วันเวลาปัจจุบัน 01 พ.ค. 2025, 22:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2012, 17:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5113

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

พุทธวิธีในการพูดของพระพุทธเจ้า
อภัยราชกุมารสูตร

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์

http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=13&A=1607

[๙๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์.
ครั้งนั้น พระราชกุมารพระนามว่า อภัย เสด็จเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
ทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

[๙๒] นิครนถ์นาฏบุตรได้ทูลอภัยราชกุมารว่า ไปเถิด พระราชกุมาร
เชิญพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดม
เมื่อพระองค์ทรงยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้แล้ว กิตติศัพท์อันงามของพระองค์
จักระบือไปว่า อภัยราชกุมารทรงยกวาทะแก่สมณโคดมผู้มีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้.

อภัยราชกุมารตรัสถามว่า

ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากอย่างนี้ ได้อย่างไร?


นิครนถ์นาฏบุตรทูลว่า

ไปเถิด พระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
แล้วจงทูลถามพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ
ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว
จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น

ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า
เพราะแม้ปุถุชนก็พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น

ถ้าพระสมณโคดมถูกถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมาร ตถาคตไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น

ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์พระเทวทัตต์ว่า
เทวทัตต์จักเกิดในอบาย จักเกิดในนรกตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง
เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้ ดังนี้
เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ

ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว
จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ
บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้ ฉันใด
ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น
ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย.


อภัยราชกุมารรับคำนิครนถ์นาฏบุตรแล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะทรงอภิวาทนิครนถ์นาฏบุตร
ทรงทำประทักษิณแล้วเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ทรงแหงนดูพระอาทิตย์ทรงพระดำริว่า วันนี้มิใช่กาล
จะยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาค วันพรุ่งนี้เถิด
เราจักยกวาทะแก่พระผู้มีพระภาคในนิเวศน์ของเรา

ดังนี้ แล้วจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคมีพระองค์เป็นที่ ๔
จงทรงรับภัตตาหารของหม่อมฉัน เพื่อเสวยในวันพรุ่งนี้
พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับแล้ว
เสด็จลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว เสด็จหลีกไป

ครั้งนั้น พอล่วงราตรีนั้นไป
เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอภัยราชกุมาร
ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้
ลำดับนั้น อภัยราชกุมารทรงอังคาสพระผู้มีพระภาคด้วยขาทนียะโภชนียะอันประณีต
ให้อิ่มหนำเพียงพอด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ ทรงชักพระหัตถ์จากบาตรแล้ว
อภัยราชกุมารทรงถืออาสนะต่ำอันหนึ่งประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

:b47: วาจาไม่เป็นที่รัก :b47:

[๙๓] อภัยราชกุมารประทับ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจา
อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นบ้างหรือหนอ.

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราชกุมาร
ในปัญหาข้อนี้ จะวิสัชนาโดยส่วนเดียวมิได้.

อ.ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว.

พ. ดูกรราชกุมาร เหตุไฉนพระองค์จึงตรัสอย่างนี้เล่า?

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะปัญหาข้อนี้ พวกนิครนถ์ได้ฉิบหายแล้ว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาสหม่อมฉันเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง นิครนถ์นาฏบุตรได้บอกว่า
ไปเถิด พระราชกุมาร เชิญพระองค์เสด็จไปยกวาทะแก่พระสมณโคดมเถิด
เมื่อพระองค์ยกวาทะแก่พระสมณโคดมอย่างนี้
กิตติศัพท์อันงามของพระองค์จักระบือไปว่า
อภัยราชกุมารยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้

เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรกล่าวอย่างนี้ หม่อมฉันได้ถามว่า
ท่านผู้เจริญ ก็ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม
ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างนี้ได้อย่างไร
นิครนถ์นาฏบุตรตอบว่า ไปเถิดพระราชกุมาร
เชิญพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมถึงที่ประทับ
แล้วจงทูลถามอย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระตถาคตจะพึงตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก
ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่นบ้างหรือหนอ
ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมาร ตถาคตพึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น
การกระทำของพระองค์จะต่างอะไรจากปุถุชนเล่า
เพราะแม้ปุถุชนก็กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

แต่ถ้าพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามอย่างนี้แล้ว จะทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
ดูกรราชกุมารตถาคตไม่พึงกล่าววาจา อันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ดังนี้ไซร้ พระองค์พึงทูลพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นอย่างนั้น อย่างไรพระองค์จึงทรงพยากรณ์เทวทัตต์ว่า
เทวทัตต์จักเกิดในอบาย จักเกิดในนรก ตั้งอยู่สิ้นกัปหนึ่ง เป็นผู้อันใครๆ เยียวยาไม่ได้
ดังนี้ เพราะพระวาจาของพระองค์นั้น พระเทวทัตต์โกรธ เสียใจ

ดูกรพระราชกุมารพระสมณโคดมถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว
จะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้เลย
เปรียบเหมือนกระจับเหล็กติดอยู่ในคอของบุรุษ
บุรุษนั้นจะไม่อาจกลืนเข้า ไม่อาจคายออกได้
ฉันใด ดูกรพระราชกุมาร พระสมณโคดมก็ฉันนั้น
ถูกพระองค์ทูลถามปัญหาสองเงื่อนนี้แล้ว
ไม่อาจกลืนเข้า จะไม่อาจคายออกได้เลย.

:b53: วาจาที่ประกอบด้วยประโยชน์ :b53:

[๙๔] สมัยนั้นแล เด็กอ่อนเพียงได้แต่นอน นั่งอยู่บนตักของอภัยราชกุมาร
ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะอภัยราชกุมารว่า

ดูกรราชกุมาร ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ถ้ากุมารนี้อาศัยความเผลอของพระองค์ หรือของหญิงพี่เลี้ยง
พึงนำไม้หรือก้อนกรวดมาใส่ในปาก
พระองค์จะพึงทำเด็กนั้นอย่างไร?

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะพึงนำออกเสีย
ถ้าหม่อมฉันไม่อาจจะนำออกได้แต่ทีแรก
หม่อมฉันก็จะเอามือซ้ายประคองศีรษะแล้วงอนิ้วมือขวาควักไม้
หรือก้อนกรวดแม้พร้อมด้วยเลือดออกเสีย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหม่อมฉันมีความเอ็นดูในกุมาร.

ดูกรราชกุมาร ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น


อนึ่งตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง วาจาที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น
ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น

อนึ่ง ตถาคตย่อมรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์
และวาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของผู้อื่น

ในข้อนั้น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะพยากรณ์วาจานั้น
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.


:b42: พุทธปฏิภาณ :b42:

[๙๕] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี
คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี สมณะผู้บัณฑิตก็ดี
ผูกปัญหาแล้วเข้ามาเฝ้าทูลถามพระตถาคต
การพยากรณ์ปัญหาของบัณฑิตเหล่านั้น
พระผู้มีพระภาคทรงตรึกด้วยพระหฤทัยไว้ก่อนว่า
บัณฑิตทั้งหลายจักเข้ามาเฝ้าเราแล้วทูลถามอย่างนี้
เราอันบัณฑิตเหล่านั้นทูลถามอย่างนี้แล้ว จักพยากรณ์อย่างนี้
หรือว่าพยากรณ์นั้นมาปรากฏแจ่มแจ้งกะพระตถาคตโดยทันที.

ดูกรราชกุมาร ถ้าอย่างนั้น ในข้อนี้ อาตมภาพจักกลับถามพระองค์บ้าง

ข้อนี้ควรแก่พระองค์อย่างใด พระองค์พึงพยากรณ์ข้อนั้นอย่างนั้น
ดูกรราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
พระองค์เป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถหรือ?

อย่างนั้น พระเจ้าข้า หม่อมฉันเป็นผู้ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ.

พ. ดูกรราชกุมาร พระองค์จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ชนทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระองค์แล้วพึงทูลถามอย่างนี้ว่า
ส่วนน้อยใหญ่ของรถอันนี้ ชื่ออะไร
การพยากรณ์ปัญหาของชนเหล่านั้นพระองค์พึงตรึกด้วยใจไว้ก่อนว่า
ชนทั้งหลายเข้ามาหาเราแล้ว จักถามอย่างนี้
เราอันชนเหล่านั้นถามอย่างนี้ จักพยากรณ์อย่างนี้
หรือว่าการพยากรณ์นั้นพึงแจ่มแจ้งกะพระองค์โดยทันที?

อ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะหม่อมฉันเป็นทหารรถ รู้จักดี
ฉลาดในส่วนน้อยใหญ่ของรถ ส่วนน้อยใหญ่ของรถทั้งหมด หม่อมฉันทราบดีแล้ว
ฉะนั้น การพยากรณ์ปัญหานั้นแจ่มแจ้งกะหม่อมฉันโดยทันทีทีเดียว.

ฉันนั้นเหมือนกันแล ราชกุมาร กษัตริย์ผู้บัณฑิตก็ดี
พราหมณ์ผู้บัณฑิตก็ดี คฤหบดีผู้บัณฑิตก็ดี
สมณะผู้บัณฑิตก็ดี ผูกปัญหาแล้วจักเข้ามาถามตถาคต
การพยากรณ์ปัญหานั้น ย่อมแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความที่ธรรมธาตุนั้น ตถาคตแทงตลอดดีแล้ว
การพยากรณ์ปัญหานั้น จึงแจ่มแจ้งกะตถาคตโดยทันที.


:b41: อภัยราชกุมารแสดงตนเป็นอุบาสก :b41:

[๙๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว อภัยราชกุมารได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด
ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้
ฉันใดพระผู้มีพระภาคทรงประกาศพระธรรมโดยอเนกปริยาย ฉันนั้นเหมือนกัน


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันขอถึงพระผู้มีพระภาค
พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ
ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ดังนี้แล.

จบ อภัยราชกุมารสูตร ที่ ๘.

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 09 ต.ค. 2012, 12:52, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2012, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5113

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


๑. นิครนถ์นาฏบุตรผูกปัญหาให้อภัยราชกุมารไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
ทรงกล่าววาจาที่คนไม่ชอบหรือไม่ทรงกล่าววาจาที่คนไม่ชอบ
พระพุทธองค์ตอบว่า “เรื่องนี้ตอบแง่เดียวไม่ได้”

๒. ทรงแสดงเรื่องวาจาที่ทรงกล่าวว่า ทรงรู้ว่า

- วาจาใด ไม่จริง ไม่มีประโยชน์
- วาจาใด จริง ไม่มีประโยชน์
- วาจาใด จริง มีประโยชน์


และในเรื่องวาจาที่ทรงกล่าวนั้น

- วาจาไม่จริง ไม่มีประโยชน์และหรือคนไม่ชอบ ไม่ตรัส
- วาจาจริง ไม่มีประโยชน์และหรือคนไม่ชอบ ไม่ตรัส
- วาจาไม่จริง ไม่มีประโยชน์แม้คนชอบ ไม่ตรัส
- วาจาจริง ไม่มีประโยชน์แม้คนชอบ ไม่ตรัส
- วาจาจริง มีประโยชน์ คนไม่ชอบ ทรงรู้กาลควรตรัส
- วาจาจริง มีประโยชน์และหรือคนชอบ ทรงรู้กาลควรตรัส


๓. อภัยราชกุมารทูลถามว่า เมื่อมีผู้มาทูลถามปัญหาต่างๆนั้น
พระพุทธองค์ทรงคิดไว้ล่วงหน้าหรือไม่ว่าจะต้องทรงตอบปัญหานั้นๆอย่างไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่ต้องทรงคิดไว้ล่วงหน้า
เพราะเรื่องเหล่านั้นพระองค์ทรงรู้เห็นแจ่มแจ้งแล้ว ฉะนั้นจึงทรงตอบได้ทันที
เช่นเดียวกับอภัยราชกุมารรู้เรื่องรถดี
เมื่อมีผู้ถามเรื่องรถ จึงทรงตอบได้แจ่มแจ้งทันที

สิ่งที่พระองค์ทรงแสดงในพระสูตรนี้ คือ

๑. ปัญหาบางเรื่องตอบแง่เดียวไม่ได้ ต้องตอบแบบวิเคราะห์
ที่เรียกว่า “วิสัชชพยากรณ์”

พระพุทธองค์ทรงแสดงหลักการตอบปัญหาไว้ ๔ วิธี คือ

๑.๑ เอกังสพยากรณ์ ตอบได้แง่เดียว
๑.๒ วิสัชชพยากรณ์ ตอบแบบแยกแยะ
๑.๓ ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ตอบโดยย้อนถาม
๑.๔ ฐปนียพยากรณ์ ตอบโดยการนิ่ง (อํ. จตุ. ๒๑/๔๒/๕๙)


๒. สิ่งที่ไม่จริง ไม่มีประโยชน์สถานเดียว

๓. สิ่งที่จริงมี ๒ สถาน คือ

๓.๑ บางอย่างมีประโยชน์
๓.๒ บางอย่างไม่มีประโยชน์

แสดงว่า ความจริง กับ ความมีประโยชน์ เป็นคนละเรื่องกัน

๔. ความชอบใจของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับความจริงหรือความมีประโยชน์
ความไม่ชอบใจของคนก็ไม่ขึ้นอยู่กับความไม่จริงหรือความไม่มีประโยชน์
ฉะนั้น จึงไม่อาจเอาความชอบใจหรือความไม่ชอบใจ
มาเป็นเกณฑ์ตัดสินความจริง-ความไม่จริง ความมีประโยชน์-ความไม่มีประโยชน์

๕. พระพุทธเจ้าหรือพระพุทธศาสนาไม่ได้สอนความจริงทุกอย่างที่ทรงรู้หรือที่มีอยู่
แต่ทรงเลือกสอนเฉพาะความจริงที่มีประโยชน์ ตามควรแก่กาลเทศะเท่านั้น

๖. การสอนของพระพุทธเจ้า มิได้ทรงถือเอาความชอบใจของคนเป็นหลัก
แต่ทรงถือเอา

๖.๑ ความจริง
๖.๒ ความมีประโยชน์
๖.๓ กาลเทศะ


(คือ พูดสิ่งที่เป็นความจริงที่มีประโยชน์และถูกกาลเทศะจึงจะเกิดประโยชน์)

๓ สิ่งนี้ทรงใช้เป็นหลักในการสอน ทั้งสอนพระและสอนประชาชนทั่วไป

แผนภาพสรุปลักษณะวาจาที่ทรงใช้

รูปภาพ


คัดลอกเนื้อหาและแผนผังจาก
เอกสารประกอบการบรรยายวิชา พระไตรปิฏกศึกษา ภาคที่ ๑
สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๒๓-๒๕

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 09 ต.ค. 2012, 09:29, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2012, 08:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5113

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


สีสปาสูตร (สํ.มหา.๓๑/๔๔๙)

สีสปาปรรณวรรคที่ ๔ สีสปาสูตร
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v ... agebreak=0


เปรียบสิ่งที่ตรัสรู้มีมากเหมือนใบไม้บนต้น

[๑๗๑๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน ใกล้เมืองโกสัมพี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงถือใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบด้วยฝ่าพระหัตถ์
แล้วตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมา แล้วตรัสถามว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่เราถือด้วยฝ่ามือกับใบที่บนต้น ไหนจะมากกว่ากัน?


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบที่พระผู้มีพระภาคทรงถือด้วยฝ่าพระหัตถ์มีประมาณน้อย
ที่บนต้นมากกว่า พระเจ้าข้า.

พ. อย่างนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วมิได้บอกเธอทั้งหลายมีมาก
ก็เพราะเหตุไรเราจึงไม่บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่พรหมจรรย์เบื้องต้น
ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง
ความตรัสรู้ นิพพาน เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่บอก.


[๑๗๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งอะไรเราได้บอกแล้ว เราได้บอกแล้วว่า
นี้ทุกข์...นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ก็เพราะเหตุไรเราจึงบอก
เพราะสิ่งนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย...นิพพาน เพราะฉะนั้น เราจึงบอก ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร
เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.

จบ สูตรที่ ๑

:b48: :b48:

๑. พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า สิ่งที่ทรงรู้แต่ไม่ตรัสบอกนั้นมีมากมาย
ดุจใบไม้บนต้นไม้ ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งที่

๑.๑ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์
๑.๒ ไม่เป็นไปเ่พื่อนิพพิทา (หน่าย)
๑.๓ ไม่เป็นไปเพื่อวิราคะ (คลาย)
๑.๔ ไม่เป็นไปเพื่ออุปสมะ (สงบ)
๑.๕ ไม่เป็นไปเพื่ออภิญญา (รู้)
๑.๖ ไม่เป็นไปเพื่อสัมโพธะ (แจ้ง)
๑.๗ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน (ดับ)


๒. สิ่งที่ทรงบอกก็คือ เรื่อง อริยสัจ ๔
ทั้งนี้เพราะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ฯลฯ เป็นไปเพื่อนิพพาน

:b50: :b50:

คัดลอกเนื้อหาจาก
เอกสารประกอบการบรรยายวิชา พระไตรปิฏกศึกษา ภาคที่ ๑
สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๒๕

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 09 ต.ค. 2012, 09:30, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ต.ค. 2012, 09:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5113

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


จูฬมาลุงโกยวาทสูตร

http://www.tipitaka.com/luksorn.htm

เรื่อง พระมาลุงกยบุตรดำริถึงมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ เล่มที่ ๑๓

[๑๔๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี.

ครั้งนั้น ท่านพระมาลุงกยบุตรไปในที่ลับเร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ

โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น
ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่
สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่


ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่เราฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.

พระมาลุงกยบุตรทูลบอกความปริวิตก

[๑๔๘] ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมาลุงกยบุตรออกจากที่เร้น
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส เมื่อข้าพระองค์ไปในที่ลับเร้นอยู่ เกิดความดำริแห่งจิตอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ ทรงงด ทรงห้ามทิฏฐิเหล่านี้ คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้า แต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ ข้อที่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงพยากรณ์ทิฏฐิเหล่านั้นแก่เรานั้น เราไม่ชอบใจ ไม่ควรแก่เรา เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทูลถามเนื้อความนั้น ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราก็จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค ถ้าพระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยากรณ์ ฯลฯ เราจักลาสิกขามาเป็นคฤหัสถ์.

- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกเที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกเที่ยง
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่เที่ยง ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่าโลกไม่เที่ยง
- ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกเที่ยงหรือโลกไม่เที่ยง เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น
ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าโลกมีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกมีที่สุด
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า โลกไม่มีที่สุด ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า โลกไม่มีที่สุด - ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่าโลกมีที่สุดหรือโลกไม่มีที่สุด เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น
ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น
ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง
ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง
- ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง
เมื่อไม่ทรงรู้ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ไม่เห็น.
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่
ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่
ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่
- ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี
ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี
- ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่
ขอจงทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์เถิดว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่
- ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงทราบว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่ เมื่อไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ก็ขอตรัสบอกตรงๆ เถิดว่า เราไม่รู้ เราไม่เห็น.

[๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมาลุงกยบุตร
เราได้พูดไว้อย่างนี้กะเธอหรือว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด
เราจักพยากรณ์ทิฏฐิ ๑๐ แก่เธอ ฯลฯ

ม. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ก็หรือว่า ท่านได้พูดไว้กะเราอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ

ม. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรมาลุงกยบุตรได้ยินว่า เรามิได้พูดไว้กะเธอดังนี้ว่า เธอจงมาประพฤติพรหมจรรย์ในเราเถิด
เราจักพยากรณ์แก่เธอ ฯลฯ ได้ยินว่า แม้เธอก็มิได้พูดไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์จักประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
ถ้าพระผู้มีพระภาคจักทรงพยากรณ์แก่ข้าพระองค์ ฯลฯ
ดูกรโมฆบุรุษ เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอเป็นอะไร ๑- จะมาทวงกะใครเล่า?

เปรียบคนที่ถูกลูกศร

[๑๕๐] ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดแลจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรง พยากรณ์แก่เรา ฯลฯ เพียงใด
เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น ตถาคตไม่พึงพยากรณ์ข้อนั้นเลย
และบุคคลนั้นพึงทำกาละไปโดยแท้.

ดูกรมาลุงกยบุตร เปรียบเหมือนบุรุษต้องศรอันอาบยาพิษที่ฉาบทาไว้หนา
มิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตของบุรุษนั้น พึงไปหานายแพทย์ผู้ชำนาญในการผ่าตัดมาผ่า.
บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักบุรุษผู้ยิงเรานั้นว่าเป็นกษัตริย์
พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร...มีชื่อว่าอย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้...สูงต่ำหรือปานกลาง...
ดำขาวหรือผิวสองสี...อยู่บ้าน นิคม หรือนครโน้นเพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น
บุรุษผู้ต้องศรนั้นพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรายังไม่รู้จักธนูที่ใช้ยิงเรานั้น @๑.
ไม่ใช่ผู้ขอร้อง หรือผู้ถูกขอร้อง เป็นชนิดมีแหล่งหรือเกาทัณฑ์...
สายที่ยิงเรานั้นเป็นสายทำด้วยปอผิวไม้ไผ่ เอ็น ป่านหรือเยื่อไม้
ลูกธนูที่ยิงเรานั้น ทำด้วยไม้ที่เกิดเองหรือไม้ปลูก
หางเกาทัณฑ์ที่ยิงเรานั้น เขาเสียบด้วยขนปีกนกแร้ง นกตะกรุม เหยี่ยว
นกยูงหรือนกชื่อว่า สิถิลหนุ (คางหย่อน)...
เกาทัณฑ์นั้น เขาพันด้วยเอ็นวัว ควาย ค่างหรือลิง...
ลูกธนูที่ยิงเรานั้น เป็นชนิดอะไร ดังนี้ เพียงใด เราจักไม่นำลูกศรนี้ออกเพียงนั้น

ดูกรมาลุงกยบุตร บุรุษนั้นพึงรู้ข้อนั้นไม่ได้เลย โดยที่แท้ บุรุษนั้นพึงทำกาละไป
ฉันใด ดูกรมาลุงกยบุตร บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคจักไม่ทรงพยกรณ์ทิฏฐิ ๑๐ นั้น ฯลฯ แก่เราเพียงใด เราจักไม่ประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพียงนั้น
ข้อนั้นตถาคตไม่พยากรณ์เลย โดยที่แท้ บุคคลนั้นพึงทำกาละไป ฉันนั้น.

[๑๕๑] ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง ดังนี้
จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่เที่ยง ดังนี้ จักไม่มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกเที่ยง หรือว่าโลกไม่เที่ยงอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า โลกไม่มีที่สุด ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า โลกมีที่สุด หรือว่าโลกไม่มีที่สุดอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง ดังนี้ จักได้มีการประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่งอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอนชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็มิใช่อย่างนั้น.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ ก็ไม่ใช่อย่างนั้น. ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ดังนี้ จักได้มีการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์หรือ แม้อย่างนั้นก็ไม่ใช่.

ดูกรมาลุงกยบุตร เมื่อยังมีทิฏฐิว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ ดังนี้ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และ อุปายาส ก็คงมีอยู่ทีเดียว เราจึงบัญญัติความเพิกถอน ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสในปัจจุบัน.

ปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์และไม่ทรงพยากรณ์

[๑๕๒] ดูกรมาลุงกยบุตร เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด.

ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราไม่พยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ทิฏฐิว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปไม่มีอยู่ สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไปมีอยู่ก็มี ไม่มีอยู่ก็มี สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายไป มีอยู่ก็หามิได้ ไม่มีอยู่ ก็หามิได้ ดังนี้ เราไม่พยากรณ์.

ดูกรมาลุงกยบุตร ก็เพราะเหตุไร ข้อนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ เพราะข้อนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงไม่พยากรณ์ข้อนั้น.

ดูกรมาลุงกยบุตร อะไรเล่าที่เราพยากรณ์ ดูกรมาลุงกยบุตร ความเห็นว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดังนี้เราพยากรณ์. ก็เพราะเหตุไร เราจึงพยากรณ์ข้อนั้น เพราะข้อนั้นประกอบด้วยประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เหตุนั้นเราจึงพยากรณ์ข้อนั้น.

เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงทรงจำปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราไม่พยากรณ์ และจงทรงจำปัญหาที่เราพยากรณ์ โดยความเป็นปัญหาที่เราพยากรณ์เถิด. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ท่านพระมาลุงกยบุตร ยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล.

จบจูฬมาลุงโกฺยวาทสูตรที่ ๓.

:b44: :b44:

๑. พระมาลุงกยะเกิดความคิดว่า ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบอัพยากตปัญหา ๑๐ ข้อแก่ตน
ตนก็จะลาสิกขา จึงไปทูลถามพระพุทธเ้จ้าว่า ทรงรู้หรือว่าไม่ทรงรู้ปัญหาเหล่านั้น
ถ้าทรงรู้ก็ขอให้ทรงบอกว่า รู้ ถ้าไม่ทรงรู้ก็ขอให้บอกว่าไม่รู้

๒. พระพุทธองค์ตรัสกับพระมาลุงกยะว่า ได้เคยทรงสัญญากับเธอไว้หรือไม่
ว่าจะทรงตอบปัญหาเหล่านี้ ก็ทูลว่าไม่เคย

๓. ทรงเปรียบเทียบคนที่รอให้พระองค์ตอบอัพยากตปัญหาก่อน
จึงจะประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็คงตายเสียก่อนเหมือนคนถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษอย่างแรง
รอให้คนบอกเสียก่อนว่า ใครเป็นคนยิงมา ยิงมาจากไหน ลุกศรทำด้วยอะไร จึงจะยอมให้ถอนลูกศร
ก็คงตายเสียก่อนที่จะรู้เรื่องเหล่านั้น

๔. อัพยากตปัญหานั้น ถึงรู้ก็ไม่ทำให้มีการประพฤติพรหมจรรย์ ถึงรู้ก็ไม่ทำให้ชาติ ชรา มรณะ
โสกปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส หมดไป จึงทรงสอนเฉพาะเรื่องที่จะทำให้เพิกถอนชาติ ชรา
มรณะ ฯลฯ ได้ในปัจจุบัน

๕. ทรงสรุปว่า อัพยากตปัญหาเป็นเรื่องที่ไม่ทรงพยากรณ์ คือ ไม่ตรัสบอกหรือไม่สอน
เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องที่ทรงพยากรณ์ เพราะเป็นเรื่องที่มีประโยชน์
เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ฯลฯ เป็นไปเพื่อนิพพาน


:b48: :b48:

คัดลอกเนื้อหาจาก
เอกสารประกอบการบรรยายวิชา พระไตรปิฏกศึกษา ภาคที่ ๑
สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. ๒๕๔๖ หน้า ๒๖

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron