วันเวลาปัจจุบัน 22 ก.ค. 2025, 00:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1416 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 59, 60, 61, 62, 63, 64, 65 ... 95  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย อันสรีรกายนี้ไม่แท้เที่ยง
ปราศจากความกล้าแข็ง ปราศจากพลัง ปราศจากแก่นสาร

เป็นสภาพมีอันเสื่อมโทรมโดยรวดเร็ว ไม่เป็นที่ไว้วางใจได้
สรีรกายนี้เป็นทุกข์ เป็นที่เดือดร้อน เป็นที่ประชุมของโรค

ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายดั่งนี้แล บัณฑิตผู้มีปัญญา ย่อมไม่หลงใหลเพลิดเพลิน
สรีระนี้อุปมาดั่งฟองนํ้า จักลูบคลำมิได้

สรีระนี้อุปมาดั่งต่อมนํ้า เพราะไม่สามารถตั้งมั่นได้นาน
สรีระนี้อุปมาดั่งพยับแดด เพราะเกิดมาแต่ตัณหา

สรีระนี้อุปมาดั่งต้นกล้วย เพราะปราศจากแก่นสาร
สรีระนี้อุปมาดั่งภาพมายา เพราะเกิดมาแต่ความวิปลาส

สรีระนี้อุปมาดั่งความฝัน เพราะเกิดมาแต่ความหลงผิดให้เป็นไป
สรีระนี้อุปมาดั่งเงา เพราะเกิดมาจากกรรมสมุฏฐาน

สรีระนี้อุปมาดั่งเสียง เพราะอาศัยประชุมแห่งปัจจัยจึงมีได้
สรีระนี้อุปมาดั่งก้อนเมฆ เพราะตั้งอยู่ชั่วคราวก็เปลี่ยนแปร
สรีระนี้อุปมาดั่งสายฟ้าแลบ เพราะตั้งอยู่คงทนมิได้ทุกๆขณะ ฯลฯ"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านวิมลเกียรติ ได้กล่าวถึงโทษแห่งสรีระไว้เป็นอเนกประการแล้ว จึงกล่าวสรุปว่า

"ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย สรีรกายนี้น่าเบื่อหน่ายเห็นปานฉะนี้
เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายพึงยินดีในพระพุทธสรีระ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ?

ก็เพราะว่า อันพระพุทธสรีรกายนั้น คือพระธรรมกายนั่นเอง
ย่อมเกิดมาจากปัญญา และคุณสมบัติเป็นอันมากจักประมาณมิได้

เกิดจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัศนะ
เกิดมาจากเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
เกิดมาจากทาน ศีล ขันติ โสรัจจะ วิริยะ ฌาน วิมุตติ สมาธิ พหูสูต ปัญญา แลปวงบารมีธรรม

เกิดมาจากอุปายะ เกิดมาจากฉฬภิญญา เตวิชชา และโพธิปักขิยธรรม ๓๗
เกิดมาจากสมถวิปัสสนา

เกิดมาจากทศพลญาณ
เกิดมาจากจตุเวสารัชชญาณ (ปัญญาอันเป็นเหตุให้แกล้วกล้า ๔ ประการ)
และอเวณิกธรรม ๑๘ (คุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ)

เกิดมาจากสรรพอกุศลสมุจเฉทธรรม และจากสรรพกุศลภาวนาธรรม
เกิดมาจากภูตตัตตวธรรม (ธรรมแห่งความเป็นจริงที่เป็นเช่นนั้น)
เกิดมาจากอัปปมาทธรรม และวิสุทธิธรรมเป็นอเนกอนันต์

ดังกล่าวมานี้ ยังพระตถาคตกายให้บังเกิดขึ้น
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจักได้พระพุทธสรีรกาย

แลอาจตัดเสียซึ่งพยาธิโรคันตรายของสรรพสัตว์ได้ขาด
ผู้นั้นพึงตั้งจิตปณิธานในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (พุทธภูมิ) เถิด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หลังจากนั้นก็จะเป็นบทปุจฉาวิสัชนาที่ว่าด้วยเรื่องศูนยตา, ตถาคตพีชะ/โพธิจิต, และโพธิสัตว์จริยา :b46: :b39: :b46:

ตัดส่วนที่เนื่องด้วยตถตา ศูนยตา จากช่วงที่สองนี้มาให้ได้ศึกษากัน ตามนี้ครับ :b1: :b46: :b39: :b46:

(เนื้อหาที่ตัดมาจากพระสูตรเต็มนี้นั้น อาจจะยาวไปสักหน่อย แต่พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจแนวทางของมหายาน จึงนำมาลงไว้ทั้งหมด)

..............................................

"ข้าแต่พระมัญชุศรีผู้เจริญ การมาของพระคุณเป็นการมาดีแล้ว
แต่ว่ากันตามเป็นจริง พระคุณก็ไม่มีลักษณะใดที่จะมา แต่ก็ได้มา
กระผมเล่าก็ไม่มีลักษณะใดจะพึงเห็น แต่ก็ได้เห็น"

พระมัญชุศรีตอบว่า "ถูกละ คฤหบดี!
ถ้ามาแล้ว ก็ย่อมไม่มีการมาอีก

หรือหากไปแล้ว ก็ย่อมไม่มีการไปอีก
ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน?

เพราะโดยความจริงแล้ว ย่อมปราศจากแห่งหนในการมา
แลย่อมปราศจากแห่งหนในการไป
อันสรรพสิ่งที่เห็นนั้นเล่า ก็ย่อมปราศจากสภาวะอันจักพึงเห็นได้"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระมัญชุศรีถามว่า
"คฤหาสน์ของท่านคฤหบดี ไฉนจึงว่างเปล่าจากผู้คนบริวารเล่า?"

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า
"แม้แต่พระพุทธเกษตรแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็มีสภาพว่างเปล่าดุจกัน"

ถามว่า "เพราะเหตุดังฤๅจึงว่างเปล่า?"
ตอบว่า "เพราะมีความว่างเปล่าเป็นสภาพ ดังนั้นจึงชื่อว่าว่างเปล่า"

ถามว่า "ก็เมื่อเป็นสภาพว่างเปล่าอยู่แล้ว ไฉนจึงต้องเพ่งพิจารณาว่าว่างเปล่าอีก?"
ตอบว่า "เพราะความที่ปราศจากวิกัลปะ*ในความว่างเปล่านั่นเอง จึงเป็นศูนยตา"
(* วิกัลปะ คืออาการคิดนึกจินตนาการด้วยกิเลสอวิชชา จึงมองโลกด้วยทวิภาวะ แบ่งแยกระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือระหว่างผู้ยึดถือกับสิ่งที่ถูกยึดถือ มีเรามีเขา)

ถามว่า "ก็ศูนยตานั้นพึงวิกัลปะได้ด้วยฤๅ? "
ตอบว่า "แม้วิกัลปะก็เป็นศูนยตา"

ถามว่า "จักหาศูนยตาได้แต่ไหน?"
ตอบว่า "พึงหาได้จากทิฐิ ๖๒"

ถามว่า "ก็ทิฐิ ๖๒ นั้น จักหาได้แต่ไหน? "
ตอบว่า "พึงหาได้ในวิมุตติภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวง"

ถามว่า "ก็วิมุตติภาพแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวงเล่า พึงหาได้แต่ไหน? "
ตอบว่า "พึงหาได้จากจิตจรรยาของสรรพสัตว์

อนึ่ง พระคุณท่านถามกระผมตอนต้นว่า ไฉนกระผมจึงไม่มีผู้คนบริวารเป็นอุปัฏฐากนั้น
อันที่จริงสรรพมารกับทั้งปวงพาหิรชน ล้วนเป็นบริวารอุปัฏฐากของกระผม

ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน?

ก็เพราะว่าสรรพมารทั้งปวง ย่อมยินดีปรารถนาในความเวียนว่ายตายเกิด
แม้พระโพธิสัตว์ ก็ย่อมไม่สละคืนซึ่งความเวียนว่ายตายเกิดเช่นเดียวกัน

บรรดาพาหิรชน ย่อมยินดีปรารถนาในปวงทิฐิ
แต่พระโพธิสัตว์ ย่อมไม่ไหวหวั่นด้วยทิฐิเหล่านั้น"

.............

พระมัญชุศรีถามว่า "อาพาธของท่านคฤหบดี มีลักษณาการโรคอย่างไร?"
ตอบว่า "อาพาธของกระผมปราศจากลักษณาการอันจักพึงเห็นได้"

ถามว่า "อาพาธของท่านคฤหบดี มันเกิดเป็นขึ้นกับกายหรือเกิดเป็นขึ้นกับจิต?"
ตอบว่า "จักว่ากายก็มิใช่ เพราะห่างไกลจากกายลักษณะ และก็มิใช่จิต เพราะจิตนั้นเป็นดุจมายา"

ถามว่า "ในบรรดามหาภูตรูป ๔ กล่าวคือ ปฐวีมหาภูต อาโปมหาภูต เตโชมหาภูต วาโยมหาภูตนั้น
มหาภูตใดของท่านหนอที่เกิดอาพาธขึ้น?"
ตอบว่า "อาพาธของกระผมมิใช่เป็นที่ปฐวีมหาภูต อาโปมหาภูต เตโชมหาภูต วาโยมหาภูต
แต่ก็ไม่เป็นอื่นไปจากมหาภูตทั้ง ๔ นั้น

ก็แต่ว่าอาพาธสมุฏฐานแห่งปวงสัตว์ ย่อมเกิดมาจากมหาภูตรูป ๔
เมื่อสรรพสัตว์ยังมีอาพาธอยู่ตราบใด กระผมก็ยังต้องอาพาธอยู่ตราบนั้น"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ก็โดยสมัยนั้นแล พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ได้ถามท่านวิมลเกียรติคฤหบดีว่า

"พระโพธิสัตว์ผู้ไปเยี่ยมเยียนพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่ จักพึงปลอบโยนให้โอวาทด้วยประการฉันใดหนอ?"

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า

"พึงให้โอวาทถึงความอนิจจังแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวให้เกิดความรังเกียจเอือมระอาในสรีระ
พึงให้โอวาทถึงความเป็นทุกขังแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวให้เกิดความยินดีในพระนิพพาน

พึงให้โอวาทถึงความเป็นอนัตตาแห่งสรีระ แต่ให้กล่าวให้เกิดวิริยะในการโปรดสรรพสัตว์
พึงให้โอวาทถึงความเป็นศูนยตาแห่งสรีระ แต่อย่ากล่าวว่าโดยที่สุดสิ่งทั้งปวงเป็นสภาพดับรอบไม่เหลือ

พึงให้โอวาทถึงการขมาโทษก่อน แต่อย่ากล่าวโทษเหล่านั้นว่าเป็นสิ่งที่ได้กระทำมาแล้วในอดีต
พึงอาศัยความเจ็บป่วยของตนเอง เปรียบเทียบไปถึงความป่วยเจ็บของสรรพสัตว์
แล้วแลเกิดความกรุณาต่อสัตว์เหล่านั้น

พึงย้อนระลึกถึงความทุกข์ ที่ตนได้เสวยมาแต่เบื้องอดีตชาตินานไกล นับด้วยหลายอสงไขยกัลป์
แล้วตั้งจิตให้มั่น อยู่ในกิจที่จักบำเพ็ญหิตานุหิตประโยชน์โปรดสรรพสัตว์
พึงระลึกถึงกุศลสมภาร ที่ตนได้สร้างสมมา
ตั้งจิตอยู่ในวิสุทธิสัมมาอาชีวปฏิปทา อย่าให้เกิดความทุกข์โทมนัส

พึงตั้งอยู่ในวิริยภาพ ดำรงตนเป็นจอมแพทย์ในอันจักรักษาบำบัดพยาธิภัยแก่ปวงสัตว์
พระโพธิสัตว์ พึงปลอบโยนให้โอวาทแก่พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ
ยังพระโพธิสัตว์ผู้อาพาธนั้น ให้มีธรรมปีติบังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ด้วยประการดังกล่าวนี้"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระมัญชุศรีถามว่า
"ดูก่อนคฤหบดี ก็พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธอยู่ จักพึงฝึกฝนอบรมจิตใจอย่างไรหนอ?"

ท่านวิมลเกียรติตอบว่า
"พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ พึงมนสิการในใจว่า
ความเจ็บป่วยของเรานี้ ล้วนมีสมุฏฐานปัจจัยจากวิกัลปสัญญา* พร้อมทั้งอาสวกิเลสในเบื้องอดีตชาติ
(* วิกัลปสัญญา คือ ความจำได้ หมายรู้ ที่มาจากการคิดนึกจินตนาการด้วยกิเลสอวิชชา จึงมองโลกด้วยทวิภาวะ ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ หรือระหว่างผู้ยึดถือกับสิ่งที่ถูกยึดถือ แบ่งแยกมีเรามีเขา)

โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะที่ยืนยงใดๆ
ใครเล่าที่เป็นผู้เสวยทุกข์จากความเจ็บป่วย (แท้จริงไม่มีผู้เจ็บป่วยเลย)

ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน?
เพราะการประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ จึงบัญญัติเรียกว่าสรีระ
มหาภูตรูป ๔ นี้ ปราศจากผู้เป็นเจ้าของ สรีระเล่าก็เป็นอนัตตา

อนึ่ง ความเจ็บป่วยที่บังเกิดขึ้นเล่า ก็ล้วนมาจากความยึดถือในตัวตนว่ามี (ฉัน)
ดังนั้น จึงสมควรละความยึดถือในตัวตนเสีย
แลเมื่อรู้ถึงอาพาธสมุฏฐานเช่นนี้ ก็พึงละอัตตสัญญากับสัตวสัญญา

พึงยังธรรมสัญญาให้บังเกิด
กล่าวคือ มนสิการว่า สรีระนี้เป็นแต่สภาวธรรมมาประชุมสำเร็จขึ้น

มีแต่สภาวธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น มีแต่สภาวธรรมเท่านั้นที่ดับไป
สภาวธรรมเหล่านี้ ต่างก็ไม่ได้นัดหมายรู้อะไรกันมา

ในสมัยที่เกิดขึ้น ก็มิได้พูดว่าฉันเกิดขึ้นแล้วจ้ะ
ในสมัยที่ดับไป ก็มิได้พูดว่าฉันดับไปแล้วจ้ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนึ่ง พระโพธิสัตว์ผู้อาพาธ พึงปฏิบัติต่อไปเพื่อดับธรรมสัญญานี้

พึงมนสิการว่า แม้แต่ธรรมสัญญาอย่างนี้ ก็ยังเป็นวิปลาสสัญญา
ขึ้นชื่อว่าเป็นวิปลาสแล้ว ย่อมมีมหันตภัย เราจำต้องละเสีย

ละอะไร?

ก็ละอหังการ ความยึดถือว่า "ตัวฉัน"
ละมมังการ ความยึดถือว่า "ของๆฉัน"

การละอหังการ มมังการนั้นละอย่างไร?
คือละธรรม ๒ อย่าง

ธรรม ๒ อย่างนั้นคืออะไร?
กล่าวคือความไม่ยึดถือในธรรมที่เป็นภายใน กับธรรมที่เป็นภายนอก ดำรงอยู่ในสมธรรม

ก็สมธรรมนั้นเป็นไฉน?
คือตัวของเราอย่างไร พระนิพพานก็เหมือนกันอย่างนั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ?
ก็เพราะเหตุว่าทั้งตัวเรากับพระนิพพาน ต่างก็เป็นศูนยตา

ก็ธรรมทั้งนั้นไฉนจึงเป็นศูนยตา
ก็เพราะเหตุว่าธรรมเหล่านั้น เป็นสักแต่ว่าสมมุติบัญญัติ

ปราศจากสภาวะที่แน่นอนด้วยตัวของมันเอง
จึงได้ชื่อว่าเป็นสมธรรม

ครั้นเห็นแจ้งโดยประการดั่งนี้ สรรพอาพาธก็ย่อมไปปราศจากสิ้น
คงมีเหลือแต่ ศูนยตาพาธ กล่าวคือความเจ็บป่วยเพราะเหตุติดในศูนยตานั้นเพียงประเภทเดียว

และดั่งนั้น จึงจำต้องสละความยึดมั่นสาคัญหมายในศูนยตานั้น
กล่าวคือความรู้สึกยึดฉวยว่ามีศูนยตา ก็ต้องให้สูญไปด้วย

มาตรแม้นว่าบังเกิดทุกขเวทนา เป็นไปเนื่องในสรีระอยู่ไซร้
ก็พึงมนสิการถึงสรรพสัตว์ในทุคติภูมิ ซึ่งต้องเสวยทุกข์อยู่เป็นอันมาก
พระโพธิสัตว์นั้นพึงยังมหากรุณาจิตให้อุบัติขึ้น

กล่าวคือ เมื่อตัวของตนสามารถบำราบกำจัดทุกข์ ให้พ่ายแพ้สูญหายไปอย่างไรแล
ก็พึงช่วยสงเคราะห์ บำราบกำจัดทุกข์ภัยแห่งหมู่สัตว์ ดุจเดียวกัน ฯลฯ"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"อันผู้แสวงหาธรรมนั้น ย่อมไม่ละโมบติดใจในสรีระหรือในชีวิต
.. อันผู้แสวงหาธรรมนั้น ย่อมเป็นผู้ไม่แสวงหา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ไม่แสวงหาธาตุ ๑๘ อายตนะ ๑๒
ไม่แสวงหากามาวจรภพ รูปาวจรภพ อรูปาวจรภพ

.. ย่อมไม่แสวงหาด้วยการยึดติดในพระพุทธองค์ ยึดติดในพระธรรม ยึดติดในพระสงฆ์
.. ย่อมไม่แสวงหาด้วย (ความสำคัญตน) ในการกําหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งในนิโรธ เจริญในมรรค

ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน?
ก็เพราะว่า ธรรมนั้นย่อมปราศจากปปัญจธรรม (กิเลสเครื่องเนิ่นช้า)

หากกล่าวว่า มีตัวตนเป็นผู้กําหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทำให้แจ้งในนิโรธ เจริญในมรรคไซร้
ย่อมชื่อว่าเป็นปปัญจธรรม หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่

.. ธรรมนั้นย่อมชื่อว่าเป็นธรรมอันสงบ ระงับดับสนิทโดยไม่เหลือเชื้อ
หากมีจิตประพฤติในความเกิดขึ้นแลดับไปในธรรมไซร้ หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่

ธรรมนั้นชื่อว่าปราศจากความเศร้าหมอง ฉันทราคะ
ถ้ามีฉันทราคะในธรรม ฤๅจนที่สุดในพระนิพพาน
ย่อมชื่อว่าเป็นฉันทราคกิเลส หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่ ฯลฯ

ธรรมนั้นไม่สามารถจะรู้เห็น รู้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้นึกคิดได้
ถ้ามีความรู้เหล่านี้เป็นไปอยู่ ก็เป็นแต่ความรู้เห็น ฯลฯ รู้นึกคิดเท่านั้น
หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่

ธรรมนั้นชื่อว่าเป็นอสังขตะ
ถ้ายังเป็นไปในความปรุงแต่งอยู่ ย่อมชื่อว่าเป็นการแสวงหาสังขตะ
หาชื่อว่าเป็นการแสวงหาธรรมไม่

เพราะฉะนี้แล .. ถ้าเป็นผู้แสวงหาธรรมไซร้
ก็พึงเป็นผู้ไม่ปรารถนาแสวงหา โดยยึดมั่นในธรรมทั้งปวงนั่นเอง"

เมื่อวิมลเกียรติอุบาสก แสดงธรรมกถานี้จบลง มีเทพบุตร ๕๐๐ องค์ บรรลุธรรมจักษุอันบริสุทธิ์
ด้วยมารู้แจ้งว่า ธรรมทั้งปวงไม่พึงปรารถนาแสวงหา โดยยึดมั่น

......................................................

ตรงนี้เสริมไว้นิดหนึ่ง ด้วยคำเทศน์ของครูบาอาจารย์ที่ท่านแจกแจงรายละเอียดถึงความแตกต่างของคำว่า "ฉันทะในการปฏิบัติธรรม" กับ "ตัณหาในการปฏิบัติธรรม" ด้วยประโยคสั้นๆแต่ได้ใจความนะครับว่า :b1: :b46: :b39: :b46:

ในการปฏิบัติธรรม เพื่อแสวงหาธรรมนั้น

ให้ "อยากในเหตุ" หรือ "ขวนขวายในเหตุ" ..

แต่ "สันโดษในผล"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ครั้งนั้นแล ท่านวิมลเกียรติอุบาสก ได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ทั้งหลายว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระโพธิสัตว์จักเข้าไปสู่อไทฺวตธรรมทวาร คือประตูแห่งความไม่เป็นคู่อย่างไรฤๅหนอแล? ขอท่านผู้เจริญทั้งปวงโปรดแสดงมติของท่านแต่ละท่านออกมาเถิด!‛

(พระโพธิสัตว์แต่ละท่าน ได้กล่าวว่า ..)

"ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ความเกิดและความดับ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
แต่เนื้อแท้สิ่งทั้งปวงปราศจากความเกิดขึ้น เมื่อเป็นดังนี้จึงไม่มีอะไรดับไป
ผู้ใดได้ลุถึงอนุตปาทธรรมกษานติดังกล่าว จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"อัตตา อัตตนิยะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เหตุเพราะมีตัวตน จึงมีสิ่งที่เนื่องด้วยตน
เมื่อปราศจากตนเสียแล้ว สิ่งที่เนื่องด้วยของๆตนก็ไม่มี
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"ความเสวยภพชาติ ความไม่เสวยภพชาติ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
แต่เนื้อแท้ธรรมทั้งปวงเป็นสุญตา ปราศจากผู้เสวย จึงปราศจากสิ่งที่พึงถือเอาว่าเป็นเจ้าของได้
เพราะปราศจากสิ่งอันพึงยึดมั่น จึงไม่มีอุปาทาน ไม่มีการละอุปาทาน
ไม่มีกิเลสกรรม ไม่มีการปฏิบัติเพื่อพ้นกิเลสกรรม
นี้แลชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"มลธรรม (ธรรมที่มีมลทิน) วิมลธรรม (ธรรมที่สะอาด) ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดเห็นแจ้งในสภาวะตามเป็นจริงของมลธรรมอันเป็นสุญตาไซร้ วิมลธรรมก็ย่อมพลอยไม่มีไปด้วย
ย่อมอนุโลมเป็นไปในนิโรธ นี้แลชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"อารมณ์ ๖ ที่ทำให้ท่านหวั่นไหว วิปลาสสัญญาอันเป็นไปในอารมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เมื่อปราศจากความหวั่นไหวเพราะอารมณ์ ๖ จึงไม่มีวิปลาสสัญญา
เมื่อไม่มีวิปลาสสัญญาก็ปราศจากวิกัลปะ
ผู้รู้แจ้งดั่งนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"สภาวะ อภาวะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดรู้แจ้งว่า เนื้อแท้สภาวะก็คืออภาวะ ไม่เกิดความยึดถือในอภาวะว่ามีอยู่อีกด้วย ตั้งอยู่ในสมธรรม
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"จิตพระโพธิสัตว์ จิตพระอรหันตสาวก ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดพิจารณาเห็นภาวะแห่งจิตว่าเป็นสุญตา เป็นมายาปราศจากแก่นสาร
เนื้อแท้ไม่มีอะไรที่เป็นจิตพระโพธิสัตว์ ฤๅจิตพระอรหันตสาวก
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"กุศล อกุศล ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดไม่เกิดความรู้สึกยึดถือก่อเกิดกุศลฤๅอกุศล รู้แจ้งเห็นจริง เข้าถึงอัปปณิหิตธรรม
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรม"

"บาป บุญ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดรู้แจ้งว่า เนื้อแท้ภาวะแห่งบาปมิได้ผิดแปลกจากบุญเลย
ใช้วชิรปัญญาเข้าไปตัดความติดแน่นในลักษณะแบ่งแยกเสียได้
ไม่มีผู้ถูกผูกพันฤๅไม่มีผู้หลุดพ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"อาสวะ อนาสวะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดเข้าถึงความจริงว่าสรรพธรรมเป็นสมตา
ย่อมไม่เกิดอาสวสัญญา ฤๅอนาสวสัญญาขึ้น
ไม่ยึดถือในสภาวะ ไม่ยึดถือในอภาวะ
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"สังขตะ อสังขตะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดพ้นจากสิ่งที่พึงนับได้ จิตของผู้นั้นว่างเปล่า
เขาย่อมมีปัญญาอันบริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งขัดข้อง
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"โลกิยะ โลกุตตระ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้โลกิยธรรมเป็นสุญตา เป็นอันเดียวกับโลกุตตระ
ฉะนั้น จึงไม่มีการเข้าสู่โลกิยะ ฤๅการออกไปจากโลกิยะ
ไม่มีความไหลเอ่อล้นฤๅความฟุ้งซ่าน
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"ความเกิด ความตาย พระนิพพาน ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดเห็นแจ้งว่า สภาพแห่งความเกิด ความตาย เนื้อแท้ปราศจากความเกิดความตาย
ไม่มีความผูกพันฤๅความหลุดพ้น ไม่มีความลุกโพลงฤๅความดับเย็น
ผู้เห็นแจ้งดั่งนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"ความสิ้นไปแห่งกิเลส ความไม่สิ้นไปแห่งกิเลส ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้ของสภาพธรรมนั้น ความสิ้นไปก็คือความไม่สิ้นไป แต่ละล้วนเป็นภาวะอันไม่มีขอบเขต
ภาวะอันไม่มีขอบเขตก็คือสุญตา
เพราะเป็นสุญตา จึงปราศจากขอบเขตไม่มีที่สิ้นสุด
ผู้ใดเข้าถึงความจริงดั่งนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"อัตตา อนัตตา ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
อันที่จริงอัตตาย่อมหาไม่ได้เลย แล้วอนัตตาจักมีได้อย่างไร
ผู้ใดรู้แจ้งในธรรมตามเป็นจริงดั่งนี้ ย่อมไม่เกิดความยึดถือในอัตตา อนัตตา
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"วิชชา อวิชชา ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สภาพแห่งอวิชชาก็คือวิชชา
แม้วิชชาก็ไม่พึงยึดมั่น
เมื่อพ้นจากภาวะแห่งการนับเสียได้ ตั้งอยู่ในภูมิอันสมํ่าเสมอไม่เป็นสอง
ผู้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"รูปกับความสูญของรูป ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้รูปก็คือความสูญ มิใช่ต้องรอให้รูปธรรมแตกดับไปจึงเรียกว่าสูญ
แท้จริงสภาวะแห่งรูป ย่อมเป็นสุญตาอยู่โดยธรรมดา
แม้เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
กับความสูญแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้เวทนา ฯลฯ วิญญาณ ก็คือความสูญ
มิใช่ต้องรอให้เวทนา ฯลฯ วิญญาณ ดับไปเสียก่อน จึงเรียกว่าสูญ
แท้จริงสภาวะแห่งเวทนา ฯลฯ วิญญาณ ย่อมเป็นสุญตาอยู่โดยธรรมดา
ผู้ใดเห็นแจ้งแทงทะลุในเรื่องนี้ได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่ อไทฺวตธรรมทวาร"

"มหาภูตรูป ๔ กับอากาศธาตุ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สภาวะแห่งธาตุ ๔ ก็คืออากาศธาตุนั่นเอง
เช่นเดียวกับอดีต อนาคต อันเป็นสิ่งว่างเปล่า ดังนั้นปัจจุบันก็ว่างเปล่า
ผู้ใดรู้แจ้งธาตุต่างๆดังนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"จักษุกับรูป ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดเห็นแจ้งว่าเนื้อแท้สภาวะแห่งจักษุเป็นสุญตา ย่อมไม่เกิดโลภ โกรธ หลงต่อรูป
ชื่อว่าเป็นธรรมอันสงบระงับ
แม้โสตะกับเสียง ฆานะกับกลิ่น ชิวหากับรส กายกับโผฏฐัพพะ มนะกับธรรมารมณ์ ต่างก็เป็นธรรมคู่
หากรู้แจ้งว่าสภาวะเหล่านี้เป็นสุญตา ใจไม่เกิดโลภ โกรธ หลงในธรรมารมณ์เป็นต้น
ชื่อว่าเป็นธรรมอันสงบระงับ
ผู้ตั้งอยู่ในภูมิดั่งกล่าว จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"ทานกับการอุทิศมุ่งต่อพระสัพพัญุตญาณ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สภาวะแห่งทานก็คือ อันเดียวกับสภาวะอุทิศมุ่งต่อพระสรรเพชดาญาณนั่นเอง
แม้ศีล ขันติ วิริยะ ธฺยาน (ฌาน) ปรัชญา (ปัญญา) กับการอุทิศมุ่งต่อพระสรรเพชดาญาณก็เป็นธรรมคู่
แต่เนื้อแท้บารมีเหล่านี้ มีปรัชญาบารมีเป็นต้น เป็นสภาวะเดียวกับการอุทิศมุ่งต่อพระสรรเพชดาญาณ
ผู้ใดเข้าถึงเอกีภาวะลักษณะได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"สุญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สุญตวิโมกข์ ก็คือนิมิต นิมิตนั้นก็คืออัปปณิหิต
ผู้เข้าถึงสุญตะ อนิมิตตะ อัปปณิหิตะ ย่อมปราศจากจิต มโนวิญญาณ
ในวิโมกขธรรมอันหนึ่ง ย่อมเป็นได้ทั้ง ๓ วิโมกข์ ชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สภาวะแห่งพระพุทธะก็คือพระธรรม
สภาวะแห่งธรรมะนั่นเองก็ชื่อว่าเป็นพระสงฆ์
สภาพแห่งคุณพระไตรรัตน์เป็นอสังขตะ มีคุณอนันต์ดุจอากาศ
สิ่งทั้งปวงก็มีสภาพอย่างเดียวกัน
ผู้ใดปฏิบัติตามคุณดั่งกล่าวได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"กายกับกายนิโรธ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้กายกับกายนิโรธเป็นสภาพเดียวกัน ข้อนั้นเพราะเหตุเป็นไฉน?
ก็เพราะว่าผู้ที่เห็นแจ้งในสภาวธรรมตามเป็นจริงแห่งกายนี้
ย่อมไม่เห็นว่ามีกาย หรือความดับไปของกาย
กายกับกายนิโรธไม่เป็นสอง ไม่มีวิกัลปะ
เขาผู้นั้นไม่บังเกิดความหวั่นหวาด จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สุจริตกรรมทั้ง ๓ ล้วนปราศจากลักษณะปรุงแต่งกระทำใดๆเลย
เมื่อกายปราศจากลักษณะปรุงแต่ง นั่นก็คือวาจาปราศจากลักษณะปรุงแต่ง
เมื่อวาจาปราศจากลักษณะปรุงแต่ง นั่นก็คือมโนทั้ง ๓ ปราศจากลักษณะปรุงแต่ง
เมื่อกรรมทั้งสามปราศจากลักษณะปรุงแต่ง สิ่งทั้งปวงก็ปราศจากลักษณะปรุงแต่ง
ผู้ใดสามารถปฏิบัติตามปัญญาอันปราศจากลักษณะปรุงแต่งนี้ได้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้สังขารทั้ง ๓ เป็นสุญตา เมื่อเป็นสุญตาแล้ว
ที่ไหนจักมีปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร
ผู้ที่ไม่ก่อสังขารทั้ง ๓ ให้มีขึ้น จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"

"ความมีเรามีเขา ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดเห็นแจ้งว่าเรานั้นไม่มีตามเป็นจริง ย่อมไม่เกิดความยึดถือว่ามีเรามีเขา
เมื่อไม่ยึดถือในธรรมคู่นี้ ก็ไม่เกิดอหังการและปรังการขึ้น
จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.ค. 2014, 23:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ส.ค. 2010, 12:46
โพสต์: 1012

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


"ผู้บรรลุกับธรรมที่บรรลุ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดรู้แจ้งว่าเนื้อแท้ปราศจากผู้บรรลุกับธรรมที่บรรลุ
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่มีสิ่งอันพึงยึดถือ ฤๅสิ่งอันพึงละใดๆ
เมื่อไม่มีการยึดถือและไม่มีการละ จึงชื่อว่าเข้าสู่ อไทฺวตธรรมทวาร"

"ความมืดกับความสว่าง ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
เนื้อแท้ไม่มีสภาพมืดฤๅสภาพสว่าง อันเป็นอไทฺวตะ เช่นอะไร?
เช่นผู้เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ย่อมไม่มีสภาพมืดฤๅสภาพสว่าง
ลักษณะแห่งธรรมทั้งปวงก็ดุจเดียวกัน
ผู้ใดเข้าถึงโดยสมธรรมอันสมํ่าเสมอดั่งกล่าว จึงชื่อว่าเข้าสู่ อไทฺวตธรรมทวาร"

"ความยินดีในพระนิพพาน ความนิพพิทาในสังสารวัฏ ชื่อว่าเป็นธรรมคู่
ผู้ใดหากไม่เกิดความยินดีในพระนิพพาน ไม่เกิดความหน่ายในสังสารวัฏ ชื่อว่าพ้นจากธรรมคู่
ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤๅ? ก็เพราะว่า เมื่อมีการผูกพันถึงมีการหลุดพ้น
แต่โดยปรมัตถ์เนื้อแท้ ไม่มีผู้ใดที่ถูกผูกพันเลย ก็แล้วจักมีใครเล่าที่จะหลุดพ้นออกไป
ฉะนั้น เมื่อไม่มีสภาพผูกพัน ก็ย่อมไม่มีสภาพหลุดพ้น
ย่อมไม่มีความยินดี และไม่มีความนิพพิทา
ทำได้เช่นนี้ จึงชื่อว่าเข้าสู่อไทฺวตธรรมทวาร"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1416 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 59, 60, 61, 62, 63, 64, 65 ... 95  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร