วันเวลาปัจจุบัน 11 พ.ย. 2024, 02:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 39 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 เม.ย. 2010, 07:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี

กลุ่มพระชาวแคว้นอวันตี คือ กลุ่มพระที่เป็นชาวแคว้นอวันตีโดยกำเนิด มี ๒ รูป คือ พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะ ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

๏ สถานะเดิม

พระมหากัจจายนะ เกิดในวรรณะพราหมณ์ ตระกูล “กัจจายนะ” บิดาเป็นปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ท่านมีชื่อว่า “กาญจนะ” หรือ “กัญจนะ” เพราะเกิดมามีผิวพรรณงามดุจทองคำ

พระโสณกุฏิกัณณะ เกิดในวรรณไวศยะ ตระกูลคหบดีในเมืองกุรรฆระ มารดาชื่อ กาฬี เป็นอุบาสิกาผู้ถวายการบำรุงพระมหากัจจายนะ ท่านมีชื่อเดิมว่า “โสณะ” แปลว่า “ทอง” แต่เป็นเพราะเมื่อเจริญวัยขึ้นใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ จึงมีชื่อต่อมาว่า “โสณกุฏิกัณณะ” หรือ “โสณโกฎิกัณณะ” (โสณะผู้ใช้ต่างหูราคา ๑ โกฎิ)

๏ ชีวิตฆราวาส

พระมหากัจจายนะ เนื่องจากเป็นบุตรของปุโรหิตและศึกษาจบไตรเพท เมื่อบิดาถึงแก่กรรม พระเจ้าจัณฑปัชโชติจึงทรงตั้งท่านไว้ตำแหน่งปุโรหิตสืบต่อมา ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยดีมาโดยลำดับจนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย

พระโสณกุฏิกัณณะ เนื่องจากนางกาฬีผู้เป็นโยมมารดา เป็นโยมอุปัฏฐากของพระมหากัจจายนะ และไปนมัสการพระมหากัจจายนะอยู่เนืองๆ เวลาที่ท่านมาจำพรรษาที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ ซึ่งอยู่แคว้นอวันตีตอนใต้ อันเป็นส่วนที่เรียกว่าอวันติทักขิณาบถ และถือได้ว่าเป็นปัจจันตชนบท (ถิ่นกันดาร) นางได้นำลูกชายไปด้วยตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ จึงทำให้ลูกชายคุ้นเคยกับพระเถระ และได้ฟังคำสอนของพระเถระ อยู่เป็นประจำ ครั้นเจริญวัยขึ้นท่านยิ่งศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น จึงได้สร้างวัดขึ้นที่ภูเขาปวัตตะเพื่อถวายแก่พระเถระ

กล่าวถึงนางกาฬี ในคัมภีร์มโนรถปูรณีกล่าวว่า นางได้เป็นพระโสดาบันก่อนหญิงคนใด รวมทั้งก่อนโยมมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะด้วย ดังมีเรื่องเล่าว่า

วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดฤาษีปัญจวัคคีย์นั้น นอกจากฤาษีโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็ยังมีมนุษย์คือเทวดาและพรหมอีก ๑๘ โกฏิได้ดวงตาเห็นธรรมด้วย ในจำนวนนั้นมีสาตาคิรยักษ์รวมอยู่ด้วย

สาตาคิรยักษ์อยู่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป บริเวณป่าหิมพานต์ มีเพื่อนยักษ์ชื่อเหมวตยักษ์อยู่ทางตอนใต้ ครั้นได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว สาตาคิรยักษ์ก็คิดถึงเหมวตยักษ์ผู้เป็นเพื่อน อยากให้ได้บรรลุธรรมอย่างที่ตนบรรลุบ้าง จึงชวนยักษ์บริวารเหาะมาหา

ฝ่ายเหมวตยักษ์เองมองไปทางป่าหิมพานต์เห็นมีดอกไม้บานนอกฤดูกาล ก็คิดอยากไปเล่นสนุกสนานกับเพื่อนสาตาคิรยักษ์ จึงชวนยักษ์บริวารเหาะไปหา แล้วทั้ง ๒ ฝ่ายก็มาพบกันกลางทาง คือในอากาศ เหนือบ้านของนางกาฬี แล้วสนทนากันถึงเหตุที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างจะไปหากัน

สาตาคิรยักษ์บอกให้เหมวตยักษ์ทราบว่า ผู้ที่เป็นต้นเหตุให้ป่าหิมพานต์มีดอกไม้บานนอกฤดูกาลนั้นก็คือ เจ้าชายสิทธัตถะ พระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ซึ่งบัดนี้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว และบัดนี้กำลังหมุนล้อธรรม (แสดงธรรม) โปรดมนุษย์และเทวดาทั้งหมื่นจักรวาฬ

เหมวตยักษ์พอได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้า ก็สนใจมาก จึงถามสาตาคิรยักษ์ว่า ได้เห็นพระพุทธเจ้าเต็มตาหรือเปล่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยมั่นคงไหม ทรงควบคุมความคิดในอารมณ์ต่างๆ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนาได้ไหม


สาตาคิรยักษ์ก็กล่าวตอบว่า เห็นมาแล้ว และวันนี้ก็เป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ขอให้เราไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเถิด เมื่อสาตาคิรยักษ์กล่าวสรรเสริญพระคุณของพระพุทธเจ้าจบลง เหมวตยักษ์ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ขณะที่ยักษ์ทั้ง ๒ กำลังสนทนาอยู่เหนือบ้านของนางกาฬีนั้น นางก็ลุกขึ้นจากที่นอนมานั่งฟัง จับได้ว่าไม่ใช่เสียงมนุษย์จึงตั้งใจฟัง และเกิดศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ทั้งที่ยังไม่เคยเห็นพระองค์ แล้วก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเช่นกัน

ต่อมาเมื่อพระมหากัจจายนะเดินทางกลับมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา นางจึงมีโอกาสพาโสณะลูกชายไปหา และรับอุปัฏฐากดังกล่าวแล้ว

โสณะประกอบอาชีพค้าขายซึ่งเป็นอาชีพเดิมของพระกูล นำสินค้าบรรทุกเกวียนจากบ้านเกิด ไปขายในเมืองอุชเชนีเป็นประจำ ท่านไม่มีครอบครัวเพราะประพฤติพรหมจรรย์ตลอดเวลา บริโภคอาหารมื้อเดียว นอนคนเดียว


๏ การออกบวช

พระมหากัจจายนะ ออกบวชคราวที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตส่งท่านไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ให้เสด็จมาโปรดชาวแคว้นอวันตี เรื่องมีอยู่ว่า

พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า และทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดพสกนิกรของพระองค์ด้วย จึงทรงปรึกษากับปุโรหิตกัจจายนะ เมื่อปุโรหิตกัจจายนะเห็นชอบตามพระราชประสงค์ พระองค์จึงทรงมอบหมายให้ปุโรหิตกัจจายนะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล

ฝ่ายปุโรหิตกัจจายนะมีจิตน้อมไปในการออกบวชเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับมอบหมายให้ไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า จึงเห็นเป็นโอกาสสมควรทูลขอพระราชานุญาต ออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วย พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงอนุญาตตามความประสงค์ โดยพระราชานุญาตครั้งนี้เอง ปุโรหิตกัจจายนะจึงทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้าหลังจากฟังพระธรรมเทศนาจบลง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา


พระโสณกุฏิกัณณะ ออกบวชในสำนักของพระมหากัจจายนะ เรื่องมีอยู่ว่า ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมานานแล้ว แต่พระมหากัจจายนะไม่ยอมบวชให้ เพราะเห็นว่าท่านเป็นกำลังสำคัญของตระกูล จึงได้แต่บอกให้ท่านประพฤติพรหมจรรย์ไปก่อน

ท่านทำตามพระเถระแนะนำ แต่การประพฤติพรหมจรรย์นั้นก็ยิ่งทำให้ท่านมีศรัทธาที่จะออกบวชมากขึ้น ท่านขอบวชต่อพระเถระถึง ๓ ครั้ง ครั้งที่ ๓ พระเถระเห็นว่าท่านมีศรัทธาแน่วแน่ จึงบวชให้เป็นสามเณรก่อน เพราะขณะนั้นพระเถระจำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน ไม่สามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ได้ครบ ๑๐ รูป เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ในการบวชเป็นพระนั้น ต้องมีพระร่วมเป็นคณปูรกะตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปจึงจะถือว่าบวชเป็นพระได้สำเร็จ เมื่อได้พระไม่ครบ ๑๐ รูป พระเถระจึงไม่สามารถบวชโสณะเป็นพระให้ได้

พระโสณกุฏิกัณณะบวชเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี พระมหากัจจายนะจึงสามารถหาพระมาร่วมเป็นคณปูรกะได้ครบ ๑๐ รูป ครั้นแล้วจึงได้บวชเป็นพระให้ด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา


๏ การบรรลุธรรม

พระมหากัจจายนะ เวลาที่ท่านพร้อมด้วยผู้ติดตามอีก ๗ คน เดินทางไปถึงวัดเชตวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชาวเมืองสาวัตถีอยู่พอดี ท่านและคณะจึงหยุดฟังธรรมอยู่นอกที่ประชุม พร้อมพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน จนเกิดความรู้แจ้งได้บรรลุอรหัตผลทันทีหลังฟังพระธรรมเทศนาจบลง ท่านเป็นพระอสีติมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้บรรลุอรหัตผลก่อนบวช

พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบวชแล้วก็ได้เรียนกรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์ ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุอรหัตผล

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 พ.ค. 2010, 19:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ งานสำคัญ

พระมหากัจจายนะ ครั้นบวชแล้วก็ได้ทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปแคว้นอวันตี เพื่อโปรดพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตี แต่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้เป็นภาระของท่าน เพราะเห็นว่าไม่ว่าพระองค์ หรือพระมหากัจจายนะไปก็เหมือนกัน คือ สามารถทำให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีเลื่อมใสได้

ครั้นได้รับมอบหมายแล้ว พระมหากัจจายนะพร้อมด้วยพระชาวแคว้นอวันตีอีก ๗ รูปที่ออกบวชพร้อมกันก็เดินทางกลับไปบ้านเกิด ระหว่างทางใกล้ถึงเมืองอุชเชนี มีหญิงสาวยากจนคนหนึ่งทำบุญด้วยการตัดผมตนเองออกขาย แล้วนำเงิน ๘ กหาปณะไปซื้ออาหารถวายท่านและคณะ

ท่านครั้นเดินทางไปถึงบ้านเกิดแล้วก็พักอยู่ในพระราชอุทยานและฉันอาหารที่หญิงสาวผู้ยากจนถวายมา เจ้าหน้าที่เฝ้าพระราชอุทยานทราบเรื่อง จึงไปกราบทูลพระเจ้าจัณฑปัชโชตให้ทรงทราบ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงดีพระทัยมาก เสด็จออกมาต้อนรับท่านและตรัสถามถึงเรื่องพระพุทธเจ้า

ท่านได้ทูลเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าถวายพร้อมทั้งทูลว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้ท่านมาแทน พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงพอพระทัย จึงนิมนต์ท่านให้แสดงธรรมโปรดพระองค์และชาวแคว้นอวันตี ท่านปฏิบัติศาสนกิจตามที่พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระราชประสงค์ และสามารถปฏิบัติได้สำเร็จด้วยดี โดยต่อมาพระเจ้าจัณฑปัชโชตและ ชาวแคว้นอวันตีจำนวนมากประกาศตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ยิ่งไปกว่านั้นพระนางโคปาลมารดา พระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้าจัณฑปัชโชตยังทรงมีพระราชศรัทธาสร้างวัดถวายไว้ในพระราชอุทยาน อันเป็นหลักฐานให้เห็นว่าบัดนี้พระพุทธศาสนาตั้งมั่นแล้วในแคว้นอวันตี ท่านจำพรรษาอยู่ในแคว้นอวันตีพอสมควรแล้ว จึงได้ทูลลาพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน

ขณะที่กลับมาพักอยู่ในสำนักของพระพุทธเจ้า ท่านแสดงความสามารถด้วยการขยายความพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยย่อให้พระทั้งหลายฟังดังนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญา
ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต
เพราะอดีตผ่านพ้นไปแล้ว และอนาคตก็ยังมาไม่ถึง
ผู้ใด เห็นแจ้งปัจจุบันอย่างไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน
ผู้นั้น ครั้นรู้ธรรมนั้นแล้ว ทำธรรมนั้นให้เกิดขึ้นเนืองๆ
ควรรีบทำความเพียรเผากิเลสเสียแต่วันนี้
เพราะพรุ่งนี้อาจตายเสียก็ได้ ใครจะไปรู้
อีกทั้งพญามัจจุราช ผู้มีกำลังเกรียงไกร ใครจะไปผัดผ่อนได้
บุคคลผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้าน ทั้งกลางวันและกลางคืน
ผู้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ท่านผู้สงบระงับ
ย่อมกล่าวสรรเสริญว่า เป็น “ผู้มีราตรีเดียวอันเจริญ”


พระมหากัจจายนะ ขยายความสรุปได้ว่า

ที่ว่า ไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับอดีต คือ ไม่ควรคิดถึง
รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกาย และสิ่งสัมผัสทางใจ
ที่เคยได้เห็น ได้ยิน และเคยได้รับรู้มาแล้ว
จนเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น
ผู้ที่คิดถึงด้วยความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งที่ผ่านมานั้น
ชื่อว่า หมกมุ่นอยู่กับอดีต

ที่ว่า ไม่ควรเพ้อฝันถึงอนาคต คือ ไม่ควรคิดคาดหวังว่า
จักได้เห็นรูป จักได้ฟังเสียง จักได้ดมกลิ่น
จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
จักได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดถึงเรื่องราวต่างๆ)
ซึ่งแต่ละสิ่งที่เพ้อฝันถึงนั้น
ก่อให้เกิดความกำหนัดพอใจ เพลิดเพลินและติดอยู่
ผู้ที่คิดคาดหวังถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ด้วยความกำหนัดพอใจ
เพลิดเพลินอยู่ ชื่อว่า เพ้อฝันถึงอนาคต

การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจ (คิดถึงเรื่องราวต่างๆ)
แล้วเกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ชื่อว่า ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน

การที่บุคคลขณะที่ได้เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางกาย
และได้สัมผัสสิ่งสัมผัสทางใจแล้ว
ไม่เกิดความกำหนัดพอใจเพลิดเพลิน
และไม่ติดอยู่ในสิ่งเหล่านั้น
ชื่อว่า ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในปัจจุบัน


พระทั้งหลายฟังพระมหากัจจายนะกล่าวขยายความแล้ว ได้นำความไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรับรองว่าถูกต้องแล้ว และบอกว่าหากพระองค์จะทรงขยายความก็จะทรงขยายความในทำนองเดียวกันนี้

ต่อมา ท่านได้เดินทางกลับไปแคว้นอวันตีอีก และพักจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาปวัตตะเมืองกุรรฆระ อันเป็นเมืองชายแดน มีผู้คนจำนวนมากเลื่อมใส และได้เป็นอุปัชฌาย์บวชให้พระโสณกุฏิกัณณะ

ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่เมืองกุรรฆระ ท่านเห็นความยากลำบากของพระที่จำพรรษาอยู่ที่นั้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระวินัย ๕ ประการ คือ

๑. การบวชพระต้องมีสงฆ์เป็นคณปูรกะ (เต็มคณะ) ครบ ๑๐ รูป
๒. เดินทางลำบากเพราต้องสวมรองเท้าชั้นเดียว
๓. ๑๕ วันอาบน้ำได้เพียงครั้งเดียว
๔. การนั่งบนอาสนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ไม่ได้
๕. จีวรที่มีผู้ปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันแล้วพระรับไม่ได้

ข้อ ๑ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระหาพระยากมาก กว่าจะมีครบเป็นคณปูรกะ คือ ๑๐ รูปได้ต้องใช้เวลารอคอยเป็นปีๆ

ข้อ ๒ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบท มีทางเดินขรุขระ เป็นรอยโครอยเกวียน รองเท้าชั้นเดียวไม่สามารถป้องกันเท้าไม่ให้เจ็บได้

ข้อ ๓ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีอากาศร้อน ชาวพื้นเมืองนิยมอาบน้ำทุกวัน เมื่อพระอาบน้ำ ๑๕ วันต่อ ๑ ครั้ง จึงกลายเป็นของแปลกสำหรับชาวพื้นเมือง และทำให้พวกเขารังเกียจได้อีก อีกทั้งพระเองก็ไม่สบายตัว

ข้อ ๔ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ ชาวพื้นเมืองนิยมใช้อาสนะที่ทำด้วยหนังแพะ หนังแกะ เมื่อพระนั่งบนอาสนะเช่นนั้นไม่ได้ จึงเป็นความลำบากแก่ชาวพื้นเมืองที่จะถวายการต้อนรับ และเป็นความลำบากแก่พระที่ต้องคอยระวัง

ข้อ ๕ เป็นความลำบาก เพราะในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีทางคมนาคมไม่สะดวก ทายกกว่าจะนำจีวรที่ปวารณาถวายพระไว้มาถวายถึงมือได้ก็ล่วงเวลา ๑๐ วัน ซึ่งพระไม่กล้ารับเนื่องจากพ้นกำหนดที่ทรงอนุญาต

พระมหากัจจายนะได้มอบหมายให้พระโสณกุฏิกัณณะนำความนี้ไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ขอให้ทรงผ่อนผัน ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงผ่อนผันให้ในปัจจันตชนบททุกแห่งถือปฏิบัติดังนี้

๑. การบวชในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ มีพระร่วมเป็นคณปูรกะเพียง ๕ รูปก็ใช้ได้

๒. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระสวมรองเท้าหลายชั้นได้

๓. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระอาบน้ำได้ทุกวัน

๔. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระนั่งบนอาสนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ได้

๕. พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบทอย่างเมืองกุรรฆระ รับจีวรที่ทายกปวารณาถวายไว้เกิน ๑๐ วันได้

ต่อมาภายหลังพุทธปรินิพพานได้มีการจัดทำปฐมสังคายนา พระมหากัจจายนะได้เข้าร่วมด้วย


พระโสณกุฏิกัณณะ ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้ว มีความประสงค์จะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล จึงบอกพระมหากัจจายนะผู้เป็นอุปัชฌาย์ให้ทราบ

พระอุปัชฌาย์ได้มอบหมายให้ท่านทูลขอพระพุทธเจ้าให้ทรงผ่อนผันพระวินัย ๕ ข้อ ท่านทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดียิ่ง กล่าวคือ พระพุทธเจ้าทรงผ่อนผันให้พระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบท (ถิ่นกันดาร) ปฏิบัติได้ตามที่พระมหากัจจายนะทูลขอดังกล่าวมาแล้ว นับว่าเป็นประโยชน์ยิ่งสำหรับพระที่จำพรรษาอยู่ในปัจจันตชนบท

คราวที่เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงต้อนรับท่านด้วยดี ทรงอนุญาตให้ท่านพักค้างคืนในพระคันธกุฏีของพระองค์ ครั้นถึงเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ฟัง ท่านได้แสดงสูตร ๑๖ สูตรในอัฏฐกวรรคได้อย่างไพเราะ ไม่ผิดทั้งสระและพยัญชนะ เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสชมท่าน ท่านอยู่กับพระพุทธเจ้าเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก็ทูลลากลับแคว้นอวันตี

ต่อมาโยมมารดาของท่านทราบว่า ท่านแสดงธรรมถวายพระพุทธเจ้า จึงขอให้ท่านแสดงธรรมให้ตนฟังบ้าง ขณะโยมมารดากำลังฟังธรรมอยู่นั้น โจรก๊กหนึ่งจำนวน ๙๐๐ คนได้เข้าปล้นบ้าน ขนข้าวของมีค่าจำนวนมากไป ขณะที่โจรขนของไปเป็นระยะๆ นั้น มีคนใช้มารายงานให้โยมมารดาของท่านทราบอยู่ตลอดเวลา นางหาได้หวาดวิตกแต่อย่างใดไม่ ยังคงตั้งใจฟังธรรม พร้อมบอกอนุญาตให้โจรขนของออกไป ขอเพียงอย่ามารบกวนการฟังธรรมเท่านั้น

หัวหน้าโจรทราบเรื่องราวทั้งหมดของนางจากคนใช้แล้วรู้สึกประหลาดใจ ขณะเดียวกันก็นึกได้ว่า ตนเองทำไม่ถูกที่มาประทุษร้ายคนที่ไม่ประทุษร้าย และรู้สึกเกรงกลัวผลของความชั่วขึ้นมาทันที เขาบอกบริวารให้ขนของกลับ

และเมื่อการฟังธรรมสิ้นสุดลง หัวหน้าโจรก็เข้าไปหาโยมมารดาของท่าน ขอโทษแล้วก็ขอล้างบาปด้วยการขอบวชเป็นสัทธิวิหาริกของพระโสณกุฏิกัณณะ ท่านได้บวชให้โจรเหล่านั้นตามความประสงค์ สัทธิวิหาริกของท่านทุกรูปได้บรรลุอรหัตผลเสมอเหมือนกันเพราะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2010, 15:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ บั้นปลายชีวิต

พระมหากัจจายนะ วนเวียนจำพรรษาอยู่ในแคว้นอวันตีและแคว้นสุรเสนะ ซึ่งอยู่ใกล้กับแคว้นอวันตี คราวหนึ่งมีผู้คนจำนวนมากเข้ามาหาท่านขณะจำพรรษาอยู่ที่ป่าคุนธาวัน เมืองมธุรา แคว้นสุรเสนะ พราหมณ์กัณฑรายณะเข้าไปสนทนาด้วยแล้วกล่าวหาว่าท่านไม่มีสามีจิกรรม คือไม่ยอมไหว้ ไม่ลุกรับพราหมณ์ผู้แก่เฒ่า ท่านได้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องคนแก่หนุ่มไว้ว่า

คนอายุ ๘๐ ปี ๑๐๐ ปี ถ้ายังเสพกามอยู่ก็ยังนับว่าเป็นคนหนุ่มสาวอยู่ แต่คนหนุ่มแม้จะอยู่ในวัยแรกรุ่น ถ้าไม่เสพกามก็นับว่าเป็นคนแก่ได้ พราหมณ์กัณฑรายณะฟังแล้วเกิดความซาบซึ้ง จึงก้มกราบท่านแล้วประกาศตนนับถือพระรัตนตรัย

อีกคราวหนึ่ง ที่เมืองมธุราเช่นกัน พระเจ้ามธุรราชได้เข้าไปสนทนากับท่าน เรื่องการถือตัวของคนวรรณะพราหมณ์ ที่ถือตัวว่าประเสริฐบริสุทธิ์เกิดจากพรหม

พระมหากัจจายนะได้กล่าวถึงความไม่มีอะไรที่แตกต่างกันของคนทุกวรรณะ (ทุกชั้น) ดังนี้

๑. คนวรรณะใดเป็นผู้มั่งคั่ง คนวรรณะเดียวกันและวรรณะอื่น ย่อมเข้าเป็นพวกของคนวรรณะนั้น

๒. คนวรรณะใดประพฤติอกุศลกรรมบถ เมื่อตายแล้วคนวรรณะนั้นย่อมไปเกิดในอบายเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๓. คนวรรณะใดทำการปล้นสดมภ์ เป็นชู้กับภรรยาของผู้อื่น คนวรรณะนั้นต้องไดัรับโทษราชอาญาเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

๔. คนวรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลธรรม คนวรรณะนั้นย่อมได้รับการนับถือ การบำรุง และการคุ้มครองเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น

พระเจ้ามธุรราชทรงฟังแล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใส ถึงขั้นประกาศนับถือพระมหากัจจายนะเป็นสรณะ แต่ท่านไม่ยอมรับ และทูลพระเจ้ามธุรราชให้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

พระเจ้ามธุรราชทรงทำตามที่ท่านแนะนำ แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรู้สึกเสียดายที่มาพบพระพุทธศาสนา หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว


พระโสณกุฏิกัณณะ ไม่มีกล่าวถึงบั้นปลายชีวิตของท่านไว้ แต่ก็สันนิษฐานว่า ท่านคงอยู่ที่แคว้นอวันตีนั้นเอง และส่วนใหญ่คงจำพรรษาอยู่ที่ภูเขาปวัตตะ เมืองกุรรฆระ อันเป็นชาติภูมิของท่านเองจนกระทั่งนิพพาน

๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

พระมหากัจจายนะ และพระโสณกุฏิกัณณะ ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะทั้ง ๒ รูป

พระมหากัจจายนะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดาร

ส่วนพระโสณกุฏิกัณณะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวก ๒ รูปนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะตามความสามารถในชาติปัจจุบัน และตามที่ท่านตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ


พระมหากัจจายนะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมมุตตระ ครั้งนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรคหบดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรมพร้อมกับพวกชาวเมือง เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอทัคคะ ด้านขยายความพระธรรมเทศนาที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร แล้วเกิดความศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธราให้ปรากฏด้วยการทำบุญต่างๆ คือ การถวายทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูความเป็นไปในอนาคตของท่านด้วยพระญาณแล้ว ทรงเห็นว่าความปรารถนาของท่านสำเร็จได้แน่ จึงทรงพยากรณ์ว่า


“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล และได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดาร”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าสุเมธะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าสุเมธะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธบริษัทได้ร่วมกันสร้างพุทธเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ท่านได้บริจาคทองคำ ๑๐๐,๐๐๐ ตำลึงเพื่อใช้หล่อเป็นอิฐ แล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้มีร่างกายสวยงามมีผิวพรรณดั่งทองคำ ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ครั้นแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผลและออกบวช

อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบวชแล้วมีความสามารถในการขยายความพระธรรมเทศนาที่ตรัสไว้โดยย่อให้พิสดาร พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านขยายความย่อให้พิสดารดังกล่าวมาแล้ว


พระโสณกุฏิกัณณะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพรพุทธเจ้าปทุมมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นเศรษฐีอยู่ในเมืองหงสาวดี วันหนึ่งเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเหมือนพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำบุญต่างๆ คือ ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า และพระสาวกติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระมหากัจจายนะได้รับมาแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมา ถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านได้ออกบวชและทำบุญสำคัญ คือ เย็บจีวรให้พระรูปหนึ่งด้วยจิตศรัทธา แล้วยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง

ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้น ท่านเกิดเป็นช่างหูกชาวเมืองพาราณสี ได้ชุนจีวรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งด้วยจิตศรัทธา แล้วยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นเศรษฐีเมืองกุรรฆระ ในปัจจันตชนบทแห่งแคว้นอวันตี

ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติประกอบกับเหตุการณ์ปัจจุบันชาติ ที่เมื่อบวชแล้วมีความสามารถในการกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านกล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะดังกล่าวมาแล้ว


๏ วาจานุสรณ์

พระมหากัจจายนะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธเจ้าส่งท่านไปยังแคว้นอวันตีเพื่อโปรดพระเจ้าจัณฑปัชโชตและชาวแคว้นอวันตีแทนพระองค์ พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระอุปนิสัยดุร้าย ทรงนิยมฆ่าสัตว์บูชายัญ ทรงลงโทษผู้ต้องสงสัยโดยไม่ไต่สวน และทรงพิจารณาคดีความอย่างไม่ยุติธรรม

ในคืนก่อนวันรุ่งขึ้น อันเป็นวันจะได้พบพระมหากัจจายนะนั้น พระองค์ทรงพระสุบินว่า ได้พบพระเถระและได้ฟังธรรม ครั้นวันรุ่งขึ้น เมื่อพระองค์ได้พบพระเถระสมตามที่พระสุบิน และทันทีที่ได้พบกันพระเถระก็แสดงธรรมโปรด โดยธรรมที่พระเถระแสดงถวายนั้น มีเนื้อความเป็นอย่างเดียวกับที่ทรงได้ยินในพระสุบิน ความว่า

ผู้มีปัญญา ไม่ควรแนะนำให้ผู้อื่นทำบาป
ตนเองก็ไม่ควรทำด้วย
เพราะสัตว์ทั้งหลายมีกรรมคอยผูกพัน
คำพูดของผู้อื่น ทำให้คนเป็นโจรหรือเป็นมุนีไปไม่ได้
ตัวเองรู้จักตัวเองอย่างใด
แม้ทวยเทพก็รู้จักตัวเองอย่างนั้น
คนที่ไม่รู้ว่าการทะเลาะทำให้ตนเองพินาศ
ก็ยังทะเลากันอยู่
ส่วนคนที่รู้ ก็จะเลิกทะเลาะกันไปเอง
คนมีปัญญาถึงจะไม่มีทรัพย์สินก็อยู่ได้
แต่คนมีทรัพย์สินถ้าไร้ปัญญาก็เป็นอยู่ไม่ได้แน่
หูมีไว้ฟังเสียงทุกเสียง ตามีไว้ดูรูปทุกประเภท
ผู้มีปัญญา ไม่ควรมองข้ามสิ่งที่ได้เห็นได้ยินไปเสีย
คนฉลาด ถึงมีตาดีก็ทำเหมือนคนตาบอด
ถึงมีหูดี ก็ทำเหมือนหูหนวก
ถึงมีปัญญา ก็ทำเหมือนคนใบ้
ถึงแข็งแรง ก็ทำเหมือนอ่อนแอ
แต่ถ้าประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะเจ็บป่วย นอนรอความตาย
ก็ยังทำประโยชน์


การแสดงธรรมของท่านครั้งนี้เอง มีผลทำให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตเปลี่ยนแปลงพระอุปนิสัยและบุคลิกภาพ กลายเป็นกษัตริย์ที่สุภาพ มีพระเมตตาต่อสรรพสัตว์

คราวหนึ่ง หลังจากกลับมาอยู่กับพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านเห็นพระจำนวนมากต่างละทิ้งการบำเพ็ญสมณธรรม หันมาทำงานต่างๆ อาทิ การก่อสร้างเสนาสนะบ้าง ต่างคลุกคลีด้วยหมู่คณะบ้าง ติดในรสอาหารบ้าง จึงกล่าวเตือนพระเหล่านั้นว่า


ภิกษุไม่ควรทำงานอื่นนอกเหนือจากการบำเพ็ญสมณธรรมให้มาก ควรหลีกเหลี่ยงคน (อันเป็นเหตุให้เกิดคลุกคลีด้วยหมู่คณะ) ไม่ควรขวนขวาย (สงเคราะห์ชาวบ้านเพื่อหวังได้ลาภสักการะ) (เพราะ) ภิกษุผู้ขวนขวาย (สงเคราะห์ชาวบ้านเพื่อหวังได้ลาภ ติดอยู่ในรสอาหารนั้น) ย่อมเสียประโยชน์ที่จะนำสุขมาให้

พระโสณกุฏิกัณณะ หลังจากบรรลุได้อรหัตผลแล้ว นั่งพิจารณาดูข้อปฏิบัติของตนเอง แล้วเกิดโสมนัสจึงเปล่งอุทานว่า

เราได้อุปสมบทแล้ว บัดนี้ เราหลุดพ้น ไม่มีอาสวะ
เราได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว และได้อยู่วิหารหลังเดียวกับพระองค์
ตอนกลางคืนพระพุทธเจ้าประทับอยู่กลางแจ้งเสียเป็นส่วนมาก
จากนั้นพระองค์จึงเสด็จเข้าสู่วิหาร พระพุทธเจ้าทรงปูผ้าสังฆาฏิแล้ว
ทรงบรรทมอย่างไม่หวาดกลัว คล้ายราชสีห์นอนอยู่ในถ้ำหิน
ต่อจากนั้น เราผู้ชื่อว่า โสณะ ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า
ได้กล่าวธรรมด้วยถ้อยคำไพเราะ ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ต.ค. 2010, 08:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


กลุ่มพระต่างแคว้น

กลุ่มพระต่างแคว้น คือ กลุ่มพระที่ออกบวชต่างแคว้นๆ ละ ๑ รูป (เฉพาะที่เป็นพระอสีติมหาสาวก) มี ๖ รูป คือ พระพาหิยะ พระปุณณะ พระทัพพะ พระรัฐบาล พระโสณโกฬิวิสะ และพระมหากัปปิน ซึ่งแต่ละรูปมีประวัติที่น่าศึกษา ดังนี้

๏ สถานะเดิม

พระพาหิยะ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลกฏุมพีตระกูลหนึ่งในแคว้นพาหิยะ สันนิษฐานว่าท่านได้ชื่อตามแคว้น

พระปุณณะ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลคหบดีตระกูลหนึ่งในแคว้นอปรันตชนบท มีชื่อเดิมว่า “มหาปุณณะ” แปลว่า ปุณณะคนโต เพราะมีน้องชายชื่อ “จูฬปุณณะ” แปลว่า ปุณณะคนเล็ก

พระทัพพะ เกิดในวรรณะกษัตริย์เชื้อสายราชวงศ์มัลละ ในอนุปิยะนิคม แคว้นมัลละ เหตุที่ได้ชื่อว่า “ทัพพะ” แปลว่า “ไม้” เพราะเกิดบนกองไม้ที่อยู่ใกล้เชิงตะกอนเผาศพในป่าช้า

มีเรื่องเล่าว่า พระมารดาของท่านสิ้น พระชนม์ตอนจะคลอดท่าน (ตายท้องกลม) พวกพระญาตินำไปเผาที่ป่าช้า ขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้ศพของพระมารดาอยู่นั้น พระครรภ์ของมารดาได้แตกออก โอรสในพระครรภ์ได้กระเด็นลอยมาตกบนกองไม้ แต่ไม่ตาย พวกสัปเหร่อจึงอุ้มมาให้พระอัยยิกา พระอัยยิกาจึงตั้งชื่อว่า “ทัพพะ” ดังกล่าวแล้ว


พระรัฐบาล เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐีชื่อ “รัฐบาล” ในถุลลโกฏฐิตนิคม แคว้นกุรุ เหตุที่ตระกูลของท่านได้ชื่อว่า “รัฐบาล” แปลว่า ผู้รักษาแว่นแคว้น ก็เพราะครั้งหนึ่งในอดีต ตระกูลของท่านได้สละทรัพย์สินค้ำจุนฐานะ ของแว่นแคว้น ซึ่งกำลังจะล่มสลายให้กลับมั่นคงอยู่ได้จนปัจจุบัน

คนทั่วไปจึงอาศัยเหตุการณ์นั้น เรียกตระกูลของท่านว่า “รัฐบาล” ท่านเป็นคนของตระกูลนั้นจึงได้ชื่อว่า “รัฐบาล” ตามไปด้วย


พระโสณโกฬิวิสะ เกิดในวรรณะไวศยะ ในตระกูลเศรษฐี ในเมืองจัมปา แคว้นอังคะ มีชื่อเดิมว่า “โสณะ” แปลว่า ทองคำ เพราะมีผิวพรรณสวยงามมาตั้งแต่เกิด ส่วน “โกฬิวิสะ” เป็นชื่อโคตรบิดา ชื่อ “อุสภเศรษฐี” ท่านมีความชำนาญในด้านดีดพิณ

พระมหากัปปินะ เกิดในวรรณะกษัตริย์ ในราชตระกูลแห่งเมืองกุกกุฏวดี ในปัจจันตชนบท มีชื่อเดิมว่า “กัปปินะ” ต่อเมื่อได้ครองราชย์แล้วจีงได้ชื่อว่า “มหากัปปินะ”

๏ ชีวิตฆราวาส

พระพาหิยะ เมื่อเจริญวัยแล้วได้ประกอบอาชีพค้าขายตามตระกูล เนื่องจากมีภูมิลำเนาอยู่แถบชายฝั่ง ตระกูลของท่านจึงประกอบอาชีพการค้าขายทางเรือ โดยเดินเรือบรรทุกสินค้าไปขายที่สุวรรณภูมิ เมืองท่าเรือสำคัญเมืองหนึ่งที่ท่านเดินผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ คือท่าเรือสุปปารกะในอัปรันตชนบท

ท่านแล่นเรือค้าขายอยู่อย่างนี้เป็นปรกติ วันหนึ่งทะเลเกิดมรสุม คลื่นซัดเรืออับปางขณะเดินทางเข้าใกล้เขตท่าเรือสุปปารกะ ลูกเรือตายหมด เหลือรอดอยู่แต่ท่านซึ่งเกาะกระดานลอยน้ำมาจนถึงท่าเรือสุปปารกะ

ท่านไปถึงท่าเรือด้วยร่างกายเปลือยเปล่า เนื่องจากเสื้อผ้าหลุดหายไปหมดสิ้น บริเวณท่าเรือสุปปารกะเป็นถิ่นที่เจริญ มีคนอยู่หนาแน่น ท่านรู้สึกเหนื่อยและหิว แต่รู้สึกละอายที่จะเปลือยกายเข้าไปในชุมชนนั้น จึงตัดสินใจเอาเปลือกไม้พันแทนเครื่องนุ่งห่มแล้วถือกระเบื้อง จากนั้นจึงแสร้งเดินไปใกล้ศาลเทพารักษ์ แล้วทำทีเป็นเดินออกจากศาลเข้าไปในชุมชน

ชาวท่าเรือสุปปารกะได้รับข่าวต่างๆ ตลอดเวลา แม้กระทั่งเรื่องราวพระอรหันต์ ที่มีข่าวมาว่าอยู่ที่โน้นบ้างอยู่ที่นี่บ้างก็ได้ยินอยู่เป็นประจำ

เมื่อพาหิยะปรากฎตัวในลักษณะแปลกกว่าคนอื่น คือนุ่งห่มเปลือกไม้ ต่างก็สำคัญว่าเป็นพระอรหันต์ จึงได้ให้อาหาร และยกย่องนับถือ ทำให้ท่านสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ต่อมาพาหิยะเองก็สำคัญผิดไปว่า พฤติกรรมของท่านที่เป็นอยู่คือพฤติกรรมของพระอรหันต์ เมื่อเปลือกไม้แห้งเหี่ยวแล้วก็ไม่ยอมนุ่งห่มผ้าอื่น ด้วยเกรงว่าความเป็นพระอรหันต์จะเสื่อม และลาภสักการะก็จะน้อยลง


พระปุณณะ เป็นเช่นเดียวกับพาหิยะคือประกอบอาชีพค้าขายตามตระกูล โดยผลัดเปลี่ยนกับน้องชายนำกองเกวียน ๕๐๐ เล่ม บรรทุกสินค้าไปขายยังต่างเมืองตามวาระ

พระทัพพะ เนื่องจากเกิดในวรรณะกษัตริย์ จึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากพระอัยยิกา (ยาย)

พระรัฐบาล เนื่องจากเป็นลูกคนเดียวของครอบครัว จึงได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี ท่านแต่งงานแล้วแต่ยังไม่มีลูก ระหว่างที่ครองเพศฆราวาสอยู่นั้นท่านเป็นบุคคลที่มีเพื่อนมาก แสดงให้เห็นว่ามีจิตใจกว้างขวางและเอื้ออารี

พระโสณโกฬิวิสะ ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี บิดาได้สร้างปราสาท ๓ ฤดูให้อยู่ ให้คนใช้จัดอาหารประณีตให้ ข้าวสาลีที่นำมาหุงเป็นชนิดดีเลิศ บิดาให้คนใช้ปลูกเองในเนื้อที่ ๖๐ กรีส บำรุงเลี้ยงข้าวสาลีที่ปลูกเองนั้นด้วยน้ำ ๓ ชนิด คือ น้ำธรรมดา น้ำผสมน้ำนม และน้ำผสมน้ำหอม และดูแลรักษาอย่างดีด้วยวิธีมุงบังผ้าขาวบางเพื่อกันมิให้สัตว์และแมลงเข้าไปกัดกิน

หลังจากบริโภคอาหารแต่ละมื้อแล้ว ท่านจะล้างมือด้วยน้ำหอม ท่านเป็นคนสุขุมาลชาติ ฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่มและมีสีแดงดังดอกชบา โดยเฉพาะที่ฝ่าเท้านั้นมีขนอ่อนสีเขียวเหมือนแก้วมณีงอกขึ้น ซึ่งมองดูแปลกกว่าคนทั่วไป

นอกเหนือจากนั้น ท่านยังเป็นคนรักการเล่นดนตรี และดนตรีที่ท่านเล่นได้ถนัด คือ การดีดพิณ


พระมหากัปปินะ เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ได้รับมุรธาภิเษกขึ้นครองราชย์สืบต่อ และทรงพระนามว่า “พระเจ้ามหากัปปินะ” ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงอโนชาเทวี พระราชธิดาของพระเจ้าสาคละ แห่งแคว้นมัททะ ท่านสนใจในการแสวงหาความรู้ ทุกวันจะส่งราชทูตออกไปหาข่าวว่ามีผู้รู้ในทิศใดบ้าง

๏ การออกบวช

พระพาหิยะ ทูลขอบวชหลังจากได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและฟังธรรมแล้ว แต่มิทันได้บวชก็นิพพานก่อน เรื่องมีว่า

ขณะที่ท่านกำลังสำคัญผิดว่าท่านคือพระอรหันต์ และอยู่อย่างสุขสบายด้วยลาภสักการะที่ผู้เลื่อมใสนำมามอบให้นั้น บางครั้งก็นำผ้าเปลือกบางๆ มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม ฉะนั้นจึงมีชื่อว่า “พาหิยทารุจิริยะ” แปลว่า พาหิยะผู้มีเปลือกไม้เป็นเครื่องนุ่งห่ม

ท่านเลี้ยงชีวิตอย่างนี้ จนอยู่มาวันหนึ่ง มหาพรหมองค์หนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนเก่าในอดีตชาติ ซึ่งสังเกตท่านอยู่ตลอดเวลา ก็มาจากพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ปรากฏกายให้ท่านเห็น พร้อมทั้งบอกให้ท่านทราบว่าไม่ใช่พระอรหันต์ และไม่ได้ปฏิบัติตามทางที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ด้วย

พรหมองค์นี้เป็นเพื่อนเก่าของท่านครั้งศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะ ออกบวชบำเพ็ญสมณธรรมด้วยกัน หลังจากบรรลุอนาคามิผลแล้ว ก็มรณภาพไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส เห็นท่านประพฤติผิดจึงมาเตือนด้วยความปรารถนาดี และยังได้บอกอีกว่า บัดนี้พระอรหันต์ที่แท้จริงได้อุบัติขึ้นแล้ว พระองค์คือพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล


เมืองสาวัตถีไกลจากอปรันตชนบทประมาณ ๑๒๐ โยชน์ (๑,๙๒๐ กิโลเมตร) พระพาหิยะทันทีที่ได้ฟังว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วเท่านั้น ก็เกิดปีติอย่างแรงกล้า รีบเดินทางจากท่าเรือสุปปารกะด้วยอาการรีบร้อน เช้าวันหนึ่งจึงมาถึงเมืองสาวัตถี ขณะนั้น พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมืองพอดี

ท่านไปที่วัดเชตวันและได้ทราบจากพระในวัดว่า พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมือง จึงรีบลาจากพระ มุ่งหน้าเข้าไปในเมืองสาวัตถี เหตุที่ท่านรีบร้อนเช่นนี้ก็เพราะไม่มั่นใจว่า ชีวิตของท่านหรือของพระพุทธเจ้าจะอยู่ได้นานเพียงไร ชั่วเวลาเพียงครู่เดียวนี้อาจตาย หรือพระพุทธเจ้าอาจปรินิพพานก็ได้ หากท่านเป็นเช่นนี้แล้วก็จะพลาดโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

ด้วยความคิดดังกล่าว จึงทำให้ท่านรีบออกตามหาพระพุทธเจ้าทั่วเมืองสาวัตถี จนที่สุดก็มาพบขณะที่พระพุทธเจ้ากำลังเสด็จพุทธดำเนินอยู่กลางถนน ทันทีที่เห็นพระพุทธเจ้า ท่านก็เกิดปีติท่วมท้น ถลาเข้าไปหมอบกราบแทบพระบาทของพระพุทธเจ้า พลางทูลขอให้ทรงแสดงธรรมให้ฟัง


“พาหิยะ” พระพุทธเจ้าตรัสห้าม “เวลานี้มิใช่เวลาแสดงธรรม เห็นไหมตถาคตกำลังบิณฑบาตอยู่กลางถนน”

ท่านหยุดระยะนิดหนึ่ง ครั้นแล้วก็ได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ฟังอีก ครั้งที่ ๓ พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ท่านมีอุปนิสัยสมควรฟังธรรมได้ จึงตรัสว่า

“พาหิยะ เธอควรศึกษาอย่างนี้แล พาหิยะ เมื่อใดแล เธอเห็นสักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อทราบก็สักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้สึกก็สักแต่ว่ารู้สึก เมื่อนั้น (ความสำคัญว่า) ตัวเธอก็ไม่มี

เมื่อใด (ความสำคัญว่า) ตัวเธอไม่มี เมื่อนั้นตัวเธอก็ไม่มีในที่นั้น เมื่อใดตัวเธอไม่มีในที่นั้น เมื่อนั้นตัวเธอก็ไม่มีในโลกนี้ ในโลก หน้า และในระหว่างโลกทั้ง ๒ นี้แหละคือ ที่สุดแห่งทุกข์ (ทุกข์สิ้นไป)


พระพาหิยะพิจารณาตามที่ท่านพระพุทธเจ้าตรัสสอนอย่างย่อๆ ท่านได้บรรลุอรหัตผลทันทีที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบ จากนั้นจึงทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้ท่านหาบาตรและจีวรมาก่อน ท่านทำตาม แต่ถูกแม่วัวขวิดเสียก่อน จึงนิพพานโดยยังมิทันได้บวช


พระปุณณะ เช้าวันที่ท่านไปถึงวัดเชตวันนั้นเป็นวันอุโบสถ ชาวเมืองสาวัตถี ที่เป็นพุทธศาสนิกชนต่างพากันอธิษฐานอุโบสถ (ถือศีล ๘) แล้วถือเครื่องสักการะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านเห็นเหตุการณ์นั้น จึงสอบถาม ครั้นได้ทราบว่าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็เกิดศรัทธาปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าบ้าง จึงพร้อมด้วยบริวารจำนวนหนึ่งเดินทางไปเฝ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองสาวัตถี

พระพุทธเจ้าแสดงธรรมตามปกติ แต่ในพระทัยทรงมุ่งหมายที่จะโปรดท่านเป็นสำคัญ ด้วยทรงเห็นอุปนิสัยของท่านซึ่งน้อมไปในการออกบวช ครั้นพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบแล้ว ท่านก็เข้าไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าให้เสด็จไปรับภัตตาหาร พร้อมด้วยพระสาวกที่กองเกวียนของตน ซึ่งจอดพักอยู่ในวันรุ่งขึ้น


และในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง หลังจากพระพุทธเจ้าเสวยภัตตาหาร ตรัสอนุโมทนา และพาพระสาวกกลับวัดเชตวันแล้ว ท่านก็ตัดสินใจออกบวชทันที โดยมอบหมายทรัพย์สินให้บริวารช่วยกันดูแล และนำกองเกวียนกลับไปมอบให้แก่น้องชายคือจูฬปุณณะ ท่านได้ฝากลาน้องชายด้วย จากนั้นจึงได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวันอีกครั้งหนึ่งแล้วทูลขอบวช พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ท่านด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

พระทัพพะ ออกบวชเมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกไปประทับอยู่ป่าอนุปิยวันในอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน ขณะท่านมีอายุ ๗ ขวบ พระอัยยิกาได้พาท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมกับพวกชาวเมือง ทันทีที่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ท่านก็เกิดความเลื่อมใสคิดปรารถนาจะออกบวช จึงบอกให้พระอัยยิกาทราบ พระอัยยิกาคิดอยู่ตลอดเวลาว่าหลานเป็นคนมีบุญ เมื่อมาได้ยินเช่นนั้นเข้าจึงดีพระทัยมาก รีบพาท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลขอให้ทรงบวชให้ พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พระรูปหนึ่งรับทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ท่าน

พระรัฐบาล ออกบวชคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังถุลลโกฎฐิตนิคม แคว้นกุรุ อันเป็นบ้านเกิดของท่าน คราวนั้นชาวแคว้นกุรุได้พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพื่อฟังธรรม พระรัฐบาลได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย และหลังจากฟังธรรมแล้วก็เกิดศรัทธาปรารถนาจะออกบวช จึงเข้าไปทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสแนะให้ท่านไปขออนุญาตบิดามารดาก่อน ครั้งแรกบิดามารดาไม่อนุญาต เนื่องจากท่านเป็นลูกคนเดียวของตระกูล เพราะเกรงว่าเมื่อท่านบวชแล้วสกุลวงศ์ก็จักขาดสูญ ท่านจึงทรมานตัวเองด้วยการนอนอดข้าวอยู่ในห้อง ข่าวคราวการทรมานตัวของท่านล่วงรู้ไปถึงเพื่อนฝูง จึงต่างพากันมาพูดเกลี้ยกล่อมให้ท่านเปลี่ยนใจแต่ก็ไร้ผล ท่านยังยืนกรานขอออกบวชเพื่อรักษาชีวิตของท่านไว้ บิดามารดาเห็นว่าไม่สามารถจะเปลี่ยนใจลูกชายได้แน่ ประกอบกับเกรงว่าลูกชายจะตาย จึงจำใจยอมอนุญาตให้บวชได้

เมื่อได้รับอนุญาตเช่นนั้นแล้ว ท่านรีบลุกขึ้นอาบน้ำแต่งตัวและทานข้าว แล้วเดินไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งทูลขอบวชทันที พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ท่านตามปรารถนา


พระโสณโกฬิวิสะ ตัดสินใจออกบวชคราวที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกที่ภูเขาคิชฌกูฏ เรื่องมีอยู่ว่า

คราวหนึ่งขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตเมืองราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงรับสั่งให้พสกนิกรของพระองค์ในหมู่บ้าน ๘๐,๐๐๐ ตำบล ในแคว้นอังคะ มาประชุมพร้อมกันที่ลานบริเวณพระราชวัง เพื่อรับฟังพระราโชบายและพระราโชวาท

ในเวลาเดียวกันนั้น ทรงมีพระราชสารไปถึงเศรษฐีอุสภะแห่งแคว้นอังคะ ให้ส่งโสณโกฬิวิสะผู้เป็นบุตรเข้าเฝ้าพระองค์ด้วย เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรฝ่าเท้าที่แปลกประหลาดของเขา เศรษฐีอุสภะได้ส่งโสณโกฬิวิสะเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารตามพระราชประสงค์

โดยที่ก่อนจะส่งมานั้น ได้อบรมบุตรให้รู้ถึงการนั่งในขณะเข้าเฝ้า คือ อย่านั่งเหยียดขาไปทางที่ประทับ ซึ่งเป็นการไม่สมควร แต่ให้นั่งขัดสมาธิซ้อนเท้าทั้งสองไว้บนตักในลักษณะหงายฝ่าเท้า เพื่อพระเจ้าแผ่นดินจะได้ทอดพระเนตรเห็นขนที่ฝ่าเท้า

โสณโกฬิวิสะ ครั้นเรียนรู้อย่างนี้แล้วก็ออกเดินทางไปแคว้นมคธโดยนั่งบนเสลี่ยง ซึ่งมีบริวารหามไป เมื่อได้โอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้ไปปฏิบัติตามที่ได้รับการอบรมมา คือ นั่งขัดสมาธิหงาย ฝ่าเท้าไว้บนตัก

พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงทอดพระเนตร ดูฝ่าเท้าของท่านแล้วก็ทรงหายสงสัย จากนั้นจึงตรัสให้โอวาท และทรงชี้แจงพระราโชบายเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง แล้วก็ทรงส่งพสกนิกรทั้งหมดนั้น รวมทั้งโสณโกฬิวิสะด้วย ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ภูเขาคิชฌกูฏ

คราวนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีพระสาคตะเป็นพุทธอุปัฏฐาก พสกนิกรเหล่านั้นได้พูดขอโอกาสต่อพระสาคตะเพื่อขอเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระสาคตะได้แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีดำดิน แล้วไปโผล่ที่คันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏต่อหน้าพสกนิกรที่มาชุมนุมกันอยู่นับแสนคน ทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความศรัทธา อัศจรรย์ใจและสนใจในตัวท่านจนลืมสนใจพระพุทธเจ้าไปขณะหนึ่ง

พระพุทธเจ้าทรงทราบความอัศจรรย์ใจของคนเหล่านั้น จึงทรงรับสั่งให้พระสาคตะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

พระสาคตะได้เหาะขึ้นไปแสดงฤทธิ์กลางอากาศทันทีด้วยการเดินบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง บังหวนควันบ้าง พ่นไฟบ้าง หายตัวบ้าง ครั้นแล้วก็ลงมาจากอากาศ พลางหมอบเข้าไปกราบพระบาทของพระพุทธเจ้า แล้วประกาศขึ้น ๓ ครั้งว่า

“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เป็นพระศาสดา ส่วนข้าพระองค์เป็นพระสาวก”

พสกนิกรของพระเจ้าพิมพิสารที่มาชุมนุมอยู่นั้น ได้เห็นและได้ฟังดังนั้นก็คิดได้ว่า พระสาวกยังมีความสามารถเพียงนี้ แล้วพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดา (ครูผู้สอน) เล่า จะมีความสามารถถึงเพียงไหน

พวกเขาต่างละความสนใจจากพระสาคตะ หันมาสนใจในพระพุทธเจ้าดุจเดิม พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นโอกาส จึงแสดงอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ โปรดคนเหล่านั้นให้ได้บรรลุโสดาปัตติผล

ฝ่ายโสณโกฬิวิสะ ครั้นได้ฟังธรรมแล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และพิจารณาเห็นว่า เป็นการยากที่ผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์ได้ จึงตัดสินใจทูลขอบวช

พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำให้ท่านไปขออนุญาตบิดามารดาก่อน ท่านปฏิบัติตามนั้น เมื่อได้รับอนุญาตแล้วก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง และพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ท่านตามปรารถนา


พระมหากัปปินะ ตัดสินใจออกบวชทันทีหลังจากได้ทราบว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อุบัติขึ้นในโลกแล้ว ตามที่ท่านครั้งยังเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ได้ส่งคนออกไปสืบหาท่านผู้รู้ตามทิศต่างๆ นั้น

วันหนึ่งได้ทราบจากพ่อค้าชาวเมืองสาวัตถี ที่เดินทางขึ้นมาค้าขายในแคว้นของท่านว่า บัดนี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อุบัติขึ้นในโลก

ทันทีที่ได้ทราบเช่นนั้นก็ดีใจมาก เกิดปีติท่วมท้น ยอมสละราชสมบัติทั้งหมด แล้วพาบริวาร ๑,๐๐๐ เดินทางมุ่งหน้ามาเมืองสาวัตถี เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า

การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากต้องผ่านภูเขาและแม่น้ำสายใหญ่ถึง ๓ สาย คือ แม่น้ำอารวปัจฉา แม่น้ำนีลวาหนา และแม่น้ำจันทภาคา ซึ่งแม่น้ำแต่ละสายนั้นกว้างและลึกเป็นโยชน์จะข้ามไปได้ต้องอาศัยเรือแพขนาดใหญ่ซึ่งหายากมาก


แต่ท่านก็สามารถพาบริวารข้ามไปได้ ด้วยการตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง โดยขอให้พื้นผิวน้ำจงแข็งดุจแผ่นดิน ทุกอย่างเป็นไปตามที่ท่านตั้งจิตอธิษฐาน ม้าของท่านและบริวารสามารถวิ่งไปบนผิวน้ำได้เหมือนวิ่งบนแผ่นดิน โดยที่แม้แต่กีบม้าก็ไม่เปียกน้ำ

เช้ามืดวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลก เห็นท่านพร้อมด้วยบริวารกำลังมา หมายจะเฝ้าพระองค์ และทรงเห็นว่าท่านจะได้ออกบวชพร้อมกับบริวารและจะได้บรรลุอรหัตผลในที่สุด จึงเสด็จออกไปรับท่าน ณ ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคา

พระพุทธเจ้านั่งเปล่งฉัพพรรณรังสีอยู่ใต้ต้นพหุปุตตกนิโครธ พระมหากัปปินะและบริวารมองเห็นพระรัศมีรุ่งเรืองแต่ไกล จึงมุ่งหน้าไปหา ครั้นเข้าไปใกล้พบว่า ผู้ที่นั่งเปล่งรัศมีอยู่นั้นคือนักบวชรูปหนึ่ง ก็ปลงใจเชื่อว่านี่คือพระพุทธเจ้าจึงลงจากหลังม้าพาบริวารเดินน้อมกายเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ท่านเกิดปีติจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จึงเข้าไปกอดพระบาทถวายบังคม แล้วถอยออกมานั่งเฝ้าอยู่ใกล้ๆ ท่านพร้อมกับบริวารได้กราบทูลขอบวชหลังจากได้ฟังอนุพพิกถาและอริยสัจ ๔ จบลง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ธ.ค. 2010, 08:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ การบรรลุธรรม

พระพาหิยะ ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าท่านได้บรรลุอรหัตผลก่อนแล้ว จึงทูลขอบวช โดยได้ฟังธรรมว่าด้วยเรื่องการรู้ทันขณะเห็นรูปได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสทางกาย และนึกคิดถึงอารมณ์ที่เคยได้รับรู้มาแล้ว ซึ่งเรียกว่า “รู้ทันวิญญาณ ๖”

ท่านบรรลุอรหัตผลได้เร็ว แต่การที่พระพุทธเจ้าทรงวางเงื่อนไขต้องให้ท่านทูลขอฟังธรรมถึง ๓ ครั้ง ก็เพราะทรงเห็นว่า ท่านเดินทางมาไกล ร่างกายอ่อนเพลีย ร่างกายยังไม่พร้อม เพราะเกิดปีติมากเกินไป จึงทรงประวิงเวลารอให้สภาพร่างกายและสภาพจิตใจพร้อมก่อน จึงทรงแสดงธรรม ซึ่งก็ได้ผลคือเมื่อฟังจบแล้วท่านก็ได้บรรลุอรหัตผลทันที


พระปุณณะ ครั้นบวชแล้วก็อยู่บำเพ็ญสมณธรรมที่เมืองสาวัตถีนั้นเอง แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลอันใด เนื่องจากเมืองสาวัตถีมีสภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพของท่าน ท่านจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วกราบทูลความจริงให้ทราบ พร้อมทั้งทูลขออนุญาตลากลับไปอยู่ที่อปรันตชนบท จากนั้นได้ทูลขอโอวาทเพื่อนำไปเป็นหลักปฏิบัติ พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนว่า

“ปุณณะ รูปทั้งหลายที่เห็นได้ด้วยตา เสียงทั้งหลายที่ฟังได้ด้วยหู กลิ่นทั้งหลายที่ดมได้ด้วยจมูก รสทั้งหลายที่ลิ้มได้ด้วยลิ้น สิ่งสัมผัสทั้งหลายที่รู้ได้ทางกาย และธรรมารมณ์ทั้งหลายที่นึกถึงได้ด้วยใจ น่ารักน่าชอบใจมีอยู่ ถ้าภิกษุยินดี ยึดมั่นต่อรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกายและธรรมารมณ์เหล่านั้น ก็จะเกิดความเพลินใจ ตถาคตขอกล่าวว่า ความเพลินใจนั้นเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แต่ถ้าภิกษุไม่ยินดีไม่ยึดมั่น ความเพลินใจก็จะดับไป ตถาคตขอกล่าวว่า ความดับไปแห่งความเพลินใจนั้น เป็นความสุข”

ก่อนที่ท่านจะกราบลา พระพุทธเจ้าทรงชวนท่านสนทนาถึงเรื่องการไปอยู่ในแคว้นอปรันตชนบท ซึ่งท่านกราบทูลยืนยันว่า หากไปแล้วจะต้องถูกฆ่าตาย เพราะน้ำมือของคนแคว้นเดียวกัน ท่านก็ยินดีสละชีวิต การที่พระพุทธเจ้าทรงชวนสนทนาเช่นนั้นก็เพราะทรงทราบดีว่า แคว้นอปรันตชนบทมีผู้คนดุร้าย บางทีอาจจะรังเกียจเมื่อเห็นคนแคว้นเดียวกันนับถือพระพุทธศาสนา แล้วจะทำร้ายเอาได้

แต่เมื่อทรงเห็นถึงความตั้งใจแน่วแน่ไม่กลัวภัยของพระปุณณะแล้ว พระองค์ก็ทรงอนุโมทนาและตรัสอนุญาตให้ท่านไปจำพรรษาที่บ้านเกิดได้ ครั้นถวายบังคมลาพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านก็เดินทางกลับไปยังแคว้นอปรันตชนบทและพักอยู่ที่ภูเขาอัมพหัฎฐะ โดยมีน้องชายคือจูฬปุณณะมาคอยดูแล

แต่เนื่องจากภูเขาอัมพหัฎฐะอยู่ติดทะเล ถูกคลื่นซัดสาดใส่เสียงดังโครมคราม ดูไม่สงบ เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา ท่านจึงออกจากภูเขาอัมพหัฏฐะนั้นไปยังภูเขามาตุลคีรี แต่ที่นั่นก็ไม่สงบพอสำหรับท่านอีก เนื่องจากมีนกอยู่ชุกชุม ส่งเสียงร้องตลอดเวลา ท่านจึงออกจากภูเขามาตุลคีรีนั้นไปยังมกุฬการามอันเงียบสงบ ซึ่งไกลจากนั้นพอสมควร ท่านจึงจำพรรษาอยู่ที่มกุฬการามนั้นเอง และเจริญสมถะและวิปัสสนาได้ก้าวหน้ามาก จนได้บรรลุอรหัตผลในพรรษานั้นเอง


พระทัพพะ ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า พระพุทธเจ้าทรงมอบให้พระเถระรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ท่าน พระเถระรูปนั้นก่อนจะทำพิธีบวชก็สอนตจปัญจกกรรมฐานให้ โดยสอนให้ท่านกำหนดพิจารณาอวัยวะ ๕ ส่วน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ขณะที่นั่งให้พระอุปัชฌาย์ปลงผมอยู่นั้น ท่านก็กำหนดพิจารณาตามที่เรียนมา และได้บรรลุมรรคผลตามลำดับ คือ โกนเสร็จจุกที่ ๑ ได้บรรลุโสดาปัตติผล โกนเสร็จจุกที่ ๒ ได้บรรลุสกทาคามิผล โกนเสร็จจุกที่ ๓ ได้บรรลุอนาคามิผล ครั้นโกนเสร็จจุกที่ ๔ อันเป็นจุกสุดท้าย พร้อมกับการโกนสิ้นสุดลง ก็ได้บรรลุอรหัตผล

พระรัฐบาล บวชแล้ว ๑๒ ปีจึงได้บรรลุอรหัตผล การที่ท่านได้บรรลุอรหัตผลช้าเป็นเพราะมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับทางบ้าน เนื่องจากท่านออกบวชโดยที่บิดามารดาไม่เต็มใจ ท่านครุ่นคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลาทำให้จิตใจไม่สงบ จนมาถึงปีที่ ๑๒ นั้นเองท่านจึงสามารถข่มใจให้สงบได้ จนบรรลุอรหัตผลในที่สุด

พระโสณโกฬิวิสะ ครั้นบวชแล้วก็ไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าสีตวัน เขตเมืองราชคฤห์นั้นเอง ท่านรู้ตัวดีว่าท่านเป็นคนละเอียดอ่อน ความสุขจะไม่ทำให้บรรลุมรรคผลได้ จึงบำเพ็ญสมณธรรมด้วยวิธีทรมานตนเองให้ลำบาก ท่านปฏิบัติตามที่คิด คือ เบื้องแรกเดินจงกลมอย่างหนักบนพื้นดินขรุขระจนเท้าแตกเลือดไหล ต่อมาเมื่อเดินด้วยเท้าไม่ไหวจึงใช้เข่าเดินและใช้มือยัน จนในที่สุดทั้งเข่าและมือก็แตกอีก แต่กระนั้นก็ยังมิได้มรรคผลอันใด

ท่านเริ่มน้อยใจว่าบรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญเพียรอย่างหนักนั้น ท่านก็เป็นรูปหนึ่ง แต่ไฉนจึงไม่ได้บรรลุมรรคผลอย่างที่หวัง พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความคิดของท่าน จึงเสด็จมาตรัสสอน พระองค์ทรงทราบดีว่าท่านมีความชำนาญในการดีดพิณมาก่อน จึงทรงชวนสนทนาเรื่องการดีดพิณเปรียบเทียบกับการบำเพ็ญเพียรดังนี้

พระพุทธเจ้า : โสณะ สายพิณที่ขึงตึงจนเกินไป เวลาดีดเสียงพิณจะดังเพราะหรือไม่

พระโสณะ : ไม่เพราะ พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : โสณะ สายพิณที่ขึงหย่อนเกินไป เวลาดีดจะดังเพราะหรือไม่

พระโสณะ : ไม่เพราะ พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : โสณะ สายพิณที่ขึงได้ระดับพอดี ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เวลาดีดจะดังเพราะหรือไม่

พระโสณะ : เพราะ พระเจ้าข้า

พระพุทธเจ้า : เช่นเดียวกันโสณะ การบำเพ็ญเพียรก็เหมือนการขึงสายพิณ ถ้ามีความเพียรแรงกล้าเกินไป จิตก็ฟุ้งซ่าน ถ้ามีความเพียรหย่อนเกินไป จิตก็เกียจคร้าน เพราะฉะนั้นเธอจงบำเพ็ญเพียรให้พอดี ปรับอินทรีย์ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ให้เสมอกันเถิด


ครั้นได้รับการแนะแนวปฏิบัติจากพระพุทธเจ้าแล้ว พระโสณโกฬิวิสะก็บำเพ็ญเพียรแต่พอดี คือไม่ตึงเกินไปหรือหย่อนเกินไป ท่านสามารถปรับอินทรีย์ให้เสมอกันได้ ไม่นานจากนั้นก็ได้บรรลุอรหัตผลในป่าสีตวันนั้นเอง

พระมหากัปปินะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลก่อนทูลขอบวช และหลังจากบวช ท่านพร้อมด้วยพระบริวารได้ฟังอนุปุพพิกถาและอริยสัจ ๔ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระนางอโนชาเทวีนั้นและหญิงบริวารแล้ว ได้บรรลุอรหัตผลในวันบวชนั้นเอง

๏ งานสำคัญ

พระปุณณะ หลังจากได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ทรงแสดงธรรมแก่พวกชาวแคว้นอปรันตชนบท พร้อมทั้งได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ปรากฏด้วย จนทำให้ชาวแคว้นอปรันตชนบทเลื่อมใส ท่านแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ก่อนบรรลุอรหัตผลแล้ว ดังจะเห็นได้จากเมื่อคราวที่ท่านไปอยู่บำเพ็ญเพียรที่ภูเขาอัมพหัฎฐะ ซึ่งติดทะเล ถูกเสียงคลื่นรบกวน ท่านได้ออกมาเดินบนแผ่นหินใหญ่ที่ถูกคลื่นกระทบเกิดเสียงดัง พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานขอให้คลื่นสงบ ทันใดนั้นคลื่นก็สงบ พระทั้งหลายที่ร่วมบำเพ็ญธรรมด้วยกันอยู่ที่นั่นก็ได้รับความสงบ

ต่อมาเมื่อได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ท่านก็ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ช่วยเหลือน้องชายของท่านพร้อมด้วยบริวาร ให้รอดพ้นจากการจมน้ำตายในทะเล

เรื่องมีอยู่ว่า คราวหนึ่งจูฬปุณณะน้องชายท่านพาบริวารนำเรือบรรทุกสินค้าไปขายต่างถิ่น แต่ก่อนจะแล่นเรือออกทะเล เขาและบริวารได้ถวายอาหารแก่ท่าน แล้วขอสมาทานศีล ๕ พร้อมทั้งกล่าวอ้อนวอนขอให้ท่านช่วยคุ้มครองให้เดินทางโดยปลอดภัย


เรือสินค้าแล่นผ่านเกาะเล็กแห่งหนึ่ง เขาสั่งให้เรือแวะที่เกาะเล็กแห่งนั้น แล้วชวนบริวารขึ้นไปหาเสบียงอาหาร แต่บนเกาะแห่งนั้นไม่มีของที่จะใช้เป็นเสบียงได้เลย แต่กลับมีไม้จันทน์แดงซึ่งมีค่ามากขึ้นอยู่ดาษดื่น

จูฬปุณณะและบริวารเห็นว่า ถ้านำไม้จันทน์แดงไปด้วยจะไม่เป็นการเสียเที่ยว เพราะเป็นสินค้าที่ได้ราคาดี จึงต่างช่วยกันตัดแล้วขนมาบรรทุกไว้ในเรือ โดยทิ้งสินค้าอื่นที่มีอยู่ก่อนทั้งหมด ครั้นบรรทุกได้เต็มลำเรือแล้วก็ออกเรือต่อไป โดยหาเฉลียวใจไม่ว่าจะมีภัยอันตรายเกิดขึ้นข้างหน้า

ขณะที่จูฬปุณณะพร้อมด้วยบริวารแล่นเรือห่างเกาะไปได้ไม่ไกล ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน คือ มีภาพอันน่าเกลียดน่ากลัวมาปรากฏให้เห็นในอากาศ พวกบริวารต่างพากันหวาดกลัว พากันอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพนับถือ ส่วนจูฬปุณณะระลึกถึงพระปุณณะพี่ชาย พลางคิดอ้อนวอนให้ท่านมาช่วย


ขณะนั้นเอง พระปุณณะก็พลันหวนคิดถึงน้องชาย และเห็นด้วยทิพยจักษุว่ากำลังเผชิญเหตุร้ายอยู่กลางทะเล จึงเข้าจตุตถฌานอธิษฐานจิตให้ตัวเบาเหาะไปหาน้องชาย ยืนปรากฏตัวให้เห็นอยู่กลางอากาศ พวกอมนุษย์เจ้าของเกาะเล็กซึ่งแสดงภาพน่าเกลียดน่ากลัวเหล่านั้น เห็นพระเถระเข้าก็หนีกลับที่อยู่ของตน

เหตุที่พวกอมนุษย์มาแสดงภาพหลอกหลอนเช่นนั้น ก็เพราะโกรธที่จูฬปุณณะและบริวารตัดไม้จันทน์แดง ซึ่งเป็นที่สถิตของพวกตน จึงหมายจะตามล่าเอาชีวิตกลางทะเล แต่เป็นด้วยอำนาจฤทธิ์ของพระปุณณะ จึงทำให้พวกอมนุษย์หวาดกลัว และกลับไปเกาะเล็กตามเดิม

ฝ่ายพระปุณณะ เมื่อช่วยน้องชายและบริวารให้ปลอดภัยจากพวกอมนุษย์แล้ว ก็ใช้ฤทธิ์บันดาลให้เรือแล่นกลับไปส่งทุกคนที่บ้าน ครั้นกลับถึงบ้านแล้วจูฬปุณณะและบริวารก็เล่าเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ของพระปุณณะให้บุตร ภรรยา และคนใกล้ชิดฟัง เป็นเหตุให้คนเหล่านั้นเลื่อมใส จึงต่างชักชวนกันมาไหว้พระปุณณะ

พระปุณณะก็แสดงธรรมให้ฟัง ครั้นฟังธรรมแล้วคนเหล่านั้นก็เลื่อมใสมากขึ้น ถึงขั้นประกาศตนเป็นอุบาสกอุบาสิกา นับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

จูฬปุณณะและบริวารได้แบ่งไม้จันทน์แดง ถวายพระปุณณะเพื่อเป็นการบูชาคุณ ท่านไม่รับ แต่แนะนำให้ไปสร้างเป็นศาลา ครั้นคนเหล่านั้นทำตามที่ท่านแนะนำแล้ว ท่านก็เดินทางกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เมืองสาวัตถีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทูลนิมนต์ให้เสด็จไปโปรดชาวแคว้นอปรันตชนบท พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์ ต่อมาเมื่อได้เวลาอันสมควร พระองค์ก็ทรงพาพระสาวก ๔๙๙ รูป ออกเดินทางไปแคว้นอปรันตชนบท

ที่อปรันตชนบท พระพุทธเจ้าทรงพาพระสาวกเดินทางผ่านไปทางภูเขาสัจจพันธะ เพื่อโปรดฤาษีสัจจพันธะผู้ตั้งสำนักสอนอยู่ที่ภูเขาสัจจพันธะนั้น ฤาษีสัจจพันธะเป็นมิจฉาทิฏฐิมีความเห็นผิด แต่พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า ท่านมีอุปนิสัยสามารถบรรลุอรหัตผลได้ จึงเสด็จมาสอน และครั้นยอมฟังพระพุทธเจ้าตรัสสอนแล้ว ฤาษีสัจจพันธะก็ละความเห็นผิดได้หมด ท่านบรรลุอรหัตผลในวันนั้นเอง และทูลขอบวช

พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา จากนั้นทรงพาพระสาวก ๕๐๐ รูป (เดิมมี ๔๙๙ รูป ต่อมารวมพระสัจจพันธะอีก ๑ รูป) เดินทางต่อไปยังหมู่บ้านของน้องชายพระปุณณะ ตามที่พระปุณณะทูลนิมนต์ไว้ จูฬปุณณะและบริวารได้ร่วมกันถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป รวมทั้งพระปุณณะอีก ๑ รูป ครั้นแล้วได้นำเสด็จพระพุทธเจ้าและพระสาวกไปยังมกุฬการาม แล้วได้น้อมถวายศาลาไม้จันทน์แดงให้เป็นที่ประทับ

พระพุทธเจ้าประทับอยู่โปรดชาวแคว้นอปรันตชนบท ๓ วัน ก่อนเสด็จกลับทรงมอบหมายให้พระปุณณะอยู่จำพรรษาในแคว้นนี้ต่อไปเพื่อทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา ต่อจากนั้นทรงพาพระสาวกไปยังริมฝั่งแม่น้ำนัมมทาเพื่อโปรดพญานาคนัมมทา ทรงเหยียบรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำตามคำกราบทูลของพญานาคนัมมทา แล้วเสด็จกลับไปทางภูเขาสัจจพันธะอีกครั้งหนึ่ง ทรงมอบหมายให้พระสัจจพันธะจำพรรษาอยู่ที่นี่

“สัจจพันธะ” พระองค์ตรัสมอบหมาย “เธอสอนคนให้พ้นจากอบายมามากแล้ว ต่อไปนี้ขอให้ช่วยสอนเขาให้ดำเนินไปในทางนิพพานให้ได้”

ก่อนเสด็จจากภูเขาสัจจพันธะสู่เส้นทางไปเมืองสาวัตถี พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้บนแผ่นศิลาที่ภูเขาแห่งนั้น

พระปุณณะทำงานไว้ที่บ้านเกิดหลายประการ ที่สำคัญคือสามารถประกาศพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นลงได้อย่างมั่นคงดังกล่าวมา


พระทัพพะ บวชและบรรลุอรหัตผลเมื่ออายุ ๗ ขวบดังกล่าวมาแล้ว ต่อจากนั้นก็ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแคว้นมัลละอันเป็นบ้านเกิด

วันหนึ่งขณะหลีกเร้นอยู่ตามลำพัง ท่านได้ตรวจดูความสำเร็จของตนแล้วก็เกิดความคิดที่จะทำประโยชน์แก่ส่วนรวม คือ จัดเสนาสนะแจกจ่ายให้พระที่มาจากต่างถิ่นได้พักอาศัย และจัดพระไปฉันตามที่มีผู้นิมนต์ไว้

ท่านนำความคิดนี้ไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนา ในขณะเดียวกันก็ทรงเห็นว่าท่านอายุยังเยาว์ แต่ต้องการมารับภาระหนักอันน่าจะเป็นหน้าที่ของพระมากกว่า เพื่อให้ท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความคล่องตัว ดังนั้น จึงทรงบวชยกให้ท่านเป็นพระตั้งแต่วันนั้น ท่านทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างดียิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการจัดเสนาสนะหรือการจัดพระไปฉันในที่นิมนต์

การจัดเสนาสนะ ท่านยึดหลักดังนี้ คือ จัดพระที่มีอุปนิสัยคล้ายกัน หรือมีความถนัดคล้ายกันไว้ด้วยกัน ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านจัดพระที่เชี่ยวชาญพระสูตรให้พักอยู่ในที่เดียวกัน พระที่เชี่ยวชาญพระวินัยและพระที่เชี่ยวชาญพระอภิธรรมก็จัดให้พักในทำนองเดียวกัน โดยตระหนักถึงเหตุผลว่า พระเหล่านั้นจะได้คุ้นเคยกันและสนทนาในเรื่องที่ถนัดเหมือนกัน

นอกจากนั้น ท่านยังจัดเสนาสนะให้ตามความประสงค์ผู้มาพัก ไม่ว่าจะเป็นซอกเขาหรือในถ้ำ หากมีพระมาขอพักในเวลากลางคืน ท่านก็เข้าเตโชสมาบัติอธิษฐานให้เกิดแสงสว่างที่ปลายนิ้วมือ แล้วเดินนำหน้าพระอาคันตุกะเหล่านั้นไปส่งตามที่พักแห่งต่างๆ ครั้นพาพระอาคันตุกะไปส่งถึงที่พักแล้ว ท่านก็บอกให้ทราบถึงการใช้ที่พัก รวมทั้งบอกเวลาเข้าออกที่เหมาะสมให้ด้วย

ส่วนการจัดพระไปฉันในที่นิมนต์ ท่านยึดหลักความเหมาะสมเกี่ยวกับวัยวุฒิและคุณวุฒิ ท่านยังรู้ไปถึงว่าอาหารชนิดใดเป็นสัปปายะหรือไม่เป็นแก่พระรูปใด พระทั่วไปต่างยอมรับในการจัดการของท่าน

บางแห่งกล่าวว่า นอกจากภารกิจดังกล่าวที่เป็นเหตุให้ท่านได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะแล้ว ท่านยังได้ทำงานสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ร่วมทำปฐมสังคายนา ท่านเป็นพระอรหันต์รูป ๑ ใน ๕๐๐ รูป ที่ได้รับคัดเลือกจากพระมหากัสสปะ แต่บางแห่งก็ว่า ท่านนิพพานก่อน


พระรัฐบาล ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้วก็เดินทางไปแคว้นกุรุอันเป็นบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมบิดามารดาให้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คราวนั้นท่านได้แสดงธรรมโปรดพระเจ้าโกรัพยะด้วย

เรื่องมีว่า ขณะที่ท่านพักกลางวันอยู่ที่มิคชินอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ พระเจ้าโกรัพยะทรงทราบข่าว จึงเสด็จมาตรัสสนทนากับท่านถึงเหตุผลที่ออกบวช

พระเจ้าโกรัพยะ : ท่านรัฐบาล คนอื่นเขาออกบวชเพราะประสบกับความเสื่อม ๔ ประการ คือความแก่ ความเจ็บไข้ สิ้นทรัพย์ สิ้นญาติ แต่ท่านไม่ประสบอย่างเขา ไฉนจึงออกบวช

พระรัฐบาล : ขอถวายพระพร อาตมาภาพออกบวชเพราะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โลกคือหมู่สัตว์ ถูกชราครอบงำ ไม่ยั่งยืน ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่ในตัวเอง ไม่มีอะไรเป็นของของตนที่แท้จริง จำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวง และพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

จากนั้นพระรัฐบาลได้อธิบายขยายความถวายพระเจ้าโกรัพยะจนเข้าพระทัย และเลื่อมใสในธรรมะของท่าน พระเจ้าโกรัพยะได้ตรัสชมเชยท่านเป็นอย่างมาก ความจริงแล้วพระเจ้าโกรัพยะทรงรู้จักกับตระกูลของท่านเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นตระกูลที่มีอุปการคุณแก่รัฐดังกล่าวมาแล้ว


พระโสณโกฬิวิสะ ดังได้กล่าวไว้แล้วว่า ท่านบำเพ็ญเพียรอย่างหนักจนเท้าและฝ่ามือแตกเลือดไหลเปรอะเปื้อน พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุนั้น จึงทรงอนุญาตให้ท่านสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ท่านทูลขอโอกาสให้ทรงมีพระพุทธานุญาตต่อพระสาวกรูปอื่นด้วย

พระพุทธเจ้าทรงรับข้อเสนอของท่าน จึงทรงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ แล้วตรัสอนุญาตว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอนุญาตให้พวกเธอสวมรองเท้าชั้นเดียวได้ แต่ไม่อนุญาตให้สวมรองเท้าหลายชั้น” และนับแต่นั้นมาพระจึงสวมรองเท้าได้


พระมหากัปปินะ ครั้นบรรลุอรหัตผลแล้วได้รับหน้าที่สอนพระตามที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมาย เรื่องมีว่า เดิมทีเดียวท่านไม่ประสงค์จะสอนใครแม้แต่อันเตวาสิกของท่าน

พระพุทธเจ้าทรงทราบความเข้า จึงตรัสเตือนท่านมิให้ทำอย่างนั้น ท่านปฏิบัติตามและสอนพระให้ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกัน ๕๐๐ รูป ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุ

ส่วน
พระพาหิยะ ไม่มีงานสำคัญให้ต้องพูดถึงเพราะท่านนิพพานก่อนจะบวช

๏ บั้นปลายชีวิต

พระพาหิยะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้วได้ไม่ถึงวัน ก็นิพพานดังกล่าวมาแล้ว ทั้งนี้เป็นด้วยบาปกรรมเก่าในอดีตชาติตามมาให้ผล กรรมเก่านั้นคือ ร่วมกับเพื่อนลวงโสเภณีนางหนึ่งไปฆ่าชิงทรัพย์

เรื่องมีว่า ในชาตินั้นท่านเกิดเป็นลูกเศรษฐี วันหนึ่งได้ร่วมกับพวกอีก ๓ คน ว่าจ้างโสเภณีนางหนึ่งไปหาความสุขสำราญกันในสวนซึ่งเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ด้วยราคา ๑,๐๐๐ กหาปนะ ตกเย็นครั้นจ่ายค่าตัวให้นางแล้วรู้สึกเสียดาย จึงร่วมกันวางแผนฆ่านางทิ้ง แล้วชิงเอาเงินคืนพร้อมปลดเอาเครื่องประดับในตัวนางไปด้วย

ฝ่ายโสเภณีเมื่อรู้ว่าจะถูกฆ่าแน่ทั้งที่ตัวเองไม่มีความผิด ก็อ้อนวอนขอชีวิตแต่ก็ไร้ผล เพราะคนหนึ่งใน ๔ คนนั้นได้ลงมือฆ่านางแล้ว ก่อนจะสิ้นชีวิตนางได้ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้ฆ่าคนเหล่านั้นเป็นการแก้แค้นบ้างในชาติหน้าแรงอาฆาตส่งผลให้นางเกิดเป็นนางยักษิณี

ฝ่ายพระพาหิยะและเพื่อนทั้ง ๓ คนนั้นเวียนว่ายตายเกิดและตกนรกเพราะกรรมนั้นส่งผลแล้ว มาในชาตินี้ก็มาเกิดเป็นมนุษย์ นางยักษิณีได้แปลงเป็นแม่โคมาขวิดตายหมดทุกคน

พระพาหิยะถูกแม่โคขวิดขณะออกหาบาตรและจีวร เพื่อใช้เป็นบริขารทูลขอบวชต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาพบ ทรงรับสั่งให้พระช่วยกันเผาศพท่าน แล้วนำอัฐิไปบรรจุไว้ในเจดีย์ตรงทาง ๔ แยก เพื่อให้คนได้บูชาและน้อมนึกถึงมาเป็นเครื่องเตือนใจ อันเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้ได้สังฆานุสสติ (การระลึกถึงพระสงฆ์)


พระปุณณะ หลังจากกลับไปอปรันตชนบทอันเป็นบ้านเกิดและนำพระพุทธศาสนาไปประดิษฐานได้มั่นคงแล้ว ไม่นานนักก็นิพพานที่บ้านเกิดนั้นเอง ชาวแคว้นอปรันตชนบทบูชาศพท่านอยู่ ๗ วัน จึงทำพิธีเผา

พระทัพพะ นิพพานที่เมืองราชคฤห์ มีเรื่องเล่าว่า วันที่ท่านจะนิพพานนั้น ท่านได้ไปทูลลาพระพุทธเจ้า จากนั้นก็เหาะขึ้นไปกลางอากาศ นั่งขัดสมาธิเข้าสมาบัติอยู่กลางอากาศนั้น ครั้นออกจากสมาบัติแล้วก็นิพพาน ฉับพลันนั้นเองก็เกิดไฟลุกไหม้ร่างของท่านหมดสิ้นไปไม่เหลือแม้แต่เถ้าถ่าน ทั้งนี้เป็นไปตามความปรารถนาของท่านเอง

พระรัฐบาล พระโสณโกฬิวิสะ และพระมหากัปปินะ แม้จะไม่มีหลักฐานกล่าวถึงเบื้องปลายชีวิตของท่านไว้ แต่ก็เชื่อได้ว่าพระอสีติมหาสาวกทั้ง ๓ รูปนี้นิพพานหลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพราะในคราวทำปฐมสังคายนานั้นก็มีชื่อท่านร่วมอยู่ในจำนวนพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2011, 12:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ เอตทัคคะ-อดีตชาติ

บรรดาพระอสีติมหาสาวกต่างแคว้นดังกล่าวนี้ ที่ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะมี ๕ รูป คือ พระพาหิยะ พระทัพพะ พระรัฐบาล พระโสณโกฬิวิสะ และพระมหากัปปินะ

พระพาหิยะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมได้เร็ว

พระทัพพะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจัดเสนาสนะ

พระรัฐบาล พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านออกบวชด้วยศรัทธา

พระโสณโกฬิวิสะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปรารภความเพียร

พระมหากัปปินะ พระพุทธเจ้าทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านการกล่าวสอนภิกษุ

พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอสีติมหาสาวก ๕ รูปนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ตามความสามารถในชาติปัจจุบันและตามที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ในอดีตชาติ


พระพาหิยะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมได้เร็ว (ขิปปาภิญญา) แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นสาวกรูปนั้นบ้าง ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏด้วยการทำความดีต่างๆ ตามที่พระพุทธเจ้าปทุมุตตระตรัสสอน จนเป็นเหตุให้ได้รับพุทธพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมเร็ว”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนากำลังเสื่อมใกล้จะสูญสิ้น ท่านได้ออกบวช และได้เห็นพระสาวกต่างประพฤติผิดธรรมผิดวินัยกันเป็นจำนวนมาก แล้วเกิดความสลดใจ

ท่านพร้อมด้วยเพื่อนพระอีก ๖ รูป จึงชวนกันหลีกออกจากหมู่คณะ ขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนยอดเขา โดยตั้งใจว่าจะไม่กลับลงมาอีก ล่วงไปได้ ๕ วันเพื่อนที่เป็นพระเถระก็ได้บรรลุอรหัตผล และล่วงวันที่ ๗ เพื่อนที่เป็นพระเถระรองลงมาก็ได้บรรลุอนาคามิผล ส่วนพระอีก ๕ รูป เมื่อยังไม่บรรลุมรรคผลขั้นใดเลยก็ไม่ยอมฉันอาหาร จนร่างกายซูบผอม แล้วมรณภาพลงในที่สุด

หลังจากพระเถระรูปแรกนิพพานได้ไม่นาน พระเถระรูปที่ ๒ ก็มรณภาพ พระเถระรูปที่ ๒ ซึ่งได้บรรลุอนาคามิผลนั้น ครั้นมรณภาพแล้วก็ไปเกิดเป็นมหาพรหมอยู่ในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ส่วนพระอีก ๕ รูปที่ยังเป็นปุถุชน มรณภาพแล้วก็ไปเกิดอยู่ในเทวโลกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทั้งหมดได้มาเกิดเป็นมนุษย์

พระพาหิยะผู้เป็น ๑ ใน ๕ รูปนั้น มาเกิดเป็นบุตรของกฎุมพีในแคว้นพาหิยะ ครั้นแล้วก็ได้บรรลุอรหัตผล แต่ด่วนนิพพานก่อนจะได้บวช

อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับความสามารถในปัจจุบันชาติที่สามารถบรรลุธรรมได้เร็ว พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านบรรลุธรรมได้เร็วดังกล่าวมาแล้ว


พระทัพพะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจัดเสนาสนะ แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์ว่า

“ในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า พระพุทธเจ้าโคดมจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เธอจักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระองค์ จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจัดเสนาสนะ”

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้น บุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นชาวเมืองพันธุมดี ได้ถวายสลากภัตรแด่พระพุทธเจ้าวิปัสสีและแก่พระสาวก และยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะ ท่านเกิดเป็นชาวเมืองพันธุมดี ได้ถวายสลากภัตรแด่พระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ช่วงเวลาที่พระพุทธศาสนากำลังเสื่อมใกล้จะสูญสิ้น ท่านได้ออกบวช และได้เห็นพระสาวกต่างประพฤติผิดธรรมผิดวินัยกันเป็นจำนวนมาก แล้วเกิดความสลดใจ ท่านพร้อมด้วยพระอีก ๖ รูป ซึ่งมีพระพาหิยะรวมอยู่ด้วย จึงชวนกันหลีกออกจากหมู่คณะขึ้นไปปฏิบัติธรรมบนยอดเขา

ท่านเป็นเช่นเดียวกับพระพาหิยะ คือ นับเนื่องอยู่ในจำนวนพระ ๕ รูปที่ไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใดเลย ครั้นมรณภาพแล้วก็ไปเกิดอยู่ในเทวโลกพร้อมกับพระ ๔ รูปสิ้นพุทธสันดรหนึ่ง


จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทั้งหมดได้มาเกิดเป็นมนุษย์ พระทัพพะมาเกิดเป็นราชบุตรเชื้อสายราชวงศ์มัลละ ในอนุปิยนิคม แคว้นมัลละ ครั้นแล้วก็ได้ออกบวชและได้บรรลุอรหัตผล

อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับความสามารถในชาติปัจจุบันที่สามารถจัดเสนาสนะแจกจ่ายได้ดียิ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านจัดเสนาสนะดังกล่าวมาแล้ว


พระรัฐบาล ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ และครั้งพระพุทธเจ้าปุสสะ ในช่วงเวลานั้น ท่านเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรเศรษฐีในถุลลโกฎฐิตนิคม แคว้นกุรุ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล

อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในชาติปัจจุบัน ที่แสดงศรัทธาปรารถนาจะออกบวชอย่างแรงกล้า พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านออกบวชด้วยศรัทธา

พระโสณโกฬิวิสะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรเศรษฐีชาวเมืองหงสวดี มีชื่อว่า “สิริวัฑฒะ” วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปรารภความเพียร แล้วเกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นพระสาวกรูปนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายท่านได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปรารภความเพียร

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆสนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง

ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้นท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพาราณสี วันหนึ่งขณะลงเล่นน้ำอยู่ในแม่น้ำคงคากับพวกเพื่อนๆ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งกำลังหาเก็บท่อนไม้และเครือเถา (เถาวัลย์) ที่ถูกน้ำซัดมาติดอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา จึงพร้อมกับเพื่อนๆ เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปนั้น ครั้นทราบว่าท่านกำลังหาเก็บเศษไม้และเครือเถา เพื่อนำไปสร้างบรรณศาลาสำหรับอยู่จำพรรษาแล้ว ต่างเกิดศรัทธาปรารถนาจะสร้างถวาย


วันรุ่งขึ้น หลังจากถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ท่านกับพวกเพื่อนๆ ก็พากันไปสร้างบรรณศาลา ที่จงกรม ที่พักกลางวัน ที่พักกลางคืนถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ส่วนสิริวัฑฒะได้ถวายผ้ากัมพลแดงราคาแพงผืน ๑ สำหรับปูพื้นให้พระปัจเจกพุทธเจ้าเช็ดเท้าก่อนขึ้นบรรณศาลา วันหนึ่งได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีผิวพรรณเปล่งปลั่ง ขับผ้ากัมพลแดงให้ดูสุกใส แล้วยิ่งเกิดความเลื่อมใส จึงกล่าวปรารถนาว่า

“ผ้ากัมพลผืนนี้ เวลาที่พระพุทธเจ้าเดินเหยียบไป ช่างดูงดงามเกินเปรียบ นับจากชาตินี้ไปทุกชาติขอสีมือและสีข้อเท้าของโยมจงแดงเหมือนดอกชบา และงดงามเหมือนสีผ้ากัมพลที่ดูสุกใสสวยงามเวลาที่พระคุณเจ้าเดินเหยียบไป ขอโยมจงมีฝ่ามือฝ่าเท้าอ่อนนุ่มเหมือนปุยฝ้ายที่ดีดถึง ๗ ครั้ง”

สิริวัฑฒะได้บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยปัจจัย ๔ ตลอดพรรษา ครั้นออกพรรษาและปวารณาแล้วท่านก็ได้ถวายบริขาร คือ บาตรและไตรจีวรครบชุดแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อได้รับบริขารครบแล้ว ก็กลับไปยังภูเขาคันธมาทน์ ส่วนสิริวัฑฒะก็ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่าตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าวิปัสสี

ชาติที่พบพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้น ท่านเกิดเป็นกุลบุตรชาวเมืองพันธุมดี ได้ทำบุญสำคัญ คือ สร้างถ้ำแล้วปูลาดพื้นด้วยผ้าถวายพระที่มาจากทั้ง ๔ ทิศ ต่อมาได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้นตลอดชีวิต แต่ไม่ได้บรรลุมรรคผลขั้นใด

จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีชาวเมืองจัมปาในแคว้นอังคะ ครั้นออกบวชก็ได้บรรลุอรหัตผล

อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับเหตุการณ์ในปัจจุบันชาติ ที่เมื่อออกบวชแล้วได้บำเพ็ญอย่างหนักจนมือเท้าแตก พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านปรารภความเพียรดังกล่าวมาแล้ว

พระมหากัปปินะ ตั้งจิตปรารถนาไว้ตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ครั้งนั้นท่านเกิดเป็นบุตรชาวเมืองหงสวดี วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับพวกชาวเมืองเพื่อฟังธรรม เห็นพระพุทธเจ้าทรงตั้งพระสาวกรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุแล้ว เกิดศรัทธาปรารถนาจะได้เป็นเช่นนั้นบ้าง

ท่านแสดงศรัทธาให้ปรากฏ ด้วยการถวายมหาทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน วันสุดท้ายได้กราบทูลพระพุทธเจ้าให้ทรงทราบถึงความปรารถนาของท่าน และได้รับพุทธพยากรณ์อย่างที่พระรัฐบาลและพระโสณโกฬิวิสะได้รับแล้ว คือ จักได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดมในอีก ๑๐๐,๐๐๐ กัปข้างหน้า จักได้บรรลุอรหัตผล พระพุทธเจ้าโคดมจักตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุ

ท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์แล้วเกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธันดรหนึ่ง

ชาติหนึ่งในพุทธันดรนั้น ท่านเกิดเป็นหัวหน้าช่างหูกในหมู่บ้านช่างหูกหมู่บ้านหนึ่ง ซึ่งมีสมาชิก ๑,๐๐๐ ครอบครัว ได้ทำบุญสำคัญ คือ พร้อมด้วยภริยาชักชวนลูกบ้านให้ถวายการบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๑,๐๐๐ รูปที่มาจำพรรษาในป่าใกล้หมู่บ้าน ด้วยการสร้างบรรณศาลาถวายรูปละ ๑ หลัง และชักชวนให้แต่ละครอบครัวรับอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าครอบครัวละ ๑ รูป


ครั้นออกพรรษา เมื่อปัจเจกพุทธเจ้าทุกรูปปวารณาแล้ว หัวหน้าช่างหูกและภริยาพร้อมด้วยลูกบ้านแต่ละครอบครัวต่างได้ถวายผ้าสำหรับทำจีวรแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่ตนบำรุง ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าก่อนออกจากหมู่บ้านนั้นกลับยังที่อยู่เดิม ต่างก็กล่าวสอนช่างหูกไม่ให้ประมาท ให้ยึดมั่นในการทำความดีตลอดไป

หัวหน้าช่างหูกและภริยาพร้อมด้วยลูกบ้าน ได้ปฏิบัติตามที่พระปัจเจกพุทธเจ้าสอน โดยได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้ากัสสปะ

ชาติที่พบพระพุทธเจ้ากัสสปะนั้น ท่านเกิดเป็นบุตรกฎุมพีชาวเมืองพาราณสี ภริยาก็มาเกิดเป็นบุตรของกฎุมพีอีกตระกูลหนึ่งในเมืองพาราณสีเช่นเดียวกัน ส่วนลูกบ้านและภริยาก็มาเกิดเป็นบุตรธิดาของกฏุมพีต่างตระกูลในเมืองเดียวกันนั้นเอง

คราวหนึ่งได้ร่วมกันทำบุญสำคัญ คือ สร้างศาลาหลังใหญ่ มีเรือนยอด ๑,๐๐๐ หลังเป็นบริวารถวายไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ได้ประโยชน์เป็นที่พักจำพรรษาของภิกษุและสามเณร และเป็นที่พักหลบแดดหลบฝนของพวกอุบาสกอุบาสิกาที่มาทำบุญ

ครั้นสร้างแล้ว คราวถวายศาลาทั้งหมดได้พร้อมใจกันถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวกติดต่อกัน ๗ วัน จากนั้นจึงถวายศาลา ทุกคนยังได้ทำบุญอื่นๆ สนับสนุนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต จากชาตินั้นบุญส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ จนมาถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ท่านมาเกิดเป็นพระราชโอรสแห่งราชตระกูล เมืองกุกกุฏวดีในปัจจันตชนบท โดยมีลูกบ้านมาเกิดเป็นบริวารด้วยทั้งหมด ฝ่ายภริยาก็มาเกิดเป็นพระราชธิดาแห่งราชตระกูลเมืองสาคละ ในแคว้นมัททะ โดยมีภริยาของพวกลูกบ้านเหล่านั้นมาเกิดเป็นบริวารด้วยเช่นกัน

ครั้นท่านออกบวชได้บรรลุพระอรหัตผล อาศัยเหตุที่ตั้งจิตปรารถนามาแต่อดีตชาติ ประกอบกับความสามารถในชาติปัจจุบันที่เมื่อบรรลุพระอรหัตผลแล้ว ได้สอนพระ ๕๐๐ รูปให้ได้บรรลุอรหัตผลพร้อมกัน พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสอนภิกษุดังกล่าวมาแล้ว


๏ วาจานุสรณ์

พระทัพพะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ถูกพระฉัพพัคคีย์กลุ่มพระเมตติยะ และพระภุมมชกะใส่ร้ายว่าต้องอาบัติปาราชิกข้อเสพเมถุน (ร่วมเพศกับหญิง) ทั้งนี้เพราะพระฉัพพัคคีย์ ๒ รูปนั้นโกรธ หาว่าท่านยุยงให้คหบดีกัลยาณภัตติกะเกลียดตนแล้วถวายอาหารที่ไม่ดี พระพุทธเจ้าทรงสั่งให้ประชุมพิจารณาความตามที่พระฉัพพัคคีย์กล่าวหา เมื่อผลปรากฏว่าท่านบริสุทธิ์ ท่านจึงได้กล่าวข้อความเตือนใจว่า

พระทัพพะที่ใครๆ ฝึกได้ยากเมื่อก่อนนั้น
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคทรงฝึกได้แล้ว
ด้วยการฝึกอันประเสริฐ จึงกลายมาเป็นผู้สันโดษ
หมดความสงสัย ชนะได้เด็ดขาด ปราศจากความกลัว
พระทัพพะนั้นมีจิตมั่นคง ดับกิเลสได้สนิทแล้ว


พระรัฐบาล หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ทูลขออนุญาตพระพุทธเจ้ากลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดาที่ถุลลโกฎฐิตนิคม แคว้นกุรุ แม้จะกลับไปบ้านเกิดแล้ว ท่านก็ดำเนินชีวิตตามแบบนักบวชในพระพุทธศาสนา คือเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับหลังคาเรือน จนมาถึงบ้านของท่านเอง หญิงคนใช้นำขนมค้างคืนมาใส่บาตร ขณะเดียวกันนั้นนางก็เริ่มจำท่านได้ จึงรีบไปบอกเศรษฐีบิดาให้ทราบ วันรุ่งขึ้นท่านไปรับบิณฑบาตที่บ้านตามคำนิมนต์ของบิดา พวกภรรยาเก่าต่างหมายจะเล้าโลมให้ท่านสึก จึงถามเป็นเชิงแดกดันว่า นางฟ้าที่เป็นเหตุให้ท่านออกบวชนั้น สวยขนาดไหน ท่านจึงได้โอกาสแสดงธรรมความว่า

เชิญดูร่างกายที่ตกแต่งเสียสวยงาม เป็นที่อยู่ของพวกหมู่แผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนคุมกันเป็นโครงร่าง เจ็บป่วยอยู่เนืองนิตย์ ไม่ยั่งยืน แต่คนโง่พากันถวิลหา

เชิญดูร่างกายที่ตกแต่งเสียสวยงามด้วยแก้วมณีและต่างหู มีหนังหุ้มกระดูก งดงามด้วยพัสตราภรณ์หลากหลาย เท้าทั้งสองยังย้อมด้วยน้ำครั่งสด ใบหน้าที่ไล้ทาด้วยจุรณ์จันทน์ ทำให้คนโง่ลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้ฉลาดลุ่มหลงได้หรอก

ผมที่ตกแต่งปกหน้าผากเป็นลอน คล้ายกระดานหมากรุก ๘ ตา นัยน์ตาทั้ง ๒ หยาดเยิ้มด้วยน้ำหยอด ทำให้คนโง่ลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้คนฉลาดลุ่มหลงได้หรอก

กล่องยาหยอดตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ เป็นฉันใด ร่างกายอันเปื่อยเน่า ที่ตกแต่งเสียสวยงาม ก็เป็นฉันนั้น

ทำให้คนโง่ลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้คนฉลาดลุ่มหลงได้หรอก

นายพรานดักบ่วง แต่เนื้อไม่ติดบ่วง กินเหยื่อหมดแล้วก็หนีไป ทิ้งให้นายพรานคร่ำครวญอย่างผิดหวัง บ่วงขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง กินเหยื่อหมดแล้วก็หนีไป ทิ้งให้นายพรานเศร้าโศกอยู่


ต่อมาท่านเดินทางไปพักในมิคชินอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ หลังจากแสดงธรรมุเทศถวายพระเจ้าโกรัพยะแล้ว ท่านได้กล่าวเพิ่มเติมว่า

คนรวยในโลกนี้ที่เห็นๆ กันอยู่ ก็คือได้ทรัพย์แล้วไม่ยอมให้ทาน
ยิ่งได้ยิ่งสะสม และยิ่งปรารถนากามมากขึ้น
พระราชาช่วงชิงเอาแผ่นดินมาครอบครองได้
ไปจนถึงสุดทะเลตลอดฝั่งนี้ ก็ยังไม่อิ่ม ยังปรารถนาทะเลฝั่งโน้นอีก
พระราชาและผู้คนจำนวนมาก จากโลกนี้ไปทั้งที่ยังมีตัณหา (ความยาก)
ทิ้งร่างกายนี้ไปทั้งที่จิตใจยังพร่อง ไม่รู้จักอิ่ม
ในโลกนี้ไม่มีหรอกเรื่องความอิ่มกาม
ทุกครั้งที่มีคนตาย ญาติทั้งหลายต่างก็สยายผม
ร้องให้คร่ำครวญว่า ทำอย่างไรพวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย
แล้วก็เอาผ้าห่อ หามไปเผาที่เชิงตะกอน
ผู้ที่ตายไปนั้น ต้องละทิ้งสมบัติทั้งหมด
มีผ้าเหลือติดตัวอยู่ผืนเดียว
มิหนำซ้ำยังถูกเขาเอาหลาวแทง ขณะที่ไฟกำลังลุกท่วมร่าง
คนตายไม่มีใครช่วยได้หรอก ไม่ว่าญาติหรือมิตรสหาย
พวกทายาทก็มาขนเอาทรัพย์สมบัติไป
ส่วนคนตาย ก็ไปตามกรรมตามลำพัง
ไม่มีบุตรภรรยาทรัพย์สมบัติ หรือแว่นแคว้นติดตามไปด้วย

อายุยืน ไม่ใช่ว่าจะได้ด้วยทรัพย์
การพ้นจากความแก่ ไม่ใช่ว่าจะได้ด้วยทรัพย์
นักปราชญ์ทั้งหลายต่างยอมรับกันว่า
ชีวิตนี้สั้นนัก ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ทั้งคนรวยและคนจน ทั้งคนฉลาดและคนโง่
ต่างได้สัมผัสกับอารมณ์ทั้งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนาเหมือนกัน
ต่างกันแต่ว่าคนโง่ เมื่อสัมผัสกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
ย่อมอยู่อย่างเจ็บปวด เพราะความที่เป็นคนโง่นั่นเอง
ส่วนคนฉลาดย่อมไม่หวั่นไหว
ไม่ว่าจะได้สัมผัสกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาหรือไม่น่าปรารถนา
เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงประเสริฐกว่าทรัพย์
เพราะปัญญาช่วยให้ได้บรรลุนิพพาน
ส่วนคนโง่ เพราะมัวแต่ลุ่มหลง
จึงไม่ปรารถนาจะบรรลุนิพพาน

คนยังทำกรรมชั่วอยู่ในทุกภพทุกชาติที่เกิด
คนทำกรรมชั่วย่อมต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีสิ้นสุด
คนมีปัญญาน้อย เมื่อมาหลงเชื่อคนชั่วนั้น
ก็จะพลอยเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีสิ้นสุดไปด้วย
โจรบุกเข้าปล้น แต่ถูกจับได้
ย่อมต้องเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด
หมู่สัตว์ผู้ทำชั่ว ก็ฉันนั้น
ตายไปแล้วย่อมเดือดร้อน เพราะกรรมของตน

ขอถวายพระพร มหาบพิตร
กามคุณทั้งหลาย หลากชนิด ล้วนวิจิตร มีรสอร่อย น่าเริงใจ
ย่ำยีจิตให้หลงใหลด้วยรูปแปลกๆ
แต่อาตมาเห็นโทษเสียแล้ว จึงออกบวช
ทั้งคนหนุ่มและคนแก่ ถึงคราวที่ร่างกายแตกดับ
ก็ร่วงหล่นไป เหมือนผลไม้หล่นจากต้น

ขอถวายพระพร มหาบพิตร
อาตมาเห็นความเป็นจริงนั้นด้วย จึงออกบวช
ช่างประเสริฐแท้ ที่อาตมาได้ความเป็นสมณะอันไม่ผิดพลาด
อาตมาออกบวชด้วยศรัทธา
มั่นคงในศาสนาของพระชินเจ้า
การออกบวชของอาตมาไม่ไร้ผล
อาตมาฉันข้าวชาวบ้านโดยไม่เป็นหนี้

ขอถวายพระพร มหาบพิตร
อาตมาออกบวช เพราะเห็นกามว่าเป็นของร้อน
เห็นทองเป็นศัสตรา เห็นทุกข์มีมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์
เห็นภัยใหญ่ในนรก อาตมาเห็นโทษดังว่ามานั้น จึงสลดใจ
ครั้งก่อนนั้น อาตมาถูกแทงด้วยลูกศรคือกาม
แต่มาครั้งนี้ อาตมาสิ้นอาสวะแล้ว


พระโสณโกฬิวิสะ หลังจากบรรลุอรหัตผลแล้ว ได้พิจารณาดูข้อปฏิบัติของท่านเองแล้วเกิดปีติโสมนัส ท่านเปล่งอุทานออกมาในเวลานั้นว่า

คหบดีใด มั่งคั่งยิ่งใหญ่อยู่ในแคว้นอังคะ
คหบดีนั้น คือเราผู้ชื่อ “โสณะ”
บัดนี้ มายิ่งใหญ่ในธรรม เพราะสิ้นทุกข์

ภิกษุควรตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอย่างหยาบทั้ง ๕ เสียให้หมด
ควรตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดอย่างละเอียดทั้ง ๕ เสียให้สิ้น
ควรเจริญอินทรีย์ ๕ ให้สูงยิ่งๆขึ้น

ภิกษุผู้ข้ามกิเลสเครื่องข้องทั้ง ๕ คือ
ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ ได้
ท่านเรียกว่า “ผู้ข้ามห้วงน้ำคือกิเลส”

ภิกษุผู้ถือตัว ขาดสติ ยินดีต่ออารมณ์ภายนอก
ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมไม่บริบูรณ์

ภิกษุเมื่อทอดทิ้งสิ่งที่ควรทำ
แต่กลับไปทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
ย่อมถือตัว ขาดสติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญ

ส่วนภิกษุผู้ปรารภกายคตาสติป็นอย่างดีอยู่เนืองนิตย์
ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่ทำสิ่งที่ควรทำอย่างต่อเนื่อง
มีสติสัมปชัญญะ อาสวะทั้งหลายย่อมหมดสิ้น

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสบอกทางตรงไว้แล้ว
ขอท่านทั้งหลายจงเดินไปเถิด อย่าถอยกลับ
จงเตือนตนด้วยตนเอง
และควรน้อมตนเข้าหานิพพาน

เราบำเพ็ญเพียรหนักไป
จนพระศาสดาต้องเสด็จมาแสดงธรรมโปรด
โดยทรงยกพิณขึ้นเปรียบเทียบ
ครั้นได้ฟังพระองค์สอน เราจึงยินดีอยู่ในพระศาสนา
เราบำเพ็ญสมถะเพื่อให้ได้บรรลุประโยชน์อันสูงสุด
แล้วเราก็ได้บรรลุวิชชา ๓
นับได้ว่าได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว

จิตที่น้อมไปในเนกขัมมะ (การออกบวช)
น้อมไปในความไม่เบียดเบียน และหมดอุปาทาน
ย่อมได้ความสงัด
จิตที่น้อมไปในความหมดตัณหา
ย่อมได้ความไม่งมงาย
และเพราะเห็นทันการกระทบกันของอายตนะ
จิตจึงหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง

ภิกษุที่จิตสงบหลุดพ้นได้โดยสิ้นเชิงนั้น
ทำกรรมแล้วย่อมไม่มีผลสะสมเป็นวิบาก
กิจอื่นที่จะต้องทำอีกไม่มี
รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งสัมผัสทั้งมวล
ทั้งน่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา
ย่อมทำจิตของผู้คงที่ให้หวั่นไหวไม่ได้
เช่นเดียวกับลมที่ไม่สามารถทำภูเขาหินแท่งทึบให้หวั่นไหวได้
เพราะว่า ผู้คงที่พิจารณาเห็นว่า
สิ่งเหล่านั้น แตกดับทุกขณะ


พระมหากัปปินะ หลังจากบรรลุอรหัตผลและพระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้สอนพระที่เป็นศิษย์ของท่านแล้ว วันหนึ่งมีภิกษุหมู่หนึ่งเข้าไปหาท่าน ท่านได้กล่าวสอนว่า

สิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ ทั้ง ๒ นั้น
แม้จะยังมาไม่ถึง แต่ผู้ใดเข้าใจได้ก่อน
ศัตรูหรือมิตรของผู้นั้น แม้จะคอยจับผิดอยู่
ก็มองไม่เห็นช่องทางให้จับผิดได้


ต่อมา ท่านได้พิจารณาถึงวิธีปฏิบัติ ที่ส่งผลให้ได้บรรลุอรหัตผลสำหรับตัวท่านเอง จึงกล่าวว่า

ผู้ใด สั่งสมอบรมอานาปานสติมาโดยลำดับ
จนมาถึงขั้นบริบูรณ์ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน
ผู้นั้น ย่อมทำให้โลกนี้สว่าง
เหมือนพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอก
ส่องโลกให้สว่างฉะนั้น


จากนั้น ท่านได้ยกตัวท่านเองขึ้นเป็นตัวอย่าง โดยกล่าวว่า

เราอบรมจิตมาดี
จิตของเราจึงผ่องใสไร้ขอบเขต
เราประคับประคองจิตอยู่สมอ
จิตของเราจึงสว่างไสวไปทั่วทิศ


ท่านยังได้สอนภิกษุณีให้เข้าใจถึงคุณค่าของปัญญาว่า

คนมีปัญญา ถึงจะไม่มีทรัพย์ ก็เลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดได้
คนไม่มีปัญญา ถึงจะมีทรัพย์ ก็อยู่ไม่ได้
ปัญญาช่วยตัดสินสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา
ปัญญาช่วยให้ได้ชื่อเสียงและคำสรรเสริญ
คนมีปัญญาถึงคราวตกทุกได้ยาก
ก็ยังรู้จักหาความสุขได้


ต่อจากนั้น ท่านได้สอนภิกษุณีให้เข้าใจถึงความไม่เที่ยงว่า

ความไม่เที่ยง ไม่ใช่ไม่เคยมีมา
ไม่ใช่เพิ่งมามีในวันนี้ แต่มีมานานแล้ว
และไม่ใช่ของแปลกประหลาด
เพราะมีให้เห็นอยู่เนืองๆ
ในโลกที่สัตว์มาเกิดแล้วตายอยู่นี้
ไม่มีความไม่เที่ยงอันใดที่ไม่เคยมี
ทันทีที่เกิดมา เมื่อมีชีวิตก็มีความตายติดมาด้วยแน่นอน
สัตว์ที่เกิดมาแล้วก็ตายไปเป็นธรรมดาอยู่อย่างนี้


ขณะนั้นเอง ท่านพิจารณาเห็นว่า ภิกษุณีบางรูปยังเสียใจถึงคนที่ตายจากไป จึงสอนว่า

การร้องไห้เพื่อให้ได้ชีวิตคนตายกลับมานั้น
ไม่เป็นประโยชน์แก่คนตายเลย
อีกทั้งคนร้องก็ไม่ได้ยศและคำสรรเสริญ
สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ไม่สรรเสริญ


จากนั้น ท่านได้แสดงโทษของการร้องไห้ว่า

การร้องไห้ คือการทำร้ายร่างกายและดวงตา
คนร้องไห้ย่อมไม่สวย ผิวพรรณไม่ผ่องใส
เรี่ยวแรง และความคิดจะอ่อนล้า
คนร้องไห้ ย่อมทำให้ศัตรูหัวเราะเยาะ
แต่ทำให้มิตรสหายกลับเป็นทุกข์


สุดท้าย ท่านแนะนำให้เข้าหากัลยาณมิตรว่า

ฉะนั้น คนเราจึงควรแสวงหานักปราชญ์มาให้อยู่ด้วย
เพราะกำลังปัญญาของท่านเหล่านั้น
จะช่วยให้กิจการสำเร็จไปได้
เหมือนเรือที่ช่วยให้ข้ามแม่น้ำใหญ่ได้ ฉะนั้น


พระพาหิยะ ไม่มีกล่าววาจาใดเป็นอนุสรณ์เพราะด่วนนิพพานก่อน

ส่วน
พระปุณณะ ก็ไม่มีบันทึกคำกล่าวของท่านเหมือนกัน

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2011, 07:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


บุญสำคัญ

ท่านผู้อ่านได้ทราบเรื่องราวของพระอสีติมหาสาวกแล้วทั้งในด้านสถานะเดิม ชีวิตฆราวาส การออกบวช การบรรลุธรรม เอตทัคคะ และอดีตชาติ รวมทั้งวาจานุสรณ์

จากหลักฐานที่มีผู้เขียนนำมาเสนอนั้น เมื่อศึกษาแล้วทำให้เราทราบว่า พระอสีติมหาสาวกนั้นต้องบำเพ็ญบารมีมาไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ กัป

การบำเบ็ญบารมีของพระอสีติมหาสาวกเริ่มตั้งแต่คิดปรารถนา ทำตามที่ปรารถนา และเปล่งวาจาแสดงความปรารถนาต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ซึ่งหากพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสพยากรณ์รับรอง ก็เป็นอันว่าความปรารถนาสำเร็จได้แน่ จึงเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องทำบุญสนับสนุนความปรารถนานั้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้บรรลุผลสมปรารถนา คือได้บรรลุอรหัตผลสำเร็จเป็นมหาสาวก และบางท่านก็ได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้วย ทั้งนี้ก็เป็นไปตามความปรารถนานั่นเอง

การได้ทำบุญสำคัญ คือ การทำความดีอันยิ่งใหญ่สนับสนุนให้ได้บรรลุผลสมปรารถนานั้น เป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งที่พระอสีติมหาสาวกต้องมี

บุญสำคัญที่พระอสีติมหาสาวกทำนั้นก็คือ การสละทรัพย์สมบัติจำนวนมาก หรือที่มีความสำคัญต่อเจ้าของ เพื่อให้สำเร็จประโยชน์แก่ผู้อื่น รวมทั้งการรักษาศีล การฟังธรรม และการกระทำอื่นที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและส่วนรวม

พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต่างได้ทำบุญสำคัญไว้กับพระพุทธเจ้าในอดีต และพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยมหากุศลจิต คือมีศรัทธา (ความเชื่ออย่างมั่นคง) มีปัญญา (การเข้าใจในเหตุผล) และทำด้วยตนเอง ไม่ต้องมีผู้อื่นคะยั้นคะยอ

จากเรื่องราวของพระอสีติมหาสาวกที่กล่าวมานี้ เมื่อศึกษาแล้วทำให้ทราบว่า บุญสำคัญที่พระอสีติมหาสาวกทำในเบื้องต้นนั้น ส่วนมากจะเหมือนกันคือ บริจาคทาน อันแสดงให้เห็นว่า การเสียสละเป็นคุณธรรมสำคัญขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนให้เกิดการบรรลุธรรม เพราะในการเสียสละนั้น มิใช่แต่เสียสละเฉพาะทรัพย์สินเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเสียสละความสุข ยอมให้ตนเองลำบาก เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในจำนวนพระพุทธเจ้า ๑๒ พระองค์ ที่พระอสีติมหาสาวกพบนั้น พระพุทธเจ้าปทุมุตตระ คือ พระพุทธเจ้าที่พระอสีติมหาสาวกพบมากที่สุด กล่าวคือ พระอสีติมหาสาวกส่วนมากจะได้พบพระพุทธเจ้าปทุมุตตระแล้วได้รับพุทธพยากรณ์จากพระองค์ ทั้งนี้เป็นเพราะช่วงระยะเวลานับจากพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ มาจนถึงพุทธุปบาทกาลของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันได้ ๑๐๐,๐๐๐ กัปพอดี อันเป็นช่วงระยะเวลาที่พระอสีติมหาสาวกบำเพ็ญบารมีได้แก่กล้าเต็มที่ สามารถบรรลุอรหัตผลได้ หลังจากได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน

ในช่วงเวลา ๑๐๐,๐๐๐ กัปนั้น พระอสีติมหาสาวกทุกรูปยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในสุคติภูมิ คือ สวรรค์ และโลกมนุษย์ เนื่องจากได้ทำความดีอยู่เสมอ แต่ก็มีบ้างบางรูปในบางชาติที่ไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉานและตกนรก ทั้งนี้ เป็นเพราะความเผลอสติที่ไปทำบาปบางอย่าง

แต่แล้วในที่สุดบุญบารมีที่จะได้บรรลุอรหัตผลและเป็นพระอสีติมหาสาวก ก็จะส่งผลให้ได้สติและทำบุญอย่างมั่นคงต่อเนื่อง จนกระทั่งได้มาเกิดและพบพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ได้ฟังธรรมแล้วบรรลุอรหัตผลเป็นพระมหาสาวก รวมทั้งได้รับแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ สมปรารถนา

กล่าวถึงการบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน จากหลักฐานที่กล่าวมา ทำให้มั่นใจได้ว่า การบรรลุธรรมของพระอสีติมหาสาวกทุกรูป ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ว่าท่านเกิดในวรรณะใด มีลักษณะทางสังคมอย่างไร มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ไหน และมีการศึกษาสูงหรือไม่

พระอสีติมหาสาวกมีมาจากวรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ วรรณะไวศยะ (แพศย์) วรรณะศูทร รวมไปถึงวรรณะจัณฑาล และวรรณะหีนชาติ ซึ่งมีสถานะทางสังคมต่ำกว่าวรรณะศูทร ซึ่งก็หมายความว่า พระอสีติมหาสาวกนั้นมีทั้งที่เคยเป็นกษัตริย์ เคยเป็นพราหมณ์ เคยเป็นนักธุรกิจ และเคยเป็นคนรับใช้

แต่ท่านเหล่านี้เมื่อมาได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว ความแตกต่างดังกล่าวก็มิได้เป็นอุปสรรค ทั้งนี้ เป็นเพราะทุกท่านมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ “อุปนิสัยที่จะได้บรรลุธรรม”


อุปนิสัย คือ ความประพฤติดีที่สะสมไว้เป็นความเคยชินนั้น ก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดในชาติปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ว่า พระอสีติมหาสาวกเมื่อได้ทราบว่า พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นในโลก ต่างก็เกิดความกระตือรือร้นดังกล่าวมา นี้ก็คืออุปนิสัยที่สะสมมาแต่อดีตชาตินั้นเอง

นอกจากอุปนิสัยอันเป็นคุณสมบัติส่วนตัวของพระอสีติมหาสาวกแต่ละรูปแล้ว ผู้สอนก็นับว่ามีความสำคัญมาก เพราะผู้สอนคือผู้ชี้แนวทางให้ปฏิบัติ หากได้ผู้สอนที่ไม่ฉลาดก็อาจชี้แนวทางที่ผิดพลาดได้ เมื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ผิดพลาดจะทำให้ห่างไกลจากการบรรลุธรรม

พระอสีติมหาสาวกนับว่าโชคดีที่ได้ผู้สอนที่ประเสริฐ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและการปฏิบัติ คือ พระพุทธเจ้า ในการสอนแต่ละครั้ง พระพุทธเจ้าจะตรวจดูอุปนิสัยของผู้ถูกสอนก่อน แล้วจึงแสดงธรรมที่เหมาะสมแก่อุปนิสัย การสอนพระอสีติมหาสาวกก็เช่นกัน พระพุทธเจ้าจะทรงตรวจดูอุปนิสัย จากนั้นจึงสอน ผลปรากฏก็คือ พระองค์ประสบผลสำเร็จในการสอน พระอสีติมหาสาวกได้บรรลุธรรม

จริงอยู่ แม้จะมีพระอสีติมหาสาวกบางรูปได้บรรลุธรรมเพราะฟังธรรมจากพระสาวกรูปอื่น แต่พระสาวกรูปนั้น เมื่อศึกษาดูแล้วก็พบว่า ได้รับแนวการสอนไปจากพระพุทธเจ้านั่นเอง

ศึกษาเรื่องราวของพระอสีติมหาสาวกแล้ว ทำให้เข้าใจได้ว่า การบรรลุธรรมเป็นของสาธารณะแก่บุคคลทั่วไปที่มีอุปนิสัยแก่กล้า

ส่วนชาติกำเนิด สถานะทางสังคม ถิ่นกำเนิด และการศึกษาไม่ได้เป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ใครก็ตามจะเป็นคนมั่งมีหรือยากจน มีเกียรติหรือไร้เกียรติ มีการศึกษาหรือไร้การศึกษา หากมีอุปนิสัยที่สะสมมาแก่กล้าแล้วก็สามารถบรรลุธรรมได้เหมือนกัน

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ค. 2011, 07:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


“การให้” เป็นปัจจัยสู่การบรรลุธรรม

ได้กล่าวไว้แล้วว่า พระอสีติมหาสาวกทุกรูป ก่อนจะได้มาบรรลุมรรคผลในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันนั้น ล้วนได้ทำบุญสำคัญไว้เบื้องต้นคล้ายๆ กัน คือ การบริจาคทาน ซึ่งผู้เขียนได้สรุปว่า “การบริจาค” เป็นคุณธรรมสำคัญพื้นฐานที่สนับสนุนเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรม

ประเด็นที่น่าศึกษาก็คือว่า การบริจาคทานเป็นคุณธรรมสำคัญขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมได้อย่างไร

ก่อนอื่นผู้เขียนเห็นว่า น่าจะได้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทานมี ๒ ชนิด คือ

๑. อามิสทาน การให้สิ่งของ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีกล่าวถึงสิ่งของที่พึงให้ไว้ ๑๐ อย่าง ได้แก่ อาหาร น้ำดื่ม ผ้านุ่งผ้าห่ม ยานพาหนะ พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องไล้ทา (ผิวหนัง) ที่นอน ที่พัก และประทีป (เครื่องให้แสงสว่าง)

๒. ธรรมทาน การให้ธรรม ในพระพุทธศาสนากล่าวถึงธรรมไว้ว่า ได้แก่ คำสอนของพระพุทธเจ้า คำแนะนำ ความรู้ที่เกื้อกูลต่อการทำความดีหรือต่อการดำรงชีวิตที่ดี

การให้ทั้ง ๒ นี้ เมื่อทำด้วยจิตศรัทธาและประกอบด้วยปัญญาแล้ว ย่อมให้ผลทางใจเหมือนกันตรงที่ทำให้ละความรักตัวเอง ในขณะเดียวกันก็มีคุณธรรมอื่นๆ เกิดร่วม คือเมตตา (ความรักความปรารถนาดีต่อผู้อื่น) และกรุณา (ความสงสารต่อผู้อื่น)

ตามปกติ คนเราเมื่อมีความรักความปรารถนาดีและความสงสารต่อผู้อื่นแล้ว ก็พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่นได้ อันจะเป็นทางนำไปสู่การบรรลุธรรม คือการละกิเลสได้ การบรรลุธรรมย่อมทำให้ได้รับความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่ปราศจากกาม ซึ่งชาวโลกส่วนมากมักจะกลัวต่อความสุขชนิดนี้ แต่กลับชื่นชมยึดติดอยู่กับความสุขที่เจือด้วยกาม


กล่าวถึงการให้สิ่งของและการให้ธรรมนั้น นับเป็นบทฝึกหัดเบื้องต้นที่นำไปสู่การเสียสละที่ยิ่งใหญ่และทำได้ยากยิ่งๆ ขึ้นไป นั่นคือการให้ตัวเอง หมายถึงการให้สิ่งของที่รัก อวัยวะ ชีวิต และสิ่งที่เสมอด้วยชีวิต

พระอสีติมหาสาวกต่างล้วนได้ผ่านบทฝึกหัดเบื้องต้นนี้มาแล้วทั้งสิ้น โดยเฉพาะการให้สิ่งของ ดูจะเป็นบทฝึกหัดเบื้องต้นที่สำคัญที่พระอสีติมหาสาวกทุกรูปต้องทำให้ได้

กล่าวถึงตอนนี้ อาจมีบางท่านค้านว่า เมื่อศึกษาประวัติของพระอสีติมหาสาวกแล้ว พบว่า บุญสำคัญที่บางรูปทำนั้นไม่มีระบุถึงการให้สิ่งของไว้ มีแต่กล่าวว่า ท่านได้ทำการขวนขวายทำการรับใช้พระรัตนตรัย

จากเรื่องนี้เมื่อศึกษาดูตามนัยแห่งบุญกิริยาวัตถุแล้ว จะเห็นว่าทานคือการให้ มีความหมายกว้างไปถึงการขวนขวายรับใช้ผู้อื่น (เวยยาวัจจะ) การแบ่งปันความดีให้แก่ผู้อื่น (ปัตติทาน) การยินดีด้วยในเมื่อมีผู้อื่นทำความดี (ปัตตานุโมทนา)

ฉะนั้น ในกรณีของพระอสีติมหาสาวกบางรูปสามารถกล่าวได้ว่า ท่านได้ทำการให้มาแล้วในรูปของการขวนขวายรับใช้หรือช่วยเหลือ อันเป็นทางให้ละความรักตัวเองลงได้เช่นกัน

ผลพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า การให้เกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมนั้น ก็คือ

๑. ตามหลักของสังโยชน์ (กิเลสที่ผูกมัดสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ) สักกายทิฏฐิ คือความเข้าใจผิดว่า ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ที่ประกอบกันเป็นชีวิตนั้นเป็นของเที่ยง จัดเป็นสังโยชน์ข้อแรกที่พระอริยบุคคลละได้ พร้อมกับวิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

สักกายทิฏฐิ เป็นความเข้าใจผิดขั้นหยาบเกี่ยวกับตัวตนหรืออัตตาที่มีอยู่แก่ปุถุชนทั่วไป จริงอยู่ การละสักกายทิฏฐิเป็นเรื่องของปัญญา ที่เริ่มต้นจากวิปัสสนาปัญญา ไปจนถึงมัคคปัญญา “การให้” แม้จะไม่ทำหน้าที่ละสักกายทิฏฐิโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดปัญญาที่จะละสักกายทิฏฐิ

๒. ตามนัยแห่งปฏิจจสมุปบาท ในการละกิเลสได้เด็ดขาดที่เรียกว่าสมุจเฉทปหานนั้น ผู้ปฏิบัติต้องละตัณหา คือความอยาก ความรักตัวเองและสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับตัวเอง ซึ่งเกิดร่วมกับอวิชชาและอุปาทาน

ตัณหา คือความรัก ความอยากได้ ซึ่งแสดงตัวออกมาในรูปของการหวงแหนว่า นั่นเป็นของเรา (เอตํ มม) ในลักษณะนี้ พระพุทธเจ้าจะทรงแสดงกิเลสที่เกิดร่วมกับตัณหาอีกนัยหนึ่งคือมานะ คือความถือตัว ความสำคัญตัวว่า เรามีเราเป็น ที่เรียกว่า อัสมิมานะ กับทิฏฐิ คือความเห็นผิด ว่านั่นเป็นอัตตาของเรา (เอโส เม อตฺตา) และการจะละตัณหากับทิฏฐิได้เด็ดขาด ต้องละด้วยอรหัตมรรคญาณ

จริงอยู่ การละตัณหาทำได้ด้วยปัญญา แต่ธรรมที่จะมาช่วยบ่มปัญญาให้แก่กล้าได้นั้น อย่างหนึ่งก็คือการให้ (ทาน) ฉะนั้น การให้จึงเป็นคุณธรรมเบื้องต้นที่นำไปสู่การบรรลุธรรม

เมื่อได้ทราบว่า การให้เป็นคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่สนับสนุนเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมได้อย่างนี้แล้ว ประเด็นที่ควรทราบเพิ่มเติมก็คือ การให้อย่างไรจึงมีผลมาก

ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ที่มีผลมากไว้ว่า ต้องประกอบด้วยองค์ ๖ คือ องค์ประกอบฝ่ายทายก (ผู้ให้) กับองค์ประกอบฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)

องค์ประกอบฝ่ายทายก ๓ ได้แก่
๑. ก่อนให้ มีจิตโสมนัส
๒. ขณะให้ มีจิตผ่องใส
๓. ครั้นให้แล้ว ก็มีจิตอิ่มเอิบ


องค์ประกอบฝ่ายปฏิคาหก ๓ ได้แก่
๑. เป็นผู้หมดราคะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
๒. เป็นผู้หมดโทสะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
๓. เป็นผู้หมดโมหะ หรือกำลังปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ


ในพุทธพจน์ตอนนี้มีกล่าวถึงแต่เรื่องทายกกับปฏิคาหกเท่านั้น ในที่บางแห่งยังมีกล่าวเพิ่มเติมถึงทานมีผลมากไว้อีกว่า ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ ๓ ประการ คือ
๑. ทายกบริสุทธิ์
๒. ปฏิคาหกบริสุทธิ์
๓. ไทยธรรม (ของให้ทาน) บริสุทธิ์


ข้อ ๑ และข้อ ๒ อธิบายได้ด้วยหลักองค์ประกอบ ๖ ประการที่กล่าวมาแล้ว ส่วนข้อที่ ๓ นั้นหมายถึงว่า ไทยธรรมบริสุทธิ์ได้ด้วยการที่ทายกได้มาโดยชอบธรรม คือจากการทำงานและการประกอบอาชีพที่บริสุทธิ์

มีกล่าวกันว่า บรรดาความบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ประการนั้น ความบริสุทธิ์ข้อไหนสำคัญที่สุด ซึ่งก็สามารถตอบได้ว่า ความบริสุทธิ์ของทายกเป็นข้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็หมายความว่า ทายก (ผู้ให้) เป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้ทานตามนัยนี้

ความบริสุทธิ์ของทายกนั้นดูได้ที่เจตนา ๓ กาล คือ เจตนาก่อนทำ (ปุพฺพเจตนา) เจตนาขณะทำ (มุญฺจนเจตนา) และเจตนาหลังทำ (อปราปรเจตนา) ว่าแก่กล้าและมีปีติโสมนัสเกิดร่วมมากน้อยเพียงใด และเมื่อทายกมีความบริสุทธิ์อย่างนี้แล้ว ก็รวมไปถึงว่ามีไทยธรรมบริสุทธิ์ด้วย


อนึ่ง เจตนาทั้ง ๓ กาลนั้นจัดเป็นมโนสัญเจตนาหาร คือสามารถส่งผลให้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติภูมิต่างๆ

พระอสีติมหาสาวกทุกรูป เริ่มต้นด้วยการทำบุญสำคัญ คือการให้เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการให้ทาน การสร้างถาวรวัตถุ การขวนขวายรับใชัพระรัตนตรัย การให้ความรู้แก่ผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นปัจจัยนำไปสู่การบรรลุธรรมในเวลาต่อมา


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2011, 07:02 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆค่ะ ขอบพระคุณค่ะ :b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 39 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร