้ เวลานี้ สังคมของเราจะเอาแต่เสมอแบบแย่งกัน คอยเพ่งจ้องกัน จะแก่งแย่ง จะแบ่งแยก ก็เลยกลายเป็นว่า ความเสมอภาคที่เป็นหลักการ ใหญ่อย่างหนึ่งของประชาธิปไตย กลายมาเป็นเหตุให้คนแบ่งแยกแตกกัน แทนที่ จะทำให้เกิดความสามัคคี เพราะฉะนั้น จึงต้องบอกว่าผิดหมดแล้ว สังคม เดินทางผิดพลาด ความเสมอภาคหรือสมภาพถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด

ที่จริงนั้น หลักการของประชาธิปไตยเองแต่เดิมของเขา คือของพวกต้นคิดในเมืองฝรั่ง ตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศล (ค.ศ.1789) ก็เป็นชุดที่ต้องบูรณาการ และหลักของเขาก็ถูกต้อง ดูสอดคล้องกันดี

หลักการประชาธิปไตยที่ฝรั่งวางไว้ ซึ่งต้องให้ครบชุดของเขา มีอะไรบ้าง ว่าไปตามที่เขาใช้ในภาษาอังกฤษ ก็มี Equality (ความเสมอภาค หรือสมภาพ) Liberty (เสรีภาพ) แล้วอีกตัวหนึ่ง คือ Fraternity (ภราดรภาพ)

Fraternity ที่แปลว่า ภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้องกันนี้ เป็นข้อที่ ๓ อยู่ในชุดหลักการของประชาธิปไตย ๓ ประการ มาแต่เดิม แต่เวลานี้ สังคมประชาธิปไตยบ้านเราเหมือนกับว่าจะเหลือหลักการแค่ ๒ ข้อ คือ หนึ่ง เสรีภาพ สอง ความเสมอภาค

ข้อ Liberty นี้เน้นกันเหลือเกิน บอกว่าต้องมีเสรีภาพ แต่ความหมายที่แท้ว่าอย่างไร ไม่ค่อยสนใจที่จะรู้ ได้แต่นึกเอาตามที่ชอบใจ จนกลายเป็นทำนองว่า เสรีภาพคืออะไร? อ๋อ...ทำได้ตามใจคือไทยแท้ เสรีภาพก็คือเอาได้ตามชอบใจ แล้วก็อ้างกันนัก ชักเย่อกันอยู่ทีสิทธิกับเสรีภาพ

Equality ความเสมอภาค ก็มุ่งเพื่อจะมาแก่งแย่งกันในทางเศรษฐกิจ ว่าเราได้เท่าเขาไหม

ส่วน Fraternity ภราดรภาพ คือความเป็นพี่เป็นน้อง หายไปเลย แทบไม่พูดถึงกันแล้ว นี่แหละประชาธิปไตยบ้านเรา แค่หลักการใหญ่ ๓ ข้อ ก็ยังรักษาเอาไว้ไม่ได้ บูรณาการไม่ได้ ก็แยกส่วนกันไป

ที่จริงนั้น หลักการใหญ่ ๓ ข้อ ของเขา ก็เข้ากันดีกับหลักพุทธศาสนา แต่ของพระพุทธศาสนา ท่านเน้นตัวสมานัตตตา เอาความเสมอภาคเป็นจุดรวม และเป็นตัวดุลที่คุมได้ทั้งหมด แต่อย่างที่ว่าแล้ว มันเป็นความเสมอภาค แบบสมานอย่างที่ได้พูดมา แล้วยังลงลึกเข้าไปในจิตใจ โดยมีอุเบกขามา เป็นฐานของสมานัตตตา ทำให้มีความเท่าเทียมกัน และมีความเป็นธรรม ใน ภาวะแห่งสามัคคี แล้วสังคมก็จะเข้มแข็งมั่นคงมีเอกภาพแท้จริง

หลัก ๔ ประการ ที่เป็นภาคปฏิบัติของพรหมวิหาร ๔ นั้น มีชื่อรวมว่า สังคหวัตถุ คือ หลักการสังเคราะห์ หรือสงเคราะห์ ซึ่งแปลว่า จับมารวมกัน คือ มาจากคำว่า “สังคหะ” (สัง = รวมเข้าด้วยกัน + คะหะ = ถือ จับ) แปลว่า จับมารวมเข้าด้วยกัน จับอะไร?

ก็จับใจคนมารวมกัน หรือ จับตัวคนมารวมกัน เพื่อทำให้สังคมอยู่ได้ คือ ทำให้สังคมรวม กันได้ มั่นคง เป็นปึกแผ่น มีความสามัคคี เกิดมีเอกภาพ จึงเรียก ว่า สังคหวัตถุ ก็คือหลักยึดเหนี่ยวสังคมนั่นเอง

ก็เป็นอันว่า ชุด พรหมวิหาร ๔ กับ สังคหวัตถุ ๔ นี้ ต่อเนื่องกัน ออกจากใจ สู่ปฏิบัติการในสังคม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2016, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ตอบคำถามท้ายเรื่อง

ถาม: ผู้พิพากษาตัดสินจำคุก หรือประหารชีวิตคน จะเป็นบาปหรือไม่ ?

ตอบ : เรื่องนี้พระให้แต่หลัก เรื่องการทำหน้าที่ของผู้พิพากษานี้ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ขอเล่านิดหนึ่ง ท่านพูดถึงหลักการปกครอง และการรักษาความเป็นธรรม โยงมาถึงเรื่องของผู้พิพากษา ในหลักธรรมก็เหมือนกับมีตัวอย่างให้แนวทางไว้ แล้วเราก็มาพิจารณาเอาเอง

เรื่องนี้มาในพระสูตรหนึ่ง ซึ่งโคปกโมคคัลลานสูตร เป็นเหตุการณ์ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว วันหนึ่ง เสนาบดีของแคว้นมคธ ชื่อวัสสการพราหมณ์ ท่านทั้งหลายคงเคยได้ยิน วัสสการพราหมณ์นี้สำคัญมาก เขามีผู้ร่วมงานคู่กันอีกคนหนึ่งชื่อว่าสุนียะ สองคนนี้เป็นเสนาบดีที่ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอชาตศัตรู ตั้งแต่สมัยของพระราชบิดา คือพระเจ้าพิมพิสาร

เสนาบดี กำลังดูแลบ้านเมือง หลังจากพระเจ้าพิมพิสารสวรรคตไป แล้ว และพระพุทธเจ้าก็เสด็จปรินิพพานไปแล้ว วัน หนึ่ง ท่านมหาอำมาตย์ หรือเสนาบดี ก็เดินตรวจ ราชการ และได้มาถึงที่พักของพระอานนท์ ท่านเข้าไปหาพระ อานนท์ และเข้าไปสนทนา

ท่านเสนาบดีถามพระอานนท์ตอนหนึ่งว่า เวลา นี้ พระพุทธเจ้าก็ ปรินิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าได้ตั้งใครไว้ให้เป็นผู้สืบต่อตำแหน่งของ พระองค์ในการปกครองคณะสงฆ์ พระอานนท์ตอบว่า ไม่ได้ตั้งไว้

เสนาบดีนี้ เป็น นักปกครอง ได้ทำงานราชการแผ่นดินมาอย่างเชียวชาญ มาก กระทั่งว่าสามารถดำเนินการปราบแคว้นวัชชีได้ (มีเรื่องเล่าใน สามัคคีเภทคำฉันท์) ท่านวัสสการพราหมณ์เสนาบดีก็บอกว่า มีอย่าง ที่ไหนล่ะ การปกครองหมู่คณะใหญ่โต ถ้าไม่มีผู้นำ ไม่มีหัว หน้าจะอยู่กันได้อย่างไร

พระอานนท์ก็ตอบว่า พวกเรามิใช่ไม่มีหัวหน้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้แต่งตั้งไว้

อ้าว...แล้วท่านทำอย่างไร พระ อานนท์ก็ตอบว่า พระพุทธเจ้าได้ทรง วางหลักธรรมไว้ให้ว่า ผู้ใดประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นี้ ภิกษุทั้งหลายก็พึงนับถือผู้นั้น ให้เป็นผู้ใหญ่ เป็น หัวหน้า เป็นผู้นำ หลักธรรมนั้น ท่านเรียกว่า เถร ธรรม ๑๐ ประการ ก็เมื่อมีพระภิกษุที่มีคุณสมบัติ นี้ ภิกษุทั้งหลาย คือสงฆ์ ก็ยกย่องท่านผู้นั้นขึ้นไปเป็น หัวหน้า เราจึงมีหัวหน้าด้วยประการฉะนี้ โดยไม่ต้องตั้ง นี่ แหละจึงว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตั้งใคร

ก็เป็นอันว่า พระ อานนท์ตอบเสร็จแล้ว บอกว่าไม่ต้องตั้ง แต่ มีหัวหน้า คือมีขึ้นโดยหลักการ เมื่อมีหลักการให้ไว้ ก็ว่า ไปตามหลักการนั้น มันก็จึงเป็นไปเอง ตามหลักการนั้นแหละ

ทีนี้ ต่อ ไปนี้ เวลามีภิกษุทำความผิด แล้วจะดำเนินการ แก้ไข ก็ต้องตัดสินโทษ เมื่อจะลงโทษนั้น จะทำอย่าง ไร ในเรื่องนี้ ท่านก็บอกหลักการไว้ คือว่า หลักการมี อยู่ ได้แก่ธรรมวินัย ดังเช่นในพระวินัย ก็มีข้อบัญญัติว่า เมื่อภิกษุทำผิดข้อนี้ๆ ก็มีโทษอย่างนี้ๆ เมื่อภิกษุต้องอาบัตินี้ ให้ดำเนินการ ให้ปฏิบัติอย่างนี้ๆ

เมื่อมีภิกษุทำความผิด สงฆ์ ก็ประชุมกัน แล้วก็ยกเอาหลักการตามพระ ธรรมวินัยนี้ขึ้นมา หลักการนั้นว่าอย่างไร สงฆ์นั้นก็เพียงแต่ว่า เหมือนมาเป็นกระบอกเสียงให้แก่ตัวธรรมวินัย แล้วภิกษุนั้นก็ถูกตัดสิน โดยหลักธรรมวินัย ภิกษุทั้งหลายที่มาประชุมนั้น ไม่ใช่เป็นผู้ ตัดสินเพียงแต่ยกเอาหลักขึ้นมาแสดงตามที่ท่านบัญญัติไว้ หลักการหรือ ตัวธรรมวินัยนั่นเอง เป็นผู้ตัดสิน

นี่ก็คือ ที่ แท้นั้น ผู้พิพากษาไม่ได้ไปตัดสินใคร ถ้าปฏิบัติถูกนะ ถ้าใจ เป็นกลางจริงๆ ก็ไม่มีตัวตนแล้ว คืออยู่ กับปัญญาที่รู้ความจริง ที่เป็นธรรมะ ที่เป็นหลักการ ที่ เป็นกฎกติกานั้น เจตนาก็มุ่งจะรักษาความเป็นธรรม ก็เอาตัวหลักการ ที่วางไว้นั้น ยกขึ้นมาบอกให้รู้ว่ามันเป็นอย่างนี้ๆ แล้วก็ว่าไป ตามนั้น ก็คือ ผู้พิพากษาไม่ได้มีตัวตนของตนเอง เพราะไม่มี เจตนาของตัวเอง แต่เจตนานั้นอยู่ที่ธรรม เจตนานั้นคือ ธรรม ฉะนั้น ธรรมะก็ตัดสิน เรียกว่า "ธรรม ตัดสิน"

ในที่นั้น พระอานนท์ก็บอกว่า ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ลงโทษ เขา ภิกษุทั้งหลายไม่ได้ตัดสินเขา แต่ธรรมวินัยตัดสิน ธรรม วินัยเป็นผู้ลงโทษ ถ้าใช้ภาษาปัจจุบัน ก็ถือว่า พระภิกษุ ทั้งหลายในที่ประชุมนั้น เป็นเหมือนกระบอกเสียงให้แก่ธรรมเท่านั้น เอง นี่จะเข้ากันได้ไหม เป็นเรื่องที่พระอานนท์เล่าไว้ ว่า ไปตามที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงและบัญญัติไว้ในหลักธรรมวินัย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2016, 19:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม: สมมติว่าถ้าเป็นการตัดสินผิดพลาดไปล่ะ

ตอบ: นี่ แหละ อย่างที่บอกในตอนต้น มีสองขั้นตอน ดังที่ว่า เรา ทำหน้าที่โดยไม่มีตัวตนของเรา ก็คือ เมื่อเราทำโดยเจตนาที่ บริสุทธิ์ มันก็จะมีแต่ตัวหลักการ ตัวธรรมวินัย ตัวบท กฎหมาย ตัวบัญญัติเท่านั้น ส่วนเรานี้ ก็ทำหน้าที่ไปเราเป็น เพียงทางผ่านไป หรือเป็นสื่อให้เท่านั้นเอง คือถ้าทำได้ตาม นี้ การบรรลุผลสำเร็จของผู้พิพากษา ก็คืออยู่ในภาวะที่ว่ามานี้

แต่ทำอย่างไรเราจะบรรลุภาวะนี้ได้ ก็อยู่ที่ว่า ปัญญา และเจตนาต้องสมบูรณ์ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ คือ ปัญญาก็รู้ความรู้ความจริงชัดเจนหลักการปฏิบัติการ ข้อมูลอะไรต่างๆ เหตุการณ์ คดีอย่างไร ชัดหมด แล้วก็เจตนา ก็มุ่งเพื่อธรรมจริงๆ ถึงตอนนี้ก็ไม่มีตัวตนแล้ว

แต่ทีนี้ ความสมบูรณ์ของปัญญาและเจตนาเป็นตัวกำหนดท่านจึงว่า นี่แหละต้องพยายาม ต้องเตือนตนด้วยสติว่า ปัญญาของเราเข้าใจถึงความจริงชัดเจนไหม ให้มั่นใจที่สุด และเจตนาต้องมั่นใจที่สุดว่า เราทำนี้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์จริงๆ ตั้งใจดีจริงๆ

ถ้า เรามั่นใจในสองอย่างนี้แล้ว ในที่สุด ได้เท่าไร ก็เท่านั้น และเมื่อตัดสินไปแล้ว ถ้าผิดพลาด ก็รู้ว่าผิดพลาด ท่านก็มี ธรรมะให้อีกว่าให้ไม่ประมาทในการศึกษาต่อไป หมายความ ว่า หลังจากนี้ไปเราไม่ปล่อยนะ ไม่ใช่ว่าเราจะหลงตัวเอง มัว เพลิดเพลินอยู่ แต่เราจะศึกษาฝึกฝนอีกถ้ามีข้อผิดพลาดอะไรที่ทำให้ยัง ไม่สมบูรณ์ เราก็มาศึกษาปรับปรุง แก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์ยิ่ง ขึ้นในคราวต่อไป ก็มีแต่จะดียิ่งขึ้น ไม่ต้องไปเสียใจย้อนหลัง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2016, 19:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม จะเป็นบาปติดตัวผู้พิพากษาไปไหม ที่ตัดสินผิดพลาดไป ?

ตอบ เจตนาเป็นตัวตัดสินกรรม เพราะตอนที่เราจะตัดสินนั้น เราบอกตัวเองแล้วนี่ คือ เราทำความมั่นใจก่อน เอาละ เราดูตัวเองว่า ด้านปัญญาเราก็มั่นใจ ด้านเจตนาเราก็มั่นใจ ในที่สุด เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการ ได้เท่าไรก็เท่านั้น

เมื่อเรามีเจตนาบริสุทธิ์ดีแล้ว มันเป็นกรรมดี แต่มันยังมีข้อบกพร่อง เราก็ยอมรับความบกพร่องนั้น เพื่อการปรับปรุงแก้ไข ตอนนี้ ท่านเรียกว่า “ปฏิกรรม”


นี่แหละคำว่า ปฏิกรรม มาแล้ว เมืองไทยไม่เอาใจใส่เรื่องนี้ ไม่เอามาเรียน แต่ปฏิกรรมนั้นมีในหลักกรรม คือหลักปฏิกรรม หมายความว่า “กรรม” แล้วก็ “ปฏิกรรม” คือเราทำกรรมลงไป ถ้ามันเกิดความผิดพลาด ไม่สมบูรณ์ ท่านให้ปฏิกรรม คือแก้ไข เพื่อให้การกระทำครั้งต่อไป มันดียิ่งขึ้น หรือจะสมบูรณ์ต่อไป เพราะฉะนั้น ก็มาสอดคล้องกับหลักที่เรียกว่า ความไม่ประมาท

คนที่จะปฏิกรรมได้ดี ก็ต้องไม่ประมาทในการศึกษา ซึ่งจะทำให้เราทำงานให้ดีขึ้น วงการก็ดีขึ้น วิชาการ เรื่องของสังคม ก็ดีขึ้นๆ ไม่เรื่อย ถ้าปฏิบัติตามหลักนี้แล้ว ไม่มีเสีย ไม่ต้องมัวมาเสียใจอยู่

สำหรับปุถุชนก็เป็นธรรมดา เสียใจได้บ้าง แต่โดยหลักการ ท่านไม่ให้มัวหวนละห้อยกับอดีต (อตีตํ นานุวาคเมยฺย) ถ้ามันผิดพลาด เราก็ตระหนักรู้ความผิดพลาดนั้น เพื่อเอามาแก้ไขปรับปรุง แต่ไม่ทิ้งนะ ถ้าทิ้ง ถ้าปล่อย เป็นการละเลย ท่านเรียกว่า ประมาท คือ เราเอาในแง่ความรู้ ส่วนด้านความรู้สึก ไม่ต้องไปติดค้าง คือ ถ้าเรามั่นใจแล้ว เราก็เอาด้านความรู้ว่ายังมีข้อบกพร่องผิดพลาดอะไร ความรู้นี้ต้องเอา แล้วความรู้นี้ จะเอามาใช้ในการปรับปรุงแก้ไข ก็จะเป็นประโยชน์ดียิ่งขึ้น ไม่มีปัญหา

หลักท่านมีอยู่แล้ว ว่าไม่หวนละห้อยความหลัง แล้วก็ถ้าจะเสียใจบ้าง ก็เป็นวิสัยของปุถุชน มันเป็นไปได้ เอามาเตือนตัวเองว่า เห็นไหม ขนาดว่าเราเตรียมเต็มที่แล้ว ยังมีพลาดได้ เพราะฉะนั้น ต้องไม่ประมาท ต่อไปต้องรอบคอบยิ่งกว่านี้ ก็ยิ่งทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป

ก็ยอมรับว่าความเสียใจนี่ไม่ดี เป็นอกุศล ทำให้มีความทุกข์ แต่เมื่อมันเกิดมีขึ้นมาแล้ว ก็เอามันมาทำให้เป็นประโยชน์ เอาอกุศลนั้นมาทำให้เป็นประโยชน์ ท่านเรียกว่า เอาอกุศลมาเป็นปัจจัยแก่กุศล คือ เอามาทำให้มันเกิดผลดีต่อไป อย่าไปมัวเศร้ามัวทุกข์ จะยิ่งแย่ใหญ่

ถ้ามันมีทุกข์ ก็รู้ว่า เออ ไอ้ทุกข์นี่ก็ดี มันเตือนเรา ทำให้เรามีสติ จะเห็นว่าคนที่มีแต่สุขอยู่เสมอนี่ มันเพลิน มันหลงง่าย ก็เลยกลายเป็นประมาท ส่วนคนที่มีทุกนี่ จะทำให้ไม่ประมาท ทำให้เตือนตัวเอง ทำให้เกิดสติง่าย

มีตัวอย่างนอกเรื่อง พวกเทวดานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า แพ้เปรียบมนุษย์หลายอย่าง ข้อดีกว่ามนุษย์ไม่ต้องพูด ข้อที่เทวดาแพ้มนุษย์ ขอยกมาข้อหนึ่ง คือ สติด้อยกว่า เทวดานั้นท่านสบาย มีแต่ความสุข ก็เลยเพลิน สติจึงแพ้มนุษย์ ส่วนมนุษย์นี่มีทุกข์มีสุขระคนกันไป เจอปัญหามากกว่า แต่ทุกข์และปัญหานี่แหละมันเตือนให้คนไม่ประมาท ทำให้มีสติขึ้นมา เพราะฉะนั้น ทุกข์ก็มีดีอยู่ ไม่ใช่ไม่ดีเสียเลย

ทุกข์นี่ทำให้คนได้ดีมีสุขก็เยอะ คือมันเตือนเรา ทำให้เราไม่ประมาท เร่งแก้ไขปัญหา ดังนั้น ถ้าเกิดความไม่สบายใจ มีความขุ่นมัว เศร้าหมอง ก็เอามันมาใช้ประโยชน์ โดยเอามาเตือนตัวเราให้จับจุดได้ว่า มันมีจุดอ่อนข้อบกพร่องอะไร เราขุ่นมัวเศร้าหมองเพราะอะไรแล้วอย่าให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้อีก ก็แก้ไขไป ดีทั้งนั้น

ทีนี้ ก็ขอแถมหน่อย ที่พูดข้างต้นถึงหลักการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้แก่ธรรม ด้วยปัญญาที่รู้ชัดเจนและเจตนาที่สะอาดแท้โดยไม่มีตัวตนที่จะเอาอะไรเพื่อตัว หรือจะสนองความต้องการของตัวตนอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือธรรมตัดสินเขา ไม่ใช่เราตัดสิน นี่เป็นหลักการทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์

แต่กระนั้น ก็ต้องยอมรับความจริงว่า เป็นธรรมดาที่คนเรานี้ เมื่อยังเป็นปุถุชน ก็ยังมีความยึดถือในตัวตนฝังลึกอยู่ ความยึดถือว่าตัวเรา ตัวเขายังมีอยู่ ดังนั้น แม้จะมุ่งทำหน้าที่อย่างบริสุทธิ์ตามหลักการแท้ๆ แต่ความรู้สึกว่ากระทำต่อเราต่อเขา ก็ไม่ว่างโล่งไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ตามปกติก็จึงไม่พ้นเป็นการทำกรรมอยู่บ้าง แต่เมื่อปฏิบัติตามหลักการที่ว่านั้นเท่าที่ทำได้ กรรมที่ยังจะมี ก็เบาลงเยอะแยะ

แล้วยังมีอีกชั้นหนึ่ง คือ เมื่อทำกรรมที่เป็นบาปอันใดไปแล้ว ถ้าวางจิตใจไม่ถูก มัวครุ่นคิดขุนมัวเศร้าหมอง (ความสำนึกได้ กับการครุ่นคิดขุ่นข้อง เป็นคนละอย่าง ต่างกันมาก) นอกจากเป็นการเสริมซ้ำเติมบาปแล้ว ก็เป็นการกีดกั้นกุศลให้เสียโอกาสด้วย ท่านจึงไม่ให้มัวหวนละห้อยอดีต แต่ให้ทำตามหลักปฏิกรรม

ขอเล่าเรื่องประกอบไว้เป็นแง่พิจารณาหน่อยหนึ่ง คือ ท่านเล่าเรื่องไว้ว่า นายคนหนึ่ง ได้ตำแหน่งเป็นเพชฌฆาตฆ่าโจร และได้ทำหน้าที่นี้อยู่นานถึง ๕๕ ปี จนแก่ ทำไม่ไหว จึงพ้นหน้าที่ออกมา

ทีนี้ วันหนึ่ง พรสารีบุตรมาที่บ้าน และแสดงธรรมแก่เขา แต่เขามัวคิดไม่สบายใจกับการที่ได้ฆ่าคนมากมายนักหนา จิตก็เลยข้องอยู่นั่น ไม่สามารถตามรู้ตามเข้าใจธรรมที่ท่านแสดง พรสารีบุตร จะช่วยเขา ก็ถามว่า ที่เขาฆ่าคนนั้น เขาคิดจะฆ่าเอง หรือคนอื่นสั่งให้ฆ่า เขาก็ตอบว่า ทำตามคำสั่งของบ้านเมือง พรสารีบุตรก็กล่าวว่า เมื่อเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นบาปของท่านได้อย่างไรหรือ

พอได้ยินคำนี้ เขาก็คิดเอาเองว่าเขาไม่บาป ทั้งที่ยังไม่ถูกแท้ในรายละเอียด แต่มันทำให้ใจของเขาหายติดข้อง ก็เลยตั้งใจฟังธรรมได้แน่วไป จนรู้เข้าใจธรรมสูงเกือบถึงขั้นโสดาบัน และตายแล้วก็ไปสวรรค์ขั้นสูงด้วย (ธ.อ.4/87) เรื่องนี้ น่าจะเป็นแง่คิดที่ตอบคำถามของหลายคน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2016, 19:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม คนที่ทำชั่ว ทำบาป ก็ต้องรับกรรมตามหลักศาสนาพุทธ ใช่ไหม ?

ตอบ ไม่ใช่ตามหลักศาสนา แต่ตามหลักธรรมชาติ คือว่า กรรมนี่ไม่ใช่เป็นเรื่องของความเชื่อ แต่มันเป็นเรื่องของความจริง ภาษาไทยเอามาใช้ผิด ในภาษาบาลีนั้น คำว่าเชื่อกรรมนี้ ท่านไม่ค่อยใช้หรอก ท่านไม่เน้น ท่านใช้คำว่า รู้กรรม เข้าใจกรรม เพราะกรรมเป็นความจริงตามธรรมชาติ เป็นเรื่องของหลักเหตุปัจจัยที่เกี่ยวกับเจตนา หรือเจตจำนงของมนุษย์

เราจะต้องเรียนรู้ว่า เจตนามันเป็นกลไกที่ทำให้เกิดผลอย่างไร มันมีผลต่อชีวิตของมนุษย์อย่างไร เมือเจตนาเกิดขึ้นในใจแล้ว มาแสดงออกทางกาย ทางวาจา แล้วมีผลเปลี่ยนแปลงอย่างไร นี่เป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาติ เราต้องเรียนรู้ต้องศึกษา เพราะถ้าเอาแต่เชื่อ ก็จบเลย ทีนี้ก็ไม่เรียนรู้ ไม่หาความรู้แล้ว ฉะนั้น ในพระไตรปิฎก คำว่า เชื่อกรรมนั้นแทบไม่มี มีแต่รู้กรรม

ในภาษาไทย เรามีคำหนึ่งที่ใช้กันว่า กัมมัสสกตาศรัทธา (แปลว่า เชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน) แต่ในภาษาบาลีไม่ใช้ ภาษาบาลีมีแต่กัมมัสสกตาญาณ คือ ญาณความรู้ในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ภาษาไทยนี่ต้องชำระสะสางกันเยอะ เพราะมากลายเป็นว่า กรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของความจริงแล้ว แต่โดยหลักการ กรรมไม่ใช่เป็นเรื่องสำหรับเชื่อ แต่เป็นเรื่องสำหรับรู้ แล้วกรรมก็ไม่ง้อใคร ก็ในเมื่อกรรมเป็นความจริง มันจะต้องไปง้อใครกันเล่า แต่ถ้าต้องไปเชื่อมัน ก็คล้ายๆว่ามันอาจจะไม่จริงก็ได้ จึงต้องไปเชื่อไว้ อะไรทำนองนี้

ในความจริง กรรมไม่ง้อใคร เพราะมันเป็นความจริง คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ มันก็เป็นไปตามธรรมดาของมัน แต่ทีนี้ ในขั้นต้นๆ การเชื่อก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง ในเมื่อยังไม่รู้ ก็จะได้ละกรรมไม่ดี และพยายามปฏิบัติให้ถูก ให้ได้ประโยชน์ เอาละ ทีนี้ก็เชิญถามต่อจากเมื่อกี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ค. 2016, 22:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม เมื่อคนทำผิด ก็ต้องได้รับผลจากการกระทำของเขาตามกฎธรรมชาติอยู่แล้ว การที่ผู้พิพากษาไปตัดสินนี้ จะเป็นการไปขัดกับกฎเกณฑ์ของธรรมชาติหรือเปล่า ?

ตอบ คำถามนี้ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้พูดอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคำว่า ควรจะพูด เป็นหลักใหญ่อย่างหนึ่ง ก็เลยจะพูดไว้หน่อย

เรื่องที่ว่านั้นก็คือ ด้านหนึ่ง มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษ มาโยงกับอีกด้านหนึ่งที่ว่า ธรรมชาติมีกฎ มีความเป็นจริงของมันที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นต้น มันก็เป็นไปตามกระบวนการของมัน ดังเช่นกรรมนี้ก็มีผลตามธรรมชาติของมัน

ทีนี้ ก็มาถึงคำถามเมื่อกี้ที่ว่า การกระทำของผู้พิพากษา คือของมนุษย์นี้จะขัดกับกฎธรรมชาติหรือเปล่า จะเป็นการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงธรรมชาติไหม

ขอให้มองดูมนุษย์ มองถึงความจริงว่า มนุษย์ก็เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง โดยตัวเขาเองเป็นธรรมชาติ ใจก็เป็นธรรมชาติ กายของเขาเป็นธรรมชาติ

แล้วทีนี้ ในบรรดาสภาวะของธรรมชาติมากมายที่มีอยู่ในตัวมนุษย์นี้ มีตัวพิเศษอันหนึ่ง คือปัญญา ตรงนี้ขอให้ดูให้ชัด ปัญญานี้เป็นธรรมชาตินะ ไม่ใช่เป็นของแปลกปลอม ปัญญาเป็นสภาวธรรมชาติอย่างหนึ่งในตัวมนุษย์ และเป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของมนุษย์นั้น แล้วอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ เจตนา ที่ว่ามาเมื่อกี้ สองอย่างนี้ เป็นคุณสมบัติพิเศษในตัวมนุษย์ เอาละนะ ปัญญา กับ เจตนา เป็นธรรมชาติสองอย่างที่เป็นคุณสมบัติสำคัญอันมีอยู่ในตัวของมนุษย์ ที่มนุษย์มีเพิ่มมากกว่าธรรมชาติที่ไหนๆอื่นทั้งหมด

ทีนี้ ก็แล้วทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติวินัยขึ้นมา ทำไมไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามธรรมชาติ ทำไมมาตั้งวินัยบัญญัติ วางกฎกติกาทางสังคม จัดตั้งคณะสงฆ์ อ๋อ....คำตอบมีอยู่แล้วง่ายๆ

ในเมื่อคนมีธรรมชาติที่พิเศษคือปัญญา และเจตนา ก็เอาปัญญา และเจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของคุณมาใช้ซิ เมื่อคุณเอามันมาใช้ เจ้าปัญญา กับ เจตนา นั้น มันก็เลยมาทำงานเป็นเหตุปัจจัยร่วมขึ้นในกระบวนการธรรมชาติที่แต่ก่อนมันไม่มีปัญญา และเจตนา ใช่ไหม ก็เท่านี้แหละ

ธรรมชาติทั่วไปนั้นมันขาดปัญญา กับ เจตนาใช่ไหม มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยอื่นเท่าที่มีอยู่นั้น แล้วก็ไปของมันเรื่อยไปอย่างนั้น ทีนี้ เมื่อในมนุษย์เรามีปัญญา กับ เจตนา สองตัวนี้พิเศษเพิ่มขึ้นมา เราก็เอาปัญญา กับ เจตนา ที่เป็นธรรมชาติพิเศษของเรานี้แหละเข้ามาร่วมในกรบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ เราก็สามารถจัดสรรปรุงแต่งชีวิตของเราสังคมของเราให้มันดี หรือให้เป็นอย่างไรๆก็ได้ เราจึงไม่จำเป็นต้องเป็นไปแค่ตามเหตุปัจจัยธรรมชาติอย่างอื่นเท่านั้น ไม่ต้องมัวรอให้เหตุปัจจัยอื่นๆ ก่อผล

(แม้แต่ที่รอนั้น ก็คือเอา “เจตนา” ที่จะรอ เข้ามาเป็นเหตุปัจจัยด้วยแล้ว และคุณก็จะได้รับผลของกรรมคือเจตนาที่รอนั้นด้วย ซึ่งอาจจะเป็นกรรมแห่งความประมาท)

ที่ถามว่า ทำไมไม่ปล่อยไปตามธรรมชาติ เราลืมไปว่า ปัญญา และ เจตนา ของเราก็เป็นธรรมชาติเหมือนกัน ใช่ไหม อ้าว...เราจะปล่อย คือจะปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างอื่นในธรรมชาติ โดยไม่เอาปัจจัยคือปัญญา และ เจตนาของเราเข้าไป แสดงว่าเรายังไม่ฉลาดพอ ถ้าเราฉลาดพอ เราก็เอาปัญญา และ เจตนาของเราที่พัฒนาอย่างนี้นั้นมาใช้ซะ เอาไปร่วมในกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ

เพื่อจะให้ธรรมชาติส่วนพิเศษนี้ ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษย์และแก่ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างคุ้มค่าของมัน เพื่ออันนี้แหละ ปัญญา กับ เจตนา ก็จึงเข้ามาสู่ระบบการจัดตั้ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

หนึ่ง ธรรม คือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ ที่เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นๆ พระพุทธเจ้าทรงมีปัญญา รู้ตามที่มันเป็นอย่างนั้น (รวมทั้งก็รู้ด้วยว่าในมนุษย์แต่ละคนนั้นมีธรรมชาติพิเศษ คือ ปัญญาและเจตนานี้ ที่จะรู้เข้าใจระบบที่ทรงใช้ปัญญา และการุณยเจตนานี้จัดวางไว้ และเอาไปใช้ไปปฏิบัติให้สำเร็จประโยชน)

สอง ด้วยปัญญาที่รู้ธรรม และปัญญาที่สามารถใช้ความรู้นั้นในการจำเนินการ พระองค์ก็ทรงดำเนินเจตนาที่ประกอบด้วยมหากรุณา นำความรู้ในความจริงของระบบธรรมชาตินั้น มาใช้ในการจัดตั้งวินัย มาวางระบบชุมชนสังฆะหรือสังคมสงฆ์ขึ้น ให้เป็นสังคมที่ดี วางกฎกติกาข้อบัญญัติสิกขาบท ที่จะให้กิจการดำเนินไปในทางที่เกิดผลดี มีทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนี้ขึ้นมา

นี่แหละ เพราะฉะนั้น ในวินัยของพระ เมื่อมีภิกษุทำความผิดขึ้นมา ท่านจึงไม่ปล่อย อ๋อ...เธอทำกรรมไม่ดีนี่นะ ถ้าจะให้เหตุปัจจัยอื่นเท่าที่มีอยู่นั้นเป็นไปของมันจนแสดงผลขึ้นมา คนทั่วไปอาจจะไม่ทันได้เห็น หรืออาจจะเห็นไม่ทัน (แถมภิกษุรูปนั้นยังอาจจะใช้ปัญญาและเจตนา ที่เป็นเหตุปัจจัยในตัวของเธอเองไปทำให้กระบวนการเหตุปัจจัยโดยรวมนั้นซับซ้อนหนักเข้าไปอีก) พวกเราสังฆะก็เลยขอให้ปัญญากับเจตนาของเรามาทำกรรมตามวินัย ให้เป็นเหตุปัจจัยที่เธอจะเจอผลที่ควรจะได้เจอเสียเลย ปัญญากับพระมหากรุณา (เจตนา) ของพระพุทธเจ้าที่จัดตั้งวินัยไว้ และปัญญากับเจตนาของพวกเราที่ดำเนินการตามนี้ จะ ได้เป็นเหตุปัจจัยที่จะช่วยแก้ไขปรับปรุงตัวเธอและจะได้เป็นเหตุปัจจัยที่จะ ช่วยดำรงรักษาสังฆะสังคมให้มีธรรมะปรากฏอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษย์ ยาวนานสืบไป

นี่แหละ คนไทยยังเชื่อถือนับถือและถือปฏิบัติกันผิดพลาด มีการพูดบอกกันว่า เออ...เขาทำกรรมไม่ดี เดี๋ยวเขาก็รับกรรมของเขาเอง นี่แหละผิดหลักพระพุทธศาสนาอย่างจังเลย คนไทยนับถือผิดเยอะเลย จะต้องแก้กันมากในเรื่องนี้

ที่จริง ความเข้าใจผิด เชื่อผิด ถือผิด อันนี้ ถ้าไม่ระวังให้ดี อาจจะพลัดไปเข้าลัทธิมิจฉาทิฏฐิอันหนึ่ง คือลัทธิปล่อยไปตามโชค คอยโชคหรือแล้วแต่โชค

พระพุทธเจ้านั้น ถ้ามีใครทำผิดน่ะหรือ พระองค์ไม่ปล่อยหรอก ทรงบัญญัติวางระบบแห่งกรรมทางวินัยไว้ให้แล้ว คือ มีกรรมในทางวินัย ไว้ให้สังฆะ คือ สังคมพระ ที่จะนำมาปฏิบัติเพื่อเอาปัญญาและเจตนาที่เตรียมอย่างดีแล้ว เข้าไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมด้วยในกระบวนการของกรรมในธรรมชาติ

เป็นอันว่า มีกรรมในวินัยอีก ถ้าไปอ่านวินัยของพระ ก็เจอเลยสังฆกรรมนี้คือกรรมที่จัดตั้งไว้ชัดๆ ว่าเพื่อเอาปัญญาและเจตนาที่ตระเตรียมอย่างดีเข้าไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมกับกระบวนเหตุปัจจัยส่วนอื่นในธรรมชาติ (บอกว่า “ส่วนอื่น” เพราะอย่าลืมว่า ปัญญาและเจตนาก็เป็นเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั่นแหละ แต่มีพิเศษที่มนุษย์ ไม่มีที่อื่น)

แล้วจำเพาะลงไป ยังมีนิคหกรรม ซึ่งเป็นกรรมทางวินัยที่วางไว้สำหรับดำเนินการลงโทษพระ มีเยอะไปหมดเลย นี่คือกรรมที่มนุษย์จัดสรรขึ้นมาด้วยปัญญา และ เจตนา แล้วมันผิดธรรมชาติไหม ก็ไม่ผิด

นี่คือการที่เราเอาปัญญา และ เจตนาที่เป็นธรรมชาติพิเศษของมนุษย์ มาร่วมกระบวนการเหตุปัจจัยในธรรมชาติ และมนุษย์ที่พิเศษได้ก็เพราะมีธรรมชาติสองอย่างนี้แหละ แล้วทำไมจึงไม่ใช้กันเล่า

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงปล่อยให้คนทำกรรมเสร็จแล้วก็ปล่อยให้เขารับกรรมไปเอง โดยไม่ทำอะไร แต่ทรงสอนให้เราใช้ปัญญา และ เจตนา เข้าไปเป็นเหตุปัจจัยร่วมในกระบวนการของธรรมชาติ โดย ขั้นที่ ๑ จัดตั้งวางระบบระเบียบกฎกติกาที่จะช่วยให้คนทำกรรมที่จะทำให้ชีวิตและสังคมดี ขั้นที่ ๒ ดูแลให้คนตั้งอยู่ในระบบระเบียบที่จะทำกรรมที่จะทำให้ชีวิตและสังคมดีนั้น ขั้นที่ ๓ ดำเนินการตัดสินความพิพากษาขัดแย้ง ตลอดจนลงโทษผู้ที่ขัดขืนฝ่าฝืนละเมิด บนฐานแห่งระเบียบกฎกติกาข้อบัญญัติที่จัดตั้งไว้นั้น

ตลอดกระบวนการทางสังคมนี้ทุกขั้นตอน สาระสำคัญก็คือการนำเอาสภาวะธรรมชาติข้อปัญญาและเจตนาของมนุษย์ เข้าไปร่วมเป็นเหตุปัจจัยที่จำนำหรือผันหันเหแระบวนเหตุปัจจัยของธรรมชาตินั้นให้เป็นไปเพื่อจุดหมายที่ถูกต้องดีงามเป็นประโยชน์

เมื่อปัญญาของเราเข้าถึงความจริงจนจบเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดทั่วทั้งหมด และเจตนาของเราดีมีเมตตาปรารถนาดีต่อชีวิตและสังคมโดยบริสุทธิ์แท้จริง ถ้าเราดำเนินการได้ตามปัญญา และเจตนานั้น ผลดีก็จะเกิดขึ้นสมความมุ่งหมาย

ที่แท้ มนุษย์ทั้งหลายก็เข้าไปร่วมกระบวนการของธรรมชาติด้วยปัญญา และเจตนาของตนกันทั่วไปอยู่แล้ว แต่ที่มีปัญหากันอยู่ไม่จบไม่สิ้นว่า ไม่ลุผลที่หมายบ้าง ไม่เกิดผลดีแต่กลายเป็นผลร้ายบ้าง เกิดผลไม่พึงปรารถนาอื่นพ่วงหรือตามมาบ้าง เป็นต้น (เช่นปัญหาทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆเรื่อยมา) ก็เนื่องจากจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องใหญ่ตรงที่ว่า ปัญญา และเจตนาไม่เข้าถึงสภาวะเจนจบแจ้งจริง หรือไม่ก็เจตนาไม่ใสสะอาดจริง ก็วนกันอยู่นั่น แต่ในแง่หลักการ ก็อย่างว่านั้น

ในที่สุดจึงต้องกลับมาย้ำที่หลักการพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ คือการพัฒนาคน ได้แก่ การที่จะต้องทำให้มั่นใจอยู่เสมอในความสมบูรณ์ของปัญญา และเจตนานั้น ด้วยการตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการศึกษา หนึ่ง ที่จะทำปัญญาให้สมบูรณ์รู้ความจริงชัดเจนแจ่มแจ้งเข้าถึงสัจจะ สอง ที่จะตรวจสอบชำระเจตนาของตนให้บริสุทธิ์ใสสะอาด มุ่งเพื่อความดีงาม เพื่อความสงบสุขเป็นอิสระ ของชีวิต ของสังคม อย่างแท้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ค. 2016, 22:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร