วันเวลาปัจจุบัน 18 เม.ย. 2024, 11:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ต.ค. 2010, 11:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ก.ย. 2010, 14:07
โพสต์: 27


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

Kiss

เราพึ่งพระรัตนตรัยกันแบบไหน
โดย หลวงปู่ทองดี อนีโฆ


วันนี้ หลวงปู่ก็จะขอพูดเรื่อง เราพึ่งพระรัตนตรัย ลูกหลานพึ่งพระรัตนตรัยกันแบบไหน ไม่ได้ด่านะลูก ลูกเอ๊ยหลานเอย เพราะทุกวันนี้ บางคนพึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า บางคนพึ่งพุทโธ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง บางคนพึ่งพระธรรม คือพระธรรมเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง บางคนพึ่งพระสังโฆ คือพึ่งพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง รวมแล้ว พระรัตนแก้ว 3 ประการ และก็เป็นสรณะที่พึ่งของพวกเรา นอกจากนั้นพึ่งไม่ได้สักอย่างเดียว ถ้ามีใครมากล่าวว่า พึ่งสิ่งโน้น พึ่งสิ่งนี้ได้ ว่าพึ่งเรื่องดูดวง ดูหมอ เคราะห์กรรมก็ดี อย่าไปเชื่อเขานะลูก เชื่อพระพุทธเจ้าของเรา เชื่อพระธรรมเจ้าของเรา เชื่อพระสังฆเจ้าของเรา เพราะนอกนั้นไม่มีอะไรพึ่งได้ ในสามโลกนี้ ตัวเราก็พึ่งไม่ได้ ข้าวของเงินทองก็พึ่งได้ตอนมีชีวิต นอกจากนั้นแล้วก็พึ่งไม่ได้ ฤกษ์แห่งความเป็นมงคลของงาน ฤกษ์การมงคลต่าง ๆ ก็พึ่งไม่ได้ ชาวบ้านชาวช่องร้านตลาดต่าง ๆ ก็พึ่งไม่ได้ ขาดองค์พระบรมครูคือพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว พึ่งอะไรไม่ได้สักอย่างหนึ่ง

เพราะคำว่าพุทโธ ก็คือพระพุทธเจ้า ส่วนพุทธะคืออะไร พุทธะแปลว่า คือความรู้ ขาดความรู้ คนเราทำอะไรกันล่ะ ถามลูกหลานทุกคน สมมติว่า คนตาย ถ้าคนตายละก็ทำอะไรก็ไม่ได้ พึ่งก็ไม่ได้ ต้องมีความรู้ ต้องมีความเข้าใจ ความรู้นั้นก็คือใจ คือปัญญา เรามีอันนี้เป็นที่พึ่งของเรา พุทธะคือความรู้ ถ้าเรามีความรู้แล้ว เราก็พึ่งได้ทั้งหมด อะไร ๆ เราก็พึ่งได้ เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ให้ทำสิ่งใดเล่าที่เราไม่ได้ทำไว้ ก็มีอะไรเป็นที่พึ่ง อยากได้สิ่งใดก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำสิ่งนั้นไว้

ใคร ๆ ก็แล้วแต่ในโลกนี้ ก็อยากได้ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ถ้าไม่ได้ทำไว้ ไม่ได้สร้างสะสมเอาไว้ มันก็ไม่ได้กันทั้งหมด ถ้าเราได้ทำไว้แล้ว ได้สร้างได้สะได้สมสิ่งอันใดไว้ก็แล้วแต่ เราก็จะได้สิ่งนั้น เหมือนกับสมมุติว่าลูกหลานทั้งหลายได้สร้าง ได้มา ถ้าเราไม่ได้ทำไว้ เช่น เราไม่ได้สร้างโบสถ์ ไม่ได้สร้างศาลานี้ เงินต่าง ๆ มันก็ไม่มา มันก็ไม่มีมาให้สร้าง หากเราได้สร้างไว้ สิ่งเหล่านี้เราก็ต้องได้สร้างต่อ

นี่แหละ ลูกหลานทั้งหลาย ถ้าจะอุปมาอุปไมย เปรียบเหมือนการทำนา คนไม่ได้ทำไร่ไถนา แต่ขอให้ได้ข้าวเต็มยุ้งเต็มฉางนี่ ถามลูกหลานทุกคนว่าจะได้ข้าวไม๊ล่ะ มันก็ไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้ทำเอาไว้ เ พราะบุคคลเหล่านั้นไม่ได้ทำนาข้าวไว้ ถึงอยากได้มันก็ไม่ได้ อันนี้คิดอย่างคนมีปัญญานะลูก อย่าคิดอย่างคนโง่เขลาเบาปัญญา ที่เปรียบเทียบอุปมาอุปไมยให้ลูกหลานได้ฟังนั้น เปรียบเหมือนเจ้าของที่ทำนาต้องได้ข้าวอย่างแน่นอน แล้วเราไม่ได้ทำนา บางคนก็อาจจะคิดว่า ไม่ต้องทำด้วยความเหนื่อยยาก ใช้เงินซื้อข้าวมานี่ จะได้มากกว่าคนที่ทำนานั่นเสียอีก นั่นเป็นปัญญาแห่งมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด ที่หลวงปู่อุปมาอุปไมยให้ฟังนี้ ก็เปรียบเมื่อเราลงมือทำนา ในเมื่อเราทำเราก็ต้องได้ข้าว แต่เราหรือคนอื่นไม่ได้ทำนา แต่จะได้ข้าวมาแบบเต็มยุ้งเต็มฉางอย่างปาฏิหาริย์นั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่นอน

ขอให้ลูกหลานทั้งหลาย จงฟังด้วยปัญญาแห่งสัมมาทิฏฐิ อย่าฟังด้วยปัญญาแห่งมิจฉาทิฎฐิ นั่นคือโง่แล้วก็อวดฉลาด หาใช่คนฉลาดที่แท้จริงไม่ ถึงเราจะมีเงินมากมายก่ายกอง ถามว่าเราซื้อไม่ให้แก่ เราซื้อไม่ให้เจ็บ เราซื้อความพลัดพรากจากสิ่งอันที่เป็นที่รักที่พอใจ เราซื้อความตายได้หรือเปล่า มันก็ซื้อไม่ได้ ในเมื่อซื้อไม่ได้แล้ว ทำไมยังมองไม่เห็นของจริงอีก ลูกเอ๊ยหลานเอ๊ย จะใช้ความหยิ่งทะนง จะใช้ความมีศักดิ์ศรีแห่งเป็นคนมีทิฏฐิไปถึงวันตายหรือลูก เมื่อพบแสงสว่าง ทำไมไม่ยอมเดินเล่า ลูกเอ๊ยหลานเอย แล้วเราก็จะมากล่าวที่ว่า พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา เราก็ได้พึ่ง คำว่าสิ่งที่เราได้พึ่งนั้น สิ่งใดเล่าที่เราไม่ได้ปฏิบัติไว้ ก็พึ่งไม่ได้ พึ่งได้แต่สิ่งที่เราได้ปฏิบัติไว้เท่านั้น ให้เรามาพิจารณาเอากันนะลูก พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ส่วนพุทธะอยู่ที่ใจของเรา พุทโธ พุทโธ นึกอยู่ในจิต นึกอยู่ในใจ เอาใจนี่ระลึกนึกถึงแต่องค์พระบรมครูของเราตลอดเวลา คุณของพระพุทโธ คุณของพระธัมโม คุณของพระสังโฆ นี้มีมากหนักหนา เอาอย่างง่าย ๆ สมมุติถ้าเกิดเราเกิดอาการกลัว ไม่ว่าจะกลัวอะไรก็แล้วแต่ ให้ลูกหลานทั้งหลายภาวนาไว้นะว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ให้ภาวนาไว้เรื่อย ๆ ความกลัวก็พลันจักหายไปเอง เราจะไปกลัวทำไม ขณะที่ใจของเรานั้นมันไม่ดี ก็ขอให้เรานึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ ขึ้นมา เมื่อเรานึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆแล้ว พุทธะคือความรู้ เมื่อเรารู้แล้ว สิ่งที่ไม่ดีก็จักหายไป

ถ้าจิตถ้าใจมันขี้เกียจขี้คร้าน ก็ขอให้ลูกหลานนึกถึง พุทโธ พุทโธ ธัมโม ธัมโม สังโฆ ขึ้นมา คนขี้เกียจถ้าลองนึกอยู่ในใจว่าดีหรือเปล่า คนขี้เกียจถ้าคิดว่าไม่ดี เมื่อรู้ว่าไม่ดีเราก็เลิกเป็นคนขี้เกียจเสีย ให้เราเป็นคนขยัน เอาการเอางานมาก ๆ จึงจะดี พุทโธคือความรู้ จะเป็นใหญ่เป็นโต ก็ต้องอาศัยความรู้ ถ้าเราไม่มีความรู้นี่ ถามลูกหลานทุกคนว่า คนไม่ได้เรียนหนังสือ คนไม่มีปัญญา ไม่มีความรู้ตรงนี้ คือรู้ด้วยหลักแห่งปัญญา ก็เป็นใหญ่เป็นโต ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ถึงอยากได้ก็ไม่ได้เป็น เพราะตัวเองไม่มีความรู้ ทำอะไรก็ไม่เป็น ถ้ารู้แล้วทำได้ ปฏิบัติได้ นี่แหละจึงจะเรียกว่าเป็นคนดี ให้ลูกหลานทั้งหลายพิจารณาดูใจว่าเราดีหรือยัง ถ้าใจเราดี ตัวเราก็ดี ถ้าใจเรายังไม่ดี ตัวของเราก็ยังไม่ดี คำว่าไม่ดีนั้นมันอยู่ที่ไหน

บางคนก็ไปโทษดวง ว่าดวงนั้นเป็นอย่างโน้นเป็นอย่างนี้ ไม่เคยดูใจเลยว่าใจนี่แหละที่มันไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี หาอะไรก็ไม่ดี การงานก็ไม่ดี ครอบครัวก็มีแต่อุปสรรค มีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ชาวบ้านร้านตลาด ประเทศชาติทั้งหลายก็ไม่ดี ถ้าเราประสบพบเห็นแต่สิ่งเหล่านั้น เห็นแต่สิ่งใด ๆ ก็ไม่ดี เราจะโทษใคร ก็ต้องโทษใจของเรานี่แหละ เพราะอะไร เพราะว่าดวงไม่ดีห้ละ ใจไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ดี แม้แต่เขียนหนังสือก็ไม่ดี เมื่อใจไม่ดีแล้ว ให้รู้สึกระลึกถึงคุณของพระพุทโธ คุณของพระธัมโม คุณของพระสังโฆ ขึ้นมา จนกว่าจะหาย ครั้นใจเราดีแล้วความชั่วทั้งหลายมันก็หายไปทั้งหมด เปรียบเหมือนอุปมาอุปไมย เมื่อเราอยู่ในที่มืด ครั้นเราจุดไฟขึ้น ความมืดตรงที่เราอยู่ก็หายไป เมื่อใจเราดีแล้ว ความชั่วทั้งหลายก็หายไปฉะนั้น

ตอนนี้คงรู้แล้ว่า เราควรจะทำอย่างไร อย่าพยายามหลอกตัวเอง แล้วอย่าให้ถูกคนอื่นเขาหลอก ให้รู้ไว้ พระพุทธองค์นั้นให้เรามานั่งพิจารณาดู และให้เราเข้าวัดเริ่มหัดปฎิบัติว่าเราจะนั่งอยู่ก็ดี จะนอนอยู่ก็ดี ให้เราพึงมีสติ มีความรู้ถึงที่พึ่งของเราเสียก่อน สมมุติว่าเรากราบครั้งแรก ก็ให้เราระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า กราบครั้งที่สอง ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระธรรมเจ้า กราบครั้งที่สาม ก็ขอให้เราระลึกถึงคุณของพระสังฆเจ้า เอาใจของเรานี่แหละระลึกนึกถึง พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหน แล้วก็ให้เราพิจารณาพยายามรักษากายแล้วก็ให้หลับตา หุบปาก ลิ้นก็ไม่ต้องกระดุกกระดิก ให้เราระลึกไว้ในใจของเราตลอดเวลาว่าพุทโธ เราจะเข้าวัดที่ไหน เข้าวัดเพื่อเหตุอันใด เพื่อให้รู้ว่าใจเราน่ะดีหรือไม่ดี ใจดีเป็นอย่างไร ใจเราดีก็มีความสุข มีความสบายเยือกเย็น อกมันก็เย็น ใจมันก็ดี ไม่เดือดไม่ร้อน พุทโธ กายเราเบิกบาน พุทโธ ใจเราสว่างไสว พุทโธ ใจเราผ่องใส เหมือนน้ำเฉกเช่นเดียวกัน ที่ใสสะอาดเหมือนกระจก เห็นตนเป็นบุคคลอื่น มองเห็นเรา มองเห็นเขา มองเห็นงาน มองเห็นการ มองเห็นความสุข มองเห็นความทุกข์ของเรา

เราเกิดมา ให้ลูกหลานทั้งหลายจงมองเห็นว่า เรามีชีวิตเราก็รักชีวิตของเราไม่ใช่หรือลูก ใคร ๆ ก็มีชีวิตเหมือนกันหมดทุกคน และก็รักชีวิตและสิ่งของด้วยกันทุกคน นี่พูดตามประสาโลก เมื่อเป็นเช่นนี้ คนเราก็ไม่ควรเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถ้าเราเบียดเบียนของคนอื่น เราเบียดเบียนผู้อื่นแล้ว ผู้อื่นก็ย่อมไม่ชอบใจ ถ้าใครมาเบียดเบียนเรา เราก็ไม่ชอบใจ ใครมาลักเล็กขโมยของเรา ถามว่าเราชอบใจไหม เราก็ไม่ชอบใจและเราก็ไม่ตั้งใจที่จะไปลักเล็กขโมยน้อยของคนอื่น เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เหมือนเราไปฆ่าเขา เขามาฆ่าเรา มันก็จองเวรจองกรรมกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วไม่ใช่ของดี เมื่อมันเป็นอย่างนี้ ลูกหลานทั้งหลายก็พยายามอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

หัวใจของคนนะลูกมันมืดอย่างกลางคืน เพราะว่าถ้าคนไม่ได้เข้าวัด ไม่ได้ฟังธรรม ไม่มีปัญญา แม้แต่กลางวันก็เหมือนคนตาบอด มองไม่เห็นตัว มองไม่เห็นตน บ้านเมืองของเราที่วุ่นวายเพราะอะไร เพราะไม่นึกถึงตัวเราไม่นึกถึงตัวเขา อย่างเช่นไอ้พวกขโมย มันพาเขาไปจี้บ้าน พาเขาไปปล้นบ้าน ข่มขืนอะไรกันสารพัดสาระเพ ทำให้สัตว์โลกทั้งหลายต้องตกทุกข์ได้ยาก วุ่นวายไปหมด อย่างนี้มันจะดีได้อย่างไร หากมองเห็นตัวเห็นใจของตัวเองแล้ว ให้หมั่นพิจารณาระลึกนึกถึงตัวเองไว้ว่า ถ้าเราเป็นเขา ถ้าเขาเป็นเรา เราทำกับเขา ถ้าเขามาทำกับเราบ้าง เราก็ไม่พึงปรารถนาสิ่งเหล่านั้น ถ้าเราคิดอยู่อย่างนี้ ก็ชื่อว่านี่แหละ เรากำลังเข้าวัดแล้ว คือวัดที่มันอยู่ในใจของเรา ให้รู้ว่าใจเราดีไม่ดีอย่างไร ข้อสำคัญนั้น พึงให้ลูกหลานทั้งหลาย พึงเข้าใจว่าของดี ของไม่ดี ให้รู้ดีรู้ชั่ว อันนี้ดีอันนั้นดี อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ไม่ดี และอะไรบ้างเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ดีนั้นให้เรารีบวิ่งเข้าหานะลูก

อย่างเรายึดมั่นพระพุทธเจ้าของเราดี พระธรรมเจ้าของเราดี พระสังฆเจ้าของเราดี ให้เรารีบวิ่งเข้าหานะลูก ถ้าเรามาพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าของเรานี่ ท่านเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ พระองค์ทรงกระทำทุกขกิริยา ทรงทรมานพระวรกายอยู่ถึง 6 ปี เต็ม ๆ ท่านจึงได้ตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งเมื่อพระองค์ทรงรู้แล้ว พระองค์ท่านก็ได้วางคำสอนไว้ให้แก่พวกเราทั้งหลายได้สอนได้เรียนและให้ปฏิบัติอยู่กันจนถึงทุกวันนี้ ถ้าเราจะพูดถึงสมัยก่อนนั้น ชาวอินเดียจะพากันนับถือศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ท่านถือฤกษ์มงคลดี ยามดี เคราะห์ดี เคราะห์ร้ายถือโลกาวินาศ จนตราบเท่าเมื่อองค์สมเด็จพระประทีปแก้วของเรา ทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ท่านไม่ได้สอนแบบพราหมณ์ ท่านเลิกทั้งหมด

คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ มีความปรารถนาอยู่ 3 อย่าง อย่างแรกต้องการวัตถุซื้อข้าวของเงินทองมาก ๆ ประการที่สอง ด้องการรูปสวย ทรัพย์ รูปงาม ต้องการอายุยืน ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ต้องการมีความสุข ไม่ต้องการมีความทุกข์ ประการที่สาม ต้องการมีสติ ต้องการมีปัญญาอันเฉลียวฉลาด แต่เหตุใดเล่า คนเราจึงมักไม่สมความหวัง คือความปรารถนา เพราะว่าเราท่านทั้งหลายไม่ได้ทำเอาไว้ ไม่ได้สร้างไม่ได้สะสมเอาไว้ ถ้าเราทำไว้ดีแล้ว ถึงเราไม่ปรารถนาเดี๋ยวมันก็มาเอง อานิสงส์ของการมีทรัพย์สมบัติมาก อานิสงส์นั้น ถ้าเรามาพิจารณานั้นก็คือเราได้เคยสร้างทานบารมี เราได้ทำไว้ เราได้บริจาคทรัพย์สมบัติที่เป็นของเรา เมื่อเราบริจาคไปแล้วด้วยใจอันบริสุทธิ์ ด้วยใจอันเต็มเปี่ยม ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นก็จะเป็นของเรา ตามเราไปในภพใดชาติใด ทังปัจจุบันและเบื้องหน้า จะเป็นคนไม่อดไม่อยาก เพราะเราได้ทำของเราแล้ว ได้สร้างได้สะได้สมไว้แล้ว ที่มันเป็นของเราแล้ว โจรหรือมารจะมาแย่งชิงของเราก็ไม่ได้ เป็นของ ๆ เราแน่นอน ถ้าเราไม่ได้ทำไว้ ถึงอยากได้มันก็ไม่ได้

อานิสงส์ของการให้ทาน การสละละจากความตระหนี่บริจาคนั้น เป็นของ ๆ เราทั้งหมด ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ลูกหลานทั้งหลายเอ๋ย เพราะเราได้ทำของเราไว้ตั้งแต่ตอนต้น เหมือนกับการกินข้าว อย่างที่หลวงปู่พูดไว้ ใครกินใครก็อิ่ม ใครจะมาอิ่มแทนเราไม่ได้ เรามีแรง คนอื่นจะมีแรงเหมือนเราก็ไม่ได้ คนที่ไม่เคยรับหรือคนที่ไม่เคยกินข้าว ก็ย่อมหิว และก็ย่อมไม่มีแรง เมื่อเราได้สร้างทานบารมี เราได้สร้างกุศล ชื่อว่าบุญนี้ก็เกิดเป็นของเรา ไม่ใช่เป็นบุญของพระพุทธเจ้านะลูก บุญนั้นย่อมเป็นของเราอย่างแน่นอน แล้วก็ไม่ได้เป็นของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เป็นของพระสงฆ์ ย่อมเป็นของตัวของตนของเราเอง

นี่แหละลูกหลานทั้งหลาย พึงระลึกไว้ว่า ที่เราได้ทำทานไว้แล้ว ย่อมเป็นคนไม่อดไม่อยาก เพราะผลทานเมื่อเกิดมาในภพหนึ่งภพใด ชาติใดก็แล้วแต่ ถ้ายังไม่ถึงพระนิพพานแล้ว แม้ในปัจจุบันชาตินี้ย่อมเป็นคนไม่ทุกข์ ย่อมเป็นคนไม่จน พูดมาวันนี้ก็พอ เพราะว่าเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ก็รู้สึกว่ากายมันชักจะไม่ไหว ก็ขออภัยลูกหลานด้วยที่พูดสั้น ก็ขอให้ลูกหลานฟังแล้วคิดตามนะลูก และก็คิดให้เป็นนะลูก อย่าไปเป็นทุกข์ อย่าดีแต่คิดนะลูก จำคำสอนของหลวงปู่ที่เอามาจากพระบรมครูให้ดีนะลูก จำใส่ไว้ในปัญญา จำใส่ไว้ในใจนะลูก ก็ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่พวกลูกหลานทั้งหลายเทอญ

= รวมคำสอน “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” (พระพิศาลญาณวงศ์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49194

= ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=45116

= ประมวลภาพ “หลวงปู่ทองดี อนีโฆ” วัดใหม่ปลายห้วย
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=49172


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร