วันเวลาปัจจุบัน 21 ก.ค. 2025, 05:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มิ.ย. 2013, 12:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อพระพุทธเจ้าจะบัญญัติวินัยขึ้นสักข้อหนึ่งเนี่ย ต่อเมื่อมีภิกษุประพฤติตัวที่ทำให้ผู้คนในยุคกระโน้นติเตียน เมื่อมีผู้มารายงาน พระองค์ก็ประชุมสงฆ์เพื่อให้รับรู้ร่วมกัน (สมมติ) แล้วสอบสวนทวนความ จนเจ้าตัวรับว่าทำจริง ที่ประชุมลงมติว่าไม่ควร พระพุทธเจ้าก็จึงตั้งกฎ กติกา ระเบียบแบบแผนขึ้นมา ซึ่งเรียกว่าวินัย ต่อไปใครฝ่าฝืนย่อมมีโทษ (อาบัติ) สำหรับใช้ในหมู่สงฆ์ที่พระองค์ทรงตั้งขึ้น นี่ลักษณะการบัญญัติวินัยของพระพุทธเจ้า :b1: เห็นๆไม่ได้ลึกลับอะไร

เทียบให้เห็นง่ายๆ ก็เหมือนคนอยู่คอนโด ทางเจ้าของเขาก็ร่างกฏ ระเบียบ กติกาขึ้นมา เช่น ห้ามนำสัตว์ เช่น แมว สุนัข เป็นต้น มาเลี้ยง กฏ ระเบียบ อื่น เช่น กฏหมาย เป็นต้น นี่ก็เรียกว่าวินัย ใครฝ่าฝืนละเมิดกติกานี้ ถูกปรับหรือถูกลงโทษตามกฏที่ร่างขึ้นนั้น



ความหมาย "ธรรมวินัย" ต่อไปนี้นำมาจากหนังสือ "ผู้พิพากษา ตั้งตุลาให้สังคมสมในดุล" (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านอธิบายค่อนข้างเข้าใจง่ายและชัด ....พึงสังเกตคำแปล ธรรมะ ความจริง,ความถูกต้อง, ความดีงามไว้ ... ความหมายที่ ๑ โยงมาถึงมนุษย์ได้ยังไง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 07 มิ.ย. 2013, 05:33, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2013, 22:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นธรรม ก็ถูกต้องตามความจริง ถูกต้องตามความจริงก็ดีงาม

"ธรรม" นี้แปลกันว่า ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม

ความหมายที่เป็นหลักเป็นแกนของธรรมนั้น ก็คือ ความจริง หรือสภาวะที่เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นๆ เป็นธรรมดา

มนุษย์เรานี้ ต้องการสิ่งที่เกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ตน แต่สิ่งทั้งหลายที่จะเกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่คนแท้จริง จะต้องสอดคล้องกับความจริง มิฉะนั้น ก็จะไม่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ได้แน่แท้ยั่งยืน

สิ่งที่เกื้อกูลเป็นคุณประโยชน์แก่มนุษย์แท้จริง เรียกว่าเป็นความดีงาม

ความดีงาม จึงอยู่ที่สอดคล้อง คือ ถูกต้องตามความจริง

ความจริง เป็นหลักยืนตัว ความดีงามเป็นคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ ความถูกต้อง เป็นความสัมพันธ์ที่น่าพอใจ ระหว่างคุณค่าที่มนุษย์ต้องการ กับความจริงที่เป็นหลักยืนตัว

ถ้าไม่มีความจริง ไม่มีความถูกต้อง ความดีงามก็ไม่แท้ไม่จริง เหมือนอย่างที่คนหลอกลวง ก็สามารถทำให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นคนดีได้ แต่แล้ว ในเมื่อไม่ถูกต้อง ไม่ตรงความจริง พอขาดความจริงเท่านั้น ที่ว่าดีก็หมดความหมายไป กลายเป็นไม่ดี ดังนั้น ความจริงและความถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก


เมื่อพอเข้าใจความหมายความสัมพันธ์ของธรรม ของระบบธรรมข้างบนบ้างแล้ว พึงศึกษาต่อไปอีก


ทีนี้ ความจริงนั้น มีอยู่เป็นสภาวะของมันเอง หรือเป็นธรรมดาของธรรมชาติ และความถูกต้องก็อยู่กับความจริงนั้นด้วย แต่เมื่อเรื่องมาถึงคน หรือเมื่อคนไปเกี่ยวข้องกับมัน ก็มีข้อผูกพันขึ้นมา ซึ่งทำให้คนเกิดมีเรื่องในภาคปฏิบัติว่า

๑. จะทำอย่างไร ให้ความจริงนั้นปรากฏขึ้นมา เพราะว่า บางที ความจริงมีอยู่ แต่ความจริงนั้นไม่ปรากฏ

๒. จะทำอย่างไร ให้คนดำรงอยู่ในความจริงนั้นได้ จะได้มีความถูกต้องที่จะตรึงหรือรักษาความดีงามไว้ และ

๓. จะทำอย่างไร ให้คนทำการให้ถูกต้องโดยสอดคล้องกับความจริงนั้น เพื่อให้คนอยู่ในความดีงาม ซึ่งเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมของเขา

นี่ก็เป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น ตอนนี้ก็จึงเหมือนกับว่า ในเรื่องธรรมนี้ เรามอง ๒ ด้าน คือ

หนึ่ง มองด้านความเป็นจริงหรือตัวสภาวะก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร แล้วก็

สอง บนฐานของความจริงนั้น มองว่า เราจะทำอย่างไรให้มนุษย์นี้ ดำเนินไปกับความจริงนั้น โดยอยู่กับความจริง แล้วก็ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริง

ต้องครบทั้ง ๒ ขั้น ขาดขั้นใดขั้นหนึ่งไม่ได้ทั้งนั้น บางทีเราเอาขั้นที่ ๒ คือจะให้คนปฏิบัติถูกต้อง แต่เราไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร มันก็ไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงมีหลักยันอยู่เป็น ๒ ด้าน คือ ด้านสภาวะที่เป็นความจริงตามธรรมชาติ และด้านที่คนเข้าไปเกี่ยวข้องกับความจริง

อย่างไรก็ตาม ตามที่ใช้กันอยู่นั้น ความจริง มีความหมายค่อนข้างหลวมๆ ไม่เคร่งครัดนัก คือไม่จำเป็นต้องถึงกับเป็นความจริงตามสภาวะของธรรมชาติ แต่รวมทั้งความจริงตามที่มนุษย์ตกลงยอมรับกันด้วย เช่น หลักการ และข้อที่ตกลงยึดถือกันมาเป็นพวกสมมติสัจจะต่างๆ ดังนั้น ความดีงาม ความถูกต้อง บางทีก็วัดเพียงด้วยความสอดคล้องกับความจริงระดับนี้ก็มี


สำหรับคนทั่วไป เอาเพียงว่า ถ้ารักษาปฏิบัติทำความดีงาม ตามที่บอกกล่าวเล่าสอนกันมา ก็ใช้ได้ หรือนับว่าเพียงพอ เมื่ออยู่กับความดีงามแล้ว ก็ถือว่าดำรงความจริง และความถูกต้องพร้อมไปในตัวด้วย

แต่สำหรับผู้ทำหน้าที่ในการรักษาธรรมนั้น จะต้องเข้าถึงธรรมทั้งระบบ

เริ่มด้วยด้านที่หนึ่ง คือ ด้านความจริง และความจริงก็ต้องลงไปถึงความจริงตามสภาวะของธรรมชาติด้วย

ที่พูดไปแล้ว ก็เป็นระบบของธรรมนั่นเอง แต่ใช้ภาษาอย่างง่ายๆ และยังค่อนข้างจะหลวม ทีนี้ ก็จะเดินหน้าไปดูให้ถึงธรรมทั้งระบบของธรรมทั้งหมดให้ชัดขึ้นอีกที

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2013, 22:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


"ธรรม" เป็นกฎธรรมชาติ มีอยู่ของมันตามธรรมดา


"ธรรม" ในความหมายที่ ๑ ซึ่งเป็นความหมายหลัก เป็นพื้นฐาน ก็คือ ความจริง การที่เราศึกษาธรรมกัน ก็ศึกษาเพื่อหาเพื่อรู้ความจริงนี่แหละ คือทำอย่างไรจะรู้เข้าใจเข้าถึงความจริงได้

ทางพระบอกว่า ความจริงมีอยู่ของมันตามธรรมดา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ขอยกคำบาลีมาให้ดูว่า

อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา ตถาคตานํ ฐิตาว สา ธาตุ ธมฺมฏฺฐิตตา ธมฺมนิยามตา...

แปล ว่า ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่อุบัติก็ตาม ธาตุ (สภาวะหรือหลักแห่งความจริง) นั้น คือ ความดำรงอยู่ตามธรรมดา ความเป็นไปแน่นอนแห่งธรรม ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นเอง ตถาคต ตรัสรู้ ค้นพบธาตุนั้น ครั้นแล้วจึงบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย ว่าดังนี้ๆ


ยก ตัวอย่าง เช่น หลักไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิด สิ่งทั้งหลายก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของมันอยู่อย่างนั้น แต่มนุษย์ทั้งหลาย ไม่รู้ความจริง พระพุทธเจ้าได้พัฒนาปัญญาขึ้นมาจนกระทั่งได้รู้เข้าใจความจริงนั้น เรียกว่า ตรัสรู้หรือค้นพบแล้ว จึงทรงนำมาเปิดเผยแสดงอธิบาย

ธรรม ในความหมายที่ ๑ คือ ความจริงนั้น มีความหมายต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง จะเรียกว่าธรรมชาติหรืออะไรก็ตาม ก็มีความจริงเป็นอย่างนั้น และมันก็เป็นไปตามความจริงนั้น เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย บางทีเราเรียกธรรมในความหมายนี้ว่า "กฏธรรมชาติ"


เมื่อ ความจริงเป็นอย่างนี้ และสิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามความจริงนั้น หรือตามกฏธรรมชาตินั้น เรื่องก็โยงมาถึงมนุษย์คือคนเรานี้ว่า เราก็ต้องการผลดีต่างๆ เช่นว่า เราต้องการให้ชีวิตของเราดี ตลอดไปถึงว่า เราต้องการให้สังคมของเราดี มีความเจริญมั่นคง อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข แต่การที่ชีวิตจะดี สังคมจะดี อะไรๆจะดี ทุกอย่างนี้ ก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงนั้น

ดังเช่น ความจริงมีอยู่อย่างหนึ่งว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุอย่างไรก็ทำให้เกิดผลอย่างนั้น ผลเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของมัน เมื่อเราจะทำชีวิตให้ดี ทำสังคมให้ดี เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องรู้ความจริงนี้ และทำตามความจริงนี้ คือรู้ว่าเหตุปัจจัยอันไหน จะทำให้เกิดความเจริญงอกงาม ก็ทำหรือส่งเสริมเหตุปัจจัยนั้น และในทางตรงข้าม เหตุปัจจัยไหนจะทำให้เกิดความเสื่อมความเสียหาย ก็ป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยนั้น

รวมความย้ำว่า เราก็ปฏิบัติจัดการไปตามความจริงนั้น โดยป้องกันแก้ไขกำจัดเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลร้าย แล้วก็ไปทำหรือส่งเสริมเหตุปัจจัยที่จะนำมาซึ่งผลดี อันนี้ก็คือต้องปฏิบัติไปตามความจริง

ก็จึงเป็นอันว่า มนุษย์ ต้องรู้ความจริง แล้วก็เอาความรู้ในความจริงมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาปฏิบัติการให้เป็นไปตามความจริงนั้น แล้วก็จะได้ผลตามต้องการ

จาก หลักความจริงนี้ จึงเป็นเหตุให้เราต้องพัฒนามนุษย์ คือให้มนุษย์ศึกษา เพื่อจะได้รู้ความจริง และปฏิบัติได้ผลตามความจริงนั้น


"ธรรม" คือ ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะ พระองค์ทรงใช้คำว่า "แสดง" หมายความว่า ความจริงมันเป็นอย่างนั้น ก็เอามาแสดงให้คนทั้งหลายรู้ด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2013, 22:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ


คนอยู่ในกำกับของกฎธรรมชาติ จะอยู่กันให้ดี ก็บัญญัติ "วินัย" เป็นกฎมนุษย์ขึ้นมา

ทีนี้ เราจะเอาความจริงนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เราต้องการให้สังคมของเราเป็นอย่างไร ต้องการให้ชีวิตของเราเป็นอย่างไร เรามองเห็นว่า อ้อ...ต้องทำอย่างนี้นะๆๆ ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลดีขึ้นมา เราต้องการให้มีการปฏิบัติอย่างนั้น ซึ่งสอดคล้องกับความจริงในทางที่เกิดผลดี

พร้อมกันนั้น เราก็ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิบัติตรงข้ามที่จะเป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งความเสื่อม

ถึง ตอนนี้ เราก็เลยอาจจะมาตกลงกัน หรือว่าใครมีอำนาจ หรือได้รับความเชื่อถือศรัทธา ก็มาพูดกัน บอกกันว่า เออ...พวกเรา เอาอย่างนี้นะ เพื่อให้สังคมของเราดี เพื่อให้ชีวิตของพวกเราดี เราทำกันอย่างนี้นะๆ เราละเว้น ไม่ทำอย่างนั้นๆนะ

แล้วก็ เพื่อให้แน่นอนมั่นใจว่าจะทำจะปฏิบัติกันจริงจังตามนั้น ก็วางลงไปเป็นกฎ เป็นกติกา เป็นระเบียบ ให้ยึดถือปฏิบัติกันในสังคมในครอบครัว จนกระทั่งในชีวิต ว่าต้องทำอย่างนี้ๆ ต้องไม่ทำอย่างนั้นๆ

ยิ่ง กว่านั้น ก็ยังสำทับให้หนักแน่นแม่นมั่นยิ่งขึ้นไปอีกว่า ถ้าขัดขืน หรือฝ่าฝืน ไม่ทำตาม หรือละเมิดข้นนั้นๆ สังคมคือคนด้วยกันนี้จะลงโทษอย่างนั้นๆ

(ตามความจริงของกฎธรรมชาติ ก็จะเกิดผลร้าย ซึ่งเรียกเป็นบุคลาธิษฐานว่าธรรมชาติจะลงโทษอยู่แล้ว แต่โทษตามธรรมชาตินั้น คนอาจจะไม่เห็นชัดเจน ไม่ทันใจ หรือซับซ้อนเกิดกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ คนด้วยกันก็ลงโทษเสียเลยให้ได้ผลในทางปฏิบัติจนพอใจ)

อันนี้ก็เลยกลายเป็นการจัดตั้งวางแบบแผน ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ตลอดจนกฎหมาย ขึ้นมา

กฎ กติกา ระเบียบ แบบแผน ตลอดจนกฎหมาย ที่จัดตั้งวางลงไปให้ถือปฏิบัติกันนี้ เรียกรวมๆ ตามภาษาพระเป็นคำเดียวว่า "วินัย"


ส่วนการกระทำในการจัดตั้งวางหรือกำหนดลงไป เรียกว่า "บัญญัติ"


ก็ จึงมี "วินัย" คือ กฎ กติกา ข้อบังคับ ระเบียบ แบบแผน ฯลฯ ตลอดจนกฎหมาย ที่คนเรานี้เอง "บัญญัติ" ขึ้น คือจัดตั้งสั่งการหรือตกลงกันวางกำหนดหรือตราลงไว้

นี้ก็มาเข้าคู่ กับ "ธรรม" คือความจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ (หรือตามกฎธรรมชาติ) ที่เป็นของมันอย่างที่มันเป็นอยู่ และเป็นไปนั้น ซึ่งท่านรู้หรือค้นพบแล้ว ก็นำมา "เทศน์" คือ แสดง ให้รู้ให้เข้าใจกัน

รวมความว่า เป็นเรื่องของคน หรือสังคมมนุษย์ที่มีการบัญญัติ กฏเกณฑ์ กติกา กฎหมาย (วินัย) ขึ้นมา เพื่อจะให้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ (ธรรม) นั้น เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมมนุษย์ หรือว่าเพื่อให้มนุษย์ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมดาในทางที่จะ เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตนเอง

ทีนี้ ในด้านของมนุษย์นั้น เมื่อจะให้สมความประสงค์ของตน ก็ต้องจัดการให้มีหลักประกันที่จะให้ "วินัย" ได้ผลจริง ดังนั้น เมื่อบัญญัติกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย ฯลฯ ขึ้นมาแล้ว ก็จึงต้องพัฒนาระบบ กระบวนการ และมาตรการต่างๆ มากมายขึ้นมารับทอดต่อจากกฎหมายเป็นต้นที่ตนได้บัญญัติขึ้นนั้น จึงเกิดมีการบริหารการปกครองให้เป็นไปตามกฎหมายที่ได้บัญญัติ ตลอดมาถึงกระบวนการพิจารณาตัดสินโทษ และการลงโทษผู้ที่ขัดขืนและผู้ฝ่าฝืนกฎหมายเป็นต้น ที่ได้บัญญัติเหล่านั้น

ระบบ กระบวนการ และมาตรการเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของบัญญัติทั้งหมด (อย่างที่ปัจจุบันจัดเป็น นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น) ทางพระเรียกรวมคำเดียวว่า "วินัย"

ถึงตรงนี้ ก็เป็นอันได้มีคำคู่ว่า "ธรรมวินัย" ซึ่งประกอบด้วย

๑. ธรรม คือ ความจริงที่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของธรรมชาติ
๒. วินัย คือ ข้อที่มนุษย์บัญญัติขึ้นมาให้พวกตนปฏิบัติให้ถูกต้อง

แต่วินัย ในภาษาไทยมี ความหมายไม่ต้องกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ จึงต้องขอให้ทำความเข้าใจให้ชัด โดยแยกออกจากความหมายในภาษาไทย (ในภาษาไทย วินัยมีความหมายแคบลงไปมาก)

"ธรรม" เป็นความจริง ที่เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจึงทรงเพียงนำมาแสดงตามที่มันเป็น แต่วินัยเป็นเรื่องที่ทรงจัดตั้ง วาง หรือตราขึ้นให้คนปฏิบัติ ศัพท์สำหรับวินัยก็เลยเรียกว่าบัญญัติ

ในธรรมชาติมีธรรมอยู่เอง แต่คนบัญญัติวินัยขึ้นมา และ ๒ อย่างนี้ ต้องสอดคล้องซึ่งกันและกัน คือ วินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรม

หมายความว่า คนต้องรู้ความจริงว่าเป็นอย่างไร แล้วบัญญัติกฎกติกาที่พวกตนจะต้องปฏิบัติให้ตรงตามความเป็นจริง เพื่อจะให้ได้ผลขึ้นมาตามความเป็นจริงนั้น

เมื่อจับหลักธรรมกับวินัยได้แล้ว ก็จะมองเห็นว่า พระพุทธศาสนาทั้งหมดก็มีเท่านี้เอง

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงใช้คำเรียกพระศาสนาของพระองค์สั้นๆ ซึ่งเป็นคำสรุปพระพุทธศาสนาอยู่ในตัวว่า "ธรรมวินัย"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2013, 10:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่ออีกหน่อย พึงสังเกตคำเหล่านี้ ชีวิต รูปนาม นามรูป ร่างกายจิตใจ เป็นความรู้เพิ่มเติม


ถ้า มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงของธรรมชาติเพียงพอ เรียกว่า ปัญญาเข้าไม่ถึงความจริงนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะต้องการผลดีโดยมีเจตนาดี เช่น ปรารถนาดี มีเมตตา เป็นต้น แก่สังคมของตน แล้วพยายามบัญญัติจัดตั้งวางกฎ กติกา ระเบียบ แบบแผนขึ้นมา ให้คนทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อบัญญัติ นั้นไม่สอดคล้องกับความจริงแท้ มันก็คือความผิดพลาด แล้วก็ไม่ได้ผลจริง จึงต้องให้สองอย่าง นี้สัมพันธ์และสอดคล้องซึ่งกันและกัน

ตกลงว่า หนึ่ง ความจริง ที่มีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ เรียกว่า "ธรรม" และ

สอง อาศัยความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้น มนุษย์เรานี้แหละก็มาบัญญัติจัดวางกติกา ระเบียบแบบแผน ขึ้นในสังคม เพื่อให้ มนุษย์ปฏิบัติโดยสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้น ในทางที่จะเกิด ผลดีแก่ชีวิตและสังคมของตน เรียกว่า "วินัย"

พระ พุทธศาสนา ก็จึงมีหลักใหญ่อยู่ ๒ อย่างเท่านี้ แล้วก็เรียกพระพุทธศาสนาว่า "ธรรมวินัย" เท่านี้เอง เป็นชื่อที่สั้นที่สุด และเป็นชื่อเดิมด้วย

ส่วนคำว่า "พระพุทธศาสนา" เป็นคำที่ใช้กว้างๆ ซึ่งแต่เดิมนั้น ก็หมายถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นด้านหนึ่ง ไม่ใช่ทั้งระบบของพระพุทธศาสนา และก็มองภาพรวมได้ไม่ชัด ไม่เหมือนคำว่า พระธรรมวินัย

ดังนั้น สำหรับพระ เวลาใช้คำที่เป็นทางการหรือเป็นหลักฐาน ก็จะใช้คำว่าพระธรรมวินัย ซึ่งชี้ตรงไปที่ตัวหลักเลย และเห็นกันชัดออกมาเลยว่ามี ๒ อย่างนี้นะ มารวมกันเป็นหนึ่ง

ทั้งที่มี ๒ อย่าง แต่เวลาเรียกรวมกันว่าพระธรรมวินัยนี่ ท่านใช้เป็นคำเอกพจน์ คือ ๒ อย่าง รวมกันแล้วกลายเป็นหน่วยอันหนึ่งอันเดียว


เหมือนอย่างชีวิตเรานี้ ที่มีรูปกับนาม เวลารวมกันแล้วท่านเรียกว่า นามรูป เป็นชีวิตอันหนึ่งอันเดียวหน่วยเดียว ประกอบด้วยด้านนาม กับ ด้านรูป หรือด้านร่างกาย กับ ด้านจิตใจ แต่คำที่เรียกรวมกันนั้นเป็นคำเอกพจน์ นี่คือ นามรูป เป็นหน่วยรวมอันเดียวคือชีวิต เหมือนกับธรรมวินัยเป็นหน่วยรวมอันเดียวคือพระพุทธศาสนา

ที่ ว่ามานี้ เป็นหลักการใหญ่ ที่เหมือนกับเป็นเครื่องเตือนใจเราว่า มนุษย์จะต้องพยายามเข้าถึงความ จริงอยู่เสมอ การบัญญัติ จัดตั้ง วางและเปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับความจริง เช่น ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ทั้งลึกลงไปในธรรมชาติที่เป็นพื้นฐาน และในสังคมที่อยู่บนฐานของ ธรรมชาติ

ความเป็นจริงในธรรมชาติ เป็นความเป็นจริงพื้นฐาน จะพูดว่า ความจริงในชีวิตและในสังคมมนุษย์ ตั้งอยู่บนฐานของความจริงของธรรมชาติ หรือว่าชีวิตและสังคมต้องเป็น ไปตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ก็ถูกทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น จึงหนีไม่พ้นว่า ถ้ามนุษย์จะให้ชีวิตและสังคมของตนอยู่ดีมีสุข ได้ มนุษย์ก็ต้องพยายามเข้าให้ถึงความจริงของธรรมชาติ หรือธรรมดานี้

อาการ เป็นไปที่เป็นความจริงของธรรมชาตินั้น มองรวมๆ แล้ว ก็เป็นระเบียบเป็นระบบ ซึ่งมนุษย์ที่ต้องการจะเป็นอยู่ ให้ดีและทำอะไรให้ได้ผล ก็ต้องทำให้เป็นระเบียบเป็นระบบตาม นั้น ตั้งแต่จะกินจะทำงานจะนอนไปตามวันเวลาที่ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ โคจร ต้องทำการกสิกรรมไปให้ถูกลำดับและระบบของฤดูกาล เป็นต้น

เพื่อจะเป็นอยู่ให้ดีและทำอะไรได้ผลยิ่งขึ้น มนุษย์ที่ฉลาดก็มาพยายามคิดบัญญัติจัดตั้งวางระเบียบระบบชีวิตและสังคมของตน มากขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ ถ้าเราไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติแล้วบัญญัติจัดตั้งวางระเบียบระบบของ ชีวิตของสังคมให้สอดคล้องกับความจริงของธรรมชาตินั้นแล้ว กฎเกณฑ์ กติกา กฎหมายอะไรต่างๆนั้น ก็เป็นไปได้ยากที่จะได้ผลดี ที่แท้ก็คือ มันจะไม่สำเร็จผลจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2013, 16:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

สังเกตความหมายคำว่า ปัญญา เจตนา กรรม

ปัญญาก็ต้องรู้ชัดแจ้งตรงความจริง เจตนาก็ต้องตั้งถูกต้องตรงความดี


กลับไปพูดเรื่องการที่มนุษย์จะบัญญัติจัดตั้งวางระบบชีวิตและสังคมของตนให้ได้ผลดี รวมแล้ว มีข้อสำคัญ ๒ อย่าง คือ

๑. ปัญญา ที่รู้จริง คือ ต้องมีปัญญารู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ รู้ธรรมชาติตามที่มันเป็นของมัน หรือรู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น อันเป็นความรู้ขั้นที่ ๑ เรียกสั้นๆว่า รู้ธรรม

๒. ปัญญา ที่รู้จัด คือ ปัญญา ที่ทำให้สามารถนำเอาความรู้ในความจริงของธรรมชาตินั้น มาดำเนินการจัดสรรสังคมมนุษย์ ตั้งแต่แต่การดำเนินชีวิต ให้ได้ผลดี ด้วยการบัญญัติจัดตั้งวางกฎกติกาบนฐานแห่งความจริงของธรรมชาตินั้น เป็นความรู้ขั้นที่ ๒ ที่อาศัยปัญญา เรียกสั้นๆว่า รู้วินัย


พระพุทธเจ้าทรงมีปัญญาทั้ง ๒ ด้าน เชื่อมต่อโยงทอดกันเป็น ๒ ขั้น คือ

๑. มีปัญญา รู้สภาวธรรม (หรือสัจธรรม) คือความจริงของธรรมชาติ หรือความจริงที่ดำรงอยู่ตามธรรมดา

๒. มีปัญญา รู้วินัยบัญญัติ (หรือบัญญัติธรรม) คือรู้จักบัญญัติจัดตั้งวางระเบียบระบบต่างๆ ที่จะช่วยให้คนอื่น หรือให้หมู่ชนจำนวนมาก พัฒนาชีวิตพัฒนาตัวขึ้นมาจนเข้าถึงความจริงแห่งธรรมเหมือนกับพระองค์ได้ เช่น ตั้งสังฆะ บัญญัติวินัย ให้มีวัด วางระบบการฝึกการศึกษาสั่งสอนเผยแผ่ธรรมให้ได้ผล

เมื่อมีปัญญาความรู้ความสามารถครบทั้ง ๒ ขั้นนี้ จึงเป็นพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สัมมาสัมพุทธะได้

การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปัญญา ๒ ระดับ คือ ระดับรู้ธรรม กับ ระดับบัญญัติวินัยนี้ เป็นเครื่องเตือนใจมนุษย์อย่างที่กล่าวแล้ว ว่า ขั้นแรก เราจะต้องพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมอยู่เสมอ มิฉะนั้น การจัดตั้งวางระบบระเบียบแบบแผนในสังคมมนุษย์ ก็จะไม่สอดคล้องเข้ากันกับความจริงของธรรมชาติ ซึ่งก็คือรวมไปถึงความจริงไปในชีวิตและสังคมของเราเองด้วย แล้วการบัญญัติจัดตั้งนั้นก็จะเอาดีแท้จริงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม คนเรานี้ เมื่อจะทำอะไรก็ตาม ไม่ใช่จะมีเพียงความรู้ที่ใช้ในการทำการนั้นเท่านั้น แต่เรามีความคำนึงถึงจุดหมายที่ตนต้องการและ "ตั้งใจ" ที่จะให้การกระทำของตนเกิดผลลุถึงจุดหมายนั้นด้วย

สำหรับมนุษย์ทั่วไป ที่เรียกว่าปุถุชนนั้น นอกจากปัญหาว่า เขามีปัญญาที่รู้ความจริงถ่องแท้หรือไม่แล้ว ก็ยังมีปัญหาที่ความตั้งใจอีก ด้วย โดยเฉพาะปัญหาที่ความตั้งใจนี้แหละมักเป็นเรื่องใหญ่ยิ่ง จนบางทีทำให้ลืมมองเรื่องความรู้ไปเลย ทั้งที่ตัวแท้ของเรื่องมีแต่ปัญญาเท่านั้น

ปัญหาเกี่ยวกับความ "ตั้งใจ" ของปุถุชนนั้น โยงไปถึงปัญหาความต้องการ คือ เขามีความต้องการของเขาเอง อาจจะเป็นความต้องการเพื่อตัวเขาเองบ้าง เพื่อคนหรือเพื่อพวกของเขาบ้าง เพื่อข้ามเพื่อขัดหรือกั้นคนอื่นพวกอื่นบ้าง เป็นต้น ซึ่งทำให้เขาตั้งใจทำการให้เป็นไปตามความต้องการนั้น ดีบ้าง ร้ายบ้าง ไม่ใช่แค่ตรงไปตรงมาตามความรู้

ความ "ตั้งใจ" ของคนทั่วไป มีชื่อเฉพาะว่า เจตนา หรือเจตจำนง การกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย ก็มาจากเจตนา และรวมศูนย์อยู่ที่เจตนานี้แหละ

การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนานั้น ท่านเรียกว่า "กรรม"

จะเป็นกรรมที่ทำออกมาทางกาย หรือพูดออกมาทางวาจา ก็ตาม ก็เริ่มต้นด้วยการคิดข้างในใจ โดยมีความตั้งใจที่เรียกว่า เจตนานี้ ดังนั้น เมื่อเรียกแบบรวมตลอดทั้งกระบวน ก็บอกว่า เจตนานั่นเอง เป็นกรรม

กรรม หรือลึกลงไปคือเจตนานี้ เป็นธรรมชาติหน่วยสำคัญในตัวมนุษย์ เป็นปัจจัยตัวแปรที่มนุษย์นำตัวเข้าไปร่วมผันแผกกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติทั้งหมด

ถึงตอนนี้ เมื่อพูดถึงกระบวนการบัญญัติจัดตั้งในสังคมมนุษย์และกล่าวถึงองค์ประกอบที่ เกี่ยวข้องให้ครบ ก็จะต้องพูดว่ามี ๒ อย่างคือ

๑. ปัญญา ที่รู้เข้าใจเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แยกเป็น ๒ ขั้น

ก) ปัญญา ที่รู้จริง (หรือรู้แจ้ง) หยั่งเห็นธรรมชาติตามที่มันเป็นของมัน เช่น ระบบและกระบวนความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยในสิ่งทั้งหลาย

ข) ปัญญา ที่รู้จัด มองเห็นว่าจะจัดสรรดำเนินการให้ระบบและกระบวนแห่งปัจจยาการนั้น เป็นไปในทิศทางที่จะเกิดผลดี เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมมนุษย์นี้ ได้อย่างไร

๒. เจตนา คือ ความตั้งใจในการกระทำ ที่จะให้เป็นไปเพื่อผลที่พึงเกิดพึงมีพึงเป็นตามที่ปัญญารู้ตรงไปตรงมาอย่างบริสุทธิ์ หรือเพื่อสนองความต้องการของตน ที่ดีหรือร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง

พึงระลึกไว้เสมอว่า ในชีวิตและสังคมมนุษย์นี้ เจตนาเป็นเจ้าบทบาทใหญ่ โลกมนุษย์ คือ โลกแห่งเจตจำนง และเป็นไปตามกระบวนของเจตจำนง คือ กรรม

เจตจำนงเป็นแกนนำของอารยธรรม มนุษย์สร้างอารยธรรมทั้งหมดขึ้นด้วยเจตจำนง หรือพูดให้เต็มว่า เจตนาอาศัยปัญญาสร้างอารยธรรมขึ้นมา (คำพระว่า โลกอันจิตนำไป เป็นไปตามกรรม)

เจตนาหรือเจตจำนงนั้น กำกับและครอบคลุมเรื่องจริยธรรม และเรื่องบัญญัติธรรมทั้งหมด

จะต้องตระหนักไว้อย่างแม่นใจว่า เจตจำนงหรือเจตนานี้ ก็เป็นธรรมชาตินั่นเอง มันเป็นธรรมชาติในตัวมนุษย์ เช่นเดียวกับปัญญาเป็นต้น ที่พามนุษย์เข้าไปเป็นส่วนร่วมอันสำคัญในปัจจยาการ คือ กระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ

เอาละ เป็นอันว่า เมื่อมองไปที่พระพุทธเจ้า เราได้หลักใหญ่ คือ

๑. มีปัญญา ที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ

๒. มีปัญญา ที่จะจัดตั้งจัดการให้มนุษย์ได้รับผลดี บนฐานของความเป็นจริงนั้น

จะต้องพยายามให้การกระทำของเราสำเร็จผล ด้วยปัญญาสองขั้น ที่บริสุทธิ์ตรงไปตรงมาอย่างนี้

เป็นธรรมดาว่า มนุษย์ที่ดำเนินชีวิตและทำการทางสังคมกันอยู่นี่ก็ต้องทำต้องดำเนินไปตามความ จริงของกฎธรรมชาติ ในเรื่องเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทั้งนั้น แต่จะทำด้วยความรู้ ตรงความจริงหรือไม่ แล้วก็ได้ผลหรือไม่ได้ผลไปตามเหตุปัจจัยเท่าที่รู้ และทำ หรือไม่ทำอย่างไรนั้น

ถ้ารู้ความจริงชัดเจนสว่างแจ้ง ก็รู้ว่าอย่างไรดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมแท้จริง ก็ทำด้วยเจตนาให้ตรงที่จะเกิดผลดีนั้น

ถ้าไม่รู้ หรือรู้ไม่พอ ก็ทำไม่ได้ตรงความจริง หรือพอจะรู้ แต่ตั้งใจทำไม่ให้ตรงที่จะดี ก็เลยทำไม่ตรงความจริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2013, 16:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ปัญญาที่ใสสว่าง & เจตนาที่ใสสะอาด


ได้พูดถึงหลักใหญ่ 2 อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ตอนนี้ เรามาถึงคุณสมบัติในตัวคนที่จะจัดกิจดำเนินการ ก็มี 2 อย่าง คือ ปัญญา กับ เจตนา

สองตัวนี้ เอาไปใช้เป็นมาตรฐานวัดเรื่องของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าในกิจการอะไรทั้งสิ้น คือ หนึ่ง ต้องมีปัญญารู้ความจริง สอง ต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์

เจตนาที่บริสุทธิ์ คือ ตั้งใจดี ประกอบด้วยคุณภาพ มุ่งเพื่อจุดหมายที่แท้ เพื่อผลที่ดี มุ่งมั่นปรารถนาดี จะเรียกว่ามีอุดมคติ หรือมีอุดมการณ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็อยู่ในเรื่องเจตนานี่ทั้งหมด

นี่แหละสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะไปทำอะไร ก็ต้องมีให้ครบสองอย่าง

ถึงจะมีปัญญา แต่เจตนาไม่ดี ทั้งที่มีความรู้ความเข้าใจเห็นความจริง แต่เจตนามีโลภะ จะเอาผลประโยชน์ส่วนตัว หรือเจตนาประกอบด้วยโทสะ คิดจะประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือประกอบด้วยความหลง เป็นต้น การจัดการในเรื่องนิติบัญญัติ ก็เสียหายไม่ถูกต้อง

ถึงจะมีเจตนาดี บริสุทธิ์ใจ แต่ถ้าไร้ปัญญา ก็ผิดพลาดเสียหาย อาจเกิดผลร้ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่างน้อยก็ไม่สำเร็จผล

จึงต้องให้ปัญญาที่สว่าง กับ เจตนาที่สะอาด มาร่วมประสานบรรจบกัน

เรื่องปัญญารู้ความจริง ที่อยู่ในแดนของสภาวธรรม หรือสัจธรรม ก็ได้พูดมาเป็นหลักพอแล้ว ทีนี้ ในเรื่องเจตนา ที่บอกแล้วว่า เข้ามาในแดนของจริยธรรม และบัญญัติธรรม ก็แน่นอนว่ามีเรื่องที่จะถกเถียงกันให้ได้ความที่ชัดเจนมากขึ้นต่อไป

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2013, 17:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ทำความเข้าใจความหมาย สภาวธรรม จริยธรรม บัญญติธรรม ให้ชัดๆ พูดถึงกันบ่อย :b1:



ซ่อนใต้ระบบ 2 ของธรรมวินัย มองไปเห็นระบบ 3 แห่งสภาวะ จริยะ และบัญญัติ


ที่จริง ตอนที่พูดเรื่องธรรม กับ วินัย นั่นแหละ คือได้พูดเรื่องระบบของธรรมทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ตอนนั้น จับเอาเฉพาะต้น กับ ปลาย ที่เป็นจุดกำหนดใหญ่ คือ

- จุดเริ่ม หรือหลักต้นเดิม แบบแผนเดิม ด้านธรรมชาติ ได้แก่ ความจริงตามสภาวะของมัน ที่เรียกว่า ธรรม กับ

- จุดปลาย หรือหลักที่ตั้งขึ้น แบบแผนที่จัดวางขึ้นใหม่ ในด้านมนุษย์ ได้แก่ หลักการกฎกติกาซึ่งบัญญัติขึ้น ที่เรียกว่า วินัย

ธรรม ในที่นี้ หมายถึงความจริงตามสภาวะของธรรมชาติ ถ้าเรียกชื่อเดิม ก็คือ สภาวธรรม (เรียกหลวมๆ แบบไทยว่า สัจธรรม)

ส่วน วินัย ก็อย่างที่กล่าวแล้ว ว่าเป็นเรื่องที่คนบัญญัติจัดตั้งวางขึ้น เมื่อวางเป็นหลักเป็นแบบแผนแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง (ดังเช่นกฎหมายก็เรียกว่า "ธรรม" เช่น ในคำว่า ธรรมศาสตร์ คือวิชากฎหมาย) ดังนั้น วินัยเมื่อจัดเข้าในชุดของธรรม (เป็นเรื่องสืบเนื่องจากธรรมนั่นแหละ) ก็เรียกว่าเป็น บัญญัติธรรม

เป็นอันว่า ถึงตอนนี้ มีธรรม ๒ อย่าง คือ สภาวธรรม ในข้างธรรมชาติ และ บัญญัติธรรม ในข้างคนหรือสังคม

ทั้งนี้ ได้บอกแล้วว่า อย่างหลัง คือ บัญญัติธรรม ตั้งอยู่บนฐานของอย่างแรก คือ สภาวธรรม

ทีนี้ ถ้าดูให้ดี ในคำอธิบายเรื่อง ธรรม - วินัย ข้างต้นนั้น จะเห็นว่าระหว่าง 2 อย่างนั้น ก่อนจะตั้งอย่างหลังขึ้นได้ คือ จากธรรม จะมาตั้งวินัยขึ้นนั้น มีตัวเชื่อมโยง ซึ่งสำคัญมากเหมือนกัน แต่ที่นั่นไม่ได้เน้น ถ้าไม่สังเกต อาจจะมองข้ามหรือลืมไปเสีย ตัวเชื่อมโยงนั่นแหละ คือ ธรรมอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า จริยธรรม

คราวนี้ก็มาครบชุดตลอดทั้งระบบเป็น 3 อย่าง เรียงตามลำดับเป็น

สภาวธรรม (หลักหรือแบบแผนที่เป็นอยู่เป็นไปในธรรมชาติตามธรรมดาของมัน)

จริยธรรม (ข้อที่เสมือนเป็นเงื่อนไขที่ธรรมชาติเรียกร้องต่อมนุษย์ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการผลดี จะต้องปฏิบัติอย่างไร)

บัญญัติธรรม (หลักหรือแบบแผนที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อสนองตามเงื่อนไขของธรรมชาติ)

ถ้าเรียกให้สั้น ก็คือ สภาวะ จริยะ และ บัญญัติ (ใช้คำว่า ธรรมต่อท้าย เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในระบบแห่งธรรม หรือเป็นส่วนของระบบแห่งธรรมนั้น)


ข้อสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องบอกแจ้งไว้ก่อน เพื่อป้องกันความสับสน คือ คำว่า จริยธรรม ในที่นี้ จะต้องตระหนักว่า มิใช่มีความหมายอย่างคำว่า "จริยธรรม" ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไปในบัดนี้

เมื่อเห็นคำว่า "จริยธรรม" ในที่นี้ ห้ามนึกถึงจริยธรรมที่ใช้ในปัจจุบันเลย
ต้องลบออกไปเลย (เรื่องนี้จะอธิบายเหตุผลข้างหน้า)


ความสัมพันธ์ระหว่างธรรม 3 อย่างนี้ ก็เหมือนกับที่ได้อธิบายแล้วในตอนว่าด้วยธรรม กับ วินัย และในที่นี้จะทบทวนเล็กน้อย


ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเป็นเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้เข้าใจง่าย

สภาวะ (ความจริงตามธรรมชาติ) ไฟเป็นของร้อน มีอำนาจเผาไหม้ ทำให้เกิดแสงสว่างและความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากน้อย ตามระดับของอุณหภูมิ (มองในแง่ของมนุษย์ มีทั้งที่เป็นคุณ และเป็นโทษแก่ตน)

จริยะ (เงื่อนไขหรือข้อพึงประพฤติที่มนุษย์ต้องปฏิบัติเมื่อต้องการผลดีแก่ตน) พึงเข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อไฟด้วยความระมัดระวัง สอดส่องป้องกันมิให้เกิดอุบัติภัย ไม่เอาไฟไปใช้ทำร้ายใคร หรือทำลายสิ่งใด รู้จักใช้ทำประโยชน์ต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์ภายใต้การควบคุม ฯลฯ


บัญญัติ (จัดตั้งวางระเบียบกฎกติกาและมาตรการที่ให้มั่นใจว่าจะเกิดผลดีตามจริยะ) วางกฎมิให้ปล่อยเด็กเล็กอายุเท่านั้นๆ ไว้ในที่ใกล้ระยะเท่านั้นๆ จากวัตถุก่อไฟ วางข้อห้ามมิให้ผู้ใดนำไฟหรือวัตถุสื่อไฟเข้าไปในเขตรัศมีเท่านั้นๆ จากโรงเก็บวัตถุระเบิด ตั้งข้อกำหนดมิให้ก่อกองไฟเผาหญ้าหรือผิงไฟเป็นต้น ใกล้สิ่งก่อสร้างในระยะเท่านั้นๆ วางระเบียบในการสร้างครัวและโรงครัวว่าจะต้องใช้วัสดุอะไรสำหรับส่วนประกอบ ใด ต้องจัดวางส่วนประกอบภายในที่ตรงไหน อย่างไรได้ อย่างไรไม่ได้ ฯลฯ


ตัวอย่างทางนามธรรม ก็เช่น


สภาวะ: ความโลภ คือ สภาพจิตที่อยากได้อยากเอามาเพื่อตน อาจเป็นเหตุให้ทำการแสวงหาต่างๆ อาจถึงกับทำให้ไปเอาทรัพย์สินของคนอื่น ทำการลักขโมย เป็นต้น โทสะ คือภาวะจิตที่เคืองแค้นมุ่งร้าย ทำให้ใจเร่าร้อน หัวใจเต้นเร็ว ใจเครียด กล้ามเนื้อเขม็งเกร็ง เลือดลมติดขัด กระบวนการเผาผลาญในร่างกายทำงานหนัก ทรุดโทรมแก่เร็วขึ้น ง่ายที่จะก่อความขัดแย้งกับผู้อื่น รุนเร้าขับดันให้ไปรังควาญคนที่ตนเกลียดชัง อาจถึงกับทำให้ไปทำร้ายทุบตีหรือฆ่าคนอื่น เมตตา คือ สภาพจิตที่รักปรารถนาดีอยากให้คนอื่นเป็นสุข ทำให้จิตใจสงบเย็น ทำให้ระบบของร่างกายผ่อนคลาย หายใจสบาย เลือดลมเดินดี เผาผลาญน้อย ทรุดโทรมแก่ช้า ทำให้มีความเป็นมิตรและอยากช่วยเหลือผู้อื่น ไปบำเพ็ญประโยชน์ เกื้อกูลสังคม ฯลฯ


จริยะ: ควรควบคุมความโลภไม่ให้ทำการแสวงหาเกินขอบเขตที่ถึงกับไปเอาของของคนอื่น ถึงกับเบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ควรจัดการให้โลภะระบายออกในระบบการแสวงหาลภาพด้วยการทำงาน ควรดับโทสะ เพื่อสุขภาพกายใจของตน ระงับยับยั้งโทสะไม่ให้ทำการประทุษร้ายผู้อื่น มิให้แสดงออกมาในการก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนสังคม ควรเจริญเมตตาให้เอื้อต่อสุขภาพกายใจ ควรพัฒนาตนในทางมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูล ควรหาทางแสดงน้ำใจไมตรี ไปร่วมมือกัน ไปบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ


บัญญัติ: ตรากฎหมายห้ามลักขโมย ตรากฎหมายวางบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย วางระเบียบการจัดอบรมผู้ต้องขัง อบรมเด็กมีปัญหา จัดตั้งค่ายคุณธรรมเพื่อพัฒนาเมตตาธรรม ให้ซื่อสัตย์ ให้กตัญญู จัดตั้งชมรมสุขภาพกายสุขภาพใจ ฯลฯ


ตามตัวอย่างเหล่านี้ จะเห็นได้ไม่ยากว่า สภาวะ เป็นความจริงของธรรมชาติ และจริยะ ก็เป็นความจริงเกี่ยวกับความต้องการของชีวิตของคน ไม่ว่าที่ไหน เมื่อใด ทุกกาลเทศะ ก็เป็นอย่างนั้น


ดังนั้น สภาวธรรม และจริยธรรม ซึ่งสืบเนื่องต่อกันมา จึงอยู่ในระดับที่เป็นสัจธรรมด้วยกัน

ส่วนบัญญัตินั้น กำหนดหรือจัดตั้งวางขึ้น เพื่อให้จริยะมีผลเป็นจริง หรือให้ได้ผลตามจริยะ เห็นได้ชัดว่าเป็นสมมติ หรือสมมติธรรม คือไม่มีอยู่จริง แต่เป็นเรื่องของการตกลงหรือยอมรับร่วมกันของมนุษย์


ดังนั้น บัญญัติธรรม ซึ่งแต่ละสังคมก็พยายามจัดวางให้ได้ผลมากที่สุด แต่มีความรู้ความเห็นความต้องการความสามารถ มากน้อยไม่เท่ากัน ไม่ตรงกัน เช่น ประเทศนี้ มีกฎหมายว่าด้วยการเก็บ การเคลื่อนย้าย การใช้ เชื่อเพลิงประเภทต่างๆ เช่น แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ อย่างหนึ่ง แต่อีกประเทศหนึ่ง มีข้อกำหนดอีกแบบหนึ่ง และสำหรับเชื่อเพลิงแต่ละประเภทนั้นๆ ก็มีข้อบัญญัติที่เป็นรายละเอียดแตกต่างกันไปมากมาย หรือแม้ในประเทศเดียวกัน แต่ต่างยุคสมัย ก็มีเหตุให้บัญญัติแผกกันไป


บางที บัญญัติธรรม ก็ต่างกันมาก จนอาจจะตรงข้ามกันเลย คือ เรื่องที่ในสังคมนี้บัญญัติให้เป็นการถูกต้อง แต่อีกสังคมหนึ่งบัญญัติให้เป็นการไม่ถูกต้อง หรือในสังคมเดียวกันต่างกาละ เรื่องที่เคยบัญญัติว่าผิด ก็บัญญัติใหม่เป็นถูก เรื่องที่เคยว่าถูก ก็เอาเป็นผิด

ข้อที่พึงทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ จะเห็นชัดเช่นกันว่า สภาวะ หรือ สภาวธรรม เป็นเรื่องของปัญญา คือขึ้นต่อความรู้ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ส่วนจริยะ เป็นเรื่องของเจตนา คือขึ้นต่อเจตจำนง ความตั้งใจ


ในการบัญญัติจัดตั้งบัญญัติธรรม จะทำได้ผลดี ก็ต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจเข้าถึงสภาวะ และมีเจตนาที่สะอาดประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ต่อสังคม เป็นต้น อย่างจริงจังและจริงใจ

ท้ายสุด ในขั้นปฏิบัติตามบัญญัติธรรม การที่จะปฏิบัติตามหรือไม่ และปฏิบัติได้ผลมากน้อยเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับปัญญา และเจตนาเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการพัฒนามนุษย์ ด้วยการศึกษา ที่จะให้มนุษย์นั้นมีปัญญารู้เข้าใจสภาวธรรมเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เขาพัฒนาจิตใจให้มีเจตนาที่ประกอบด้วยคุณสมบัติดีงามทั้งหลาย เช่น เมตตา กรุณา สติ สมาธิ ฯลฯ เพื่อจะได้มีจริยธรรม ที่จะเอาเจตนานั้นไปนำพฤติกรรมทางกายวาจา โดยอาศัยบัญญัติธรรมช่วย เกื้อหนุน ให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามเกื้อกูลเป็นคุณเป็นประโยชน์ แก่ชีวิต แก่สังคม และแก่โลกที่แวดล้อมทั้งหมด ให้อยู่ดีมีสันติสุขแท้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร