วันเวลาปัจจุบัน 22 พ.ค. 2025, 16:45  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ต.ค. 2010, 10:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 820


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องนี้เป็นปัญหาค้างใจของคนส่วน มากอยู่ หรืออย่างน้อยก็ลังเลสงสัยว่าทำดีได้ดีจริงหรือไม่ ? จนถึงกับบางคนพูดว่า "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" ดังนี้เป็นต้น ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ อาจเป็นด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

๑. ทำความดีเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการผลมาก
คือ ต้องการผลเกินเหตุที่ทำ จึงทำให้รู้สึก ทำดีไม่ได้ดี หรือได้ดีน้อยไป ตามธรรมดา คนที่มีความต้องการมาก สิ่งใดที่ได้มาแม้มาก ก็รู้สึกว่าน้อย ส่วนคนที่ต้องการน้อย แม้ได้ของน้อย ก็รู้สึกว่าได้มาก ความมากความน้อย จึงขึ้นอยู่กับความต้องการ และความจำเป็นของคนซึ่งมีอยู่ไม่เท่ากัน

๒. ไม่รู้จักรอคอยผลแห่งความดีที่ตัวทำ
อยากได้ผลเร็วๆ เมื่อความดีที่ทำให้ผลช้า ก็ไม่ทันใจ จึงทึกทักเอาว่า ทำดีไม่ได้ดี ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วว่า การให้ผลของกรรมมีลักษณะซับซ้อนมาก และกรรมจะให้ผลเมื่อสุกงอมเต็มที่แล้วเท่านั้น

กรรมที่ทำพร้อมกัน อาจให้ผลก่อนบ้างหลังบ้าง เหมือนต้นไม้ต่างชนิดกัน เราปลูกวันเดียวกัน เป็นต้นว่ามะม่วงกับมะละกอ มะละกอย่อมให้ผลก่อน แต่ไม่ยั่งยืน ส่วนมะม่วงให้ผลช้า แต่ยั่งยืน เพราะฉะนั้น ผู้ทำความดีจึงควรหัดเป็นคนใจเย็น รู้จักรอคอย

ส่วนความชั่วก็เหมือนกัน ย่อมรอเวลาฟักตัว ไม่ใช่ทำชั่วเดี๋ยวนั้น ผลชั่วก็พรั่งพรูเดี๋ยวนั้นเลย ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วใครเล่าจะกล้าทำชั่ว

๓. ทำความดีไม่พอดี
หมายถึง ทำขาดไปบ้าง ทำเกินไปบ้าง คือ ขาดความพอดีในการทำดี เมื่อขาด ความดีก็ไม่สมบูรณ์ เมื่อเกินก็ล้นไป เสียประโยชน์ ไม่ว่าการทำดีหรือทำอะไรทั้งสิ้นจะต้องพอดีจึงจะดีแท้

ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าต้องพอดีกับผู้สวมใส่ อาหารก็ต้องพอดีของแต่ละมื้อ และได้สารอาหารต่างๆ ตามที่ร่างกายต้องการแต่พอดี ไม่มีสารใดเกินสารใดขาด จึงจะทำให้ร่างกายแข็งแรงเจริญเติบโตและต้านทานโรคได้ดี

การก่อสร้างที่เราต้องพึ่งสถาปนิกและวิศวกร ก็เพื่อให้เกิดความพอดีนั่นเอง ตัวอย่างเช่น เสาก็พอดีกับน้ำหนักบ้าน ถ้าบ้านใหญ่เสาเล็ก ก็ทานน้ำหนักไม่ไหว บ้านอาจพังลงมา ที่คิดว่าจะประหยัด ก็กลายเป็นสูญเสียทรัพย์สินเป็นอันมาก

แต่ถ้าทำเสาใหญ่เกินไปไม่สมดุลกับการที่จะต้องรับน้ำหนัก ก็เป็นการสูญเปล่าโดยไม่จำเป็น เหมือนคนตัวนิดเดียวขาใหญ่โตมโหฬาร จะกลายเป็นน่าเกลียด เป็นที่เยาะเย้ยของคนทั้งปวง

เพราะฉะนั้น จึงต้องทำความดีแต่พอดีกับบุคคลนั้นๆ กรณีนั้นๆ ไม่ให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป
ไม่น้อยจนไม่พอ และไม่มากจนล้นเหมือนน้ำล้นตุ่ม ส่วนล้นนั้นเป็นส่วนเกิน

๔. ความฝังใจหรืออุปาทานอยู่ในใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้น
ข้อนี้คนทั่วไปเป็นกันมาก ถ้าไปหาหมอดูและหมอดูทายว่า ชะตาของคุณทำคุณกับใครไม่ขึ้น ละก็ชอบใจนักเชียว นั่นเป็นเพราะไปตรงกับความฝังใจที่มีอยู่แล้ว

การทำความดีกับคนนั้น ค่อนข้างยากสักหน่อย ไม่เหมือนทำความดีกับพวกสัตว์ เป็นต้นว่าสุนัข
ทั้งนี้เพราะคนต้องการความภูมิใจ แม้เราจะทำความดีให้เขา ก็อย่าไปลดความสำคัญ และความภูมิใจของเขา

ถ้าเราไปลดความสำคัญและความภูมิใจของเขาแล้ว แทนการรู้สึกสำนึกบุญคุณของเรา เขาจะรู้สึกเคียดแค้นชิงชังเสียด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นการทำความดีกับคน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้นการทำคุณจะกลายเป็นโทษไป

ให้เลิกฝังใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้นเสีย แล้วทำความดีด้วยความเสียสละ ด้วยน้ำใจอันดีงาม ท่านจะต้องได้รับผลดี และอาจได้มากว่าที่ท่านหวังเสียอีก

๕. ขาดกุศลโลบายในการทำดี
คำว่า กุศโลบายไม่ใข่เลห์กระเท่ห์ หรือเล่ห์เหลี่ยมกลโกงอะไร แต่หมายถึง ความฉลาดรอบคอบ หยั่งรู้ถึงเหตุการณ์ บุคคล กาลเวลา (หรือโอกาส) ในการที่จะทำความดี กุศโลบายในการทำความดี ก็คือ ทำดีให้ถูกกาล ให้ถูกบุคคล ถูกเรื่องราว


คัดลอกจาก... ความดี โดย อาจารย์วศิน อินทสระ
http://www.thaimisc.com/freewebboard/ph ... opic=11341
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17280


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร