วันเวลาปัจจุบัน 21 ก.ค. 2025, 19:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2010, 12:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: ความหมายของคำว่า"ธาตุ"ในแง่ลึก :b43:

......ในวันนี้จะได้พิจารณากันถึง ความหมายของคำว่า"ธาตุ"ในแง่ลึก ซึ่งสามารถปฏิเสธความหมายแห่งความเป็นตัวตนได้ โดยสิ้นเชิงสืบไป.
....เมื่อกล่าวโดยกว้างๆ หรือประมวลมาให้หมด เราอาจจะกล่าวได้ว่า มีธาตุอยู่ ๒ ประเภท คือ ธาตุที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่า"สังขตธาตุ" ประเภทหนึ่ง และที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งอันเรียกว่า"อสังขตธาตุ"
อีกประเภทหนึ่งนั่นเอง. สิ่งทั้ง ๒ สิ่งนี้แตกต่างกันอย่างที่จะเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยว่าเป็น "ธาตุ" เสมอกันทั้ง ๒ อย่าง. เพราะฉะนั้น คำว่า "ธาตุ" ต้องเป็นคำที่มีความหมายพิเศษที่สามารถใช้ได้แก่ทุกสิ่ง ไม่ยกเว้นสิ่งใดเลย ในบรรดาสิ่งซึ่งเป็นที่รู้จักแล้วแก่มนุษย์ หรือแม้ที่ไม่รู้จักก็ตาม รวมความว่า ไม่มีอะไรที่พ้นจากความเป็นธาตุ

:b42: โดยตัวพยัญชนะคำว่า"ธาตุ" แปลว่า "ทรง"หรือ "ดำรง"และ มีความหมายว่า "ทรงตัวอยู่"หรือ"ตั้งตัวอยู่ตามธรรมชาติของตน" หากแต่ว่าการดำรงอยู่หรือการทรงตัวอยู่ของมันนั้น มีความหมายแตกต่างกันเป็น ๒ อย่าง ดังที่ได้แบ่งแยกธาตุทั้งหลายออกเป็น ๒ ประเภท ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง. ดังนั้น เราจะต้องพิจารณาการดำรงตัวอยู่ของสิ่งทั้ง ๒ ประเภทนี้ จนเป็นที่เข้าใจแจ้งชัด และเป็นโอกาสให้เข้าใจความหมายของคำว่า"สังขตธาตุ"และ "อสังขตธาตุ"ได้อย่างชัดแจ้งพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน.(ต่อ..)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2010, 12:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: ตามที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในวงของปรัชญา มีคำอยู่คำหนึ่งคือคำว่า"สิ่งในตัวมันเอง" หรือ thing in self เป็นคำที่ใช้หมายถึงสิ่งที่เป็นอยู่ได้ในตัวมันเอง., พวกที่ถือพระเจ้า ก็เล็งถึงพระเจ้า พวกที่ไม่ถือพระเจ้าก็เล็งถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องอาศัยสิ่งอื่น ในการมีอยู่หรือเป็นอยู่ของตน แล้วแต่เหตุผลของนักปรัชญากลุ่มไหนจะมีเหตุผลอย่างไร. แต่ใจความสำคัญมีอยู่ว่า ต้องมีสิ่งที่มีอะไรอยู่ในตัวมันเองครบถ้วน เพียงพอแก่การที่จะให้มันเป็นเช่นนั้น. ครั้นมาถึงพวกชุดเรา ในฐานะที่พุทธศาสนาก็มีส่วนที่เป็นปรัชญาอยู่ส่วนหนึ่ง จึงมีหน้าที่ๆ จะอธิบายคำๆนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราถือเอาความหมายกันอย่างไร.
เมื่อถือเอาตามหลักเกณฑ์ฝ่ายพุทธเรา โดยไม่ต้องคำนึงถึงพวกอื่น ก็อาจจะกล่าวได้ว่า สิ่งซึ่งเป็นอะไรๆ ได้ในตัวมันเองนั้น เราต้องขอแยกความหมายออกเป็น ๒ ประเภท คือ "สิ่งที่มีอยู่โดยไม่ต้องมีการปรุงแต่ง" และ "สิ่งที่มีอยู่โดยที่ต้องมีการปรุงแต่ง.

:b48: ทำไมเราจึงเรียกสิ่งที่ต้องมีการปรุงแต่ง หรือมีเหตุปัจจัยอะไรปรุงแต่งว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่ได้ในตัวมันเอง? เพราะย่อมมีปัญหาขึ้นว่า เมื่อมีอะไรๆ มาปรุงแต่งจึงจะมีอยู่ได้ จะเรียกว่ามีอยู่ได้โดยตนเองได้อย่างไรกันเล่า? ข้อนี้จะต้องมองกันอย่างลึกซึ้งจนกระทั่งจับใจความได้ว่า มันไม่มีอะไรที่เป็นตัวมันเองเลย นอกจากกระแสแห่งความไหลเวียน หรือกลุ่มแห่งการปรุงแต่ง ที่มีการเปลี่ยนรูปอยู่เรื่อยอย่างรวดเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ อยู่ทุกขณะจิตดังที่ได้กล่าวมาแล้ว.
:b42: กล่าวอย่างสรุปที่สุด ก็คือ กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงเพราะอำนาจแห่งการปรุงแต่งนั่นเอง คือตัวมันเองของสิ่งที่จัดเป็นธาตุประเภทนี้ อันเราเรียกว่า "สังขตธาตุ". คำว่า "สังขตธาตุ" ประกอบขึ้นด้วยบท สํ+กร,คำว่า "สํ" แปลว่า พร้อม, คำว่า "กร" แปลว่า กระทำ, แต่เมื่อเป็นรูปกรรมจาก อดีตกาล จึงเป็น กต แล้วจึงแปลงเป็น ขต อีกต่อหนึ่ง จึงได้รูปในที่สุด เป็น สังขต และแปลว่า "ถูกกระทำพรอมแล้ว" ซึ่งถ้าแปลตามภาษาไวยากรณ์จริงๆ แปลว่า "อันปัจจัยทั้งหลายกระทำพร้อมแล้ว" (ต่อ..)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2010, 13:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: ความหมายที่ว่า "อันปัจจัยทั้งหลายกระทำพร้อมแล้ว" นั้น หมายความว่า มีอะไรต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุหรือเป็นปัจจัยสนับสนุน เข้ามาเกี่ยวข้องในการกระทำจนเปลี่ยนรูปไปต่างๆ ไม่มีหยุด ซึ่งจะกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ถูกปัจจัยต่างๆ นั่นแหละกระทำให้มันเป็นไปไม่มีหยุด. นี่แหละคือ กิริยาอาการที่เราเรียกว่า "ถูกปรุงแต่ง"., หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "การปรุงแต่ง"., ธาตุเหล่าใดมีอาการแห่งการปรุงแต่งโดยทำนองนี้ ย่อมถูกจัดไว้ว่า เป็น "สังขตธาตุ."
:b48: ส่วนข้อถามที่ว่า เมื่อเป็นดังนั้แล้ว จะเรียกว่า "สิ่งในตัวมันเอง" ได้อย่างไรกัน? ตอบว่า ได้แก่ การที่มันเป็นอย่างนั้นได้ในตัวมันเองทั้งที่ไม่มีตัวตนอะไร มีแต่อาการแห่งการเปลี่ยนแปลง. ผู้ถามมีความรู้สึกที่มีความยึดถือโดยความเป็นตัวเป็นตน เป็นต้นทุนอยู่ก่อน จึงมีความรู้สึกไปในทำนองที่ว่ามีตัวมีตนอะไรอย่างหนึ่งซึ่งถูกปรุงแต่ง หรือถูกกระทำให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นตัวตนอย่างอื่น. ผู้ถามไม่เคยคิดหรือไม่เคยรู้ว่าไม่ต้องมีอะไรที่เป็นตัวตน ก็มีการปรุงแต่งหรือถูกปรุงแต่งได้ จึงไม่เข้าใจคำว่า กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง หรือ การปรุงแต่งไม่มีหยุด นั่นแหละคือตัวมันเองในที่นี้. ถ้ามันหยุดก็หมายความว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็หมายความว่าไม่มีการปรุงแต่ง, ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็ไม่ใช่ สังขตธาตุ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เรียกว่า "สังขตธาตุ" จึงหมายถึงสิ่งที่มีตัวมันเอง หรือ ทรงตัวมันเอง อยู่ในตัวการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง.
:b48: ซึ่งขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ตัวกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง คือตัวธาตุประเภทนี้. ทำไมจึงต้องใช้คำว่า "กระแส" ด้วยเล่า? ตอบ เพราะมันไม่มีตัวตนอะไร ที่จะหยุดอยู่นานพอที่จะให้เราชี้ลงไปได้ว่า มันเป็นอะไรโดยเที่ยงแท้., มันเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นเร็วเกินไป จนเราชี้ไม่ทัน. ทำนองเดียวกับที่เราจะชี้บุคคลใดบุคคลหนึ่งในคนจำนวนมาก ที่นั่งอยู่ในรถไฟที่แล่นไปด้วยความเร็วสูงสุด ว่าคนๆ นั้นเป็นใคร ฉันใดก็ฉันนั้น., เพราะเพียงแต่เราจะชี้ก็ชี้ไม่ทันเสร็จ สิ่งนั้นก็ผ่านไปด้วยการเปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นไปเสียแล้ว ไม่มีส่วนย่ยอยส่วนใด ที่คงอยู่เป็นของเที่ยงแท้ให้เรากำหนดลงไปว่า มันเป็นอะไร.(ต่อ..)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ส.ค. 2010, 13:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: และเมื่อกล่าวถึงส่วนรวม ก็มีแต่อาการของการเปลี่ยนแปลงที่ไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป., เพราะฉะนั้น เราจึงต้องใช้คำว่า "กระแส" และหมายถึงกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง และบัญญัติตัวกระแสนั้นเอง ว่าเป็นตัวตนของสิ่งนั้น และจัดเป็นสิ่งที่มีตัวเองอยู่ได้ในตัวเองประเภทหนึ่ง แม้ว่ามันจะเป็นเพียงมายา ที่สูงสุดเพียงไรก็ตาม.
:b46: โดยเหตุนี้ทำให้เราเห็นได้ว่า เมื่อมีการกล่าวโดยปรมัตถ์ หรือโดยความจริงแท้แล้ว สังขตธาตุทั้งหลายก็เป็นเพียงมายา หรือว่าตัวมายานั่นแหละคือตัวตนแห่งสังขตธาตุ., ซึ่งแสดงให้เห็นสืบไปว่า ธาตุ เหล่านี้เป็นของว่างจากตัวตนอันแท้จริง. มันเป็นสักว่าธาตุ ประเภทที่เป็นมายาและมีแต่ความเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว ไม่มีอย่างอื่นในตัวสิ่งที่เราเรียกว่าธาตุ ประเภทนี้ แต่เราก็ต้องเรียกมันว่า ธาตุ เพราะมันมีอาการแห่งการทรงตัวมันเองอยู่ได้ แม้ด้วยอาการอย่างนี้ซึ่งจัดได้ว่าเป็นสภาวะ หรือเป็นความเป็นเองได้อย่างหนึ่ง หรือประเภทหนึ่ง. นี่แหละคืออาการหรือความหมายของคำว่า"เป็นสักว่าธาตุเท่านั้น"ของธาตุทั้งหลายประเภทนี้.
:b48: สำหรับ ธาตุ ประเภทที่เรียกว่า "อสังขตธาตุ" นั้น มีอะไรๆ ตรงกันข้ามจากสังขตธาตุโดยประการทั้งปวง. เหมือนกันอยู่เพียงอย่างเดียว คือถูกเรียกว่า "ธาตุ" เหมือนกัน ทั้งนี้เพราะเหตุผลเพียงข้อเดียว คือข้อที่มันมีการทรงตัวอยู่ได้โดยตัวมันเอง หรือในตัวมันเองอีกนั่นแหละ., แม้ว่าการทรงตัวมันเองในที่นี้ จะมีอยู่โดยลักษณะอื่นๆ จากลักษณะของ สังขตธาตุโดยประการทั้งปวง.
:b42: คำว่า "อสังขตธาตุ" มีรูปศัพท์ที่เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ไม่ใช่สังขต และตรงกันข้ามกับสังขต ลักษณะของสังขตมีอยู่อย่างไร โดยใจความสำคัญ ลักษณะของอสังขตก็ต้องกลับตรงกันข้ามจากลักษณะอย่างนั้น แต่ก็มีการจำกัดความหมายบางอย่างเป็นพิเศษ ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้ด้วยความรู้สึกตามธรรมดาสามัญ, หรือไม่อาจจำนำมาใช้ได้ ด้วยเหตุผลทางตรรกเป็นต้น. เพราะฉะนั้น เราจะต้องทำการพิจารณาและการศึกษาโดยวิธีที่มีไว้เฉพาะ.(ต่อ..)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2010, 11:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: ความหมายของ สัวขต มีอยู่ว่า มีการปรุงแต่ง และเปลี่ยนแปลงไม่มีหยุด จนไม่อะไรเป็นตัวมันเองที่ไหน นอกจากกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง. เมื่อถือเอาความหมายโดยปฏิปักขนัย เราก็ต้องกล่าวว่า อสงขต มีลักษณะคือ ไม่มีการปรุงแต่ง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง และมีตัวมันเองอยู่ที่ความว่างจากการปรุงแต่งนั่นเอง. จริงอยู่ถ้าพูดกันอย่างลวกๆ ก็อาจจะพูดได้ว่า มันหมายถึงความไม่มีอะไรเลย ดังเช่นความหมายของคำว่า "สุญญตา" ที่พวกชาวบ้านเขาใช้พูดกันอยู่ทั่วไป. แต่ตามความจริงแท้หรือโดยปรมัตถ์นั้น กลับเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงอย่างยิ่ง และไม่เป็นมายาแต่ประการใด ดังนัยแห่งพุทธอุทานที่มีอยู่ว่า "อตฺถิ ภิกฺขเว ตทายตนํ ฯลฯ" ดังนี้เป็นต้น ซึ่งในที่นี้พระองค์ทรงหมายถึงนิพพานธาตุ ซึ่งเป็นธาตุประเภท อสังขตธาตุ นั่นเอง.
:b43: ความมีอยู่แห่งธาตุประเภทนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยกันตรงข้อที่ว่า เมื่อไม่มีอะไรที่ถูกปรุงแต่ง ให้มีการเกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ซึ่งหมายถึงไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมาใหม่ หรือมีอะไรเกิดขึ้นเลย ย่อมหมายถึงความว่างอย่างยิ่ง., แล้วจะเรียกความว่างอย่างยิ่งนั้นว่าธาตุ คือสิ่งที่มีการทรงตัว หรือดำรงตัวของมันไว้ได้อย่างไร. ข้อนี้แหละคือปัญหาที่จะทำความกระจ่างแจ้ง ในความหมายของคำว่า "อสังขตธาตุ"และคำว่า"ธาตุ"ล้วนๆ โดยเฉพาะ.


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2010, 12:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b48: สังขตธาตุ มีการทรงตัว หรือการดำรงตัวโดยถือเอาการเปลี่ยนแปลง หรือสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงนั่นแหละเป็นตัว., เพราะฉะนั้นจึงต้องจัดว่า คำว่า "ทรง" ก็ดี หรือคำว่า "มี"ก็ดี ได้เกิดมีความหมายขึ้น เป็น ๒ อย่าง คือ "ความมี" ของสิ่งที่มีการเปี่ยนแปลง นี่อย่างหนึ่ง กับ "ความมี" ของสิ่งที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง นี่อย่างหนึ่ง. แต่ความหมายของคำว่า "มี" คำเดียวกันนี้จะเหมือนกันไม่ได้ ต้องแตกต่างกัน อย่างตรงกันข้ามอีกนั่นเอง. แม้จะได้ออกเสียงว่า มี มี เหมือนกันหมด แม้ความหมายของคำว่า "ทรงอยู่" หรือ "ดำรงอยู่" ซึ่งเป็นความหมายของคำว่า "ธาตุ" ก็เป็นอย่างเดียวกันอีก คือเป็นการทรงอยู่ หรือดำรงอยู่ อย่างที่มีความหมายกลับกัน สำหรับการทรงอยู่ระหว่าง"สังขตธาตุ และ อสังขตธาตุ".
:b42: การดำรงอยู่ หรือมีอยู่ของความว่างจากการปรุงแต่ง หรือการเปลี่ยนแปลงนั้น คือความมีอยู่แห่งความไม่มีการปรุงแต่งหรือเปี่ยนแปลง ต่อเมื่อเรารู้จักสิ่งที่มีการปรุงแต่ง เปลี่ยนแปลงอย่างทั่วถึงแล้วเท่านั้น จึงจะทราบได้ว่า ความไม่มีแห่งการปรุงแต่งและเปลี่ยนแปลงนั้น มีสภาวะอันแท้จริงอย่างไร. เราอย่าเพิ่งไปถือเสียว่า สภาวะแห่งความไม่ปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงนั้น หมายถึงความไม่มีอะไรเลย คือเป็นของว่างเปล่าสูญเปล่า. ถ้ายังไม่สามารถจะมองเห็น ว่ามีอะไรอยู่บ้าง ก็ขอให้ถือว่ามี "สภาวะที่ปราศจากการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลง" อยู่อย่างหนึ่งไปก่อนก็แล้วกัน.,เพราะเราจะต้องไปศึกษาให้รู้ถึงสภาวะ ที่มีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างชัดแจ้งเสียก่อน จึงจะเข้าใจสภาวะที่ตรงกันข้าม และมีความมี ชนิดที่ตรงกันข้ามนี้ได้. (ต่อ..)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ส.ค. 2010, 12:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 16:34
โพสต์: 1050

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b42: สภาพที่มีการปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงนั้น โดยสรุป ได้แก่ ปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมตลอดทั้งสาย. ถ้าเรายังไม่สามารถมองเห็น อาการปรุงแต่งแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรม มีอวิชชาที่ปรุงแต่งให้เกิดสังขาร เป็นต้น อยู่เพียงใดแล้ว., เราไม่สามารถเข้าใจสภาวะตรงกันข้ามได้.
:b43: ในขั้นแรกนี้ เราจึงได้แต่อนุมานเอาว่า ได้แก่ สภาวะที่ปราศจากปฏิจจสมุปบาทธรรม มีอวิชชา เป็นต้น เหล่านี้เท่านั้น. และเราควรจะไปเพ่งเล็งเอาตรงที่ความไม่มีอยู่แห่งอวิชชา ที่เป็นตัวแม่บทปรุงแต่งสิ่งต่างๆ แล้วจะไม่มีอะไรอยู่แทนก็แล้วกัน. ถ้าจะใช้วิธีอนุมานไปจากส่วนที่รู้อยู่แล้วก็ไม่มีทางใดดีไปกว่า การทำความรู้จักกับกิเลสและความทุกข์ให้เพียงพอ แล้วจึงอนุมานถึงสภาพที่ปราศจากกิเลสและความทุกข์ โดยสิ้นเชิง ก็จะเข้าใจได้ถึง"ความมีอยู่ของสิ่งที่ไม่ต้องมีความมี" เช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายที่เรารู้จักกันอยู่ทั่วไป., เพราะว่าในบรรดาสิ่งทั้งหลาย ที่เรารู้จักกันอยู่ตามธรรมดาสามัญนั้น มีแต่สังขตธาตุ หรือสิ่งที่มีอยู่โดยความต้องมีด้วยกันทั้งนั้น. แม้กระนั้น เราก็ไม่ได้รู้จักมันอย่างทั่วถึง. โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ "อวิชชา" เพราะว่า ปุถุชนคนธรรมดาสามัญนั้น มีอวิชชานั้นแหละเป็นตัวตนของตนเสียเอง ดังนี้.
จบการบรรยายครั้งที่ ๙
ที่มา...
หนังสือ"สุญญตา"โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร