วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 18:28  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.ค. 2014, 08:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 มี.ค. 2009, 10:48
โพสต์: 5361


 ข้อมูลส่วนตัว


นางวิสาขาได้นามว่ามิคารมารดา
ฝ่ายมิคารเศรษฐี เมื่อพระตถาคตทรงเปลี่ยนแปลงยักย้ายธรรมเทศนาอยู่ นั่งอยู่ภายนอกม่านนั่นเอง ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล อันประดับด้วยพันนัย ประกอบด้วยอจลศรัทธาเป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓ ยกชายม่านขึ้นแล้ว แล้วตั้งนางไว้ในตำแหน่งมารดาโดยการกล่าวว่า
“เจ้าจงเป็นมารดาของฉัน ตั้งแต่วันนี้ไป.”
จำเดิมแต่วันนั้น นางวิสาขาได้ชื่อว่ามิคารมารดาแล้ว ภายหลังได้บุตรชาย จึงได้ตั้งชื่อบุตรนั้นว่า “มิคาระ.”
มหาเศรษฐีหลังจากประกาศยกย่องหญิงสะใภ้แล้วก็ไปหมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า นวดฟั้นพระบาทด้วยมือ และจุมพิตด้วยปากและประกาศชื่อ ๓ ครั้งว่า
“ข้าพระองค์ชื่อมิคาระ พระเจ้าข้า” ดังนี้เป็นต้นแล้ว กราบทูลว่า
“พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่ทราบ ตลอดกาลเพียงเท่านี้ ท่านที่บุคคลให้แล้วในศาสนานี้ มีผลมาก ข้าพระองค์ทราบผลแห่งทานในบัดนี้ ก็เพราะอาศัยหญิงสะใภ้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทุกข์ทั้งปวง เมื่อหญิงสะใภ้ของข้าพระองค์มาสู่เรือนี้ ก็มาแล้วเพื่อประโยชน์เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพระองค์” ดังนี้แล้ว ได้กล่าวคาถานี้ว่า :-
“ข้าพระองค์นั้น ย่อมรู้ทั่วถึงทานที่บุคคลให้
แล้ว ในเขตที่บุคคลให้แล้วมีผลมากในวันนี้
หญิงสะใภ้คนดีของข้าพระองค์มาสู่เรือน เพื่อ
ประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ.”
นางวิสาขา ทูลนิมนต์พระศาสดาเพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้น.และในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง แม่ผัวของนางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
จำเดิมแต่กาลนั้น เรือนหลังนั้น ได้เปิดประตูแล้วเพื่อพระศาสนา
มิคารเศรษฐีทำเครื่องประดับให้นางวิสาขา
ลำดับนั้น เศรษฐีคิดว่า “สะใภ้ของเรามีอุปการะมาก เราจักทำบรรณาการให้แก่นาง เพราะเครื่องประดับของสะใภ้นั้นหนัก ไม่อาจเพื่อประดับตลอดกาลเป็นนิตย์ได้ เราจักให้ช่างทำเครื่องประดับอย่างเบา ๆ แก่นาง ควรแก่การประดับในทุกอิริยาบถ ทั้งในกลางวันและกลางคืน” ดังนี้แล้ว จึงให้ช่างทำเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะอันมีราคาแสนหนึ่ง เมื่อเครื่องประดับนั้นเสร็จแล้ว นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขให้ฉัน โดยความเคารพแล้ว ให้นางวิสาขาอาบน้ำด้วยหม้อน้ำหอม ๑๖ หม้อ ให้ยืนถวายบังคมพระศาสดา ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระศาสดาแล้ว พระศาสดาทรงทำอนุโมทนาแล้ว เสด็จไปสู่วิหารตามเดิม.
นางวิสาขามีกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก
นับแต่นั้น นางวิสาขาก็ได้ทำบุญมีทานเป็นต้นอยู่ ได้พร ๘ ประการ จากสำนักพระศาสดา ปรากฏประหนึ่งจันทเลขา (วงจันทร์) ในกลางหาว ถึงความเจริญด้วยบุตรและธิดาแล้ว ได้ทราบมาว่า นางมีบุตร ๑๐ คน มีธิดา ๑๐ คน บรรดาบุตร (ชายหญิง)เหล่านั้น คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ มีธิดาคนละ ๑๐ คน บรรดาหลานเหล่านั้น คนหนึ่ง ๆ ได้มีบุตรคนละ ๑๐ คน มีธิดาคนละ ๑๐ คน จำนวนคน ได้มีตั้ง ๘,๔๒๐ คน เป็นไปด้วยสามารถแห่งความสืบเนื่องแห่งบุตรหลานและเหลน ของนางวิสาขานั้น อย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้.
นางวิสาขาเอง ก็ได้มีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี แม้กระนั้นชื่อว่าผมหงอกบนศีรษะแม้เส้นหนึ่งก็ไม่มี นางได้เป็นประหนึ่งเด็กหญิงรุ่นอายุราว ๑๖ ปี เป็นนิตย์ ชนทั้งหลาย เห็นนางมีบุตรและหลานเป็นบริวารเดินไปวิหาร ย่อมถามกันว่า “ในหญิงเหล่านี้ คนไหน นางวิสาขา?
ชนผู้เห็นนางเดินไปอยู่ย่อมคิดว่า ‘บัดนี้ของจงเดินไปหน่อยเถิด แม่เจ้าของเราเดินไปอยู่เทียว ย่อมงาม.” ชนที่เห็นนางยืน หรือนั่ง หรือนอน ก็ย่อมคิดว่า “บัดนี้ จงยืน หรือ จงนั่ง หรือ จงนอนหน่อยเถิด แม่เจ้าของเรายืนแล้ว นั่งแล้ว หรือ นอนแล้วแล ย่อมงาม.”
นางได้เป็นผู้มีชื่อว่างามในทุกอิริยาบถ ด้วยประการฉะนี้
ก็นางวิสาขานั้น ย่อมทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก พระราชาเมื่อทรงสดับว่า นางวิสาขา ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก จึงมีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง ในเวลานางไปวิหารฟังธรรมแล้วกลับมา พระราชาจึงรับสั่งให้ปล่อยช้างไป ช้างนั้นชูงวง ได้วิ่งรี่เข้าไปใส่นางวิสาขาแล้ว หญิงบริวารของนาง ๕๐๐ บางพวกวิ่งหนีไป บางพวกไม่ละนาง เมื่อนางวิสาขาถามว่า “เกิดอะไรกันนี่?”
พวกหญิงบริวารจึงบอกว่า “แม่เจ้า ได้ทราบว่า พระราชาทรงประสงค์จะทดลองกำลังแม่เจ้า จึงรับสั่งให้ปล่อยช้าง.”
นางวิสาขา คิดว่า “จะมีประโยชน์อะไร ที่เราเห็นช้างนี้แล้ววิ่งหนีไป เราจะจับช้างนั้นอย่างไรหนอแล?”
นางจึงคิดว่า “ถ้าเราจับช้างนั้นอย่างมั่นคง ช้างนั้นจะพึงฉิบหาย” ดังนี้แล้ว จึงเอานิ้ว ๒ นิ้ว จับงวงแล้วผลักไป ช้างไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ ได้ซวนล้มลงที่พระลานหลวงแล้ว มหาชนได้สาธุการ นางพร้อมกับบริวารได้กลับเรือนโดยสวัสดีแล้ว.
อานิสงส์ของอุโบสถศีล
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพาราม ปราสาทของมิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรวิสาขา อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ บุคคลเข้าอยู่แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมาก มีความแพร่หลายมาก
ดูกรวิสาขา ข้อที่บุคคลบางคนในโลกนี้ จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว เมื่อตายไป พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา ถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตตี นี้เป็นฐานะที่จะมีได้
เพราะฉะนั้นแหละ หญิงหรือชายผู้มีศีล เข้าอยู่อุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแล้ว กระทำบุญมีสุขเป็นกำไร ไม่มีใครติเตียน ย่อมเข้าถึงสวรรค์ ฯ
ว่าด้วยรักมีอยู่เท่าไรทุกข์ก็มีเท่านั้น
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บุพพารามปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา ใกล้พระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล หลานผู้เป็นที่รักที่พอใจของนางวิสาขามิคารมารดาได้สิ้นชีวิตลง ได้ยินว่า เด็กหญิงนั้นสมบูรณ์ด้วยวัตร เลื่อมใสยิ่งในพระศาสนา เป็นผู้ไม่ประมาท ได้กระทำการขวนขวายที่ตนจะพึงทำแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายผู้เข้าไปยังบ้านของอุบาสิกา ทั้งเวลาก่อนอาหารและหลังอาหาร ปฏิบัติคล้อยตามใจของยายตน
ด้วยเหตุนั้น มหาอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา เมื่อออกจากเรือนไปข้างนอก ได้มอบหน้าที่ทั้งหมดแก่เด็กหญิงนั้นนั่นแล แล้วจึงไป และเธอก็มีรูปร่างน่าชมน่าเลื่อมใส ดังนั้น เธอจึงเป็นที่รักที่ชอบใจโดยพิเศษของวิสาขามหาอุบาสิกา เธอถูกโรคครอบงำจึงถึงแก่กรรม.
ลำดับนั้น มหาอุบาสิกาเมื่อไม่อาจจะอดกลั้นความโศก เพราะการตายของหลานได้ จึงเป็นทุกข์เสียใจ ให้คนเอาศพไปเก็บไว้แล้ว
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมารดามีผ้าเปียก ผมเปียกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในเวลาเที่ยง ด้วยคิดว่า ไฉนหนอในเวลาเราไปเฝ้าพระศาสดาจะพึงได้ความยินดีแห่งจิต
ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะนางวิสาขามิคารมารดาว่า เชิญเถิดนางวิสาขา ท่านมาแต่ไหนหนอ มีผ้าเปียก มีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง นางวิสาขากราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หลานของหม่อมฉัน เป็นที่รักที่พอใจ ทำกาละเสียแล้ว เพราะฉะนั้น หม่อมฉันจึงมีผ้าเปียกมีผมเปียก เข้ามา ณ ที่นี้ในเวลาเที่ยง เจ้าค่ะ ฯ
พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงทราบว่า นางวิสาขายินดียิ่งในวัฏฏะ เพื่อจะทรงทำความเศร้าโศกของเธอให้เบาบางลงด้วยอุบาย จึงตรัส
ดูกรนางวิสาขา ท่านปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถีหรือ ฯ
วิสาขา : ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หม่อมฉันปรารถนาบุตรและหลานเท่ามนุษย์ในพระนครสาวัตถี เจ้าค่ะ ฯ
พระผู้มีพระภาค : ดูกรนางวิสาขา มนุษย์ในพระนครสาวัตถีมากเพียงไร ที่ตายลงทุกวันๆ
วิสาขา : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ในพระนครสาวัตถี ๑๐ คนบ้าง ๙ คนบ้าง ๘ คนบ้าง ๗ คนบ้าง ๖ คนบ้าง ๕ คนบ้าง ๔ คนบ้าง ๓ คนบ้าง ๒ คนบ้าง๑ คนบ้าง ตายลงทุกวันๆ
พระผู้มีพระภาค : ดูกรนางวิสาขา ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ท่านพึงเป็นผู้มีผ้าเปียกหรือมีผมเปียกเป็นบางครั้งบางคราวหรือหนอ ฯ
อุบาสิกาได้ฟังดังนั้นแล้ว จึงเกิดความสังเวช ปฏิเสธว่า
วิสาขา : ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไม่ใช่อย่างนั้น เจ้าค่ะ พอเพียงแล้วด้วยบุตรและหลานมากเพียงนั้นสำหรับหม่อมฉัน ฯ
พระผู้มีพระภาค : ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ผู้ใดมี......... ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์
เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส ฯ
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ความโศกก็ดี ความร่ำไรก็ดี ความทุกข์ก็ดี
มากมายหลายอย่างนี้ มีอยู่ในโลก
เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
เมื่อไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก
ความโศก ความร่ำไรและความทุกข์เหล่านี้ย่อมไม่มี
เพราะเหตุนั้นแล ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ
ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก
เพราะเหตุนั้น ผู้ปรารถนาความไม่โศก อันปราศจากกิเลสดุจธุลี
ไม่พึงทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ในโลกไหนๆ ฯ
นางวิสาขาลืมเครื่องประดับไว้ที่วิหาร
ก็โดยสมัยนั้นแล นางวิสาขามิคารมารดา มีบุตรมาก มีหลานมาก มีบุตรหาโรคมิได้ มีหลานหาโรคมิได้ ถือกันว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งในกรุงสาวัตถี บรรดาบุตรหลานตั้งพันนั้น จะมีแม้สักคนหนึ่ง ที่ชื่อว่า ถึงความตายในระหว่างวัยอันไม่สมควร มิได้มีแล้ว ในงานมหรสพที่เป็นมงคล ชาวกรุงสาวัตถี จึงมักอัญเชิญนางวิสาขาให้บริโภคก่อน
ต่อมา ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อมหาชนแต่งตัวไปวิหารเพื่อฟังธรรม แม้นางวิสาขา บริโภคในที่ที่เขาเชิญแล้ว ก็แต่งเครื่องมหาลดาปสาธน์ ไปวิหารกับด้วยมหาชน
ได้ยินว่า นางวิสาขานั้น เมื่อกำลังเดินไปวิหาร นางคิดว่า
“การที่เราสวมเครื่องประดับมีค่ามากเห็นปานนั้นไว้บนศีรษะแล้วประดับอลังการจนถึงหลังเท้า เข้าไปสู่วิหาร นั้นเป็นการไม่ควร”
นางจึงเปลื้องเครื่องประดับ ผูกให้เป็นห่อที่ผ้าห่ม แล้วได้ส่งให้ในมือหญิงคนใช้ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก ผู้เกิดด้วยบุญของตนเหมือนกัน หญิงคนใช้นั้นคนเดียวจึงสามารถรับเครื่องประดับมหาลปสาธน์นั้นได้ เพราะเหตุนั้น นางวิสาขา จึงกล่าวกะหญิงคนใช้นั้นว่า “แม่ จงรับเครื่องประดับนี้ไว้ ฉันจักสวมมันในเวลากลับจากสำนักของพระศาสดา ก็นางวิสาขา ครั้นให้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นแล้ว จึงสวมเครื่องประดับชื่อฆนมัฏฐกะ ได้เข้าไปเฝ้าพระศาสดา สดับธรรมแล้ว
ในที่สุดการสดับธรรม นางถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าลุกจากอาสนะหลีกไปแล้ว ฝ่ายหญิงคนใช้นั้นของนางลืมเครื่องประดับนั้นแล้ว ก็เมื่อบริษัทฟังธรรมหลีกไปแล้ว ถ้าใครลืมของอะไรไว้ พระอานนทเถระย่อมเก็บงำของนั้น เพราะเหตุดังนี้ในวันนั้น ท่านเห็นเครื่องมหาลดาปสาธน์แล้วจึงทูลแด่พระศาสดาว่า
“นางวิสาขา ลืมเครื่องประดับไว้ แล้วกลับไปแล้ว พระเจ้าข้า.”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า
“จงเก็บไว้ในที่สุดข้างหนึ่งเถิด อานนท์.”
พระเถระจึงยกเครื่องประดับนั้น เก็บคล้องไว้ข้างบันได
นางวิสาขาตรวจบริเวณวัด
ฝ่ายนางวิสาขา เที่ยวเดินไปภายในวิหาร กับนางสุปปิยา ด้วยตั้งใจว่า “จักดูสิ่งที่ควรทำแก่ภิกษุอาคันตุกะ ภิกษุผู้เตรียมตัวจะไป และภิกษุไข้เป็นต้น.” ก็โดยปกติแล ภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้ต้องการด้วยเนยใสน้ำผึ้งและน้ำมันเป็นต้น เห็นอุบาสิกาเหล่านั้นในภายในวิหารแล้ว ย่อมถือภาชนะมีถาดเป็นต้น เดินเข้าไปหาอุบาสิกาเหล่านั้น ถึงในวันนั้น ภิกษุหนุ่มและสามเณรก็ทำแล้วอย่างนั้นเหมือนกัน
ฝ่ายนางวิสาขาตรวจดูภิกษุหนุ่มและสามเณรผู้เป็นไข้แล้วก็ออกโดยประตูอื่น ยืนอยู่ที่อุปจารวิหารแล้ว พูดว่า
“แม่ จงเอาเครื่องประดับมา ฉันจักแต่ง.”
ในขณะนั้นหญิงคนใช้นั้นก็รู้ว่าตนลืมแล้วออกมา จึงตอบว่า
“ดิฉันลืม แม่เจ้า.”
นางวิสาขา กล่าวว่า
“ถ้ากระนั้น จงไปเอามา แต่ถ้าพระผู้เป็นเจ้าอานนทเถระของเรา ยกเก็บเอาไว้ในที่อื่น เจ้าอย่าเอามา ฉันบริจาคเครื่องประดับนั้น ถวายพระผู้เป็นเจ้านั่นแล.”
นัยว่า นางวิสาขานั้นย่อมรู้ว่าพระเถระย่อมเก็บสิ่งของที่พวกพุทธบริษัทลืมไว้ เพราะฉะนั้น จึงพูดอย่างนั้น.


นางวิสาขาซื้อที่สร้างวิหารถวายสงฆ์
ฝ่ายพระเถระ พอเห็นนางคนใช้นั้น ก็ถามว่า
“เจ้ามาเพื่อประสงค์อะไร?”
เมื่อหญิงคนใช้นั่นตอบว่า
“ดิฉันลืมเครื่องประดับของแม่เจ้าของดิฉัน จึงได้มา ”
พระอานนทเถระจึงกล่าวว่า “ฉันเก็บมันไว้ที่ข้างบันไดนั้น เจ้าจงเอาไป.”
หญิงคนใช้นั้นตอบว่า
“พระผู้เป็นเจ้า ห่อภัณฑะที่ท่านเอามือถูกแล้ว แม่เจ้าของดิฉัน สั่งมิให้นำเอาไป”
เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว กลับไปมือเปล่าแล้วแจ้งเนื้อความนั้นแก่นางวิสาขา
นางวิสาขา กล่าวว่า “แม่ ฉันจักไม่ประดับเครื่องที่พระผู้เป็นเจ้าของฉันถูกต้องแล้ว ฉันบริจาคแล้ว แต่พระผู้เป็นเจ้ารักษาไว้ เป็นการลำบาก ฉันจำหน่ายเครื่องประดับนั้นแล้วจักน้อมนำสิ่งที่เป็นกัปปิยะไป เจ้าจงไปเอาเครื่องประดับนั้นมา.”
หญิงคนใช้นั้นไปนำเอามาแล้ว
นางวิสาขา ไม่แต่งเครื่องประดับนั้น สั่งให้เรียกพวกช่างทองมาแล้วให้ตีราคา เมื่อพวกช่างทองเหล่านั้นตอบว่า
“มีราคาถึง ๖ โกฏิ แต่สำหรับค่ากำเหน็จต้องถึงแสน ”
นางจึงวางเครื่องประดับไว้บนยานแล้วกล่าวว่า
“ถ้ากระนั้น พวกท่านจงขายเครื่องประดับนั้น.”
แต่เมื่อนำเครื่องประดับนั้นออกขาน ก็ไม่มีใครสามารถให้ทรัพย์จำนวนเท่านั้นได้ เพราะหญิงผู้สมควรประดับเครื่องประดับนั้น หาได้ยาก
แท้จริง หญิง ๓ คนเท่านั้น ในปฐพีมณฑล ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ๑ นางมัลลิกาภรรยาของพันธุลมัลเสนาบดี ๑ ลูกสาวของเศรษฐีกรุงพาราณสี ๑ เพราะฉะนั้น นางวิสาขา จึงซื้อเครื่องประดับนั้นเสียเองทีเดียว แล้วให้ขนทรัพย์ ๙ โกฏิ ๑ แสน ขึ้นใส่เกวียน นำไปสู่วิหาร ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว กราบทูลว่า
“พระเจ้าข้า พระอานนท์เถระผู้เป็นเจ้าของหม่อมฉัน เอามือถูกต้องเครื่องประดับของหม่อมฉันแล้ว นับแต่กาลที่ท่านถูกต้องแล้ว หม่อมฉันไม่อาจประดับได้ แต่หม่อมฉันให้ขายเครื่องประดับนั้น ด้วยคิดว่า จักจำหน่าย น้อมนำเอาสิ่งอันเป็นกัปปิยะมา แต่ก็ไม่มีผู้อื่นจะสามารถรับไว้ได้ หม่อมฉันจึงให้รับค่าเครื่องประดับนั้นเสียเองมาแล้ว หม่อมฉันจะน้อมเข้าในปัจจัยไหน ในปัจจัย ๔ พระเจ้าข้า?”
พระศาสดา ตรัสว่า
“เธอควรจะทำที่อยู่เพื่อสงฆ์ ใกล้ประตูด้านปราจีนทิศเถิด วิสาขา.”
นางวิสาขา ทูลรับว่า “สมควรพระเจ้าข้า” มีใจเบิกบาน จึงเอาทรัพย์ ๙ โกฏิที่เป็นค่าเครื่องประดับนั้นซื้อเฉพาะที่ดิน
นางเริ่มสร้างวิหารด้วยทรัพย์ ๙ โกฏิด้วยทรัพย์ของตนอีกต่างหาก
การสร้างวิหารของนางวิสาขา ๙ เดือนแล้วเสร็จ
ต่อมาวันหนึ่ง พระศาสดา ทรงตรวจดูสัตวโลกในเวลาใกล้รุ่งได้ทอดพระเนตรเห็นอุปนิสัยสมบัติของเศรษฐีบุตรนามว่า ภัททิยะผู้จุติจากเทวโลกแล้วเกิดในตระกูลเศรษฐีในภัททิยนคร ทรงทำภัตกิจในเรือนของอนาถบิณฑิตเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จบ่ายพระพักตร์ไปยังประตูด้านทิศอุดร.
ตามปกติ พระศาสดาทรงรับภิกษุในเรือนของนางวิสาขาแล้ว ก็เสด็จออกจากประตูทักษิณ ประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงรับภิกษาในเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้ว ก็เสด็จออกทางประตูด้านปราจีนประทับอยู่ในบุพพาราม
ชนทั้งหลายเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จดำเนินมุ่งตรงประตูด้านทิศอุดรแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า “จักเสด็จหลีกไปสู่ที่จาริก.”
ในวันนั้น พอนางวิสาขาทราบว่า “พระศาสดา เสด็จดำเนินบ่ายพระพักตร์ไปทางประตูด้านทิศอุดร” จึงรีบไป ถวายบังคมแล้วทราบทูลว่า “ทรงประสงค์จะเสด็จดำเนินไปสู่ที่จาริกหรือ พระเจ้าข้า?”
พระศาสดา : อย่างนั้น วิสาขา.
วิสาขา : พระเจ้าข้า หม่อมฉันบริจาคทรัพย์จำนวนเท่านี้ ให้สร้างวิหารถวายแด่พระองค์ โปรดเสด็จกลับเถิด พระเจ้าข้า.
พระศาสดา : นี้ เป็นการไป ยังไม่กลับ วิสาขา.
นางวิสาขานั้น คิดว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า จะทรงเห็นใคร ๆ ผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ เป็นแน่.” จึงกราบทูลว่า “ถ้ากระนั้น ขอพระองค์โปรดรับสั่งให้ภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เข้าใจการงานของหม่อมฉัน กลับ แล้วจึงเสด็จจาริกเถิด พระเจ้าข้า.”
พระศาสดา : เธอพอใจภิกษุรูปใด จงรับบาตรของภิกษุรูปนั้นเถิด วิสาขา.
แม้นางจะพึงใจพระอานนทเถระก็จริง แต่คิดว่า
“พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นผู้มีฤทธิ์ การงานของเราจักพลันสำเร็จ ก็เพราะอาศัยพระเถระนั้น” ดังนี้แล้ว จึงรับบาตรของพระเถระไว้ พระเถระแลดูพระศาสดา พระศาสดาตรัสว่า
“โมคคัลลานะ เธอจงพาภิกษุบริวารของเธอ ๕๐๐ รูป กลับเถิด.”
ท่านได้ทำตามพระดำรัสนั้นแล้ว ด้วยอานุภาพของท่าน พวกมนุษย์ผู้ไปเพื่อต้องการไม้และเพื่อต้องการหินระยะทางแม้ตั้ง ๕๐–๖๐ โยชน์ ก็ขนเอาไม้และหินมากมายมาทันในวันนั้นนั่นเอง แม้ยกไม้และหินใส่เกวียนก็ไม่ลำบากเลย เพลาเกวียนก็ไม่หัก
ต่อกาลไม่นานนัก พวกเขาก็สร้างปราสาท ๒ ชั้นเสร็จ ปราสาทนั้นได้เป็นปราสาทประดับด้วยห้องพันห้อง คือชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง
พระศาสดาเสด็จดำเนินจาริกไปโดย ๙ เดือนแล้วจึงเสด็จกลับกรุงสาวัตถี แม้การงานในปราสาทของนางวิสาขา ก็สำเร็จโดย ๙ เดือนเหมือนกัน. นางให้สร้างยอดปราสาทอันจุน้ำได้ ๖๐ หม้อ ด้วยทองคำสีสุกที่บุเป็นแท่งนั่นแล นางได้ยินว่า
“พระศาสดา เสด็จไปยังเชตวันมหาวิหาร” จึงทำการต้อนรับนำพระศาสดาไปวิหารของตนแล้ว รับปฏิญญาว่า "พระเจ้าข้า ขอพระองค์โปรดพาภิกษุสงฆ์ประทับอยู่ในวิหารนี้แหละตลอด ๔ เดือนนี้ หม่อมฉันจัดทำการฉลองปราสาท.” พระศาสดาทรงรับแล้ว
นางวิสาขาทำบุญฉลองวิหาร
นับแต่กาลนั้น นางวิสาขานั้น ย่อมถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานในวิหารนั่นแล
ครั้งนั้น หญิงสหายคนหนึ่งของนาง ถือผ้าผืนหนึ่งราคา ๑ ๐๐๐ มาแล้ว กล่าวว่า
“สหาย ฉันอยากจะลาดผ้าผืนนี้ โดยให้เป็นเครื่องลาดพื้นในปราสาทของท่าน ขอท่านช่วยบอกที่ลาดแก่ฉัน.”
นางวิสาขากล่าวว่า
“สหาย ถ้าฉันจะบออกแก่ท่านว่า‘โอกาสไม่มี ’ ท่านก็จักสำคัญว่า ‘ไม่ปรารถนาจะให้โอกาสแก่เรา ท่านจงตรวจดูพื้นแห่งปราสาท ๒ ชั้น และห้องพันห้องแล้วหาที่ลาดที่เหมาะสมเอาเองเถิด” หญิงสหายนั้น ถือผ้าราคา ๑ ๐๐๐ เที่ยวเดินตรวจในที่นั้น ๆ ไม่เห็นผ้าที่มีราคาน้อยกว่าผ้าของตนนั้นแล้ว ก็ถึงความเสียใจว่า “เราไม่ได้ส่วนบุญในปราสาทนี้” ได้ยืนร้องให้อยู่แล้วในที่แห่งหนึ่ง
ครั้งนั้น พระอานนทเถระ เห็นหญิงนั้น จึงถามว่า
“ร้องให้เพราะเหตุไร?”
นางจึงบอกเนื้อความนั้น
พระเถระกล่าวว่า
“อย่าคิดมากไปเลย เราจักบอกที่ลาดให้แก่ท่าน”
แล้วกล่าวว่า ‘ท่านจงลาดไว้ที่บันได ทำเป็นผ้าเช็ดเท้า ภิกษุทั้งหลาย ล้างเท้าแล้ว เช็ดเท้าที่ผ้านั้นก่อน จึงจักเข้าไปภายใน เมื่อเป็นเช่นนั้น ผลเป็นอันมากก็จักมีแก่ท่าน.”
ได้ยินว่า ที่นั่นเป็นสถานอันนางวิสาขามิได้กำหนดไว้
นางวิสาขาได้ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ในภายในวิหาร ตลอด ๔ เดือน ในวันสุดท้าย ได้ถวายผ้าสาฎกเพื่อทำจีวรแก่ภิกษุสงฆ์
ผ้าสาฎกเพื่อทำจีวร ที่ภิกษุใหม่ในสงฆ์ได้แล้ว ได้มีราคาพันหนึ่ง นางได้ถวายเภสัชเต็มบาตรแก่ภิกษุทุกรูป เพราะการบริจาคทาน ทรัพย์ได้หมดไปอีกถึง ๙ โกฏิ
นางวิสาขาบริจาคทรัพย์ในพระพุทธศาสนา ทั้งหมด ๒๗ โกฏิคือ ในการซื้อพื้นที่แห่งวิหาร ๙ โกฏิ ในการสร้างวิหาร ๙ โกฏิ ในการฉลองวิหาร ๙ โกฏิ ด้วยประการฉะนี้.
ชื่อว่าการบริจาคเห็นปานนี้ ย่อมไม่มีแก่หญิงอื่น ผู้ดำรงอยู่ในภาวะแห่งสตรีอยู่ในเรือนของคนผู้มิจฉาทิฏฐิ.
นางวิสาขาเปล่งอุทานในวันฉลองวิหารเสร็จ
ในวันแห่งการฉลองวิหารเสร็จ เวลาบ่าย นางวิสาขานั้นอันบุตรหลานแวดล้อมด้วย คิดว่า “ความปรารถนาใด ๆ อันเราตั้งไว้แล้วในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ถึงที่สุดแล้วทั้งหมดเทียว.” นางได้เดินเวียนรอบปราสาท เปล่งอุทานนี้ด้วยเสียงอันไพเราะด้วย ๕ คาถาว่า
“ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวาย ปราสาทใหม่ ฉาบด้วยปูนขาวและดิน เป็นวิหารทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว
ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายเตียงตั่งฟูกและหมอนเป็นเสนาสนภัณฑ์’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว
ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายสลากภัต ผสมด้วยเนื้ออันสะอาด เป็น โภชนทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว
ความดำริของ เราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายผ้ากาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือก ไม้ และผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.
ความดำริของเราว่า ‘เมื่อไร เราจักถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน’ ดังนี้ บริบูรณ์แล้ว.”
ภิกษุทั้งหลาย ได้ยินเสียงของนางแล้ว กราบทูลแด่พระศาสดาว่า
“พระเจ้าข้า ชื่อว่าการขับร้องของนางวิสาขา พวกข้าพระองค์ไม่เคยเห็นในกาลนาน ประมาณเท่านี้ วันนี้ นางอันบุตรและหลานแวดล้อมแล้วขับเพลงเดินเวียนรอบปราสาท ดีของนางกำเริบหรือหนอแล หรือนางเสียจริตเสียแล้ว?”
พระศาสดาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราหาขับเพลงไม่ แต่อัชฌาสัยส่วนตัวของเธอเต็มเปี่ยมแล้ว เธอดีใจว่า ‘ความปรารถนาที่เราตั้งไว้ ถึงที่สุดแล้ว‘ จึงเดินเปล่งอุทาน.”
เมื่อภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า
“ก็นางตั้งความปรารถนาไว้เมื่อไร พระเจ้าข้า.”
จึงตรัสว่า “จักฟังหรือภิกษุทั้งหลาย.”
เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า “จักฟัง พระเจ้าข้า.”
จึงทรงนำอดีตนิทานมา ตรัสต่อไปนี้ว่า
บุรพประวัติของนางวิสาขา
ภิกษุทั้งหลาย ในที่สุดแสนกัปแต่นี้ไป พระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ได้มีพระชนมายุแสนปี มีภิกษุขีณาสพแสนหนึ่งเป็นบริวาร นครชื่อหังสวดี พระชนกเป็นพระราชา นามว่า สุนันทะ พระชนนีเป็นพระเทวี นามว่า สุชาดา อุบาสิกาผู้เป็นยอดอุปัฏฐยิกาของพระศาสดาองค์นั้นทูลขอพระ ๘ประการแล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา บำรุงพระศาสดาด้วยปัจจัย ๔ ย่อมไปสู่ที่บำรุงทั้งเย็นและเช้า หญิงสหายคนหนึ่งของอุบาสิกานั้น ย่อมไปวิหารกับอุบาสิกานั้นเป็นนิตย์ หญิงนั้น เห็นอุบาสิกานั้น พูดกับพระศาสดาด้วยความคุ้ยเคย และเห็นความเป็นผู้สนิทสนมกับพระศาสดา คิดว่า
“เธอทำกรรมอะไรหนอแล จึงเป็นผู้สนิทสนมกับพระพุทธเจ้าทั้งหลายอย่างนี้?” ดังนี้แล้ว จึงทูลถามพระศาสดาว่า
“พระเจ้าข้า หญิงนี้ เป็นอะไรแก่พระองค์?”
พระศาสดา : เป็นเลิศแห่งหญิงผู้อุปัฏฐยิกา.
หญิง : พระเจ้าเข้า นางกระทำกรรมอะไร จึงเป็นเลิศแห่งหญิงผู้อุปัฏฐยิกา?
พระศาสดา : เธอตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป.
หญิง : บัดนี้ หม่อมฉันปรารถนาแล้วอาจจะได้ไหม พระเจ้าข้า?
พระศาสดา : จ๊ะ อาจ.
หญิงนั้นกราบทูลว่า “พระเจ้าข้า ถ้ากระนั้น ขอพระองค์กับภิกษุแสนรูป โปรดรับภิกษาของหม่อมฉันตลอด ๗ วันเถิด.พระศาสดาทรงรับแล้ว หญิงนั้น ถวายทานครบ ๗ วัน ในวันที่สุดได้ถวายผ้าสาฏกเพื่อทำจีวรแล้ว ถวายบังคมพระศาสดา หมอบลงแทบบาทมูล ตั้งความปรารถนาว่า
“พระเจ้าข้า ด้วยผลแห่งทานนี้ หม่อมฉันปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลกเป็นต้นอย่างไรหนึ่งก็หาไม่ แล้วตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา เป็นยอดของอุบาสิกาผู้สามารถเพื่อบำรุงด้วยปัจจัย ๔.”
พระศาสดา ทรงดำริว่า
“ความปรารถนาของหญิงนี้ จักสำเร็จหรือหนอ?”
ทรงคำนึงถึงอนาคตกาล ตรวจดูตลอดแสนกัปแล้วจึงตรัสว่า
“ในที่สุดแห่งแสนกัป พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ในกาลนั้น เธอจักเป็นอุบาสิกาชื่อว่าวิสาขา ได้พร ๘ ประการ ในสำนักของพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดา จักเป็นเลิศแห่งหญิงผู้เป็นอุปัฏฐายิกา ผู้บำรุงด้วยปัจจัย ๔.” สมบัตินั้นได้ประหนึ่งว่า อันนางจะพึงได้ในวันพรุ่งนี้ทีเดียว.
นางทำบุญจนตลอดอายุแล้ว จุติจากอัตภาพนั้น เกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสป เป็นพระธิดา พระนามว่า สังฆทาสี ผู้พระกนิษฐาของบรรดาพระธิดา ๗ องค์ ของพระจ้ากาสีพระนามว่ากิงกิ ยังมิได้ไปสู่ตระกูลอื่น ทรงทำบุญมีทานเป็นต้นกับด้วยเจ้าพี่หญิงเหล่านั้นตลอดกาลนาน ได้ทำความปรารถนาไว้ แม้แทบบาทมูลแห่งพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปว่า
“ในอนาคตกาล หม่อมฉัน พึงได้พร ๘ ประการ ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์แล้ว ตั้งอยู่ในฐานะดังมารดาเป็นยอดแห่งอุบาสิกาผู้ถวายปัจจัย ๔
สัตว์เกิดแล้วควรทำกุศลให้มาก
พระศาสดาครั้นทรงแสดงอดีตนิทานจบแล้ว ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราย่อมไม่ขับเพลง ด้วยประการฉะนี้แล แต่เธอเห็นความสำเร็จ แห่งความปรารถนาที่ตั้งไว้ จึงเปล่งอุทาน.” เมื่อจะทรงแสดงธรรม ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย นายมาลาการผู้ฉลาด นำกองดอกไม้ต่าง ๆ ให้เป็นกองโตแล้ว ย่อมทำพวงดอกไม้มีประการต่าง ๆ ได้ฉันใด;
จิตของนางวิสาขา ย่อมน้อมไปเพื่อทำกุศล มีประการต่าง ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน”
ภายหลังต่อมา พระศาสดาเมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ จึงทรงสถาปนานางวิสาขามิคารมารดาไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายทาน แล.

นางวิสาขาขอพร ๘ ประการ
พระวินัยปิฎก มหาวรรค
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครพาราณสี ตามพระพุทธาภิรมย์ แล้วเสด็จพระพุทธดำเนินไปทางพระนครสาวัตถี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถีนั้น
ครั้งนั้น นางวิสาขา มิคารมาตาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้นาง เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา แล้ว นางวิสาขาได้กราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาค พร้อมด้วยพระสงฆ์จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเจริญบุญกุศลและปิติ ปราโมทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาด้วยดุษณีภาพ
ครั้นนางทราบการรับอาราธนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณกลับไป
ครั้นผ่านราตรีนั้นไป ฝนตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔ ตกลงมาห่าใหญ่
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝนตกในเชตวัน ฉันใด ตกในทวีปทั้ง ๔ ก็ฉันนั้น พวกเธอจงสรงสนานกายกันเถิด เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่ฝนห่าใหญ่ตั้งเค้าขึ้นในทวีปทั้ง ๔
ภิกษุเหล่านั้นรับสนองพระพุทธบัญชาว่า
เป็นดังพระพุทธดำรัส พระพุทธเจ้าข้า แล้วพากันเปลื้องผ้าสรงสนานกายอยู่
ครั้งนั้น นางวิสาขามิคารมาตา สั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของบริโภคอันประณีต แล้วสั่ง ทาสีว่า ไปเถิดแม่ เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า
ทาสีนั้นรับคำ แล้วไปวัด ได้เห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ครั้นแล้วเข้าใจผิดคิดว่า ในอารามไม่มีภิกษุมีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่ จึงกลับไปบ้านได้ แจ้งความแก่นางวิสาขามิคารมาตาว่า
คุณนาย ภิกษุไม่มีในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานอยู่เจ้าค่ะ
นางวิสาขามิคารมาตา เป็นสตรีฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญารู้ได้ทันทีว่า
พระคุณเจ้า ทั้งหลายคงเปลื้องผ้าพากันสรงสนานกายเป็นแน่ นางคนนี้เขลาจึงสำคัญว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงสั่งสาวใช้ว่า ไปเถิดแม่ทาสี เจ้าจงไปอารามแล้วแจ้งภัตกาลว่า ถึงเวลาแล้ว ภัตตาหารเสร็จแล้วเจ้าข้า.
ครั้นเวลาต่อมา ภิกษุเหล่านั้น ทำตัวให้เย็น มีกายงาม ต่างถือจีวรเข้าไปสู่ที่อยู่ตามเดิม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเตรียมบาตรจีวร ถึงเวลาภัตตาหารแล้ว.
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระพุทธบัญชาว่า เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า.
ครั้นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรจีวร เสด็จหายไปในพระเชตวัน มาปรากฏที่ซุ้มประตูบ้านนางวิสาขามิคารมาตา ดุจบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดถวาย พร้อมด้วยพระสงฆ์.
ขณะนั้น นางวิสาขามิคารมาตากล่าวว่า ชาวเราผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริงหนอ ชาวเราผู้เจริญประหลาดจริงหนอ พระตถาคต ชื่อว่ามีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก เพราะเมื่อห้วงน้ำไหลนองไปเพียงเข่าบ้าง เพียงสะเอวบ้าง เท้าหรือจีวรของภิกษุ แม้รูปหนึ่ง ก็ไม่ได้เปียกน้ำ ดังนี้แล้ว ร่าเริง เบิกบานใจ อังคาสภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนพระผู้มีพระภาคผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตรห้ามภัตรแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า
หม่อมฉันทูลขอประทานพร ๘ ประการต่อพระผู้มีพระภาคพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : ตถาคตเลิกให้พรเสียแล้ว วิสาขา
วิสาขา : หม่อมฉันทูลขอประทานพรที่สมควรและไม่มีโทษ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : จงบอกมาเถิด วิสาขา.
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า สำหรับพระสงฆ์
หม่อมฉันปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎก(ผ้าอาบน้ำฝน) จนตลอดชีพ
จะถวายภัตรเพื่อพระอาคันตุกะ(อาหารเพื่อพระภิกษุผู้จรมาใหม่) จนตลอดชีพ
ถวายภัตรเพื่อพระที่เตรียมจะไป(เดินทางไกล) จนตลอดชีพ
จะถวายภัตรเพื่อพระอาพาธ (ป่วย) จนตลอดชีพ
จะถวายภัตรเพื่อพระที่พยาบาลพระอาพาธ จนตลอดชีพ
จะถวายเภสัชสำหรับพระอาพาธ จนตลอดชีพ
จะถวายยาคูประจำ (ข้าวต้มประจำวัน) จนตลอดชีพ
และสำหรับภิกษุณีสงฆ์ หม่อมฉันปรารถนาจะถวายอุทกสาฎก (ผ้านุ่งอาบน้ำ) จนตลอดชีพ
พระผู้มีพระภาค : วิสาขา ก็เธอเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต.
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า วันนี้หม่อมฉันสั่งทาสีว่า ไปเถิด แม่ทาสี เจ้าจงไปอาราม แล้วบอกภัตรกาลว่า ภัตตาหารเสร็จแล้ว เจ้าข้า และนางก็ไปวัด ได้เห็นภิกษุทั้งหลายเปลื้องผ้าสรง สนานกายอยู่ เข้าใจผิดคิดว่า ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่ จึงกลับมาบ้าน แล้วรายงานแก่หม่อมฉันว่า คุณนาย ไม่มีภิกษุในอาราม มีแต่พวกอาชีวกสรงสนานกายอยู่.
๑ พระพุทธเจ้าข้า ความเปลือยกายไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าวัสสิกสาฎกแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ.
๒ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระอาคันตุกะไม่ชำนาญหนทาง ไม่รู้จักที่โคจร ย่อมเที่ยวบิณฑบาตลำบาก ท่านฉันอาคันตุกภัตรของหม่อมฉัน พอชำนาญหนทาง รู้จักที่โคจร จักเที่ยวบิณฑบาตได้ไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวาย อาคันตุกภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๓ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้เตรียมตัวจะไปมัวแสวงหาภัตตาหาร เพื่อตนอยู่ จักพลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ที่ตนต้องการจะไปอยู่เมื่อพลบค่ำ จักเดินทางลำบาก ท่านฉันคมิกภัตรของหม่อมฉันแล้ว จักไม่พลาดจากหมู่เกวียน หรือจักถึงสถานที่ ที่ตนต้องการจะไปอยู่ไม่พลบค่ำ จักเดินทางไม่ลำบาก หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคมิกภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๔ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้โภชนาหารที่เป็นสัปปายะอาพาธกำเริบ หรือท่านจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานภัตรของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลา ท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานภัตรแก่สงฆ์ จนตลอดชีพ
๕ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระผู้พยาบาลพระอาพาธ มัวแสวงหาภัตตาหารเพื่อตน จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธจนสาย ตนเองจักอดอาหาร ท่านได้ฉันคิลานุปัฏฐากภัตรของหม่อมฉันแล้ว จักนำภัตตาหารไปถวายพระอาพาธตามเวลา ตนเองก็จักไม่อดอาหาร หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานุปัฏฐากภัตรแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๖ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า เมื่อพระอาพาธไม่ได้เภสัชที่เป็นสัปปายะอาพาธจักกำเริบ หรือจักถึงมรณภาพ เมื่อท่านฉันคิลานเภสัชของหม่อมฉันแล้ว อาพาธจักทุเลาท่านจักไม่ถึงมรณภาพ หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายคิลานเภสัชแก่พระสงฆ์ จนตลอดชีพ
๗ อนึ่ง ข้ออื่นยังมีอีก พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงเห็นอานิสงส์ ๑๐ ประการได้ทรงอนุญาตยาคูไว้แล้ว ที่เมืองอันธกวินทะ หม่อมฉันเห็นอานิสงส์ตามที่พระองค์ตรัสนั้น จึงปรารถนาจะถวายยาคูประจำแก่สงฆ์ จนตลอดชีพ
๘ พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุณีทั้งหลายเปลือยกายอาบน้ำร่วมท่ากับหญิงแพศยา ณ แม่น้ำอจิรวดีนี้ หญิงแพศยาเหล่านั้นพากันเย้ยหยันภิกษุณีว่า แม่เจ้าเอ๋ย พวกท่านกำลังสาวประพฤติพรหมจรรย์จะได้ประโยชน์อะไร ควรบริโภคกามมิใช่หรือ ประพฤติพรหมจรรย์ต่อเมื่อแก่เฒ่าอย่างนี้ จักเป็นอันพวกท่านยึดส่วนทั้งสองไว้ได้ ภิกษุณีเหล่านั้น ถูกพวกหญิงแพศยาเย้ยหยันอยู่ ได้เป็นผู้เก้อ ความเปลือยกายของมาตุคามไม่งาม น่าเกลียด น่าชัง หม่อมฉันเห็นอำนาจประโยชน์นี้ จึงปรารถนาจะถวายผ้าอุทกสาฎก แก่ภิกษุณีสงฆ์จนตลอดชีพ.
พระผู้มีพระภาค : วิสาขา ก็เธอเห็นอานิสงส์อะไร จึงขอพร ๘ ประการต่อตถาคต
วิสาขา : พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุทั้งหลายในพระธรรมวินัยนี้ จำพรรษาในทิศทั้งหลายแล้ว จักมาพระนครสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระองค์ แล้วจักทูลถามว่า ภิกษุมีชื่อนี้ถึงมรณภาพแล้ว ท่านมีคติอย่างไร มีภพหน้าอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า พระองค์จักทรงพยากรณ์ภิกษุนั้นในโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อานาคามิผล หรืออรหัตผล หม่อมฉันจักเข้าไปหาภิกษุพวกนั้น แล้วเรียนถามว่า
พระคุณเจ้ารูปนั้นเคยมาพระนครสาวัตถีไหมเจ้าข้า ถ้าท่านเหล่านั้นจักตอบแก่หม่อมฉันว่า ภิกษุ นั้นเคยมาพระนครสาวัตถี หม่อมฉันจักถึงความตกลงใจในการมาของพระคุณเจ้ารูปนั้นว่า
พระคุณเจ้ารูปนั้นคงใช้สอยผ้าวัสสิกศาฎก คงฉันอาคันตุกภัตร คมิกภัตร คิลานภัตร คิลานุปัฏฐากภัตรคิลานเภสัช หรือยาคูประจำเป็นแน่ เมื่อหม่อมฉันระลึกถึงกุศลนั้นอยู่ ความปลื้มใจจักบังเกิด เมื่อหม่อมฉันปลื้มใจแล้ว ความอิ่มใจจักบังเกิด เมื่อมีใจอิ่มเอิบแล้ว กายจักสงบ เมื่อมีกายสงบแล้ว จักเสวยสุข เมื่อมีความสุข จิตจักตั้งมั่น จักเป็นอันหม่อมฉันได้อบรมอินทรีย์ อบรมพละ อบรมโพชฌงค์นั้น หม่อมฉันเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอประทานพร ๘ ประการต่อพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาค : ดีละ ดีละ วิสาขา ดีแท้ วิสาขา เธอเห็นอานิสงส์นี้ จึงขอพร ๘ ประการ ต่อตถาคต เราอนุญาตพร ๘ ประการแก่เธอ
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนานางวิสาขามิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้ ว่าดังนี้:
คาถาอนุโมทนา
สตรีใด ให้ข้าวและน้ำ มีใจเบิกบานแล้ว สมบูรณ์ด้วยศีล
เป็นสาวิกาของพระสุคต ครอบงำความตระหนี่แล้ว บริจาค
ทานอันเป็นเหตุแห่งสวรรค์ เป็นเครื่องบรรเทาความโศก
นำมาซึ่งความสุข สตรีนั้น อาศัยมรรคปฏิบัติ ปราศจากธุลี
ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วใจ ย่อมได้กำลังและอายุเป็นทิพย์ สตรี
ผู้ประสงค์บุญนั้น เป็นคนมีสุข สมบูรณ์ด้วยอนามัย ย่อม
ปลื้มใจในสวรรค์สิ้นกาลนาน
พระพุทธานุญาตผ้าวัสสิกสาฎกเป็นต้น
ครั้นพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนา นางวิสาขามิคารมาตา ด้วยพระคาถาเหล่านี้ แล้ว เสด็จลุกจากที่ประทับกลับไป
ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถาในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตผ้าวัสสิกสาฎก อาคันตุกภัตรคมิกภัตร คิลานภัตร คิลานุปัฏฐากภัตร คิลานเภสัช ยาคูประจำ อนุญาตผ้าอุทกสาฎก สำหรับภิกษุณีสงฆ์
ก็จำเดิมแต่กาลนั้น นางท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก ในอัตภาพนี้ ได้เกิดเป็นธิดาของธนญชัยเศรษฐีผู้เป็นบุตรแห่งมณฑกเศรษฐี ได้ทำบุญเป็นอันมากในศาสนาของเรา.
นางวิสาขามหาอุบาสิกาสิ้นชีวิตอุบัติในสวรรค์นิมมานรดี
ด้วยอานิสงส์ที่นางวิสาขามหาอุบาสิกา และเพื่อนบริวาร ๕๐๐ คนได้ร่วมกัน โดยนางวิสาขาสละเครื่องประดับนั้น ซึ่งมีราคาถึงเก้าโกฏิเจ็ดพันกหาปนะ สร้างปราสาทหลังใหญ่สมควรเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์ ประดับด้วยห้องหนึ่งพันห้อง คือชั้นล่างห้าร้อยห้อง ชั้นบนห้าร้อยห้อง โดยที่ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างจัดไว้อย่างดี น่าจับใจ งานไม้ที่น่ารื่นรมย์ก็ตกแต่งสำเร็จเป็นอย่างดีงานปูนก็พิถีพิถันทำอย่างดีน่าปลื้มใจ วิจิตรไปด้วยจิตรกรรมมีมาลากรรมลายดอกไม้ และลดากรรมลายเถาไม้เป็นต้นที่ประดับตกแต่งไว้อย่างงดงาม และสร้างปราสาทห้องรโหฐานหนึ่งพันปราสาทเป็นบริวารของปราสาทใหญ่นั้น และสร้างกุฎีมณฑปและที่จงกรมเป็นต้นเป็นบริวารของปราสาทเหล่านั้น ใช้เวลา ๙ เดือนจึงสร้างวิหารเสร็จ เมื่อวิหารสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
นางวิสาขาใช้เงินฉลองวิหารถึงเก้าโกฏิกหาปนะ นางพร้อมด้วยหญิงสหายประมาณ ๕๐๐ คนขึ้นปราสาท ได้เห็นสมบัติของปราสาทนั้น ดีใจกล่าวกะพวกเพื่อนหญิงว่า
เมื่อฉันสร้างปราสาทหลังนี้งามถึงเพียงนี้ ขอเธอทั้งหลายจงอนุโมทนาบุญที่ฉันขวนขวายนั้น ฉันขอให้ส่วนบุญแก่พวกเธอ เพื่อนหญิงทั้งหมดมีใจเลื่อมใสต่างอนุโมทนาว่า อโห สาธุ อโห สาธุ ดีจริง ๆ ดีจริง ๆ.
บรรดาเพื่อนหญิงเหล่านั้น เพื่อนอุบาสิกาคนหนึ่งได้ใส่ใจถึงการแผ่ส่วนบุญให้นั้นเป็นพิเศษ
ต่อมาไม่นาน นางได้ตายไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ ด้วยบุญญานุภาพของนางได้ปรากฏวิมานหลังใหญ่ ยาวกว้างและสูงสิบหกโยชน์ ประดับประดาด้วยห้องรโหฐาน กำแพงอุทยานและสระโบกขรณีเป็นต้นมิใช่น้อย ล่องลอยอยู่ในอากาศ แผ่รัศมีของตนไปได้ร้อยโยชน์ อัปสรนั้น เมื่อจะเดินก็เดินไปพร้อมกับวิมาน สำหรับมหาอุบาสิกาวิสาขา เพราะมีจาคะไพบูลย์และมีศรัทธสมบูรณ์จึงบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ได้ดำรงตำแหน่งอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช
ครั้งนั้น ท่านพระอนุรุทธะเที่ยวจาริกไปเทวโลก เห็นเพื่อนหญิงของนางวิสาขานั้นเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และทราบว่านางวิสาขาบังเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ได้ดำรงตำแหน่งอัครมเหสีของท้าวสุนิมมิตเทวราช.
ส่วนในที่นี้ ท่านพระอนุรุทธะกลับมนุษยโลกแล้ว ได้กราบทูลเนื้อความที่ตนและเทพธิดาพูดกัน ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำเนื้อความนั้นให้เป็นอัตถุปปัตติเหตุเกิดเรื่อง ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน พระธรรมเทศนานั้นได้เป็นประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้แล.
นางวิสาขามหาอุบาสิกาจะนิพพานในเทวโลกในอนาคต
อนึ่ง พระโสดาบันบางองค์ มีอัชฌาสัยในวัฏฏะ เป็นผู้ยินดีในวัฏฏะ ย่อมท่องเที่ยวไปในวัฏฏะบ่อย ๆ นั่นเทียว ปรากฏอยู่
ก็ชนเหล่านี้ มีประมาณเท่านี้ คือ
๑ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
๒ วิสาขา อุบาสิกา
๓ จูลรถเทวบุตร
๔ มหารถเทวบุตร
๕ อเนกวรรณเทวบุตร
๖ ท้าวสักกเทวราช
๗ นาคทัตตเทวบุตร.
ทั้งหมดนี้ มีอัธยาศัยในวัฏฏะ เกิดในเทวโลก ๖ ชั้น ตั้งแต่ต้นชำระจิตให้สะอาดในเทวโลกนั่นแหละ แล้วจึงตั้งอยู่ในพรหมสุทธาวาสในชั้นอกนิฏฐภพ (เป็นพรหมชั้นสูงสุดในรูปพรหม) จึงจักปรินิพพาน ชนเหล่านี้ไม่ต้องลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีกแล้ว
แต่ว่าพึงทราบว่า ในที่นี้พระองค์ทรงถือเอาพระโสดาบัน ที่ชื่อว่า สัตตักขัตตุปรมะ กับโกลังโกละ ด้วยสามารถแห่งภพอันเจือกัน และ พระโสดาบันผู้บังเกิดในภพของมนุษย์เท่านั้นที่ชื่อว่า เอกพีชี.


เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ ที่ผ่านมาได้จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย

ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร